สงครามโลกครั้งที่สอน

ธนาคารในอาคารไร้หลังคาและขนมคาลบี้ เรื่องราวภาคธุรกิจที่พยุงฮิโรชิม่าหลังโดนทิ้งปรมาณู

เช้าวันที่ 6 สิงหาคม เป็นวันที่อากาศอันปลอดโปร่งแจ่มใสของเมืองฮิโรชิม่า ถูกเผาด้วยความร้อนและแรงระเบิดมหาศาล นับเป็นครั้งแรกของมวลมนุษยชาติที่สร้างและลงมือใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ พลานุภาพวิทยาศาสตร์ทำให้เมืองแทบทั้งเมืองของฮิโรชิม่าราบเป็นหน้ากลอง อุณหภูมิอากาศในตอนนั้นถูกเผาไหม้ขึ้นไปที่หลักพันองศาเซลเซียส

นอกจากความตายและความโกลาหลแล้ว สิ่งที่พยานส่วนใหญ่พูดถึงคือความไม่เชื่อสายตาตัวเอง โลกอยู่ในภาวะสู้รบและสงคราม โดยฉพาะญี่ปุ่นเองก็เผชิญกับการสู้รบมาโดยตลอด แต่ความรุนแรงในการรบไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่เมืองทั้งเมืองสูญสลายไปในพริบตา

เราอาจเห็นภาพกลุ่มควัน เห็นเมืองที่กลายเป็นกองซากปรักหักพัง เห็นรอยไหม้ที่ลายเสื้อกิโมโนฝังเข้าไปในผิวหนัง ในภาพความเสียหายมหาศาลในชั่ววินาที พื้นที่เมืองหายไป 1 ใน 3 คาดการณ์ผู้เสียชีวิตในทันทีที่ราว 80,000 คนจากประชากรราว 400,000 คนของเมือง ก่อนตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นในวันต่อๆ มา 

ที่กลางเมืองฮิโรชิม่ามีแม่น้ำไหลผ่าน ภาพหนึ่งที่บรรยายคือผู้คนต่างวิ่งและลงไปยังแม่น้ำเพื่อหนีจากความร้อน ส่วนใหญ่เสียชีวิตลงที่แม่น้ำ ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าแม่น้ำลอยฟ่องไปด้วยศพและชิ้นส่วนร่างกาย และระงมไปด้วยเสียงโหวกเหวกครวญคราง เมืองทั้งเมืองถูกปกคลุมไปด้วยโกลาหลและความตาย

แต่ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะทันทีในวันนั้น ท่ามกลางหายนะและเมืองที่ดูจะล่มสลายและถูกลบออกจากแผนที่ ฮิโรชิม่าและผู้คนของเมืองเรียกได้ว่าลุกขึ้นยืนหยัดแทบจะได้ในวันเดียวกัน และถ้าเรานิยามอย่างคร่าวๆ ฮิโรชิม่าเป็นเมืองที่เริ่มกลับมามีลมหายใจอีกครั้งได้ด้วยเวลาเพียงสองวันหลังการระเบิด หนึ่งในภาคส่วนที่ร่วมพยุงและดูแลซึ่งกันและกันคือภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่เรียกได้ว่าฝ่าควันไฟและกลับมาให้บริการกับผู้คนแทบจะในทันที

นี่คือเรื่องราวนับจากนั้น หลังจากวันที่เมืองราบเป็นหน้ากลอง 

ลุกขึ้นกลางเถ้าถ่าน และหยัดยืนได้ในสองวัน

ก่อนอื่นอยากให้ภาพเมืองฮิโรชิม่าโดยสังเขปก่อน ฮิโรชิม่าค่อนข้างเป็นพื้นที่เมืองที่มีการพัฒนา คือเป็นเมืองที่มีความหนาแน่น เป็นศูนย์กลางความเจริญ ในยุคหลังด้วยความเป็นเมืองท่า เมืองฮิโรชิม่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการทหารเมืองหนึ่ง มีศูนย์บัญชาการ ตรงนี้เองที่เป็นสาเหตุอันน่าเศร้าหนึ่งที่อเมริกาเลือกฮิโรชิม่าเป็นเป้าหมายของระเบิดลูกแรก คือเมืองฮิโรชิม่ามีศูนย์กลางเมืองที่ค่อนข้างหนาแน่น ความแน่นขนัดของเมืองนี้จะแสดงแสนยานุภาพของอาวุธใหม่ได้อย่างประจักษ์มากกว่า และฮิโรชิม่านับเป็นเมืองสำคัญทางการทหารที่ยังไม่เคยตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีในช่วงสงครามโลกมาก่อน

ทีนี้ แม้ว่าเมืองฮิโรชิม่าจะเป็นที่มีความหนาแน่น แต่อาคารบ้านเรือนของฮิโรชิม่าในยุคนั้นคือทศวรรษ 1940 อาคารบ้านเรือนที่กระจุกตัวอยู่ส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ปลูกด้วยไม้ ดังนั้นอาคารไม้จึงสลายไปในพริบตาทั้งจากแรงระเบิดและจากเปลวไฟ หนึ่งในสองอาคารสำคัญที่ยังต้านทานแรงระเบิดได้คืออาคารของธนาคารกลาง (Bank of Japan) 

ตัวอาคารของธนาคารกลางสาขาฮิโรชิม่าด้านหนึ่งมีบทบาทในการส่งเงินจากรัฐบาลมายังฮิโรชิม่า ส่วนใหญ่ในกิจการทหาร ตัวอาคารกลางของญี่ปุ่นนี้นอกจากจะเป็นอาคารสมัยใหม่แล้ว อันที่จริงการก่อสร้างอาคารมีบริบทของการเป็นอาคารทางยุทธศาสตร์คือก่อสร้างโดยคำนึงถึงความแข็งแรง ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมแรง มีโครงสร้างป้องกันพิเศษที่ประตูและหน้าต่าง

ในวันนั้น เมื่อเมืองทั้งหมดราบกลายเป็นเถ้าธุลี ในการกอบกู้ร่างและหาพื้นที่รักษาพยาบาล อันที่จริงฮิโรชิม่าค่อยๆ ลุกขึ้นในเย็นวันนั้น และภาคส่วนต่างๆ ของเมืองก็ค่อยๆ ยืนหยัดขึ้นแทบจะในทันที ถ้าเรานิยามอย่างคร่าวๆ คือ ฮิโรชิม่าลุกขึ้นกลับมาเริ่มยืนและก้าวเดินอีกครั้งคือสองวันนับจากที่เมืองกลายเป็นซากปรักหักพัง และหนึ่งในพื้นที่ภาคธุรกิจที่กลับมามีชีวิตก็คือในตึกของธนาคารกลางแห่งนี้

คือแม้ว่าธนาคารกลางจะก่อสร้างโดยมีความแข็งแรง แต่จริงๆ ตัวอาคารเองก็พังเสียหาย หลังคาเปิดออก และวินาทีที่ระเบิดลง คนทำงานในอาคารเสียชีวิตอย่างน้อย 20 คนในทันที ในวันที่ 8 สิงหาคมคือ 2 วันหลังจากนั้น ธนาคารกลางได้กลับมาเปิดทำการ และเปิดพื้นที่ให้กับธนาคารอื่นๆ อีก 11 แห่งเข้าใช้พื้นที่สำนักงานและห้องนิรภัย ธนาคารของเมืองจึงกลับมาเปิดทำการในเวลาเพียง 2 วัน ในตอนนั้นเจ้าหน้าที่ธนาคารเปิดให้บริการภายในอาคารที่ประตูและหลังคาพังจากไฟและแรงระเบิด ให้บริการดำเนินไปใต้ท้องฟ้ากว้าง กลางแดดและกลางฝน มีบันทึกว่าเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการต้องกางร่มในการฝากถอนหรือทำธุรกรรมอื่นๆ

การลุกขึ้นของเมืองช่วงไม่กี่วันแรกส่วนใหญ่คือการกู้คืนสาธารณูปโภค แน่นอนว่าธนาคารเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการสนับสนุนด้านการเงินในการเยียวยาฟื้นฟู แต่สาธารณูปโภคอื่นๆ ที่กลับมาให้บริการอย่างรวดเร็วนั้นมีข้อสังเกตว่าเป็นความพยายามของรัฐก็จริง แต่ความสำเร็จน่าจะมาจากภาคประชาชนด้วย สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังจากเหตุระเบิดคือการส่งความช่วยเหลือจากเมืองใกล้เคียงเช่นฟุชู คุเระ และยามากุจิ ตรงนี้เองเป็นภาพที่คล้ายกับที่เราคุ้นตาในปัจจุบันคือเมื่อเกิดเหตุร้ายหรือความเสียหายต่างๆ ผู้คนก็พร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือทั้งด้วยกำลังหรือทรัพยากรแทบจะในทันที

นอกจากธนาคารแล้ว สาธารณูปโภคของเมืองได้รับการกู้คืนและกลับมาให้บริการอำนวยความสะดวกภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ระบบไฟฟ้าเริ่มกลับมาจ่ายให้บ้านเรือนได้ในวันที่ 7 สิงหาคม หนึ่งวันหลังการระเบิด โดยจ่ายให้ได้ราว 30% ของครัวเรือนทั้งหมดที่ไม่ถูกเพลิงไหม้ โดยหลังจากนั้นไม่กี่เดือนคือสิ้นเดือนพฤศจิกายน ไฟฟ้าก็กลับมาจ่ายให้ครัวเรือนได้ครบ 100% ระบบประปาเริ่มกลับมาทำงานในเวลาเพียง 4 วันนับจากการระเบิด ชุมสายที่เสียคนทำงานไปทั้งหมดแต่อุปกรณ์หลักๆ ยังใช้งานได้ก็เริ่มกลับมาให้บริการในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 

รถรางได้รับผลกระทบหนักพอสมควร ระบบรถกลางที่วิ่งกลางเมืองฮิโรชิม่าเหลือรถที่พอจะใช้ได้ราว 15 คันจาก 123 คัน ใน 15 มีเพียง 3 คันที่ใช้งานได้โดยสมบูรณ์ แต่รถรางก็เริ่มกลับมาให้บริการในวันที่ 9 สิงหาคม มีรายงานข่าวว่าการกลับมาให้บริการนี้เพิ่มกำลังใจให้ผู้คนเป็นอย่างยิ่ง 

นอกจากรถราง รถไฟก็ค่อยๆ กลับมาให้บริการอย่างเร็วที่สุด อันที่จริงรถไฟค่อนข้างกลับมาให้บริการแทบจะทันทีเช่นรถไฟระหว่างฮิโรชิม่าและไซโจ ชานเมือง รถไฟทำงานทันทีในบ่ายวันนั้นเพื่อพาผู้คนอพยพออกจากกลางเมือง หนึ่งวันหลังจากนั้น รถไฟสายอุจินะ (Ujina Line) ที่วิ่งระหว่างเมืองฮิโรชิม่ากับอุจินะ เขตท่าเรือที่ห่างออกไป 7 กิโลเมตรก็กลับมาเปิดให้บริการ และอีกวันถัดจากนั้น รถไฟสายซันโย (Sanyo Line) ที่วิ่งระหว่างเมืองฮิโรชิม่าและฟุกุโอกะก็กลับมาให้บริการในวันที่ 8 สิงหาคม

Peace Memorial City และการเปลี่ยนจากกองทัพสู่ผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเมือง รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของฮิโรชิม่าเองก็มีเงื่อนไขและช่วงเวลาของตัวเอง เช่นอันที่จริงพื้นที่อุตสาหกรรมของฮิโรชิม่าได้รับผลกระทบหรือเสียหายน้อยกว่าที่คาด แต่ภาพใหญ่ของญี่ปุ่นในช่วงหลังปี 1945 ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตและมีปัญหาด้านพลังงาน นอกจากนี้ฮิโรชิม่ายังเจอปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งก็ไปสัมพันธ์กับการฟื้นฟูเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งไปได้ผลจริงๆ คือการเกิดขึ้นของแผน Hiroshima Peace Memorial City Construction Law ในปี 1949 สี่ปีนับจากนั้น ต่อเนื่องด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม และผลจากสงครามเกาหลีในปี 1950 ที่ทำให้อุตสาหกรรมของฮิโรชิม่าเติบโตขึ้น 

หนึ่งในกลไกสำคัญคือแผน Hiroshima Peace Memorial City ตัวแผนเป็นแผนจากรัฐบาลกลางที่บอกว่าฮิโรชิม่าจะกลายเป็นเมืองแห่งการจดจำ ในแผนมีกระบวนการหลายอย่างเช่นการวาดภาพฮิโรชิม่าในฐานะเมืองในอุดมคติ เป็นเมืองรายล้อมด้วยธรรมชาติ มีสวน ซึ่งก่อนหน้านี้ฮิโรชิม่าก็อยากจะฟื้นฟูเมือง แต่รายได้เช่นภาษีของเมืองยังไม่ฟื้นกลับมา คือไม่มีเงิน แผนจากรัฐบาลกลางหรือฮิโรชิม่าที่กลายเป็นวาระแห่งชาติมีเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งคือการยกที่ดินที่เป็นของรัฐและของกองทัพให้ใช้งานได้ฟรี ตรงนี้เองที่ฮิโรชิม่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เช่นพื้นที่กลางเมืองบริเวณปราสาทฮิโรชิม่าที่เคยเป็นไข่แดงทางการทหารถูกพัฒนาไปเป็นโครงการที่พักอาศัยแนวตั้งพร้อมสวนสาธารณะที่มาแก้ปัญหาที่อยู่ของคนยากจนและคนเกาหลีที่เป็นอีกปัญหาจากการกวาดต้อนเชลยสงคราม

ในยุคหลังสงครามของญี่ปุ่นและในฮิโรชิม่าเอง การปลดภาระและปรับพื้นที่ทางการทหารนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อุตสาหกรรมของเมือง เช่นพวกโรงผลิตเกี่ยวกับขนส่งของกองทัพถูกขายให้มิตซูบิชิ อู่ต่อเรือรบสำคัญ Kure Naval Arsenal เปลี่ยนมือและเปลี่ยนการใช้งานไปในบริษัทเอกชน มีการปลดล็อกกิจการท่าเรือ อู่ต่อเรือและการขนส่งสินค้า ประกอบกับเกิดภาวะน่าสนใจคือการสิ้นสุดลงของพื้นที่ทางการทหารและการถูกบังคับให้ผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อป้อนกองทัพหรือการสู้รบในยุคสงคราม เมื่อคนตกงาน กลายเป็นว่าเกิดกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก 

หนึ่งในนั้นคือโทโย โคโย (Toyo Kogyo) หรือมาสด้า ในช่วงสงคราม โทโยประดิษฐ์และผลิตรถสามล้อและถูกบังคับให้ผลิตป้อนให้กองทัพเท่านั้น หลังจากนั้นพอสิ้นสุดสงคราม โทโยที่เคยอึดอัดจากการผลิตสรรพาวุธและได้รับอนุญาตให้ใช้อุตสาหการของตัวเองเพื่อพลเรือน คือจากที่ถูกบังคับให้ใช้เพื่อการทำลายกลายมาเป็นสร้างสรรค์ ในตอนนั้นมีโรงงานและโรงเหล็กจำนวนมากที่มีทั้งอุปกรณ์ มีแรง มีความรู้ และเคยถูกควบคุมไว้ เมื่อได้รับอิสระก็เลยโบยบิน อยากผลิต จะคิด หรือจะช่วยสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ก็เลยทำกันเต็มที่

ทีนี้แผนการสร้างเมืองใหม่ก็สร้างเมืองได้สมใจ อิทธิพลกองทัพคลายลง พื้นที่อุตสาหกรรมเฟื่องฟูขึ้น เมืองโต แรงงานมากขึ้น ตัวเลขการจ้างงานของฮิโรชิม่าเพิ่มขึ้น ในช่วงทศวรรษ 1950 ฮิโรชิม่าได้รับประโยชน์จากสงครามอีกครั้งคือสงครามเกาหลี (เริ่มในปี 1950) สงครามในเกาหลีทำให้เกิดความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เครื่องจักร ไปจนถึงอาหาร เช่นอาหารกระป๋อง และอุตสาหกรรมอาหารนี่แหละที่ทำให้เกิดขนมที่เราอาจจะกินไปเมื่อไม่กี่วันก่อน คือขนมคาลบี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูขึ้นหลังสงคราม นอกจากความเฟื่องฟูในเชิงอุตสาหกรรมแล้ว คาลบี้ยังเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาในภาวะขาดแคลนอาหารของเมืองฮิโรชิม่าและภาวะทุพโภชนาการด้วยอุตสาหกรรมอาหาร

คาลบี้ อาหารที่มีคุณภาพในยามยาก

แน่นอนว่าเรารู้จักคาลบี้ ขนมขบเคี้ยวรสกุ้งที่มีผลิตไทยในไทยด้วย นอกจากขนมที่ผลิตและจำหน่ายในไทยแล้ว เราอาจรู้จักขนมของคาลบี้ในฐานะแบรนด์ขนมของญี่ปุ่นที่หลายๆ ครั้งเรามักไปหิ้วมาจากดองกี้หรือร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น เช่นขนมมันฝรั่งยี่ห้อจากาบี้ (Jagabee) ปัจจุบันคาลบี้เป็นอาณาจักรขนมขบเคี้ยวยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นและก็มีการตั้งเครือในประเทศไทยคือคาลบี้ธนาวัธน์

คาลบี้เป็นบริษัทเริ่มต้นที่ฮิโรชิม่า และเกิดในช่วงที่ฮิโรชิม่ากำลังฟื้นตัว ผู้ก่อตั้งคาลบี้คือ ทาคาชิ มัตสึโอะ (Takashi Matsuo) ก่อตั้งขึ้นเดือนเมษายนของปี 1949 ช่วงปีที่ฮิโรชิม่าฟื้นขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้เติบโตขึ้นเป็นอย่างดี ในช่วง 4 ปีหลังระเบิดนิวเคลียร์ เมืองฮิโรชิม่าแม้จะเข้มแข็งแต่ก็ยังลำบาก สาธารณูปโภคฟื้นตัวแล้วก็จริง แต่ผู้คนเช่นเด็กกำพร้า ผู้คนที่บาดเจ็บ ทหารผ่านศึก ผู้ได้รับผลกระทบจากรังสีก็ยังมีความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก และแน่นอน อาหารเป็นสิ่งที่ยังขาดแคลนอยู่มาก

อาหารที่มีคุณภาพ สารอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพ เช่น ปลา เนื้อ นม และผักเป็นสิ่งที่หายาก ได้รับการปันส่วนอย่างจำกัด ในช่วงนั้นชาวเมือง รวมถึงตัวมัตสึโอะเองได้รับผลกระทบ เริ่มเกิดภาวะทุพโภชนาการจากการขาดวิตามิน โดยเฉพาะอาการเหน็บชาที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 1 ซึ่งอาการเหน็บชาหรือโรค Beriberi นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เมื่อไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ รวมถึงช่วงนั้นเริ่มมีความเจ็บป่วยอื่นๆ จากการขาดสารอาหารกันเป็นจำนวนมาก

สปอยล์เลยว่าแม้แต่ชื่อบริษัทคาลบี้ ก็มาจากผลิตภัณฑ์แรกที่มัตสึโอะลงมือผลิตขายเพื่อร่วมรับมือและแก้ไขทั้งภาวะขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการในยุคหลังสงคราม ในปีแรกของการก่อตั้ง ขนมอย่างแรกที่ถูกผลิตขึ้นตั้งชื่อว่าคาลบี้ คาราเมล โดยคำว่าคาลบี้มาจากสารอาหารสำคัญสองอย่างคือ Cal จากแคลเซียม และ bee มาจากวิตามินบี 1 คาลบี้จึงเป็นตัวแทนของสารอาหารจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มัตสึโอะตั้งใจผลิตขึ้นเพื่อให้ชาวเมืองทั้งอิ่มท้องและได้รับสารอาหารสำคัญ ตอนแรกบริษัทชื่อว่า Matsuo Food Processing หกปีให้หลังคาลบี้รสคาราเมลเป็นที่รู้จัก ก็เลยเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นคาลบี้ตามสินค้าชิ้นแรกซะเลย

ทีนี้ขอเท้าความไปที่ภูมิหลังหรือที่มาของมัตสึโอะเล็กน้อย ตัวมัตสึโอะเป็นทายาทบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจรำข้าว แต่ในตอนที่อายุได้เพียง 18 ปีก็ได้รับช่วงต่อกิจการซึ่งในตอนนั้นประสบภาวะหนี้สินอย่างมหาศาล เพื่อเป็นการแก้ปัญหาซึ่งถือว่าอัจฉริยะพอสมควรสำหรับอายุน้อยร้อยหนี้ มัตสึโอะเลยหันเหทิศทางธุรกิจและปรับไปสู่การผลิตอาหารที่เน้นการหาวัตถุดิบที่เคยไร้ประโยชน์มาผลิตเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หนึ่งในอุปกรณ์แรกของมัตสึโอะคือการประดิษฐ์เครื่องสกัดจมูกข้าวจากรำข้าวที่ถือว่าเป็นขยะอุตสาหกรรมในขณะนั้น พอได้จมูกข้าวมาก็เอาไปผสมกับหญ้าป่าและส่วนผสมอื่นๆ ผลิตเป็นเกี๊ยวเพื่อเป็นอาหารทดแทน 

เกี๊ยวของมัตสึโอะได้รับคำชื่นชมอย่างมากเพราะช่วยแก้ไขภาวะขาดแคลนอาหารของเมืองได้เป็นอย่างดี ตรงนี้จึงนำไปสู่หัวใจของกิจการคือการผลิตอาหารจากสิ่งที่คนมองไม่เห็นค่า และการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รากฐานของคาลบี้จึงค่อนข้างสัมพันธ์ทั้งกับบริบทเมืองฮิโรชิม่า การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในยุคหลังสงคราม การตอบสนองต่อปัญหาจากสงครามคือการขาดแคลนอาหาร และความยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงในฐานะนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการ

ขั้นตอนการเริ่มกิจการผลิตอาหารและอาหารแปรรูปจริงๆ ก็ไม่ได้เรียบง่ายนัก ระยะแรกคือในช่วงปี 1947 ก่อนก่อตั้งบริษัทผลิตอาหาร มัตสึโอะก็ได้ผลิตขนมหวานและคาราเมลจากมันหวานและจมูกข้าวแล้ว ตอนนั้นไม่ประสบความสำเร็จเพราะความชอบของคนเปลี่ยนไปมา พอมาถึงผลิตภัณฑ์แรกคือคาลบี้ คาราเมลก็ใช้องค์ประกอบเดียวกันคือเป็นขนมที่ผลิตจากมันเทศและธัญพืช

ทีนี้คิดถึงคาลบี้ เราคิดถึงข้าวเกรียบ ซึ่งข้าวเกรียบแท่งรสกุ้งที่กินกันทั่วโลกรวมถึงบ้านเราก็มาจากดีเอ็นเอและความขาดแคลนด้วย คือในช่วงทศวรรษ 1950 ช่วงนั้นยังว่ามีความขาดแคลนด้านอาหารอยู่ วัตถุดิบสำคัญคือข้าวยังเป็นวัตถุดิบที่หายากและมีราคาแพง มัตสึโอะมองเห็นว่าช่วงนั้นมีแป้งสาลีที่นำเข้ามาอย่างมากมายจากสหรัฐฯ มีคุณสมบัติที่ไม่แตกต่างจากข้าวที่หายากและมีราคาแพง 

ในปี 1955 มัตสึโอะได้ดันผลิตภัณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นข้าวเกรียบข้าวสาลี (wheat crackers) แรกของญี่ปุ่น มัตสึโอะตั้งชื่อว่าเป็นคัปปะอาราเระ (Kappa Arare) ยืมชื่อปีศาจคัปปะมาเป็นตัวแทน จากการเปิดตัวข้าวเกรียบจากข้าวสาลี ขนมตระกูลคัปปะของคาลบี้ก็ขายดีและพิสูจน์ความคิดของมัตสึโอะอีกครั้ง และเจ้าขนมในคัปปะนี้เองก็ได้พัฒนามาสู่สุดยอดข้าวเกรียบที่กลายเป็นต้นแบบของข้าวเกรียบโลกคือคัปปะเอบิเซน (Kappa Ebisen) ซึ่งก็คือข้าวเกรียบแท่งรสกุ้งนั่นเอง

คัปปะเอบิเซน ก็คือเจ้าขนมคาลบี้ที่เราเรียกกันอย่างลำลอง เป็นข้าวเกรียบแท่งๆ รสกุ้งที่ตัวมันเองกลายเป็นสินค้าหลักในการตีตลาดในระดับโลกรวมถึงเมืองไทยด้วย เจ้าคัปปะเอบิเซนเปิดตัวในปี 1964 ซึ่งที่มาของขนมนี้มาจากคุณมัตสึโอะและบริบทเมืองฮิโรชิม่าอีกแล้ว คือครั้งหนึ่งมัตสึโอะผ่านไปที่อ่าวที่ทะเลเซโตะ (Seto) ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่เสียหายหนักจากระเบิด ทีนี้ตอนนั้นเองมัตสึโอะเห็นกุ้งที่ชาวประมงเอามาตากแห้ง กุ้งนั้นทำให้มัตสึโอะนึกย้อนไปยังความทรงจำวัยเด็กที่แม่ของเขาจับกุ้งจากแม่น้ำและนำมาทอดเป็นเทมปุระ ซึ่งกุ้งเทมปุระนับเป็นสุดยอดของพิเศษสำหรับเขา และคิดขึ้นว่า ทำไมถึงไม่ทำข้าวเกรียบรสกุ้ง จนสุดท้ายจากการทดลองหลายๆ ครั้งก็ได้เป็นต้นแบบและผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบกุ้งที่ขายดีมาจนถึงทุกวันนี้

เจ้าคัปปะเอบิเซนนับเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายในตระกูลคัปปะที่มีรากฐานมาจากการปรับใช้ข้าวสาลีมาเป็นขนมกินเล่น เจ้าข้าวเกรียบรสกุ้งนี้กลายเป็นสินค้าขายดีในทันที กลายเป็นขนมที่กินง่ายและได้รับความนิยมโดยเฉพาะในร้านคาราโอเกะหรือในร้านขนมขบเคี้ยว นอกจากการปรับแป้งสาลียังมีผลิตภัณฑ์อื่นเช่น ขนม Sapporo Potato ที่พัฒนาโดยเอามันฝรั่งที่เคยบริโภคในรูปแบบแป้งมันฝรั่งมาทำเป็นขนม หรือขนม JagaRico ก็พัฒนาขึ้นจากการใช้มันฝรั่งตกเกรดที่นำไปใช้ผลิตมันฝรั่งแผ่นไม่ได้ เอามาผ่านกรรมวิธีและผลิตออกมาเป็นรูปแบบแท่งคล้ายเฟรนช์ฟรายส์

จากการกลับไปดูภาพของฮิโรชิม่าหลังเหตุระเบิด การค่อยๆ ลุกขึ้นและเติบโตขึ้นใหม่จากเถ้าถ่านของภาคธุรกิจ จนสุดท้ายกลายมาเป็นข้าวเกรียบแท่งในมือเรา ทั้งหมดนี้มีประวัติศาสตร์ ที่มา และบริบทที่สัมพันธ์กับบาดแผล ความรุนแรงก็จริง แต่หลายส่วนสัมพันธ์กับการยืนหยัดขึ้นใหม่อีกครั้ง รวมถึงการใช้นวัตกรรมและปรัชญาการทำงาน เช่นคาลบี้เองก็มีแนวคิดในการผลิตอาหารให้เมืองซึ่งในนวัตกรรมอาหารของคาลบี้เองก็มีมิติอื่นๆ อีกมากมายเช่นปรัชญาการทำงาน การค้นคว้า หรือการใช้ความก้าวหน้าที่คิดค้นขึ้นในการตอบสนองโจทย์ทั้งของตัวบริษัทเอง และตอบสนองกับโจทย์รอบๆ ตัวด้วย

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like