The Risky Art

ศิลปะการบริหารความเสี่ยงให้เป็นความสุขฉบับ ‘มุก’ แห่ง ATT 19 อาร์ตสเปซที่เข้าถึงทุกคน

หากใครเคยแวะเวียนมาในซอยเจริญกรุง 30 นอกจากจะพบกับการผสมผสานกันอย่างลงตัวของความคลาสสิกและความสมัยใหม่ตลอดเส้นทางแล้ว อีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของย่านนี้คืออาคารเก่าอายุ 130 ปี ที่มีความเก๋าและเก๋ซ่อนอยู่

เมื่อผลักประตูไม้ลายเทพจีนสุดวินเทจ อาคารแสนเก๋แห่งนี้ยิ้มต้อนรับเราด้วยโซนขายของเก่าและวัตถุโบราณ ทั้งของตกแต่งบ้าน ชั้นวางเครื่องประดับ ไปจนถึงราวเสื้อผ้าวินเทจ ที่เด่นเป็นสง่าที่สุดของพื้นที่ชั้น 1 นั้น คือพื้นที่ตรงกลางที่เปิดให้แสงอาทิตย์สาดส่อง เกิดเป็นแสงเงาระยับเพราะต้นไม้ที่รายล้อม หากก้าวเท้าขึ้นไปยังชั้น 2 จะพบกับพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัย ที่เปิดให้ศิลปินหน้าใหม่หรือศิลปินที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักได้ขับเคลื่อนประเด็นบางอย่างในสังคม 

เรากำลังพูดถึง ATT 19 อาร์ตสเปซของ มุก–พรทิพย์ อรรถการวงศ์ Creative Director ผู้ดูแลแกลเลอรี ATT 19 ที่ตั้งใจให้ทุกคนรู้สึกว่าศิลปะนั้นเข้าถึงง่าย หากใครเคยแวะเวียนมา ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจ อาจเคยพูดคุยกับเธออยู่บ้าง เพราะมุกชอบมาเดินดูความเรียบร้อยของแกลเลอรีด้วยตัวเองเกือบทุกวัน และชอบทำความรู้จักผู้คนที่แวะเวียนเข้ามา จนบางคนเปลี่ยนสถานะจากลูกค้าเป็นเพื่อนของเธอเลยด้วยซ้ำ 

แรกเริ่มพ่อแม่ของมุกซึ่งเป็นเจ้าของร้าน Lek Gallery ร้านขายของแอนทีกเก่าแก่ที่อยู่คู่เจริญกรุงมานานไม่ได้นึกฝันว่าอาคารเก่าแก่แห่งนี้จะกลายมาเป็นพื้นที่ศิลปะ แต่เป็นเพียงอีกสาขาหนึ่งของร้านขายของเก่าของครอบครัวเท่านั้น แต่เมื่อมุกต้องกลับเข้ามาบริหาร ATT 19 จึงเป็นมากกว่านั้น 

เอกลักษณ์ของที่นี่คือการไม่เก็บค่าเข้าชม และไม่คิดค่าเช่าพื้นที่แก่ศิลปินที่มาจัดแสดง ซึ่งย้อนแย้งกับต้นทุนทางการจัดนิทรรศการที่สูงจนน่าขนลุก ทั้งยังต้องเผื่อใจสำหรับเหตุการณ์น่าเศร้าอย่างการที่ผลงานเสียหายจากการเข้าชมซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นข่าวใหญ่

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงที่ธุรกิจแกลเลอรีต้องแบกรับหรือไม่? นี่คือคำถามที่เราสงสัย

ในบ่ายวันธรรมดาที่ ATT 19 คนไม่พลุกพล่านเท่าวันหยุด เราถือโอกาสมาเดินดูนิทรรศการใน ATT 19 และชวนมุกมาพูดคุยถึงแนวคิดในการปลุกปั้นอาร์ตสเปซแห่งนี้ ให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงงานศิลปะได้มากขึ้น ไปจนถึงการบริหารธุรกิจภายใต้ความเสี่ยง ว่าเธอสู้กับความเสี่ยงเหล่านี้ได้ยังไงกัน

ทั้งที่มีโอกาสอื่นๆ มากมาย ทำไมตอนนั้นคุณถึงเลือกนำตึกเก่ามารีโนเวตเป็นอาร์ตสเปซ

พื้นที่นี้เคยเป็นตึกเก่าของโรงเรียนอาทรศึกษาซึ่งเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนที่กำลังจะปิดตัวลง แล้วเขาเห็นพ่อเราเปิดร้านขายของแอนทีกอยู่ใกล้ๆ กัน เขาคิดว่าพ่อน่าจะชอบตึกเก่านี้แน่เลย เขาเลยอยากให้พ่อเข้ามาดูแลพื้นที่นี้ต่อ แต่มีเงื่อนไขว่าถ้าพ่อได้มาต้องอนุรักษ์มันไว้นะ ห้ามทุบตึกทิ้งเด็ดขาด

พ่อก็รับปากและอยากให้เรากลับมาดูแลพื้นที่ตรงนี้ เพราะเขาก็มีร้านของเขาเองอยู่แล้ว เขาเลยรีโนเวตตึกนี้ให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น แต่ยังคงอนุรักษ์เค้าโครงเดิมเอาไว้ เช่น ไม้สักอายุร่วม 130 ปี โครงคานเพดานก็ใช้อันเดิม พอมันเป็นตึกเก่าก็จะมีเสน่ห์ของมัน ที่ช่วยสร้างความประทับใจแรกให้คนที่แวะเวียนมาได้ และเขาจะจำได้ทันทีว่านี่แหละคือ ATT 19 ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ก็ถือเป็นธุรกิจที่ 4 ของครอบครัวมุกด้วย

อะไรที่ทำให้คุณตัดสินกลับมาทำธุรกิจของครอบครัว

มุกว่าคนที่เป็นทายาทธุรกิจ จะรู้ตัวอยู่แล้วว่าเราต้องกลับมาดูแลอะไรบางอย่างของที่บ้าน แต่ทุกคนจะมีช่วงเวลาวิ่งหนี ซึ่งช่วงเวลาวิ่งหนีของมุกคือตอนที่เราไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก และทำงานเป็นดีไซเนอร์อยู่ที่นั่นเลย เราอยากให้ที่บ้านเห็นว่าเราทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้นะ

จนวันนึง พ่อโทรมาหาเราแล้วบอกว่า ‘กลับบ้านเราเถอะลูก’ แล้วเขาก็เล่าให้ฟังว่าเขาได้พื้นที่ตรงนี้มานะ ข้างหลังตึกนี้เขาตั้งใจจะสร้างเป็นสตูดิโอที่มีพื้นที่ให้มุกกลับมาทำงานแฟชั่นที่มุกรักได้เลย และยังมีพื้นที่ให้พี่สาวของมุกคือ พี่เชอ–พันธ์ทิพย์ อรรถการวงศ์ ได้เปิดเป็นร้านอาหารซึ่งต่อมาคือร้าน MadBeef

ตอนนั้นเราฟังแล้วก็รู้สึกว่าพ่อไม่ได้บังคับให้เราทำในสิ่งที่เขาคิด แถมยังเตรียมพื้นที่ให้เรากลับมาทำตามความฝันอยู่ด้วยซ้ำ แล้วเราก็จากพ่อจากแม่มานาน ท่านก็แก่ขึ้นทุกวัน พอมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เราก็เหมือนพลาดช่วงเวลาดีๆ ที่ได้อยู่กับท่านไป เลยคิดว่า ‘นี่แหละ เราต้องกลับบ้านแล้ว’

พอได้มาบริหารธุรกิจนี้ด้วยตัวเอง คุณตั้งใจให้ ATT 19 เป็นแบบไหน

เราเริ่มจากว่าในไทยยังไม่ค่อยมีพื้นที่ให้คนได้เข้าถึงงานศิลปะมากนัก ถ้ามีก็มักจะคิดเงินค่าเข้า ด้วยความที่เราคลุกคลีกับของเก่ามาตั้งแต่เด็กเราก็อยากให้ทั้งวัตถุโบราณและงานศิลปะเป็นสิ่งที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย

เราเลยวางโมเดลธุรกิจของ ATT 19 ว่าให้ชั้น 1 เป็นโซนขายของเก่าที่ดูจับต้องได้ แตกต่างจากร้านพ่อแม่ที่เป็นงานแอนทีกจริงจัง อย่างประติมากรรมหรือของที่มีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ แต่ของใน ATT 19 เราอยากให้เป็นโซนที่รวบรวมความชอบของเราเอาไว้ และคิดว่าน่าจะมีคนชอบอะไรเหมือนเรา เลยจะเห็นว่ามีทั้งของตกแต่งบ้าน เช่น ตุ๊กตาญี่ปุ่น แจกัน และมีราวเสื้อผ้าวินเทจ เพราะเราก็ชอบใส่ชุดวินเทจด้วย

ส่วนชั้น 2 เราก็ทำเป็นแกลเลอรีจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เพราะเราอยากให้มีพื้นที่ที่คนได้มาเรียนรู้งานศิลปะจริงๆ อย่างเด็กที่เรียนสถาปัตยกรรม เด็กที่เรียนโปรดักต์ดีไซน์ นักเรียน นักศึกษาในสาขาอื่น หรือคนทั่วไปก็จะเข้าถึงงานศิลปะได้แบบฟรีๆ มุกถึงเลือกไม่เก็บค่าเข้าชมสักบาท

ในอีกมุมนึงมุกก็อยากให้มันเป็นพื้นที่ที่ศิลปินตัวเล็กๆ หรือศิลปินหน้าใหม่สามารถมาแสดงผลงาน และพูดในสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเต็มที่ มุกเลยเลือกไม่เก็บค่าเช่าพื้นที่ซึ่งจริงๆ ทุกวันนี้มันต่างจากไอเดียแรกที่คิดไว้นิดหน่อยคือ ตอนแรกมุกตั้งใจจะเปิดพื้นที่นี้แล้วทำงานแฟชั่นไปด้วย แต่พอทำไปจนมันเริ่มเข้าที่เข้าทาง มุกก็รู้ว่ามุกทำอะไรในพื้นที่นี้ได้บ้าง แล้วมันให้อะไรกับใครบ้าง 

มันเหมือนมุกได้มาเจอความรับผิดชอบและความหมายในชีวิตจากการทำธุรกิจนี้ ตอนนี้สตูดิโอเย็บผ้าของมุกเลยกลายเป็นที่เก็บของไปแล้วค่ะ (หัวเราะ)

อะไรคือความรับผิดชอบและความหมายในชีวิตที่คุณพูดถึง

ความรับผิดชอบของมุกมีทั้งในฐานะอาร์ตสเปซ คือการสร้างแรงบันดาลใจและได้เปิดพื้นที่ให้คนมาศึกษาหาความรู้ ศิลปินเองก็มีพื้นที่ได้มาปล่อยของและเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงได้นำเสนอความเป็นไทยให้คนในประเทศและต่างชาติได้รู้จัก และในฐานะธุรกิจที่อยู่ในย่านเจริญกรุง มุกจะทำสิ่งที่ต้องไม่รบกวนคอมมิวนิตี้ในย่านนี้ แต่มุกอยากทำธุรกิจที่ชุบชีวิตให้ย่านนี้คึกคักและเต็มไปด้วยงานศิลปะ

สิ่งที่มุกทำมันมาจากความเชื่อที่ว่า ‘เราจะไม่มีวันได้รับ ถ้าเราไม่รู้จักการให้ก่อน’ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มุกเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้คนเข้ามาชมฟรีๆ ซึ่งมุกมีความสุขกับสิ่งนี้ มันจึงมีความหมายกับชีวิตมุกมาก

การไม่เก็บทั้งค่าเข้าและค่าเช่าพื้นที่ ถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจนี้ไม่ทำเงินไหม

เสี่ยงหรือไม่เสี่ยง มันขึ้นอยู่กับว่าเรารับความเสี่ยงนี้ได้ไหม แล้วเรามองมันแบบไหน

อย่างเรื่องการไม่เก็บค่าเข้าและค่าเช่าพื้นที่ มุกมองว่ามันไม่ใช่ความเสี่ยง เพราะมุกตั้งใจให้ ATT 19 เป็นพื้นที่ที่คนเข้าถึงได้ นั่นแปลว่าถ้าเราเก็บค่าเข้ามันไม่ใช่ทุกคนที่จะจ่ายได้ ยิ่งที่นี่อยู่ไม่ไกลโรงเรียนก็จะมีน้องๆ ใส่ชุดนักเรียนมาเดินบ่อย หรืออย่างนักศึกษาก็มาเพื่อสเกตช์ภาพผลงาน ถ้าเราเก็บค่าเข้าเขาอาจจะมาใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อเรียนรู้ไม่ได้แล้ว

เราเลยต้องหาวิธีทำเงินจากทางอื่นแทน เรามีคาเฟ่ข้างๆ แกลเลอรี ที่บางทีน้องๆ มาแล้วเขาก็ช่วยอุดหนุนเรา หรืออย่างชั้นล่างเราก็ขายของตกแต่งบ้าน ขายเสื้อผ้าวินเทจของเราไป และชั้นบนก็จัดแสดงผลงาน ซึ่งมุกไม่เก็บค่าเช่าพื้นที่ แต่ใช้วิธีการหักค่าคอมมิชชั่นเมื่อผลงานขายได้ ถ้าเป็นศิลปินรุ่นใหญ่จะหัก 40% ศิลปินรุ่นเล็กเราหักแค่ 30% ซึ่งน้อยกว่าแกลเลอรีอื่นที่จะหัก 50%

ส่วนงานศิลปะที่เราเลือกมาจัดแสดง เราจะคิดไปก่อนเลยว่าอาจจะขายไม่ได้เลยนะ เราโอเคที่จะจัดแสดงใช่ไหม เพราะการจัดนิทรรศการทีนึงเราเสียเป็นหมื่นเป็นแสน ถ้าตอนนั้นเรามองว่าการขายไม่ได้คือขาดทุน คือความเสี่ยง มันก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างรายได้ แต่อาจไม่สร้างประโยชน์เท่าที่ควร เราเลยมองว่าถ้ามันขายไม่ได้ แต่ผลงานเหล่านี้มันให้อะไรบางอย่างกับสังคม มันได้พูดในเรื่องที่ควรพูด 

มันก็คุ้มค่าที่จะลงทุน

อย่างนั้นอะไรบ้างที่คุณมองว่าเป็นความเสี่ยงของธุรกิจนี้

มุกมองความเสี่ยงเป็น 2 เรื่องคือ ‘ความเสี่ยงเรื่องชื่อเสียง’ และ ‘ความเสี่ยงเรื่องเงิน’

ความเสี่ยงเรื่องชื่อเสียงที่มุกพูดถึง คืออย่างบางแกลเลอรี เขาจะหลีกเลี่ยงการจัดแสดงงานในเรื่องละเอียดอ่อน นั่นก็เป็นแนวคิดของเขาซึ่งไม่ผิด เพราะมันก็เสี่ยงจริงๆ แต่ที่ ATT19 แกลเลอรีของมุกถ้ามุกมองว่ามันเป็นเรื่องที่ควรพูดก็จะจัดแสดงอยู่ดี

ยกตัวอย่างที่เราเคยโชว์ผลงานของพี่เอดด้า–พันเลิศ ศรีพรหม ที่นำจีวรพระมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ เพื่อจะสื่อสารว่าศาสนาเป็นเรื่องธรรมชาติที่อยู่ได้ในทุกอย่างของชีวิตเรา แม้แต่งานศิลปะ เราก็มองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสวยงาม เรื่องที่เขาพูดมันก็สอดคล้อง แมตเทอร์กับสังคม ซึ่งพอจัดแสดงงานนี้ก็มีจดหมายเตือนมานะ แต่ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงงานนี้ในแง่มุมที่ดีและคิดว่ามันน่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

ส่วนความเสี่ยงเรื่องเงินมีทั้งการจัดงานนิทรรศการ ที่ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ไหนจะต้องสั่งผลิตแท่นวางผลงาน ของตกแต่งนิทรรศการ ไหนจะมีค่าติดตั้ง ต้องมี Art Handler หรือผู้ดูแลงานศิลปะอีก ซึ่งมุกโชคดีที่มีทีมงานจากธุรกิจที่บ้านมาช่วยดู ทำให้เราคุมงบประมาณตรงนี้ได้

แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องที่พอจัดแสดงผลงานเสร็จ เราต้องแพ็กของส่งคืนศิลปิน หลายๆ ชิ้นก็เปราะบางมาก เราแพ็กไปดียังไงก็จะมีบางครั้งที่ของแตกเสียหาย แล้วในบ้านเราประกันงานศิลปะมันไม่ได้ชดเชยค่าเสียหายครอบคลุมขนาดนั้น อาจจะเพราะว่างานศิลปะไม่มีราคาตายตัว แถมมูลค่าก็สูงขึ้นเรื่อยๆ แกลเลอรีก็ต้องเจอกับความเสี่ยงที่มันเซอร์ไพรส์เราอยู่ตลอดเวลา

เรื่องงานศิลปะเสียหาย ขอย้อนกลับไปช่วงที่มีคนชนแจกันในแกลเลอรีของคุณจนเป็นข่าวใหญ่ ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหมว่าตอนนั้นคุณรู้สึกยังไง

โห วันนั้นมันแย่มากจริงๆ เราร้องไห้หนักมาก 

เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นในงานศิลปะการจัดวางดอกไม้ที่ชื่อว่า ‘กันและกัน’ (Each Other’s) งานนี้เราจะเลือก 12 ครีเอทีฟจากหลากหลายสาขาวิชามาจับคู่กับ 12 ศิลปินจัดดอกไม้ แล้วจัดแสดง 2 สัปดาห์ ให้เห็นตั้งแต่ช่วงที่ดอกไม้สดใหม่ ไปจนถึงดอกไม้เริ่มเหี่ยวเฉา เพราะเราอยากให้คนได้ซึมซับเรื่องราวและเห็นว่าสิ่งของและดอกไม้แต่ละช่วงเวลาก็มีความสวยงามเฉพาะตัวของมัน เหมือนกับเราที่เติบโตมาจากบ้านที่ขายของเก่า เลยชอบอะไรที่สึกหรอตามกาลเวลา

งานนี้มีคนเข้ามาดูผลงานเยอะที่สุดตั้งแต่เราเปิด ATT19 มา คือเกินวันละ 200 คน ด้วยความที่เราเป็นธุรกิจครอบครัว มีทีมงานไม่มาก ทำให้เราไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง แล้วก็มีคนชนแจกันของศิลปินชื่อโม จิรชัยสกุล แตกเป็นเสี่ยงๆ ดอกไม้กระจายอยู่เต็มพื้น เราเพิ่งมารู้ทีหลังจากที่มีคนทักมาเล่าว่าเห็นเหตุการณ์คือมีคนนึงที่ชุดเขาไปเกี่ยวโดนดอกไม้แล้วไม่รู้ตัว เลยดึงให้แจกันตกลงมาด้วย

เราเข้าใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุ และไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ตอนนั้นไม่มีใครออกมายอมรับว่าเป็นคนทำ เขาอาจจะคิดว่าจะต้องจ่ายค่าเสียหายหรือเปล่า แต่เรามองว่าประเด็นหลักไม่ใช่เรื่องนั้น มันคือการที่คุณทำของคนอื่นแตก แล้วเป็นผลงานศิลปะที่ศิลปินเขาตั้งใจทำมา คุณควรเห็นคุณค่างานศิลปะและใส่ใจผลงานคนอื่นมากกว่านี้

จริงๆ วันนั้นมันเกิดเรื่องเยอะมาก ไม่ใช่แค่แจกันแตก มีทั้งคนไปนั่งบนโต๊ะของดีไซเนอร์จนหัก ทั้งๆ ที่มันเป็นงานศิลปะเอาไว้โชว์และไว้ขาย และมีคนไปนั่งแต่งหน้าบนโต๊ะของทีมงาน ทั้งหมดคือเราก็ติดป้ายบอกชัดเจนนะว่าห้ามนั่ง พอแม่เราไปบอกว่าตรงนี้นั่งไม่ได้นะคะ เขาก็ลุกแล้วเขวี้ยงทิชชู่ใส่แม่เรา เราทั้งเศร้า ทั้งโกรธ คิดว่าเราเหนื่อยทำพื้นที่ตรงนี้เพื่อมาเจอสิ่งนี้เหรอ (ร้องไห้)

คุณจัดการกับเหตุการณ์นี้และจัดการกับความรู้สึกตัวเองยังไง

วันนั้นที่เกิดเรื่องเราก็โทรไปขอโทษและจ่ายค่าแจกันที่แตกให้กับโมทันที หลังจากนั้นเราก็โทรหาศิลปินจัดดอกไม้คนเดิม เขาก็เอาต้นไม้ที่มีรากมาจัดวางใหม่ ส่วนแจกันที่แตกก็ทิ้งไว้ที่พื้นเหมือนเดิมเลย ไม่ได้ไปจับอะไร แล้วเราก็เขียนบทกลอนวางไว้ให้คนอ่าน เพื่อเป็นการเตือนใจและให้ระมัดระวังเวลามาชมงานศิลปะมากขึ้น

เราโพสต์เหตุการณ์นี้ลงในเพจ ATT 19 ด้วยนะ ตอนนั้นมีคนเข้ามาให้กำลังใจเยอะมาก บางคนก็ถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม เพราะหลายคนที่เคยมาที่นี่คงเคยได้เจอ ได้พูดคุยกับเรา เขาจะรู้ว่าเราตั้งใจทำพื้นที่นี้เพื่อทุกคนจริงๆ 

พอรู้ว่ามีคนเห็นค่าสิ่งที่เราทำขนาดนี้ มันทำให้เราหายเศร้าไปเองเลย มันทำให้เราอยากลุกขึ้นมาสู้ต่อ เราดีใจที่ ATT 19 มีคอมมิวนิตี้ที่แข็งแรง พร้อมจะซัพพอร์ตเราและพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งมันยากนะที่ธุรกิจจะเปลี่ยนลูกค้าหรือผู้ชมผลงานให้มาเป็นคอมมิวนิตี้แบบนี้ได้

คิดว่าหัวใจสำคัญของการทำแกลเลอรีคืออะไร

มุกมองว่าการรักษาความสัมพันธ์กับผู้คนเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ชมที่เป็นน้องนักเรียนหรือคนที่มาซื้องานศิลปะกับมุก มุกจะเรียกทุกคนว่าเป็นลูกค้าหมด และดูแลทุกคนดีเหมือนกัน กับศิลปินเองมุกก็จะใช้สัญญาใจให้พื้นที่เขาจัดแสดง ช่วยซัพพอร์ตทุกอย่างที่ช่วยได้ บางครั้งมีลูกค้าติดต่อศิลปินไปโดยตรงเพื่อซื้องานศิลปะ แต่เขารู้จักมาจากงานที่จัดในพื้นที่ของเรา ศิลปินก็ให้มาติดต่อซื้อ-ขายกับเราและให้เราหักค่าคอมมิชชั่นไป เพราะเขาเห็นว่าเราเป็นผู้ให้แล้วควรจะได้รับผลตอบแทน

จุดยืนของแกลเลอรีก็สำคัญนะ มันทำให้ตัวตนของเราชัดเจน อย่างที่ ATT 19 เราอยากโชว์ผลงานของศิลปินไทยหรือศิลปินต่างชาติก็ได้ ถ้าเขาหยิบยกความเป็นไทยมาผสมผสาน และอย่างที่บอกว่าเราเลือกศิลปินและผลงานจากสิ่งที่เขาพูดแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม อะไรที่ไม่ใช่ตัวตนเรา ต่อให้เขาจ่ายเงินให้เยอะมากมุกก็ไม่จัดแสดงนะ

พอตัวตนเราชัดเจน คนก็จะจดจำและเชื่อใจเรา

จากการทำแกลเลอรีและคลุกคลีในวงการศิลปะมา คิดว่าตอนนี้กระแสตอบรับงานศิลปะในสังคมไทยเป็นยังไงบ้าง 

ตลอดเวลาที่เราอยู่กับ ATT 19 มา 5 ปี คิดว่าตอนนี้กระแสเรื่องงานศิลปะดีขึ้นมาก พอมันมีพื้นที่เยอะขึ้น คนก็เลยเข้าใจมากขึ้น เมื่อก่อนคนอาจจะคิดว่าต้องอยู่ในวงการศิลปะถึงจะมาเข้าชมนิทรรศการ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ คนทั่วไปรู้สึกเปิดกว้างและเปิดใจที่จะมามากขึ้น

แล้วอะไรบ้างที่จะช่วยเสริมให้งานศิลปะและธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะในไทยไปได้ไกลยิ่งขึ้น

มุกว่าบ้านเรามีศิลปินที่เก่งมาก มีงานดีๆ เยอะมาก แต่ตอนนี้คนอาจจะเสพงานเหล่านั้นอยู่แค่ผิวเผิน บางคนมาเพื่อถ่ายรูป และใช้งานศิลปะเป็นเหมือน​พร็อปในเฟรมนั้น นั่นอาจจะเป็นการเสพงานในรูปแบบของเขา แต่มุกมองว่างานศิลปะไปได้ไกลกว่านี้ ถ้าคนไทยมีวัฒนธรรมในการเข้าชมงานศิลปะ

เข้าใจว่าบ้านเราอาจจะยังไม่ได้มองว่างานศิลปะเป็นส่วนนึงในชีวิต เราก็ต้องค่อยๆ บิลด​์ ค่อยๆ ให้ความรู้เรื่องนี้กันไป อย่างในต่างประเทศ บ้านเขามีวัฒนธรรมการชมงานศิลปะแบบจริงจัง พ่อ แม่ หรือโรงเรียนจะพาไปดูนิทรรศการแล้วสอนเลยว่าห้ามจับงานศิลปะ เพราะสิ่งที่ศิลปินตั้งใจสร้างมามันมีคุณค่าทางจิตใจ

พอเราพยายามทำความเข้าใจจริงๆ เราจะเห็นว่าศิลปะมันทำให้เรารู้สึกอะไรบางอย่างก่อน แล้วค่อยไปดูว่าศิลปินเขาคิดอะไร มันทำให้เราเห็นมุมมองคนอื่นด้วย เพราะว่ามากกว่าความสวยงาม งานศิลปะมันมีความหมายสำคัญบางอย่างแฝงอยู่ 

อีกเรื่องสำคัญ การมีอาร์ตสเปซหรือพื้นที่ทางศิลปะมากขึ้นก็จะช่วยซัพพอร์ตศิลปิน ซัพพอร์ตการสร้างงานศิลปะดีๆ ขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีพื้นที่ตรงนี้และไม่มีใครทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ศิลปะมันก็จะอยู่ในจุดเดิมไม่ไปไหน

Writer

นักเขียนที่อยากเปลี่ยนเรื่องธุรกิจให้เป็นเรื่องสนุก และมีแมวกับกาแฟช่วยฮีลใจในทุกวัน

You Might Also Like