satisfy the customer needs

BeNeat บริการแม่บ้านมืออาชีพ กับการทำสุดหัวใจ ความเชื่อที่ทำให้ลูกค้ารักและสตาร์ทอัพอยู่ได้

BeNeat คือสตาร์ทอัพที่ช่วยค้นหาแม่บ้านคุณภาพใกล้ตัวคุณจากหัวเมืองเชียงใหม่ ทำหน้าที่เป็นระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงระหว่างชุมชนแม่บ้านมืออาชีพและคุณลูกค้าที่ต้องการใช้บริการทำความสะอาดทั้งแบบรายวัน รายชั่วโมง ไปจนถึงรายเดือน โดยมีเป้าหมายคือการสร้างชุมชนของผู้ให้บริการทำความสะอาดที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นมืออาชีพ

ผู้อยู่เบื้องหลังของแพลตฟอร์มที่ว่านี้คือ ฮู้ด–อานนท์ น้อยอ่ำ, ปุ้ม–ปรียลักษณ์ น้อยอ่ำ และต้น–คมคิด ชัชราภรณ์ สามสมาชิกที่มาเจอกันได้เพราะการเป็นโฮสต์ Airbnb  

อะไรทำให้วิศวกรและเดเวอลอปเปอร์มาจับมือกันและพัฒนาสตาร์ทอัพตัวนี้ขึ้นมา Airbnb เกี่ยวอะไรกับแอปพลิเคชั่นเรียกแม่บ้าน และพวกเขาใช้ความเชื่ออะไรมาขับเคลื่อนสตาร์ทอัพให้สำเร็จ 

CEO ของ BeNeat จะเผยให้หมดเปลือก

How to be a Successful Start Up 

01 – หาปัญหาให้เจอ 

จุดเริ่มต้นของ BeNeat มาจากสตาร์ทอัพด้านที่พักอย่าง Airbnb

ฟาวน์เดอร์ทั้งสามคนเริ่มจากการเป็นโฮสต์ Airbnb ในหัวเมืองต่างจังหวัด ก่อนมาเจอกันในกลุ่ม Airbnb Host Thailand ที่คมคิดเป็นแอดมินก่อตั้งกลุ่ม 

นอกจากจะเป็นพื้นที่แชร์ปัญหา และแนะนำข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการเป็นโฮสต์ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มแทบไม่เว้นแต่ละวัน คือโพสต์ที่สมาชิกจะมาระบายเกี่ยวกับปัญหาแม่บ้าน ทั้งการหาแม่บ้านไม่ได้ หรือแม่บ้านมาไม่ตรงเวลา

“พอความถี่เกิดขึ้นบ่อยๆ ทุกวัน เราก็เริ่มเห็นว่าปัญหาเรื่องแม่บ้านมันมีโพเทนเชียล มันน่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีขึ้นกว่าการหาแม่บ้านไม่ได้ก็ไปทำเอง หรือไปจ้างแม่บ้านที่ราคาสูงขึ้น ซึ่งอาจเจอปัญหาโดนเทอีก เราเลยมาคุยกับคุณอานนท์ว่ามันมีปัญหานี้เกิดขึ้นในกลุ่ม ลองเอาปัญหานี้ไปทำธุรกิจดูดีไหม” คมคิดผู้เป็นเดเวอลอปเปอร์เล่าย้อนถึงไอเดียตั้งต้นโดยมีอานนท์ช่วยเสริม 

เขาเห็นตรงกันว่าที่หลายๆ คนมาเป็นโฮสต์ Airbnb เป็นเพราะอยากได้ passive income แต่งานแม่บ้านกลับไม่ใช่งานที่ passive เลย เพราะบางครั้งหากหาแม่บ้านไม่ได้โฮสต์ก็ต้องเป็นคนไปทำเอง ควบคุมเอง ดังนั้นหากเขาสามารถหาผู้ให้บริการที่มีความเป็นมืออาชีพ ตรงต่อเวลา ทำความสะอาดเนี้ยบกริบ ได้มาตรฐานระดับโรงแรม และมีกริยามารยาทที่ดีเผื่อต้องเจอแขก ถ้าพัฒนาโปรดักต์มาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ยังไงไอเดียนี้ก็น่าจะไปต่อได้

“ถ้าไอเดียที่คิดร่วมกันมันเป็นปัญหาที่ใหญ่พอ มันต้องมีลูกค้า” เขาว่า

02 – คว้าลูกค้ารายแรกให้ได้

เพราะมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักมาตั้งแต่ตอนเริ่มทำสตาร์ทอัพอันก่อนหน้า เมื่อต่างคนต่างจับมือว่าจะลงเรือลำเดียวกัน สิ่งสำคัญที่พวกเขามองว่าต้องทำให้ได้ในระยะเวลา 1 เดือนแรกคือต้องพัฒนาโปรดักต์ออกมาได้จริง และคว้า First Dollar หรือทำเงินก้อนแรกให้ได้ เพราะนั่นคือตัวชี้วัดว่าสตาร์ทอัพที่ชื่อ BeNeat จะไปต่อได้จริงหรือเปล่า

โชคดีที่ไอเดียที่พวกเขาคิดมีลูกค้าซื้อจริงๆ และลูกค้ารายแรกก็เป็นกลุ่ม early adopter หรือโฮสต์ Airbnb ซึ่งคุ้นชินกับเทคโนโลยี การจองและจ่ายเงินผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อยู่แล้วอย่างที่พวกเขาคาดการณ์ 

เมื่อกลุ่มลูกค้า Airbnb ให้การตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาจึงเห็นโพเทนเชียลของการขยายไปในตลาดทำความสะอาดบ้านพักอาศัย

“จริงๆ เจ้าตลาดของบริการรับทำความสะอาดบ้านพัก คอนโด ก็คือแม่บ้านที่อยู่คอนโดนี่แหละ” อานนท์บอก

“ถามว่าลูกค้าเขาอยากจ้างแม่บ้านข้างนอกไหมก็อยาก เพราะคอนโดนึงมีตั้ง 300 ห้อง แต่มีแม่บ้านแค่ 2 คน ถ้าอยากใช้บริการก็ต้องไปต่อคิว ไม่รู้เลยว่าแม่บ้านจะว่างวันไหน บางทีก็ต้องรอหลังแม่บ้านเลิกงานอีก เลือกเวลาเองไม่ได้ และทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องรอคิวนาน แต่ทำไมเขาถึงไม่ไปจ้างแม่บ้านคนอื่นข้างนอก ก็เพราะเขาไม่รู้จะไปจ้างใคร หรือถ้าหาเบอร์ติดต่อตามเสาไฟฟ้ามาได้ แต่สุดท้ายคือเขาจะไว้ใจคนเหล่านั้นได้หรือเปล่า” 

BeNeat

03 – ทุ่มเทสุดหัวใจ

นอกจากสกิลการทำความสะอาด ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขามีให้ผู้ใช้บริการทุกคน กว่าจะก้าวมาเป็นแม่บ้านในแพลตฟอร์มของ BeNeat ได้นั้นเรียกได้ว่าโหดหิน

“เราทดสอบเรื่องของบุคลิกภาพด้วยว่าเขาเหมาะกับงานนี้หรือเปล่า มี service mind ไหม ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม เสร็จแล้วต้องมาเรียนทฤษฎีและปฏิบัติ ทดสอบและสัมภาษณ์ ผ่านด่านแรกแล้วก็ต้องผ่านมาตรฐานของคุณลูกค้าด้วยอีก กว่าเราจะได้คุณแม่บ้านมาต้องผ่านหลายขั้นตอนมาก”

เพราะแบบนี้อานนท์ถึงบอกว่าในช่วงเริ่มต้นจึงสเกลช้าไปบ้าง แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ยอมลดมาตรฐานโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้บริษัทสำเร็จอย่างยั่งยืนคือคุณภาพการให้บริการ ถ้าสร้างมาตรฐานให้ลูกค้ายอมรับได้ ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว

BeNeat

“เราไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มที่จับแพะชนแกะ ไม่ได้ตั้งตัวเองเป็นมาร์เก็ตเพลส เราเชื่อแต่แรกว่าคุณลูกค้าเขาหาแม่บ้านได้อยู่แล้ว เราเลยไม่ได้เสิร์ฟพอยต์นั้น 

“การที่ลูกค้าไม่จองคุณแม่บ้านที่อื่นนอกจากที่เขาเคยใช้บริการ เพราะเขาไม่รู้ว่ามาตรฐานดีหรือเปล่า เชื่อถือได้จริงไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำ คือพยายามเป็นตัวหนึ่งในตัวเลือกของเขา ด้วยการตอบสนองความต้องการของคุณลูกค้าให้ครบทั้งหมด 

“เราจริงจังตั้งแต่การดีไซน์แพลตฟอร์มให้ยูสเซอร์ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว คุณลูกค้าจะเห็นโปรไฟล์คุณแม่บ้านเลยว่าเขาเป็นใคร ประวัติการทำงานในบ้านก่อนๆ เป็นยังไงบ้าง สามารถเลือกผู้ให้บริการ รวมถึงวัน และเวลาได้เหมือนจองตั๋วเครื่องบินเลย ล็อกเวลาได้ขนาดนั้น ที่สำคัญคือเรตราคาค่าบริการก็ไม่ได้ต่างไปจากการจ้างแม่บ้านในคอนโด”

BeNeat

และหากบอกว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกค้าคอนเซิร์น แน่นอนว่าฝั่งแม่บ้านเองก็จะได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน

หากฝั่งลูกค้าสามารถดูหน้าค่าตาแม่บ้านได้ แม่บ้านก็มีสิทธิพิจารณาในการรับงานได้เช่นกัน นอกจากนั้นบริษัทเองก็มีการสอบถามข้อมูลกับฝั่งแม่บ้านอยู่ตลอดว่าอยากให้ปรับปรุงส่วนไหนให้ดีขึ้นบ้าง 

“เรามีม็อตโต้ขององค์กรคือบริการสุดหัวใจ มันเป็น key success เราไม่ได้ตีความคำว่าลูกค้าไว้แค่คนที่มาใช้บริการ แต่คุณแม่บ้านก็เป็นลูกค้าของเรา สิ่งที่เราต้องทำคือเราบริการเขาสุดหัวใจหรือยัง วันที่เขาเกิดปัญหาต้องการความช่วยเหลือเราพร้อมหรือเปล่า”

สิ่งนี้เป็นมายด์เซตที่อานนท์และทีมมี “ทุกอย่างต้องออกมาจากภายในว่าเรารู้สึกยังไง เราให้เกียรติเขาหรือเปล่า” เขาอธิบาย

BeNeat

04 – สร้างมายด์เซตให้ทุกคนในบริษัทเป็นเจ้าของกิจการ

แม้ในวันนี้ BeNeat จะได้ชื่อว่าเป็นแพลตฟอร์มค้นหาแม่บ้านอันดับหนึ่ง แต่ founder ทั้งสองบอกว่าหากย้อนไปวันตั้งต้น การหาแม่บ้านเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนับเป็นเรื่องยากมากๆ เสียด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้นทัศนคติเกี่ยวกับงานแม่บ้านของคนก็ยังมองว่านี่คืองานของคนที่ไม่มีทางเลือก กลัวจะโดนมองไม่ดี

ไอเดียหนึ่งที่พวกเขามีส่วนนำเสนอและช่วยเปลี่ยนความคิดคือ การมองว่าแม่บ้านไม่ได้เป็นแค่คนทำความสะอาด แต่เขาเป็น entrepreneur คนหนึ่ง 

การเป็น Entrepreneur ที่ว่าคือการที่แม่บ้านมีอิสระในการเลือกวันและเวลาทำงานของตัวเอง รวมทั้งเลือกว่าจะให้บริการลูกค้าคนนี้หรือเปล่า ไม่มีบังคับ ด้วยแนวคิดการทำงานแบบนี้จึงทำให้การเป็นแม่บ้านที่นี่เติมความยืดหยุ่นให้กับข้อจำกัดในชีวิตของใครหลายๆ คน 

อานนท์ยกตัวอย่างให้ฟังว่าบางคนก็ต้องดูแลพ่อแม่อายุเยอะ สัปดาห์หนึ่งต้องไปโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ทำให้เขาไม่สามารถทำงานประจำได้ บางคนเคยเป็นพนักงานออฟฟิศ แต่อยากหาเวลาให้ครอบครัว และบางคนก็ได้รับผลกระทบจากโควิด ถูกเลิกจ้างจากงาน 

งานแม่บ้านเลยเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีรายได้ใกล้เคียงกันกับงานที่เขาเคยทำ

นอกจากจะดีต่อตัวแม่บ้านเอง คมคิดยังบอกว่าการปลูกฝังแนวคิดนี้ในองค์กรก็ส่งผลดีต่อบริษัทด้วย เพราะเมื่อแม่บ้านมองว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่เป็นธุรกิจของเขาเอง ทำดีก็ได้รีวิวเชิงบวกจากลูกค้า เป็นโอกาสในการเพิ่มลูกค้าในอนาคต เขาก็จะยิ่งตั้งใจทำ เมื่อเป็นแบบนี้ในองค์กรก็จะมีแต่แม่บ้านที่ตั้งใจ

BeNeat

05 – พัฒนาต่อไม่หยุดยั้ง

ถึงปัจจุบันจะนับว่าบริษัทก็สำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง แต่พวกเขายังมองว่าโจทย์ของทุกวันนี้คือจะทำยังไงให้การบริการเหนือความคาดหมายของลูกค้าไปได้อีก 

อานนท์มองว่าอุตสาหกรรมทำความสะอาดที่พวกเขาถือครองอยู่ยังเป็นแค่จิ๋วเดียวจากทั้งหมด เขาจึงไม่ได้ตีกรอบว่าต้องอยู่ในอุตสาหกรรมนี้อย่างเดียว 

“แพลตฟอร์มหรือ know-how ในการบริการลูกค้าของเรายังสามารถต่อยอดไปได้อีกเยอะมาก เพียงแต่เราเลือกที่จะโฟกัสในอุตสาหกรรมทำความสะอาดก่อน เรามองว่าการจับปลาหลายมือมันอาจทำให้ไม่ได้ปลาที่ดี เลยเลือกที่จะทำทีละอย่างและทำให้มันดีที่สุด ทำให้มันเป็น top-of-mind ดูว่าสิ่งที่เรามีอยู่แล้วเราจะทำยังไงให้มันดีขึ้นอีก 

“เราอยากให้เวลาคุณลูกค้าคิดถึงความช่วยเหลือทางด้านทำความสะอาดแล้วคิดถึง BeNeat เราบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ มีศูนย์ฝึกอบรมคุณแม่บ้านซึ่งปัจจุบันไม่ได้ฝึกให้กับพนักงานของเราอย่างเดียว แต่ยังมีกลุ่ม corporate ลูกค้าโรงแรมเข้ามาใช้บริการ บางคนก็ส่งแม่บ้านมาฝึกอบรมกับเรา”

เขามองว่าการที่สตาร์ทอัพจากหัวเมืองต่างจังหวัดค่อยๆ สเกลขึ้นจากบริษัทโนเนม จนสามารถไปอยู่ในโพซิชั่นแบรนด์ที่ลูกค้าไว้วางใจได้แบบนี้ เป็นเพราะความแคร์ลูกค้าที่เรามี “เราใช้หัวใจอย่างเดียวเลยในการจะทำให้คุณลูกค้าไว้เนื้อเชื่อใจ บอกต่อ แต่ผมว่าคุณลูกค้าเขารับรู้ได้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำ เราแคร์เขาขนาดไหน” อานนท์บอก

Tagged:

Writer

ฟรีแลนซ์ที่หวังจะมีของอร่อยกินในทุกวัน และมีงานทำในทุกเดือน

Photographer

ช่างภาพที่ยังเขินกับการถูกเรียกว่าช่างภาพ ชื่นชอบการเก็บสะสมนิตยสารภาพถ่ายลดราคา รักการ selfie หน้ากระจก พอๆ กับการแต่งตัวไปเต้นรำทุกวันเสาร์

You Might Also Like