Art Piece

4P+1 ของ ben mizu ร้านขายวุ้นญี่ปุ่นสุดจิ๋วโดยนักออกแบบที่เริ่มจากความอยากเล่นและอยากลอง 

ลองทายกันดูหน่อยว่าภาพต่อไปนี้เป็นภาพอะไร

ขอเฉลยว่าศิลปะกินได้ที่เห็นอยู่นี้คือวุ้นญี่ปุ่นหน้าตาดี รสชาติได้ โดยฝีมือของกราฟิกดีไซเนอร์อย่าง เบน–เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ ที่ก่อนหน้านี้เรารู้จักเธอ​ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานกระดาษสุดเก๋

แต่เพราะเชื้อเพลิงในการทำงานของเธอมาจากความสนุกในการ ‘เล่น’ สิ่งที่เธอสนใจเพื่อหา ‘ความเป็นไปได้’ ใหม่ๆ วันดีคืนดีเราจึงได้เห็นเบนสนุกกับการเล่นเจ้าวุ้นญี่ปุ่นนี้ให้ออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ 

“เรามองว่ามันคือเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราสามารถเล่นกับเรื่องของ ‘น้ำ’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางธรรมชาติที่เราสนใจได้ เพราะวุ้นมีลักษณะใส ฟอร์มตัวได้ และบอกเล่าสเตจของน้ำตั้งแต่ยังเป็นของเหลวจนกลายเป็นของแข็งได้ นั่นหมายความว่าวันหนึ่งเราอาจจะเล่นจนเข้าใกล้สเตจของน้ำที่เป็นอากาศก็ได้” เบนอธิบายอย่างนั้น และนั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ ben mizu เพราะ mizu นั้นแปลว่าน้ำ

จากความสนใจนั้น ผสมผสานกับมุมมองการมองโลกแบบนักออกแบบ วุ้นแต่ละชิ้นของเธอจึงมีรูปทรงที่อาจแตกต่างจากวุ้นญี่ปุ่นทั่วไป แต่เป็นศิลปะกินได้ ที่ไม่เพียงดึงดูดนักชิม แต่ยังทำให้โปรเจกต์นี้กลายเป็นที่ต้องการของเจ้าของธุรกิจที่อยากสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า

“เราเริ่มต้นด้วยความอยากทดลองเฉยๆ มันเลยออกมาในลักษณะของการขายเป็นโปรเจกต์มากกว่าขายวุ้นเป็นชิ้นๆ ถ้าเราเริ่มโปรเจกต์นี้ด้วยความอยากจะทำธุรกิจ หรืออยากจะขายขนมให้ได้หลายๆ ชิ้นต่อวัน มันคงออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง” 

Capital จึงอยากชวนทุกคนไปส่องวัฏจักรของศิลปะกินได้ของเบน ว่าเธอคิดเห็นกับมันยังไง และจากโปรเจกต์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากแพสชั่น มันดำเนินมาเป็น tiny business ได้ยังไง

Product
Start with Curiosity

“เรื่องมันเริ่มจากเราสนใจองค์ประกอบธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ” เบนเกริ่นให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นโปรเจกต์ที่ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นธุรกิจขนาดจิ๋ว

“แต่หนึ่งในองค์ประกอบทั้งสี่ เราสนใจน้ำมากที่สุด เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบของทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ ช่วงนั้นเราอ่านหนังสือเกี่ยวกับน้ำและธรรมชาติเยอะมาก แล้วเราก็มีข้อมูล มีรูปภาพเกี่ยวกับธรรมชาติจากการทำงานให้ที่พัก PRY1 ที่เขาใหญ่ ข้อมูลมันเยอะจนรู้สึกอยากเอาไปเล่นเป็นอะไรบางอย่าง”

ช่วงที่กำลังคิดหาทางทำโปรเจกต์เกี่ยวกับน้ำอยู่นั้นเอง สายตาของเบนก็บังเอิญไปเห็นวุ้นญี่ปุ่นที่วางขายอยู่ในเวิ้งอาหารญี่ปุ่นในห้าง และเหมือนฟ้าจะจัดสรรให้เธอต้องทำโปรเจกต์เกี่ยวกับวุ้น ถัดออกไปจากร้านขายขนม สายตาของเธอก็หันไปเห็นป้ายคอร์สสอนทำขนมญี่ปุ่นซึ่งมีรายวิชาวุ้นญี่ปุ่นอยู่ด้วย

“มันอาจจะเกมพลิกก็ได้ ถ้าวันนั้นเราดันไปอยู่ในดงของเล่นพลาสติก เราอาจจะไปหล่อเรซินเพื่อดูความเป็นไปได้ของน้ำ เพราะเรซิ่นก็มีลักษณะคล้ายน้ำเหมือนๆ กับวุ้น” เธอเล่าพลางหัวเราะ

จากการลงมือทำในคลาส เบนเริ่มศึกษาเรื่องวุ้นและขนมญี่ปุ่นประจำฤดูกาลอย่างจริงจัง เช่น ฤดูหนาว คนญี่ปุ่นมักทำขนมจากแป้งเพื่อให้ความอบอุ่น ฤดูใบไม้ผลิ ชาวอาทิตย์อุทัยมักทำขนมเป็นรูปดอกไม้ และฤดูร้อน พวกเขาก็มักจะทำวุ้นใสๆ ที่เธอสนใจเพราะให้ความรู้สึกสดชื่น ยิ่งทำให้เธอเห็นความเป็นไปได้ในการหยิบธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นวุ้นรูปแบบต่างๆ 

“พอดีช่วงนั้นเป็นช่วงที่งานซีนที่จาร์กาตาชวนนักออกแบบส่งซีนไปร่วมแสดงด้วยธีมว่า ในช่วงโควิด-19 ที่คนออกไปไหนไม่ได้ ก็ยังท่องเที่ยวผ่านซีนของศิลปินได้นะ เราเลยเอาวุ้นที่ตีความจากภาพธรรมชาติที่ถ่ายไว้มาทำเป็นซีน 

“กลายเป็นว่าทั้งคนทำขนม ช่างภาพ คนทั่วไป และคนทำงานดีไซน์สนใจงานของเรามาก ตอนนั้นแหละที่เริ่มคิดว่าหรือมันจะพัฒนาไปเป็น tiny business ได้”

Story-Based Design 

ร้านวุ้นของเบนเป็นร้านเล็กๆ ที่ประกอบด้วยวุ้นรูปร่างหลายแบบ แต่ถ้าสรุปเมนูให้เข้าใจโดยง่าย หลักๆ แล้วร้านวุ้นญี่ปุ่นของกราฟิกดีไซเนอร์เบน ทำขึ้นจากสาหร่ายแดงหรือ agar แบ่งออกเป็น 3 แบบ ทั้งวุ้นใส (Warabi Raindrop), วุ้นเนื้อถั่วบด (Yōkan) และวุ้นกรอบ (Kohakutou) วุ้นแต่ละชนิดมีรสชาติที่แตกต่างกันตามวัตถุดิบที่เบนเลือกสรรและหาได้ไม่ยากในไทย เช่น น้ำผึ้ง แอปเปิล มินต์ ยูซุ และชาอัญชัน ฯลฯ

แต่นอกจากรสชาติที่ต้องใส่ใจ อีกสิ่งที่ยากไม่น้อยคือการฟอร์มวุ้นให้ออกมาตามที่เบนคิดฝัน เพราะวุ้นของเบนไม่ใช่วุ้นธรรมดา แต่เป็นวุ้นที่เธอต้องการเล่าเรื่องของธรรมชาติ คล้ายเวลานักเรียนประถมได้โจทย์จากคุณครูให้ ‘เล่าเรื่องจากภาพ’

อย่างวุ้นใสในภาพด้านล่างนี้ เบนตั้งใจเล่าสเตจของน้ำ ทั้งน้ำที่เป็นของเหลว น้ำที่เป็นฟองคลื่น ไปจนถึงวุ้นสีเหลืองทองที่ชวนให้นึกถึงภาพของใบไม้แก่ที่ร่วงโรยลงสระ 

วุ้นถั่วที่นำเสนอภาพของภูเขาในฤดูร้อน วุ้นทรงกลมสีเขียวคล้ายสาหร่ายมาริโมะที่ทำจากยูซุ ช็อกโกแลตขาว ถั่วขาว และมัตฉะ

วุ้นกรอบที่สีแดงตัดสลับสีใสสื่อถึงจิตวิญญาณ หรือกระทั่งวุ้นกรอบสีเหลืองกลมๆ รสน้ำผึ้ง จะสื่อถึงดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ก็แล้วแต่จะตีความ

เรื่องราวจากภาพเหล่านี้ยังซ่อนไอเดียการออกแบบของเบนไว้อีกขั้น คือการออกแบบทั้งรสชาติและรูปทรงให้มีความกลางๆ ซึ่งมาจาก Kiki คำที่สื่อถึงความแหลมคมและ Bouba คำที่สื่อถึงความนุ่มมน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างเสียงพูดและรูปร่างที่มองเห็น ซึ่งมักถูกนำมาใช้ในวงการกราฟิกและการออกแบบ 

“เหมือนมันเป็นความสมดุลบางอย่างที่ทำให้เรากินข้าวหมด อย่างชิ้นนี้เกิดจากภาพจริงของภูเขาหน้าร้อนแล้วแปลงมาเป็นวุ้น เราคิดว่าภูเขาหน้าร้อนต้องเป็นสีเขียว เราก็ใช้มัตฉะที่ขมๆ หน่อย แต่เราคิดว่ามันต้องมีความเฟรชของหน้าร้อนด้วย เลยใช้ไซรัปมะพร้าวมาทำเป็นฐานสีเหลืองเข้ามาตัด” เบนอธิบายอย่างนั้น 

Price

จากที่ไม่คิดว่าจะมีใครเข้าใจโปรเจกต์เล็กๆ ที่ทำขึ้นจากความอยากเล่นกับข้อมูล กลายเป็นว่าเมื่อเบนเริ่มโพสต์ภาพศิลปะกินได้ของเธอ สลับไปกับภาพถ่ายธรรมชาติที่เลือกสรรมาลงในอินสตาแกรม ผู้ติดตามของเธอก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น กล่องข้อความของเธอก็เริ่มแจ้งเตือนว่ามีคนอยากให้เธอทำกิจกรรมสนุกๆ มากมาย

“ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีธุรกิจเดิมอยู่แล้ว แต่เขาอยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าของเขา อย่างลูกค้าคนนึง เขามีบาร์อยู่แล้วก็อยากจะเอาขนมของเราไปจับคู่กับเครื่องดื่ม เราก็ให้บาร์เทนเดอร์ของเขาลองคิดคอนเซปต์แล้วบอกเรามาว่าเครื่องดื่มที่ว่าจะเข้ากับรสชาติแบบไหน

“หรืออย่างงานแรกที่เราคอลแล็บกับ FabCafe เราก็ได้ทำวุ้นที่นำเสนอรสชาติของบางรัก รวมถึงทำซีน และ AR ขึ้นมา และเร็วๆ นี้เราก็จะจัดเวิร์กช็อปร่วมกับ Haptic Editions สตูดิโอภาพพิมพ์ริโซ่ที่จะชวนคนมาเปลี่ยนภาพริโซ่เป็นแพ็กเกจจิ้งวุ้นที่เราทำ เพื่อให้คนเห็นว่างานพิมพ์มันไม่จำเป็นต้องเป็นการ์ดอวยพรอย่างเดียวเท่านั้น แถมยังได้วุ้นไปทาน และได้ออกแบบรสชาติน้ำแข็งไสที่มีวุ้นอยู่ในนั้นด้วย”

ลูกค้าส่วนใหญ่ของเบนจึงไม่ใช่ ‘คน’ ที่อยากจะกินวุ้นญี่ปุ่นคู่กับชาในยามบ่ายวันอาทิตย์ แต่เป็น ‘ธุรกิจ’ ที่ต้องการสร้างประสบการณ์และความเป็นไปได้ให้สินค้าของตัวเอง price และ promotion ของเบนจึงคือราคาแบบการทำโปรเจกต์นั่นเอง

“แต่ลูกค้าทั่วๆ ไปที่อยากได้วุ้นไปเป็นของขวัญก็มีนะ แต่เขาก็ไม่ได้ต้องการวุ้นอะไรก็ได้ เขาต้องการวุ้นที่แตกต่างและมีเรื่องราว อย่างลูกค้าคนนึงก็ออกแบบคอนเซ็ปต์มาให้เลยว่าอยากจะทำวุ้นแบบไหนบ้าง สรุปก็ออกมาเป็นวุ้น 3 แบบที่สื่อถึง soul, body และ mind รวมๆ แล้วก็คือเรื่องราวของ life หรือชีวิต” 

รูปแบบการขายนี้ เบนบอกว่าเริ่มต้นที่ราคา 550 บาท แต่ถ้าลูกค้าต้องการรูปทรงหรือรสชาติอื่นๆ ที่เธอไม่เคยลองและไม่มีแม่พิมพ์ จำเป็นต้องบวกเพิ่มไปอีก และการขายวุ้นในลักษณะนี้นี่แหละที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอหัดทำวุ้นกรอบขึ้นมาเพราะเป็นวุ้นที่ง่ายต่อการขนส่งมากที่สุด  

“ที่จริงยังมีลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาเพราะชอบการคิวเรตและการจัดเรียงภาพของเรา จนเราได้มีโอกาสไปออกแบบภาพรวมเว็บไซต์และภาพรวมแบรนด์หลายครั้ง เราเลยคิดว่า ben mizu เป็นเหมือนเครื่องมือที่ทำให้ผลงานของเราที่แต่เดิมไม่ใช่สายแมสสามารถเข้าถึงผู้คนและกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น” เธอเล่า

Place and Promotion

“เราชอบอินสตาแกรมมากเลย” เบนตอบทันทีเมื่อเราถามถึงช่องทางการลงผลงาน

“มันมีอะไรให้เราเล่นเยอะมากและมันเหมือนแกลเลอรีที่เราสามารถเล่าเรื่องผ่านภาพแบบไหนก็ได้ ยิ่งมีฟีเจอร์ไกด์ เราก็สามารถเขียนกลอนประกอบภาพและผลงานของเราได้และเขียนอธิบายวิธีสั่งได้” เธอหมายถึงฟังก์ชั่นที่มีไอคอนคล้ายหนังสือในอินสตาแกรม ben_mizu.confectionery

และเพราะ place ของเธอคืออินสตาแกรม โปรโมชั่นหรือการส่งเสริมการขายของเธอจึงไม่ได้ออกมาในรูปแบบของการลดแลกแจกแถม แต่คือการส่งเสริมการขายด้วยการนำเสนอคอนเทนต์หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์วุ้นญี่ปุ่น วิธีการสั่งวุ้นที่ต้องพรีออร์เดอร์ วิธีการเก็บรักษา และวิธีการจับคู่วุ้นรสหวานกับวัตถุดิบอาหารในเมนูต่างๆ เช่น ทานกับกาแฟ ไอศครีม น้ำแข็งไส แม้กระทั่งสลัดผลไม้! 

“มันไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นธุรกิจตั้งแต่แรก เราเลยไม่ได้มองว่าเราต้องไปออกบูทเพื่อขายขนม ต้องขายขนมได้กี่ชิ้นต่อวัน เราคิดว่าคุณค่าของวุ้นที่เราทำมันคือการสร้างประสบการณ์มากกว่า 

“แต่เมื่อเริ่มมีลูกค้า เราก็ต้องปรับและเพิ่มวิธีการนำเสนอเพื่อให้คนเข้าใจว่าเราขายอะไรเหมือนกัน ”

Play and Posibility

“ดีไซเนอร์มีหลายแบบนะ”​ เบนเกริ่นเมื่อเราถามว่าทำไมเธอพูดคำว่า ‘play’ หรือการเล่นบ่อยขนาดนี้ 

“เราเป็นดีไซเนอร์ประเภทที่อยากจะเริ่มต้นโปรเจกต์จากความรู้สึกว่าฉันอยากเล่นสนุกกับสิ่งนี้ เพราะการเล่นมันทำให้เกิด possibility หรือความเป็นไปได้ทางการออกแบบที่หลากหลาย” 

เบนยกตัวอย่างสินค้าของ Apple โดยเฉพาะตัว Vision Pro สินค้า AR ที่ออกมาล่าสุด เธอมองว่า Apple กำลังเล่นและทำสิ่งที่ทุกคนบนโลกอาจจะไม่ถูกใจ แต่สินค้าชิ้นนั้นกลับทำให้คนเห็นว่าเทคโนโลยีนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง และทำให้บางคนเห็นความเป็นไปได้และความสามารถของ Apple ในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ

“ในฐานะดีไซเนอร์ เราว่าคำว่า play กับ possibility มันทำให้คนเห็นว่าเราสามารถทำงานได้หลากหลาย และนั่นอาจเป็นการเปิดประตูงานใหม่ๆ ให้เราก็ได้

“กลับมาที่การทำธุรกิจเล็กๆ ของเราตรงนี้ การเล่นเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเราอาจไม่ได้มีลูกค้ากลุ่มใหญ่มารองรับหรอก แต่พอเราสร้างความเป็นไปได้ที่หลากหลายมันก็จะสามารถจับคนบางกลุ่มที่อาจจะ niche ก็จริง แต่เขามีอยู่ และเมื่อเราเจอเขาแล้วเราก็ต้องจับความต้องการของเขาและตอบโจทย์เขาให้ได้”

แม้เบนจะเน้นย้ำว่านี่คือโปรเจกต์ที่เกิดจากแพสชั่นและความสนใจส่วนตัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ ben mizu กำลังกลายเป็น tiny business ที่สร้างรายได้และสร้างภาพลักษณ์ของนักออกแบบให้เธอไม่น้อย 

“ถ้ามันเวิร์ก เราก็หวังว่ามันจะสามารถต่อยอดให้เป็นมากกว่าอาหารหรือขนม แต่เป็นช่องทางหนึ่งให้คนรู้จักเรา และเป็นอีกประตูหนึ่งที่ทำให้เราได้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ” กราฟิกดีไซเนอร์ที่ใช้เวลาว่างมาทำขนมกล่าวทิ้งท้าย

What I’ve Learned
1. เริ่มจากสิ่งที่ชอบ เริ่มจากสิ่งที่สนใจ เพราะถ้าฝืนทำมันอาจไม่เวิร์ก
2. ไม่จำเป็นต้องฝันใหญ่หรือมองที่ผลลัพธ์อย่างเดียว ให้เริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ และลองทำไปเรื่อยๆ สุดท้ายกระบวนการตรงนี้อาจทำให้เห็นความเป็นไปได้ในธุรกิจหรือชีวิตก็ได้ 
3. ถ้าเราเป็นคนแบบไหน ลูกค้าหรือคนที่เข้ามาหาเราก็จะเป็นคนแบบนั้น เช่น เราเป็นคนละเอียด ลูกค้าที่เข้ามาหาเราก็เป็นคนละเอียดเหมือนกัน เมื่อเราเห็นว่ามีลูกค้าแล้ว เราก็ต้องเอาความเหมือนหรือความเข้าใจตรงนั้นออกแบบบางอย่างเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการ 
ข้อมูลติดต่อ
Instagram : @ben_mizu.confectionery
Email : 𝗺𝘆𝗻𝗮𝗺𝗲𝗶𝘀𝗯𝗲𝗻𝗷𝗮𝗿𝗮𝘁@𝗴𝗺𝗮𝗶𝗹.𝗰𝗼𝗺

Tagged:

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like