นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

A Price to Pee

ยังจ่ายเงินเข้าห้องน้ำไหม ไอเดียเปลี่ยนฉี่เป็นทองยุคโรมันสู่อิสรภาพการปลดทุกข์ที่อเมริกา

ถ้าพูดถึงค่าเข้าห้องน้ำ ในบางพื้นที่เช่นประเทศแถบยุโรป การเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งมีราคาดั่งทอง ค่าเข้าห้องน้ำอาจสูงได้ถึง 1.5 ยูโร หรือราว 60 บาทต่อการเข้าห้องน้ำหนึ่งครั้ง 

กลับกัน อเมริการวมถึงบ้านเราไม่ค่อยเก็บค่าเข้าห้องน้ำเท่าไหร่ บ้านเราเองแม้ยังคงมีห้องน้ำที่เก็บค่าบริการ อาจจะ 3 บาทบ้าง 5 บาทบ้าง แต่ก็ไม่มากเมื่อเทียบกับกรณีของยุโรป

ถ้ามองลึกลงไป แม้การเข้าห้องน้ำจะเป็นการปลดทุกข์ แต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาห้องน้ำก็อาจเป็นทุกข์ก้อนใหญ่ของผู้ดูแล ห้องน้ำแบบเก็บเงินจึงแทบจะเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับนวัตกรรมห้องน้ำและห้องน้ำสาธารณะ 

คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ในครั้งนี้เราจะขอพาทุกท่านหวนกลับไปสู่ธรรมเนียมของการจ่ายเงินเข้าห้องน้ำ อีกหนึ่งพื้นที่ที่เราคุ้นเคยที่ตอนนี้เริ่มจะไม่เคยคุ้น ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการปลดทุกข์ในพื้นที่สาธารณะ จากความหรูหราสะดวกสบายในอังกฤษถึงการปลดล็อกการฉี่ฟรีในอเมริกา

ทำฉี่ให้เป็นทอง ไอเดียหาเงินจากจักรพรรดิโรมัน

ห้องน้ำถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่มากับระบบท่อที่มีคุณภาพและซับซ้อน ห้องน้ำสาธารณะจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของอนามัยของเมือง และเมื่อเมืองหนาแน่นขึ้นการปวดท้องเข้าห้องน้ำนอกสถานที่จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ห้องน้ำสาธารณะแบบจ่ายเงินจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น

โรมเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่มีระบบท่อและเริ่มมีห้องน้ำสาธารณะตั้งแต่ราว 200 ปีก่อนคริสตกาล เรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิแว็สปาซิอานุส (Vespasianvs) จักรพรรดิผู้ปกครองโรมเป็นเวลาสั้นๆ แค่ 10 ปี ในช่วง ค.ศ. 69 แต่จักรพรรดิพระองค์นี้ริเริ่มมรดกสำคัญคือการเริ่มสร้างโคลอสเซียม 

รัชสมัยของแว็สปาซิอานุสเป็นยุคที่โรมไม่มั่นคงและท้องพระคลังของโรมร่อยหรอ องค์จักรพรรดิใหม่ต้องหาเงินเพื่อจ่ายเหล่าทหารซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพาพระองค์ขึ้นสู่บัลลังก์ได้ การหาเงินของพระองค์เกี่ยวกับการออกภาษีปัสสาวะหรือ urine tax ซึ่งเป็นที่มาของการล้อเลียนองค์จักรพรรดิและเกิดวลี Pecunia non olet หรือเงินนั้นไม่เหม็น คือค่าของเงินไม่ได้เสื่อมเสียไปตามที่มาของมัน

จากวลีและการเก็บภาษี นักประวัติศาสตร์แบ่งความคิดเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกเชื่อว่าการเก็บภาษีมาจากการขายปัสสาวะ คือในยุคโรมัน ชนชั้นล่างของโรมจะปัสสาวะลงในถังและนำถังไปเทรวม เมืองจะนำปัสสาวะไปขายต่อซึ่งใช้ในกิจการ เช่นการฟอกหนังหรือฟอกขนแกะ ตรงนี้เองที่ผู้ซื้อจะต้องจ่ายภาษีด้วย

อีกด้านเชื่อว่ามาจากสาธารณูปโภคห้องน้ำสาธารณะของโรมัน ซึ่งเป็นห้องน้ำอย่างหรูหรา มีแท่นโถทำจากหินอ่อน เป็นส่วนหนึ่งของโรงอาบน้ำและสระสาธารณะ ตรงนี้เองที่เชื่อว่าจักรพรรดิเก็บเงินค่าเข้าใช้บริการห้องน้ำหรูหราและถือเป็นร่องรอยแรกๆ ของการจ่ายเงินเพื่อเข้าสุขา

นวัตกรรมชักโครกของอังกฤษ และความก้าวหน้าอันหรูหรา

จากสมัยโรมัน เราพากลับมายังประวัติศาสตร์สมัยไม่ไกลนักกับยุคที่คอลัมน์ของเรามักจะพูดถึง คือยุควิคตอเรียน ยุคสมัยที่โลกตะวันตกเริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางอย่างเป็นร่องรอยเค้าลางของโลกปัจจุบัน 

และเป็นอีกครั้งที่เราจะพาไปยังลอนดอน ไปยังนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติสมัยใหม่คืองาน The Great Exhibition ในปี 1851 งานนิทรรศการสำคัญของลอนดอนซึ่งจัดแสดงนวัตกรรมเช่นเรือนกระจกและเครื่องจักรอุตสาหกรรมต่างๆ 

หนึ่งในนวัตกรรมที่ร่วมจัดแสดงในครั้งนั้นคือห้องน้ำสาธารณะที่มาพร้อมกับระบบชักโครกเป็นครั้งแรก ห้องน้ำนี้ออกแบบโดยจอร์จ เจนนิงส์ (George Jennings) ช่างประปาชาวไบรตัน การเข้าใช้บริการต้องเสียเงิน 1 เพนนี แต่ตัวห้องน้ำที่ปิดมิดชิดนั้นจะมากับที่นั่งที่สะอาด ผ้าเช็ดมือ หวี มีกระทั่งบริการขัดรองเท้า คือเป็นห้องน้ำอย่างหรูหราไม่ธรรมดา 

เจ้าห้องน้ำในงานแสดงได้รับความนิยมและผู้คนตื่นเต้นมาก 

มากขนาดที่ต่อมา ‘Spend a penny’ กลายเป็นสำนวนอังกฤษแปลว่า ‘การไปเข้าสุขา’ 

มากขนาดที่ว่าระหว่างงานมีคนมาใช้บริการรวมแล้วถึง 800,000 คน ในช่วงราว 5 เดือนที่จัดนิทรรศการ ด้วยความยอดนิยมเจ้าของนวัตกรรมห้องน้ำจึงขอให้เจ้าห้องน้ำสาธารณะใหม่นี้ยังคงตั้งให้บริการอยู่ที่ไฮด์ปาร์กต่อไปหลังนิทรรศการจบ ซึ่งเจ้าส้วมใหม่ทำเงินได้ราวปีละ 1,000 ปอนด์

ตรงนี้เองที่สุขภัณฑ์รวมถึงห้องน้ำสาธารณะกลายเป็นกิจการสำคัญใหม่ของเมือง หลังจากนิทรรศการ The Great Exhibition ลอนดอนก็เริ่มมีห้องน้ำสาธารณะปรากฏขึ้นในช่วงทศวรรษ 1850s ซึ่งห้องน้ำในยุคนี้ยังไม่เป็นที่นิยมและถูกทุบทำลายไปภายในเวลาไม่นาน

จากห้องน้ำต้นแบบที่มีชื่อเสียงค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ระบบชักโครกที่มีประสิทธิภาพขึ้น มีการพัฒนาลูกลอยโดยโทมัส แครปเปอร์ (Thomas Crapper) 

ส่วนเจนนิงส์ผู้เป็นเจ้าของห้องน้ำต้นแบบเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในปี 1882 ทว่าลูกชายของแกดำเนินกิจการต่อ ในปี 1895 บริษัทรุ่นลูกของแกดำเนินการก่อสร้างห้องน้ำในหลายเมืองสำคัญทั้งเมืองของอังกฤษ 36 เมือง รวมถึงเมืองในปารีส ฟลอเรนซ์ เบอร์ลิน มาดริด ไกลไปถึงซิดนีย์ และบางส่วนของอเมริกาใต้

ห้องน้ำสาธารณะของอังกฤษและยุโรปในยุคแรกยังไม่ได้เป็นแค่ห้องน้ำ แต่เป็นบริการสาธารณะชั้นเยี่ยม ตัวห้องน้ำที่ผุดขึ้นในพื้นที่จะต้องออกแบบอย่างสวยงาม ใช้วัสดุพิเศษเช่นหินอ่อนและทองแดง กรุด้วยเซรามิกหรือกระเบื้องอย่างหรูหรา ห้องน้ำอาจสร้างไว้บนพื้นดินเป็นอาคารขนาดเล็กหรืออาจสร้างไว้ใต้ดินที่ต้องก้าวเดินลงไป เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่แสดงถึงความก้าวหน้าทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมของยุควิคตอเรียน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ห้องน้ำสาธารณะในยุคกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 รวมถึงพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ของผู้ชายเป็นหลัก ห้องน้ำส่วนใหญ่ออกแบบสำหรับสุภาพบุรุษ ไม่ใช่สุภาพสตรี ตรงนี้เองที่ห้องน้ำกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผูกมัดผู้หญิงไว้กับบ้าน 

พวกเธอจะเดินทางไปในระยะขอบเขตของบ้าน ทั้งบ้านตัวเองหรือบ้านของญาติพี่น้องซึ่งพวกเธอจะใช้ห้องน้ำได้ เรื่องห้องน้ำและการปลดปล่อยผู้หญิงเป็นอีกมหากาพย์การต่อสู้ที่ยาวนานซึ่งค่อนข้างเกี่ยวข้องกับการทำให้ห้องน้ำเข้าถึงได้ เป็นบริการพื้นฐานและฟรีมากขึ้น

ปัจจุบันที่อังกฤษส่วนใหญ่มีบริการห้องน้ำสาธารณะฟรี บางสุขาสาธารณะเก็บเงินแต่มีโถปัสสาวะฟรีให้กับผู้ชาย แน่นอนว่าทำให้ผู้คนขุ่นเคือง แต่ในแง่การดูแลระบุว่าห้องน้ำสตรีมีค่าใช้จ่ายในการดูแลมากกว่า และโถปัสสาวะที่ฟรีก็ทำเพื่อป้องกันการฉี่ในที่สาธารณะ

อเมริกา กับสัดส่วนห้องน้ำฟรี 1 เสียเงิน 2

จากงานนิทรรศการยิ่งใหญ่ที่อังกฤษ ห้องน้ำแบบจ่ายเงินของอเมริกาที่กลายเป็นประเด็นก็เกิดจากงานนิทรรศการในทำนองเดียวกัน 

ในปี 1893 ชิคาโกมีการจัดเวิลด์แฟร์ขึ้น ในงานนิทรรศการผู้จัดเตรียมต้อนรับผู้มาเยือนที่คาดจำนวนไว้หลักล้านคน จึงมีการสร้างห้องน้ำไว้ 2,000 ห้อง กระจายอยู่ 32 จุดทั่วงานเอกซ์โป ในตอนนั้นอเมริกามีกฎหมายว่าพื้นที่ต้องมีห้องน้ำฟรีให้บริการด้วย ซึ่งการมีห้องน้ำฟรีหนึ่งในสามห้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อสัญญาในการจัดงาน 

งานนี้จึงมีห้องน้ำบริการ 2 แบบ หนึ่งในสามเป็นห้องน้ำฟรี ส่วนห้องน้ำเสียเงินราคา 5 เซนต์ เป็นห้องน้ำอย่างหรูที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่แค่สบู่ แปรง ผ้าขนหนู แต่ยังมีพนักงานช่วยเหลือประจำจุดด้วย

ทว่าการมีห้องน้ำและห้องน้ำเสียเงินเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการถกเถียงเรื่องการเข้าถึงห้องน้ำ ในช่วงที่มีนิทรรศการ หนังสือพิมพ์บางรัฐ บางฉบับ ตีพิมพ์เสียงบ่นของสุภาพสตรีผู้ไปชมงานซึ่งบอกว่าห้องน้ำฟรีไม่ถูกสุขอนามัย หาก็ยาก  

แม้จะมีเสียงบ่นและข้อถกเถียงเรื่องการเข้าถึงห้องน้ำฟรี แต่เสียงตอบรับส่วนใหญ่ยังไม่คิดอะไรมาก งานนิทรรศการเป็นเหมือนพื้นที่ชั่วคราว ถ้าอยากเข้าห้องน้ำหรูก็ยอมเสียหน่อย เป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง

หนึ่งทศวรรษหลังจากนิทรรศการ กิจการรถไฟขยายตัวในอเมริกา สิ่งที่มาพร้อมกับสถานีรถไฟที่หรูหราและสะดวกขึ้นคือห้องน้ำ ช่วงนี้เองที่สถานีรถไฟใหม่ในทศวรรษ 1900 เริ่มโฆษณาว่าห้องน้ำของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง และช่วงเดียวกันนี้ที่ห้องน้ำของสถานีรถไฟติดตั้งระบบล็อกด้วยเหรียญที่จะจำกัดผู้ใช้งาน ให้เข้าห้องน้ำได้เฉพาะผู้ที่ซื้อตั๋วเดินทางเท่านั้น

หนึ่งในห้องน้ำที่น่าสนใจคือการเปิดบริการอาคารผู้โดยสารใหม่ของสาย Northwestern Line ในชิคาโกในปี 1911 สถานีนี้มีการโฆษณาว่าทุกจุดของการเดินทางคือความสะดวกสบาย มีห้องน้ำหรูหราให้บริการ ซึ่งตัวห้องน้ำที่สถานีใหม่นี้เก็บเงินเฉพาะห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิงใช้ฟรี ส่วนหนึ่งมาจากการเดินทางของสุภาพสตรีที่ผู้หญิงไม่เตร่อยู่นอกบ้าน การใช้งานห้องน้ำหญิงจึงเป็นผู้โดยสารของรถไฟขบวนหรู 

หลังจากนั้นการสร้างห้องน้ำในพื้นที่สาธารณะของอเมริกา เช่นในสวนหรือจัตุรัสต่างๆ ซึ่งมักสร้างไว้ใต้ดินจึงมักเป็นการสร้างห้องน้ำที่ฟรีและจ่ายเงินไว้คู่กัน สิ่งที่น่าแปลกใจคือหลังจากงานเอกซ์โปที่ชิคาโก ข้อโต้แย้งเรื่องการเก็บเงินเข้าห้องน้ำจะพูดถึงการจ่ายเงินเพื่อรักษาตัวห้องน้ำให้สะอาดเสมอ และหลักการหนึ่งในสามของห้องน้ำฟรีเป็นสัดส่วนสำคัญที่ทำให้อเมริกันชนยังยอมจ่ายเงินเพื่อเข้าห้องน้ำกันอยู่

1970 กับการปลดล็อกห้องน้ำของเด็กมัธยม

การต่อสู้เรื่องห้องน้ำของอเมริกามีการคัดง้างกันมา และตัวมันเองสัมพันธ์กับบริบทที่อเมริกามีความเคลื่อนไหวทางความคิดโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ด้วยบริบทของยุคหลังสงครามกลางเมือง กระแสสิทธิของคนผิวดำ, กระแสสิทธิสตรี, กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านสงคราม แต่ทว่าหนึ่งในหมุดหมายสำคัญคือการเกิดขึ้นของคณะกรรมการยุติห้องน้ำเสียเงิน (Committee to End Pay Toilets in America) 

คณะกรรมการที่ชื่อสุดเท่นี้จริงๆ เป็นการเคลื่อนไหวของเด็กมัธยมชาวโอไฮโอ 4 คน นำโดยนักเรียนหญิงวัยเพียง 19 ปี เป็นแรงผลักสำคัญในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ที่ทำให้ห้องน้ำเสียเงินถูกรื้อออกจากอเมริกา

จุดเริ่มของการเคลื่อนไหวเริ่มต้นอย่างเรียบง่าย ในตอนที่ครอบครัวเจสเซล (Gessel Family) ขับรถโร้ดทริปไปในแถบเพนซิลเวเนีย ในตอนนั้นไมเคิลและไอราเจสเซล สองหนุ่มน้อยวัยรุ่นต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าห้องน้ำในร้านอาหารแห่งหนึ่งและรู้สึกว่ามันช่างแย่ซะเหลือเกิน

ตรงนี้อาจเป็นสปิริตของยุค 70s สองพี่น้องรู้สึกว่าอยากจะยุติการต้องจ่ายเงินเข้าห้องน้ำ ไอราลงมือเขียนบทความถึงสภาคองเกรสเพื่อยุติห้องน้ำเสียเงิน จากจดหมายถึงรัฐ สองพี่น้องเริ่มรวมกลุ่มเป็นคณะกรรมการ ออกแบบโลโก้ มีการปรินต์บทความไปแปะในห้องน้ำ มีการแต่งเพลงมาร์ช จากกลุ่มเล็กๆ ที่มีสมาชิกไม่ถึง 30 คนในชมรมหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน 

ในช่วงปี 1970 สมาพันธ์ยุติห้องน้ำจ่ายเงินกลายเป็นสมาคมระดับประเทศ มีสมาชิกที่จ่ายเงิน 0.25 ดอลลาร์สหรัฐ ราว 1,800 คนเพื่อรับนิตยสารของสมาคมที่เรียกอย่างตลกขบขันว่า Free Toilet Paper มีการตั้งรางวัลโทมัส แครปเปอร์ตามผู้พัฒนาลูกลอยและระบบชักโครกที่พูดถึงไปด้านบน การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านห้องน้ำจ่ายเงินทำไปด้วยความสดใหม่ กวนประสาทนิดๆ แต่ทว่าประสบการณ์ต้องจ่ายเงินเข้าห้องน้ำเป็นสิ่งที่สาธารณชนสัมผัสได้

ความเคลื่อนไหวของเด็กๆ เป็นความเคลื่อนไหวที่เคลื่อนไปพร้อมกับความก้าวหน้าเช่นประเด็นเรื่องสิทธิสตรีที่เริ่มในยุค 70s เช่นเดียวกัน จากกลุ่มหลักพันคนเริ่มได้รับความสนใจจากสื่อของรัฐ หลังจากนั้นเมืองเช่นชิคาโกและโอไฮโอก็เริ่มออกกฎหมายถอดถอนห้องน้ำเสียเงิน จากสัดส่วนห้องน้ำฟรีและเสียเงินที่ต้องมี 1 ต่อ 1 สู่หมุดหมายสำคัญในปี 1973 

ในปี 1973 ชิคาโกเป็นเมืองแรกที่แบนห้องน้ำจ่ายเงินอย่างเป็นทางการ ก่อนเริ่มขยายตัวไปยังเมืองสำคัญตั้งแต่นิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ มินนิโซตา แคลิฟอร์เนีย ฟลอริด้า และโอไฮโอ ในปี 1976 มี 12 รัฐผลักดันกฎหมายแบนห้องน้ำเสียเงิน และในปีนั้นเองที่กลุ่มประกาศชัยชนะและประกาศสลายตัวสมาพันธ์ไปในที่สุด

กลุ่มเด็กมัธยมที่ต่อมากลายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยและกลุ่มขับเคลื่อน ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ห้องน้ำในอเมริกากลายเป็นสาธารณูปโภคฟรีในปัจจุบัน ซึ่งในยุคหลังนี้ก็มีการโต้แย้งอยู่บ้างเช่นการรื้อถอนห้องน้ำสาธารณะเสียเงินไม่ได้เพิ่มห้องน้ำสาธารณะขึ้นใหม่ ที่มีอยู่ก็เลอะๆ 

แต่ในภาพรวม การเข้าถึงห้องน้ำฟรีได้ก็สัมพันธ์กับหลักคิดเรื่องสิทธิและบริการที่ตอบสนองกับความต้องการพื้นฐาน การเข้าห้องน้ำได้หลายครั้งเป็นความจำเป็นและการปลดทุกข์ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานและเร่งด่วนอยู่เหมือนกัน

จากประเด็นเรื่องห้องน้ำเสียเงิน หนึ่งในบริการที่สิบปีก่อนเราคุ้นเคยและยินดีจ่าย สู่การแพร่กระจายไปในบริบทที่แตกต่างกัน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจเล็กๆ ที่ในตอนนั้นกลุ่มเด็กๆ ไม่ยินยอมจะปล่อยผ่านและทำให้กลายเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกันร่วมสมัย 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

ชื่อกล้วยค่ะ banana blah blah เป็นนักวาด บางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ สนใจ Art therapy และการวาดภาพเพื่อ Healing เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องทำให้เราอิ่มทั้งกายและใจ ได้มองเห็นตัวเองเติบโตภายใน

You Might Also Like