พุดดิ้ง No.8
‘ปา เฮ่า เถียน มี่’ ร้านขนมหวานในบ้านเลขที่ 8 ที่แปลงร่างมาจากบาร์จีนคอนเซปต์โรงเตี๊ยมย่านเยาวราช
ถนนเยาวราชในความทรงจำ
เถี่ยน มี่ หมี่ หนี่ เซียว เต่อ เทียน มี่ มี่
เฮา เซียง ฮัว เอ๊อ ไค ไจ ชุน เฝิ่ง ลี
ไข่ ไจ ชุน เฟิ่ง ลี…
ถึงแม้ว่าเจ้าของเสียงหวานกังวานใสที่ขับขานเพลงนี้ อย่าง เติ้ง ลี่จวิน จะลาจากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี 1995 แต่สำหรับพี่น้องเชื้อสายจีนทั่วโลก เพลง เถียนมี่มี่ ยังคงก้องดังอยู่ในใจพวกเขาอยู่เสมอทุกครั้งที่นึกถึงเพลงนี้ ไม่มีเทคโนโลยีออโต้จูนหรือปรับเสียงร้องใดจะเทียบเท่าความไพเราะของเสียงต้นฉบับจากเติ้ง ลี่จวิน ได้
ย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ถ้าคุณได้ไปเที่ยวชมหรือเที่ยวชิมของอร่อยย่านเยาวราช คุณจะเห็นภาพพ่อค้าแม่ค้าตั้งแผงขายเทป อยู่หลายเจ้าตลอดสองฝั่งถนน ทั้งตรงหน้าโรงหนังเทียนกัวเทียน หน้าซอยแปลงนาม หรือแผงเทปที่ตั้งอยู่เยื้องๆ ห้างคาเธ่ย์ แสงไฟที่ส่องสว่างจากป้ายร้านขายทองผนวกเข้ากับเสียงขับร้องของ เติ้ง ลี่จวิน จากลำโพงของร้านขายเทปตลอดทางของถนนเยาวราช อาจทำให้บางครั้งคุณต้องเผลอหยิกเนื้อตัวเองให้ตื่นจากภวังค์ที่เคลิ้มไปว่า “ฉันกำลังอยู่ในเมืองจีน (หรือฮ่องกง หรือไต้หวัน) หรือเปล่านี่”
สำหรับคนที่เติบโตมาจากย่านเยาวราชอย่างตัวผู้เขียนเอง หรือจากมิตรสหายที่ต่างแวะเวียนมาที่เยาวราชเพื่อจับจ่ายเครื่องเทศสมุนไพรจีนที่ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ มาไหว้เจ้าที่ศาลเจ้าเล่งเน่ยยี่ หรือมาเดินช้อปปิ้งที่สำเพ็ง ถึงแม้จะไม่ได้มาเท่าทันเวลาเมื่อหลายสิบปีก่อนสมัยที่กิจการร้านขายเทปยังเฟื่องฟู แต่เสียงร้องเพลง เถียนมี่มี่ ของเติ้ง ลี่จวิน ยังคงวนเวียนอยู่ในใจเสมอทุกครั้งที่คิดถึงเยาวราช เราอาจอธิบายถึงมันได้ว่า มันคือความรู้สึกร่วมของเหล่าชาวลูกหลานเชื้อสายจีน
และอาจจะรวมไปถึงหุ้นส่วนทั้ง 6 คน ของร้านปา เฮ่า เถียน มี่ ด้วย (Ba Hao Tian Mi)
ถ้าจะเปรียบเทียบจอมยุทธของแต่ละสำนักที่ถนัดในการใช้อาวุธที่แตกต่างกัน บางสำนักอาจมีดีที่เพลงดาบ บางสำนักอาจเก่งกาจที่เพลงกระบี่ คงอุปมาได้กับหุ้นส่วนทั้ง 6 คน ของปา เฮ่า เถียน มี่ ที่มีดีและเก่งกาจกันไปในคนละทาง ทั้ง 6 คนจึงแยกย้ายกันดูแลเรื่องที่แตกต่างกันภายใต้กิจการปา เฮ่า เถียน มี่
จอมยุทธทั้ง 6 คนที่มาร่วมหุ้นเปิดกิจการด้วยกัน ประกอบไปด้วย ทอพ–ธนพลพจน์ โรจน์ณัฐกุล ดูแลการออกแบบร้าน การตลาดและภาพรวมของกิจการ, เก๋–ฑิฆัมพร ชื่นกิตติวรวัฒน์ คิดค้นและออกแบบเมนูอาหาร ขนม ทั้งหมด, บัว–กานต์ชนิต เจริญยศ ดูแลเรื่องการจัดการงานหน้าร้านของทุกสาขา, โน้ต–ชินธันย์ คล้ำจีนภาณุวงศ์ ดูแลเรื่องการจัดการงานหน้าร้านปา เฮ่า (Ba Hao Nana) จัดการเลือกเพลย์ลิสต์ให้ร้าน รวมถึงงานซ่อมบำรุงต่างๆ, ภูมิ สมบูรณ์กุลวุฒิ ดูและเรื่องเว็บไซต์และระบบไอที และ จิม–เอกฤทธิ์ ปัทมสัตยาสนธิ นักลงทุนคนสำคัญของร้าน
แต่กว่าจะกลายมาเป็น ‘ปา เฮ่า เถียน มี่’ ร้านขายขนมหวานที่มีพุดดิ้งเป็นสินค้าเด็ดชูโรง (และตอนนี้เริ่มขายอาหารคาวแล้ว) ในวันนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าพวกเขาทั้ง 6 คน ต้องผ่านอะไรมาบ้าง แล้วพวกเขาแอบฮัมและคิดถึงเพลง เถียนมี่มี่ ตอนตั้งชื่อร้านด้วยหรือเปล่า
โรงเตี๊ยม ‘ปา เฮ่า’
เรื่องราวทั้งหมดของ ‘ปา เฮ่า เถียน มี่’ เริ่มต้นขึ้นจาก ร้าน ‘ปา เฮ่า (Ba Hao)’ กิจการภายใต้คอนเซปต์ ‘โรงเตี๊ยม’ ในซอยนานา ย่านเยาวราช ที่ใช้พื้นที่ด้านล่างเป็นบาร์ที่ตกแต่งแบบจีนร่วมสมัย และพื้นที่ชั้นบนเป็นห้องพักให้เช่าแบบ Airbnb
“เริ่มต้นจากหุ้นส่วนของเราคนหนึ่งเดินมาเจอพื้นที่ตรงนี้ พวกเราเลยคุยกัน (ในหมู่เพื่อน) ว่า เราจะทำอะไรกับมันดี จนสุดท้ายพัฒนามาเป็นพื้นที่ที่ใช้สอยด้านล่างเป็นบาร์ และด้านบนเป็นที่พัก คอนเซปต์แบบโรงเตี๊ยมน่ะครับ”
ทอพเริ่มเล่าให้ฟังถึงที่มาของร้านปา เฮ่า ก่อนที่จะพัฒนาเดินหน้าจากคอนเซปต์โรงเตี๊ยมมาขายเครื่องดื่มและของกินเล่นจนคนยืนออแน่นหน้าร้าน
จากย่านที่ตั้งที่อยู่บนพื้นผิวของย่านเยาวราช ประกอบกับความผูกพันกับวัฒนธรรมจีนของหุ้นส่วนแต่ละคน เมื่อต้องคิดถึงชื่อของโรงเตี๊ยมแห่งนี้ ชื่อที่ลิสต์กันมามากมายหลายชื่อ จึงมาสรุปโหวตที่ชื่อว่า
‘ปา เฮ่า’ หรือในภาษาอังกฤษแปลว่า ‘No.8’ และในภาษาไทยคือ ‘หมายเลข 8’
ในช่วงขวบปีแรกที่เปิด ทีมงานโดยเพื่อนฝูงที่รักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนทั้ง 6 คน ต่างพากันระดมไอเดียและสรรพกำลังที่แต่ละคนมีเพื่อช่วยกันบริหารและก่อร่างสร้างโรงเตี๊ยมนี้ขึ้นมาจนสำเร็จ
โรงเตี๊ยมร่ำสุราหมายเลข 8
ด้วยคอนเซปต์โรงเตี๊ยมที่พวกเราอาจคุ้นตาจากฉากหนังจีนกำลังภายในที่เหล่าจอมยุทธเรียกหาเสี่ยวเอ้อเพื่อสั่งกับแกล้มพลางร่ำสุรา หุ้นส่วนทั้ง 6 จากร้านปา เฮ่า จึงไปเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการคิดค้นเครื่องดื่มมาเพื่อสร้างสูตรผสมที่ลงตัวสำหรับโรงเตี๊ยมปา เฮ่าแห่งนี้
“เก๋เองคิดสูตรอาหารและสูตรขนมค่ะ” คุณเก๋พูดแนะนำตัวระหว่างที่เราสนทนากัน
พลางคุณทอพก็ช่วยเสริมว่า “ในตอนนั้นเราต้องจ้างคนที่เขาทำเครื่องดื่มเป็นมาช่วยเราออกแบบ ดีไซน์เครื่องดื่มที่ใช้ในร้านครับ แล้วตอนเปิดร้านพวกเราทั้งหมดทุกคนก็เป็นพนักงานกันเองนี่แหละครับ ดูแลทุกอย่างในร้าน เราช่วยกัน”
“ส่วนบัวจะดูโอเปอเรชั่นในร้านค่ะ ตอนนั้นเราเริ่มที่ปา เฮ่า แต่ตอนนี้บัวก็ดูทั้งปา เฮ่า และปา เฮ่า เถียน มี่ ด้วย” คุณบัวพูดปิดท้ายถึงหน้าที่ของเธอที่ต้องดูแลระบบการบริหารงานลูกน้องที่ต้องบริการทั้งแขกที่มาพักและแขกที่มาเป็นลูกค้าร้านอาหาร
อย่างที่บอกว่าปา เฮ่ามีลูกค้าแน่นเอี้ยดจนต้องยืนรออยู่หน้าร้านด้วยคอนเซปต์จีนร่วมสมัย หรือจะใช้คำว่า ‘จีนเท่’ ก็คงจะไม่ผิดนักสำหรับร้านปา เฮ่า แต่ถึงจะเป็นโรงเตี๊ยมที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่กลับกลายเป็นว่า หนึ่งในเมนูที่ขายดีของร้านคือ ‘พุดดิ้ง’ ถ้าถามว่าขายดีขนาดไหนก็คงจะต้องตอบว่า ขายดีขนาดที่คุณเก๋ คุณทอพ และคุณบัว ทั้งสามคนต่างประสานเสียงตอบไปในทิศทางเดียวกัน
“แม้ปา เฮ่าจะเป็นบาร์ แต่มีลูกค้าโทรมาเพื่อสั่งจองพุดดิ้ง”
ฤาสวรรค์จะมีบัญชาให้เราได้เห็นคนยืนกินพุดดิ้งหน้าร้าน
ถ้าเชื่อเรื่องฟ้าลิขิต เราอาจจะต้องเชื่อว่าโชคชะตาที่นำพาให้หุ้นส่วนในร้านมองเห็น ฉากลูกค้ายืนถือชามกระเบื้องลายจีนแล้วยืนกินพุดดิ้งอยู่หน้าร้าน
ในวันที่ลูกค้าแน่นขนัดจนไม่สามารถมีลูกค้าเข้าไปนั่งกินดื่มได้ ต้องยืนรอคิวอยู่หน้าร้าน แต่ความหอมอร่อยของพุดดิ้งจาก ‘ปา เฮ่า’ ทรงพลังมากถึงขนาดที่ลูกค้าที่ยืนรอหน้าร้านยอมยืนกินแบบไม่มีที่นั่ง เพื่อที่จะได้กินของอร่อยจากโรงเตี๊ยมแห่งนี้
เมื่อกิจการปา เฮ่าดูท่าว่าจะไปได้สวย การขยายกิจการของหุ้นส่วนทั้ง 6 จึงดำเนินมาถึงจุดที่ต้องหาสถานที่ใหม่ในการขยายสาขา และเป็นอีกครั้งที่โชคชะตานำพาให้พวกเขามาเจอบ้านหมายเลขที่ 8 ใน ซอยผดุงด้าว หรือที่คนแถบเยาวราชนิยมเรียกกันว่า ‘ซอยเท็กซัส’ เพราะมีร้านสุกี้เท็กซัสตั้งอยู่)
การก่อร่างสร้างสาขาที่ 2 ของ ‘ปา เฮ่า’ จึงเริ่มขึ้นที่นี่ แต่เมื่อเขยิบมาอยู่ย่านถนนเยาวราชที่ครึกครื้นทั้งกลางวันและกลางคืน พวกเขาจึงคิดว่า ถ้าอย่างนั้นควรจะหาของที่ทีมงานหรือหุ้นส่วนพัฒนาได้เองและเป็นของขายดีของร้านอยู่แล้วมาเป็นตัวชูโรง จึงลงตัวเป็นคอนเซปต์ที่ว่า ร้านสาขาที่ 2 นี้ พวกเขาจะขายขนมหวานโดยมีพุดดิ้งเป็นพระเอกของร้าน
แต่การจะเอาชื่อปา เฮ่ามาอย่างเดียวโดยไม่ต่อท้ายหรือดัดแปลงชื่อเลย คนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นร้านที่ขายสินค้าชนิดเดียวกันทั้งหมด หุ้นส่วนทั้งหมดจึงต้องเข้าที่ประชุมกันอีกครั้งเพื่อโหวตว่าจะใช้ชื่ออะไรดีสำหรับสาขาที่ 2 ในซอยเท็กซัส ว่าแล้วก็มาลงตัวที่ชื่อ
‘ปา เฮ่า เถียน มี่’
‘เถียน มี่’ หวานปานน้ำผึ้ง
“ถ้าเรามาเยาวราชเราก็ต้องคิดถึงเพลง เถียนมี่มี่ คิดถึงเติ้ง ลี่จวิน อยู่แล้ว และคำว่า ‘เถียน มี่’ ก็แปลว่าหวานปานน้ำผึ้งด้วย แล้วเราจะขายขนมหวานพอดี” คุณเก๋อธิบายถึงที่มาของร้าน ระหว่างนั้นคุณทอพจึงพูดต่อประเด็นจากเพื่อนว่า “เราเลยเอาคำว่าเถียน มี่ มาต่อกับคำว่า ปา เฮ่า เป็น ปา เฮ่า เถียน มี่ ครับ”
จะขนมพุดดิ้งที่ใส่ในชามกระเบื้องหรือเมนูไหนๆ ที่ขายในร้านทั้งปา เฮ่า เถียน มี่ และปา เฮ่า ต่างเกิดมาจากการสรรค์สร้างสูตรจากคุณเก๋ หนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน โดยคุณเก๋เล่าเอาไว้ว่า “เราอยากเอาวัตถุดิบที่อยู่แถวๆ นั้น ในย่านเยาวราช เอามาทำเป็นเมนู เช่นพวกเก๋ากี้ เราก็เอามาทำเป็นน้ำเชื่อมใส่ในพุดดิ้ง หรืออย่างใบชา เราก็เอามาใส่ในเครื่องดื่ม น้ำส้มจี๊ด อย่างงี้ก็ขายดีนะคะ หรืออย่างกานาฉ่ายเราก็เอามาดัดแปลงทำเป็นครีมกินกับสลัดหรือทากับขนมปัง”
จึงไม่น่าแปลกใจที่อาหารและขนมของปา เฮ่า เถียน มี่ จะเป็นที่ติดอกติดใจลูกค้าทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ด้วยการผสมผสานเอาวัตถุดิบท้องถิ่นที่หาได้ในเยาวราชมาทำเป็นอาหารและขนมจนเป็นร้านที่มีเอกลักษณ์จีนแบบร่วมสมัย หรือลูกชาวจีนเลือดใหม่ จนปัจจุบันนี้ปา เฮ่า เถียน มี่ แผ่ขยายความอร่อยไปไกลจากเยาวราช โดยมีหลากหลายสาขาทั่วกรุงเทพฯ ทั้งที่ทองหล่อ, ลิตเติ้ลวอล์ค บางนา และเดอะเซอร์เคิล ราชพฤกษ์
ประสบการณ์ให้คำชี้แนะแก่เหล่าหุ้นส่วนปา เฮ่า เถียน มี่
“ช่วงโควิดที่ผ่านมา รายได้จากสาขาบางนาที่เน้นเดลิเวอรีนี่ถือว่ามาหล่อเลี้ยงสาขาอื่นๆ เลยครับ ถือเป็นบทเรียนให้กับเรา จริงๆ เป็นความโชคดีของเราด้วยครับที่เราคิดเรื่องการทำปา เฮ่า เถียน มี่ ให้มีสาขาที่เน้นแต่เดลิเวอรีไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว พอโควิดมาเราเลยผ่านมาได้ครับ”
คุณทอพพูดถึงศึกหนักอย่างโควิดที่ไม่ได้ปรานีใครหน้าไหนทั้งนั้นในวงการธุรกิจ รวมถึงร้านปา เฮ่า เถียน มี่ด้วย
“ตอนนั้นเราประชุมกันทุกวัน แก้สถานการณ์กันทุกวันว่าจะทำยังไงดี เราก็สู้ชีวิตกันนะ แต่ชีวิตก็สู้เรากลับ (หัวเราะ) แต่เราก็ผ่านมาได้ค่ะ”
คุณบัวพูดด้วยสีหน้าอารมณ์ดีจากการได้กอดคอเพื่อนรักทั้ง 5 ผ่านการประลองระหว่างปา เฮ่า เถียน มี่ กับโควิด-19 มา
ส่วนในเรื่องบทเรียนที่ได้รับจากการทำธุรกิจทั้ง Airbnb ร้านขนม และบาร์จีน หุ้นส่วนของปา เฮ่า เถียน มี่ ทั้งคุณเก๋ คุณบัว และคุณทอพต่างพูดไปในทางเดียวกันว่า “ต้องเรียนรู้ที่จะตื่นตัวและปรับตัวอยู่เสมอ”
ถึงแม้ว่าแผงร้านขายเทปจะไม่ได้อยู่คู่ถนนเยาวราชเพื่อเปิดเพลงหวานผ่านสุ้มเสียงอ่อนหวานปานน้ำผึ้ง ในบทเพลง เถียนมี่มี่ ของเติ้ง ลี่จวิน อีกต่อไป แต่กลับมีนิยามใหม่ของความหวานปานน้ำผึ้ง ปรากฏอยู่บนถนนเยาวราช
นั่นคือร้านของหวานหมายเลข 8 นามว่า
ปา เฮ่า เถียน มี่
ฟังในรูปแบบพ็อดแคสต์ได้ที่
YouTube : youtu.be/wFwDbg8J5VM
Spotify : spoti.fi/3M5AQuT
Apple Podcasts : apple.co/3t7HREI