Old School Twist 

แปลงโฉมสมุดนักเรียนลายไทยให้ไฉไลโดย ‘โรงงานสมุดโกญจนาท’ ที่ขายส่งสมุดกว่า 40 ปี 

ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี ‘สมุดลายไทย’ ที่คนไทยคุ้นชินกันตั้งแต่สมัยเด็กและพบเห็นได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไปก็มีหน้าตาเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

เป็นสินค้าราคาย่อมเยาที่ทุกโรงงานสมุดในไทยต่างกำหนดสเปกการผลิตเหมือนกันหมดทั้งแพตเทิร์นลายไทยที่หน้าปกและตารางสูตรคูณที่ปกหลัง

เป็นสมุดในความทรงจำร่วมของคนหลายเจเนอเรชั่นและคนไทยทุกจังหวัดเพราะเริ่มผลิตมาเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยที่อุตสาหกรรมการผลิตสมุดในไทยเฟื่องฟูอย่างมากและขายส่งให้ยี่ปั๊วตามต่างจังหวัดทั่วไทย

วันนี้มีโรงงานไทยเจ้าแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาแปลงโฉมหน้าตาสมุดลายไทยเจ้าเก่านี้คือ ‘โรงงานสมุดโกญจนาท’ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวโดย ออย–ชาติพร หวังไพสิฐ ผู้ก่อตั้งโรงงาน, ดวง–นพธาร หวังไพสิฐ ทายาทรุ่น 2 ผู้รับหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงงาน, มิน–ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ทายาทรุ่น 3 ผู้ควบตำแหน่ง Art director, Product designer, Marketing manager และแปลงโฉมสมุดลายไทยให้ไฉไล  

เบื้องหลังการพลิกภาพจำสินค้านี้ ทั้งสามคนจะมาเล่าให้ฟังว่าส่งต่อธุรกิจที่เก่าแก่จากรุ่นสู่รุ่นอย่างไร ออกแบบสมุดยังไงให้คงความเป็นไทยและโดนใจคนรุ่นใหม่ และทำไมถึงยังคงตั้งใจชูสินค้าของคนไทยและคงเอกลักษณ์ไทยแม้จะเผชิญการดิสรัปต์ในธุรกิจไม่ต่างจากโรงงานในอุตสาหกรรมอื่นเลยก็ตาม

Life Wisdom
ตำราสร้างโรงงานสมุด

โรงงานสมุดโกญจนาทก่อตั้งขึ้นช่วง พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นยุคที่ธุรกิจขายส่งสมุดราคาถูกกำลังรุ่งเรืองและได้รับความนิยมอย่างมาก ออมทำงานอยู่ในวงการสมุดมาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยก่อนที่จะสร้างโรงงานของตัวเอง เธอเคยรับจ้างทำงานในโรงงานสมุดของบริษัทอื่นมาก่อนเป็นเวลาสิบปี ซึ่งในช่วงนั้นได้ฝึกทักษะต่างๆ เช่น การนำกระดาษสมุดเข้าเครื่อง การขีดเส้นสมุดด้วยหมึก  

ออยเล่าว่าสามีของเธอก็รับหลายหน้าที่ในโรงงานสมุดเช่นกัน ตั้งแต่ดูแลการผลิต การขาย ขนส่ง ทำให้เชี่ยวชาญการดูแลโรงงานสมุดตั้งแต่ต้นจนจบ “พอเราเห็นกระบวนการผลิตเหล่านี้ ก็อยากทำให้เป็น ตอนพักเที่ยงก็มักจะรีบกินข้าวและไปหัดทำ”


ความใฝ่รู้ทำให้ออยศึกษาศาสตร์การผลิตสมุดจนกลายเป็นต้นทุนวิชาความรู้ในการทำธุรกิจ เมื่อถึงวันที่สร้างครอบครัวและมีลูก เธอรู้สึกว่าเงินเดือนไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย จึงตัดสินใจออกมาตั้งโรงงานเล็กๆ ของตัวเองร่วมกับสามี

Page 1 ของเส้นทางผู้ประกอบการที่สร้างโรงงานด้วยตัวเองจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยประการนี้ “ตอนนั้นเป็นตึกแถว 2 ชั้นห้องเดียว มีพนักงานอยู่แค่ 2-3 คน ซื้อเครื่องจักรมือสองเก่าๆ มาอย่างละตัวสองตัว เครื่องตัดกระดาษตัวหนึ่งและเครื่องขีดกระดาษอีกตัวหนึ่ง ตัวเราเองก็ลงไปช่วยพนักงานทำงานทุกอย่าง ช่วยนับกระดาษ เข้าเล่ม เย็บสมุด ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ทีละนิด” 

ทั้งเธอและสามีลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต ขายของ ส่งของ ไปจนถึงสอนพนักงานให้ใช้เครื่องจักรจนชำนาญ ปัจจุบันโรงงานมีพนักงานที่ทำงานมาเกิน 20 ปีแล้ว และค่อยๆ ขยับขยายกำลังการผลิตทั้งในแง่ของพนักงานและเครื่องจักร

ดวงผู้รับช่วงการบริหารโรงงานจากคุณแม่เล่าต่อว่าโรงงานสมุดโกญจนาทเป็นโรงงานขนาดเล็กที่ยึดกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมมาตลอด กล่าวได้ว่า 40 ปีที่แล้วเป็นยังไง ทุกวันนี้ก็ยังผลิตแบบนั้น ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย โดยใช้คนกำกับเครื่องจักรและผสมผสานกับขั้นตอนการทำด้วยมือ

ในแต่ละขั้นตอนมีช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตั้งแต่ช่างนับกระดาษ ซึ่งต้องฝึกทักษะการนับจำนวนกระดาษด้วยมือมาหลายสิบปี โดยจำนวนกระดาษในสมุดแต่ละรุ่นจะมีตั้งแต่รุ่นบางสุด 8 แผ่น ไปจนถึงรุ่นหนาสุดที่ 80 แผ่น ช่างเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญและไม่ใช่ทุกคนที่จะทำหน้าที่นี้แทนได้

“แม้กระทั่งเครื่องขีดเส้น ก็ต้องใช้ฝีมือ” ดวงกล่าว “ทุกเส้นต้องใช้ทักษะของช่างในการตั้งเข็มเพื่อขีดเส้นให้เรียบร้อย” กระบวนการผลิตจึงต้องมีช่างเฉพาะทางประจำที่เครื่องจักรแต่ละประเภทตั้งแต่เครื่องตัด เครื่องขีด เครื่องเย็บ หลังจากใช้เครื่องจักรขีดเส้นตามประเภทของสมุดแต่ละรุ่น ทั้งสมุดพก สมุดกราฟ สมุดนักเรียน ก็จะเข้าสู่กระบวนการเข้าเล่มโดยเย็บแบบมุงหลังคาด้วยมือ  

เนื่องจากโรงงานสมุดโกญจนาทไม่ใช่โรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมดจึงยังคงรักษาขั้นตอนการผลิตโดยพนักงานไว้เพื่อให้ส่งต่องานได้ง่ายและเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของโรงงาน ความเชี่ยวชาญของโรงงานจึงเป็นการเข้าเล่มและส่งหน้าปกสมุดให้โรงพิมพ์ผลิตตามแบบอีกต่อ

สมุดลายไทยโดยคนไทย 

สมุดลายไทยสำหรับใช้ในโรงเรียนถือเป็นสินค้าซิกเนเจอร์ของโรงงานสมุดโกญจนาทที่ผลิตมาต่อเนื่องกว่า 40 ปี โดยโรงงานทุกเจ้าจะผลิตสมุดลายไทยนี้ในรูปแบบเดียวกันหมด คือปกหน้าเป็นลายไทย ส่วนปกหลังเป็นสูตรคูณ

นอกเหนือจากสมุดนักเรียนแล้ว โรงงานยังผลิตสมุด 8 แผ่นสำหรับการทำบุญในงานผ้าป่าและพิธีกรรมต่างๆ อีกทั้งยังเพิ่มหมวดสินค้าทั้งสมุดจดบันทึก สมุดพก และสมุดวาดเขียนในเวลาต่อมา โดยเน้นการขายในราคาย่อมเยาที่ราคา 2-20 บาทตั้งแต่ยุคก่อตั้งโรงงาน และปัจจุบันราคาก็ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 3-24 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ราคาขายส่งจะปรับไปตามปริมาณออร์เดอร์ที่สั่งผลิตของลูกค้าแต่ละรายเล็กน้อย

โมเดลธุรกิจของโรงงานสมุดที่ราคาถูกแสนถูกเช่นนี้เน้นการขายส่งในกรุงเทพฯ ผ่านยี่ปั๊ว ซึ่งจะนำสมุดไปขายต่อในต่างจังหวัดอีกทีและหาลูกค้าของโรงงานจากคอนเนกชั่นที่สั่งสมจากประสบการณ์ในวงการโรงงานสมุดมาก่อนหน้านี้ ออยได้แชร์ประสบการณ์การสร้างโรงงานของตนเองว่าเป็นงานที่ยากและท้าทายมาก

“มันเหนื่อยมากและต้องใช้ความอดทนสูง สมัยก่อนทำงานกันถึง 3 ทุ่ม มีโอทีทุกวันเลย ไม่เคยหยุดเพราะยุคก่อนลูกค้าสั่งเยอะและชอบซื้อสต็อกไว้ครั้งละเยอะๆ” เธอกล่าวเสริมว่าโรงงานขายดีจนต้องใช้รถสิบล้อในการขนส่งสมุดเป็นประจำ มินแชร์ว่าพอถึงยุคของทายาทรุ่นที่ 3 ก็พบกับอุปสรรคที่เกิดจากการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดตามยุคสมัยอย่างชัดเจน

“จากวันที่เคยขายดีมาก มาถึงวันนี้เรากลับอยู่ในจุดที่ขายแย่มาก รายได้จากการขายส่งลดลงอย่างมาก เพราะคนใช้สมุดน้อยลงกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว อีกทั้งเราเป็นโรงงานที่ยังคงใช้การผลิตด้วยมือแบบดั้งเดิมในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีต้นทุนที่ถูกกว่า ทำให้สามารถขายส่งได้ในราคาที่ต่ำกว่าเรา การแข่งขันจึงยากขึ้นไปอีก แถมยังมีสมุดราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามาขายแข่งในไทยตั้งนานแล้ว”

“ในวงการผลิตสมุดก็มีการตั้งคำถามกันอยู่เสมอว่าธุรกิจนี้จะไปรอดไหม ทำไมเราไม่เลือกซื้อสมุดจากจีนแล้วนำมาขายต่อแทนที่จะผลิตเอง แต่เราก็ยังยืนหยัดที่จะผลิตเองต่อไป เพราะถามว่าคนจีนจะสามารถผลิตสมุดลายไทยแบบนี้ได้ไหม ก็คงไม่ เราเข้าใจการใช้สมุดของคนไทยมากที่สุด เพราะตัวเราเองก็เคยเรียนหนังสือในประเทศนี้มาก่อน” 

“แม้สมุดจะเป็นสินค้าที่มีต้นทุนต่ำและดูเหมือนจะไม่มีมูลค่าเพราะสินค้าจากจีนเข้ามาทดแทนได้ง่ายมาก โรงงานที่ผลิตสมุดแบบนี้ก็เหลือน้อยลงทุกที แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังคงยึดมั่นเป็นจุดขายของเรา คือสมุดของเราผลิตด้วยมือของคนไทยจริงๆ และพนักงานทุกคนของเราก็เป็นคนไทย”

Business Wisdom
ออกแบบลายไทยร่วมสมัย

จุดเปลี่ยนของธุรกิจคือวันที่มินตั้งคำถามกับสมุดที่มีลายเดิม ผลิตรูปแบบเดิมมาตลอด 

“เราโตมากับโรงงานนี้ตั้งแต่เด็ก อยู่กับสมุดมาทั้งชีวิตแต่ไม่เคยอยากใช้สมุดของโรงงานตัวเองเลย เป็นสิ่งที่เราคิดมาตลอดว่าเวลาใช้สมุด เรายังไปซื้อสมุดจากที่อื่น ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยน”

ความตั้งใจของมินคืออยากทำให้สมุดลายไทยดูมีความมินิมอลมากขึ้นเพื่อให้โดนใจคนรุ่นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังซื้อใจคนรุ่นเก่าได้ จึงนำลายไทยโบราณมาใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบทั้งลายโคมพวงแก้ว พิกุลกรอง เหลี่ยมเพชร ดาวกระจาย ราชวัตรดอกกลม เฉลวเพชร กุหลาบดอกจอก

“ตอนออกแบบเราไปค้นหา reference จากลายไทยที่มีอยู่แล้วในตำราแล้วก็ขึ้นโครงจากลายนั้น ทีนี้จะทำยังไงให้ดูโมเดิร์นขึ้น อย่างแรกคือพอลายดั้งเดิมมีขนาดเล็กเลยทำให้รู้สึกว่ามีดีเทลเยอะ ขัดกับความมินิมอล เราเลยขยายลายให้ใหญ่ขึ้นแล้วลดทอนให้เรียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

“ศาสตร์ของลายไทยดั้งเดิมมีการขึ้นโครงสร้างจากเรขาคณิตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น ลายสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน เราก็ยึดจากเรขาคณิตเหล่านี้ ตัดดีเทลดั้งเดิมบางอย่างออกและใส่ดีเทลใหม่เพิ่มเข้าไป อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยได้เยอะคือเรื่องสี เราพยายามจับคู่สีให้ถูกต้องตามสัดส่วนการใช้สีทำให้มองแล้วดูไปด้วยกันได้และใช้สีที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในงานลายไทยมาก่อนทำให้ดูมีความสมัยใหม่แต่ก็ยังรู้สึกถึงความเป็นไทย” 

จากปกหลังของสมุดที่แต่เดิมเป็นแม่สูตรคูณก็เปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเป็น 8 วิชาที่ไม่เหมือนกัน เช่น ตาราง Tense ในวิชาภาษาอังกฤษ การใช้คำและวรรณยุกต์ในวิชาภาษาไทย สูตรทางคณิตศาสตร์ แผนที่ทางภูมิศาสตร์ในวิชาสังคม สัญลักษณ์การดูแลเสื้อผ้าในวิชาการงานอาชีพ สัญลักษณ์การอ่านโน้ตในวิชาดนตรี เป็นต้น 

ทั้งนี้เพราะมินรู้สึกว่า “สมุดที่มีสูตรคูณมันไม่เข้ากับสิ่งที่เราเรียนในโรงเรียน จึงอยากพลิกคอนเซปต์ใหม่ให้แตกต่างจากตลาด”

เคล็ดลับในการออกแบบแพตเทิร์นลายไทยให้ร่วมสมัยของมินคือเข้าใจผู้ใช้ “ความจริงการทำกราฟิกมันขึ้นอยู่กับรสนิยมเยอะพอสมควร เราต้องเข้าใจว่ามาตรฐานของงานประเภทนี้อยู่ที่ไหน รสนิยมและความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้สร้างงานกับคนเสพอยู่ตรงไหน เมื่องานที่เราสื่อสารออกไปถูกมองเห็นตรงกับสิ่งที่เราต้องการ งานนั้นก็จะเข้าถึงผู้คนได้

“มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ต้องเสพงานเยอะๆ ต้องเข้าใจคนและเห็นว่าเทรนด์ไปทางไหน มองเห็นว่าคนสนใจอะไรชอบอะไร เราฝึกทำกราฟิกมานานมากตั้งแต่ก่อนจะมาทำโรงงานนี้อีก พวกนี้มันเป็นหลายศาสตร์ผสมกันถึงจะออกมาเป็นแบบนี้ได้”

นอกจากลายหน้าปกแล้วมินยังปรับคุณภาพการผลิตให้เป๊ะมากขึ้น “เมื่อก่อนโรงงานเราใช้กระดาษเป็นเกรดที่ค่อนข้างถูก มันจะมีความสาก ตอนนี้เราเปลี่ยนให้เป็นกระดาษรุ่นที่แพงขึ้นมาซึ่งมีความนุ่มลื่นมากขึ้น เมื่อก่อนเส้นบรรทัดเราก็ไม่ได้ลงมาคุมคุณภาพขนาดนั้น ทำให้อาจจะมีเบี้ยวบ้าง ขาดช่วงบ้างนิดๆ หน่อยๆ เราก็ลงมาคุมคุณภาพใหม่ให้มีความสม่ำเสมอและสีเท่ากัน คุมการตัดให้มีความคมชัดและสวยงาม”  

จากขายส่งสู่ค้าปลีก 

สมุดลายไทยที่ออกแบบใหม่กลายเป็นสินค้าไวรัลในโลกโซเชียลทันทีหลังจากมินทวิตถึงคอนเซปต์การออกแบบใน Twitter โดยติดอันดับสินค้าขายดีใน Shopee และหลังจากนั้นโรงงานสมุดโกญจนาทก็หันมาค้าปลีกอย่างจริงจังมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง Lazada และ TikTok รวมถึงเปิดเพจเฟซบุ๊กเพื่อหาลูกค้าขายส่งเพิ่มเติมควบคู่กันไป  

มินบอกว่าการเพิ่มโมเดลธุรกิจจากขายส่งเท่านั้นตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีมาเป็นค้าปลีกนับเป็นการก้าวออกนอกคอมฟอร์ตโซนครั้งใหญ่สำหรับทุกคนในครอบครัว  

“สมัยก่อนหลักการของโรงงานเราคือการต่อต้านการขายปลีก เป็น motto ว่า ถ้าเราเป็นโรงงานผลิต เราก็จะขายส่งเท่านั้น เพื่อไม่ไปแย่งลูกค้ากับผู้ที่เอาสินค้าของเราไปขายต่อ” 

แต่สุดท้ายแล้วเหตุผลที่ตัดสินใจเปลี่ยนเพราะเชื่อว่าวิธีใหม่จะช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ๆ และถ้าไม่เปลี่ยนธุรกิจอาจอยู่ไม่ได้

“เราเชื่อว่ายังมีคนที่ต้องการสินค้าของเรา เราเพียงแค่ต้องไปตามหาเขาให้เจอ ซึ่งการขายปลีกของเราก็ไม่ใช่ช่องทางขายเดียวกับที่ลูกค้าขายส่งของเราวิ่งขายตามต่างจังหวัดหรือส่งผ่านสายส่ง เราเน้นขายออนไลน์ซึ่งเป็นตลาดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้สมุดลายไทยจะไวรัลในโซเชียล แต่ลูกค้าในโมเดลธุรกิจขายส่งยังคงสนใจสมุดลายไทยรุ่นเก่ารุ่นเดิม แม้โรงงานจะนำตัวอย่างไปเสนอถึงที่แล้วก็ตาม ทำให้เห็นได้ชัดว่าความชอบของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ โรงงานจึงแยกการขายออกเป็น 2 แบบ คือการขายส่งและขายปลีก เพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างกัน ดวงกล่าวเสริมว่าการที่ได้พบกับลูกค้าปลายทางทำให้โรงงานได้ฟังคอมเมนต์และข้อเสนอแนะของผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น ต่างจากสมัยขายส่งที่ไม่เคยได้รับฟีดแบ็กแบบนี้มาก่อน

นอกจากสมุดลายไทยแล้ว มินยังวางแผนขยายสินค้ากลุ่มใหม่อีกหลายรุ่น เช่น สมุดสำหรับคนทำงาน สมุด A5 และยังปรับดีไซน์สมุดในรุ่นอื่นๆ เช่น สมุดนักเรียนสีพาสเทลที่ออกแบบสีด้วยตัวเอง ทั้งนี้สำหรับสมุดลายการ์ตูนทั่วไปจะไม่ใช่ทุกรุ่นที่ออกแบบหน้าปกเอง เนื่องจากโรงงานมีปริมาณการผลิตเยอะมาก เพื่อให้สามารถผลิตทันรอบการผลิต สมุดบางรุ่นจะใช้วิธีเปลี่ยนดีไซน์ด้วยการซื้อภาพลิขสิทธิ์มาแล้วปรับแต่งอีกทีเพื่อนำเสนอลุคที่ทันสมัยและมินิมอลขึ้น

แม้การขายปลีกจะทำให้สมุดมีราคาสูงขึ้นเล็กน้อยแต่มินก็ทิ้งท้ายว่ายังคงความตั้งใจเดิมของโรงงานสมุดโกญจนาทตลอดมา 

“เราไม่ต้องการให้แบรนด์ของเราดูเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเกินไป เรายังชอบคอนเซปต์เดิมของโรงงาน คือการขายสินค้าที่ราคาถูกและเข้าถึงได้ ทุนในการผลิตสมุดก็ยังอยู่ในหลักสิบบาท เราจึงยังสามารถขายในราคาที่จับต้องได้ เพื่อให้คนอื่นสามารถซื้อได้เหมือนเดิม”

Editor’s Note : Wisdom from Conversation

เคล็ดลับการทำสมุดลายไทยให้โมเดิร์นในแบบของโรงงานสมุดโกญจนาทคือการกล้าฉีก legacy จากหน้ากระดาษแผ่นเก่าทิ้งและเขียนไอเดียใหม่ทับเข้าไป ทั้งการวางภาพจำว่าสมุดลายไทยต้องมีหน้าตาแบบนี้เท่านั้น ลายไทยต้องคงแพตเทิร์นแบบเดิมเท่านั้น และโมเดลธุรกิจต้องเป็นขายส่งเท่านั้น

Life Wisdom ของธุรกิจครอบครัวคือการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงโดยบาลานซ์ทั้งสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ไว้ ออกจากคอมฟอร์ตโซนในการค้าปลีกซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ แต่ก็ยังคงสานสัมพันธ์กับลูกค้าเก่าในการขายส่ง ยึดแก่นคุณค่าที่ธุรกิจสร้างไว้ตั้งแต่ต้นคือการคงรากความเป็นแบรนด์ไทยและการเป็นโรงงานสมุดไทยที่ผลิตสินค้าราคาย่อมเยาตลอดมา 

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like