โซน ปอด ไพร

เล่นเกมทายใจ จัดทริปเที่ยวที่ใช่ไปกับมาสคอตสัตว์ที่ชอบใน ‘คุ้งบางกะเจ้า’ บ้านหลังที่ 2 ของทุกคน

เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ที่อยากหลบหนีจากความวุ่นวาย ไปเอนกายให้ธรรมชาติบำบัด พักผ่อนในสถานที่แสนสงบ ไปพบกับผู้คนใหม่ๆ และถ้าสถานที่นั้นอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางไปไม่นาน ก็คงจะดีไม่น้อย

เพียงแค่ขับรถหรือนั่งเรือข้ามฟากจากแม่น้ำเจ้าพระยา มายังท่าเรือพระประแดง ก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ทันทีที่ไปถึงสถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำทำให้รู้สึกเย็นสบายแบบไม่น่าเชื่อ และสิ่งที่ทำให้เราแปลกใจคือนี่น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่รู้สึกหายใจได้เต็มปอดจากอากาศบริสุทธิ์ สมกับที่ถูกตั้งฉายาให้เป็น ‘ปอดของกรุงเทพฯ’ และสถานที่แห่งนี้คือ ‘บางกะเจ้า’

“อยากให้บางกะเจ้าเป็นบ้านหลังที่สองของทุกคน ”

นี่คือความตั้งใจของ เมษา–พศิกา เสกตระกูล เด็กสาวที่เกิดและโตมาในคุ้งบางกะเจ้า ที่อยากอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และส่งต่อวิถีชีวิตที่น่าสนใจให้ผู้คนได้รู้จัก เธอจึงก่อตั้งเพจ ‘บางกะเจ้า Bangkachao

พร้อมชักชวนเพื่อนๆ ที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน มาร่วมพัฒนาเพจและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนไปด้วยกัน ทั้ง นัส–นัสรีน แสงวิมาน ครีเอเตอร์ด้านการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ ผู้ชื่นชอบการถ่ายทำแบบ documentary ที่อยากถ่ายทอดสารคดีและวิถีชีวิตของคนบางกะเจ้าให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น

และ แพรว–ชนาพร กรณ์งูเหลือม นักออกแบบที่หลงใหลการทำภาพกราฟิกและการวาดคาแร็กเตอร์ ที่อยากสร้างมาสคอตให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของคุ้งบางกะเจ้า

พวกเขาได้สร้างโมเดลธุรกิจร่วมกัน ผ่านแคมเปญที่ชื่อว่า (โซน) (ปอด) (ไพร) ที่จะมาเปิดมิติใหม่ในการท่องเที่ยว ผ่านการเล่นเกมทายใจ ทำนายนิสัยของคุณว่าเหมือนกับมาสคอตสัตว์สุดน่ารักตัวไหนในคุ้งบางกะเจ้า พร้อมแมตช์ทริปที่ใช่ในสไตล์การเที่ยวที่เป็นคุณ ไม่ว่าจะเป็นสายชิลล์ สายคอนเทนต์คอนใจ สายวัฒนธรรม หรือสายลุยถึงไหนถึงกัน ก็มันกับการท่องเที่ยวชุมชนได้เต็มที่ และไม่แน่ว่าหลังจากอ่านบทความนี้จบ อาจทำให้คุณอยากเก็บกระเป๋า แล้วรีบมาเยือนบางกะเจ้าเลยก็เป็นได้

สัมผัสเสน่ห์ชุมชนยลวิถีคนบางกะเจ้า

ย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนที่เมษาอยากหลีกหนีความวุ่นวายในเมืองใหญ่ จึงตัดสินใจลาออกจากการทำงานประจำ กลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด เธอได้เปิดเพจบางกะเจ้าขึ้นมา ซึ่งในช่วงแรกเธอจะลงคอนเทนต์แนะนำกิจกรรมให้กับนักท่องเที่ยว และดูแลแค่ในส่วนของเวิร์กช็อปเท่านั้น ยังไม่ได้มีการจัดทริปท่องเที่ยวแบบจริงจัง

หลายคนจึงมาเที่ยวบางกะเจ้าแค่บางสถานที่ที่คนรีวิวกันว่าดี เช่น เดินตลาด ไปคาเฟ่ บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่าบางกะเจ้าเป็นแค่สวนสาธารณะที่มาปั่นจักรยานได้ ทั้งที่ความจริงแล้วคุ้งบางกะเจ้ามีเสน่ห์อีกมากมายรอให้ผู้คนมาสัมผัส

“เราว่าเสน่ห์ของที่นี่คือเรื่องของผู้คนในพื้นที่ เพราะคุ้งบางกะเจ้ามีลักษณะเป็นเกาะเล็กๆ ที่พอข้ามแม่น้ําไปก็เป็นกรุงเทพฯ แล้ว วิถีชีวิตของคนในเกาะคือเขาจะรู้จักกันหมดเลย ตั้งแต่หน้าเกาะไปถึงท้ายเกาะ ชาวบ้านแต่ละคนก็ใจดีและเป็นมิตรมากๆ

“อีกอย่างคือเรื่องบรรยากาศ บางกะเจ้าเคยได้รับรางวัลพื้นที่ที่โอโซนดีที่สุดในเอเชีย และเป็นเขตอนุรักษ์ ที่ไม่สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์เพิ่มเติมได้แล้ว ทำให้ชุมชนของเราเต็มไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม”

ถึงนักท่องเที่ยวจะเรียกที่นี่ว่าบางกะเจ้า แต่ชื่อเต็มๆ คือ ‘คุ้งบางกะเจ้า’ และเมษามักจะแนะนำให้คนรู้จักบ้านเกิดของเธอด้วยสโลแกนว่า ‘บางกะเจ้ามาได้เลยไม่ต้องรอ’ สื่อถึงคำว่าบางกะเจ้า ต้องสะกดว่า กะ แบบไม่มี รอเรือ แต่ถ้าสะกดเป็นคำว่า กระ มันจะพาคุณไปโผล่ที่ตําบลบางกระเจ้า ในจังหวัดสมุทรสาคร แทนที่จะมาคุ้งบางกะเจ้า ในจังหวัดสมุทรปราการ

และอีกความหมายคือเธอต้องการบอกกับทุกคน ว่าสามารถมาเที่ยวบางกะเจ้าได้เลยไม่ต้องรอ มาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ในแต่เดือนก็จะมีกิจกรรมให้ทำแตกต่างกัน แต่สัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของบางกะเจ้าได้อย่างแน่นอน

(โซน) (ปอด) (ไพร) สำหรับทุกคน

โจทย์ของเมษาที่พัฒนาร่วมกันกับนัสและแพรว คือพวกเขาอยากให้คนได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนบางกะเจ้ามากยิ่งขึ้น จึงจัดทำแคมเปญที่ชื่อว่า (โซน) (ปอด) (ไพร) สื่อถึงการที่อยากให้บางกะเจ้าเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของทุกคน เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่มาเมื่อไหร่ก็สบายใจ

แต่ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าพวกเขาไม่ได้เขียนคำว่าโซนปลอดภัยแบบตรงๆ ตัว แต่เล่นคำให้สื่อถึงอัตลักษณ์ความเป็นบางกะเจ้าด้วย

คำว่า ‘โซน’ ที่สื่อถึงการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและการเป็นแหล่งโอโซนที่ดีที่สุดในเอเชีย

คำว่า ‘ปอด’ มาจากฉายาปอดของกรุงเทพฯ และคล้องกับคำว่าปลอดภัย

คำว่า ‘ไพร’ ก็มาจากป่าดงพงไพร ที่เป็นธรรมชาติในคุ้งบางกะเจ้า แล้วคล้องกับคำว่าปลอดภัยเช่นกัน

ส่วนกิจกรรมในแคมเปญนี้ก็เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากการทำเพจในช่วงแรก นั่นก็คือการจัดทริปท่องเที่ยววิถีชุมชนและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผ่านกิมมิกสุดเก๋ ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

“เรามีไอเดียจากความสนใจของตัวเองและเพื่อนๆ ที่มีทั้งคนเป็นอินโทรเวิร์ตและเอกซ์โทรเวิร์ต แต่มีความสนใจที่เหมือนกันคือชอบค้นหาตัวตนของตัวเอง ผ่านการเล่นเกมทายใจ ว่าเรามีบุคลิกเป็นแบบไหน และก็ชอบทำความรู้จักคนใหม่ๆ ผ่านการเล่นแอพฯ หาเพื่อน” เมษากล่าว

ก่อนที่นัสจะเล่าเสริมว่า “ทริปที่เราชวนเที่ยวก็จะลิงก์กับเกมทายใจอีกทีนึง เราอยากให้คนมาร่วมเล่นเกมทายใจว่าตัวเองเป็นคนประเภทไหน และจะนําเสนอเป็นทริปคู่หูพาไปเที่ยวด้วยกันตามแต่ละรูตทั้ง 4 เส้นทาง ซึ่ง (โซน) (ปอด) (ไพร) ก็จะเป็นแคมเปญที่ครอบคลุมทั้งทริปและก็ตัวเกมทายใจ”

เที่ยวไปกับมาสคอตสัตว์ในคุ้งบางกะเจ้า

เกมทายใจของพวกเขายังแฝงเสน่ห์ความเป็นบางกะเจ้าได้แบบแนบเนียน ด้วยการหยิบคาแร็กเตอร์สัตว์หลากชนิดที่อาศัยอยู่ในคุ้งบางกะเจ้า มาออกแบบเป็นมาสคอตสุดน่ารัก และในเกมก็จะเฉลยว่าตัวตนของคุณเป็นแบบไหน ตรงกับมาสคอตสัตว์ตัวไหน เหมาะกับการเที่ยวสถานที่ไหนในคุ้งบางกะเจ้าบ้าง

“คำถามในเกมเราคิดจากการทำ persona ว่าคนลักษะแบบนี้ น่าจะตอบแบบนี้ ไม่ได้อิงตามหลักวิชาการตายตัว แต่ยึดจากนิสัยของคนใกล้ตัวมากกว่า ในแต่ละข้อก็จะมีคำตอบให้เลือก 8 ชอยส์ และจะได้คำตอบว่าเราแมตช์กับคาแร็กเตอร์สัตว์ตัวไหน

“ในเกมทายใจก็จะเล่าแบบ storytelling เราคิดเนื้อเรื่องเป็นคนที่ทำงานหนักและกำลังจะเดินทางกลับบ้าน แต่ดันหลงเข้ามาในสถานที่ที่ไม่รู้จัก เหมือนหลุดมาอยู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งสถานที่แห่งนั้นคือบางกะเจ้า แล้วจะมีให้เลือกว่าเราอยากปั่นจักรยานแบบไหนชมที่แห่งนี้ ไปทำความรู้จักกับใคร ตอนสุดท้ายเราจะให้เขาระบายความในใจและมีข้อความปลอบประโลมเขา ให้เขารู้สึกว่าที่นี่คือโซนปลอดภัยจริงๆ

“ตอนท้ายเกมก็จะบอกว่าคุณเป็นนักท่องเที่ยวสายไหน จะมีทั้งหมด 4 สาย คือสายชิลล์ไม่รีบร้อน เหมาะกับการไปเที่ยวคาเฟ่ มาสคอตสัตว์ที่คู่กับคนสายนี้จะเป็นตัวนากกับตัวเงินตัวทอง ด้วยนิสัยเขาจะสบายๆ ว่ายน้ำไปเรื่อยๆ

“และมีสายวัฒนธรรม เหมาะกับไปท่องเที่ยวดูวิถีชีวิตคนในชุมชน ที่นี่มีวัฒนธรรมมอญให้ศึกษาด้วย มาสคอตสัตว์ที่ได้ก็จะเป็นเต่ากับกระรอก ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่คู่บางกระเจ้ามานาน พบเห็นได้บ่อย แบบหันไปทางไหนก็เจอ

“สายคอนเทนต์คอนใจ เหมาะกับไปหาที่ส่องสัตว์ ทำกิจกรรมเวิร์กช็อป ก็จะแมตช์กับหิ่งห้อยและนกกระเต็นอกขาว เป็นสัตว์ที่ต้องไปตามหาดูในสถานที่ที่เขาอยู่จริงๆ อย่างหิ่งห้อยจะอยู่ที่ลำพูบางกะสอบ ตรงแถวต้นลำพูอายุ 100 ปี นกกะเต็นอกขาวก็จะเจอได้แถวสวนสาธารณะที่เป็นสวนศรีนครเขื่อนขันธ์

“สุดท้ายสายลุยถึงไหนถึงกัน เหมาะกับทำกิจกรรมแบบลงน้ำ ขึ้นบก พายเรือ ปั่นจักรยาน ก็จะตรงกับหมาวัดและปลาเสือพ่นน้ำ ที่ต้องเป็นหมาวัดเพราะในเกาะนี้มีถึง 9 วัด สามารถมาทำทริปไหว้พระ 9 วัดได้เลย และนักท่องเที่ยวก็ชอบมาดูปลาเสือพ่นน้ำจับแมลง สัตว์ 2 ชนิดนี้ชอบอยู่กันเป็นฝูง และดูเป็นสัตว์ที่มีนิสัยลุยๆ”

เมษาเล่าให้เราฟังถึงความน่าสนใจของการท่องเที่ยว 4 แบบ 4 สไตล์ที่นำมาแมตช์กับบุคลิคสัตว์ทั้ง 8 ชนิด ก่อนที่แพรวจะรับไม้ต่อนำมาออกแบบเป็นมาสคอตสุดน่ารัก

“ตอนแรกเราได้บรีฟมาจากเมษากับนัส ว่านิสัยสัตว์แต่ละตัวเป็นยังไง ลายเส้นช่วงแรกจะออกเป็นแนวฝีแปรงหน่อย ให้ดูมีความแฮนด์เมด แต่ที่เปลี่ยนมาเป็นลายเส้นนี้มีการตัดสีดำรอบตัวมาสคอต เพราะเป็นลายเส้นที่น่ารัก ดูเข้าถึงง่าย และง่ายตอนเอาไปใช้ทำงานจริง ถ้าตอนไหนแพรวไม่ว่าง เมษาก็ยังเอาไปทำงานต่อได้

“สีที่เราใช้ก็จะแมตช์ให้เข้าคู่กัน ให้รู้ว่าเขามีนิสัยคล้ายกันเป็นสายเที่ยวสไตล์เดียวกัน เช่น หมาวัดกับปลาเสือพ่นน้ำ ก็จะใช้โทนสีครีมกับฟ้าเหมือนกัน แม้แต่ท่าทางของเขาที่มีการถือกล้อง ถือกระเป๋า เราก็เอามาจากตอนรีเสิร์ชว่ามันเป็นของที่ลิงก์กับนิสัยของสัตว์เหล่านั้น”

ก่อนที่เมษาจะเล่าให้เราฟังว่า “ในอนาคตเราคุยกับทางชุมชนไว้ว่าอยากเอามาสคอตไปต่อยอดทำเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว เช่น แก้วน้ำ เสื้อยืด โมเดลที่เป็นกล่องสุ่ม น่าจะทำให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ง่าย”

สุขคนถิ่น ฟินคนเที่ยว

“ก่อนที่เราจะมาทำแคมเปญ (โซน) (ปอด) (ไพร) มันคาดเดาไม่ได้เลยว่านักท่องเที่ยวจะมาทำกิจกรรมอะไร มีรายได้เข้าชุมชนเท่าไหร่ แล้วรายได้จะไปกระจุกตัวอยู่แค่บางกิจกรรมที่คนรู้จัก เช่น ปั่นจักรยาน แต่พอเรามีการให้เล่นเกมทายใจ ให้มาเที่ยวตามรอยทริป 4 สายที่เราจัดไว้ เราก็จะพอคาดเดารายได้ในแต่ละวัน แล้วรายได้นั้นก็จะกระจายอย่างทั่วถึงไปทั้ง 6 ตำบลในคุ้งบางกะเจ้า

“นอกจากนี้เรายังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปแบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ๆ คือกิจกรรม CSR และกิจกรรมชุมชน ในส่วนของ CSR ด้วยความที่เราเป็นพื้นที่อนุรักษ์ก็จะมีการสอนเพาะต้นกล้า แล้วนำไปปลูกในแต่ละชุมชน และเรายังมีการบริหารจัดการขยะที่ดี มีการรีไซเคิลขวดพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เลยเกิดเป็นกิจกรรมเพนต์ถุงผ้าที่ได้มาจากเส้นใยขวดพลาสติก ร้อยลูกปัดที่รีไซเคิลจากฝาขวดน้ำ เพนต์กระถางต้นไม้จากที่รีไซเคิลขยะในแม่น้ำ

ส่วนกิจกรรมชุนชนก็จะมีหลากหลายมาก ตั้งแต่ทำขนม ทำงานประดิดประดอย ย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ หรือกิจกรรมลุยๆ ก็มี พวกพายเรือ ปั่นจักรยาน

“คนที่มาเที่ยวเดี๋ยวนี้ก็มีทั้งจองทำกิจกรรมกับเราแบบเต็มวัน ก็จะได้ทำประมาณ 3 กิจกรรม มีอาหารท้องถิ่นรวมอยู่ในทริป ถ้าใครจะมาแบบนี้ต้องจองล่วงหน้า 7-15 วัน หรือบางคนก็มาเที่ยวด้วยตัวเอง แล้วจองทำแค่บางกิจกรรมที่สนใจก็ได้ แบบนี้ก็จองล่วงหน้าแค่ 3 วัน” เมษากล่าว

ก่อนที่นัสจะเล่าทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า “การที่เราทำท่องเที่ยวชุมชน มันเหมือนช่วยให้เด็กในชุมชนเห็นคุณค่าของบ้านเกิดมากขึ้น ไม่รู้ว่าที่พูดไปมันดูโบราณไปไหมนะ (หัวเราะ) แต่เราคิดแบบนั้นจริงๆ เราอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็กก็ชินกับภาพที่เห็นไปแล้ว แต่พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วเขาตื่นเต้นกับที่นี่ เหมือนเขาชอบที่นี่ เราก็อยากจะนำเสนอของดีในชุมชนเราให้คนรู้จักมากขึ้นไปอีก”

เบื้องหลังแคมเปญ (โซน) (ปอด) (ไพร) ที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวคุ้งบางกะเจ้า เกิดจากโครงการ ‘CHANGEx2: Greater Together ผนึกกําลังสุดครีเอต อัปเกรดธุรกิจโลคัล’ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่ให้คำแนะนำผู้ประกอบการและครีเอเตอร์ในการพัฒนาสินค้าร่วมกัน ทำให้ได้รับทักษะเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญในส่วนธุรกิจและการตลาด การทำการตลาดดิจิทัล การวางแผนทำคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย การทำพีอาร์ การคำนวณต้นทุน อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำด้านการจัดทำเกมทายใจและออกแบบมาสคอตสัตว์ให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในคุ้งบางกะเจ้าที่นักท่องเที่ยวหลงรัก

บางกะเจ้า Bangkachao

Writer

นักเขียนที่อยากเปลี่ยนเรื่องธุรกิจให้เป็นเรื่องสนุก และมีแมวกับกาแฟช่วยฮีลใจในทุกวัน

You Might Also Like