ซักประวัติ
100 ปีแห่งร้านซักรีด ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนจีนในร้านซักรีดที่สหรัฐอเมริกา
ครบรอบหนึ่งปีกับหนังซูเปอร์ฮีโร่ ซือเจ๊ ทะลุมัลติเวิร์ส Everything Everywhere All at Once (ฉายวันที่ 12 พฤษภาคม 2565) นอกจากประเด็นการเป็นหนังต้นทุนไม่สูงนักที่เล่นกับแนวคิดมัลติเวิร์สได้อย่างคมคายแล้ว อีกประเด็นสำคัญของเรื่องคือการสร้างซูเปอร์ฮีโร่เอเชียนอเมริกันขึ้น และเป็นเอเซียนอเมริกันที่มีพื้นฐานเป็นคนธรรมดา เป็นเจ้าของร้านซักรีดที่กำลังดิ้นรนอยู่กับสรรพากร การต่อสู้เริ่มต้นที่แสนจะธรรมดาก่อนจะนำไปสู่การสู้รบอื่นๆ
ทำไมถึงต้องเป็นร้านซักรีด
ถ้าเราดูเผินๆ ร้านซักรีดก็ดูเป็นกิจการหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นบริบทชีวิตธรรมดาของชาวจีนที่ดิ้นรนทำมาหากินอยู่ในอเมริกา เป็นหนึ่งในลูกหลานผู้อพยพที่ไล่ตามความฝันและชีวิตที่ดี ทว่าร้านซักรีดนั้นมีบริบทเฉพาะต่อความเป็นชาวจีนในประวัติศาสตร์อเมริกัน เป็นกิจการที่ผูกติดกับความเป็นคนจีนและความเป็นเอเชียน การสู้รบกับสรรพากรนั้นจึงดูจะเชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์การค้าขายและทำมาหากินของชาวจีนที่เผชิญกับรัฐและอคติทางสังคมมาอย่างยาวนาน ยาวนานในระดับกว่าร้อยปี
ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของซือเจ๊ คอลัมน์ ‘ทรัพย์คัลเจอร์’ อยากชวนเปิดตาที่สามในร้านซักรีด แต่เป็นดวงตาที่พากลับไปดูกิจการร้านซักรีดในส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความเป็นจีน จากจุดเริ่มต้นในยุคบุกป่าฝ่าดงและยุคตื่นทองที่เหล่าชาวจีนอพยพเข้ามาและเผชิญหน้ากับการกดเหยียดและกีดกันตั้งแต่วินาทีที่ล่องเรือมาเพื่อร่วมตามหาดินแดนและความมั่งคั่งใหม่ จากการกดขี่นั้นเอง การซักรีดจึงกลายเป็นอาชีพ เป็นกิจการสำคัญของชาวจีนในการทำมาหากินและเอาตัวรอด เป็นส่วนหนึ่งของการสู้ทนฟันฝ่า การทำงานหนักชนิดไม่พักผ่อนและเป็นส่วนหนึ่งของอคติทางชาติพันธุ์ที่อันที่จริงก็หลงเหลือและยังคงเป็นปัญหามาจนทุกวันนี้
และนี่คือหนึ่งร้อยปีของความเด็ดเดี่ยวจากมุมหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย ผู้อพยพคนจีนรุ่นแรก ยุคสมัยของการทำเหมือง กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และการส่งผ้าไปซักที่แดนไกล
ปี 1849, แคลิฟอร์เนีย, ยุคตื่นทอง และการส่งผ้าไปซักที่เมืองนอก
กิจการร้านซักรีดของชาวจีนเรียกได้ว่าเป็นหัวใจหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน-อเมริกัน ย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ทศวรรษ 1850 ยุคสมัยที่เราเรียกกันอย่างลำลองว่ายุคตื่นทอง
ในตอนนั้นอเมริกาค่อยๆ มีการอพยพและพื้นที่ตอนใต้ของประเทศยังอยู่ในช่วงบุกป่าฝ่าดง ทีนี้ดันเกิดการค้นพบทองคำขึ้นที่แคลิฟอร์เนียทำให้เกิดอาการตื่นทองหรือ gold rush อาการตื่นทองนี้ทำให้คนแห่กันไปหาทองที่แคลิฟอร์เนียกันอย่างมหาศาล ว่ากันว่าจุดพีคของการตื่นทองคือปี 1849 มีคนเดินทางไปราว 300,000 คน จากที่เดิมซานฟรานซิสโกมีคนไปตั้งถิ่นฐานแค่ราว 200 คนเท่านั้น ชาวตื่นทองมีชื่อเล่นว่าพวก forty-niner อาการตื่นทองในทศวรรษนี้ทำให้เกิดการอพยพไปหาทองกันจากทั่วโลกทั้งลาตินอเมริกา ยุโรป และเอเชีย
ต้องนึกภาพว่าในยุคตื่นทองเป็นยุครอยต่อ เป็นช่วงที่คนเดินทางไปยังพื้นที่ทางใต้ที่เป็นเมืองใหม่ เป็นช่วงที่ทางรถไฟก็กำลังก่อสร้างเพื่อเชื่อมพื้นที่ทั้งหมดของอเมริกา ตอนนั้นเองผู้อพยพเดินทางไปแคลิฟอร์เนียก็เพื่อไปเป็นวัยรุ่นสร้างตัว ชาวจีนเองก็เป็นหนึ่งในชาติที่อพยพเพื่อไปหาความมั่งคั่งและความมั่นคงใหม่ๆ สำหรับชาวจีนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็มักจะเหลือทางเลือกในการเป็นแรงงาน ซึ่งแรงงานชาวจีนถูกกดราคาให้ถูกกว่าแรงงานของคนผิวขาว ทางเลือกในการทำงานที่ไม่ดีนักคือการเป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟ
มีคำกล่าวว่าขยันแล้วจะร่ำรวยเอง แต่การโล้เรือรอนแรมมาจนถึงแคลิฟอร์เนียอาจจะยังไม่ใช่หนทางที่ดีนัก เบื้องต้นคือแรงงานคนจีนได้ค่าแรงน้อยกว่า ค่าแรงสร้างทางรถไฟสำหรับคนจีนอยู่ที่ 1-3 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หนึ่งในช่องว่างในการทำมาหากินสำคัญคือในยุคตื่นทองส่วนใหญ่คนที่เดินทางมักเป็นหนุ่มโสด ประกอบกับว่าในยุคนั้นระบบน้ำประปายังไม่สะดวกสบายและไม่ครอบคลุม
ดังนั้นในยุคนั้นเมืองใหม่ที่เต็มไปด้วยหนุ่มโสด คนผิวขาวก็มีความเชื่อว่าความสะอาดเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง การแต่งกายอย่างสะอาดและเรียบร้อยเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ ประกอบกับศตวรรษที่ 19 เริ่มมีความเข้าใจเรื่องแบคทีเรีย การใส่เสื้อผ้าสะอาดจึงเป็นเรื่องจำเป็นหนึ่ง
ทางเลือกของการมีเสื้อผ้าสะอาดใส่ เมืองท่าและเมืองชายแดนทางตอนใต้จึงใช้วิธีการ ‘ส่งผ้าไปซักรีด’ ซึ่งการส่งผ้าไปซักรีดในตอนนั้นไม่ใช่การส่งไปปากซอย แต่คือการส่งขึ้นเรือไปซักและรีดที่ประเทศใกล้เคียงคือฮ่องกง มีค่าซักรีดที่ราว 12 ดอลลาร์สหรัฐ ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนในการขนไปและกลับ ในยุคนั้นทางรถไฟยังไม่เสร็จ การเดินทางจากฝั่งตะวันออกของอเมริกาไปแคลิฟอร์เนียใช้เวลานานกว่านั้น
ปี 1851, หัวมุมถนนวอชิงตันในไชน่าทาวน์, ร้านซักและรีด
การที่ร้านซักรีดกลายเป็นกิจการสำคัญ–อันที่จริงคือทางรอดในการมีชีวิตจากการถูกเหยียดและกดขี่อย่างระบบ เป็นสิ่งที่ประจวบเหมาะจากหลายๆ บริบทของประวัติศาสตร์ แรกเริ่มเลยต้องเข้าใจว่าแรงงานจีนเป็นแรงงานสำคัญโดยเฉพาะแรงงานสร้างรางรถไฟ Central Pacific Railroad (CPRR) มีการประเมินว่าเป็นแรงงานจีนถึง 90% โดยแรงงานจีนมีหน้าที่ทำงานอันตรายเช่นไประเบิดทางเพื่อทำรางรถไฟ ทีนี้ในเมืองใหม่ที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และเต็มไปด้วยหนุ่มโสดและต้องส่งผ้าซัก งานซักรีดจึงเป็นกิจการที่คนจีนเห็นว่าเป็นหนทางในการทำมาหากินที่ดี ดีกว่าการไปสร้างรางรถไฟ
ประกอบกับความคิดที่ว่า งานซักผ้ารีดผ้าเป็นงานของผู้หญิง เป็นงานสกปรกและเป็นงานหนักคือต้องซักทำความสะอาดสิ่งสกปรกออกจากเสื้อผ้าของคนอื่น ในสมัยนั้นการซักรีดต้องใช้การต้มน้ำในถังไม้ ใช้เตารีดที่ใช้ถ่านหรือฟืน การซักรีดต้องทำด้วยมือ เป็นงานที่คนผิวขาวไม่ทำ ในยุคนั้นแรงงานจีนมีความเสี่ยงหลายอย่างเช่นความขัดแย้งกับแรงงานชาติอื่นๆ ทำให้ถูกทำร้ายหรือคุกคามได้ ตรงนี้เองทำให้งานซักรีดเป็นงานที่คนจีนเข้าไปทำได้ คือไม่เป็นพิษเป็นภัย เป็นพื้นที่เฉพาะที่คนขาวก็ไม่ทำ ไม่ยุ่งเกี่ยว และดูแคลน
ในปี 1851 นาย Wah Lee ชาวจีนอพยพจากเมืองซียีในกวางตุ้งจึงเปิดร้านซักรีดแห่งแรกขึ้นที่หัวมุมถนนวอชิงตันในไชน่าทาวน์ของซานฟรานซิสโก ในตอนนั้นมีเพียงหน้าร้านเล็กๆ ที่เขียนว่าซักและรีด (washing and ironing) คิดค่าบริการที่ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อการซักรีดเสื้อหนึ่งโหล ด้วยความต้องบริการซักรีดจำนวนมาก ร้านของนายลีจึงขยายสาขาไปสู่ 20 สาขา และเริ่มทำงานทั้งวันทั้งคืนด้วยการแบ่งกะทำงาน 3 กะต่อวัน
งานในร้านซักรีดถือเป็นช่องทางทำงานที่ดีสำหรับชาวจีนอพยพ โดยทั่วไปค่าจ้างของการทำงานในร้านซักรีดจะอยู่ที่ราว 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน งานร้านซักรีดเป็นงานหนัก สำหรับคนงานทำงานราว 10-16 ชั่วโมงต่อวัน งานในร้านซักรีดนับเป็นงานที่ต้องการความอดทนและความละเอียดถี่ถ้วน งานทุกขั้นตอนในยุคนั้นต้องทำด้วยมือทั้งหมด การดูแลเสื้อผ้าให้สะอาดน่าพอใจโดยเฉพาะการซักฟอกส่วนประกอบสำคัญ เช่น ปกเสื้อ แขนเสื้อ และแนวกระดุม เป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำให้ลูกค้าพอใจ ร้านซักรีดในแง่หนึ่งจึงเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยทักษะและความอดทนขยันขันแข็ง ประกอบกับว่าการเปิดร้านซักรีดในตอนนั้นใช้เงินทุนไม่มากคือราว 500 ดอลลาร์สหรัฐก็สามารถลงทุนเปิดร้านซักรีดได้แล้ว
30 ปีนับจากร้านซักรีดแรก ในปี 1880 มีรายงานว่าที่แคลิฟอร์เนียมีร้านซักรีดของชาวจีนเกิดขึ้นราว 34 ร้าน จุดเปลี่ยนสำคัญของการหลั่งไหลและการผุดขึ้นของร้านซักรีดชาวจีนในอเมริกาเกิดจากการกดขี่และการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ เริ่มจากเมื่อทางรถไฟสายหลักสร้างเสร็จในปี 1869 แรงงานจีนจึงว่างงานและเข้าสู่ตลาดแรงงาน เมื่อสงครามกลางเมืองยุติ คนผิวดำได้รับการปลดปล่อย ความเกลียดชังและการแบ่งแยกจึงได้มุ่งไปสู่คนจีนแทน ในยุคนั้นแคลิฟอร์เนียออกกฎหมายกีดกันคนจีนอย่างเป็นระบบ จากระดับเมืองการกีดกันแรงงานจีนถูกทำอย่างเป็นทางการเมื่อมีการออก Chinese Exclusion Act ในปี 1882 กฎหมายดังกล่าวกีดกันผู้อพยพจีนจากการได้สถานะพลเมือง มีการกีดกันการอพยพเข้า และที่สำคัญคือมีการห้ามประกอบอาชีพสำคัญ เช่น งานเหมือง งานเกษตรกรรม งานประมง และกฎหมาย
ความเจ็บปวดหลังร้านซักรีด ทั้งความเฟื่องฟูของร้านซักรีดที่อันที่จริงเป็นทางเลือกไม่กี่ทางของคนจีนในการทำมาหากินในอเมริกาจึงสัมพันธ์กับการเหยียดชาติพันธุ์ที่มีกฎหมายและความยุติธรรมหนุนหลัง เช่นในปี 1880 มีรายงานว่าในซานฟรานซิสโกมีร้านซักรีด 320 ร้าน และ 95% อยู่ในอาคารที่สร้างด้วยไม้ ยุคนั้นเริ่มเกิดประเด็นเรื่องกฎหมายอาคารและกฎหมายว่าด้วยสุขอนามัย ทางเมืองก็พยายามกลั่นแกล้งด้วยการระบุว่ากิจการในอาคารที่ทำด้วยไม้ต้องขออนุญาต ซึ่ง 2 ใน 3 ของร้านซักรีดทั้งหมดเป็นร้านคนจีน ไม่มีสักร้านที่ได้รับใบอนุญาตและมีแนวโน้มจะถูกสั่งปิดทั้งหมด
สรุป หนึ่งในเจ้าของร้านชาวจีนก็ดื้อแพ่งจนนำไปสู่การต่อสู้ในศาลสูงและอ้างรัฐธรรมนูญเป็นผลจากสงครามกลางเมือง จากการใช้รัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างเน้นคุ้มครองคนผิวดำ การตีความใหม่จากข้อพิพาทร้านซักรีด ทำให้เกิดการตีความใหม่และครอบคลุมคนจีนซึ่งรวมคนเอเชียและชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย
ปี 1943, พันธมิตรสงครามโลกครั้งที่ 2, เครื่องซักผ้า
ชีวิตคนจีนในสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายและการกีดกันนั้น แม้ว่าคนจีนจะเลือกอาชีพและกิจการที่ถูกเหยียดหยาม ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ร้านซักรีดจีนเป็นกิจการที่มีทุกเมืองและขยายตัวอย่างคึกคัก แต่การเอาตัวรอดของคนจีนก็ลุ่มๆ ดอนๆ เรื่อยมา เช่นในยุคหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1929 (Great Depression) อาชีพซักรีดกลายเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมขึ้นมา คนขาวเลยเกลียดคนจีนและเริ่มกีดกันอีกครั้ง
ในทศวรรษ 1930 นิวยอร์กมีร้านซักรีดชาวจีนมากถึง 3,550 ร้าน พอเศรษฐกิจตกต่ำ ทางการออกฎหมายให้แค่พลเมืองอเมริกาเป็นเจ้าของร้านซักรีดได้เท่านั้น กฎหมายนี้มาพร้อมกับการชะลอการให้สิทธิพลเมืองกับคนจีนอพยพ ตรงนี้เองนำไปสู่ความขัดแย้งและการกีดกันอีกช่วงหนึ่งต่อร้านซักรีดและกิจการชาวจีน การสร้างเงื่อนไขเรื่องความเป็นเจ้าของ การเก็บค่าธรรมเนียมของร้านที่มีเจ้าของเป็นชาวจีนนำไปสู่การปิดกิจการของร้านซักรีดจีนในนิวยอร์กเป็นจำนวนมาก
การกดเหยียดและกีดกันคนจีนค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบกับการค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงของร้านซักรีดในฐานะกิจการของชาวจีน หมุดหมายสำคัญคือปี 1943 ปีที่ประเทศจีนเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลก ในการเป็นมหามิตรสหรัฐฯ จึงยกเลิกกฎหมายกีดกันสำคัญคือ Chinese Exclusion Act ในช่วงนี้เองที่การกีดกันด้านอาชีพ การอพยพเข้าประเทศ และการให้สิทธิพลเมืองของชาวจีนจึงบางเบาลงอย่างเป็นรูปธรรม
หนึ่งในนวัตกรรมหลังสงครามโลกที่เข้ามาซัดกิจการของชาวจีนคือการเข้ามาของเครื่องซักผ้า หนึ่งในโฆษณาสำคัญคือโฆษณาเครื่องซักผ้ายี่ห้อ HOOVER ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ภาพโฆษณาหนึ่งของเครื่องซักผ้าสะท้อนความเปลี่ยนแปลงและอคติต่อคนจีนและกิจการร้านซักรีดจีนคือ โฆษณาวาดภาพคนจีนที่คนงานและเจ้าของร้านซักรีดยืนมุงเครื่องซักผ้าสีขาว มีข้อความทำนองว่าชาวจีนหลายคนยอมแพ้ให้กับเจ้าเครื่องนี้ กิจการซักรีดของคนจีนกำลังจะกลายเป็นอดีต เป็นทักษะและบริการพิเศษที่กำลังจะตกยุคและล้าสมัย การซักผ้ากำลังกลายเป็นเรื่องทั่วไปในครัวเรือนด้วยเจ้าอุปกรณ์ใหม่ที่กำลังเข้ามาแทนที่เหล่าคนจีนผู้ขยันขันแข็งนี้
ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นจุดที่กิจการร้านซักรีดในฐานะกิจการเฉพาะของชาวจีนค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง คนจีนรุ่นใหม่ๆ เข้าถึงโอกาสที่ดีกว่า ช่วงทศวรรษ 1920 เองก็เริ่มเกิดกระแสร้านอาหารและอาหารจีน กิจการของคนจีนจึงขยายออกไปสู่กิจการร้านอาหารและอาหารประเภทซื้อกลับบ้าน ร้านซักรีดรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นระบบหยอดเหรียญไม่ได้จำกัดเป็นกิจการของชาวจีนอีกต่อไป
ในปี 2006 มีข่าวสำคัญของการปิดตัวลงของกิจการร้านซักรีดรุ่นที่ 3 ที่เปิดกิจการมา 140 ปีชื่อ Ching Lee Laundry ร้านซักรีดนี้เป็นหนึ่งในร้านซักรีดเก่าแก่ที่เปิดตั้งแต่ยุคตื่นทอง ใช้รถม้าไปรับและส่งผ้าในเมืองเล็กๆ สร้างชุมชนและปรับวิธีการให้บริการจากซักมือมาเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ การปิดตัวลงของร้านนี้จึงนับเป็นหนึ่งในหมุดหมายของการปิดฉากยุคสมัยของร้านซักรีดชาวจีน กิจการสำคัญที่อยู่ร่วมกับประวัติศาสตร์อเมริกัน ร่องรอยของบาดแผล และการกดขี่ที่ยังคงสัมผัสได้ และบางส่วน ปัญหาการเหยียดเอเชียนเองก็ยังคงมีปัญหาอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
จากการเปิดตาที่สามและอ่านประวัติศาสตร์ร้อยปีในร้านซักรีดของซือเจ๊ ทำให้เรามองเห็นความหมายและการต่อสู้อันยาวนานในการต่อสู้ที่แสนธรรมดาทำให้เรามองเห็นทั้งอดีตที่ติดมาในกิจการร้านซักรีด จากหัวมุมบนถนนที่เป็นเลนโคลนและความฝันที่ถูกกีดกันในยุคตื่นทอง เรื่อยมาจนถึงใครก็ตามที่กำลังดิ้นรนในฐานะคนธรรมดา ในฐานะคนเอเชียนที่พยายามมีชีวิตที่ดีโดยดิ้นรนบนเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมและงี่เง่าแค่ไหนก็ตาม
แด่ประวัติศาสตร์หนึ่งร้อยปีของร้านซักรีด–ตัวแทนของการดิ้นรนและการยืนหยัดต่ออคติและความอยุติธรรม
อ้างอิงข้อมูลจาก
- usdandelion.com/archives/4592
- katiegeesalisbury.medium.com/the-invention-of-the-chinese-laundry-3ac0345b8b0f
- goldthread2.com/identity/why-chinese-laundry-stereotype-persists/article/3000121
- archives.gov/milestone-documents/chinese-exclusion-act
- nbcnews.com/news/asian-america/oldest-chinese-laundry-u-s-closes-shop-after-140-years-n675186
- asamnews.com/2020/04/30/how-racism-and-discrimination-made-working-in-a-laundry-the-job-of-last-resort-for-chinese-in-america