ข้างหลังม่าน
15 เรื่องเบื้องหลัง จาก 25 ปี ของ Bangkok Festivals ผู้นำเข้าศิลปะการแสดงและดนตรีระดับโลก
วงออร์เคสตราอายุ 218 ปี จากสวิตเซอร์แลนด์
นักไวโอลินที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก พร้อมกับไวโอลินอายุ 300 ปี ที่ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะได้เล่น
วาทยกรระดับตำนานที่เอ่ยว่าจะคอนดักต์วงเป็นครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทย
ยังไม่รวมคณะบัลเลต์ระดับท็อปจากเยอรมนี การแสดงมายากลรอบปฐมฤกษ์ของโลก โปรดักชั่นใหม่ของละครบรอดเวย์คลาสสิกโดยทีมสร้างสรรค์ระดับ A-list ของวงการ และอีกสารพัดการแสดงทางดนตรีและศิลปะการเต้นที่รวมศิลปินต่างชาติกว่า 900 ชีวิต จากทั่วทุกมุมโลก!
ถ้าไม่ใช่ Bangkok’s International Festival of Dance & Music หรือ Bangkok Festivals แล้วละก็ เราก็ไม่เห็นว่าจะมีผู้นำเข้าในไทยเจ้าไหนที่สามารถนำการแสดงที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทยได้ เพราะการจะนำเข้าการแสดงเหล่านี้ไม่ได้อาศัยเพียงเม็ดเงินเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ชื่อเสียงของผู้นำเข้า และความเข้าใจระบบนิเวศของวงการแสดงระดับโลกอย่างดี
เล่ามาขนาดนี้ หลายคนคงคิดว่านี่คือผลงานขององค์กรรายใหญ่ของประเทศ เพราะใครเล่าจะนำเข้าสุดยอดผลงานระดับโลกแบบนี้เข้ามาได้! แต่เราขอบอกว่าต้องคิดใหม่ เพราะ Bangkok Festivals ก่อตั้งโดย เจ เอส อูเบรอย (J.S. Uberoi) ผู้ใช้ความหลงใหลในศิลปะการแสดงและดนตรี นำเข้าการแสดงชั้นเยี่ยมเพื่อพลิกภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม
ในวันที่ Bangkok Festivals เดินทางมาถึงปีที่ 25 ในประเทศที่หลักใหญ่ใจความของผู้คนไม่ใช่ดนตรีและศิลปะ ตัวเลข 25 นี้มีนัยสำคัญที่แสดงถึงความเก๋าเกมของเทศกาลนี้ไม่น้อย
เราจึงมีนัดกับ ราซินาร์ อูเบรอย บาจาจ (Rasina Uberoi Bajaj) กรรมการผู้จัดการและลูกสาวของเจ เอส อูเบอรอย เพื่อพาทุกคนไปเปิดหลังม่านเวที ขุดเบื้องลึกธุรกิจการนำเข้าการแสดงว่ากว่า Bangkok’s International Festival of Dance & Music จะจัดการแสดงแต่ละปีขึ้นมาได้นั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง
1. Bangkok Festivals ก่อตั้งโดย เจ เอส อูเบอรอย นักธุรกิจที่ทำธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 50 ปี
ย้อนกลับไป 25 ปีก่อน ราซิน่าร์เล่าว่าถ้าอยากดูบัลเลต์ดีๆ โอเปร่าดังๆ กระทั่งออร์เคสตราเต็มวงในไทย จะต้องบินไปดูที่ต่างประเทศเท่านั้น คนรักเสียงเพลงและศิลปะอย่างพ่อของเธอ เจ เอส อูเบอรอย ผู้ที่ไปทำงานหรือเที่ยวต่างประเทศทีไรก็ต้องหาเวลาไปชมสารพัดการแสดงดนตรี จึงเริ่มปิ๊งไอเดียบางอย่าง
“คุณพ่อเข้ามาทำธุรกิจนิตยสารในไทยหลายปี หลายคนน่าจะรู้จัก seventeen, Women’s Health, Men’s Health และ OK! ฯลฯ กัน แต่หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองไทยมานาน ท่านก็เริ่มคิดว่าจะทำอะไรตอบแทนประเทศไทยในฐานะบ้านหลังที่สองได้บ้าง จะเอาผลงานศิลปะที่เก็บสะสมมาเปิดให้คนชมเหรอ ก็ไม่น่าเวิร์กนะ เลยหันมามองสิ่งที่ท่านชอบมาตลอดนั่นก็คือเรื่องของศิลปะการแสดงและดนตรี”
ช่วงแรกๆ พ่อของเธอทดลองตลาดโดยเชิญคณะละครหนึ่งเข้ามาจัดแสดง Swan Lake บ้าง Nutcracker บ้าง ปรากฏว่าผลตอบรับเกินคาดจนน่าประหลาดใจ
“ช่วงแรกๆ มีชาวต่างชาติอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรปมากกว่าคนไทย แต่ที่แปลกใจยิ่งกว่าคือเราจัด Swan Lake ทั้งหมด 6 โชว์ แล้วขายหมดทุกโชว์ จำได้ว่าคืนวันอาทิตย์เราประกาศว่าจะมีการแสดงรอบพิเศษเพิ่มในวันจันทร์ เชื่อไหมว่าพอถึงวันจันทร์คนนั่งในฮอลล์ถึง 70%
“ครั้งนั้นทำให้เราเห็นว่า คนไทยก็ชอบการแสดงแบบนี้เหมือนกันนะ และมันก็ทำให้เราเห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดสิ่งนี้มากแค่ไหน” ราซิน่าร์ย้อนเล่าความประทับใจ
2. ทุกการแสดงที่ Bangkok Festivals นำเข้ามาจะต้องมีชื่อในวงการ
เมื่อเทสต์ตลาดแล้วเวิร์ก บวกกับได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ Bangkok Festivals ก็เติบโตและนำเข้าการแสดงหลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะโอเปร่า ออร์เคสตรา บัลเลต์ แจ๊ส ฟลาเมงโก และมายากล ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะจัดแสดงในเดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปี
เกณฑ์การคัดเลือกนั้นมีหลากหลายแบบ หนึ่งในเกณฑ์ที่ Bangkok Festivals ให้ความสำคัญคือชื่อเสียงของศิลปินที่มาแสดง ไม่ใช่แค่เพื่อดึงดูดให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจ แต่เพื่อให้คนไทยมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ทางดนตรีเทียบเท่ากับคนทั่วโลก
อย่างการแสดงอุ่นเครื่องของปีนี้ Lucerne Symphony Orchestra : A Night with Beethoven ก็เป็นวงออร์เคสตราที่เก่าแก่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1805 เป็นช่วงที่บีโธเฟนยังมีชีวิตอยู่และได้เขียนไวโอลินคอนแชร์โตซึ่งเป็นบทเพลงเอกของการแสดงในครั้งนี้อยู่ด้วย
“เราพยายามเชิญวง Lucerne มา 15 ปีเลยนะ แต่ชื่อของกรุงเทพฯ ไม่เคยอยู่ในลิสต์ที่เขาจะมาแสดงสักที ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่เราสามารถเชิญเขามาได้ ถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับ Bangkok Festivals มากๆ”
การแสดงครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากนักไวโอลินเจ้าของรางวัลแกรมมี่อย่าง ออกุสติน ฮาเดลิก (Augustin Hadelich) ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาร่วมแสดง ถ้าจะให้อธิบายความเก่งของเขาให้คนทั่วไปเห็นภาพ ออกุสตินคือคนที่องค์กรระดับโลกไว้วางใจให้ใช้ไวโอลินล้ำค่าอายุกว่า 300 ปี
แน่นอนว่าการได้สัมผัสเครื่องดนตรีระดับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ การได้รับโอกาสพิเศษนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์หนึ่งสำหรับศิลปินที่ก้าวขึ้นมาสู่ระดับโลกเช่นเขา
3. สีสัน ความตื่นตาตื่นใจ และความสนุกปนดราม่าคือไวบ์ที่คนไทยชอบ
ในภาพรวม จากประสบการณ์การเป็นผู้นำเข้าหรือโปรโมเตอร์ มานานกว่า 25 ปี ราซิน่าร์เฉลยว่าการแสดงที่คนไทยเอนจอยเป็นพิเศษคือการแสดงที่เน้นแสง สี เสียง และความสนุก
“อย่างโชว์ Gala Performance จาก Stuttgart Ballet คณะบัลเลต์จากเยอรมนีที่ติด Top 10 ของโลกรอบนี้จะมาเป็นโชว์สั้นๆ ต่อกันโชว์ละ 10 นาที แต่ละโชว์จะมีการกระโดด ตีลังกา หมุนไปมา ชุดก็สวย เราคิดว่าคนไทยน่าจะชอบโชว์แบบนี้
“หรือสมมติถ้าเป็นออร์เคสตรา เราก็จะพยายามเลือกเพลงจากศิลปินที่คนไทยน่าจะคุ้นเคย เช่นเพลงของบีโธเฟนที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยได้ยินไม่ว่าจะไปที่ไหน ขนาดในลิฟต์ตามห้างก็ยังมี จนคนเรียกกันว่า elevator music” ราซิน่าร์เล่าพลางหัวเราะพลาง
อีกโชว์ที่อาจดูเข้าถึงยากอย่างโอเปร่า Bangkok Festivals ก็มีวิธีการนำเสนอให้คนไทยไม่เมินหน้าหนี นั่นคือโชว์จาก Helikon Opera รอบนี้จะไม่ใช่โอเปร่าที่มายืนร้องเพลงเฉยๆ ซึ่งเป็นภาพจำของคนทั่วไป แต่จะเป็นโอเปร่าเรื่อง Aida ที่เล่าเรื่องราวรักสามเส้าและยังเป็นเรื่องราวสมัยอียิปต์ที่คนไทยคุ้นเคยและตื่นตาตื่นใจ
“โอเปร่ารอบนี้น่าสนใจมากๆ เพราะเขาลงทุนทำฉากแบบมัลติมีเดียซึ่งจริงๆ แล้วต้นทุนสูงกว่าการทำฉากปกติมากๆ Aida by Helikon Opera เลยเป็นโอเปร่าที่มีความคูลและทันสมัยมากในรอบนี้”
แม้ราซิน่าร์จะออกตัวว่าไม่ได้หลงใหลศิลปะดนตรีตั้งแต่ยังเด็กเหมือนพ่อของเธอ แต่ถ้อยคำที่เธอพรั่งพรูกลับสะท้อนให้เห็นว่าเธอผูกพันและเชี่ยวชาญในวงการนี้มากแค่ไหน
4. การแสดงที่คนไทยยกนิ้วให้ และ sold out เสมอ คือ Swan Lake!
ในจำนวนการแสดงทั้งหมดที่เคยนำเข้ามา การแสดงขวัญใจมหาชนที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องมีทุกปีคือ Swan Lake ถามว่าทำไมคนไทยไม่เบื่อเรื่องราวเดิมๆ เสียที ราซิน่าร์เฉลยว่าเพราะแม้จะเป็นเรื่องราวเดิม แต่คณะที่แสดงจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ประสบการณ์การชมในแต่ละปีจึงแตกต่างและตรึงใจผู้ชมได้เสมอ
“เอาจริงๆ ไม่ต้องพูดถึงคนไทยก็ได้ ตัวเราเองที่แม้จะโตมากับคุณพ่อที่ชอบดนตรีและการแสดงมากๆ ก็ยังไม่ได้ชอบดูอะไรที่มันคลาสสิกหรือหนักเกินไป
“เราเองเลยชอบ Swan Lake มากๆ จนดูได้ทุกวัน เพราะนักแสดงเขาแต่งตัวสวย เหมือนเป็นหงส์ขาว แล้วเวทีมันมืดๆ ตัดกับไฟที่ดูลึกลับนิดนึง จนเหมือนเราไม่ได้นั่งในฮอลล์แต่เราสัมผัสถึงบรรยากาศของป่าหน้าหนาวจริงๆ”
ส่วนการแสดง Swan Lake ในปีนี้ เป็นการแสดงจาก Les Ballets de Monte Carlo คณะบัลเลต์ประจำประเทศโมนาโก ที่ราซิน่าร์บอกว่าเป็น Swan Lake ที่คงความคลาสสิกไว้ได้ดีพอๆ กับการนำเสนอความคูลและความโมเดิร์นไว้อย่างลงตัว
5. ถ้าพลาดการแสดงแต่ละครั้ง อาจไม่ได้ดูอีกเลยตลอดชีวิต!
บางครั้งเรื่องราวที่นำมาแสดงอาจเหมือนกันบ้าง แต่ใช่ว่าประสบการณ์ของแต่ละครั้งจะเหมือนกัน
“คณะบัลเลต์จากเยอรมนี Stuttgart Ballet ไม่ใช่ว่าเขาไม่เคยมาแสดงให้เรานะ เขาเคยมาแสดงให้เราเมื่อหลายปีก่อนโน้นแล้วล่ะ แต่เขาเลือกแสดงเรื่องโรมิโอแอนด์จูเลียต เวลาเขาแสดงก็จะแตกต่างจากคณะบัลเลต์จากรัสเซีย ชุดก็ต่าง คอสตูมก็ต่าง อารมณ์ที่สื่อออกมาก็ต่าง
“ส่วนคณะบัลเลต์ที่รัสเซียนั้นมีมากกว่า 200 คณะ แต่ละคณะเขาก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเคยดูเรื่องนี้แล้วจะดูอีกไม่ได้ หรือเคยดูคณะนี้แล้วจะดูอีกไม่ได้ เพราะแต่ละคณะพยายามสร้างสรรค์การแสดงที่แตกต่างและโดดเด่นอยู่เสมอ”
เพราะฉะนั้นการแสดงแต่ละครั้ง แต่ละรอบ ของแต่ละคณะ จะมีสีสันที่แตกต่างกันไป ทำให้ Bangkok Festivals เป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และนั่นหมายความว่าถ้าเราพลาดการแสดงไหนในปีนี้ เราอาจจะอดดูไปอีกหลายปีทีเดียว
6. กรุงเทพฯ คือสถานที่แรกและสถานที่สุดท้ายของโชว์บางโชว์!
สมัยที่กรุงเทพฯ ยังไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและศิลปะการแสดงอย่างทุกวันนี้ การจะเชิญวงดนตรีหรือคณะแสดงไหนเข้ามาแต่ละที ราซิน่าร์บอกว่าเต็มไปด้วยความยากเย็น แต่หลังจากสั่งสมประสบการณ์มานานจนภาพลักษณ์ของเมืองหลวงแห่งนี้เปลี่ยนไป ใครๆ ก็เริ่มอยากมาแสดงที่นี่มากขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องน่าสนใจคือบางการแสดงจะจัดแสดงที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ก่อนไปแสดงที่อื่นๆ ทั่วโลก เช่น การแสดงมายากล The Magnificent Six โดยนักมายากลหญิง 6 คน ซึ่งไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน แต่มาเจอกันและเริ่ม choreograph ที่ไทยก่อนการแสดง 10 วัน กรุงเทพฯ จึงเป็นเมืองแรกที่โชว์นี้จะจัดแสดง จากนั้นการแสดงที่ว่าจะไปเวิลด์พรีเมียร์ต่อที่อื่นๆ
อีกการแสดงที่พลาดไม่ได้เช่นกันคือ Zubin Mehta & Symphony Orchestra of Maggio Musicale Fiorentino เพราะนี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณสุบิน เมห์ทา (Zubin Mehta) วาทยกรระดับตำนานที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในโลกจะแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งสุดท้าย
“คุณสุบินผูกพันกับประเทศไทยมาก และเคยบอกไว้ว่าการแสดงสุดท้ายในชีวิตวาทยกรของเขาจะต้องจัดการแสดงที่กรุงเทพฯ ด้วย” ราซิน่าร์ตื่นเต้น
7. Bangkok Festivals ในปีที่ 25 กับการแสดงวัยรุ่นขึ้น!
นับจากวันแรกที่เจ เอส อูเบอรอยนำเข้าการแสดงให้คนไทยได้ชม Bangkok Festivals เดินทางมาสู่ปีที่ 25 แล้ว และยังเป็นผู้นำเข้าศิลปะการแสดงขนาดใหญ่เจ้าเดียวในไทย ถึงอย่างนั้น ราซิน่าร์ไม่ได้มองว่า Bangkok Festivals จะหยุดพัฒนาแต่อย่างใด กลับต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
“ความท้าทายของเราคือจะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่สนใจและอยากชมการแสดงที่เรานำเข้ามา เราเลยพยายามปรับรูปแบบโชว์ให้ดูสนุก วัยรุ่นขึ้น ใครดูก็ได้ และทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกคน เวลาเราจะเอาการแสดงไหนเข้ามา เราก็จะทำหน้าที่แทนคนดูว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ชอบดนตรีและการแสดงแบบนี้จะโอเคไหม บางครั้งก็ไปถามลูกว่าคิดเห็นยังไง
“อย่างแต่ก่อนโชว์นึงอาจจะยาว 3-4 ชั่วโมง คนที่มาดูก็อาจจะใส่สูท ชุดราตรีมา แต่เราอยากเห็นภาพของคนทั่วไปที่แต่งตัวแบบไหนก็ได้มาดูงาน หรือเลิกงานแล้วมาดูโชว์กับเพื่อน ดูเสร็จก็ไปกินข้าวกันต่อเหมือนเราไปดูหนังเรื่องนึง เราเลยพยายามให้ทุกการแสดงจบภายใน 2 ชั่วโมง
“เวลาไปดูโชว์ที่ต่างประเทศเราก็ต้องพิจารณาว่าเหมาะกับคนไทยแค่ไหน เราจะต้องดูตั้งแต่บรรยากาศ คนที่ไปชมอายุเท่าไหร่ แต่งตัวกันยังไง ขณะที่คนที่นั่นนั่งดูได้นานๆ เพราะโตมากับการแสดงเหล่านี้ ถ้าเทียบกับคนไทย จะไหวหรือเปล่า”
หนึ่งในการแสดงที่ represent โอกาสครบรอบ 25 ปีที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือการแสดง West Side Story ละครบรอดเวย์รักโรแมนติก ที่ราซิน่าร์เชื่อว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาชมก็ไม่มีทางผิดหวัง
“มันเป็นบรอดเวย์ที่หลายคนเคยชมมาแล้วก็จริง แต่โปรดักชั่น การแสดง การแคสต์ คอสตูม รวมไปถึงทีมงานสร้างสรรค์ยังเป็นทีมงานระดับ A-list ที่ได้ที่ปรึกษาของ West Side Story เวอร์ชั่นหนังของ Steven Spielberg มาร่วมสร้างสรรค์การแสดงในครั้งนี้ด้วย
“คอมิวสิคัลจะได้สัมผัสอีกเวอร์ชั่นที่เราภูมิใจนำเสนอมาก ความพิเศษคือกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองแรกๆ ที่จะได้ชมโปรดักชั่นใหม่ของละครเพลงเรื่องนี้ด้วย” เธอเล่าอย่างออกรส
8. ผู้ชมที่ Bangkok Festivals คาดหวัง ไม่ใช่คนเฉพาะกลุ่ม แต่คือทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย
นอกจากทำให้การแสดงเข้าถึงได้ง่ายขึ้นแล้ว อีกสิ่งที่ราซิน่าร์ให้ความสำคัญคือเธออยากให้การแสดงของ Bangkok Festivals เข้าถึงคนทุกคนได้จริงๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่บกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งการแสดงที่สะท้อนถึงความเข้าถึงได้มากที่สุดก็คือการแสดงมายากลที่เราเกริ่นไปแล้วนั่นเอง
“เราตื่นเต้นกับโชว์นี้มากๆ เพราะมายากลมันเป็น illusion ที่เขาเล่นกับตาของเรา คนที่บกพร่องทางการได้ยินก็จะมีส่วนร่วมกับเทศกาลของเราได้ เราเลยคิดว่ามันคือ festival for everyone จริงๆ
“ปีที่แล้วผู้ว่าชัชชาติก็บอกมาว่าเขาเป็นแฟนคลับของเรามานาน และเขาบอกว่าอยากให้เราทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน ดูพร้อมกัน as a family, as a group of friends”
9. เพราะเงินไม่ได้ knock everything แต่การสานสัมพันธ์ต่างหากที่เอาชนะใจนักแสดง
บางคนอาจเคยได้ยินมาบ้างว่าการนำเข้าการแสดงเข้ามานั้นไม่ใช่แค่มีเงินก็เชิญศิลปินเหล่านี้เข้ามาได้ แต่ผู้นำเข้ายังต้องมีความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงมากพอด้วย กับ Bangkok Festivals ยิ่งแล้วใหญ่ ราซิน่าร์เล่าว่าอีกหนึ่งบทบาทที่เธอและคุณพ่อจะละเลยไม่ได้เด็ดขาดคือการสานสัมพันธ์กับนักแสดงและผู้ดูแลวง
“เราต้องรักษาความสัมพันธ์กับแต่ละคนหรือแต่ละวงอยู่เสมอ บางครั้งก็ต้องออกไปทานข้าวกับเขา บางครั้งก็ต้องออกไปดื่ม เช่นนักร้องโซปราโน่ชื่อดัง Katherine Jenkins ที่เป็นนักร้องนักแสดงที่เรารู้จักกันอยู่แล้ว เราก็ต้อง WhatsApp หาเขาทุก 2-3 เดือน
“ถามว่าเพราะอะไรเราถึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ เพราะนักแสดงและวงเหล่านี้เขามีตัวเลือก เขาจะไปแสดงที่ไหนก็ได้ ทำไมต้องมาประเทศไทย ยิ่งกับประเทศไทยที่เราเชิญมาแสดงได้แค่ไม่กี่วัน ต่างจากประเทศอื่นที่เขาไปแสดงได้มากกว่า 1 ครั้ง หรือแม้กระทั่งเป็นเดือน จะทำยังไงให้เขาเลือกเรา”
ราซิน่าร์ยังยกตัวอย่างกรณีที่เธอและคุณพ่อไม่เคยติดต่อกับคณะนั้นๆ มาก่อน ว่าการติดต่อผ่านสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวกลางสำคัญ หลายครั้งทูตจากประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทยก็ติดต่อเข้ามาเพื่อนำเสนอการแสดงจากประเทศของเขาเพราะแต่ละประเทศต่างมีของดีที่อยากโชว์
Bangkok Festivals จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปโดยปริยาย
10. โลจิสติกส์คือปัญหาชวนปวดหัวของผู้นำเข้าการแสดง
การนำนักแสดงและนักดนตรีข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสดงในปัจจุบันนั้นไม่ยาก แต่เคยสงสัยไหมว่า Bangkok Festivals จัดการฉากสุดอลัง เครื่องดนตรีราคาแพง และสารพัดอุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหลายยังไง
“กว่าผู้ชมจะได้ชมการแสดง 1 โชว์ เราต้องเตรียมการหลายอย่างมาก อย่างโชว์ West Side Story เนี่ย ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร เพราะเวลาเขาเวิลด์ทัวร์ เขาต้องขนฉาก เครื่องดนตรี ลงเรือมาตั้ง 8 คอนเทนเนอร์ คอนเทนเนอร์หนึ่งก็หนักเป็นร้อยๆ ตัน
“พอแสดงให้เราเสร็จ เขาก็ต้องขนของกลับไปอีกสิบกว่าวัน เรียกว่ามันยุ่งยากใช่ไหม มันจะยากแค่ไหนเมื่อเขาต้องเสียเวลาหลายวันเพื่อมาแสดงในไทยแค่ไม่กี่รอบ
“อย่าง West Side Story นั้นมีรอบการแสดงถึง 6 รอบ นับว่าเยอะมากแล้วสำหรับประเทศไทย แต่จริงๆ เขาสามารถไปแสดงที่อื่นได้เป็นเดือน เพราะฉะนั้นมันคือโอกาสของเขาที่เสียไป เพื่อให้เรามีโอกาสนำการแสดงนี้มาให้คนไทยได้ดู”
11. ต้นทุนที่แพงหูฉี่คืออีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ต้องเป็น Bangkok Festivals เท่านั้นที่นำเข้าการแสดงเหล่านี้!
ตามปกติแล้ว หลายประเทศทั่วโลก จะมีรัฐบาลเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำเข้าการแสดงเหล่านี้เพื่อสนับสนุนให้ประชากรของประเทศนั้นๆ เข้าถึงศิลปะและดนตรีดีๆ ได้ สำหรับประเทศไทย ตัวตั้งตัวตีหลักคือภาคเอกชนอย่าง Bangkok Festivals ซึ่งปัญหาหลักๆ ของการเป็นผู้นำเข้าในประเทศไทยนั้นก็คือต้นทุน
เพราะต้นทุนของการนำนักแสดงและนักดนตรีกว่า 900 ชีวิตจากทั่วทุกมุมโลกมาแสดงในไทยนั้นสูงมาก การจะทำให้คนไทยเข้าถึงศิลปะการแสดงเหล่านี้ ทางผู้จัดจึงมีสปอนเซอร์เพื่อช่วยสนับสนุนและทำให้การจัดงานเป็นไปได้
“ถ้าเราไม่มีสปอนเซอร์นะ ตั๋วใบนึง 3-4 หมื่น เพราะเรามีต้นทุนเรื่องค่าเครื่องบิน ค่าเรือขนส่ง ค่าโรงแรม ค่ากินค่าอยู่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ฯลฯ แต่เชื่อไหมว่าตั้งแต่วันแรกที่เราก่อตั้ง Bangkok Festivals ขึ้นมา สปอนเซอร์บางเจ้าอยู่กับเรามานานกว่า 20 ปีเสียด้วยซ้ำ
“ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ หรือเบียร์สิงห์ รวมถึงองค์กรรัฐและเอกชนอีกมากมายที่สนับสนุนงานของเราตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาเห็นถึงประโยชน์จากการร่วมสร้างให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมร่วมกันกับเรา ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่มีใครคิดเลยว่าเราจะทำได้ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้มันเดินทางมาถึงปีที่ 25 แล้ว” เธอพูดอย่างภาคภูมิใจ
12. Bangkok Festivals คือเครื่องสะท้อนภาพลักษณ์เมืองแห่งวัฒนธรรมของไทย
อย่างที่เล่ามาตลอด การนำเข้าคณะศิลปินต่างๆ นั้นต้องอาศัยปัจจัยหลากหลาย ยิ่ง 25 ปีก่อนที่ประเทศไทยยังไม่มีการแสดงเหล่านี้เลย การจะนำเข้าการแสดงในช่วงแรกนั้นต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก
“ภาพลักษณ์ของประเทศไทยสมัยก่อนมักเกี่ยวกับการเที่ยวกลางคืนจนชาวต่างชาติรู้สึกว่าเป็นดินแดนที่น่ากลัว กลับมาที่สมัยนี้ สังคมเปิดกว้างกว่าเดิม การติดต่อกันก็ง่ายขึ้น
“ยิ่งเราค่อยๆ สร้างให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็นเมืองที่ผู้ชมเสพศิลป์ที่มีคุณภาพ ภาพลักษณ์ของประเทศก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ”
13. เทศกาลดนตรีและศิลปะที่ไม่ได้พลิกเพียงภาพลักษณ์ของประเทศเท่านั้นแต่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากภาพลักษณ์กรุงเทพฯ และประเทศไทยโดยรวมจะดีขึ้น อีกสิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจคือการนำเข้าการแสดงเหล่านี้ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทยด้วย
“ระหว่างช่วงที่เทศกาลของเราจัดขึ้น เราก็ต้องจ้างคนเพิ่ม ไหนจะคนขนของ คนเบื้องหน้า เบื้องหลัง และอย่าลืมว่าคณะแสดงที่เข้ามา เขาก็กลายเป็นนักท่องเที่ยวของเราด้วย บางคนมาแสดงแค่ 2-3 วัน จากนั้นก็เที่ยวต่อ พอกลับไปประเทศตัวเองก็พาครอบครัวกลับมาเที่ยวใหม่
“การแสดงของเราเป็นการแสดงระดับโลก แต่ละปีเลยมีนักท่องเที่ยวที่บินมากรุงเทพฯ เพื่อชมการแสดง ไม่ว่าจะสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา พอมีคนเข้ามาก็ดีกับสปอนเซอร์ของเรา เพราะทุกคนขายของได้ ทุกคนมีลูกค้า
“พอมันเกิดกิจกรรมตรงนี้ บวกกับภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น นักลงทุนก็เริ่มสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย สิ่งสำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับแต่ละประเทศก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ Bangkok Festivals”
14. มากกว่าสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม คือการทำให้เด็กๆ เห็นว่าอาชีพนักแสดง นักดนตรี และศิลปินไม่ใช่แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ
อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของ Bangkok Festivals ที่เราว่าน่าสนใจไม่น้อยคือ Student Outreach Program โครงการเพื่อเยาวชนที่ราซิน่าร์ริเริ่มเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นภาพฝันของ Bangkok Festivals ที่อยากสร้างสังคมแห่งศิลปะและวัฒนธรรมต่อไปอย่างยั่งยืน
ราซิน่าร์ย้อนเล่าว่าโครงการนี้เกิดขึ้นจากตัวเธอเองที่ได้คำตอบจากลูกถึงเหตุผลที่เลิกเรียนดนตรีเพราะต้องท่องหนังสือบวกกับไม่เห็นอนาคตที่มั่นคงในสายอาชีพนี้ด้วย
“เราก็ตกใจว่า ฮะ มันจะไม่มีอนาคตได้ยังไงทั้งๆ ที่นักแสดงและนักดนตรีที่เรานำเข้ามาเขาก็สามารถทำสิ่งที่รักเป็นอาชีพได้ เราเลยคิดว่าอย่างนั้นเราต้องทำให้เด็กๆ ได้เห็น ทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าการเรียนดนตรีและศิลปะมันมีอนาคตได้ ที่สำคัญ คุณไม่จำเป็นต้องเรียนเพื่อไปเป็นศิลปินเท่านั้น แต่ดนตรีและศิลปะมันให้อะไรมากกว่านั้น”
โครงการที่ราซิน่าร์เล่าเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้ามาเรียนมาสเตอร์คลาส ทำเวิร์กช็อป และชมการแสดงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดมุมมองใหม่ให้กับเด็กๆ และส่งเสริมพัฒนาการด้านการคิด
“ในทางตรง เขาจะได้เห็นว่าโลกแห่งดนตรีและศิลปะมันเป็นแบบไหน ถ้าเขาอยากเป็นแบบคนบนเวทีเขาจะต้องทำยังไงบ้าง และแน่นอนว่าหลายคนอาจจะอยากเต้นได้แบบ BLACKPINK แต่ถ้าดูดีๆ เขาจะเห็นว่าการเต้นเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากบัลเลต์นะ
“ในทางอ้อม มันมีงานวิจัยว่าเด็กที่เรียนดนตรีตั้งแต่เด็กจะสร้างตัวตนของเขาขึ้นมาได้อย่างแข็งแรง เขาจะรู้จักคิดนอกกรอบและแก้ปัญหา รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรมองหาในพนักงานที่พวกเขาอยากว่าจ้างในอนาคต ที่สำคัญคือเขาจะยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้
“ล่าสุดนักแสดงแสดงโชว์หนึ่งให้เด็กๆ ชมซึ่งเป็นโชว์ที่มีฉากเพศเดียวกันจูบกัน ตอนแรกเรากังวลว่าผู้ใหญ่จะตกใจไหม แต่กลายเป็นว่าผู้ใหญ่ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนเด็กๆ เขาก็หัวเราะคิกคัก นั่นหมายความว่าแม้ว่าในชีวิตประจำวันที่โรงเรียนของเขาจะไม่เคยได้เห็นมุมมองเหล่านี้ก็จริง การที่เราทำให้เขารู้จักกับสิ่งนี้ เมื่อเขาเข้าสู่โลกแห่งความจริง เขาก็จะเข้าใจและเปิดรับเรื่องความหลากหลายได้”
15. 25 ปีของ Bangkok Festivals กับหมุดหมายต่อไปที่จะอยู่คู่สังคมไทย
สำหรับองค์กรที่อยู่มานานกว่า 25 ปี และเต็มไปด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ เราคิดว่า 2 ชั่วโมงที่นั่งสนทนากับราซิน่าร์นั้นผ่านไปเร็วจนน่าตกใจ อย่างที่บอก 25 ปีถือว่าไม่น้อยเลยหากมองว่า Bangkok Festivals นั้นกำลังทำภารกิจในประเทศที่ศิลปะการแสดงและดนตรีตะวันตกยังต้องการได้รับการปลูกฝังอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง
คำถามสำคัญที่เราสงสัยคือ ในเมื่อธุรกิจนี้เต็มไปด้วยความยากและความซับซ้อน ทำไม Bangkok Festivals ถึงมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปท่ามกลางความท้าทายขนาดนี้
“ใครไม่ชอบความท้าทายบ้าง” เธอตอบกลับทันที “เราคิดว่าชีวิตคือความท้าทาย เราคิดแต่ว่าเราต้องทำให้ได้ ต้องทำให้สำเร็จ ขนาดช่วงโควิด-19 เรายังนั่งในห้องประชุมนี้เป็นชั่วโมง และประชุมกับหมอเพื่อดูความเป็นไปได้ เพราะเราไม่อยากให้คนไทยพลาดโอกาสดีๆ ในการชมการแสดงระดับโลกที่มันมีค่ามากต่อมุมมองการใช้ชีวิตและจิตใจ
“เรายังชวนหมอไปดูด้วยนะ หมอยังแปลกใจว่าประเทศไทยมีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ เขาเคยเห็นแต่ที่เมืองนอก เราเลยคิดว่าเรายิ่งต้องทำให้ใหญ่ขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้มันสนุกและเข้าถึงทุกคนกว่าเดิม เพื่อสนับสนุนศิลปะ สนับสนุนศิลปินทุกคน และเปิดโอกาสให้ศิลปะเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของชีวิตคนไทยให้ได้” ราซิน่าร์ทิ้งท้าย