กุ้งเทพที่กรุงเทพ

‘Red Lobster’ ร้านที่มีสารพัดกุ้งให้กินได้ไม่อั้นที่ Beyonce พูดถึงในบทเพลงและกำลังจะเปิดสาขาที่ไทย

ในภาคพื้นเอเชียประเทศไทยถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารทะเลจากนอร์เวย์ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เห็นทีจะชัดเจนที่สุดของการประกาศตัวเป็นลูกค้าเบอร์ต้นของตลาดอาหารทะเลนอร์เวย์ของประเทศไทยคือ การที่ไทยมีการนำเข้าแซลมอนจากนอร์เวย์ถึง 20,000 ตันในปี 2021 จนสภาอาหารทะเลแห่งนอร์เวย์ (Norwegian Seafood Council–NSC) ถึงกับตัดสินใจมาเปิดออฟฟิศระดับภูมิภาคที่กรุงเทพมหานคร ด้วยความหวังจะอำนวยความสะดวกให้คนไทยที่รักอาหารทะเลจากนอร์เวย์ได้รับความสะดวกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ความนิยมชมชอบในอาหารทะเลจากนอร์เวย์ของคนไทย คงต้องยกเครดิตเต็มๆ ให้กับแซลมอน สินค้ายอดฮิตติดอันดับเมนูอาหารที่คนไทยน้ำลายสอทุกครั้งที่ได้ยิน พาลไปถึงประโยคที่ชาวเน็ตไทยชอบใช้ปลอบใจกันและกันในวันที่เหนื่อยล้าว่า “แล้วแซลมอนจะเยียวยาทุกสิ่ง” 

อาจจะเป็นเพราะรสชาติและเนื้อสัมผัสที่ทั้งนุ่มและมัน ของแซลมอนจากนอร์เวย์ เลยพานทำให้บรรดาร้านอาหารบุฟเฟต์ นิยมใช้กลยุทธ์การเอาปลาแซลมอน (ที่อาจจะไม่ได้ถูกนำเข้าจากนอร์เวย์) มาเป็นตัวชูโรงในการดึงดูดลูกค้า

แต่ดูเหมือนกับว่า ในปี 2022 เกมธุรกิจร้านอาหารทะเลแบบบุฟเฟต์ในประเทศไทยกำลังจะมีผู้เล่นหน้าใหม่มาแรงชื่อว่า Red Lobster ซึ่งเป็นร้านบุฟเฟต์เชนจากสหรัฐฯ ที่สามารถยืนระยะอยู่ยั้งยืนยงในศึกทะเลเดือดมายาวนานกว่า 54 ปี กำลังจะมาเปิดสาขาในประเทศไทยที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์วันที่ 12 กันยายน 2565 นี้

ก่อนที่เหล่าซีฟู้ดเลิฟเวอร์จะล้างท้องรอเพื่อเข้าไปลิ้มชิมรสชาติซีฟู้ดจากเมนูทะเลสัญชาติอเมริกัน เราคงต้องย้อนดูกันสักหน่อยว่าตลอด 54 ปีที่ผ่านมาของธุรกิจ Red Lobster ผ่านอะไรมาบ้างจนกว่าจะถึงวันนี้ที่เดินทางมาไกลถึงไทยแลนด์

ถ้าเราคิดถึงป๊อปคัลเจอร์ของช่วงยุค 70s เราคงคิดถึงเพลงดิสโก้หรือผมหยิกฟูทรงแอฟโฟร แต่ถ้าเราคิดถึงร้านอาหารทะเลเชนที่ป๊อปปูลาร์ในอเมริกาที่ถือกำเนิดในช่วงปีนั้น คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะคิดถึงชื่อ 

Red Lobster 

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในปี 1938 จากชายหนุ่มวัยรุ่นอายุ 19 ปีผู้มีหัวธุรกิจ (ใช่ คุณอ่านไม่ผิด อายุ 19 ปี!) ที่ชื่อ บิลล์ ดาร์เดน (Bill Darden) เขาเล็งเห็นโอกาสการขายอาหารมื้อกลางวัน แก่คนทำงานและประชาชนทั่วไป โดยปกติแล้วมื้อกลางวันเป็นมื้อที่เหล่าคนทำงานต้องการหาอาหารรสชาติดี ปริมาณอิ่มท้อง และราคาสมเหตุสมผลบวกกับการบริการที่เป็นมิตร อีกทั้งในยุคนั้นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดยังไม่เป็นที่แพร่หลาย หรือจะพูดให้ถูกคือ ยุคนั้นร้านอาหารเชนฟาสต์ฟู้ดใหญ่ยังไม่ถือกำเนิดเลยด้วยซ้ำ (แมคโดนัลด์ก่อตั้งในปี 1955, เบอร์เกอร์คิงก่อตั้งในปี 1954, Chick-fil-A ก่อตั้งในปี 1946)

บิลล์เลยตัดสินใจเปิดร้านอาหารกลางวันขนาดกำลังดี 25 ที่นั่ง เน้นขายอาหารจำพวกไก่, สเต๊ก และอาหารจำพวกเซาเทิร์นสไตล์ โดยตั้งชื่อร้านว่า ‘The Green Frog’ ที่บ้านเกิดของเขาในเมืองเวย์ครอสส์ ในจอร์เจีย ร้าน The Green Frog เป็นร้านที่เสิร์ฟอาหารด้วยความรวดเร็วแถมยังมีปณิธานว่าจะบริการลูกค้าทุกคนด้วยความเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกสีผิวและเชื้อชาติ

ปรากฏว่าทั้งคอนเซปต์และการบริการแบบเป็นธรรมของบิลล์ถูกอกถูกใจลูกค้าเป็นจำนวนมาก ร้านอาหาร The Green Frog ของบิลล์ประสบความสำเร็จแบบที่ว่าถ้าบิลล์เกิดในเมืองไทยสมัยนี้ บิลล์น่าจะถูกอุปมาว่าเป็นนักธุรกิจอายุน้อยร้อยล้านด้วยความสำเร็จที่บิลล์ได้รับจากร้านอาหาร The Green Frog จึงทำให้บิลล์มีกระแสเงินสดมากพอที่จะลงทุนเปิดธุรกิจแฟรนไชส์ Howard Johnson ที่มีทั้งกิจการที่พักแรมและร้านอาหาร (Howard Johnson เป็นธุรกิจร้านอาหารเชนที่มีบริการแบบเต็มรูปแบบแห่งแรกในอเมริกา) ซึ่งธุรกิจ Howard Johnson ของบิลล์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตแดนที่บิลล์ถนัดคือ เมืองทางตอนใต้ของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟลอริดา

อาจจะเป็นเพราะความนิยมในการซื้อรถยนต์จนธุรกิจขายรถยนต์สามารถทำยอดขายได้ดีในช่วงยุค 60s-70s หรืออาจจะเป็นเพราะราคาของเครื่องปรับอากาศที่เริ่มลดลงจนเป็นที่เข้าถึงได้ของร้านอาหาร โรงแรมและครัวเรือนในอเมริกาจนทำให้การเดินทางมาท่องเที่ยวในดินแดนแถบทางใต้ของอเมริกาสะดวกสบายขึ้น แถมที่พักก็มีอากาศเย็นจากเครื่องปรับอากาศรอรับนักท่องเที่ยวหลังจากที่เดินทางกลับที่พักแรม พลเมืองอเมริการวมถึงชาวต่างถิ่นจึงนิยมมาเที่ยวรัฐทางใต้ของอเมริกามากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร Howard Johnson ที่บิลล์เป็นเจ้าของอยู่ถึง 20 แห่งประสบความสำเร็จอย่างมาก จนถึงตอนนี้ใครต่อใครก็ต่างเรียกบิลล์ว่า เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในฟลอริดา

แต่ดูเหมือนว่าความสำเร็จของบิลล์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การได้เป็นเจ้าของ Howard Johnson ทั้ง 20 สาขา บิลล์สังเกตเห็นว่าเมนูที่ขายดีในร้านอาหารของเขาส่วนใหญ่จะเป็นพวกอาหารทะเล บิลล์จึงขอวัดดวงดูอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ว่า วิสัยทัศน์ของเขายังคงเฉียบแหลมและอ่านเกมได้ไม่พลาดอยู่ บิลล์ตัดสินใจลงทุนสร้างร้านอาหารร้านใหม่ขึ้นอีกครั้ง โดยคราวนี้มีหุ้นส่วนคนสำคัญอีกคนที่เขาชวนมาลงทุนด้วยคือ ชาร์ลี วูดส์บี้ (Charley Woodsby) เชฟและนักธุรกิจที่อยู่ในแวดวงร้านอาหารในฟลอริดา

โดยร้านอาหารน้องใหม่ของบิลล์และชาร์ลีมีชื่อว่า ‘Red Lobster Inn’ ซึ่งก่อตั้งได้ไม่นานพวกเขาก็ตัดคำว่า Inn ออก

สาขาแรกของ Red Lobster เปิดในปี 1968 สถานที่ที่บิลล์และชาร์ลีเลือกจะเปิดร้านอาหารซีฟู้ดโดยมีบริการแบบเต็มรูปแบบคือที่ Lakeland ฟลอริดา ทั้งสองเลือกเปิด Red Lobster ด้วยการวางโมเดลธุรกิจว่าให้เป็นร้านอาหารทะเลเพื่อให้ลูกค้าแบบกลุ่มครอบครัวมากิน และราคาต้องถูกกว่าร้านอาหารซีฟู้ดทั่วไปที่เปิดในเมือง โดยบิลล์และชาร์ลีคิดว่าถ้าโมเดลนี้ประสบความสำเร็จที่นี่ มันก็น่าจะประสบความสำเร็จยังที่อื่นๆ ด้วย

 ทั้งรสชาติที่ถูกปาก ราคาที่เข้าถึงได้ ทำให้ Red Lobster ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วมีการขยายสาขา Red Loster ออกไปถึง 5 สาขาภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ชื่อเสียงของ Red Lobster เป็นที่รู้จักในหมู่นักกินอาหารทะเลจนในปี 1970 General Mills ตัดสินใจขอซื้อ Red Lobster จากบิลล์และชาร์ลีทั้งๆ ที่ เป็นร้านอาหารที่เพิ่งพิสูจน์ตัวเองได้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้นในสังเวียนธุรกิจร้านอาหาร

ว่ากันว่าบิลล์และชาร์ลีได้รับข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้จาก General Mills ซึ่งน่าจะหมายถึงตัวเลขบนเช็คที่งดงามและโอกาสที่จะยังคงได้นั่งเป็นบอร์ดบริหารของ Red Lobster ต่อไป รอน วูดส์บี้ (Ron Woodsby) ลูกชายของชาร์ลีเคยให้สัมภาษณ์กับ Mashed ว่า 

ในตอนนั้นชาร์ลีมีความคิดอยากที่จะขาย Red Lobster อยู่แล้ว เนื่องด้วยราคาของล็อบสเตอร์ที่แพงขึ้นเรื่อยๆ พอได้รับข้อเสนอจาก General Mills เขาจึงรับข้อเสนอนั้นเอาไว้อย่างไม่รีรอ 

จากการบริหารของบิลล์และชาร์ลีประกอบกับบริษัทแม่ที่มีสายป่านทางการเงินมั่นคงอย่าง General Mills ทำให้ Red Lobster สามารถทำรายได้สูงถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1980 

กาลเวลาผ่านไปบิลล์เสียชีวิตในปี 1994 ส่วนชาร์ลีเกษียณไปก่อนหน้านั้นแล้วหลายปี ทำให้โจทย์ในการบริหารร้านอาหารทะเลตกอยู่กับ General Mills บริษัทต้องฟันฝ่าปัญหาหลายต่อหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ชาร์ลีเคยกังวลในช่วงปีแรกๆ ของการก่อตั้ง Red Lobster ได้กลับมาหลอกหลอนผู้บริหาร Red Lobster อีกครั้ง นั่นคือ ราคาของล็อบสเตอร์และอาหารทะเลที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปี 2014 Red Lobster จึงถูกขายต่อให้กับ Golden Gate Capital ด้วยมูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ Golden Gate Capital เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการต่อยอดทางธุรกิจของ Red Lobster

ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อราวปลายยุค 60s ต่อเนื่องมาถึงยุค 2000 ที่ Red Lobster ประสบอยู่ซ้ำแล้วซ้ำอีก คือราคาค่าอาหารทะเลที่พุ่งตัวสูงขึ้น ถึงตรงนี้ Golden Gate Capital คงเล็งเห็นแล้วว่า ควรจะแก้ปัญหาต้นทุนราคาของอาหารทะเลที่พุ่งสูงขึ้นทุกปีให้ถูกจุดสักที

แต่ปัญหาที่ว่าจะแก้ได้ยังไง จะไปควบคุมไม่ให้ราคาอาหารทะเลปรับเพิ่มขึ้นก็คงจะเป็นไปไม่ได้ในเมื่ออัตราเงินเฟ้อนั้นสูงขึ้นทุกปี

Golden Gate Capital จึงตัดสินใจว่าในเมื่อปัญหานี้เป็นปัญหาที่แก้เองไม่ได้ ก็คงต้องขอความร่วมมือจากคนอื่นที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้เล่นที่สำคัญในวงจรธุรกิจร้านอาหาร นั่นจึงเป็นที่มาของการที่ Golden Gate Capital ยอมให้บริษัทมหาชนอย่างไทยยูเนียน กรุ๊ป บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแช่เย็นและแช่เยือกแข็งที่มีฐานการผลิตอยู่ใน 4 ทวีปทั่วโลกทั้ง อเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย เข้าร่วมหุ้นด้วยในการเป็นเจ้าของ Red Lobster ในปี 2016

การที่เราได้ยินข่าวว่า Red Lobster กำลังจะมาเปิดตัวที่ประเทศไทยจึงอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนัก ทั้งการที่มีหุ้นส่วนเป็นบริษัทจากไทยประกอบกับการที่คนไทยก็มีหัวใจรักซีฟู้ดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประเทศไทยจึงดูเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สดใสของ Red Lobster

ว่าแต่เมนูอะไรบ้างที่ทำให้ใครหลายคนต่างพูดถึงการมาถึง Red Lobster ผู้คนหลงรักอะไรในร้านอาหารร้านนี้

ถึงแม้ว่าชื่อร้านจะใช้ชื่อว่า Red Lobster แต่อันที่จริงเมนูที่ขายในร้านไม่ได้มีแค่กุ้งล็อบสเตอร์ แต่ยังมีอาหารทะเลอื่นๆ ให้คุณเลือกสรรมากมาย ทั้งกุ้ง แซลมอน พาสต้า สเต๊ก แต่ถ้าจะถามถึงโปรโมชั่นเด็ดที่เป็นลายเซ็นของ Red Lobster ที่สาวก Red Lobster ต้องสั่งแทบจะทุกครั้งที่ไปเยือนก็คงจะหนีไม่พ้น Endless Shrimp

‘Endless Shrimp’ ไม่ใช่แค่ชื่อเมนูแต่เป็นชื่อเรียกชุดอาหารโปรโมชั่น ถ้าแปลเป็นไทยแบบง่ายๆ คือ  การกินกุ้งแบบไม่รู้จบ หรือบุฟเฟต์กุ้งนั่นแหละ

Endless Shrimp ของ Red Lobster มีเมนูกุ้งให้เลือกหลากหลายทั้ง Garlic Shrimp Scampi, Grilled Shrimp Skewer, Parrot Isle Jumbo Coconut Shrimp, Walt’s Favorite Shrimp ที่อเมริกา Endless Shrimp มีราคาอยู่ที่ 19.99 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนราคาขึ้น-ลงบ้างเล็กน้อยตามแต่ราคาของกุ้งในตลาดอาหารทะเล ณ ขณะนั้น 

ลูกค้าของ Red Lobster สามารถกิน Endless Shrimp ได้แบบไม่จำกัดเวลา คือคุณจะมานั่งกินกุ้งจาก Endless Shrimp ตั้งแต่ร้านเปิดยันร้านปิดก็ไม่มีใครว่า ปี 2013 กลุ่มนักข่าวจาก The Huffington Post เข้าไปนั่งกินกุ้งจาก Endless Shrimp และโดยเฉลี่ยพวกเขาแต่ละคนกินกุ้งไปคนละ 101 ตัว แต่พวกเขาก็ยังคงได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีจากทางร้าน

การพิสูจน์บุฟเฟต์กุ้งไม่รู้จบเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อปี 2016 จากนักข่าวสองคนของ Business Insider ที่อยากพิสูจน์อีกสักครั้งต่อประโยชน์ส่วนรวมว่าพวกเขาสามารถกินกุ้งจาก Endless Shrimp โดยที่ทางร้านจะเสิร์ฟกุ้งให้เขาเรื่อยๆ จริงหรือ 

ผลปรากฏว่าทางร้านก็เสิร์ฟกุ้งให้เรื่อยๆ แก่นักข่าวทั้งคู่เป็นเวลา 8 ชั่วโมงติดต่อกันโดยเขาทั้งสองนับแล้วว่าสิริรวมในวันนั้นเขากินกุ้งจากเมนูต่างๆ ไปถึง 305 ตัว แถมผู้จัดการร้านยังคอยแวะเวียนมาบอกเทคนิคในการกินกุ้งให้พวกเขาสามารถยังกินต่อไปได้เรื่อยๆ แบบชิลล์ๆ เช่น สั่งน้ำอัดลมหรือโซดามากินตัดเลี่ยน หรือสั่งพวกเครื่องดื่มรสมินต์อย่างเช่นโมจิโต้มากินเพื่อช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร

ถึงตรงนี้คงต้องเชื่อแล้วว่าเสิร์ฟกุ้งแบบไม่รู้จบจริงๆ

อีกเหตุการณ์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ของ Red Lobster คือการได้พื้นที่โฆษณาแบบฟรีๆ จากศิลปินระดับโลกอย่าง Beyonce

ถ้าการที่แจ็คสัน หวัง พูดถึงเมนูข้าวผัดอเมริกันและซุปข้าวโพดของร้านอาหารถูกและดี ของฟู้ดแลนด์แล้วทำให้ยอดขายของทั้งสองเมนูขายดีแบบถล่มทลายในชั่วข้ามคืน คุณลองจินตนาการดูว่า การที่บียอนเซ่เขียนเนื้อร้องโดยมีท่อนที่เอ่ยว่า จะพาชายหนุ่มไปกิน Red Lobster ถ้าเขาปฏิบัติดีกับเธอ จะทำให้ Red Lobster ขายดีขึ้นขนาดไหน 

วรรคทองดังกล่าวปรากฏอยู่ในเพลง Formation ของอัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 6 Lemonade (2016) ของเธอ แต่ความพีคไม่ได้จบอยู่แค่ว่าในเนื้อเพลงนี้มีท่อนที่เอ่ยถึง Red Lobster เท่านั้น ความส้มหล่นแบบสุดๆ ของ Red Lobster ที่ได้แอร์ไทม์ไปแบบฟรีๆ จากบียอนเซ่คือ เธอเปิดตัวเพลงนี้ในการแสดง Halftime โชว์ของ Super Bowl 2016 ที่มีคนดูประมาณ 112 ล้านคนทั่วโลก หมายความว่าคนทั้ง 100 ล้านกว่าคนทั่วโลกดูโชว์นี้ไปพร้อมกัน รู้จักเพลงนี้ไปพร้อมกัน และได้ยินชื่อ Red Lobster ไปพร้อมๆ กัน

มูลค่าโฆษณาต่อวินาทีที่น่าจะแพงที่สุดในโลกคือ โฆษณาระหว่างโชว์ของ Superbowl แต่ Red Lobster ได้มันไปแบบฟรีๆ เพราะชื่อร้านดันไปปรากฏอยู่ในเพลงที่บียอนเซ่แต่งและใช้ร้องโชว์ ทำให้ยอดขายของ Red Lobster พุ่งสูงขึ้น 33% หลังโชว์จบ

มีนักวิเคราะห์มากมายออกมาวิเคราะห์โชว์ดังกล่าวที่พูดถึงโชว์เพลง Formation ของบียอนเซ่ว่าเป็นโชว์ที่อาจจะแสดงถึงสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวของสังคม บียอนเซ่ได้รับทั้งก้อนหินและดอกไม้จากโชว์นี้ บ้างก็ชื่นชมโชว์เธอ บ้างก็คิดว่าโชว์นี้ช่างน่าขัน แต่จะยังไงก็ตามคนที่ได้รับผลประโยชน์จากโชว์นี้ไปแบบเต็มๆ แบบโชคหล่นทับคงจะหนีไม่พ้น Red Lobster

กูรูทางการตลาดและธุรกิจหลายคนออกมาพูดถึงกรณีนี้ว่า ปกติแล้วเวลาดาราหรือเซเลบริตี้หยิบจับหรือพูดถึงสิ่งไหน มันก็มักจะทำให้สินค้าตัวนั้นขายดีขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ในกรณีนี้ บียอนเซ่พูดถึงการพาชายที่รักไป Red Lobster มันยิ่งทำให้ Red Lobster มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น เท่ขึ้น เก๋ขึ้น เพราะโดยปกติเราอาจจะมองว่า Red Lobster เป็นร้านอาหารสำหรับครอบครัว เป็นร้านที่เราจะไปกินบุฟเฟต์ แต่ถ้าขนาดบียอนเซ่ยังพูดว่า เธอจะพาชายที่รักไปกิน Red Lobster

แล้วคุณจะอดใจไม่ไป Red Lobster ไหวหรอ?

ที่มา

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

You Might Also Like