Knit a little for Bigknit

จิบกาแฟ ถักไหมพรม และสนทนาถึง 16 ปีของ Bigknit คาเฟ่ไหมพรมที่สนุกกับการหาสิ่งใหม่

ช่วงหนึ่งปีมานี้ กระเป๋ารูปทรงนุ่มฟู ดู fluffy ที่กำลังนิยมที่เกาหลีเข้ามาตีตลาดในไทย นอกจากจะเห็นคนไทยหลายคนสะพายกระเป๋าตามที่ต่างๆ เราก็เห็นคนแย่งกันพรีออร์เดอร์กระเป๋าแบรนด์ดังจากเกาหลีกันแบบไม่มีใครยอมใคร

จากกระแสความนุ่มฟูที่ว่า บวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายขึ้นกว่าเก่า เปิดโอกาสให้ผู้คนได้กลับมาใช้ชีวิตตามใจปรารถนา เวิร์กช็อปถักกระเป๋าด้วยไหมยักษ์ใหญ่ก็ฮอตฮิตขึ้นมา นอกจากจะได้กระเป๋าที่กำลังอินเทรนด์ ก็ชวนให้หลายคนรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองลงมือทำ เวิร์กช็อปที่ว่าเริ่มจาก Bigknit แหล่งรวมไหมพรมสารพัดแบบจากหลายประเทศทั่วโลก 

ความน่าสนใจของ Bigknit ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าที่นี่แตกต่างคือ Bigknit ไม่ได้ขายแค่ไหมพรมแต่ขายประสบการณ์ เพราะทุกสาขาจะมีกิจกรรมเวิร์กช็อปให้เราเลือกทำกันสนุกๆ ในสาขาหลักอย่าง Bigknit Cafe สุขุมวิท 49 ยังมีอาหาร ขนม และเครื่องดื่มเสิร์ฟแก้หิว นอกจากจะแก้ pain point ของคนถักไหมพรมที่ถักนานจนท้องร้อง ก็ยังสร้างบรรยากาศการถักไหมพรมที่ไม่เหมือนที่ไหน 

อีก fun fact หนึ่งคือเราอาจเห็น Bigknit บูมขึ้นมาพร้อมกระแสกระเป๋า fluffy แต่ที่จริง ไน้ส์ ตันศรีสกุล เปิด Bigknit มานานกว่า 16 ปีแล้ว นั่นจึงทำให้เราได้มาสนทนากับไน้ส์ในวันนี้ว่าอะไรที่ทำให้ Bigknit ไม่เคยล้มหายตายจากจากแวดวงไหมพรมทั้งที่ธุรกิจในแวดวงเดียวกันทยอยปิดตัวทุกปีๆ และจากการทำธุรกิจเดิมมานาน 16 ปี อะไรทำให้เธอยังสนุกกับการทำธุรกิจถักทอนี้ได้อย่างยาวนาน

ย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีก่อน ไหมพรมในไทยเป็นแบบไหน

ตอนนั้นไหมพรมในไทยจะเป็นไหมพรมเส้นเล็กๆ ราคาไม่กี่บาท หาซื้อได้ตามสำเพ็งซะส่วนมาก เชื่อว่าเด็กในยุคนั้นน่าจะเคยใช้เรียนในโรงเรียนกัน เพราะเราก็ได้ใช้ไหมพรมแบบนี้ช่วงเรียนนี่แหละ แต่ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกสนุกนะ เพราะสัมผัสของมันจะแข็งๆ แล้วก็รู้สึกว่าถักไปก็ไม่ได้ใช้เพราะมันร้อน

จุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้คุณกลับมาหลงใหลไหมพรม

เราไปเที่ยวต่างประเทศเลยได้ไปเห็นไหมพรมที่มันแฟนซีมากๆ เรียกว่ามันแปลกใหม่สำหรับคนไทย เลยซื้อกลับมาด้วย ตอนแรกก็เอามาทำเล่นๆ นะ แค่เอาไหมที่ซื้อมาพันกับกิ๊บแล้วเอาไปขายให้เพื่อนที่มหาวิทยาลัย อันละแค่ 20 บาท กะขายขำๆ แต่ดันขายได้

หลังจากนั้นก็สั่งไหมมาเรื่อยๆ แต่เวลาจะสั่งแต่ละทีมันไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยนี้ เราต้องติดต่อเขาผ่านอีเมล ค่าขนส่งมาไทยก็แพง เลยต้องสั่งมาล็อตใหญ่ๆ แล้วเอาไปเก็บไว้ที่ออฟฟิศคุณแม่ จำได้ว่ามีคนรู้จักที่เขาชอบไหมพรมเหมือนกันมาขอดูไหมที่ออฟฟิศ 

ทั้งที่เราไม่มีหน้าร้านและไม่ได้โปรโมตอะไรเลย คนก็ทยอยมาดูและขอซื้อกันเยอะมาก ดาราก็ยังมา  บางคนมานั่งถักกันที่ชั้นสามของออฟฟิศคุณแม่เลย คนที่ถักเป็นก็มาสอนให้คนที่ถักไม่เป็น คุณแม่เราก็มาช่วยสอนด้วย เราเลยคิดว่ามันคงมีความต้องการตรงนี้ พอเรียนจบเลยตัดสินใจเปิดร้านจริงจัง 

ไอเดียการทำคาเฟ่พร้อมเวิร์กช็อปเกิดขึ้นตอนไหน

ตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดร้านเลย เพราะเราเห็นแล้วว่าคนที่มาถัก เขานั่งถักกันจริงจัง 3-4 ชั่วโมง ซึ่งมันค่อนข้างจะหิวนะ เราเลยตั้งใจว่าเราจะเปิดคาเฟ่ไปด้วย แรกเริ่มทำเป็นคาเฟ่เล็กๆ เสิร์ฟสลัด เค้ก เครื่องดื่ม แต่พอทำจริงๆ ลูกค้าเขาไม่ได้อยากกินแค่นี้ เขาอยากกินข้าวมากกว่า พอย้ายจากพื้นที่เดิมมาพื้นที่ตรงนี้เลยทำเป็นครัวจริงจัง ทำอาหารสไตล์โฮมเมดที่เน้นวัตถุดิบดีๆ 

แล้ว Bigknit สาขาแรกในสมัยนั้นเป็นยังไงบ้าง

ตอนแรกเราไปติดต่อสถาบันและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่น่าจะมีครูสอนงานฝีมือเพื่อให้มาสอนที่ Bigknit แต่เหมือนกับว่าสมัยนั้นคนเริ่มไม่นิยมการทำงานฝีมือกันแล้ว หันไปนิยมทำอาหารหรือการโรงแรมมากกว่า เราเลยไปติดต่อครูจากญี่ปุ่นมา 

ถ้าลูกค้าเรียนกับพนักงานก็ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าเรียนกับครูจากญี่ปุ่นจะต้องเสียเป็นคอร์ส เราคิดว่าคนไทยน่าจะชอบแต่ดันคิดผิด (หัวเราะ) เพราะพบว่าจริงๆ คนไทยไม่ได้ชอบเรียนจริงจังแต่ชอบทำเป็นงานอดิเรกมากกว่า ลูกค้าจะเอ็นจอยกับการที่มีคนทั่วไปมาสอน แต่ถ้าให้สมัครคอร์สเรียนเขาจะไม่สมัครกัน 

ส่วนคนที่สมัครเรียนกับครูญี่ปุ่นก็มักจะเรียนไม่จบ เพราะถ้าทำผิดนิดนึง ครูจะให้รื้อ หรือเวลาจะทำอะไรก็ต้องใช้ไม้บรรทัด ใช้เครื่องคิดเลขมาคำนวณ ต้องมีแพตเทิร์นต่างๆ แต่ถ้าคนไทยสอนก็แค่รวบๆ ห่วงก็จบ นอกจากนั้น อุปกรณ์ที่ว่าก็ต้องซื้อจากญี่ปุ่นเท่านั้นด้วย 

กลายเป็นว่าทุกวันนี้อุปกรณ์ที่ซื้อมาสต็อกก็ยังอยู่ ส่วนครูที่มีสัญญาจ้าง 1 ปี เราก็ให้เขามาสอนพนักงานเพื่อเทรนด์คนแทนที่จะสอนลูกค้า 

จากครั้งนั้น คุณปรับวิธีการเลือกของหรือวิธีการทำงานให้เข้ากับลูกค้าคนไทยยังไงบ้าง  

หลังจากนั้นเราก็เลยต้องเซอร์เวย์ก่อน เพราะเอาจริงๆ ถ้าย้อนไปตอนจะเปิดร้าน เราก็คิดว่าลูกค้าส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนญี่ปุ่นนะ เพราะร้านเราตั้งตรงสุขุมวิทที่คนญี่ปุ่นเยอะ แต่มันก็ผิดคาดอีกเพราะหนึ่ง–คนญี่ปุ่นเขาทำเป็นอยู่แล้ว 

สอง–มันเหมือนเป็นงานบ้านมากกว่าจะเป็นงานอดิเรก คนญี่ปุ่นที่ตามสามีมาเมืองไทย เขาไม่จำเป็นต้องทำงานบ้าน เขามีคนขับรถให้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นงานอดิเรกของคนญี่ปุ่นในไทยจึงคือการเข้าสปาและการเข้าคาเฟ่ แต่เราดันไปเอาภาพจำของคนญี่ปุ่นที่ประเทศเขามาใช้

ตอนนี้เวลาจะขายหรือจะทำอะไรก็เลยต้องทดลองดูก่อนว่ามันโอเคหรือเปล่า เช่น แต่ก่อนเวลาจะสั่งไหมก็สั่งมาล็อตใหญ่มากจนยังอยู่ในสต็อกถึงทุกวันนี้ ตอนนี้ก่อนจะสั่ง เราจะต้องเอาไหมแต่ละแบบไปถามพนักงานและคนรอบตัวว่าเขาคิดยังไง หรือไม่ก็ลองสั่งเป็นล็อตเล็กๆ มาก่อน หมดแล้วค่อยสั่งใหม่ เพราะตอนนี้แค่สต็อกของก็หมดไป 1 อาคารแล้ว (หัวเราะ) 

ไหมแบบไหนที่คนไทยชอบเป็นพิเศษ

ทั้งช่วงแรกที่เปิดร้านและตอนนี้ เราว่าคนไทยชอบสีสด ตอนนี้อาจจะมีสีครีม น้ำตาล ดำ และพาสเทลบ้าง แต่ก็ยังชอบสีสดอยู่ดีซึ่งเป็นสีโทนเดียวกับที่คนสเปนชอบ ขณะที่ญี่ปุ่นจะออกพาสเทลสว่างๆ อังกฤษกับอิตาลีจะชอบสีทึมๆ เยอรมนีจะโดดเด่นเรื่องนวัตกรรม เช่นไหมไจนึงมีหลายสีแต่เขาจะไม่มีรอยต่อเลย 

ถ้าเอามาถักเป็นของใช้ต่างๆ สมัยก่อนคนจะนิยมทำพวกผ้าคลุมไหล่ แต่ทำหลายๆ สี ใช้ไหมแฟนซีๆ แนวฮิปปี้อะไรแบบนั้น ลูกค้าที่จะจ่ายได้มากขนาดนี้ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อหน่อย แต่สมัยนี้ลูกค้าจะค่อนข้างหลากหลายขึ้น และคนก็นิยมความมินิมอลมากกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก 7-15 ปี ข้ามไปที่อายุ 21-22 ปีหลังเรียนจบ เพราะช่วงมหาวิทยาลัยเน้นทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยกันมากกว่า แล้วอีกกลุ่มก็จะเป็น 35-45 ปี ไปเลย

คุณทำ Bigknit มานานแค่ไหนถึงเริ่มรู้สึกว่ามั่นใจและเอาอยู่

(นิ่งคิด) ยังไม่มีนะ เพราะมันจะมีช่วงที่พีคอย่างช่วงเปิดร้าน และช่วงนี้ที่คนมาฮิตกระเป๋านุ่มๆ กับช่วงเฉยๆ ที่เทรนด์มันซา ช่วงที่พีค จะมีคนเปิดร้านแบบเรามากขึ้น บางทีก็เอาพนักงานเราไป แต่ความที่เขาไม่ได้พัฒนาอะไรใหม่ๆ พอเทรนด์ซา ร้านก็ต้องปิดตัว มันจะวนๆ แบบนี้เลยไม่เคยรู้สึกอยู่ตัวเลย

แล้วทำไม Bigknit ถึงยังอยู่ได้  

ช่วงที่เทรนด์ซาๆ ร้านต่างๆ ก็ทยอยหายไป เราตัดสินใจไปเรียนต่อเรื่อง business innovation เพราะก็อยากหาคำตอบให้ตัวเองเหมือนกันว่าทำยังไงเราถึงจะอยู่ได้ สรุปง่ายๆ ก็คือมันไม่มีอะไรถาวร มันไม่มีใครเป็นที่หนึ่งถ้าอยู่เฉยๆ ธุรกิจที่จะอยู่ได้คือธุรกิจที่พัฒนาอะไรใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อ จริงๆ เราก็รู้อยู่แล้วนะแต่เหมือนการไปเรียนมันเป็นการยืนยันความเชื่อมากกว่า 

อย่างพอเราเห็นว่ากระแสกระเป๋านุ่มนิ่มกำลังมา เราก็เปิดเวิร์กช็อปทำกระเป๋าจากไหมผ้ายืดเส้นใหญ่ แต่พอมันได้รับความนิยม แน่นอนต้องมีคนทำแบบเราแน่ๆ เราก็ต้องคิดว่าเราจะมีไหมเส้นใหญ่แบบไหนอีกบ้าง เช่นตอนนี้มีไหมยักษ์เวลเวท หรือไม่เราก็ต้องมีแพตเทิร์นอื่นให้ลูกค้าได้ลองทำ หรือแม้แต่ต้องสั่งผลิตเองเราก็ต้องทำเพื่อให้ไหมของเราไม่เหมือนเจ้าไหน 

แล้วไหมพรมก็มีงานประจำปีด้วยนะ มันจะมาก่อนงานเสื้อผ้า เพื่อให้แบรนด์เสื้อผ้านำไปตัดเย็บอีกที ดังนั้น เราต้องศึกษางานพวกนี้ว่าเทรนด์อะไรกำลังมา สีอะไรที่มาแรง 

คุณทำยังไงให้ยังสามารถทำธุรกิจเดิมมาได้ยาวนานโดยไม่รู้สึกเบื่อ  

จริงๆ มันก็มีคิดบ้างนะว่าเราจะทำสิ่งนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน แต่พอมานั่งวิเคราะห์ดูก็รู้สึกว่ามันก็ยังโอเคนี่ แล้วเราก็ยังแฮปปี้อยู่นะ เพราะความที่เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องหาอะไรใหม่ๆ ตลอดนี่แหละ 

แล้วมันก็มีความน่ารักบางอย่างที่ทำให้เราอยากทำต่อไปเรื่อยๆ เช่น ลูกค้าบางคน เราเห็นเขาตั้งแต่ยังเด็กชนิดที่ต้องให้แม่อุ้มมา แต่ตอนนี้เขาสูงเท่าแม่แล้ว บางคนไม่มาถักก็ยังมากินข้าว หรืออย่างตอนที่ร้านสาขาแรกต้องปิดไปเพราะเขาทุบตึก ลูกค้าประจำก็บอกข่าวเราเรื่อยๆ ว่ามีที่ตรงนั้นตรงนี้นะ สาขาสุขุมวิท 49 ที่เรานั่งคุยกันอยู่นี่ก็เป็นที่ของลูกค้า 

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า Bigknit ไม่ได้ขายแค่ไหมพรม แต่ขายประสบการณ์​ คุณหมายความว่ายังไง

เรารู้สึกว่าคนไม่ได้มาหาเราเพราะอยากจะถักหรือซื้อไหมพรมอย่างเดียว เพราะถ้าเขาจะทำแค่นั้น เขาถักที่บ้านก็ได้ แต่ด้วยบรรยากาศที่มีครูมาสอน มีคนมาเรียนโต๊ะข้างๆ มีเพลง มีอาหาร มันเลยให้ความรู้สึกที่แตกต่าง อย่างบางคนไม่มาถักแต่มานั่งกินข้าวเฉยๆ ก็มี พอมานั่งกินข้าวก็เริ่มรู้สึกอยากถักบ้างแล้ว มันเลยเป็นความผูกพันที่มากกว่ามาซื้อของแล้วกลับบ้าน

หรืออย่างช่วงโควิด-19 เราก็เปิดขายอาหารเดลิเวอรี ส่วนครูก็ช่วยกันทำคลิปวิดีโอสอนเพื่อลงยูทูบและทำประกอบเซต DIY ให้ลูกค้าที่สั่งไปทำแก้เบื่อที่บ้าน หรืออยู่ในช่วงกักตัว ถ้าลูกค้าติดปัญหาอะไร ครูก็พร้อมตอบไลน์เสมอ มันคือการแก้ pain point ของคนถักไหมพรมที่เวลาติดปัญหาแล้วไม่รู้จะแก้ยังไง มันเป็นอีกความสัมพันธ์ที่ทำให้ลูกค้านึกถึงเราและรู้สึกว่าเราไม่เหมือนร้านขายไหมพรมทั่วไป

แล้วภาพของ Bigknit ที่คุณอยากเห็นในอนาคตเป็นแบบไหน

เวลาคิดถึงงานฝีมือ งานนิตติ้ง งานไหมพรม เราอยากให้คนนึกถึง Bigknit เช่นถ้าเขามาทำเวิร์กช็อปก็อยากให้เขาได้บรรยากาศดีๆ และอยากกลับมาหาเราอีกครั้ง จะกลับมาคนเดียวก็ได้ หรือกลับไปชวนเพื่อนมาทำกิจกรรมด้วยกันก็ได้

What I’ve Learned
1. “ถ้าไม่อยากตายไปพร้อมเทรนด์ ต้องขายประสบการณ์มากกว่าขายสินค้า”
2. “สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจอยู่ต่อได้ คือเราต้องมีอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ”
3. “อย่าเอาตัวเองเป็นหลักแต่ให้นึกถึงความต้องการของลูกค้าเพราะเราต้องสนองลูกค้าไม่ใช่เรา การเซอร์เวย์จึงสำคัญมาก”

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like