Beanila จากน้ำเต้าหู้ถุงละ 5 บาทสู่คาเฟ่สารพัดเมนูน้ำเต้าหู้ที่อยากทำให้ของ niche แมสได้

แม้เทรนด์สุขภาพและอาหารทางเลือกจะมาแรงแซงทางโค้ง หลากหลายแบรนด์ในไทยและต่างประเทศต่างผลิตสินค้าทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพออกมาตีตลาดกันมากมาย ตั้งแต่เนื้อจากพืช หรือจะเป็นนมแพลนต์เบส อย่างนมโอ๊ตที่โด่งดังในช่วงที่ผ่านมา ไปจนถึงนมจากถั่วเหลือง

แต่พูดก็พูด ความอร่อยและความคุ้นชินของคนทั่วไปยังทำให้กลุ่มคนที่เลือกทานอาหารทางเลือกเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้น ด้วย pain point ของอาหารทางเลือกที่มักจะราคาสูงกว่า และยังแอบทานยากในบางเมนู

เมื่อได้ลองชิมน้ำเต้าหู้และสารพัดเมนูของคาวและของหวานจากน้ำเต้าหู้ของคาเฟ่น้ำเต้าหู้อย่าง Beanila เราถึงกับต้องเปลี่ยนความคิด เพราะรสชาตินั้นทานง่าย มีเมนูให้เลือกหลากหลาย แถมยังเลือกระดับความหวานและท็อปปิ้งได้ตามใจ ส่วนราคาก็เทียบเท่าหรือน้อยกว่าเมนูที่ทำจากนมวัวด้วยซ้ำ

เพราะความตั้งใจของ ใหม่–ธนพนธ์ ม่วงเเดงดี และ มาย–ณัฐชยา ม่วงแดงดี คือการทำให้น้ำเต้าหู้หรือผลิตภัณฑ์จากนมถั่วเหลืองเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนได้จริง ทั้งยังเป็นการสานต่อความตั้งใจของคุณพ่อ ผู้ที่เริ่มทำน้ำเต้าหู้ขายเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

“ทุกธุรกิจมีโอกาส เพียงแต่เราเลือกได้ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ ถ้าจะทำก็ทำให้เต็มที่ เหมือนกับที่คุณพ่อบอกเราสองคนเสมอว่าถ้าอยากทำอะไรทำให้มันเต็มที่ไปเลย อย่าทำแบบครึ่งๆ กลางๆ” มายบอกอย่างนั้น

นั่นเป็นที่มาว่าทำไมทั้งคู่ถึงจริงจังกับการทำให้น้ำเต้าหู้ธรรมดาๆ มีระบบและมาตรฐานมากขึ้น เพื่อพลิกภาพจำและทำให้คนเข้าใจว่าน้ำเต้าหู้คุณภาพนั้นสร้างมูลค่าได้มากกว่าถุงละ 5 บาท และเป็นที่มาที่เรานัดสนทนากับสองพี่น้องถึง Soy Stories ในแบบฉบับของ Beanila 

ความพยายามครั้งที่ 3

กว่าจะมาเป็นแบรนด์น้ำเต้าหู้และสารพัดเมนูจากน้ำเต้าหู้นั้น มายและใหม่เล่าว่า Beanila ผ่านมาเยอะ เจ็บมาเยอะ ตั้งต้นจาก 20 ปีที่แล้ว พ่อของทั้งคู่ขายน้ำเต้าหู้เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่ด้วยราคาขายเพียงถุงละ 5 บาท กำไรที่ได้จึงไม่เพียงพอนักจนต้องเปลี่ยนอาชีพไป 

ก่อนจะกลับมาขายอีกครั้งช่วงที่เทรนด์สุขภาพและอาหารคลีนกำลังมาแรง แต่แม้จะขายที่ราคา 25 บาทต่อขวด ก็ยังไม่มากพอที่จะสร้างกำไรได้

“หลังเลิกงาน คุณพ่อจะเริ่มทำน้ำเต้าหู้ ทำเสร็จก็ประมาณเที่ยงคืนตีหนึ่ง กว่าจะเอาไปส่งตามโรงพยาบาลเสร็จก็ตีห้า เขาก็ต้องเข้างานต่อ คุณพ่อเลยเริ่มไม่ไหวจนต้องขายกิจการให้เพื่อนไป” มายย้อนเล่าเหตุการณ์

แต่เหมือนเทวดาฟ้าลิขิต แม้จะเลิกกิจการไปแล้ว 2 ครั้ง รุ่นลูกอย่างมายและใหม่ กลับมีไอเดียสานต่อธุรกิจในช่วงโควิด-19 ระบาด ด้วยข้อจำกัดในการทำงานช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ ที่ต้องเข้าออฟฟิศเป็นประจำแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะรุนแรง ใหม่ที่ทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีตัดสินใจลาออกจากงานแล้วกลับมาตั้งต้นกับธุรกิจน้ำเต้าหู้ ส่วนมายที่เพิ่งเรียนจบก็ตัดสินใจร่วมทำน้ำเต้าหู้กับพี่ชายอีกครั้ง แม้ทั้งคู่จะไม่มีประสบการณ์ด้านการทำอาหารเลยสักนิด

“คุณพ่อก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะเราสองคนไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย เขาก็ย้ำว่าทำอาหารมันเหนื่อยนะ” มายว่าอย่างนั้น ก่อนที่ใหม่จะเสริมว่า

“แต่เรามองว่ามันน่าจะมีโอกาสและน่าจะไปได้มากกว่านี้ เพราะมันก็มีคนที่เขาทานนมวัวไม่ได้ แล้วในต่างประเทศ ธุรกิจนมทางเลือกจากพืชก็มีอยู่เยอะ”

และความพยายามครั้งที่ 3 ของการทำธุรกิจน้ำเต้าหู้ก็เริ่มต้นขึ้น

หน้าร้านที่พร้อมสื่อสารกับลูกค้า

แรกเริ่มทั้งคู่นำน้ำเต้าหู้ไปฝากขายตามร้านอาหารสุขภาพและโรงพยาบาล กิจวัตรคือเริ่มส่งของตั้งแต่ตี 3 ก่อนจะจบที่เวลา 2 ทุ่ม รวมๆ แล้วในแต่ละวันทั้งคู่ต้องส่งของไปกว่า 20 ร้าน เมื่อหักต้นทุนวัตถุดิบ ค่าน้ำมัน รวมถึงค่าเสียเวลา แต่ละเดือนจึงได้เพียงหนึ่งหมื่นบาท และนั่นเองจึงทำให้ทั้งคู่มองเห็นแนวทางธุรกิจ

“ตอนนั้นอาศัยกินเงินเก็บและกินข้าวที่คุณพ่อทำให้ที่บ้าน” ใหม่เล่าพลางหัวเราะ ก่อนอธิบายว่าแม้การขายส่งจะมีข้อดีสำหรับคนที่มีทุนน้อย แต่ก็มีข้อพึงระวังที่ต้องใส่ใจไม่น้อย

“อย่างแรกเลยคือเราเอาของไปวางตามร้านอาหารสุขภาพ คู่แข่งก็ต้องหลากหลาย วันนี้เขาอาจจะชอบของเรา แต่พรุ่งนี้ลูกค้าอาจจะอยากไปซื้อของคนอื่นแล้ว อย่างที่สอง คือบางทีเราไม่รู้ว่าลูกค้าจะอยากกินวันไหน หรือช่วงไหนเขาจะออกไปต่างจังหวัด ของที่ตีกลับมามันเลยเยอะมาก 

“และอย่างที่สาม สำคัญที่สุดเลยคือพอเราฝากขาย เราไม่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้เลยว่าของเราแตกต่างยังไง เราไม่รู้ว่าลูกค้าคือใคร ไม่รู้ฟีดแบ็กจากเขาว่าเราจะพัฒนาหรือทำอะไรต่อไป ตรงข้าม ถ้าเรามีแบรนด์ มีหน้าร้านของตัวเอง แค่เขาเข้ามาร้าน เราก็สามารถแนะนำได้ทันที

“เช่น น้ำเต้าหู้เราทำจากถั่วเหลืองร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เขาสบายใจได้ว่ามันดีต่อสุขภาพ หรือเต้าหู้ก้อน ถ้าเอาไปวางตามร้านอื่นๆ เขาคงนึกไม่ออกว่าจะซื้อไปทำอะไร แต่พอเรามีหน้าร้าน เราอธิบายได้เลยว่าลูกค้าเอาไปทำเป็นเมนูยำ สลัด หรืออูด้งได้นะคะ” มายเล่าประสบการณ์ 

การเปิดหน้าร้านยังทำให้พวกเขาได้อินไซต์จากลูกค้าอยู่เสมอ หลายครั้งก็เปิดให้ลูกค้าช่วยเทสต์เมนูใหม่ และกลายเป็นว่าเมนูที่ลูกค้าแนะนำกลับขายดีเกินกว่าที่คิด สิ่งเหล่านี้เองทำให้ทั้งคู่มองว่าการสื่อสารกับลูกค้าที่หน้าร้านได้โดยตรงสำคัญยิ่งกว่าอะไร

“เหมือนเวลาเราโทรไปเบอร์คอลเซ็นเตอร์ เราก็อยากจะคุยกับคนจริงๆ ไม่ใช่ AI มันเป็นแบบนั้นเลย” ใหม่อธิบายพลางหัวเราะ

เพราะข้อจำกัดด้านการสื่อสารและอยากเติบโตมากกว่านี้ ไอเดียการเปิดหน้าร้านของมายและใหม่ จึงค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างและกลายมาเป็นร้าน Beanila ที่เรานั่งสนทนากันตรงนี้

สินค้าหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

ย้อนกลับไปช่วงตั้งต้นไอเดียการเปิดคาเฟ่ มายและใหม่มองว่ากลุ่มลูกค้าของทั้งคู่น่าจะเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ คนทำงานที่แม้จะเวิร์กฮาร์ดแค่ไหนก็ต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ แต่การเปิดหน้าร้านนี่แหละที่ทำให้ทั้งคู่ได้บทเรียนสำคัญ

“เราคิดผิดทั้งหมดเลย กลุ่มคนเหล่านั้นเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ที่สำคัญ คนที่เขาซีเรียสเรื่องสุขภาพมากๆ เขาจะเลือกวัตถุดิบเอง ทำอาหารทานเอง มากกว่าจะมาซื้อร้านนอกบ้าน”​ มายบอก

นั่นเป็นที่มาที่แต่เดิมมีเพียงเมนูน้ำเต้าหู้และเต้าฮวยที่เป็นตัวชูโรงของร้าน ทั้งคู่จึงเริ่มมองว่าน้ำเต้าหู้นั้นสามารถนำไปทำเป็นเมนูอะไรได้อีกบ้างที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย จะทานได้ในชีวิตประจำวัน 

“เด็กก็ต้องทานได้ ผู้ใหญ่ก็ต้องทานได้ คนออกกำลังกาย คนสูงวัยต้องทานได้หมด หรือถ้าไม่ชอบน้ำเต้าหู้เราก็มีเมนูที่เลือกใส่นมแทนได้ เบเกอรีเราก็ไม่ได้เป็นเบเกอรีคลีน เรียกว่าเราต้องกระจายกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญต้องอร่อย เพราะเราไม่ได้อยากให้คลีนจนเข้าถึงยาก แต่อยากให้ทานได้ทุกวัน” มายอธิบาย

ความหลากหลายจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์เมนูของ Beanila ถ้าเราไปดูใบเมนูที่หน้าร้านจะเห็นว่าทั้งคู่ขยันออกเมนูใหม่มากทีเดียว ไม่ว่าจะเต้าฮวยบัวลอยทรงเครื่อง ซอฟต์เสิร์ฟ ชา กาแฟ และเร็วๆ นี้ก็จะมีเจลาโต้ และบิงซูซึ่งมีส่วนผสมของน้ำเต้าหู้  

ยังไม่พอ แต่ละเมนูยังมีหลายรสชาติและหลายท็อปปิ้งให้เลือกจับคู่ อย่างน้ำเต้าหู้ก็มีทั้งน้ำเต้าหู้ธรรมดาที่เลือกระดับความหวานได้ น้ำเต้าหู้รังผึ้ง น้ำเต้าหู้มันม่วงคาราเมล ฯลฯ เมนูเต้าฮวยบัวลอยทรงเครื่องก็มีให้เลือกว่าจะทานเย็นหรือร้อน ทานกับน้ำเต้าหู้ น้ำเชื่อมตาลโตนดดอกหอมหมื่นลี้ หรือจะเป็นน้ำขิงเข้มข้นก็ได้ทั้งนั้น 

นอกจากนั้น ยังมีเมนูของคาวอย่างเกี๊ยวหมูซุปเต้าหู้และนาเบะ รวมถึงยังมีเมนูหลักๆ และเมนูที่หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ตามเทรนด์ เพื่อเพิ่มความสดใหม่และทำให้ลูกค้าประจำมีอะไรให้ทดลองอยู่เสมอ

“แม้เราจะเน้นความหลากหลาย แต่ในความหลากหลายนั้นมันผ่านการรคัดเลือกวัตถุดิบที่ดี และเน้นการทำเองเกือบทุกขั้นตอน อย่างบัวลอย ซอสงา ซอสขิง โคนไอศครีม ฯลฯ เราก็ทำเองทั้งหมด หรืออย่างท็อปปิ้งของน้ำเต้าหู้เราก็อาจจะไม่ได้มีมากเท่าร้านทั่วไป แต่เราคัดมาแล้วว่าไม่ว่าจะกล้วยเบิร์น ถั่วตัด วุ้นใบเตย หรือข้าวโพดย่าง ฯลฯ มันเข้ากันได้ดีและมันดีต่อสุขภาพจริงๆ” มายอธิบาย 

ด้านหน้าร้านยังมีตู้แช่สำหรับ Grab&Go เพราะลูกค้าบางคนแค่อยากเข้ามาซื้อเต้าหู้ก้อน น้ำขิง หรือน้ำเต้าหู้ ฯลฯ กลับไปทำอาหาร ไม่ได้อยากนั่งคาเฟ่ ความหลากหลายเหล่านี้เองที่ทำให้ลูกค้าของ Beanila นั้นมีหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มครอบครัว วัยรุ่น วัยทำงาน คนรักสุขภาพ หรือคนสูงอายุ 

“แม้ตอนแรกกลุ่มลูกค้าสูงอายุจะไม่เข้าใจว่าทำไมน้ำเต้าหู้ถึงราคาสูงกว่าคนอื่น หรือทำไมต้องทำเป็นคาเฟ่ แต่พอเราอธิบายและเราก็มีสินค้าที่ตอบโจทย์เขาได้ เขาก็กลายมาเป็นลูกค้าประจำ บางทีก็จะมีกลุ่มคุณป้ามานั่งปาร์ตี้ในร้านด้วย” มายเล่าพร้อมรอยยิ้มก่อนสรุปให้ฟังว่า

“การวางคอนเซปต์ วางกลุ่มลุกค้า วางอะไรต่างๆ เชิงธุรกิจมันสำคัญ แต่สุดท้าย ถ้าเรายังไม่ได้ลงสนามจริง เราอย่าเพิ่งตีกรอบให้ตัวเองเพราะทุกอย่างมันเป็นการเรียนรู้จากหน้างาน และธุรกิจมันไม่มีอะไรตายตัว” 

ระบบที่ดีสำคัญกับการเติบโต

หากเดินเข้ามาภายในร้าน Beanila เชื่อว่าสิ่งที่เตะตาและดึงดูดใจหลายคนน่าจะเป็นเครื่องจักรขนาดมหึมาที่ตั้งเด่นเป็นสง่าในห้องกระจกด้านขวามือ ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำหรับทำน้ำเต้าหู้ที่เราได้ชิมกันไป

“ตั้งแต่คิดจะทำร้าน เราก็ตั้งใจเลยว่าจะต้องเอาเครื่องจักรมาตั้งให้ลูกค้าดู เรายังมีเครื่องจักรสำหรับทำเต้าฮวย บิงซู และอีกหลายอย่าง ที่ให้ลูกค้าเห็นเลยว่ากระบวนการทั้งหมดเป็นยังไง เพราะเราอยากสื่อสารความจริงใจและโปร่งใสออกไป” มายอธิบาย

เครื่องจักรที่ว่านี้ไม่ได้เพิ่งมีในช่วงที่ทั้งคู่ตั้งหน้าร้านแล้วเท่านั้น แต่ทั้งคู่นำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตตั้งแต่วันแรกๆ ที่คิดจะขายน้ำเต้าหู้ ทั้งที่รายได้ในตอนนั้น อาจไม่ได้คุ้มกับต้นทุนเครื่องจักรที่จ่าย

“ตอนแรกเราก็ไม่ได้ใช้เครื่องจักรที่ใหญ่ขนาดนี้หรอก เราทดลองจากเครื่องจักรเล็กๆ กันก่อน เพื่อดูว่ามันผลิตได้มากแค่ไหน แต่ข้อจำกัดของเครื่องจักรเล็กคือกว่าจะได้น้ำเต้าหู้ในแต่ละแบตช์นั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน เราเลยมองว่าถ้าเราอยากเติบโต เราจะต้องจริงจังกับเครื่องจักรและการเซตระบบตั้งแต่วันแรก

“เพราะเครื่องจักรขนาดใหญ่มันสามารถลดการใช้แรงงานคนได้ ไม่อย่างนั้นถ้าพนักงานป่วยขึ้นมาเราจะทำยังไง เครื่องจักรยังทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่าเราจะได้น้ำเต้าหู้คุณภาพที่มีมาตรฐานเท่ากันทุกครั้ง แม้เราจะไม่สามารถบอกได้ว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่เรามองว่ามันมีโอกาสที่จะเติบโต ถ้าเราเตรียมตัวไว้ก่อนมันก็ดีกว่า” ใหม่ผู้รับหน้าที่ในการผลิตอธิบายถึงความคิดเบื้องหลังของการลงทุนครั้งนี้

นอกจากการลงทุนกับเครื่องจักรแล้ว Beanila ยังเป็นร้านน้ำเต้าหู้ที่จริงจังกับการสร้างระบบอย่างมาก เพราะมายเล่าว่าเธอได้สร้าง Beanila Bible ขึ้นมาสำหรับเทรนพนักงานว่าควรจะแต่งตัวแบบไหน ทักทายลูกค้ายังไง 

“มันเหมือนกับการสร้างแม่พิมพ์ ถ้าแม่พิมพ์มันเวิร์ก ผลผลิตจากแม่พิมพ์ก็จะออกมามีคุณภาพ เราเลยพยายามทำทุกอย่างให้เป็นระบบ ไม่ทำอันนี้ทีอันนั้นที เพราะเราอยากเติบโต ที่สำคัญลูกค้าก็จะเชื่อใจว่าไม่ว่าพนักงานหรือเราทำ สินค้าที่เขาได้รับไปมันก็จะเป๊ะและมีคุณภาพเหมือนกัน” มายบอก

“พอมีปัญหา ระบบยังทำให้เรารู้ว่าเราต้องแก้ปัญหายังไง ปรับปรุงหรือเพิ่มอะไรอีกบ้าง เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลากลับมาแก้ไขอะไรซ้ำๆ” ใหม่เสริม

Beanila และการพา ‘น้ำเต้าหู้’ ไปสู่ดินแดนใหม่ๆ 

ระหว่างการสนทนากับมายและใหม่ Beanila มีคนเข้า-ออกไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะกลุ่มวัยรุ่น ครอบครัว คนทำงาน และผู้สูงอายุ จนดูเหมือนว่า Beanila เอาชนะใจคนทั่วไปที่คุ้นเคยกับนมวัวมากกว่าได้แล้ว แต่ทั้งคู่กลับบอกว่าลูกค้าเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ความตั้งใจของพวกเขาคือการนำพา Beanila แทรกซึมและทำให้ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เปิดใจได้มากกว่านี้ 

“ถึงอย่างนั้นเราก็ยังมองว่าธุรกิจนี้มันมีโอกาสเติบโตนะ ไม่ว่าจะทั้งในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม เพราะในแถบเอเชียหรืออเมริกาก็มีแบรนด์จากนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้อยู่เยอะ เพียงแต่แต่ละประเทศอาจมีความชอบที่แตกต่างกัน”

นั่นทำให้เมื่อเราถามถึงนิยามของน้ำเต้าหู้ที่ดีในมุมของมายและใหม่ ทั้งคู่ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่านิยามที่ว่านั้นขึ้นกับความชอบของแต่ละบุคคล

“อย่างในแถบอเมริกา กลิ่นถั่วเหลืองจะจางมากแต่เขาเน้นใส่ท็อปปิ้งหลากหลาย ส่วนในเอเชียบางประเทศจะชอบแบบใสๆ เพื่อให้กินได้ทั้งวัน บางที่ก็ชอบแบบข้นๆ ส่วนประเทศไทยมักจะชอบแบบกลางๆ คือไม่ข้นและไม่จาง แต่จะต้องมีกลิ่นหอมของถั่วเหลืองชัดเจน” ใหม่อธิบาย 

ในอนาคต ทั้งคู่จึงมองภาพของ Beanila ไว้หลายทาง ทั้งขยายสาขาไปยังต่างประเทศ และการขยายโมเดลธุรกิจของ Beanila ให้เป็นมากกว่าคาเฟ่น้ำเต้าหู้ แต่มีทั้งสตูดิโอโยคะ พิลาทิส หรือกิจกรรมเชิงสุขภาพให้คนได้มาใช้บริการ

“เราอยากทำให้มันมีความไลฟ์สไตล์ที่เข้าไปแทรกซึมในชีวิตประจำวันของทุกคนได้มากกว่าเดิม ลูกค้าอาจจะไม่ได้มาคาเฟ่เพื่อกินน้ำเต้าหู้อย่างเดียว เขาอาจจะมาเล่นโยคะ พิลาทิสก็ได้ เรียกว่าสามารถใช้ชีวิตใน Beanila ได้ทั้งวัน” มายเล่าแผนสำคัญ

ในวันที่เรานั่งสนทนากันอยู่นี้ อาจเรียกได้ว่า Beanila เติบโตไปอีกขั้น จนไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งสองพี่น้องคู่นี้เคยคิดจะล้มเลิกการสร้าง Beanila หลังจากที่ใหม่เคยเกิดอุบัติเหตุจากการใช้เครื่องจักรมาแล้ว

“วันที่เกิดอุบัติเหตุกับพี่ใหม่ เราก็คิดว่าคงไม่ทำต่อแล้ว แต่เราอาจจะติดคุณพ่อมาก เลยอยากทำให้ Beanila ประสบความสำเร็จ ทำให้เขาเชื่อและภูมิใจว่าเราสามารถทำให้แบรนด์ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยทำมันในอดีต มันไปได้ไกล 

“สิ่งที่เราสองคนสรุปได้จากการหาทางออกในวันนั้นจึงคือเราไม่สนว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง แต่ว่า Beanila จะต้องไปต่อได้ เพราะนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น” มายทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

What I’ve Learned

  • ใหม่ : เวลามีฟีดแบ็กในทางลบ เราต้องรู้วิธีการที่จะรับมือและตอบกลับไป บางครั้งเราจะพูดตรงๆ ไม่ได้ แต่ต้องหาวิธีที่มันซอฟต์ขึ้น บางคำตอบผมคิดเป็นชั่วโมงกว่าจะตอบกลับไป
  • ใหม่ : เจ้าของต้องลงมาทำเอง เพราะการคุยกับลูกค้า การแก้ปัญหาจะแตกต่างกับการให้พนักงานทำ
  • มาย : การทำคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียสำคัญมาก ไม่ว่าจะคอนเทนต์ที่บอกว่าทำไมต้องมาทานน้ำเต้าหู้ร้านเรา หรือรู้ไหมว่าเราลงทุนกับเครื่องจักรไปเท่าไหร่ แต่เราจะเน้นการทำคอนเทนต์เองและไม่เคยบูสต์โพสต์เลยสักครั้ง เพราะเรามองว่าถ้าเรายิงแอดฯ เราอาจจะได้ลูกค้าเยอะก็จริง แต่มันจะมาตู้มเดียว ต่างกับคอนเทนต์ออร์แกนิกที่เราจะได้ลูกค้าในระยะยาวมากกว่า
  • มาย : เราไม่ควรเป็นคนวิ่งตามเทรนด์ แต่เราต้องสร้างเทรนด์นั้นขึ้นมาเอง ถ้าเราสร้างเทรนด์นั้นขึ้นมาได้ ลูกค้าก็จะสนใจและเข้ามาหาเรา

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ทำงานให้งานมันท้อเรา ig : chinnakanc

You Might Also Like