Sawasdee CABB
โจทย์การรักษาสมดุลของธุรกิจให้โตต่อได้และทำกำไรด้วย ของ CABB แท็กซี่ที่เกิดมาเพื่อเป็นแท็กซี่
ช่วงปีที่ผ่านมาหลายคนน่าจะเคยเห็นแท็กซี่สีน้ำเงินดีไซน์สไตล์ลอนดอนวิ่งไปมาในพื้นที่กรุงเทพฯ บ้างจอดรออยู่ตามห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน หรือโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเมื่อได้เห็นบ่อยเข้าเราก็จดจำได้ไม่ยากเลยว่าบรรดารถแท็กซี่รูปทรงสะดุดตาเหล่านี้คือ ‘CABB’ แบรนด์แท็กซี่สัญชาติไทยที่เพิ่งเปิดให้บริการครบปีไปหมาดๆ
แต่เชื่อไหมว่าเบื้องหลังแบรนด์แท็กซี่น้องใหม่แบรนด์นี้ คือเส้นทางการเรียนรู้และลองผิดลองถูกกว่า 10 ปี จากความพยายามของ ศฤงคาร สุทัศน์ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด กับการนำเอารถแท็กซี่ที่ผลิตมาเพื่อเป็นแท็กซี่โดยเฉพาะเข้ามาให้บริการในประเทศไทย
“ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เราเห็นว่าปัญหารถแท็กซี่ในประเทศไทยเราไม่ได้มีการพัฒนาสักเท่าไรนัก ทั้งในแง่ของนวัตกรรมของยานยนต์และอื่นๆ สิ่งนี้มีผลกระทบในหลายมิติ ทั้งกับผู้โดยสาร คนขับรถแท็กซี่ และภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลรถแท็กซี่เหล่านี้” เขาอธิบาย
จากความตั้งใจแรกเริ่มเช่นนี้ CABB จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยความตั้งใจอยากแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่ความไม่สะดวกสบายในมุมของผู้โดยสาร แต่ยังครอบคลุมไปถึงการยกระดับอาชีพพนักงานขับรถ และสร้างตัวเลือกใหม่ให้กับตลาดแท็กซี่ในประเทศไทย
ไม่ว่าคุณจะเคยได้ลองนั่งรถแท็กซี่ของ CABB มาแล้วหรือไม่ เราอยากชวนคุณนั่งลงและทำความรู้จักกับแบรนด์นี้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจถึงหลักการ ความเชื่อ และความฝันที่บรรจุอยู่ในแท็กซี่สีน้ำเงินคันนี้
แท็กซี่โดยกำเนิด
ไม่ว่าในปัจจุบันหรือเมื่อสิบกว่าปีก่อน แวดวงรถแท็กซี่ในประเทศไทยก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากเท่าไหร่นัก เรตค่าโดยสารยังอยู่เท่าเดิม หน้าตารถก็ไม่ต่างจากเดิม เพิ่มเติมคือค่าเชื้อเพลิงที่เหมือนจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
“เราต้องยอมรับว่าราคาแท็กซี่ประเทศไทยต่ำมาก ต่ำกว่าหลายประเทศ ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของพนักงานขับรถแท็กซี่ ขณะที่ในแง่การบริการนั้น แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเคยชิน แต่ในมุมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาตรฐานการให้บริการ แท็กซี่ในประเทศไทยยังมีช่องว่างที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น”
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหา แต่ในขณะเดียวกันก็คือโอกาสทางธุรกิจ เขามองว่าการจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ต้องอาศัยปัจจัย 3 ข้อคือฮาร์ดแวร์ยานยนต์ที่ดี, ซอฟต์แวร์ระบบที่มีประสิทธิภาพ และสุดท้ายคือ peopleware งานบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
ศฤงคารเชื่อว่าฟันเฟืองชิ้นแรกที่สำคัญที่สุดคือฮาร์ดแวร์ ซึ่งเขาอยากแนะนำให้คนไทยได้รู้จักกับรถแท็กซี่ที่ดีไซน์และผลิตมาเพื่อเป็นรถแท็กซี่จริงๆ
“รถอื่นๆ ที่เราเห็นบนท้องถนนมันคือรถที่สร้างมาเพื่อผู้ขับไม่ใช่ผู้โดยสาร รถที่ผลิตมาเพื่อผู้โดยสารจริงๆ ในโลกนี้มีอยู่ไม่กี่แบรนด์เท่านั้น”
และหากจะถามว่ารถที่เกิดมาเพื่อเป็นแท็กซี่คันนี้มีดียังไง ก็สามารถสรุปได้อย่างรวบรัดดังนี้
- พื้นที่ห้องโดยสารกว้างขวาง สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 5 ที่นั่ง ทั้งยังสามารถเข็นวีลแชร์ขึ้นมาได้ โดยใช้ทางลาดที่ดีไซน์มาเพื่อตอบโจทย์สำหรับผู้โดยสารทุกคน
- ดีไซน์มาเพื่อการเคลื่อนที่ในเมือง ทำให้มีวงเลี้ยวที่แคบกว่ารถยนต์ทั่วไป
- ให้ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ด้วยฉากกั้นแบบใส ใช้ระบบอินเตอร์คอมเพื่อสนทนากับพนักงานขับรถ นอกจากนี้ยังมีระบบแอร์แบบแยกส่วน ซึ่งผู้โดยสารสามารถปรับอุณหภูมิได้เองตามต้องการ
- สะดวกสบาย ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการทำงานระหว่างเดินทางด้วยสัญญาณ Wi-Fi และหัวชาร์จแบตเตอรี่ USB ภายในรถ
- อุ่นใจด้วยระบบ GPS ติดตามตลอดการเดินทาง พร้อมกล้องบันทึกภาพภายในรถ และปุ่มขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินที่จะส่งสัญญาณไปยังระบบส่วนกลางของ CABB ในทันที
- เบาะนั่งวัสดุหนัง ทำความสะอาดง่าย ไม่อมฝุ่น ทั้งยังออกแบบตามหลักสรีระทั้งในส่วนของคนขับและผู้โดยสาร
- ท้ายที่สุดคือรูปลักษณ์ภายนอกที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่จดจำ แต่ก็ยังคงความคลาสสิกและไม่ตกยุคไปตามกาลเวลา
“สมัยนี้ไม่ว่ารถจะดีแค่ไหน ถ้ามันไม่มีสไตล์หรือเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ผมคิดว่ามันขายไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องมาคู่กับฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์การใช้งานด้วย เพราะดีไซน์และฟังก์ชั่นที่ดีจะมีผลต่อความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว มันจึงไม่ควรเป็นอะไรที่ฉาบฉวย มาไวไปไว” ศฤงคารสรุป
ธุรกิจแท็กซี่แบบ 2 in 1
แรกทีเดียว ศฤงคารตั้งใจให้ CABB มีบทบาทเป็นเพียงผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ที่มีหน้าที่นำเข้าและให้เช่ารถคุณภาพดีเท่านั้น แต่เมื่อเริ่มติดต่อกับบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์อย่าง Manganese Bronze ในประเทศจีน เขาจึงได้พบกับอุปสรรคข้อใหญ่
“เมื่อตัดสินใจนำเข้ารถแท็กซี่ 2 คันแรกเข้ามา ปรากฏว่าต้นทุนเมื่อรวมภาษีแล้วตกคันละ 2,560,000 บาท ยังไม่นับรวมค่าโปรโมตหรือทำการตลาดใดๆ ดังนั้นหากเราจะใช้รถรุ่นนี้ไปแข่งกับรถรุ่นอื่นในตลาดที่มีต้นทุนแค่ประมาณ 1 ใน 3 ของรถของเรา มันจะมีอุปสรรคเยอะมาก”
ขณะเดียวกันจำนวนรถยนต์ที่ต้องการนั้นก็ยังไม่มากพอจะนำไปใช้ต่อรองราคากับบริษัทต้นทาง หรือดึงดูดให้มีการลงทุนสร้างโรงประกอบในประเทศไทย
ท้ายที่สุดเขาจึงตัดสินใจนำเข้ามาประกอบเอง
“ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องศึกษา กระบวนการย้ายไลน์การผลิต การถอดชิ้นส่วน ขนขึ้นเรือ มาประกอบที่ประเทศไทย ซึ่งก็มีขั้นตอนการลองผิดลองถูก กว่าที่จะได้รถคันแรกเพื่อใช้ขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งลำพังแค่ขั้นตอนนี้ก็ใช้เวลานานเกือบปีแล้ว” เขาอธิบาย
หากหนึ่งในสิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจซึ่งใช้ระยะเวลาเตรียมตัวเนิ่นนานอย่าง CABB ก็คือ ต้นทุนด้านการผลิตซอฟต์แวร์ หรือเทคโนโลยีด้านการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ลดลงอย่างมหาศาลในเวลาเพียงไม่กี่ปี เมื่อถึงเวลาที่รถแท็กซี่สีน้ำเงินใกล้จะพร้อมให้บริการ ศฤงคารจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท
เมื่อเปิดตัวออกมา CABB จึงประกอบไปด้วยธุรกิจ 2 ส่วนย่อยคือ หนึ่ง–ผู้นำเข้า ประกอบ ตลอดจนให้เช่ารถแท็กซี่ และสอง–ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดหารถแท็กซี่ ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ถือว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่ยังไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในตลาดแท็กซี่ประเทศไทย
ธุรกิจแท็กซี่ที่ยั่งยืน
ฟังมาถึงตรงนี้ เราอดสงสัยไม่ได้ว่าในระยะเวลาร่วมสิบปีที่ CABB ใช้เพื่อติดต่อนำเข้าและประกอบเจ้ารถแท็กซี่สีน้ำเงินนั้น ตลาดแท็กซี่ในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน เพราะสิ่งหนึ่งที่คงมีผลกระทบต่อแวดวงนี้ไม่น้อยคงเป็นการเข้ามาของแพลตฟอร์มเรียกรถรายใหญ่จากต่างประเทศ ที่ทยอยกันเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ตลาดอย่างดุเดือด
“ในระหว่างที่เรากำลังดำเนินการเรื่องฮาร์ดแวร์ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการแท็กซี่หลายรายก็เริ่มเข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทย และขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตอนช่วง พ.ศ. 2561 ที่เรากำลังเตรียมการเปิดตัว CABB แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็เริ่มกลายเป็นเจ้าใหญ่มากแล้ว”
ถึงอย่างนั้นก็ตาม การเข้ามาของแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ยังมีข้อดี
“มันสะท้อนให้เราเห็นว่าผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้น แลกกับการบริการที่ดีขึ้น ทำให้แพลตฟอร์มลักษณะนี้เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” ท่ามกลางตลาดแท็กซี่ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ สิ่งที่ทำให้ศฤงคารสามารถพา CABB ลงสู่สนามธุรกิจได้อย่างมั่นใจนั้นมีอยู่ 2 ข้อใหญ่ด้วยกัน นั่นคือปริมาณความต้องการซื้อในตลาด (demand) ที่มากเพียงพอ และการแบ่งส่วนตลาด (market segment) ที่ชัดเจน
ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนตามกฎหมายราว 7 หมื่นคัน หากคำนวณโดยแยกกะในการวิ่งแล้ว ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ก็จะมีรถแท็กซี่วิ่งอยู่จริงแค่ประมาณ 5-6 หมื่นคัน ขณะที่สถิติผู้โดยสารรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ นั้นสูงถึง 1.3 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มากเกินไปนัก (หากเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ซึ่งมีระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมมากกว่า)
ในแง่ส่วนแบ่งตลาด แท็กซี่ในประเทศไทยจดทะเบียนแยกเป็น 2 ประเภทใหญ่คือแท็กซี่ทั่วไป มิเตอร์เริ่มต้นที่ 35 บาท และแท็กซี่วีไอพี มิเตอร์เริ่มต้นที่ 150 บาท ซึ่ง CABB จัดอยู่ในกลุ่มหลัง ทำให้มีราคาค่าโดยสารสูงกว่าทั้งแท็กซี่มิเตอร์ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด และแท็กซี่ที่เรียกผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือซึ่งอาจมีค่าบริการบวกเพิ่มขึ้นมา แต่ก็ยังไม่แตะกลุ่มแท็กซี่ประเภท business หรือ luxury ซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก
ส่วนผสมของแท็กซี่และเทคโนโลยี
ความท้าทายข้อต่อมาคือการสร้างความยั่งยืนในตลาดแท็กซี่วีไอพีนี้ ซึ่งนับเป็นโจทย์สุดหินที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
“ถ้าลองถามคนทั่วไปว่ารู้จักแท็กซี่วีไอพีในไทยไหม คนแทบนึกไม่ออกเลยว่ามีแบรนด์อะไรบ้าง เพราะส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเฉพาะกลุ่มที่มีจำนวน supply ต่ำมาก ดังนั้นนอกจากมิติเรื่องราคาแล้ว เราจึงต้องเข้าใจภาพรวมของธุรกิจกลุ่มนี้ที่ยังไม่เคยมีใครที่สามารถขยายธุรกิจให้ใหญ่และยั่งยืนได้ในเวลาเดียวกัน
“สภาพตลาดของเราในตอนนี้มันกำลังวิ่งเข้าหาจุดสมดุลอยู่ จุดสมดุลที่ว่าคือ demand กับ supply ใกล้เคียงกันในราคาที่ลูกค้าจ่ายไหว และเราก็มีรายได้มากพอ ซึ่งอาจจะยังไม่ต้องกำไร แต่เราต้องไปต่อได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้นำในตลาดนี้ ดังนั้นเราจึงต้องถามตัวเองว่า CABB จะสามารถเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ได้ไหม” ศฤงคารอธิบาย
อย่างที่บอกไปแล้วว่า CABB คือส่วนผสมระหว่างธุรกิจ 2 ประเภทคือ ธุรกิจให้เช่ารถแท็กซี่ และแพลตฟอร์มเรียกรถแท็กซี่ สิ่งนี้คือจุดแข็งและเคล็ดลับสำคัญที่ศฤงคารเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้ CABB เติบโตได้อย่างยั่งยืนไปถึงระดับภูมิภาค
“หากเปรียบเทียบกันจะเห็นว่าธุรกิจประเภทแพลตฟอร์มคือธุรกิจสมัยใหม่ ตลาดโตไว และได้รับความสนใจมาก ขณะที่ธุรกิจจัดหานั้นเป็นธุรกิจสมัยเก่าที่พบได้ทั่วไป แต่เมื่อเราผนวกธุรกิจทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความคล่องตัว เพราะธุรกิจแต่ละแบบก็มี margin เป็นของตัวเอง การที่เราเอา margin สองส่วนนี้มารวมกันจึงเป็นการสร้าง ecosystem ใหม่ขึ้นมา
“โดยปกติแล้วธุรกิจด้านเทคโนโลยีอย่างแพลตฟอร์มเรียกรถนั้น การจะทำให้ยั่งยืนได้โดยที่ยังไม่เข้าตลาดทุนถือว่าเป็นเรื่องยาก ส่วนธุรกิจจัดหาอย่างบริการให้เช่ารถแท็กซี่อาจจะยั่งยืนก็จริง แต่อัตราการเติบโตหรือพัฒนาตัวเองก็จะค่อนข้างต่ำ เพราะไม่มีกลไกอะไรมาบีบคั้น ตลาดจึงมีขนาดเล็กและเฉพาะกลุ่ม เราจึงเอาธุรกิจทั้งสองแบบมาผนวกรวมกัน โดยหวังว่าเราจะยั่งยืนและไปรอดในตลาดนี้”
ด้วยโครงสร้างเช่นนี้ ทำให้เราสามารถมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าต่อให้ CABB ตัดสินใจขยายธุรกิจและก้าวเข้าไปสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต และจำเป็นต้องปรับตัวภายใต้เงื่อนไขตลาดแบบใหม่ แต่จุดแข็งของธุรกิจทั้งสองลักษณะนี้ก็น่าจะช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างสมดุลของตัวเอง และเดินต่อไปได้อย่างไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก
แท็กซี่ที่ลูกค้าต้องการ
“ผู้โดยสารส่วนมากเมื่อขึ้นรถแท็กซี่จะคำนึงถึง 2 อย่างหลักๆ คือความสะอาดและความปลอดภัย” ศฤงคารเกริ่นเมื่อเราชวนคุยเรื่องผู้ใช้บริการแท็กซี่ แน่นอนว่าทั้งสองข้อนี้คือสิ่งที่ CABB ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากผ่านทั้งดีไซน์ของฮาร์ดแวร์ และการอบรมพนักงานขับรถของตัวเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่เราสงสัยก็คือ ในตลาดผู้ใช้บริการแท็กซี่ชาวไทยที่เคยชินกับบริการของรถแท็กซี่ทั่วไป CABB ทำยังไงเพื่อสื่อสารว่าฟังก์ชั่นและบริการที่พวกเขามีคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ (แม้ว่าเขาอาจยังไม่รู้ตัวก็ตาม)
“แน่นอนว่าผู้บริโภคทั่วไปไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงต้องนั่งรถแท็กซี่ที่เกิดมาเพื่อเป็นแท็กซี่ สิ่งที่จะเปลี่ยนความคิดเขาได้คือต้องให้มาลองนั่งก่อนเท่านั้นเลย เมื่อได้มาลองแล้วเขาก็จะรู้ความต้องการของตัวเองที่ CABB สามารถตอบโจทย์ให้เขาได้” อย่างที่ใครหลายคนอาจจะเคยได้เห็นเจ้ารถสีน้ำเงินคันนี้ไปจอดรออยู่ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนตัดสินใจทดลองใช้บริการตั้งแต่ช่วงแรกที่เปิดตัว
“ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ผมเชื่อว่า destination คือตัวกำหนดคุณภาพการเดินทางที่เขาคาดหวัง เช่น ถ้าเรามองหาลูกค้าที่เดินทางช่วงเช้ากับเย็น เราจะไปรอเขาที่ตึกออฟฟิศ ซึ่งต้องรู้เลยว่าลูกค้ากลุ่มนี้จะซีเรียสเรื่องเวลามากที่สุดเพราะเขาจำเป็นต้องเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่เดินทางระหว่างวันก็จะมีความต้องการที่ต่างออกไป เราอาจต้องไปรอเขาที่ห้างสรรพสินค้า หรือโรงพยาบาล”
ผลสำเร็จของกลยุทธ์นี้สะท้อนให้เห็นผ่านการใช้บริการซ้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะสังเกตได้จากยอดการเรียกรถที่พุ่งแซงยอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น จนปัจจุบันมีกลุ่มผู้ใช้งานบางคนที่มีสถิติการใช้งานสูงถึง 60 เที่ยวต่อเดือนเลยทีเดียว
ขณะที่ในด้านของราคา ศฤงคารตั้งข้อสังเกตว่าลูกค้าที่เข้ามาทดลองใช้บริการในช่วงแรกส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยมีประสบการณ์การขึ้นรถแท็กซี่ลักษณะนี้ในต่างประเทศมาก่อน ทำให้สามารถคาดคะเนคุณภาพรถ การบริการ และราคาค่าโดยสารได้อยู่แล้ว แต่เมื่อได้เห็นราคาที่ปรากฏในแอพพลิเคชั่นก็จะพบว่าอัตราค่าโดยสารไม่ได้สูงอย่างที่คิด
และเมื่อเดินทางถึงจุดหมายแล้ว จะพบว่า ราคาค่าโดยสารที่ปรากฏในแอพพลิเคชั่นของ CABB นั้นต่ำกว่าค่าโดยสารที่ปรากฏบนจอมิเตอร์ประมาณ 30-35 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย (ทั้งนี้ไม่ได้มีการกำหนดราคาส่วนลดขั้นต่ำ เนื่องจากอัตราค่าโดยสารนั้นขึ้นอยู่กับระยะทางด้วย)
อนาคตของ CABB TAXI
ปัจจุบันลูกค้าของ CABB มีอายุเฉลี่ยลดลง ขณะเดียวกันก็เริ่มมีความซับซ้อนของข้อมูลผู้ใช้งานมากขึ้น
“เดิมทีกลุ่มผู้ใช้งานหลักของเราเป็นเจเนอเรชั่นเอกซ์และเบบี้บูมเมอร์ แต่ในช่วงหลังมานี้อายุเฉลี่ยของผู้ใช้งานก็ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ที่ขับรถยนต์ส่วนตัวกันน้อยลง เนื่องจากที่จอดรถซึ่งมีจำนวนจำกัด” นอกจากจะต้องทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่แล้ว CABB ยังมองเห็นถึงพฤติกรรมที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นในการเรียกใช้บริการ นั่นคือการเรียกรถให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนฝูง
“เมื่อคนที่เรียกไม่ใช่คนเดียวกับผู้โดยสาร ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานของเรามันยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เราจึงต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลผู้บริโภคมากๆ เพื่อวิเคราะห์และเข้าใจความต้องการของลูกค้า”
และด้วยความที่ CABB ยังเป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภค เช่น ลูกค้าที่ต้องการรถและคนขับและรถคันเดิมทุกวันเพื่อใช้รับส่งเด็กๆ ไป-กลับโรงเรียน หรือในอนาคตที่พวกเขาเตรียมจะร่วมงานกับลูกค้าในระดับองค์กร ซึ่งต้องการเหมาแพ็กเกจกับ CABB ในระยะยาวแทนการใช้รถประจำตำแหน่งซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ทั้งค่าบำรุงรักษา ค่าที่จอดรถ ฯลฯ
เป้าหมายถัดไปของ CABB คือการเพิ่มจำนวนรถด้วยแท็กซี่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มให้บริการในปี 2566 และขยายพื้นที่การให้บริการไปสู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ โดยเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็ได้มีการขยายบริการไปสู่จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องแล้วเรียบร้อย ขณะที่ในต่างประเทศนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการติดต่อพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ CABB ให้ความสำคัญที่สุดตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันก็คือ การแก้ไขปัญหาในทุกมิติ ทั้งคุณภาพในการเดินทางของผู้โดยสาร คุณภาพชีวิตและรายได้ของพนักงานขับรถ และการทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยช่วยรับฟังและแก้ไขปัญหาของทั้งสองฝ่ายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
“สิ่งสำคัญของเราคือการรักษาสมดุลในทุกด้าน นอกจากฝั่งผู้โดยสารที่เราต้องคอยดูแลบริการการเดินทางของเขาแล้ว ผู้เช่ารถเองก็เป็นลูกค้าอีกคนหนึ่งของเราเช่นกัน เราจึงต้องคอยสนับสนุนให้เขาทำงานได้อย่างราบรื่น มีรายได้ในระดับที่เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงในการทำงานของเขา
“และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเราก็ช่วยแก้ไขทั้งสองฝ่าย และพยายามรักษาสมดุลตรงนี้ให้เกิดขึ้น”