The Futurist Who Solves Future Risk

คุยกับ ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ผู้สู้กับวิกฤตที่มองไม่เห็น

‘อยู่กับปัจจุบัน’

ถ้อยคำข้างต้นอาจเป็นแนวทางที่หลายคนเลือกใช้เพื่อกำกับทิศทางในการทำงานและการใช้ชีวิต แต่หลังจากการพูดคุยกับ ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ผมกลับรู้สึกว่าประโยคที่เหมาะสมกว่ากับการทำงานและชีวิตของพวกเขาคือ ‘อยู่กับอนาคต’

ด้วยบทบาทสำคัญของ DPA ที่เป็นไปตามชื่อ นั่นคือทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้กับผู้ที่ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง อาทิ แบงค์พาณิชย์ต่างๆ และทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตหากเกิดเหตุสถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการ พวกเขามีหน้าที่เข้าไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับผู้ฝากที่ได้รับผลกระทบ

ลำพังบทบาทหน้าที่หลักก็หนักหนาและท้าทาย หากแต่ในวันที่ปัญหายังเดินทางมาไม่ถึง และไม่รู้ว่าปัญหาในวันหน้าจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน วิกฤตที่กำลังคืบคลานไม่มีใครเห็นว่าหน้าตาเป็นยังไง สิ่งที่พวกเขาต้องทำในปัจจุบันก็คือเตรียมวันนี้ให้ดีที่สุดเพื่อเป็นที่พึ่งให้กับผู้ฝากเงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันที่อาจมาเยือนในอนาคต

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จะมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินของประเทศ มีผู้ที่ได้รับความคุ้มครองจากสิ่งที่พวกเขาทำหลักล้านชีวิต ยามสถาบันการเงินในประเทศเผชิญกับความเสี่ยงถึงขั้นสถาบันการเงินนั้นถูกปิดกิจการ พวกเขาคือหน่วยงานแรกๆ ที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการบรรเทาปัญหา แต่คนส่วนใหญ่ก็แทบไม่รู้จักว่า DPA คือใคร ไม่รู้ว่าประเทศไทยมีระบบคุ้มครองเงินฝาก ไม่รู้ว่าระบบคุ้มครองเงินฝากมีความสำคัญยังไง

บทสนทนากับ ดร.มหัทธนะ ในสำนักงานของ DPA ย่านวิภาวดี จึงตั้งใจบอกเล่าถึงแนวคิดการทำงานและการปรับตัวให้เท่าทันต่อโลกขององค์กรที่อาจไม่ถูกมองเห็นในสถานการณ์ปกติ แต่ยามวิกฤตพวกเขาคือความหวังของผู้คน

ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA)

หลังจากรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ มุมมองต่อ DPA เปลี่ยนไปจากตอนมองด้วยสายตาคนนอกไหม

ค่อนข้างเปลี่ยนไปพอสมควร ย้อนกลับไปตอนก่อนเข้ามาทำงานที่ DPA ผมอาสาเข้ามา ผมอยากทำงานที่นี่ เพราะผมมองว่า DPA เป็นหน่วยงานที่สำคัญในระบบสถาบันการเงิน เป็นหน่วยงานที่มีส่วนช่วยเหลือประชาชน สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชน หรือพูดง่ายๆ ก็คือสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพียงแต่ว่าหลายๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก ก่อนรับตำแหน่งผมรู้ว่าหลักๆ แล้วหน้าที่ของ DPA มีอยู่ 3 อย่าง หนึ่ง–คุ้มครองเงินฝาก ให้กับผู้ฝากเงินหากสถาบันการเงินถูกปิดกิจการ สอง–ดูแลจัดการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ และสาม–ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้ระบบสถาบันการเงิน

ก่อนเข้ามาผมคิดว่า DPA เป็นองค์กรที่ไม่น่าจะมีความ dynamic และซับซ้อนมาก เนื่องจากงานพันธกิจของ DPA ค่อนข้างชัดเจน และจะเริ่มดำเนินการก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงินปิดกิจการเท่านั้น  แต่พอเข้ามาผมเห็นว่าการที่จะสามารถทำได้ตามพันธกิจที่เราได้รับมอบหมายจากรัฐให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีอะไรที่ต้องเตรียม ต้องดำเนินการ ต้องวิเคราะห์ ต้องศึกษา ต้องประสานงานมากมาย พอผมได้เริ่มทำงาน ได้สัมผัสกับผู้บริหารและพนักงาน พูดคุยกับหลายท่านที่อยู่ที่นี่ พบว่าระหว่างที่เรายังไม่ได้ activate งานตามพันธกิจ DPA เรามีการเตรียมงานและเตรียมความพร้อมมากมายหลายด้าน เพื่อให้บรรลุบทบาทหน้าที่ตามความรับผิดชอบ และตามเป้าหมายที่องค์กรถูกจัดตั้งขึ้น

ผมมองว่าหน้าที่และเป้าหมายของ DPA ยิ่งใหญ่ไม่แพ้หน่วยงานอื่นๆ หนึ่งในหน้าที่ของผมก็ต้องทำให้ทุกคนใน DPA และคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ฝากเงินส่วนใหญ่เข้าใจและรับรู้ในบทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของ DPA นี้

แล้วองค์กรที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้วิกฤต ยามไม่มีวิกฤตต้องทำอะไรบ้าง

เรามีสิ่งที่ต้องเตรียมการเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องการสร้าง awareness เติมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก ให้เป็นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นสำหรับผู้ฝากและประชาชนทุกกลุ่ม ให้คนรู้ว่าเงินฝากที่ผู้ฝากฝากไว้กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 32 แห่งนั้น มีหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะคุ้มครองเงินฝากให้พวกเขานะ ช่วยสร้างความมั่นใจอีกระดับหนึ่งให้กับผู้ฝากในการนำเงินไปฝากไว้กับธนาคาร รวมทั้งเราต้องมีการให้ความรู้พื้นฐานทางด้านการเงิน การบริหารเงิน การให้ความสำคัญของการออมอีกด้วย 

ประเด็นถัดมา ถ้าหากวันนึงที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด สถาบันการเงินมีปัญหาจนถึงขั้นถูกสั่งปิดกิจการ DPA มีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศให้ทันท่วงที หลายคนอาจไม่รู้ว่าประเทศของเราสามารถคุ้มครองได้ถึงกว่าร้อยละ 98 ของจำนวนรายผู้ฝาก ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าในหลายๆ ประเทศ โดยการจ่ายเงินคุ้มครองคืนให้ผู้ฝากนี้เราจะจ่ายให้กับผู้ฝากให้ได้เร็วที่สุด ภายใต้วงเงินที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองคือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ บทบาทหน้าที่ของ DPA เหมือนเป็นการห้ามเลือดแบบเฉียบพลัน เพื่อหยุดการลุกลามของปัญหาไม่ให้เกิด domino effect ที่คนจะพากันตื่นตระหนก แล้วแห่ไปถอนเงินทำให้แม้แต่กับธนาคารที่ไม่ได้เกิดปัญหาก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย จนเกิดเป็นปัญหา bank run ซ้อนขึ้นมาอีก

ทุกวันนี้ DPA ต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายเรื่องมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านการจ่ายเงินคุ้มครอง เพื่อให้มีทั้งความปลอดภัยและรวดเร็ว เรื่องการรับส่งข้อมูลระหว่าง DPA กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 32 แห่ง การเตรียมขั้นตอนการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิดกิจการ 

นอกจากนี้ เรายังทำหน้าที่บริหารเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ที่เป็นเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองอีกด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของเงินกองทุนนี้ก็เป็นเงินสะสมที่เอาไว้ใช้คุ้มครองผู้ฝากหากเกิดเหตุสถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการนั่นเอง

ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA)

คือแม้ยามไร้วิกฤตก็มีภารกิจที่ต้องทำโดยที่อาจไม่มีใครรู้

ผมว่าจริงๆ การทำงานของ DPA เหมือนปิดทองหลังพระ เพราะพนักงานทุกคนทุ่มเทเตรียมการ พยามคิดเผื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติ แล้ววิธีการเตรียมตัวก็ท้าทายมากตรงที่มันเป็นการเตรียมตัวที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง บางคนตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เขาก็ยังไม่ได้ทำงาน ส่วนคนที่เคยผ่านวิกฤตจุดนั้น มาตอนนี้สภาพการณ์ ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ สภาพเศรษฐกิจ รวมถึง financial landscape หรือแม้แต่พฤติกรรมการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปมาก บริบทการแก้ไขปัญหาในวันนั้นอาจจะนำมาใช้ไม่ได้ในวันนี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการทำงานที่ DPA ที่ภายนอกอาจจะดูแล้วเหมือนจะ reactive แต่ความจริงแล้วเรา proactive อยู่ตลอด ต้องรู้จักการตั้งสมมติฐานและจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ  ที่น่าจะเป็นมากมายและทดสอบ ทดลอง ซักซ้อมกระบวนการทำงาน เพื่อให้เข้าใจและสามารถรับมือกับสถานการณ์ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยมุ่งเป้าไปเรื่องเดียวคือต้องคุ้มครองผู้ฝากให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราเป็นหน่วยงานที่ต้องค้นหาปัญหา ข้อบกพร่อง ข้อจำกัดอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาแก้ไข ปรับปรุง เพื่อเตรียมให้พร้อมมากที่สุดหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต

สิ่งที่สำคัญมากๆ อีกอย่างของการทำงานที่นี่คือทุกคนต้องมี mindset ที่ดีและมีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างสูง เพราะว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราไม่รู้ว่าระเบิดลูกนั้นมันจะเกิดเมื่อไหร่ ซักซ้อมปัจจุบัน เพื่อบรรเทาปัญหาในอนาคต

ในฐานะองค์กรที่เป็นเครื่องมือในการบรรเทาความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่ยามสถาบันการเงินเกิดวิกฤต ความกดดันที่คุณและองค์กรแบกรับอยู่คืออะไร

จริงๆ มีหลายอย่างเลย อย่างแรกคือที่ผมพูดไปแล้วว่ามันเป็นความกดดันที่อาจจะยังไม่มีตัวตนจริงๆ เพราะเรายังไม่รู้ว่า หนึ่ง–เกิดเมื่อไหร่ สอง–เกิดยังไง สถานการณ์ที่เราต้องไปแก้ไขปัญหามันมีอะไรบ้างเรายังอาจจะยังไม่รู้แน่ชัด

ตอนนี้สิ่งที่พวกเราทำคือจะมีการจำลองสถานการณ์หรือที่พวกเราเรียกว่า simulation ว่ามันจะเกิดอะไร เราจะจำลองสถานการณ์ให้เหมือนจริงมากที่สุด แล้วเราก็มาดูว่าในสถานการณ์นั้นๆ เราสามารถ handle หรือว่าแก้ปัญหายังไง แล้วให้ใครทำ แล้วต้องทำอย่างไร และที่สำคัญที่สุด ถ้าเราจำลองสถานการณ์แล้ว แล้วเรายังทำอะไรไม่ได้ เราก็ต้องมาเรียนรู้กับมันว่าเรื่องนี้เรายังทำไม่ได้ ครั้งหน้าเอาใหม่ เราต้องทำเรื่องนั้นให้ได้ และผมเชื่อว่าในอนาคตมันจะมีอะไรที่เราทำไม่ได้แบบใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ดังนั้นเราต้อง keep learning, keep solving, keep realizing อะไรใหม่ๆ แต่ถ้าเราบอกว่าเราทำได้หมดแล้ว แสดงว่าอันนั้นเรากำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย เพราะโลกเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราต้องหาข้อจำกัด ปัญหา หรือความท้าทายอยู่ตลอด ห้ามหยุด และห้ามหนี

แล้วตอนที่เข้ามารับตำแหน่งคุณเข้ามาปรับเปลี่ยนอะไรบ้างเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

DPA เป็นหน่วยงานที่มีคนเก่งเยอะอยู่แล้วและเป็นหน่วยงานที่น่าอยู่ มีหลายๆ ปัจจัยที่เอื้อให้การทำงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี สิ่งที่ผมตั้งใจคือการช่วยกระตุ้นให้คนของ DPA ทำงานได้ง่ายขึ้น สนุกขึ้น กล้าเผชิญกับปัญหา ความท้าทายต่าง ๆ และตื่นเต้นมากขึ้น เริ่มจากอย่างแรก ถึงแม้ว่า DPA จะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เราสามารถปรับเอามุมมอง กระบวนการคิด หรือแนวทางการทำงานแบบภาคเอกชนมาใช้โดยเฉพาะในแง่ของการวางกลยุทธ์และกระบวนการทำงานภายในเพื่อให้เกิดความคล่องตัว อย่างเช่นเราเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานยังไงได้บ้างเพื่อให้ productive ขึ้น ประหยัดเวลาในการทำงานมากขึ้น สามารถเอาเวลาไป focus งานที่มีความสำคัญและ impact ได้ดีขึ้น นำ culture ของการเรียนรู้ การปรับตัวเข้ามาปลูกฝังให้พนักงาน 

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ผมได้เริ่มทำคือการ turn กระบวนการทำงานภายในจาก digitization ให้เป็น digitalization เพราะการ transform องค์กรให้ทันกับเทคโนโลยีในทุกวันนี้ มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนจากกระบวนการ manual เป็น digital แต่ต้องเป็นการเอาเทคโนโลยีเข้ามา plug-in อยู่ใน process เพื่อพัฒนาให้กระบวนการทำงานมันดีขึ้น ง่ายขึ้น ช่วยลดภาระงาน และสร้างประสิทธิผลให้กับพนักงานให้ได้ อย่างเช่นการเอา AI เข้ามาเป็นผู้ช่วย ผมใช้คำว่า DPA AI agent เรากำลังพยามสร้าง agent ที่เป็น AI เข้ามาช่วยเราทำงาน แต่ไม่ได้เอามาทำงานแทนเรา โดยเฉพาะในเรื่องของงานเอกสาร เนื่องจาก DPA เป็นหน่วยงานของรัฐ  เราต้องอ้างอิงข้อมูล ระเบียบ ข้อบังคับ มากมาย การที่เรามีเครื่องมือ AI มาช่วยเราในเรื่องเหล่านี้ ก็ทำให้เราประหยัดเวลาในการทำงานไปได้มากพอสมควรแล้ว และเอาเวลามาหารือในสิ่งที่เป็น substance ดีกว่าที่จะเอาเวลามาถกกันในเรื่องของ form หรือการที่เราจะใช้ AI เข้ามาช่วยค้นหาข้อมูลเก่าๆ เพื่อวิเคราะห์ดูข้อดี ข้อเสีย ก่อนที่จะปรับปรุงกลยุทธ์ โครงการ กระบวนการทำงาน หรือแม้แต่การริเริ่มคิดอะไรใหม่ๆ นอกจากนี้ยังนำ AI มาช่วยลดกระบวนการต่าง ๆ ให้ automate มากขึ้น ช่วยเราทำ ช่วยเราคิด ช่วยเราวิเคราะห์ ต่อไปไม่ใช่แค่เฉพาะผู้บริหารที่จะมีผู้ช่วย พนักงานทุกคนก็สามารถมีผู้ช่วยได้เหมือนกัน ทำให้ทุกข้อต่อมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

นอกจากเทคโนโลยี มีอะไรอีกไหมที่คุณพยายามเน้นย้ำกับคนทำงาน

สิ่งที่ผมส่งเสริมมากๆ ก็คือทุกวันนี้เรามี data เยอะมาก แต่ถามว่าเราเอา data มาใช้ประโยชน์แล้วหรือยัง 

เราจะเอา data มาช่วยให้การตัดสินใจของเราดียิ่งขึ้นได้ยังไง การที่เราจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย data driven ได้จริงๆ ผมว่าต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับนโยบายและกล้าที่จะให้โอกาสและอาวุธกับทีมเพื่อให้ได้ลงมือทดลองทำ และนำเสนอสิ่งใหม่ๆ จาก data ของแต่ละส่วนงาน หรือการ cross-data จากหลายส่วนงานให้เกิดเป็น innovation  ผมมองว่า data สามารถบอกเราได้ทุกอย่าง ช่วยเราตัดสินใจได้ทุกอย่าง และทุกส่วนงานสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ data ได้หมด ไม่ว่าจะส่วนงานไหน เช่น HR ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับการพนักงาน เพื่อสร้าง employee engagement หรือแม้แต่การวางนโยบายสวัสดิการที่เหมาะและตอบโจทย์กับความต้องการของพนักงานได้ดียิ่งขึ้นในแบบของ DPA  

เรื่อง engagement ในองค์กรเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญมากๆ ผมอยากให้การทำงาน ไม่ต้องมี label ไม่ต้องมองที่ตำแหน่ง แต่ทุกคนมุ่งเป้าไปที่ผลสำเร็จของงานร่วมกัน โดยที่ผู้บริหารมีพื้นที่ที่เหมาะสมให้พนักงานได้ปล่อยพลัง ปล่อยของกันเต็มที่ นำเสนอกันแบบไม่ต้องกั๊กไม่ต้องกลัวผิดหรือกลัวพลาด แล้วเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะจริงๆ ก็มีหลายเรื่องที่ผู้บริหารเองก็ไม่รู้เท่าพนักงานที่เค้าคลุกคลีอยู่กับหน้างานจริงๆ เค้าเข้าใจ execution เค้าเห็น gap เค้าเห็น solution แต่สิ่งเหล่านั้นมันอาจจะสูญเปล่าก็ได้ ถ้าไม่ได้ถูก carry ขึ้นมาถึงผู้บริหาร ไอเดียดีๆ เหล่านั้นก็อาจจะหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย วัฒนธรรมของการส่งเสริมให้มี productive playground เป็นสิ่งที่ผมมุ่งหวังและพยามสร้างไปด้วยกันกับทุกคนที่นี่ 

แล้วที่สำคัญที่ผมตั้งใจหลังจากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม DPA คือการมาช่วยให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น เราจะสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้ฝากเงินได้เราต้องเป็นที่พึ่งของตัวเองให้ได้ก่อน ความตั้งใจของผมคือการทำให้พนักงานมีความสุข สนุก ตื่นเต้นกับการทำงานในทุกๆ วัน และคุณภาพของเวลาในการทำงานเพิ่มมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือทำให้ระยะเวลาการทำงานสั้นลงแต่ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนที่นี่มี work life balance ที่เป็นรูปธรรมจริงๆ

ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA)

คุณดูให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าทดลอง อย่างการมีสนามเด็กเล่นทางความคิดให้คนในองค์กร ซึ่งดูเป็นสิ่งที่ค่อนข้างขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ที่แสนจริงจัง ซีเรียส สิ่งเหล่านี้มันสำคัญยังไงกับ DPA

จริงๆ ผมว่ามันสอดคล้องกันมาก มันไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะ playground ของเราเป็น playground ที่ตอบโจทย์การทำงานตามบทบาทหน้าที่ อย่างที่ผมเล่าให้ฟังช่วงต้นว่าหนึ่งในหน้าที่หลักของเราเลยก็คือถ้าเกิดวิกฤตเราจะต้องไปจัดการ แต่เราไม่รู้หรอกว่าวิกฤตนั้นมันจะเป็นยังไง ดังนั้นการที่เราจะรู้ได้ เราก็ต้องเล่นกับมัน ต้องอยู่ในสนามที่เราจำลองสถานการณ์ขึ้นมา ยิ่งเราจำลองสถานการณ์ให้มันยากเท่าไหร่ยิ่งดี อย่ากลัวเฟล อย่าคิดว่า โอ้โห มันทำไม่ได้ แล้วมันจะทำให้เจ้านายมาตำหนิได้ว่าทำงานกันยังไง ผมว่ายิ่งเห็นว่าปัญหาอะไรที่มันแก้ไม่ได้ยิ่งดี ทำไม่ได้ก็ลองทำใหม่ ลองไปเรื่อยๆ ยังไงเดี๋ยวมันก็คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ ยิ่งเรามาลองผิดลองถูกกันเรื่อยๆ มันจะทำให้เราเก่งขึ้น แล้วก็สมาร์ตขึ้น คิดวิธีแก้ไขปัญหานอกกรอบได้มากขึ้น เราเล่นในสนามจำลองที่เราเพิ่มปัจจัยความท้าทายเข้าไปอยู่เสมอ แล้วให้ทุกคนได้ลองเล่น ลองล้มแล้วลุก จนเรียนรู้กระบวนการที่ถูกต้อง วันที่เราต้องรับมือกับวิกฤตและทำหน้าที่คุ้มครองผู้ฝากขึ้นมาจริงๆ อย่างน้อยทรัพยากรที่เป็นบุคคลากรของเราจะมีต้นทุนพื้นฐานที่เพียงพอต่อการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนที่เหลือก็คือการปรับแต่ง แก้ไขกันตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากให้ DPA ต้องปฏิบัติหน้าที่จริงแน่ๆ (หัวเราะ)

ดูคุณเป็นคนให้ความสำคัญกับทัศนคติในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร

ผมว่ามายด์เซตกับคัลเจอร์คือสิ่งสำคัญ อย่างเรื่องคัลเจอร์มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่รู้จะใช้คำว่าเปลี่ยนดีหรือเปล่า นั่นคือผมอยากส่งเสริมให้มีคัลเจอร์ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงและไม่ยึดติด  คือผมมีความคิดความเชื่อที่ว่า หนึ่ง–ถ้าตราบใดที่เรายึดมั่นในกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ อย่างรอบคอบ และสอง–เรายึดหลักที่ว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร และสาม–มันมีเหตุผลเพียงพอ แล้วมันเข้ากับ environment หรือ context ณ ปัจจุบัน ผมให้เลือกเดินตามนั้น แม้มันอาาจจะขัดกับที่ผ่านมาแต่มันมีคำอธิบายได้ อย่างเช่นที่ผ่านมาเราทำแบบนั้นเพราะว่า 10 ปีที่แล้ว สถานการณ์เป็นอย่างนั้น แต่ตอนนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นความสามารถและความกล้าในการเผชิญหน้ากับอุปสรรคจึงเป็นสิ่งสำคัญในการก้าวไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ปรับตัวได้เก่งและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

มายด์เซตกับคัลเจอร์นับเป็น 2 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงยากมาก คุณทำยังไงให้คนในองค์กรพร้อมปรับไปกับแนวทางที่คุณเชื่อ

ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดก็คือมายด์เซตกับคัลเจอร์เพราะมันต้องใช้เวลา ผมจะเริ่มตั้งแต่ตัวเอง เพราะการกระทำสำคัญกว่าคำพูด  เรื่องมายด์เซตผมก็ต้องเป็นตัวอย่างให้ทุกๆ คนดูว่าจริงๆ แล้วมายด์เซตที่เราอยากให้เขาเป็นมันคืออะไร อย่างเช่นเรื่องต้องพร้อม และก็ไม่กลัวกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องโชว์ให้เขาเห็นกันว่าจริงๆ ทุกปัญหาเราช่วยกันแก้ไขได้ ทีมงาน DPA มีความสามารถกันทุกคน ผมก็ต้องเปิดโอกาสให้ทีม อย่างที่ผมใช้คำว่าโชว์ของให้เต็มที่ เปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดเห็น เราไม่ต้องจำกัดไอเดียเขา ผมเข้ามาวันแรกๆ ผมก็บอกทีมทุกๆ คนว่า ที่ผมเข้ามา สิ่งที่ผมจะทำหลักๆ เลยคือผมจะรับฟังให้มาก พูดให้น้อย ตัดสินใจให้มากที่สุด แล้วก็ช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อให้ทุกคนเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้

แล้วผมมีหลายๆ โครงการที่ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าทีมจะรู้สึกยังไง ผมก็เปิดโอกกาสให้ทุกๆ คนได้พูดคุย เรามีพนักงานรวมทุกๆ ตำแหน่งประมาณ 80-90 คน ผมตั้งใจที่จะคุยกับทุกคน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มคุยแล้ว คุยโดยไม่มีเจ้านายเขาอยู่ด้วยนะ เพื่อที่จะให้พนักงานทุกระดับเข้าใจว่าองค์กรจะเดินไปยังไง องค์กรจะปรับเปลี่ยนยังไง ทำให้เขาเข้าใจเรา เขาเข้าใจองค์กร เขาเข้าใจคณะกรรมการ เขาเข้าใจผู้บริหาร แล้วเขาก็มีความมั่นใจ แล้วก็มีความสุข มีความสบายใจที่จะทำงาน แล้วบางคนเขาก็ให้ไอเดียผมมาค่อนข้างดี อันนี้เป็นสิ่งที่ผมพยายามที่จะทำ แล้วทำให้มายด์เซตหรือคัลเจอร์มันค่อยๆ เปลี่ยนไปในทิศทางที่เราตั้งใจ 

สำคัญที่สุดก็คือผมมี 2 คำที่เคยพูดกับทางทีมทั้งหมด ว่าผมเน้นว่ามี 2 em คือ empathy กับ empower ซึ่งผมก็เน้นมากๆ ว่าจะต้องมี empathy ซึ่งกันและกัน คนที่เรา interact ด้วยเขาอาจจะมีมุมมองหนึ่ง เราลองไปคิดซิ ถ้าเราเป็นเขา มุมมองแบบเดียวกัน เราจะเข้าใจเขามากขึ้น กับ empower ก็คือเราก็ต้องให้คนอื่นเขามีอิสระในการทำงาน อิสระในความคิดของเขา เราก็อยู่ในกรอบของเรา เขาก็อยู่ในกรอบของเขา ผมเชื่อว่าถ้ามี 2 em นี้มันน่าจะทำให้องค์กรเดินไปได้ด้วยความมั่นคง แต่สุดท้ายเรื่องมายด์เซตกับคัลเจอร์มันก็ต้องใช้เวลา และต้องใช้ความใส่ใจ

หลังจากคลุกคลีกับงานที่ต้องต่อสู้กับวิกฤตที่ยังมองไม่เห็น อยากรู้ว่าความสนุกของงานนี้คืออะไร

จริงๆ ถ้าพูดแล้วมันก็แปลก ผมว่าความสนุกของมันก็คือว่าเราต้องเตรียมพร้อมกับปัญหาที่เราไม่รู้ว่า หนึ่ง–มันจะเกิดเมื่อไหร่ สอง–ปัญหามันคืออะไรบ้าง ลองคิดดู ผมว่ามันสนุกดีนะ ที่หน่วยงานอื่น ๆ เค้าคิดกลยุทธ์ วางแผนงาน ปีละ 1 ครั้ง แต่เราต้องคิดทุกเดือน มันเหมือนเราต้องวางกลยุทธ์อยู่ตลอดเพราะเรายังไม่รู้ว่าฉากต่อไปเป็นยังไง ผมว่ามันก็เป็นความตื่นเต้น แล้วมันเหมือนเป็นการทำงานที่ไร้ขอบเขต เราต้องใช้ความคิดค่อนข้างมากในการ forecast scenario ต่างๆ ออกไป ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะต้องทำยังไง มันก็เลยทำให้มีความท้าทาย ยิ่งงานมีความท้าทายมันก็ยิ่งสนุก มันไม่ซ้ำซาก จำเจ เพียงแต่ว่าเราต้องมีความเข้าใจและอยู่บนพื้นฐานข้อมูลของ playground ที่เป็นสนามจริง และต้อง keep pace ของเราและพาทีมไปด้วยกันกับเราให้มองเห็น purpose ในการทำงานที่ชัดเจนไปด้วยกัน  

เวลาที่แก้ไม่ได้ก็ยังสนุกอยู่ใช่ไหม

แก้ไม่ได้ผมก็รู้สึกว่ามันยิ่งดีนะ โอเค เดี๋ยวเราจะทำใหม่นะ มันจะไม่สนุกต่อเมื่อถ้าเกิดวิกฤตจริงๆ แล้วแก้ไม่ได้ อันนั้นคงไม่สนุกแน่ ผมพยายามบอกพนักงานอยู่บ่อย ๆ ว่าอย่ากลัวที่จะเจอปัญหา เจอแล้วช่วยกันแก้ ดีกว่าไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร หากเราไม่กล้าเผชิญกับปัญหา หรือข้อจำกัด หรือคิดว่าตัวเองพร้อม พอเจอเหตุการณ์จริงเราจะ fail ของจริง

สุดท้ายผมเชื่อว่าทุกปัญหา ทุกวิกฤตมันต้องมีทางแก้ไข โอเค อันไหนที่ยากมันอาจจะต้องใช้เวลา แต่ว่าถ้าเรากลัว แล้วเราจะไปเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้ยังไง ในเมื่อเรามีภารกิจที่จะมาช่วยบรรเทาปัญหาแล้ว เราก็ต้องเผชิญหน้ากับมันให้ได้

Writer

บรรณาธิการบริหาร Capital เจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 6 เล่ม เล่มล่าสุดชื่อ Between Hello and Goodbye ครู่สนทนา

Photographer

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ

You Might Also Like