Sauce Power
การตลาดและการปรับตัวของเครื่องปรุงรสของไทยที่ส่งออกไปไกลจนติดท็อป 3 ของโลก
คล้ายเป็นกฎสากลบนโลกว่าเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่จำต้องพกติดตัวไปด้วยคือเครื่องช่วยดำรงชีพในต่างแดน
ไปเมืองหนาวก็ต้องเอาเสื้อกันหนาวและรองเท้าบู๊ตติดกระเป๋าไป ถ้าเดินทางไปเมืองร้อนอุปกรณ์กันแดดทั้งหลายทั้งแว่นดำ ครีมกันแดด ก็จำเป็นต้องมี เหล่านี้คือสิ่งจำเป็นที่รู้กันในหมู่ชาวโลกผู้ชอบเดินทางท่องเที่ยว
แต่ถ้าว่ากันด้วยเรื่องปากท้องยามเดินทางไปต่างแดน ไอเทมสากลที่ใครต่อใครมักพกติดตัวไปด้วยเมื่อต้องเดินทางไปยังประเทศที่ไม่คุ้นเคยก็คงจะเป็นอะไรสักอย่างที่ทำให้เราหวนคิดถึงรสชาติอาหารในบ้านเกิด เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลากรสชาติ แต่สำหรับคนไทย นอกจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแล้วเรามักจะมีสิ่งพิเศษเพิ่มเติมที่พอช่วยบรรเทาอาการคิดถึงบ้านของเราให้น้อยลงนั่นคือ เครื่องปรุงรส ซอสนานาชนิด หรือน้ำจิ้มต่างๆ
เนื่องด้วยเมนูอาหารไทยส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีรสชาติครบรส ทั้งเปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวาน บางครั้งบางทีหากต้องไปที่ไหนนานๆ แล้วต้องไปสัมผัสกับรสชาติอาหารที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไปในที่ที่รสชาติอาหารมีมิติไม่มาก เช่น อาหารที่มีรสค่อนไปทางเค็มและมันเลี่ยนเคลือบอยู่ ลิ้นที่ถูกฝึกฝนมาทั้งชีวิตให้คุ้นชินกับความหลากหลายของรสชาติก็อาจจะรู้สึกไม่คุ้นและลำบากใจเมื่อต้องกินอาหารท้องถิ่นต่างๆ เป็นเวลาหลายวันติดกัน เครื่องปรุงรสแบบพกพาจึงเป็นไอเทมช่วยชีวิตของหลายต่อหลายคนเมื่อยามเดินทาง
เครื่องปรุงรสของไทยที่เราคุ้นชินกันดีคือพวกน้ำปลา ซอสหอยนางรม ซีอิ๊วขาว ซอสพริก แต่ในปัจจุบันเราเริ่มได้เห็นความมากมายหลากหลายในตลาดเครื่องปรุงรสในไทยมากขึ้น ทั้งในด้านของผู้เล่นหน้าใหม่หลากหลายแบรนด์ที่กระโดดเข้ามาเล่นในสนามนี้เยอะขึ้น รวมไปถึงความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างไปจากเดิมและทำให้ผู้บริโภคสะดวก ทันใจ อร่อยง่ายกว่าเดิม เช่น ความแพร่หลายของปลาร้าแบบบรรจุขวดสำเร็จรูป น้ำจิ้มซีฟู้ดแบบผงผสมน้ำแล้วใช้ได้เลย หรือน้ำจิ้มสุกี้พริกกะเหรี่ยงแบบบรรจุขวด
นวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ต่างทยอยสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าลูกค้าของกลุ่มเครื่องปรุงรสอาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศเองเครื่องปรุงรสไทยก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน อ้างอิงได้จากสถิติการส่งออกเครื่องปรุงรสไทยที่ทะยานสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19
โดย 2 เดือนแรกของปี 2563 ตลาดส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยมีมูลค่าสูงถึง 135.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีนเท่านั้น
คุณอาจจะแปลกใจว่าการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นได้ยังไงในช่วงโควิด-19 ทั้งๆ ที่ร้านอาหารและการเดินทางถูกจำกัด หรืออาจจะเรียกได้ว่าถูกงดไปเลยในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง
การล่มสลายของอาณาจักรร้านอาหารมากมายในช่วงโควิด-19 เป็นฝันร้ายของคนทำธุรกิจอาหาร แต่ในทางตรงกันข้ามในขณะที่คนออกไปกินข้าวนอกบ้านน้อยลง นั่นหมายความว่าผู้คนจำต้องทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้น เชฟหน้าใหม่ในบ้านคุณที่อาจจะเป็นตัวคุณเอง เป็นคนรักของคุณ หรือเป็นคุณพ่อคุณแม่ของคุณ หลายคนคงเล็งเห็นแล้วว่าหนึ่งในความสนุกที่ได้ประกอบอาหารที่บ้านคือการสร้างสรรค์รสชาติให้หลากหลายและซับซ้อน ว่ากันว่าคนเรามักชอบท้าทายตัวเองให้เก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ ในด้านต่างๆ และเครื่องปรุงรสคือตัวช่วยที่จะทำให้อาหารในจานของคุณรสชาติซับซ้อนและลึกซึ้งขึ้น
สถิติว่าไว้ว่าเครื่องปรุงรสไทยสามารถผลักดันให้ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรุงรสติดอันดับท็อป 3 ของโลกได้ในช่วงโควิด-19 แม้ในช่วงที่ร้านอาหารเริ่มทยอยเปิดตัวตลาดเครื่องปรุงรสของไทยยังคงแข็งแกร่งโดดเด่นเป็นสง่าท่ามกลางตลาดเครื่องปรุงรสของโลกใบนี้ จากสถิติปี 2564 ที่ตลาดเครื่องปรุงรสของไทยทำสถิตินิวไฮอยู่ที่ 140.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พูดง่ายๆ ก็คือเพิ่มขึ้นจากสถิติปี 2563 ไปอีก 3.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
สาเหตุอาจจะส่งผลมาจากความนิยมอาหารไทยในต่างแดนและการกลับมาของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ทยอยเปิดตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสินค้าจำพวกเครื่องปรุงรสที่ขายดิบขายดีและเป็นที่นิยมคือ เครื่องปรุงรสประเภทซอส (ขยายตัว 18%), น้ำปลา (ขยายตัว 8%), ผงปรุงรส (ขยายตัว 4%) และสิ่งปรุงรสอื่นๆ (ขยายตัว 9%) โดยตลาดส่งออกเครื่องปรุงรสที่สำคัญของไทย คือ ตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น (ขยายตัว 6%), เกาหลีใต้ (ขยายตัว 23%), จีน (ขยายตัว 41%), ฮ่องกง (ขยายตัว 36%), นิวซีแลนด์ (ขยายตัว 6%), ชีลี (ขยายตัว 123%) และเปรู (ขยายตัว 542%)
ถึงแม้ว่าการขยายตัวของตลาดเครื่องปรุงรสในไทยจะคึกคักและสามารถสร้างเม็ดเงินมากมายให้กับผู้ประกอบการเครื่องปรุงรสในไทย แต่การพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งในสมรภูมิเครื่องปรุงรสในไทยยังมีให้เห็นอยู่มากมาย เราได้เห็นลีลาและนวัตกรรมที่สดใหม่อยู่เสมอของเครื่องปรุงรสในไทย เช่นการที่เครื่องปรุงรสตราเด็กสมบูรณ์ออกไอศครีมรสซีอิ๊วดำ และไอศครีมรสบ๊วย เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการโปรโมตสินค้าว่า นอกจากจะเป็นเครื่องปรุงรสแล้วซอสซีอิ๊วดำของตนก็สามารถทำหน้าที่เป็น sundae sauce หรือซอสราดท็อปปิ้งบนไอศครีมได้เช่นกัน
หรือการที่ซอสโรซ่าทำการตลาดร่วมกับหนังไทยที่ทำสถิติมียอดผู้เข้าชมสูงที่สุดในแพลตฟอร์มของ Netflix อย่างเรื่อง Hunger คนหิว เกมกระหาย (2566) โดยในหนังจะมีเมนูที่ชื่อว่า ‘ผัดงอแง’ ที่เป็นเมนูก๋วยเตี๋ยวผัดที่ส่งทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของครอบครัวนางเอกที่คุณพ่อเอาของในตู้เย็นมาผัดรวมกันและเสิร์ฟให้ลูกๆ กินเมื่อยามที่ลูกป่วยและไม่ยอมกินข้าว เนื่องด้วยกระแสความนิยมของหนังและงานภาพที่สวยจนยั่วน้ำลาย ผู้คนจึงเฟ้นหาว่า ผัดงอแงนั้นสามารถหากินได้ที่ไหน จากนั้นไม่นานเราก็ได้เห็นทั้งร้านก๋วยเตี๋ยวที่เริ่มมีเมนูผัดงอแงงอกเงยขึ้น รวมทั้งแบรนด์ซอสโรซ่าที่ออกซอสรสชาติ ‘ผัดงอแง’ ให้ลูกค้าสามารถเอาไปผัดเองได้ที่บ้าน
ความรุ่งเรืองของตลาดซอสปรุงรสในไทยเราอาจต้องยกเครดิตให้หลายภาคส่วน ทั้งความครีเอทีฟสร้างสรรค์ไม่หยุดอยู่กับที่ของผู้ประกอบธุรกิจเครื่องปรุงรสในไทย ย้อนกลับไปจนถึงรสชาติอาหารไทยที่อนุญาตให้เราสามารถมีเครื่องปรุงรสที่มากมายและมีรสชาติอันหลากหลายได้ ผลประโยชน์ทั้งปวงจึงตกมาอยู่ในมือผู้บริโภคที่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเดินไปในโซนเครื่องปรุงรสเราจึงรู้สึกเหมือนกับว่าเราได้ท่องเที่ยวไปในดินแดนแห่งรสชาติ
อ้างอิง