Business Proposal

สำรวจนโยบายเศรษฐกิจจาก 6 ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ กันแล้ว หลังจากที่เราไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กันมากว่า 9 ปี และเมื่อเกาะติดกระแสของผู้ว่าแต่ละคนแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นช่วงที่ข้อมูลข่าวสารเข้มข้นอย่างแท้จริง หลายคนอาจจะตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเองไปแล้ว แต่ถ้าหากใครยังตัดสินใจไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ร้านค้า และมนุษย์เศรษฐกิจชาวกรุงเทพฯ ที่อาจไม่มีเวลานั่งหาอ่านนโยบายกันนานๆ 

วันนี้เรารวบรวมข้อมูลนโยบายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องและส่งผลกับการใช้ชีวิตพื้นฐานและแนวทางเศรษฐกิจเอาไว้แล้ว

ไปดูกันว่าผู้ว่าคนไหนจะมีนโยบายที่ตรงใจคุณที่สุด

หมายเลข 8
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
อิสระ 

พูดถึงนโยบายเกี่ยวกับปากท้องครั้งนี้ แคนดิเดตผู้ว่าสุดแข็งแกร่งเบอร์ 8 นำเสนอเรื่องของการสร้าง Creative Economy เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ และการผลักดันผู้ประกอบการรายย่อย โดยในการเปิดตัวลงสมัครครั้งนี้ เขาได้ชู 200 นโยบายที่จะผลักดันกรุงเทพฯ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกว่า 60 นโยบายเป็นเรื่องของการสร้างระบบโครงสร้างและเศรษฐกิจที่ดี

หนึ่งในนั้นคือการสร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กล่าวคือลดการกระจุกตัวของพื้นที่เศรษฐกิจ สินค้า กิจกรรมหรือบริการที่คล้ายกันในพื้นที่เดียว แต่สร้างย่านให้แข็งแรงและน่าสนใจจากต้นทุนเดิมที่แต่ละพื้นที่มีอยู่ เพื่อดึงดูดให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและเกิดการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ องค์ความรู้และการประชาสัมพันธ์ของรัฐเข้าไปสนับสนุน 

นอกจากนี้ยังมีแผนงานจะผลักดันให้เกิด 12 เทศกาลที่หลากหลายตลอดปีของกรุงเทพฯ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลอาหาร เทศกาลดนตรี เทศกาลงานคราฟต์หรือเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีการยกตัวอย่างเทศกาลแต่ละเดือนไว้ในเว็บไซต์ชี้แจงนโยบายของชัชชาติ ซึ่งเขามองว่าเทศกาลเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนงานของแรงงาน และเปิดโอกาสให้คนกรุงเทพฯ เห็นโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นได้ 

หากพูดถึงผู้ประกอบการในกุรงเทพฯ แล้ว หาบเร่แผงลอยก็ควรถูกนับเป็นร้านค้าหรือหนึ่งในผู้ประกอบการเจ้าสำคัญเช่นกัน เพราะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีราคาถูกในทุกพื้นที่ ซึ่งชัชชาติก็มีนโยบายที่ให้ความสำคัญที่จะจัดระบบและดูแลกิจการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ให้ดียิ่งขึ้น โดยจะเก็บสถิติและขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอยในกรุงเทพฯ เพื่อดูแลคุณภาพและพิจารณาพิกัดจุดค้าขาย นำไปสู่การหาพื้นที่เอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถเป็นพื้นที่ขายหรือศูนย์อาหารเพื่อลดปัญหาเบียดบังการใช้พื้นที่คนเดิน นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างที่จำเป็นในการทำกิจการหาบเร่ควบคู่กันไป อย่างการพัฒนารถเข็นที่มีบ่อดักไขมันและจุดทิ้งขยะเพื่อความสะอาดที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ โดย กทม.จะทำงานกับประชาชนและผู้ค้าแผงลอยเป็นหลักเพื่อให้พื้นที่สะอาดอยู่เสมอ อีกทั้งยังพิจารณาผลักดันใช้พื้นที่ราชการของกรุงเทพฯ ให้เกิดตลาดนัดชุมชนและตลาดนัดเขตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ไม่ใช่แค่ผู้ค้าตามแผงลอยหรือในตลาดอย่างเดียว แต่ชัชชาติให้ความสำคัญเรื่องการขยายโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปด้วยเช่นกัน โดยมีการวางแผนเตรียมจัดช่องทางข้อมูลส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงการค้าขายสินค้าไปต่างจังหวัดและต่างประเทศ ศูนย์ฝึกอาชีพของ กทม.จะมีการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับตลาดงานที่ปรับเปลี่ยนไปยิ่งขึ้น จะมีการสนับสนุนให้แรงงานฝีมือภายในกรุงเทพฯ เข้าถึงแพลตฟอร์มการสมัครงาน โดยมีอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม รวมถึงแนวทางผลักดันให้เกิดการจ้างแรงงานที่ในผู้สูงอายุและคนพิการมากขึ้น

นอกจากนั้นชัชชาติยังเป็นผู้ว่าที่ผลักดัน ‘เศรษฐกิจกลางคืน’ ในกรุงเทพฯ อีกด้วย โดยมองว่าธุรกิจอาหารและสตรีทฟู้ด รวมถึงธุรกิจบันเทิงต่างๆ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง ดังนั้นการดูแลความปลอดภัยการเดินทางและการอำนวยความสะดวกเศรษฐกิจส่วนนี้สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ เกิดการว่าจ้างงานเพิ่มขึ้นและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไปในคราวเดียวกัน แนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในนโยบายนี้คือการนำร่องเดินรถเมล์สายหลักและสายรองจากย่านเศรษฐกิจกลางคืนสู่จุดเปลี่ยนถ่ายใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง และปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ รวมถึงห้องน้ำสาธารณะที่ตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ให้ปลอดภัย เป้าหมายเพื่อให้คนเมืองปลอดภัยและลดค่าใช้จ่ายการเดินทางยามค่ำคืน

ถอยกลับมาในเรื่องพื้นฐานอย่างการสร้างโครงสร้างเมืองที่ดี ที่เอื้ออำนวยการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ชัชชาติเองก็ค่อนข้างเข้มแข็งในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เขาให้ความสำคัญกับการคมนาคมอย่างการปรับปรุงขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ ด้วยการซื้อรถใหม่ที่คุณภาพดีและเพิ่มรถสายหลัก-สายรองในราคาเดียว และการพัฒนาผังเมืองเพื่อเศรษฐกิจ ด้วยการวางแผนสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์แถบชานเมือง ลดการเดินทาง ลดความแออัดของจำนวนคนและเม็ดเงินที่กรุงเทพฯ ชั้นใน 

election

หมายเลข 11
น.ต. ศิธา ทิวารี
พรรคไทยสร้างไทย 

แคนดิเดตผู้ว่าที่ชูประเด็นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เบอร์ 11 มีนโยบายหลายด้านที่น่าสนใจ โดยใช้วิธีการคิดนโยบายเป็น 3 กลุ่ม นั่นก็คือ 3 P เป็นการสร้างคน (People) สร้างงาน (Profit) และสร้างเมือง (Planet) แต่หนึ่งในแกนหลักสำคัญเน้นไปที่การสร้างเศรษฐกิจด้วยแนวคิดที่สร้างสรรค์ ยกระดับเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างการผลักดันให้กรุงเทพฯ เกิดเศรษฐกิจแบบ Digital Economy สมบูรณ์แบบ กรุงเทพฯ จะไม่ใช่เพียงเมืองระดับต้นๆ ในการท่องเที่ยว แต่จะผลักดันให้กรุงเทพฯ กลายเป็น ‘เมืองที่น่าลงทุน’ ในสายตาของประชาชนภายในประเทศและต่างประเทศ ศิธาหวังว่าจะสามารถปรับสภาพเมือง ปรับเปลี่ยนกฎเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

แต่ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจแบบดิจิทัลเท่านั้นที่จะให้ความสำคัญ ในแง่ของเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนทั่วไป ศิธามองว่าเป็นเรื่องด่วนเช่นเดียวกันที่จะฟื้นเศรษฐกิจ ฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด เศรษฐกิจ และการเมืองที่ผ่านมาเพื่อให้กลับมาตั้งตัวได้เร็วที่สุดอีกครั้ง โดยจะสร้าง Bangkok legal Sandbox ขึ้นมา โดยใช้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่นำร่อง พิจารณาและปลดล็อก หรือ พักใช้กฎหมายที่ไม่เอื้อกับการทำมาหากินในปัจจุบันชั่วคราว 3-5 ปีเพื่อดูทิศทางในอนาคต ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ มีโอกาสที่จะเป็นผู้ประกอบการหรือทำธุรกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น 

ศิธายังเล็งเห็นถึงโอกาสในการโปรโมตธุรกิจแบบสตรีทฟู้ดขึ้นมาให้มีชื่อเสียงในต่างประเทศและกลายเป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยว เพราะทรัพยาการด้านอาหารและวัฒนธรรมการกินของไทยโดดเด่นอยู่แล้ว การหันมาสนับสนุนและหาวิธีให้ร้านค้าแผงลอยหรือหาบเร่สามารถอยู่อย่างมั่นคงนั่นส่งผลดีมากกว่า เจ้าหน้าที่ กทม.จึงไม่สามารถเป็นเพียงผู้กำกับดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่ แต่ควรเปลี่ยนบทบาทเป็นการดูแลการขายให้ถูกกฎหมาย 

ในด้านของระบบโครงสร้างที่เอื้อต่อประชาชนและผู้ประกอบการทั่วไป ศิธายังชูประเด็นเรื่องค่าคมนาคม โดยวัดจากอัตราส่วนจากค่าครองชีพที่ไม่ควรเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน อ้างอิงมาจากประเด็นปัญหาปัจจุบันที่เขาพบว่าคนกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกือบครึ่งหนึ่งของเงินเดือนทั้งหมด ปัญหานี้ยังส่งผลทำให้คนทั่วไปหันมาใช้รถส่วนตัวเพราะคุ้มค่ามากกว่ารถขนส่งสาธารณะอีกด้วย ดังนั้นศิธาจึงเตรียมแผนการคุยกับ กทม.และฝ่ายเอกชน เพื่อดึงราคาของระบบขนส่งกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เกิน 1,500-1,600 บาท / เดือน 

อีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้อง แต่จริงๆ แล้วเป็นแก่นที่ส่งผลสำคัญกับประชาชนทุกคนและผู้ประกอบการเช่นกัน นั่นก็คืออำนาจในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและระบบราชการ ประชาชนจะมีส่วนในการกำหนดงบประมาณของ กทม.ในทุกส่วน และสามารถมีส่วนร่วมในการเลื่อน ลด ปลด ย้ายข้าราชการ กทม.ในทุกระดับชั้น รวมถึงลดระบบการทำงานของหน่วยงานราชการรัฐโดยรวมให้ขั้นตอนน้อยลง ตรวจสอบได้ง่ายดายยิ่งขึ้น 

election

หมายเลข 1
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
พรรคก้าวไกล 

แคนดิเดตผู้ว่าสายชนเบอร์ 1 พร้อมรื้อทุกโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง นโยบายหนึ่งที่น่าสนใจของวิโรจน์คือการกล้าลดช่องว่างอำนาจการต่อรองระหว่างนายทุนและประชาชนทั่วไปให้ลงมา จัดสรรให้คนกรุงเทพฯ ทุกคนได้รับความสำคัญและสวัสดิการที่เหมาะสมเพื่อให้มีความหวังที่จะตั้งตัวได้ โดยเฉพาะคนยุคใหม่ที่ค่าครองชีพสูงเป็นพิเศษ ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจปัจจุบันอย่างได้ผลและรวดเร็วที่สุด วิโรจน์มองว่าการเปิดเมืองให้เกิดการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายใน 90 วันคือคำตอบที่ดีที่สุด การจัดทำระบบเช็กเตียงเพื่อรักษาโควิด-19 และการปูพรมฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้แก่ประชาชน 9 ล้านโดสจะทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติได้อีกครั้ง และแน่นอนว่าการจัดหาวัคซีนและระยะเวลาการดำเนินงานต้องโปร่งใสและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ 

นอกจากนั้นยังมีการทำงานมุ่งเป้าให้เกิดนโยบายท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและพลิกฟื้นลมหายใจของย่าน เช่นย่านคลองสานที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การตั้งใจพัฒนาระบบขนส่งทั่วไป รวมถึงการพัฒนาเรือเมล์ชุมชน ระบบขนส่งที่หลายคนอาจหลงลืมไปแต่เป็นหัวใจหลักในการคมนาคมบางพื้นที่ เป็นความตั้งใจที่จะเชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจและขยายการคมนาคมชุมชน 

ส่วนนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อคนทำงานและผู้ประกอบการทุกท่านแบบพื้นฐานเลย มีอยู่ 4 ประเด็นหลักๆ ประเด็นแรกคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 อย่างที่อยู่อาศัย หนึ่งในปัญหาหลักของคน กทม.คือค่าพื้นที่ค่อนข้างสูง ทำให้การจะซื้อบ้านหรือหาพื้นที่ทำธุรกิจใน กทม.ของคนรุ่นใหม่และวัยทำงานเป็นเรื่องยาก จึงก่อให้เกิดนโยบาย ‘บ้านคนเมือง’ ที่จะสร้างที่อาศัยราคาถูกในตัวเมือง 10,000 ยูนิตใน 4 ปี โดยมีสัญญาเช่าต่อหลังอยู่ที่ 30 ปี โดยมองว่าถ้าหากมีงบประมาณในการสร้างบ้านให้นายพลอยู่จนหลังเกษียณได้ ก็น่าจะสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีที่อยู่อาศัยได้เช่นเดียวกัน 

ถ้าพูดถึงพื้นที่รอบๆ บ้าน หรือคุณภาพชีวิตในแต่ละพื้นที่ วิโรจน์ยังมีแนวทางการจัดสรรงบพัฒนาพื้นที่ ที่มีการแบ่งเงินให้ชุมชนโดยวัดจากขนาดพื้นที่ ชุมชนละ 500,000-1,000,000 และเขตละ 50 ล้านบาทเพื่อนำไปพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาภายในชุมชน และจัดสรร 200 ล้านบาทไว้เป็นส่วนกลาง

ประเด็นต่อมาที่สำคัญของชาว กทม.ทั้งชั้นในและชั้นนอกคือเรื่องของค่าคมนาคม โดยมีการวางแผนจะลดค่าครองชีพคนเมืองด้วย ‘ตั๋วคนเมือง’ ราคาที่ประชาชนทุกคนสามารถจ่ายได้ โดยเป็นการซื้อตั๋ว 70 บาท แต่มีค่าเงินให้ใช้เดินทางจริง 100 บาท ผลักดันให้คนใช้ขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ตามพื้นที่ต่างๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรายทางต่างๆ เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการชุมชนมากยิ่งขึ้น ส่วนทางด้านของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ถูกถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับการต่อสัมปทานบ่อยครั้ง วิโรจน์ได้แสดงความชัดเจนจะค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากมองว่าภาระค่าใช้จ่ายที่มีต่อประชาชนผู้ใช้บริการจะสูงจนเกินไป ในอนาคตอยากจะผลักดันให้ราคาการใช้บริการอยู่ที่ 15-45 บาทตลอดเส้นทางการใช้งาน

เรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและคนเมืองในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา PM2.5 และเรื่องของพื้นที่ภายในกรุงเทพฯ ที่เผชิญหน้ากับปัญหามลพิษอย่าง ‘ขยะ’ วิโรจน์มีนโยบายจะเก็บภาษีขยะโดยมองจากการใช้ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่เคยจ่ายค่าภาษีขยะอยู่ที่หลักหมื่นอาจถูกจัดเก็บภาษีขยะเพิ่มเติมเพื่อหมุนเอาเงินส่วนนี้ไปปรับปรุงระบบการเก็บขยะครัวเรือนของประชาชนทั่วไป โรงงานกำจัดขยะอ่อนนุชที่สร้างผลกระทบกับชุมชนชาวบ้านโดยรอบก็จะต้องถูกแก้ไขเช่นกัน

ประเด็นสุดท้ายของวิโรจน์นั่นก็คือ การยกระดับชีวิตคนเมืองด้วยการแก้ปัญหาเดิมๆ ให้ได้ ซึ่งถ้าพูดถึงปัญหาใหญ่ๆ ของกรุงเทพฯ แล้วย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของปัญหาน้ำท่วมและเส้นทางเดินเท้าอย่างฟุตพาทที่ขรุขระ ไม่เอื้อต่อการใช้งาน วิโรจน์ชูนโยบายว่าเขาจะลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง ด้วยงบปีละ 2,000 ล้านบาทและสร้างทางเท้าที่ดีเท่ากันทั่วกรุงเทพฯ โดยประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่เป็นผู้ใช้งานจริงต้องมีส่วนรวมในการตรวจรับงาน ไม่ใช่เป็นการสร้างเอาแต่ที่คนสร้างพอใจแล้วจบไป

election

หมายเลข 4
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
พรรคประชาธิปัตย์

แคนดิเดตผู้ว่าเบอร์ 4 เลือดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ชูนโยบายหลากหลายสำคัญที่จะเปลี่ยนเมืองกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการเยียวยาประชาชนจากเศรษฐกิจที่ซบเซาจากวิกฤตโควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แนวคิดหลักของสุชัชวีร์คือการเอาชนะโควิดให้ได้เร็วที่สุดเพื่อฟื้นนักท่องเที่ยว ลดภาระค่าใช้จ่ายและภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญคือการลดงบประมาณของ กทม.ที่เกี่ยวข้องกับโควิดเพื่อหมุนเวียนไปดูแลปัญหาด้านอื่น 

นอกจากนั้นยังมีนโยบาย ‘ขายได้ขายดี’ ที่ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กที่ทำการค้าขาย สุชัชวีร์มีแนวทางที่จะส่งเสริมตลาดนัดในกรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่ค้าขายและตลาดถาวร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมตลาดแต่ละอันให้มีอัตลักษณ์พิเศษส่วนตัวให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ กทม.ก็ต้องถูกส่งเสริมให้เปลี่ยนบทบาทจากเป็นคนที่พ่อค้าแม่ค้าแผงลอยหวาดกลัว ให้เป็นคนที่เป็นมิตรและดีต่อการค้าขายหาบเร่แผงลอยของประชาชนมากยิ่งขึ้น ตั้งใจจะวางแผนให้ กทม.ดูแลแผนงานเรื่องการทำความสะอาดและการหาพื้นที่ค้าขายรองรับในอนาคต เพิ่มท่อน้ำสาธารณะและห้องน้ำสาธารณะในแหล่งชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวให้เข้าถึงได้ง่าย 

ตลาดบนดินไปแล้ว ตลาดออนไลน์ก็ถูกพูดถึงในนโยบายของแคนดิเดตผู้ว่าคนนี้เช่นเดียวกัน โดยจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เน้นไปที่การค้าขายออนไลน์ ด้วยบริการอินเทอร์เน็ตเร็วและฟรี ที่ต้องครอบคลุมและใช้งานได้จริง ด้วยความเร็ว 1,000 Mbps ติดตั้ง 150,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ

ในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่เพื่อขยายเศรษฐกิจ สุชัชวีร์เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของย่านกรุงเทพฯ โซนตะวันออกที่ครอบคลุมพื้นที่ 7 เขต อย่างเขตสะพานสูง เขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตประเวศ เขตลาดกระบัง เขตวังทองหลาง และเขตสวนหลวง ที่มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่กว่า 17.49 เปอร์เซ็นต์ของชาวกรุงเทพฯ​ มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่มีปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการพัฒนาบริการสาธารณะยังไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงวางแผนที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังเป็นพิเศษด้วยเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และปัญหาการคมนาคมที่ปัจจุบันมีขนส่งสาธารณะน้อย มีเพียง Airport Rail Link ที่เปิดให้ใช้งานเท่านั้น เมื่อขยายเมืองให้เหมาะสมแล้ว โอกาสที่ประชาชนจะทำงานได้อย่างสะดวกสบาย เกิดการประกอบธุรกิจใหม่ๆ ก็มากขึ้นไปด้วย 

ในพื้นที่นอกเหนือจากนี้ สุชัชวีร์ก็เล็งเห็นปัญหาที่ต้องจัดการแก้ไขเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ  โดยมุ่งเป้าไปที่การนำหลักวิศวกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ไข และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหลือใช้ของหน่วยงานต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อนำมาสร้างเป็นลานกีฬาและลานกิจกรรรมที่สร้างประโยชน์กับคนหลากหลายช่วงวัย และสร้างกองทุนจ้างประชาชนที่ว่างงานเข้ามาดูแลให้เกิดเป็นรายได้หมุนเวียนแก่บุคคลและชุมชนต่างๆ ที่สนใจ 

election

หมายเลข 3
สกลธี ภัททิยกุล
อิสระ

แคนดิเดตผู้ว่าที่เป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้เปิดตัวมาพร้อมสโลแกน ‘กทม.+ More’ และ ‘สกลธีโมเดล’ เพื่อผลักดันให้เมืองกรุงเทพฯ ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยมั่นใจว่าสามารถอาศัยประสบการณ์จากการทำงานในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา ช่วยให้สานต่อการพัฒนาและทำงานกับหน่วยงานภายใต้การดูแลของ กทม.ปัจจุบันได้แบบไร้รอยต่อ 

ในการแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจสกลธีตั้งใจจะแก้ไขปัญหาโครงสร้างเกี่ยวกับคมนาคมเป็นลำดับแรกเพื่อให้เกิดการพัฒนาและเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดแผนงาน ‘ล้อ ราง เรือ’ ที่เกี่ยวกับการเพิ่มขนส่งสาธารณะสายรองขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงขนส่งสาธารณะหลักอย่างรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดินได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาแต่รถยนต์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันที่การยกระดับขนส่งหลักของคนกรุงเทพฯ ก็มีการพูดถึงการพัฒนารถไฟฟ้าสายบางนา-สุวรรณภูมิ รวมถึงระบบตั๋วเชื่อมที่ใช้ได้ในทุกเส้นทาง และการนำเทคโนโลยีมาช่วยควบคุมระบบการจราจรให้ปล่อยรถอย่างเป็นระบบ

นอกจากการคมนาคมแล้ว การบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะก็เป็นหนึ่งในแนวคิดที่สกลธีให้ความสำคัญ เขาตั้งใจผลักดันให้เกิดพื้นที่ส่วนกลางที่กลายเป็น co-working space พร้อมๆ กับพื้นที่สีเขียวที่ประชาชนสามารถมาสร้างสรรค์กิจกรรมและงานประเภทต่างๆ ได้ เมื่อมีคนมาใช้พื้นที่ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาเป็นร้านค้าชุมชน ร้านกาแฟและร้านอาหารรายทาง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ไปพร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวสูงสุด ซึ่งสกลธีตั้งใจจะสร้างพื้นที่ลักษณะนี้ให้ครบทั้ง 50 เขต 

ยกตัวอย่างในพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่แล้ว อย่างชุมชนตลาดน้อยและนางเลิ้ง สกลธีก็วางแผนที่จะดึงความโดดเด่นของชุมชนมาเป็นจุดขาย อาจสนับสนุนให้เกิดงานโชว์ศิลปะและงานด้านแฟชั่นสร้างเพื่อดึงดูดให้เกิดธุรกิจและเพิ่มประโยชน์เศรษฐกิจให้แก่ชุมชน

และเมื่อเจาะลงลึกยิ่งไปกว่าปัญหาเรื่องโครงสร้าง 2 ประเด็นดังกล่าว สกลธีก็ตั้งใจที่จะส่งเสริมและพัฒนากรุงเทพฯ ด้วยการแปลงสินทรัพย์ที่ไม่พัฒนาของ กทม. ให้กลายเป็นต้นทุนที่สร้างประโยชน์แก่ประชาชน ยกตัวอย่างเช่นการเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ของ กทม. แล้วหมุนเวียนรายได้นำไปแก้ปัญหาด้านอื่นของเมือง ก่อให้เกิดงานของแรงงาน มีกิจกรรมหรือร้านค้าต่างๆ เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังพร้อมจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้าง Build Operate Transfer หรือพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ส่งเสริมการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวแก่คนในประเทศและต่างประเทศ 

สกลธีมองว่าอาหารแบบสตรีทฟู้ดและตลาดนัดเป็นจุดแข็งที่น่าสนใจของกรุงเทพฯ เพียงแต่ต้องมุ่งจัดการระบบการค้าขายอาหารแผงลอยไม่ให้กระทบต่อคนเดินทาง และหาทางฟื้นฟูให้ตลาดนัดในย่านชุมชนต่างๆ กลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมกับมีการเตรียมแผนที่ประสิทธิภาพสูง แต่ใช้งบประมาณต่ำ อย่าง ‘รถบัสบริการ ปลายทางเกาะรัตนโกสินทร์’ เพื่อประชาสัมพันธ์ตลาดและย่านชุมชนที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

หมายเลข 6
อัศวิน ขวัญเมือง
อิสระ

แคนดิเดตคุ้นหน้าคุ้นตาเบอร์ 6 อดีตผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่ลาออกจากตำแหน่งที่ทำงานมานานกว่า 5 ปี 5 เดือน 5 วันเพื่อมาลงสมัครเลือกตั้ง อาสาเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ อีกหนึ่งสมัย โดยใช้สโลแกน ‘กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ’ และแนวคิดทำมากกว่าพูด หวังจะได้รับความวางใจจากคนเมืองกรุงให้สานต่อโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำเอาไว้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อให้กรุงเทพฯ กลายเป็นสังคมปลอดภัย สงบสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน ในการหาเสียงอัศวินได้ชู 8 นโยบายหลักในการทำงาน หนึ่งในนั้นคือการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

การจัดระเบียบพื้นที่ภายในกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเรียบร้อยสวยงามเป็นหนึ่งในจุดขายสำคัญของอัศวินที่เขามั่นใจอยากสานต่อ อย่างการทำคลองให้น้ำมีคุณภาพที่ดี ภาพลักษณ์สะอาดเรียบร้อยและการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนแออัดและปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมต่างๆ โดยเชื่อว่าหากดึงศักยภาพของพื้นที่อันหลากหลายและปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆ โดยรอบกรุงเทพฯ ให้คนสามารถเข้าถึงและทำกิจกรรมได้ จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและการท่องเที่ยวในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยทั่วกรุงเทพฯ อัศวินได้มีการวางแผนจะผลักดันการค้าขาย ด้วยการสนับสนุนให้มีถนนคนเดินทุกเขตและตั้ง 100 ตลาดทั่วกรุงเทพฯ ที่ไม่หวังผลกำไรค่าเช่าที่จากพ่อค้าแม่ค้า ส่งเสริมให้เกิดการจ้างแรงงานในชุมชนและกระจายรายได้แก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วถึง และตั้งเป้าจะผลักดันให้เกิดเทศกาลระดับประเทศให้เกิดที่กรุงเทพฯ ทุก 3 เดือนเพื่อให้เกิดกระแส ดึงนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากพิษโควิดกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง 

ขณะเดียวกันโครงสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยการสร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนกรุงเทพฯ อัศวินก็ได้ยึดมั่นที่จะทำงานในเชิงนโยบายให้ดียิ่งขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการจราจรที่ติดขัด ด้วยการทำถนน ทางลอด และจุดตัดต่างๆ เพิ่มเติม สานต่อเรื่องการสัญจรเรือไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่คลองผดุงกรุงเกษมและคลองแสนแสบ ผลักดันให้มีรถเมล์พลังงานสะอาดรับรองคนเพิ่มขึ้น 18 สายในอนาคต


อย่าลืมไปศึกษาข้อมูลและนโยบายของผู้ว่าแต่ละคนในมิติอื่นๆ ก่อนไปเลือกตั้งกันในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ 

*การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ก็เหมือนการลงทุน ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและใช้วิจารณญาณส่วนบุคคล*

แหล่งอ้างอิง

Writer

นักเขียนบทความและบทซีรีส์ภาพยนตร์อิสระที่กำลังแสวงหาอิสรภาพทางการเงิน

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like