2489
September 27, 2024

‘พลอย สโรชา’ กับบทบาทการปั้นสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางโดยผู้พิการให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม

เส้นทางการเป็นนักเขียนของ พลอย–สโรชา กิตติสิริพันธุ์ บรรณาธิการผู้มองไม่เห็น เริ่มจากการมีผลงานหนังสือ 3 เล่มภายใต้สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เล่มแรกสุดคือ ‘จนกว่า เด็กปิดตา จะโต’ เป็นบันทึกประจำวันสมัยพลอยเรียนปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เล่มถัดมาเป็น ‘ก ไก่เดินทาง นิทานระบายสี’ โดยเขียนเป็นนิทานภาพจำนวน 44 เรื่องจากพยัญชนะไทย 44 ตัวและมีภาพให้ระบายสีลงไปได้ เล่มสุดท้ายเป็นบันทึกประจำวันในวัยทำงานชื่อ ‘เห็น’ จากประสบการณ์ที่เจอโลกกว้างและพบผู้คนมากขึ้น โดยพลอยเป็นคนวาดภาพประกอบทั้งหมดในหนังสือบางเล่มเองอีกด้วย

“มีผู้กำกับละครมาอ่านหนังสือของเราแล้วเอาไปทำละครของ Thai PBS อย่าง Sweet Sensory ที่นางเอกเป็นคนตาบอด เขาก็ศึกษาจากหนังสือและมาคุยกับเรา” สิ่งเหล่านี้คืออิมแพกต์ที่พลอยรู้สึกว่าสามารถใช้หนังสือเป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวของผู้พิการให้น่าสนใจมากขึ้นได้

ด้วยความเชื่อว่าไม่ว่าจะมีปีกที่บอบบางแค่ไหนก็สามารถโบยบินได้ทำให้พลอยก่อตั้งสำนักพิมพ์โดยผู้พิการของตัวเองชื่อ ‘สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง’

ความเท่าเทียมบนเชลฟ์หนังสือ

ความหวังของพลอยคืออยากให้โลกของคนที่แตกต่างกันขยับเข้าใกล้กันมากขึ้นและเชื่อว่างานเขียนเป็นหนึ่งในวิธีที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดได้ดี

“ในฐานะที่พลอยเป็นคนหนึ่งที่ได้ทดลองเขียนหนังสือให้คนทั่วไปอ่านและวางขายในตลาดทั่วไป เรารู้สึกว่าอิมแพกต์มันกลับมาที่ตัวเรา คือไม่ใช่แค่เราได้ค่าลิขสิทธิ์แต่รู้สึกว่าเราเท่ากับคนอื่นตรงที่หนังสือของเราวางอยู่คู่กับหนังสือเล่มอื่นๆ ในตลาดหนังสือทั่วไป

“พอเห็นอิมแพกต์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเลยอยากชวนคนพิการคนอื่นๆ มาสื่อสารให้สังคมรับรู้เพิ่มมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าจริงๆ คนในสังคมกับคนพิการไม่ได้ไม่อยากอยู่ด้วยกัน พลอยเชื่อว่าเราอยากปฏิสัมพันธ์ อยากช่วยเหลือกันและกันอยู่แล้วแต่เราต่างไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นและแลกเปลี่ยนกันยังไงซึ่งเป็นกำแพงที่รู้สึกว่ามันใหญ่มาก”

โครงการที่สานฝันการโบยบินของผีเสื้อ

ผีเสื้อที่มีปีกบางย่อมรู้สึกกลัวการโบยบินเป็นธรรมดาในตอนแรก แต่ความกลัวนั้นค่อยๆ ลดลงทีละนิดด้วยการลงมือทำและมีคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันว่าไม่ว่าจะปีกบางแค่ไหนก็สามารถบินได้  

จากไม่เคยมีความรู้ด้านธุรกิจมาก่อน พลอยก้าวข้ามความกลัวในการทำธุรกิจด้วยการเข้าร่วมโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (BC4C: Banpu Champions for Change) โดย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise)

ป้อง–รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เล่าว่าเป้าหมายของโครงการที่อยากสนับสนุนพลอยคือการผลักดันให้ไอเดียสำนักพิมพ์เพื่อคนพิการเติบโตเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

“ตั้งแต่ตอนแรกที่น้องพลอยมาสมัครและมาพิตช์รอบแรก สิ่งที่เราเห็นเลยคือพลังจากตัวเขามันเยอะมาก สำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นสำนักพิมพ์ที่ให้ความสำคัญเรื่องคนกับสังคมอยู่แล้วและน้องพลอยจะถนัดเรื่องของการเขียนและการเป็นบรรณาธิการอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ทางบ้านปูอยากเติมเต็มเมื่อแยกออกมาเป็นสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางคือการเรียนรู้ด้านธุรกิจเพื่อเป็นกิจการที่สร้างอิมแพกต์สู่วงกว้างมากขึ้น”

โจทย์ของโครงการคือแต่ละทีมต้องสามารถตั้งเป้าหมายและแผนการทำงานที่ทำได้จริงจากธุรกิจของตัวเองภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยจะสนับสนุนให้มีเป้าหมายที่แบ่งเป็นสองแกน แกนหนึ่งเป็นแกนธุรกิจ อีกแกนหนึ่งเป็นแกนที่คำนึงถึงสังคม โดยไม่จำกัดว่าแต่ละทีมต้องตั้งเป้าหมายใหญ่แค่ไหนและไม่ได้วัดผลแค่ทำสำเร็จหรือไม่ แต่มองถึงกระบวนการในการแก้ปัญหาและเส้นทางการเติบโตของผู้ประกอบการ

พร้อมบินไกลเมื่อมีเพื่อน

ทั้งนี้แต่ละทีมที่เข้าร่วม Banpu Champions for Change จะได้รับความรู้ทั้งจากการอบรมในเวิร์กช็อปด้านการตลาดและธุรกิจ การฝึกพิตช์โดยมีกรรมการซึ่งเป็นผู้ประกอบการสังคมจากหลายหน่วยงาน เช่น Taejai, ChangeFusion มาให้คำแนะนำ

สิ่งที่พลอยได้จากโครงการจึงไม่ใช่แค่ความรู้ด้านธุรกิจ แต่ได้ทั้งคำแนะนำจากเมนเทอร์ประจำทีมคือ สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์จากสื่อ Toolmorrow ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ในการทำธุรกิจรวมทั้งการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดจากเพื่อนร่วมโครงการ

“เราจะมองแค่ในมุมว่าถ้าเป็นคนพิการจะอยากสื่อสารเรื่องนี้ แต่คนอื่นๆ ก็จะมีความถนัดเรื่องอื่น อย่างเช่น การทำไร่ การสนับสนุนผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ดีมากเลยสำหรับพลอย เราได้เห็นว่ามีกลุ่มคนหลากหลายมากในสังคมที่ควรคํานึงถึง ไม่ใช่แค่คนพิการ แต่มีผู้สูงอายุ เด็กๆ ชนกลุ่มน้อยอีกมากมาย พอเราอยู่ในแวดวงสังคมแบบนี้ มันก็ทำให้เราเติบโตไปในทางที่ดีขึ้น มีคนมาช่วยกันคิดช่วยกันทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เราสร้างสังคมที่ดีขึ้นต่อไปได้” 

‘ชื่อสมชาย’ ต้นฉบับหมายเลข 1 ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง

พลอยลงมือทำไอเดียธุรกิจในฝันให้เป็นจริงด้วยการประกาศรับสมัครว่าสนใจตีพิมพ์งานเขียนของผู้พิการ จากนั้นรวบรวมต้นฉบับที่น่าสนใจและเปิดตัวหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางคือ ชื่อสมชาย : เรื่องของคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มองไม่เห็น ที่พร้อมเปิดให้จองแบบปกแข็งเดือนตุลาคมและวางจำหน่ายแบบปกอ่อนปลายปีนี้ โดยมีพาร์ตเนอร์สำคัญเบื้องหลังคือสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่สนับสนุนการพิมพ์และจำหน่าย

‘ชื่อสมชาย’ เป็นผลงานนวนิยายแนวผจญภัยของ ‘ทิวทัศน์ จินตนาการ’ ผู้ไม่ได้เรียนหนังสือและสะกดคําไม่เป็น แต่เขียนนิยายเล่มนี้ด้วยการพูดและใช้โปรแกรม speech to text พิมพ์ตามเสียงทั้งเล่ม เรื่องราวในเล่มเล่าถึงการเดินทางของเด็กไทยแถบชายแดนไทยที่หนีออกจากบ้านตั้งแต่เด็กด้วยปัญหาทางครอบครัวและเส้นทางการเติบโตที่ได้เรียนรู้ระหว่างการหนีออกจากบ้านซึ่งทำให้เห็นสังคมในมุมที่กว้างขึ้นและลึกขึ้น กิมมิกพิเศษในหนังสือคือมี QR code ที่สามารถสแกนไปฟังเพลงประกอบหนังสือชื่อ ‘เด็กหลงทาง’ แต่งเพลงโดยทิวทัศน์ ผู้เขียนหนังสือและทำดนตรีโดยค่ายเพลง Dung Dee Records ของมูลนิธิสถาบันดนตรีคนตาบอด

สื่อสารผ่านอักษรเบรลล์

แม้จะนิยามว่าเป็นสำนักพิมพ์แต่พลอยมองการผลักดันศักยภาพของผู้พิการทางสายตาไปไกลมากกว่าหนังสือ นั่นคือการออกแบบสินค้าไม่จำกัดรูปแบบโดยคำนึงถึงผู้พิการทางสายตาเป็นศูนย์กลาง และนำอักษรเบรลล์ที่เป็นรากฐานการฝึกอ่านมาใช้ในการสื่อสารเรื่องของคนพิการให้คนทั่วไปได้เรียนรู้

“อยากชวนมองว่าเราจะคํานึงถึงคนตาบอดเพิ่มมากขึ้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ยังไง ยกตัวอย่างเช่น ที่ญี่ปุ่นจะมีอักษรเบรลล์อยู่ที่โปรดักต์หลายชิ้นมากๆ เคยเจออักษรเบรลล์ที่ฝาเหล้าบ๊วย ขวดสบู่โชกุบุสซึ ไปจนถึงแผนที่อักษรเบรลล์ที่รถไฟฟ้า

“พลอยว่าจุดเริ่มต้นอยู่ที่การคำนึงถึงว่าจะทำยังไงให้สิ่งที่ทำอยู่เชื่อมโยงกับคนพิการทางสายตาได้เพิ่มมากขึ้น แค่เราเจอว่ายาสีฟันหลอดนี้มีอักษรเบรลล์อยู่ก็อยากซื้อแล้วนะเพราะรู้สึกว่าเขานึกถึงเรา มันเป็นเรื่องการออกแบบเทกซ์เจอร์บนแพ็กเกจที่คิดต่อยอดไปได้อีกเยอะเลย”

พลอยจึงเริ่มไอเดียสร้างสรรค์จากสิ่งใกล้ตัวอย่างที่คั่นหนังสืออักษรเบรลล์ที่มอบให้แก่คนที่สั่งซื้อหนังสือไปจนถึงลองจัดเวิร์กช็อปสอนอ่านอักษรเบรลล์ อนาคตอาจมีสินค้าพรีเมียมและของที่ระลึกอื่นๆ ที่ใช้อักษรเบรลล์หลากหลายแบบ ไปจนถึงนำผลงานสร้างสรรค์ของผู้พิการทางสายตามาใช้ตลอดกระบวนการทำหนังสืออย่างภาพประกอบในเล่ม

ติดตามตอนต่อไป 

หนังสือเล่มต่อไปที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางมองหาไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องราวแนวไหน พลอยมองถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่คนอ่านเป็นสำคัญว่าเมื่ออ่านแล้วได้ฉุกคิดอะไรกลับไป โดยทุกวันนี้พลอยยังมองว่าความรู้เกี่ยวกับคนพิการเป็นส่วนที่หาศึกษาได้น้อยมากในไทย

“ถ้าอยากรู้เกี่ยวกับคนพิการสักหนึ่งประเภท อย่างคนหูหนวก พลอยก็ไม่ได้หาหนังสืออ่านได้ง่ายๆ และรู้สึกว่าชีวิตของคนพิการแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้คือช่องว่างที่ใหญ่มากและยังมีเรื่องให้เล่าได้อีกเยอะ”

วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางที่กำลังจะวางขายหนังสือเล่มแรกตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปและช่องทางโซเชียลมีเดีย ใครที่อยากติดตามเรื่องราวการโบยบินของผีเสื้อปีกบางสามารถติดตามกันได้ที่เฟซบุ๊ก สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง, อินสตาแกรม @paperybflybookhouse และทวิตเตอร์ @paperybflybook


Banpu Champions for Change เป็นโครงการ CSR ของ Banpu ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนเป็นหลักเพราะเชื่อว่ากลุ่มคนที่มีศักยภาพจะสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ และส่งต่อพลังบวกให้กับคนในสังคมได้อีกต่อ

โครงการมีการสนับสนุนตั้งแต่การสร้างแพลตฟอร์ม SE School Online สำหรับให้ความรู้แก่ผู้เริ่มต้นที่ยังไม่มีความรู้ว่า social enterprise คืออะไร มีทั้งโครงการ incubation program ที่บ่มเพาะธุรกิจพร้อมมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้นสำหรับผู้ผ่านเข้ารอบไปจนถึง acceleration program ที่ช่วยคอนเนกต์กับนักลงทุนเอกชนหรือสถาบันต่างๆ

ปีนี้ Banpu Champions for Change ก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 แล้ว นอกจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางแล้วก็มีกิจการเพื่อสังคมหลากหลายด้านไม่จำกัดหมวดหมู่ และกำลังขยายผลด้วยการออกโร้ดโชว์ที่ต่างจังหวัดเพราะอยากสนับสนุนผู้ประกอบการจากชุมชนต่างๆ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ที่ผ่านมามี alumni ที่เป็นผู้ประกอบการในโครงการรวมทั้งหมดราว 130 รายที่พร้อมจะกลับมาเป็นพี่เลี้ยงผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ร่วมโครงการรุ่นต่อไปอีกทอด ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้อยากสร้างอิมแพกต์เพื่อสังคมได้รับโอกาสในการบ่มเพาะธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน

ขอบคุณภาพจากโครงการ Banpu Champions for Change และ Vin Buddy

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

You Might Also Like