เปิดเทอมใหญ่ หัวใจ (ไม่) ว้าวุ่น

S.C.S. เจ้าของรองเท้านักเรียนเห็นแล้วปิ๊งใส่แล้วป๊อป และวิธีทำธุรกิจที่ขายดีเฉพาะช่วงเปิดเทอม

ตอนเป็นนักเรียน ช่วงเดือนที่นักเรียนหลายคนเกลียดหรือกลัวที่สุดคือ เดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายน เพราะนั่นหมายถึงช่วงเวลาพักผ่อนอันหอมหวานกำลังจะสิ้นสุดลง

แทบนึกไม่ออกว่าจะมีใครที่รัก 2 เดือนนั้นด้วยเหตุผลที่ว่า โรงเรียนจะเปิดเทอม

จนกระทั่งวันนี้คิดได้ว่ามีธุรกิจที่ทำเงินได้เพียงเฉพาะช่วงอยู่นี่นะ โดยเฉพาะธุรกิจรองเท้านักเรียน อย่าง S.C.S. ที่ วิษณุ วงศ์วีระนนท์ชัย ทายาทผู้ควบตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอส.ซี.เอส กรุ๊ป บอกกับเราว่าช่วงเปิดเทอมนี่แหละคือช่วงเวลาที่แบรนด์สร้างยอดขายกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ให้บริษัท

ลองเท้านักเรียน

ได้ยินชื่อรองเท้านักเรียน S.C.S. คนอาจจะงงว่าแบรนด์อะไร แต่ถ้าบอกว่า S.C.S. Group คือผู้ผลิตรองเท้านักเรียนยี่ห้อ POPTEEN, CATCHA, BREAKER เราว่าคนคงพากันร้องอ๋อ

ธุรกิจของ S.C.S. เริ่มต้นจากรุ่นที่หนึ่งอย่างพ่อ ลุง และป้าของวิษณุ ที่ตอนนั้นทำธุรกิจลักษณะซื้อรองเท้ามาขายรองเท้าไปแถวกล้วยน้ำไท กระทั่งปี 2523 ความฝันในการมีโรงงานรองเท้าของครอบครัวก็เป็นจริง โดยรับผลิตรองเท้าให้คนอื่น ก่อนเริ่มหันมาผลิตสินค้าของตัวเอง

และแน่นอนว่ารองเท้านักเรียนคือหนึ่งในนั้น

“ตอนนั้นทุกคนยังไม่รู้หรอกว่าผลิตรองเท้าอะไรแล้วจะขายได้ ก็ลองถูก ลองผิดมาเยอะ

“เป็นความโชคดีของรุ่นผมที่รุ่นผู้ใหญ่มีมุมมอง และลงมือทำจนมาถึงจุดนี้ได้” วิษณุผู้มีวัยเด็กผูกพันกับโรงงาน ติดตามพ่อมาวิ่งเล่น ดูพ่อซ่อมเครื่องจักร ดูกระบวนการทำรองเท้ามาตั้งแต่เล็กแต่น้อยย้อนเล่า

ดูจากอายุอานามของบริษัท และจากจำนวนประชากรผู้ใส่รองเท้านักเรียนของ S.C.S. ที่มีมากล้น กระจายตัวอยู่แทบทุกโรงเรียน เลยชวนให้เราคิดว่า S.C.S. คงเป็นแบรนด์รองเท้าเจ้าแรกๆ ในตลาดแน่ๆ ถึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าวัยเรียนมากมายขนาดนั้น 

แต่วิษณุแย้งว่าเราคิดผิด ความจริง S.C.S. เข้าไปในตลาดรองเท้านักเรียนเป็นเจ้าหลังๆ เสียด้วยซ้ำ

“เมื่อก่อนรองเท้านักเรียนมีหลายยี่ห้อมาก การตลาดสมัยนั้นจะเน้นแถมกระติกน้ำ แถมนาฬิกา เหมือนไม่ได้ขายรองเท้าเลย ขายของแถมมากกว่า สู้กันตรงนั้น จนเรามองว่าเราไม่แข่งด้วยวิธีนี้แล้วดีกว่า เอาผลประโยชน์ให้ลูกค้าเป็นที่ตั้ง ทำคุณภาพให้ดี”

คุณสมบัติที่ดีของรองเท้านักเรียน ซึ่งเป็นรองเท้าที่คนใส่ต้องใช้งานกันตลอดเทอม อันดับแรกไม่ใช่ความคงทนหรืออะไร แต่คือความสบายต่างหากที่วิษณุมองว่าสำคัญ

“ถ้าใส่แล้วรองเท้ากัด ลูกค้าก็คงเขวี้ยงทิ้งตั้งแต่วันแรก” เขาหัวเราะก่อนอธิบายต่อว่ารองเท้าเป็นสินค้าที่มีความละเอียดอ่อนมาก หากเสื้อแบ่งเป็น 4 ไซส์คือ S, M, L และ XL รองเท้าจะละเอียดอ่อนถึงขั้นวัดไซส์ต่างกันเป็นมิลลิเมตร ฉะนั้นการจะพัฒนาแบบรองเท้าขึ้นมาสักคู่ บริษัทจึงต้องทำการทดลองและวิจัยว่ารองเท้าที่ออกแบบมาจะครอบคลุมความต้องการ และเกิดปัญหาหลังใส่น้อยที่สุด

“เราต้องดูว่ารูปทรงแบบไหนถึงจะทำร้ายเท้าน้อยที่สุด ความสูงแบบไหนที่เด็กเดินแล้วจะไม่ล้ม ทดลองและวิจัยก่อนว่าเด็กนักเรียนชอบแบบไหน ชอบเพราะอะไร แล้วก็เอาสิ่งที่วิจัยได้มาทำงาน”

ในด้านนวัตกรรมการทำรองเท้า บริษัทก็คอยอัพเดตและพัฒนาเสมอมา

“เมื่อก่อนพอเข้าหน้าฝน ใครหลายคนอาจเคยเจอปัญหารองเท้าพะงาบ เพราะน้ำฝนซึมเข้าไปในรองเท้า แต่เดี๋ยวนี้บริษัทก็พัฒนาเทคนิคการผลิตฉีดพื้นกับหน้าผ้าเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน เด็กจึงไม่มีปัญหาเรื่องของรองเท้าปากอ้าอีกต่อไป” 

นี่เป็นเรื่องที่ S.C.S. พัฒนาอยู่ตลอด เขาว่าอย่างนั้น 

เจ้าตลาดแม้ไม่ใช่เจ้าแรกในตลาด

เพื่อเป็นการยืนยันระหว่างพูดคุยวิษณุหยิบรองเท้าคู่จิ๋วตีตรา S.C.S. ซึ่งมีอายุเทียบเท่าคนวัยกลางคนมาให้เราดูพัฒนาการของบริษัทเทียบกันกับรองเท้ารุ่นปัจจุบัน ก่อนเล่าว่า

“สมัยก่อนเราผลิตรองเท้าหลายแบบ หลายสไตล์มากแต่ใช้ชื่อ S.C.S. เหมือนกันหมด ทำให้คาแร็กเตอร์ไม่ชัดเจน ต่อมาเราจึงพยายามหาโพซิชั่นนิ่งที่ชัดเจนในตลาด แตกเป็นแบรนด์ย่อย เพื่อให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แยกให้ออกก่อนว่าลูกค้าของเราเป็นใคร คาแร็กเตอร์ยังไง จะได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้นและตรงขึ้น” 

นั่นเองอาจเป็นจุดที่ทำให้ S.C.S. ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในเจ้าตลาด

บริษัทอื่นๆ อาจมีไลน์สินค้าเดียว แต่ S.C.S. ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัย มีไลน์สินค้ารองเท้าทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย และสินค้ารองเท้านักเรียนหญิงก็มีด้วยกันถึงสองแบรนด์

หากอยากซ่าก็ต้องใส่ ‘แคทช่า’

อยากสวยใส สไตล์หวานๆ ก็ต้อง ‘ป๊อบทีน’

“เราทำวิจัยมาว่าเด็กผู้หญิงเองก็มีบุคคลิกที่แตกต่างกัน มีทั้งที่เป็นเด็กสวยใสหวานๆ และเด็กที่มีความแสบซ่า เราเลยคิดว่าเราควรทำรองเท้าเพื่อตอบสนองลูกค้าทั้ง 2 กลุ่ม ไม่ว่าจะเรียบร้อย เก่ง ฉลาด เด็กหน้าห้องหรือเด็กหลังห้อง”

แต่เพราะรองเท้านักเรียนใส่ความเป็นแฟชั่นไม่ได้มากเพราะต้องอยู่ในกฎระเบียบของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นรองเท้านักเรียนแบรนด์ไหน ดูภายนอกก็คล้ายคลึงกันหมด

ด้วยโจทย์นี้ บวกกับอินไซต์ที่ว่าเด็กนักเรียนหญิงส่วนใหญ่รักความสวยงาม ที่นี่จึงเป็นเจ้าแรกที่ใส่แฟชั่นลงไปในรองเท้านักเรียนด้วยการออกแบบ buckle ให้ดึงดูดใจกลุ่มลูกค้าสาวๆ

“เราสร้างความแตกต่างด้วยวิธีนี้ สร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เห็นตัวตนของผู้สวมใส่ ส่วนเรื่องคุณภาพเดี๋ยวเขาก็จะได้รับรู้ว่ามันใส่สบาย จากการลองใส่ในช่วงที่ห้างต่างๆ จัดรายการ Back to School อยู่แล้ว” วิษณุอธิบาย

ทำเงินได้แค่ช่วงเปิดเทอมใหญ่ แต่ไม่เป็นไรหัวใจไม่ว้าวุ่น

แม้แบรนด์จะขายดีจนครองตลาด แต่สุดท้ายก็ไม่อาจหนีความจริงที่ว่าสินค้าประเภทนี้มีโอกาสทำเงินเพียงช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ซึ่งมีเพียง 2 ครั้งต่อปี คือช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และตุลาคม-พฤศจิกายน อยู่ดี 

ด้วยเหตุนี้ S.C.S. จึงเพิ่มรองเท้ากีฬาเข้ามาสู่ไลน์ผลิตเพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า

“มันเป็นความท้าทายมาก ที่หนึ่งปีมีรายรับอยู่แค่สองช่วงใหญ่ เราเลยต้องมีลู่ทางอื่นด้วย หลังจากฤดูกาลรองเท้านักเรียน เราจะหันมาดูในส่วนของรองเท้ากีฬา ฟุตซอล ฟุตบอล แล้วก็พวกรองเท้ายูนิฟอร์ม ครู พยาบาล ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร

“อะไรจะมาเป็นรายได้ให้เราได้ เราทำหมดเลย” ผู้บริหารอย่างวิษณุหัวเราะร่วน บอกว่าเพื่อจะทำให้บริษัทยังอยู่รอด พวกเขาจึงต้องคอยสังเกตตลาดอยู่เสมอ ต้องดูว่าช่วงนี้คนกำลังฮิต และกำลังต้องการอะไร

อย่างรองเท้าสเก็ต ซึ่งเป็นไลน์สินค้าหนึ่งของเบรกเกอร์ เอ็กซ์ตรีม ก็เกิดมาจากการสังเกตเทรนด์ในช่วงที่ผ่านมาแล้วเห็นว่ามีคนหันมาสนใจเล่นเซิร์ฟสเก็ตกันเยอะขึ้นนั่นเอง แถมการทำเป็นรองเท้า 3 ข้าง มีข้างสำรองไว้ให้นักสเก็ตที่ต้องเผชิญปัญหารองเท้าข้างที่ถนัดสึกหรอก่อนอีกข้างนึง ก็สะท้อนให้เห็นว่าถึงจะแตกไลน์ไปทำ category ใหม่ยังไง สิ่งที่ S.C.S. ไม่ลืมใส่ก็คือความใส่ใจผู้บริโภคอยู่ดี

“เรื่องของ know-how ในการผลิตรองเท้า และความที่เราคิดจะพัฒนารองเท้าให้ดีขึ้นตลอดเวลานี่แหละที่ทำให้แบรนด์เราอยู่มาได้ถึงวันนี้” 

เขาบอกว่าคนรุ่นพ่อส่งต่อปรัชญาในการทำงานมาให้คนรุ่นเขาเยอะมากๆ ทุกวันนี้คนเหล่านั้นก็ยังลงไปตรวจเช็กความเรียบร้อยของงานอยู่บ่อยครั้ง ทุกๆ วันของคนใน S.C.S ดำเนินไปด้วยความคิดที่ว่าจะทำยังไงให้ S.C.S. ก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้งจริงๆ 

“เราเลยเก็บรองเท้าคู่จิ๋วนี้ไว้ตลอดเพื่อจะเตือนตัวเองว่าห้ามให้มันพัง” 

เสริมพิเศษ สำหรับใครที่ข้องใจว่าในสถานการณ์โควิด-19 ที่โรงเรียนส่วนใหญ่ต่างปิดภาคเรียนแบบนี้ S.C.S. เป็นยังไง วิษณุแถลงไขว่าหากเทียบกับโปรดักต์สินค้าอุปโภคอื่นๆ เช่น ทัวร์ กิจการโรงแรม ที่พัก สินค้ารองเท้านักเรียนอย่างเขาไม่ได้รับผลกระทบขนาดนั้น ถึงอย่างนั้นก็นับว่าเกือบเสียศูนย์เหมือนกันเพราะตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาที่เด็กนักเรียนเริ่มเรียนออนไลน์ก็ทำให้ยอดซื้อรองเท้านักเรียนลดลงไปอย่างมาก แต่บริษัทก็พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการปรับลดกำลังการผลิต ลดค่าใช้จ่าย แต่ยังดูแลพนักงานทุกภาคส่วนเหมือนเดิม ไม่มีการปลดคนงานออก เพราะเข้าใจดีว่าทุกคนต่างก็ลำบากเช่นเดียวกัน

Tagged:

Writer

ฟรีแลนซ์ที่หวังจะมีของอร่อยกินในทุกวัน และมีงานทำในทุกเดือน

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like