MasterPieces of Mook V

wisdom ของ ‘มุก เพลินจันทร์’ ศิลปินสิ่งทอระดับโลกที่สร้างสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีซสุดอลังการ 

พาดหัวข่าวตามสื่อต่างๆ มักแนะนำตัว มุก–เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ว่าเป็นศิลปินสิ่งทอระดับโลก หรือนักออกแบบสิ่งทอแถวหน้าของเมืองไทย และผู้คนมักรู้จักเธอในชื่อ Mook V (มุกวี) เจ้าของผลงานสิ่งทอและศิลปะจากขยะเหลือใช้

อาชีพ textile artist หรือศิลปินสิ่งทออาจไม่ค้นหูคนส่วนใหญ่นัก มุกเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท บียอนด์ ลิฟวิ่ง จำกัด (Beyond Living) ที่รับทำงานอาร์ตและผลงาน décor & accessories ไม่ว่าจะเป็นศิลปะประดับผนัง sculpture พรม หมอน ฯลฯ ให้ลูกค้ากลุ่มลักชูรี 

เอกลักษณ์ของมุกวีคืองานทอที่เล่นกับสีสันและผิวสัมผัส และไม่ใช่แค่ผ้าเท่านั้นที่เธอใช้เป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน ขวดกระป๋อง มุ้งกันยุง ถุงน่อง และขยะจากละแวกบ้านก็ล้วนเป็นวัสดุที่นำมาเป็นงานศิลป์มูลค่าสูงได้

นอกจากผลงานศิลปะชิ้นยักษ์จากขยะที่ท้าทายที่สุดอย่าง ‘Woven Symphony’ และ ‘Adam’s Bridge’ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แล้ว ผลงานโดดเด่นที่มุกทำร่วมกับแบรนด์ระดับโลกคือโปรเจกต์ร่วมกับ Louis Vuitton ที่ทำมาถึง 4 โปรเจกต์ ตั้งแต่การตกแต่งรีเทลสโตร์ที่ไอคอนสยาม, Central Floresta ภูเก็ต, เอกซ์คลูซีฟ สโตร์ ณ ไอคอนสยาม และล่าสุดคือ LV The Place Bangkok ที่เกษรอัมรินทร์

ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการตกแต่งรีเทลสโตร์ของ Louis Vuitton ต้องเป็นมุก นั่นเพราะการออกแบบคอนเซปต์และเทคนิคที่เน้นการผสานความเป็นไทยอย่างร่วมสมัย เช่น แผงงานประดับด้วยลวดลายถัก macramé ที่ได้แรงบันดาลใจจากอุบะ และการเลือกใช้วัสดุอย่างเชือกพื้นบ้านมาถักเป็นแพตเทิร์นสุดเนี้ยบเพื่อประดับผนังและพรม 

คอลัมน์ Modern Nice ตอนนี้ชวนมาคุยกับ textile artist ถึง life wisdom และ business wisdom ทั้งในแง่ตัวตนของศิลปินที่ใช้กระบวนการคิดแบบ thinking with hands (คิดด้วยมือ) ไปจนถึงการทำธุรกิจที่ออกแบบกี่ทอผ้าและสร้างโรงงานด้วยตัวเอง 

Life Wisdom 
I am Mook V 

เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ที่มุกเปิดบทสนทนากับเราว่า ที่ผ่านมาเธอไม่กล้านิยามตัวเองว่าเป็นอาร์ตติสท์ด้วยซ้ำจนกระทั่งคนอื่นเรียก 

“ทั้งชีวิตนอกจากครอบครัวแล้วก็รู้สึกไม่ belong กับใครที่ไหนเลย เราจะรู้สึกว่าอาร์ตติสท์ที่โด่งดังหรือ art collector ก็ไม่ได้มองเราเป็นอาร์ตติสท์ แล้วก็รู้สึกว่าคนที่เป็นดีไซเนอร์เขาก็ไม่ได้มองเราเป็นดีไซเนอร์”

ที่รู้สึกแบบนี้เพราะหลังเรียนจบด้านสิ่งทอจากต่างประเทศ มุกเดินทางกลับมาทำงานที่ไทยและสังเกตว่านักสร้างสรรค์ในสายอาชีพต่างๆ มักรวมตัวกันเป็นกลุ่ม อาร์ตติสท์ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มักรู้จักมักคุ้นกัน ส่วนดีไซเนอร์ในไทยก็มักมีความชอบที่คล้ายคลึงกัน เช่น ความนิยมในสไตล์การแต่งตัวสีดำเท่ๆ ในขณะที่มุกชอบแต่งตัวด้วยสีสัน 

“เราจบจากเมืองนอก พอกลับมาไทย เราไม่มีใครเลย” แบ็กกราวนด์ที่แตกต่าง ความชอบเฉพาะ และความรู้สึกว่าไม่มีคอนเนกชั่นสายอาร์ตที่ลึกเหมือนคนอื่นในวงการทำให้มุกบอกว่ารู้สึกแตกต่าง

 “บางคนก็จะมองว่าเราเป็นเซเลบ แต่ว่าเราก็ไม่ได้ใส่แบรนด์เนมตั้งแต่หัวจรดเท้า” จากมุมคนนอก การได้เข้าไปทำงานและเข้าสังคมกับลูกค้าแบรนด์ลักชูรี น่าจะเรียกว่าเป็นเซเลบได้แต่มุกไม่ได้มองแบบนั้น 

“เราเคยนั่งกินข้าวคุยกับซีอีโอคนก่อนของ Louis Vuitton เขาบอกว่าคุณทำงานกับเราเป็นโปรเจกต์ที่ 4 แล้ว ทำไม from head to toe คุณถึงไม่ใส่ Louis Vuitton เลย เราก็เลยบอกว่า ฉันไม่จำเป็นต้องใส่ Louis Vuitton ฉันก็ยังเป็นฉัน คุณก็ยังจ้างฉันอยู่เลย” 

a day in life ของมุกเริ่มต้นจากการออกกำลังกายทุกวันตอนเช้าและหลายครั้งก็ใส่ชุดกีฬาสบายๆ มาทำงานที่ชั้นล่างของบ้านซึ่งเป็นโรงงานที่เต็มไปด้วยกี่ทอผ้า มุกมองว่าตัวตนของเธอเป็นคนไม่กังวลกับภาพลักษณ์และไม่อายที่จะบอกใครเวลาไม่เข้าใจ เพราะเชื่อว่าการเป็นตัวของตัวเองดีที่สุด

“เวลาคุยกับคนที่โรงงาน เราก็เป็นตัวเรา เห็นเขานั่งทำงานยังไงเราก็นั่งแบบนั้น ร้อนยังไงก็ร้อนแบบนั้นด้วยกัน เวลาไปหาลูกค้าเราก็ต้องรู้มารยาท ไปงานเราก็แต่งตัวดี เรามองว่าการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน เราอยู่กับใครก็ต้องพยายามเบลนด์กับเขาแต่ก็ยังต้องเป็นตัวเอง บางครั้งเขาพูดอะไรกันเราไม่รู้เรื่องเลยนะ เช่น เศรษฐกิจ นักการเมือง เราก็จะบอกเลยว่าไม่รู้เรื่อง ช่วยอธิบายหน่อย เราไม่อายที่จะบอกว่าฉันไม่เข้าใจ” 

แม้จะมีผลงานชิ้นโบแดงมากมาย ทุกวันนี้มุกก็ยังมองว่าไม่จำเป็นต้องให้คำนิยามก็ได้ว่าเราเป็นใคร แค่เป็นตัวของตัวเองก็พอ 

“เราไม่รู้ว่าเราเป็นใครแต่รู้ว่าเราเป็นเรา ใครจะเรียกว่าเป็นดีไซเนอร์ อาร์ตติสท์ เซเลบ จะเรียกอะไรก็ได้ ตัวตนเราคือเป็นคนใส่หมวกหลายใบและมีแพสชั่นกับงานที่ทำ ทุกอย่างที่ทำไม่ว่าจะเป็นงานทอ งานถัก งานอะไรก็ตาม มันทำจากใจและทำจากคนคนนี้” 

ตอนนี้มุกกำลังเตรียมตัวจัดนิทรรศการเดี่ยวที่กำลังจะเปิดตัวในเดือนกรกฎาคมซึ่งเธอแย้มคอนเซปต์ของงานไว้ว่า “exhibition นี้จะบอกเล่าเรื่องราวว่า I don’t know who I am แต่นี่คืองานของฉัน” 

Thinking with Hands 

ย้อนกลับไปในวัยเรียน สิ่งที่ทำให้เด็กคนหนึ่งกล้าเป็นตัวของตัวเองและเลือกเส้นทางสายศิลปะ

คือการค้นพบว่าไม่ถนัดวิชาที่คิดด้วยหัวแต่ชอบวิชาที่คิดด้วยมือ 

“ตอนอยู่เมืองไทยเราเรียนอยู่กลุ่มที่โหล่ตลอด ก็คิดแล้วว่าอยู่ไทยไปคงไม่รอดเพราะทุกอย่างสอบตกหมด ภาษาไทยก็ตก เลขก็ตก ไม่ชอบเลยสักอย่าง ตอนเรียนวิชาศิลปะก็ไม่ได้ดีเด่นด้วยนะ เพราะที่ไทยสมัยนั้นต้องวาดตามครู ทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบ” 

มุกจึงตัดสินใจย้ายไปเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ ม.2 ซึ่งมีอิสระในการเลือกวิชาที่อยากเรียนมากขึ้น

นั่นทำให้เธอรู้ตัวในเวลาต่อมาว่าชอบศาสตร์การออกแบบสิ่งทอ “แต่ก่อนนึกว่าอยากเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ แต่พอเรียนลงลึกจริงๆ ก็เลยรู้ว่ามันไม่ใช่ ไม่ได้อยากออกแบบเสื้อแต่อยากออกแบบผ้า อยากทำตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็นเสื้อ”

ศาสตร์ออกแบบสิ่งทอสอนตั้งแต่เริ่มต้นจากศูนย์จนมาเป็นผ้าทอหนึ่งชิ้น ตั้งแต่เปลี่ยนจากปุยฝ้ายเป็นเส้นใย ตีเกลียวออกมาเป็นเส้น และนอกจากคำว่า textile art แล้วยังมีศัพท์อีกคำที่ออกเสียงคล้ายกันคือ tactile art 

tactile art คือการคิดจากมือและลงมือทำด้วยมือ คิดด้วยประสาทสัมผัส (sensory) มุกชอบการออกแบบลายด้วยมือมากกว่าสเกตช์ในโปรแกรม เอากระดาษมาตัด เอาดินน้ำมันมาปั้นเพื่อให้มองเห็นภาพให้ได้มากที่สุด เริ่มคิดด้วยมือและให้ทีมช่วยจบงานด้วยการทำพรีเซนต์ด้วยโปรแกรม

“ผลลัพธ์งานสุดท้ายมักจะออกมาต่างกับในพรีเซนต์ พอเราทำงานคราฟต์หรืองานทอ มันเป็นงานที่ทำกับมือ เพราะฉะนั้นถ้าลงกระดาษแล้วจะออกมาเหมือนในกระดาษเป๊ะไม่ได้ พอทำไปเรื่อยๆ แล้วจะอยากเพิ่มนั่นเพิ่มนี่ ฉะนั้นส่วนใหญ่ผลงานเราจะพัฒนาไปตามกระบวนการ ตามมือที่ปล่อยไป มันคือนิยามของงานอาร์ตจริงๆ ที่ผลงานจะออกมาไม่เหมือนสเกตช์”

ศิลปะ textile art เป็นงานที่เล่นกับลวดลาย แพตเทิร์น วัสดุ และผิวสัมผัส ทำให้การปรับเปลี่ยนตามหน้างานเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งมุกนำวัสดุอย่างมุ้งลวดมาใช้ซึ่งปรากฏว่าเปื่อยและขาดที่หน้างาน ก็ต้องประยุกต์ด้วยการขยุ้มมุ้งลวดแล้วแปะเข้าไปใหม่อีกรอบ กลายเป็นการสร้างเทกซ์เจอร์ที่สวยและมีมิติมากกว่าเดิมโดยบังเอิญ 

ด้วยลักษณะงานแบบนี้ทำให้มุกบอกว่าผลงานของเธอสามารถพัฒนาได้เรื่อยๆ ไม่มีวันจบ สิ่งสำคัญคือต้องกล้าลองและกล้าพัง กล้าออกนอกกรอบและปรับเปลี่ยนตามหน้างาน กล้าสร้างสรรค์จากกระบวนการไร้สเตปที่คาดเดาไม่ได้จนกลายเป็นศิลปะที่เหนือความคาดหมาย 

Business Wisdom
Disrupt Yourself 

แม้พรสวรรค์ด้านงานศิลปะของมุกจะหาตัวจับได้ยากจนทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จัก แต่เส้นทางการปั้นบริษัทของ textile artist ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ 

โมเดลธุรกิจในช่วงเริ่มแรกของ Beyond Living คือการขายส่งให้โรงแรม เช่น โรงแรมแห่งหนึ่งมี 200 ห้องก็จะมีดีมานด์ที่ต้องการพรม 200 ชิ้น หรือหมอน 200 แบบ 

“ทีนี้พอทำมาเรื่อยๆ ก็ไม่กำไรเลย ขาดทุนและเกือบจะปิดไปบางช่วง เพราะได้รู้ว่าคู่แข่งเยอะมาก เดี๋ยวก็ไปเทียบกับของจากจีนและอินเดีย เดี๋ยวก็มีลูกค้าให้เราทำแบบให้แล้วเอาของเราไปผลิตที่อื่น มันก็ไม่ประสบความสำเร็จเลย แม้ชื่อเสียงดี ทุกอย่างดูดี แต่เม็ดเงินไม่เหลือ ก็ถอดใจไปหลายหน” 

เนื่องจากพรมหนึ่งผืนใช้เวลาในการทอหลายอาทิตย์ ด้วยความอยากขายของให้ได้ บริษัทจึงรับออร์เดอร์จากลูกค้าเข้ามาก่อน แต่เมื่อแจกแจงค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการทำภายหลัง กลับพบว่าไม่ได้กำไรทั้งที่มีงานเยอะมากและขายได้ตลอดเวลา

“แต่ก่อนเราไม่รู้หรอกว่าขายหนึ่งชิ้นก็ขาดทุนหนึ่งชิ้น มันก็เลยขาดทุนสะสม เพิ่งจะมาดีขึ้นหลังโควิด-19 เพราะช่วงนั้นบีบรัดให้ต้องลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพื่ออยู่ให้ได้ เราเลยต้องมาดูตัวเลข ก็เลยรู้ว่าไม่ใช่แล้ว

“เราเลยใช้วิธีถ่ายคลิปตัวเองขายพรม แล้วเปลี่ยนมาขายในราคารีเทล ซึ่งมี margin สูงขึ้น ขายได้ 10 ผืนต่อเดือนก็กำไรแล้ว จากที่แต่ก่อนทำพรม 100 ผืนในหนึ่งโปรเจกต์ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเลย มันต่างกันเยอะมาก ทุกวันนี้เรายังทำพรมกับหมอนอยู่แต่ทำในจำนวนน้อยลง” 

หลังจากทำธุรกิจขาดทุนมานาน มุกจึงได้ข้อคิดทางธุรกิจว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจเจ๊งได้คือการบริหารสต็อกไม่ดี จุดเปลี่ยนสำคัญของ Beyong Living จึงเป็นการหันมาดูตัวเลขทางค่าใช้จ่ายมากขึ้น 

เปลี่ยนจากจับตลาดแมสมาเป็นตลาดลักชูรี ที่กลุ่มลูกค้ามองเห็นคุณค่าในงานฝีมือและงานศิลปะอย่างแท้จริง ปรับ brand positioning เป็นหมวดสินค้า functional art ซึ่งมีแบบและลวดลายที่พรมจากจีนและอินเดียไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ทำให้สามารถขายในราคาสูงขึ้นได้ 

เบื้องหลังการเลือกโพซิชั่นสินค้าแบบนี้ได้เพราะมุกก่อตั้งโรงงานทอ ปั่น ถักที่ออกแบบกี่ทอผ้าและกระบวนการทำงานเองทั้งหมด เมื่อถามว่าทำไมต้องลงทุนผลิตกี่ทอผ้าใหม่เป็นของตัวเองทั้งที่มีคนอื่นผลิตและคิดค้นกระบวนการมาก่อนแล้ว ก็ได้คำตอบว่า

“เราเป็นคนทอก็ต้องชอบกี่ที่ทำงานให้เรา ไม่ใช่เราต้องไปปรับตัวให้กี่ เราต้องปรับกี่ให้เข้ากับงานของเรา เส้นที่ใช้ทอ ความหนัก หรืองาน เพราะฉะนั้นเราจะทำกันเอง ทาสีกันเอง ปรับเปลี่ยนกันเอง ซึ่งอุปกรณ์หลัก ก็ต้องซื้อมาประกอบให้เหมาะกับงานของเรา”

ที่สำคัญคือมุกยังคิดต่างด้วยการอยากรับคนที่ไม่เคยมีทักษะในการทอผ้ามาทำงานด้วย “ไม่อยากเอาคนที่ทอเป็นแล้ว เพราะเขาจะมีภาพในหัวว่าต้องทอแบบนี้ กี่ของเราก็หนักกว่า เส้นด้ายก็หนากว่า ลายก็ยากกว่า เพราะฉะนั้นไม่เป็นมาก่อนเลยดีกว่าแล้วเรามาสอนกันเอง เราคิดลายเอง คิดวิธีผูกเท้าเหยียบเอง เรามีวิธีของเราเองทั้งหมด” 


Repurposed Art

ทุกวันนี้ผลงานชิ้นเอกของมุกไม่ได้อยู่แค่ในขอบเขตสิ่งทอ แต่หลายคนจะรู้จักเธอในนามผู้สร้างศิลปะจากขยะ ซึ่งเบื้องหลังจุดเริ่มต้นในการนำวัสดุ upcycle มาสร้างสรรค์ผลงานเกิดจากการอยากบริหารสต็อกทางธุรกิจให้ดีขึ้น 

เนื่องจากในแต่ละโปรเจกต์ต้องสั่งผ้ามาเผื่อเหลือ หลายครั้งจึงมีเศษผ้าเศษด้ายเหลือรวมกันเป็นตัวเลขหลักหลายกิโลเมตรจนรู้สึกสิ้นเปลือง มุกยังได้แรงบันดาลใจในการลดขยะจากสิ่งของรอบตัว ตั้งแต่ถุงเท้าตอนเด็กๆ ของลูกที่นำมาทอเป็นพรม กระดาษเหลือใช้จากออฟฟิศและขยะจากละแวกบ้านที่นำมารียูสใหม่เป็นงานศิลปะแขวนผนัง 

ผลงานท้าทายที่สุดของมุก คือ ‘Woven Symphony’ ลายรามเกียรติ์ และ ‘Adam’s Bridge’ ลายหนุมานขนหินถมทะเล ขนาดใหญ่กว่า 6 เมตร ยาว 24 เมตร ที่จัดแสดงเมื่อครั้งสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ ที่บอกว่าท้าทายที่สุดเพราะต้องเสร็จงานชิ้นยักษ์ใหญ่นี้ภายในระยะเวลากระชั้น 59 วันด้วยขยะหลากหลายประเภททั้งกระป๋อง ถุงพลาสติก เศษผ้า ฟองน้ำ ถุงน่อง ฟองน้ำ ฯลฯ 

งานศิลปะที่ขายได้แบบนี้ทำให้ Beyond Living มีหมวดสินค้าศิลปะจากวัสดุ upcycle เป็นหมวดเด่นอีกหมวดซึ่งมุกบอกว่าเธอไม่ได้คิดตั้งแต่แรกว่าจะทำตามเทรนด์ความยั่งยืนเพื่อธุรกิจ “ที่เราทำงานศิลปะจากของเหลือไม่ใช่เพิ่งมาทำเพราะว่ามันเป็นกระแส แต่ทำมาเรื่อยๆ ด้วยจิตสำนึกอยากบริหารสต็อกและไม่อยากจะทิ้งขยะ จนวันหนึ่งกระแส upcycle และ recycle กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมา” 

ผลงานมาสเตอร์พีซล่าสุดของมุกคือ ‘Call of the Cardamoms’ เสือจากขยะเหลือใช้ อย่างสารพัดขวดโซดา มุ้งลวด ฯลฯ ซึ่งเพิ่งจัดแสดงที่ House of Sathorn โดยเป็นแคมเปญเพื่อสื่อสารถึงป่าฝนแห่งสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กัมพูชาซึ่งมีเสือเหลืออยู่ในป่าเพียงตัวเดียว 

“ที่เลือกทำเสือเพราะที่ผ่านมาเราเป็นคนตัวเล็ก คนก็จะมองเราเหมือนแมวตัวเล็กๆ แต่วันนี้เราอยากเป็นเสือ เราอยากเปลี่ยนสิ่งเล็กๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คนเห็นและหันมาสนับสนุนสิ่งใหญ่ๆ” 

จากกี่ทอผ้าในโรงงานเล็กๆ และขยะเหลือใช้ที่ไม่มีใครเหลียวแล ทุกผลงานที่มุกทำนั้นเรียกได้ว่าล้วนเป็นมาสเตอร์พีซทุกชิ้น ด้วยคอนเซปต์ เทคนิค และสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ มุกทำให้เห็นว่า นอกจากศิลปะจะเป็นสื่อที่ทำให้คนรู้สึกบางอย่างแล้ว ศิลปะยังสามารถส่งเสียงถึงบางประเด็นและเพิ่มมูลค่าให้เป็นงานศิลปะร่วมสมัยจนกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินและสนับสนุนงานฝีมืออย่างยั่งยืนได้

Editor’s Note : Wisdom from Conversation

ความโมเดิร์นของ Beyond Living คือการให้คุณค่ากับ ‘the new luxury’ ในโลกยุคใหม่ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดและสร้างสรรค์ผลงานด้วยมือในโลกดิจิทัลไปจนถึงการคำนึงถึงความยั่งยืนที่สร้างมูลค่าจากขยะเหลือใช้ทำให้สามารถสร้างธุรกิจที่จับกลุ่มลูกค้า luxury ได้

ความเชี่ยวชาญในสายงานเฉพาะของตัวเองยังทำให้สามารถสร้าง ‘เครื่องมือ’ และ ‘กระบวนการทำงาน’ ของตัวเองขึ้นมาได้ อย่างกี่ทอผ้าที่ออกแบบและผลิตเองไปจนถึงเทคนิคการทอเฉพาะของตัวเอง และการวาง position ทางธุรกิจที่ชัดเจน เจาะตลาดตรงกลุ่มเป้าหมาย รู้ว่าสินค้ามีมูลค่าในสายตาของใครจึงสามารถสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนได้

ทั้งนี้การเติบโตภายในและการเติบโตในโลกธุรกิจนั้นก็มีความสวนทางกันอยู่ ในขณะที่การทำธุรกิจต้องรู้ position ที่ชัดเจน การรู้จักตัวเองอย่างแท้จริงอาจเป็นรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องให้คำนิยามและ position ก็ได้ว่าเราเป็นใครในสายอาชีพ รวมทั้งอาจไม่ต้องเหมือนคนอื่น แค่เป็นตัวของตัวเองก็พอ

Writer

Lifestyle Columnist, Craft Curator, Chief Dream Weaver, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ทำงานให้งานมันท้อเรา ig : chinnakanc

You Might Also Like