work / live / balance

“หยุดพัฒนาคือความเสี่ยงที่สุด” เส้นทางการไลฟ์จาก 0 ถึง 22 ล้านบาทของ ‘ตี๋โอ’ แห่งอาตี๋ รีวิว

‘คนไทยคนแรก ที่ไลฟ์ขายของออนไลน์หนึ่งครั้ง แล้วทำยอดขายแตะ 8 หลัก’

เอาแค่กิตติศัพท์ข้างต้นก็เชื่อว่าน่าจะทำให้ ตี๋โอ–วุฒิพงษ์ ลิขิตชีวัน แห่งช่องอาตี๋ รีวิวได้รับฉายาว่าเป็น ‘ราชานักไลฟ์เมืองไทย’ ได้แล้ว เพราะหลังจากที่วันที่ 9 เดือน 9 ที่เขาไลฟ์ขายของในแพลตฟอร์ม TikTok ติดกัน 17 ชั่วโมง ยอดขายทั้งหมดของการไลฟ์ครั้งนั้นจบที่ 22 ล้านบาท เกิดเป็นตำนานบทใหม่ในโลกออนไลน์ และยังสร้างแรงบันดาลใจให้อีกหลายคนหยิบโทรศัพท์มาไลฟ์สร้างรายได้ให้กับตัวเองบ้าง

แต่รู้ไหมว่าหลังจากนั้นเมื่อกระแสซาไป ตี๋โอยังทดสอบกับตัวเองด้วยว่าการไลฟ์ในวันที่ 9.9 ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ โดยการทำยอดขายแตะตัวเลข 8 หลักอีกครั้งและอีกครั้ง จนพิสูจน์ได้ว่านี่คือวิธีการที่ได้ผล นำมาสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบัน ที่เขาพยายามบอกเล่าและแนะนำเคล็ดลับการไลฟ์แก่ผู้คนที่สนใจอย่างสม่ำเสมอ

แต่ท่ามกลางความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้เอง ที่ทำให้เราเกิดข้อสงสัย ว่าอะไรที่ทำให้ผู้ชายคนหนึ่งจากจังหวัดเชียงใหม่ ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในโลกออนไลน์ได้, แนวคิดไหนที่ทำให้ตี๋โอพายอดขายช่องอาตี๋ รีวิวไปแตะ 8 หลัก และท่ามกลางโลกออนไลน์ที่หมุนผ่านไปอย่างเร็วรี่ อะไรคือความเสี่ยงที่สุดในมุมของราชานักไลฟ์เมืองไทย

เรานั่งลงคุยกันข้างสตูดิโอที่สร้างประวัติศาสตร์ 22 ล้านบาท เพียงแต่ครั้งนี้อาจแตกต่างกับตอนไลฟ์สักหน่อย เพราะตี๋โอไม่ได้พูดด้วยเสียงอันดังเพื่อเชิญชวนคนอีกแล้ว แต่เขากำลังถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองอย่างสุขุมผสมเสียงหัวเราะ ด้วยน้ำเสียงที่อาจเบากว่าเดิม แต่กลับหนักแน่นไปด้วยการพิสูจน์ตัวเองตลอดเส้นทาง

กล้องพร้อม ไฟพร้อม Live

ชีวิตที่ผ่านมาของตี๋โอผ่านตัวอักษรจะเริ่มใน 3 … 2 … 1 …

ก่อนเป็นตี๋โอยอดนักไลฟ์ เด็กชายตี๋โอเป็นเด็กยังไง ชอบเล่นขายของหรือเปล่า

(หัวเราะ) ผมเป็นลูกชายที่เกิดในครอบครัวที่ประกอบอาชีพค้าขายอยู่แล้ว แม่ทำธุรกิจร้านขายจักรยาน ส่วนพ่อทำธุรกิจผลิตเครื่องอบลำไยที่ต้องไปค้าขายกับเกษตรกร ดังนั้นถามว่าชอบเล่นขายของไหม อาจไม่ใช่แบบนั้น แต่ใช้คำว่าผม ‘คุ้นชิน’ กับการขายก็แล้วกัน คือไม่ได้รู้สึกกลัวหรือมองการค้าขายเป็นเรื่องแปลก เพราะได้ช่วยแม่ขายจักรยานหน้าร้านหรือตามคุณพ่อไปขายเครื่องจักรในสวนอยู่บ้างเหมือนกัน

ตอนนั้นสนุกกับการค้าขายไหม

ไม่เลย (ตอบทันที) เพราะด้วยความเป็นเด็ก เราอยากเล่นเกมอยู่บ้านมากกว่า ดังนั้นถามว่าชอบไหม คงตอบว่าไม่ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ประสบการณ์ตรงนั้นให้คือความคุ้นตาว่าการค้าขายทำยังไง

หรืออย่างตอนเลือกคณะเรียนต่อมหาวิทยาลัย ผมเลือกสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่ใช่เพราะว่าเริ่มชอบการค้าขาย แต่มาจากความคิดแค่ว่า ยังไงวันหนึ่งเราก็ต้องมาช่วยธุรกิจของพ่อแม่ ดังนั้นผมแค่เลือกคณะที่ดูเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสักหน่อยก็พอ ตอนเรียนผมเลยสบายๆ คือรักษามาตรฐานไว้ให้ได้ ไม่ต้องได้เกรด 4.00 แต่ต้องไม่ตก เพราะจบมาผมไม่ต้องไปต่อสู้แย่งงานกับใครอยู่ดี 

สุดท้ายผมจบจากคณะเศรษฐศาสตร์มาด้วยเกรดเฉลี่ย 2.00 พอดีเป๊ะครับ (หัวเราะ) ซึ่งก็มาช่วยแม่ทำธุรกิจร้านจักรยานที่บ้านต่อเลย

โลกแห่งการทำงานจริงเป็นยังไงบ้าง

ถ้ามาย้อนคิดจากตอนนี้ ผมว่าโลกแห่งการทำงานของผมตอนนั้นยังไม่ใช่โลกจริงเท่าไหร่ เพราะการทำงานกับธุรกิจของแม่ถือว่าค่อนข้างสบาย แต่ถ้าถามว่าแล้วโลกจริงของผมเกิดขึ้นตอนไหน คงเป็นตอนที่ได้เริ่มมาช่วยงานคุณพ่อมากกว่า

ผมคิดว่าสิ่งที่ตัวเองเจอในตอนนั้นคือเหนือกว่าโลกจริงไปอีกครับ เพราะด้วยความที่พ่อผมเป็นคนจีนที่ตั้งใจและจริงจังกับงานมากๆ สิ่งที่ได้เจอเลยทำให้ผมตึงอยู่บ้าง ยิ่งต่างเจเนอเรชั่นกันด้วย สิ่งที่เราเสนอเลยไม่ได้รับการตอบรับหรือยอมรับเท่าที่ใจคิด ดังนั้นในขณะที่ผมได้เรียนรู้ศาสตร์ธุรกิจครอบครัวในทุกวัน ไฟแห่งความอยากออกมาทำอะไรเป็นของตัวเองก็ค่อยๆ มากขึ้นในทุกวันเช่นกัน

(นิ่งคิด) ซึ่งจนถึงจุดนั้น ผมก็ยังคิดว่าตัวเองไม่ได้ชอบการค้าขายนะ ผมขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความรู้สึกอยากพิสูจน์ตัวเองมากกว่า

ความรู้สึกตรงนั้นออกมาเป็นรูปธรรมยังไง

ผมไปหาสินค้ามาขายเองครับ

ผมใช้ระยะเวลาหลังเลิกงานจากบริษัทคุณพ่อ เอาเคสมือถือที่สั่งจากออนไลน์มาขายที่ตลาดนัดโลตัสคำเที่ยง กิจวัตรในแต่ละวันหลังเลิกจากงานประจำเลยจะเป็นการยกโต๊ะและขนของจากชั้น 4 มาใส่รถ เพื่อรีบขับไปจองล็อกขายเพราะผมไม่ได้มีล็อกประจำ โดยวันไหนได้ล็อกใกล้ประตูทางเข้าก็โชคดีหน่อยเพราะคนเห็นมาก แต่วันไหนได้ที่ไกลก็โชคร้ายหน่อย ขายไม่ได้เลย

ขายไม่ได้

ใช่ครับ เรื่องปกติมาก (ตอบทันที) ถึงจะแบกของเหนื่อยขนาดไหน ขายไม่ได้ก็คือขายไม่ได้ ถึงจะเรียกลูกค้าเสียงดังยังไง ขายไม่ได้ก็คือขายไม่ได้ นี่คือเรื่องปกติ 

ตอนนั้นรู้สึกยังไง เสียใจไหมที่ขายไม่ได้

ผมรู้สึกท้าทายมากกว่า อาจเพราะนิสัยของผมด้วย ที่ชอบทำอะไรใหม่ๆ และทดสอบศักยภาพตัวเอง ผมเลยมองประสบการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องตื่นเต้น ไม่ได้มองเป็นความเหนื่อยยาก คิดแค่ว่า เออ! มา! เดี๋ยวจะลองดู ใช้ตรงนี้เป็นแรงขับภายในในการพิสูจน์อะไรบางอย่างให้พ่อเห็น ดังนั้นถึงจะมีวันที่ขายไม่ได้ หรือวันที่เรียกลูกค้าแล้วเขามองกลับมาด้วยสายตาไม่เป็นมิตร ผมคิดว่าก็ไม่เป็นไรหรอก ทั้งหมดคือการเรียนรู้ทั้งนั้น

แต่ต้องเน้นไว้ว่างานนี้คืองานเสริมสำหรับผมนะ ผมมีงานประจำที่ทำอยู่กับบริษัทของพ่ออยู่แล้ว ดังนั้นผมจึงสามารถเอนจอยและเก็บเกี่ยวกับประสบการณ์ได้อย่างเต็มที่ด้วย

บทเรียนสำคัญที่ได้จากช่วงนั้นคืออะไร

ไม่รู้ว่าเรียกเป็นบทเรียนได้ไหม แต่เอาเป็นสิ่งสำคัญที่ผมได้จากประสบการณ์ครั้งนี้ก็แล้วกัน ที่เชื่อมโยงกับปัจจุบันที่ไลฟ์ขายของอยู่

มีหลายคนมากที่มักมาถามผม ว่าเวลาเริ่มไลฟ์แล้วไม่มีคนดู เริ่มไลฟ์แล้วยังขายไม่ได้ หรือไลฟ์แล้วต้องตะโกนเสียงดัง ผมไม่เหนื่อยใจบ้างเหรอ ซึ่งผมจะย้อนคิดไปถึงช่วงที่ขายของที่ตลาดนัดเสมอเลย ว่านี่คือเรื่องที่โคตรจะปกติ 

เพราะถ้าถามว่าตอนที่ขายของตลาดนัด ผมมีวันขายไม่ได้ไหม แน่นอน มีวันที่คนไม่สนใจไหม ทุกวัน แล้วในทุกครั้งต้องตะโกนขายไหม ใช่ ดังนั้นในตอนนี้ที่ผมเปลี่ยนมาขายผ่านแพลตฟอร์ม ไม่ต้องแบกของแล้ว ขายในห้องแอร์ด้วยซ้ำ มันสบายกว่ากันเยอะ แล้วทำไมผมต้องหยุดด้วยล่ะ ผมคิดแบบนี้นะ ซึ่งในปัจจุบันผมก็ยังคิดแบบนี้อยู่

ทำได้นานไหม แล้วทำไมถึงเลิกทำ

ผมขายอยู่ประมาณ 2-3 เดือนครับ แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ผู้ชายคนหนึ่งมาทักว่าเคสมือถือที่ผมขายอยู่ถูกลิขสิทธิ์หรือเปล่า ผมตอบไปว่าไม่ทราบเหมือนกัน เพราะก็สั่งมาจากออนไลน์อีกที ถึงวันนั้นจะไม่เกิดอะไรขึ้น แต่มันก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผมมาฉุกคิด ว่าที่เขาพูดอาจเป็นจริง เลยไม่ได้ไปขายที่ตลาดนัดอีก และเริ่มมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะพิสูจน์ตัวเอง จนคิดขึ้นมาได้ว่า ไม่เป็นไร ถ้าออฟไลน์ไม่ได้ งั้นเดี๋ยวไปออนไลน์ก็แล้วกัน

ก้าวแรกในโลกออนไลน์เป็นยังไงบ้าง

ผมทำเฟซบุ๊กแฟนเพจก่อนครับ ในยุคที่เพจยังไม่ถูกกดยอดเท่านี้ (หัวเราะ) ตอนนั้นมีแรงบันดาลใจจากเพจ ‘คนอะไรเป็นแฟนหมี’ คือเป็นคอนเทนต์คู่รักที่สามารถสร้างเป็นคอมมิวนิตี้ได้ ผมเอามาประยุกต์เป็นลายเส้นและเรื่องราวของตัวเอง โดยหวังว่าในอนาคตอาจมีคนมาจ้างให้ตัวละครของเราถือสินค้า มองเป็นอีกหนึ่งมิติในการสร้างรายได้ที่น่าลองดู เลยเปิดเพจชื่อ ‘ฮันนี่ที่รัก’ ขึ้นมา

พอมีทักษะการวาดรูปอยู่แล้ว

เปล่า ไม่มีเลย (ตอบทันที) มีแค่ระดับเด็กวาดรูปหลังห้อง แต่การวาดแบบดิจิทัลอาร์ตคือทำไม่เป็น ผมเลยต้องอาศัยช่วงพักกลางวันระหว่างทำงานประจำ ขับรถไปเรียนกับเพื่อนที่เป็น Digital Artist ที่อยู่ใกล้ๆ ออฟฟิศ เรียนหนึ่งชั่วโมงแล้วก็กลับมาทำงานต่อ วนไปเป็นกิจวัตร จนวันหนึ่งที่เริ่มพอทำได้ เลยเริ่มจริงจังกับการทำเพจอย่างที่ตั้งใจไว้

จริงจังที่ว่านี้ คือจริงจังขนาดไหน

(นิ่งคิดนาน) พอมาย้อนคิดดูจากตอนนี้ ผมว่าหลักคิดเรื่องความจริงจังในการทำงาน ที่ผมได้จากช่วงเริ่มต้นทำเพจคือสิ่งสำคัญมากเลยนะ เพราะด้วยสถานการณ์ในตอนนั้น เพจผมไม่ใช่เรื่องใหม่ มีเพจเฟซบุ๊กที่ประสบความสำเร็จอยู่ก่อนแล้วหลายเพจ ดังนั้นผมจึงคิดกับตัวเองได้ว่า ในเมื่อเราเริ่มต้นช้ากว่าเขา เก่งไม่เท่าเขา ก็ต้องขยันกว่าเขา

ก่อนหน้านี้ผมอาจทำข้อนี้ไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองสบายๆ แต่พอถึงจุดที่ต้องสู้ในเส้นทางของตัวเอง ผมรู้สึกว่าต้องขยันแล้ว เพราะถ้าไม่ทำผมคงไม่สามารถพิสูจน์อะไรกับใครได้ เพจผมเลยลงภาพทุกวัน พยายามรักษาวินัยให้ได้สม่ำเสมอ คิดแค่ว่าขอลองดูสักตั้ง มันจะยากสักแค่ไหนกัน โดยให้เวลากับตัวเองไว้ 6 เดือน ทำแบบใส่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าไม่สำเร็จก็จะไม่เสียดายแล้ว

แต่สุดท้ายพอระยะเวลาผ่านไปหนึ่งปีครึ่ง ยอดผู้ติดตามของเพจก็แตะถึงหนึ่งล้านคน รวมถึงสินค้าก็เข้ามาสนับสนุนเพจ จนผมเริ่มมีรายได้อย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ 

แต่อย่างที่เราเห็นกันว่าในปัจจุบันคุณไม่ได้ถูกรู้จักในฐานะเจ้าของเพจ มีอะไรเกิดอะไรขึ้นระหว่างทางหรือเปล่า

เกิดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครับ คือเพจผมโดนแฮ็ก

พอเรื่องเกิดขึ้น มันทำให้ผมฉุกคิดนะ ว่าเอาเข้าจริงทุกอย่างที่เป็นของเรา มันผูกติดอยู่กับแค่โปรดักต์ชิ้นเดียว ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อยู่ดีๆ โปรดักต์ของเราหายวับไปราวกับถูกดีดนิ้วธานอส จากที่เมื่อวานผมคือเจ้าของเพจที่มีผู้ติดตามกว่าล้านคน กลายเป็นว่าพอมาวันนี้ทุกอย่างเหลือเพียงฝุ่น แผนงานที่ให้ไว้กับลูกค้าหายวับ แผนการในการพาคุณพ่อคุณแม่เที่ยวต่างประเทศก็หายวับ ดังนั้นผมปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ ผมมีโปรดักต์เดียวไม่ได้ และถึงแม้สุดท้ายผมจะได้เพจคืนกลับมา ก็มาเจอเรื่องที่แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กลดการเข้าถึงเพจอีก ผมจึงตกตะกอนได้ว่าเราต้องเริ่มมองหาทางเลือกเพิ่มเติมแล้ว และต้องไปอยู่ในหลายแพลตฟอร์มมากกว่านี้ด้วย ผมจึงตัดสินใจกระโดดเข้าไปทำยูทูบ 

ดูเป็นคนละศาสตร์อยู่เหมือนกัน

(พยักหน้า) ผมใช้เวลาอีกกว่าหนึ่งปีในการเรียนรู้ครับ ว่าช่องยูทูบเขาทำกันยังไง ซึ่งถ้าถามในตอนนี้ผมว่าช้าไป ผมมองนานไปนิดนึง ควรมองไปด้วยและลงมือทำไปด้วยมากกว่า 

แต่เอาเป็นว่าหลังจากเรียนรู้จนรู้สึกพร้อม ผมก็เริ่มเปิดช่องของตัวเองขึ้นมา โดยเป็นช่องที่เน้นคอนเทนต์คู่รัก ต่อยอดจากเพจที่ยังคงทำอยู่ เป็นการพาตัวเองออกหน้ากล้องบ้าง ให้คนรู้จักเรามากขึ้น แต่ทำไปได้แป๊บเดียวภรรยาผมก็ตั้งครรภ์ ทำให้จากที่เขาจะช่วยตัดต่อหรืออยู่หน้ากล้องบ้าง เพื่อสุขภาพครรภ์ของภรรยาเราเลยต้องเปลี่ยนแนวทาง 

จุดนี้เองที่ทำให้ผมได้มานั่งคิด ว่าจากสิ่งที่ทำมาทั้งหมด มีอย่างหนึ่งที่สะสมอยู่ในตัวผมท่ามกลางสิ่งที่ทำมาตลอด นั่นคือประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ อุปกรณ์วาดรูป หรืออุปกรณ์ในการถ่ายทำ ตัดต่อวิดีโอ ผมพอมีความรู้มากกว่าคนทั่วไปอยู่บ้าง เลยตัดสินใจเปิดช่องที่เน้นการให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ โดยคลิปแรกคือ ‘วิธีการเลือกฟิล์มไอแพดสำหรับการวาดภาพ’ 

และผมตั้งชื่อช่องว่า ‘อาตี๋ รีวิว’

ช่วงแรกเริ่มของอาตี๋ รีวิวเป็นยังไงบ้าง

ตอนนั้นผมไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำรีวิวด้านอุปกรณ์ครับ มีหลายเจ้าที่เขาอยู่มาก่อนแล้ว อย่างบางเจ้าสั่งสมประสบการณ์ในวงการนี้มาเป็นสิบปีก็มี พร้อมด้วยยอดซับฯ ระดับ 5 แสน, 1แสน หรือหลายหมื่น ดังนั้นในเมื่อเพิ่งเข้ามา ผมเลยยังคงใช้คอนเซปต์เดิม ในเมื่อเราเริ่มต้นช้ากว่าเขา เก่งไม่เท่าเขา ก็ต้องขยันกว่าเขา

เหมือนกับตอนทำเพจครับ คือผมพยายามทำคลิปลงให้ได้ทุกวัน ค่อนข้างโหดอยู่แต่ก็ต้องบริหารจัดการเวลาให้ได้ ยิ่งภรรยาเริ่มท้องแก่ด้วย ผมยิ่งต้องวางแผนให้ดี เช่นเริ่มจ้างคนตัดต่อมาช่วยบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างที่ใจต้องการ ทำให้พอผ่านไปได้สักระยะเวลาหนึ่งทุกอย่างก็เริ่มลงตัวมากขึ้น

จากขายเคสโทรศัพท์ ทำเพจในเฟซบุ๊ก มาสู่ทำช่องในยูทูบ เคยเหนื่อยกับการเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการหารายได้บ้างไหม 

ผมไม่เคยคิดว่านี่คือความเหนื่อยหรือความลำบากนะ ไม่เคยคิดว่าทำไมฉันต้องเปลี่ยนอีกแล้ว กลับกันเสียอีก ผมคิดว่าตัวเอง ‘ต้อง’ เปลี่ยนด้วยซ้ำ เพราะถ้าไม่เปลี่ยน แหล่งรายได้ของเราอาจหายวับไปราวกับดีดนิ้ววันไหนก็ไม่รู้ ดังนั้นเราต้องมีแหล่งรายได้หลายทาง ต้องลงมือทำให้มากขึ้น มันเลยกลายเป็นความตื่นเต้นมากกว่า ว่านี่คือพื้นที่ใหม่ๆ ให้เราได้ลองท้าทายเพื่อพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง

ไม่เหนื่อยที่จะเปลี่ยน

ด้วยความเป็นตัวผมด้วยมั้ง ผมคงเป็นแนวนักผจญภัย ที่พอเจอเหตุการณ์แบบนี้กลับรู้สึกว่าตัวเองมีไฟ ไม่ได้เหนื่อยใจอะไร อีกทั้งถ้าว่ากันถึงประเด็นเรื่องความเสี่ยงในโลกธุรกิจ ผมว่าความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องอย่าง ‘โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว’ หรือ ‘การปรับตัวตามเทคโนโลยี’ หรอก มันไม่ใช่เรื่องแบบนั้นเลย แต่เป็นการหยุดอยู่เฉยๆ นี่แหละ คือความเสี่ยงที่สุดแล้วในมุมของผม

ผลลัพธ์ของการไม่หยุดอยู่เฉยและลงคลิปทุกวันเป็นยังไงบ้าง

ภายใน 10 เดือน ช่องอาตี๋ รีวิวมีผู้ติดตามทะลุหลักแสนคนครับ โดยในเวลานั้นถือเป็นช่องที่เติบโตเร็วเป็นอันดับ 64 ของโลก สปอนเซอร์เริ่มเข้ามาแล้วด้วย เรียกได้ว่าทุกอย่างกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดี

แต่สุดท้ายก็มาเจอจุดเปลี่ยนอีกครั้ง นั่นคือการมาถึงของโควิด-19

จากที่ลูกค้าวางแผนจะสปอนเซอร์เรา วิกฤตโควิด-19 ทำให้แผนการประชาสัมพันธ์ของทุกบริษัทเปลี่ยนแปลงทั้งหมด หลายบริษัทเลือกกันงบส่วนนี้ไว้ก่อน ซึ่งสิ่งนี้กระทบช่องอาตี๋ รีวิวแบบเต็มๆ รายได้เหลือเพียงแค่ทางเดียวคือจากยอดวิว เพียงพอแค่ค่าจ้างทีมงาน แต่ไม่พอต่อค่ากินอยู่ของครอบครัวผม อีกทั้งยังมีข่าวร้ายซ้ำลงไปอีก คือธุรกิจของคุณพ่อที่ถือเป็นงานประจำของผมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน นำมาสู่การปรับโครงสร้างองค์กรที่ทำให้ผมต้องออกจากบริษัทด้วย

ผมจำได้ดีว่าตอนนั้นลูกผมเพิ่งอายุ 6 เดือนเอง ซึ่งหลังจากเจอเรื่องทั้งหมดผมก็ได้แต่มองดูเขานะ แล้วก็พลันคิดว่าไม่ได้การแล้ว ผมจมอยู่กับวิกฤตไม่ได้ ดังนั้นถึงจะไม่มีงาน แต่ผมมีเวลาเยอะมาก ผมต้องใช้เวลาในการหารายได้ให้ได้มากกว่านี้ รีบมองหาโอกาสหรือช่องทางใหม่ๆ ให้กับแบรนด์มากกว่านี้

และตอนนั้นแหละ ที่ผมนึกถึง TikTok ขึ้นมา

ในแต่ละวันช่วงนั้นผมจึงใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมงในการไถดู TikTok อย่างเดียวเลย แต่เป็นการดูแบบวิเคราะห์ไปด้วยว่าคนใน TikTok เขาทำอะไรกัน เป็นคนยังไง และผมเลือกหยุดดูแต่ละคลิปด้วยปัจจัยอะไร คือใช้เวลากับแพลตฟอร์มเยอะมาก แต่ก็ไม่ได้กินเวลาหลายวันเท่ากับตอนยูทูบ เพราะได้เรียนรู้มาแล้วว่าเราศึกษาไปพร้อมกับลงมือทำได้ ในเวลาไม่นานผมเลยตัดสินใจกระโดดเข้าสู่แพลตฟอร์ม TikTok อย่างเต็มตัว และลงมือทำอย่างจริงจัง

ใช้ความขยันเข้าสู้อีกครั้ง

(หัวเราะ) แน่นอน เพราะในวันที่เริ่มต้น สภาพแวดล้อมยังคงเป็นแบบทุกครั้งที่ผ่านมา คือผมไม่ได้เข้าสู่แพลตฟอร์มนี้เป็นคนแรก มีคนที่เข้ามาก่อนแล้ว ชำนาญมากกว่าแล้ว ดังนั้นในเมื่อเราเริ่มต้นช้ากว่าเขา เก่งไม่เท่าเขา ก็ต้องขยันกว่าเขา

ผมจึงลงคลิปทุกวันเหมือนเดิม พยายามทำทุกวันให้เกิดเป็นวินัยเหมือนเดิม รวมถึงการกลับมาดูคลิปของตัวเองทุกวันด้วย ว่ามีอะไรที่น่าปรับ หรือมีอะไรที่น่ารักษาไว้ แต่อาจเป็นความขยันที่ต่างจากเดิมอยู่บ้างเพราะช่วงนั้นลูกติดผมมาก ร้องตอนกลางคืนประจำ นอนยากมาก เลยเปลี่ยนเวลาถ่ายคลิปเป็นหลังตี 2 แทนเพราะเขาหลับแล้ว ถ่ายเสร็จก็ตัดและอัพโหลดเลย

กลับมาคิดตอนนี้ก็ดูเป็นการเพิ่มขีดจำกัดของตัวเองอยู่เหมือนกันนะ (ยิ้ม) 

จนถึงตอนนี้ คุณยังไม่ได้พูดคำว่า ‘ท้อ’ ออกมาเลยสักครั้ง ถามจริงคุณท้อบ้างไหม เพราะดูแต่ละอย่างที่ทำมาก็มีอุปสรรคอยู่ตลอด สวนทางกับความรับผิดชอบที่มากขึ้นตามวัย

ท้อสิ (ตอบทันที) ท้ออยู่แล้ว อย่าง TikTok นี่เวลาลงคลิปแล้วไม่มีคนดูผมก็ท้อมาก คิดกับตัวเองว่าทำไมวะ ตั้งใจทำมากเลยนะ ทำไมถึงไม่มียอดวิว บวกกับทำไปก็ยังไม่มีรายได้เข้ามาเลย ท่ามกลางเงินเก็บที่ค่อยๆ ลดลงไปทุกที อะไรแบบนี้ทำให้ผมท้อจนเป็นเรื่องปกติเลยแหละ 

แต่

พอผ่านปัญหาชีวิตมาเยอะๆ ผมตกตะกอนได้อย่างหนึ่งครับ ว่าคุณ, ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คุณท้อได้นะ แต่ถ้าคุณจมอยู่กับการท้อเมื่อไหร่มันจะเสียเวลามากๆ 

ในมุมมองของผม ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องรีบลุกขึ้นยืน เพราะยิ่งเรายืนได้เร็วมากเท่าไหร่เรายิ่งแก้ปัญหาได้เร็วมากเท่านั้น ดังนั้นในวันที่จิตใจท้อแท้ผมจะท้อให้เต็มที่เลย อยากร้องไห้เหรอก็ร้องออกมาเลย ผมเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจและความรู้สึกเหมือนกัน แต่พอเวลาผ่านไปสักหนึ่งวันผมจะไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับการท้อแล้ว เพราะผมอยากแก้ปัญหาให้ผ่านไปไวๆ มากกว่า

‘ท้อ’ กับ ‘จมอยู่กับการท้อ’ เป็นคนละเรื่องกัน

ในมุมผมนะ ใช่ คือปัญหาทำให้เราเป๋จนท้อได้จริง แต่ผมจะมีกลไกในตัวเอง ว่าเมื่อไหร่ที่ผมเริ่มมีความคิดกับตัวเองว่า ‘ทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นกับกูวะ’ ผมจะรีบฉุดตัวเองขึ้นมาทันที เพราะถ้าปล่อยไว้ความคิดนี้จะเกิดขึ้นวนเวียนจนกลายเป็นการจมในที่สุด ทั้งที่หลายปัญหาที่เกิดขึ้นคือเรื่องปกติ เกิดขึ้นได้กับทุกชีวิต และสุดท้ายทุกปัญหาจะเหมือนกัน คือเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป ดังนั้นผมรีบลุกขึ้นมาดีกว่า ปัญหาจะได้ผ่านไปไวๆ

แต่ถามว่าทุกวันนี้ผมชิลล์ได้กับทุกปัญหาไหม ก็ไม่ขนาดนั้นนะครับ ผมเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ยังพยายามเรียนรู้และจัดการให้ได้เก่งมากขึ้นอยู่ทุกวัน


เริ่มต้นเข้าสู่การไลฟ์ขายของได้ยังไง

ตอนนั้นผมน่าจะทำ TikTok มาได้ปีกว่าแล้ว ผู้ติดตามก็มีประมาณล้านคนแล้ว สถานการณ์โควิด-19 ก็เริ่มซาลงจนมีรายได้เข้ามาบ้าง แต่จะเห็นได้ว่าตลอดทางที่ทำมาผมหารายได้ผ่านช่องทางสปอนเซอร์มาโดยตลอด ทำให้พอมาถึงจุดหนึ่งผมก็เริ่มเกริ่นๆ เชิงบ่นกับน้องๆ ในทีมว่า “พวกเราเหมือนใช้ชีวิตอยู่บนเส้นด้ายของอินบอกซ์จากเอเจนซีเลยเนอะ” เพราะถ้าสัปดาห์ไหนไม่มีอีเมลจากลูกค้าทักมา ทีมผมจะเริ่มคุยกันว่า “ฉิบหายแล้ว” ทำยังไงดีเนี่ย เหงื่อเริ่มออกแล้วนะ เนื่องจากเรามีรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายทุกเดือนอยู่ 

แต่จากความรู้สึกนั้น ที่ทำให้พอถึงวันที่ TikTok Shop และ TikTok Live เปิดตัว เราเลยคุยกันในทีมว่ามันน่าจะมีศักยภาพพอที่จะแก้ข้อจำกัดตรงนี้ได้นะ เพราะเราไม่จำเป็นต้องรอเอเจนซีอีกแล้ว แต่เราสามารถเป็นตัวกลางระหว่างสินค้าและผู้ซื้อได้เลย ดังนั้นในเมื่อนี่เป็นอีกหนึ่งโอกาสในการสร้างรายได้ ทำไมเราจะไม่ลองทำกันดูล่ะ 

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าช่วงไลฟ์แรกๆ คือไม่มีคนดูเลย

ใช่ครับ เรื่องปกติมาก ขายของไม่ได้ แต่ก็อย่างที่บอกว่าแบบนี้ผมเคยเจอมาแล้วตอนไปขายเคสมือถือที่โลตัส ดังนั้นผมเลยไม่ได้รู้สึกท้อหรือผิดหวัง ช่วงแรกขายได้ 0 บาทคือสบายๆ เพราะสิ่งที่เราได้คือทักษะที่จะนำมาต่อยอดพัฒนาสู่การไลฟ์ในครั้งต่อๆ ไป เป็นอีกหนึ่งศาสตร์ใหม่ๆ ให้เราได้ลองท้าทายและพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง


จากคนดู 0 คน ค่อยๆ เพิ่มขึ้นได้ยังไง

สูตรเดิมครับ ชีวิตผมไม่มีอะไรที่จะหลุดจากประโยคนี้เลย ‘ในเมื่อเราเริ่มต้นช้ากว่าเขา เก่งไม่เท่าเขา ก็ต้องขยันกว่าเขา’

ผมอาศัยทำบ่อยๆ และเรียนรู้ไประหว่างทางเหมือนเดิม เช่น การวิเคราะห์ว่าประโยคไหนของเราที่ตรึงคนดูไว้ได้ หรือประโยคไหนที่พูดแล้วคนดูมักกดออก วิเคราะห์แบบนี้หลังลงไลฟ์ในทุกวัน ยอดขายจาก 0 บาท เลยเกิดเป็นยอดแรก นั่นคือการขายกระปุกออมสินในช่องของภรรยา ก่อนค่อยๆ พัฒนามาใช้กับช่องอาตี๋ รีวิว ยอดขายเลยเขยิบมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการวางเป้าหมายใหม่ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปแตะหลักแสนและหลักล้านต้นๆ ในเวลาไม่นาน นำมาสู่การตั้งเป้าหมายในวันที่ 9 เดือน 9 ว่าอาตี๋ รีวิวจะเป็นคนไทยคนแรกที่ทำยอดขายแตะ 8 หลักผ่านการไลฟ์หนึ่งครั้งให้ได้

เหตุการณ์วันที่ 9 เดือน 9 คุณเล่าหลายครั้งแล้วว่าไลฟ์ติดต่อกัน 17 ชั่วโมงจนสร้างยอดขายได้ถึง 22 ล้านบาท เกินกว่าเป้าที่วางไว้ไปอีก แต่สิ่งที่สงสัยคือความรู้สึกในตอนนั้น เป็นยังไงบ้าง เหมือนเข้าเส้นชัยไหม 

แน่นอนว่าดีใจครับ เหมือนสิ่งที่เราพยายามท้าทายตัวเองมันสำเร็จแล้ว แต่สารภาพว่าในอีกใจหนึ่งก็มีคิดเหมือนกัน ว่าที่ทำไปจนสำเร็จคือเรื่องบังเอิญหรือเปล่า พอฉลองกันเต็มที่ ผมและทีมงานเลยคุยกันต่อว่าเรามาลองทดสอบกันอีกรอบไหม ว่าวิธีการของเรามันได้ผลจริงๆ ชุดความรู้ที่ได้เรียนรู้มาคือสูตรสำเร็จหรือเปล่า ผมเลยวางไว้ว่าวันที่ 11 เดือน 11 เราจะลองไลฟ์กันอีกครั้ง เพื่อทำยอดขายให้ไปแตะ 8 หลักให้ได้ ท่ามกลางบริบทที่ยากกว่าเดิม เพราะความสำเร็จที่เราทำได้ดึงให้คนมาไลฟ์ใน TikTok มากขึ้นแล้ว เจ้าตลาดเริ่มมองเราเป็นคู่แข่งมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายกว่าเดิม ในการทำให้ไปถึงเส้นชัยใหม่ที่ยากกว่าเดิม

สำเร็จไหม

สำเร็จครับ ยอดขายเท่าๆ เดิมเลย อีกทั้งยังเป็นการพิสูจน์ด้วยว่าวิธีการของเราสามารถใช้ได้จริงๆ ที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องฟลุก แค่นี้ผมก็สบายใจ

ตอนนี้พร้อมตั้งเส้นชัยใหม่

(นิ่งคิดนาน) ใช่ มีเส้นชัยใหม่ แต่คงไม่ใช่เส้นชัยในเชิงยอดขายต่อไลฟ์แล้วครับ

คือถ้าถามว่าอยากสร้างยอดขายไปถึงร้อยล้านต่อไลฟ์หรือเปล่า ผมว่าถ้าถึงก็คงดี แต่ถามว่าเป็นเป้าหมายในปีนี้เลยไหม คงไม่ใช่ครับ เพราะในตอนนี้ หลังจากพยายามทำหลายอย่างมาจนเข้าเส้นชัย ผมพบว่าตัวเองในขวบวัยปัจจุบันอยากแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้มากับคนอื่นมากกว่า

อย่างลองนึกภาพใครสักคนหนึ่ง ที่ไม่รู้เลยว่ายุคสมัยนี้สามารถไลฟ์สดขายของผ่านโทรศัพท์ได้ เขาเลยเลือกไปขายเคสมือถืออยู่ที่ตลาดนัดโลตัสคำเที่ยง ผมแค่จินตนาการไปว่ามันจะดีแค่ไหนกันนะ ถ้าผมได้มีโอกาสไปแบ่งปันชุดความรู้ที่ได้เรียนรู้มา จนทำให้คนคนนั้นได้ค้นพบโอกาสใหม่ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ผมเลยเปิด VEGA Creator ขึ้นมาครับ ในฐานะเครือข่ายพาร์ตเนอร์ระหว่างครีเอเตอร์และ TikTok Thailand โดยทำคอร์สสอนองค์ความรู้ที่ผมได้เรียนรู้มาอยู่ใน VEGA Creator ด้วย

ดังนั้นต่อให้หลังจากนี้ผมจะทำยอดขายได้ 8 หลักอีกครั้ง หรือพายอดขายไปแตะ 9 หลัก ผมรู้สึกว่านั่นไม่ใช่เส้นชัยของผมอีกแล้ว มันคงดีแหละ แต่สุดท้ายมันก็จะเป็นแค่ความภูมิใจส่วนตัว ต่างกับการแบ่งปันที่ผมได้รับรู้ว่าสิ่งที่แบ่งปันไป ทำให้คุณภาพชีวิตครอบครัวคนที่มาเรียนดีขึ้นได้ยังไง 

นี่คือสิ่งที่ผมอยากโฟกัสในปีนี้ ควบคู่ไปกับช่องที่ยังคงต้องพัฒนาในทุกวันอยู่เหมือนเดิม

ทำมาจนถึงทุกวันนี้ คุณยังคิดว่าความเสี่ยงที่สุดในธุรกิจคือการหยุดพัฒนาอยู่ไหม

แน่นอน เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ผมเลยรู้สึกว่าถ้าเรายังมีเส้นชัยเราหยุดพัฒนาไม่ได้หรอก ผมยังคงต้องมองหาเครื่องมือใหม่ๆ และไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ในที่เดียว ยกตัวอย่างเช่นในปัจจุบัน โลกของคอนเทนต์รีวิวก็เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมากแล้วครับ และอย่างการมาถึงของ AI อีก ดังนั้นทุกวันนี้ยังมีอะไรให้ผมได้ขยันเรียนรู้อีกเยอะ มีปัญหารอให้ผมแก้อีกเยอะ และยังมีอีกหลายอย่างเลยด้วย ที่ผมอยากแชร์ให้กับทุกคนฟังกัน

ตลอดการเล่าถึงชีวิตที่ผ่านมา คุณพูดคำว่า ‘พิสูจน์ตัวเอง’ หลายครั้งมากโดยเฉพาะกับคุณพ่อ เลยอยากถามคำถามสุดท้าย ว่าตอนนี้คุณพิสูจน์ตัวเองกับคุณพ่อได้หรือยัง

(นิ่งคิดนานมาก) ตอนที่ผมพยายามจะออกมาจากร่มเงาของครอบครัว ผมยอมรับนะว่าความอยากพิสูจน์ตัวเองมันผลักดันผมด้วยพลังเชิงลบที่สูงมาก และด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนที่สนใจเรื่องตัวเลข เป้าหมายของผมตั้งแต่วันแรกเลยเป็นการสร้างรายได้ให้กับตัวเองให้แตะหนึ่งร้อยล้านบาท และคิดไว้ด้วยว่าในวันที่ถึงตัวเลขนั้นผมจะเอาหลักฐานไปให้พ่อดู แล้วพูดกับพ่อว่า “ผมทำได้แล้ว ผมพิสูจน์ตัวเองได้แล้ว”

แต่กลายเป็นว่าระหว่างทางนั้นเอง ที่ผมได้พูดคุยกับรุ่นพี่ที่เคารพคนหนึ่ง โดยเล่าให้เขาฟังถึงเป้าหมายนี้เหมือนที่ผมกำลังเล่าอยู่

พี่เขาถามผมกลับมาว่า “อยากให้พ่อภูมิใจเหรอ”

“ใช่ครับ” ผมตอบ ก่อนที่พี่เขาจะถามต่อแล้วทำเอาผมอึ้งไปเลย

“แล้วมึงไม่คิดบ้างเหรอวะ ว่าตอนนี้ที่มึงทำเยอะขนาดนี้พ่อมึงจะไม่ภูมิใจ”

จริงด้วย ผมพบว่าตลอดทางที่ลุยมาในเส้นทางของตัวเองแบบไม่คิดชีวิต ผมไม่เคยถามคำถามนี้กับพ่อเลย ว่าพ่อภูมิใจในตัวผมหรือเปล่า แล้วผมรู้ได้ไงว่าเขาไม่ภูมิใจ ไม่แน่ว่าตอนนี้เขาอาจจะภูมิใจในผมแล้วก็ได้ มันกลายเป็นความสงสัยในใจที่รอไม่นานเลยก็ได้คำตอบ เพราะหลังจากนั้นไม่กี่วันผมกับพ่อนัดไปทานข้าวร่วมกัน ระหว่างที่ขับรถออกจากบ้านนั่นเองพ่อก็พูดขึ้นมาลอยๆ กับผม

“เออ ภูมิใจมากเลยนะ สบายไปเปลาะหนึ่งแล้วเนอะ”

โห แม่งปลดล็อก จำได้ว่าตัวเองรู้สึกเบาโหวง ทั้งที่ตอนนั้นผมยังไม่ได้ร้อยล้าน แต่เหมือนสิ่งที่ผมแบกอยู่ตลอดทางที่ผ่านมามันหายวับไปแล้ว ซึ่งส่งผลดีต่องานด้วย เพราะพอตัวเบา ไม่ได้ต้องคิดถึงเป้าร้อยล้านตลอดเวลา ผมกลับมามองเห็นโอกาสมากมาย เหมือนผมมีอิสระ ไม่ต้องผูกมัดกับเชือกที่มองไม่เห็น ทำให้หลังจากนั้นไม่นาน พอยอดของธุรกิจที่ทำอยู่แตะร้อยล้านจริงๆ ตัวเลขนี้ก็ไม่ได้สำคัญกับผมอีกต่อไป

เพราะผมไม่ต้องพิสูจน์อะไรกับใครอีกแล้วล่ะ

Writer

ชื่อฆฤณ อ่านว่าคลิน พยางค์เดียว

Photographer

eco explore experiment ?

You Might Also Like