140
January 27, 2025

GOOD INFLUENCER

ธุรกิจที่เกิดจากเหล่าผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง ผ่านการนำธุรกิจมาขับเคลื่อนสังคมในหลากหลายมิติ

ย้อนไปเดือนนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราตั้งคำถามกับ 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ ว่า ‘อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้’ ก่อนจะค้นพบว่าท่ามกลางคำตอบมากมาย แต่ละธุรกิจมีสิ่งที่ให้คุณค่าแตกต่างกันออกไป ไม่แน่ว่าคำตอบเหล่านั้นอาจกลายไปเป็นทุนสำคัญของธุรกิจอื่นๆ อีกต่อไป

จวบจนปัจจุบัน Capital เดินทางมาถึงขวบปีที่ 3 ผ่านการนำพาความตั้งใจที่อยากบอกเล่าเรื่องราวในโลกธุรกิจอย่างเป็นมิตรด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘better business for good life’ เราขอเฉลิมฉลองช่วงเวลาสุดแสนพิเศษนี้ ผ่านการเชิดชูธุรกิจที่น่าจับตามองแห่งปีและทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในหลากหลายมิติ

ผ่าน ‘CAPITAL40: 40 Businesses to Watch in 2025’  ที่พวกเราตั้งใจส่องไฟไปยัง 40 ธุรกิจที่ล้วนแล้วแต่มีผลงานอันโดดเด่นและเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ล้ำหน้า พร้อมพาไปดูว่าพวกเขาจะสร้างกระแสใหม่และเปิดขอบเขตความเป็นไปได้ของอนาคตได้ยังไง?

ไม่แน่ว่า 40 ธุรกิจนี้อาจเป็นแบรนด์ที่คุณหลงรัก อยากเปิดใจอยากทำความรู้จัก ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจ เติมไฟให้คนทำธุรกิจ หรือชวนให้กลับมาขบคิดถึงแนวทางการทำธุรกิจตลอดปี 2025

เขื่อน–ภัทรดนัย เสตสุวรรณ

JOODPAKJAI : THE EMOTIONAL HEALER
JOODPAKJAI พื้นที่ชุบชูใจในวันที่ใจต้องการพักผ่อนของ เขื่อน–ภัทรดนัย เสตสุวรรณ

WHAT HAPPENED : 

ร่างกายที่เหน็ดเหนื่อยก็ยังต้องการพัก ไม่ต่างอะไรกับจิตใจที่อ่อนล้าก็ต้องการจุดพักใจ เขื่อน–ภัทรดนัย เสตสุวรรณ หรือที่รู้จักกันเมื่อก่อนในชื่อเขื่อน K-OTIC ปัจจุบันถ้าพูดถึงเขาเรื่องของ mental health ก็จะลอยขึ้นมา เพราะเขื่อนมักจะสื่อสารผ่านโลกโซเชียลเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจที่ชวนให้ฉุดคิดเสมอ ก่อนที่เขาจะทำโปรเจกต์ ‘JOODPAKJAI’ ที่จะนำป้ายไปตั้งตามจุดต่างๆ แบบไม่แจ้งสถานที่ล่วงหน้า แล้วให้คนที่ผ่านไปผ่านมาเข้ามาสนทนาอะไรกับเขาก็ได้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยเขาจะรับฟังอย่างจริงจัง ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดพื้นที่ปลอดภัยไว้ฮีลใจ จึงได้ต่อยอดเป็นครีเอทีฟสเปซในชื่อเดียวกัน อยู่บริเวณช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่ เมืองที่เต็มไปด้วยความสงบร่มเย็น โดยภายในพื้นที่แห่งนี้จะมีทั้งคาเฟ่ บาร์ นิทรรศการ และพื้นที่ให้คนมาจัดเวิร์กช็อปได้ฟรี เพื่อให้คนที่รู้สึกว่าวันไหนที่ต้องการการชุบชูใจ ก็สามารถมาพักใจที่นี่ได้เสมอ

WHAT’S NEXT : 

เขื่อนไม่อยากแค่ให้คนนึกถึง JOODPAKJAI แล้วนึกถึงเขาเสมอไป แต่อยากให้นึกถึงสเปซที่ใครก็สามารถมาเยียวยาจิตใจได้เสมอ และขยายให้ผู้คนได้มีพื้นที่ตรงนี้ครบทุกภูมิภาค พื้นที่ต่อไปอาจจะเป็นที่ภาคใต้ เพื่อให้รูปแบบของธุรกิจยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการอยากให้ประเทศไทยมีครีเอทีฟสเปซที่ช่วยฮีลใจผู้คน เพราะเขาเชื่อว่าพื้นที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องสร้างไปด้วยกัน ไม่ใช่เกิดแค่จากคนใดคนหนึ่ง

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Passion ทำในสิ่งที่เชื่อและเชื่อในสิ่งที่ทำ แล้วจะมีพลังทำมันได้อย่างยั่งยืน

– Comfort Space พื้นที่ปลอดภัยของคนอยากพักฮีลใจ ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และเปิดให้คนมีอุดมการณ์เดียวกันมาใช้พื้นที่จัดกิจกรรมได้ฟรี

– Inspiration ไม่ใช่แค่มีแรงบันดาลใจในการทำ แต่ทำเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้ประเทศไทยได้มีพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น

TARA กรุณา บัวคำศรี

TARA : THE CHANGEMAKERS
TARA แบรนด์ที่กรุณา บัวคำศรี อยากใช้สื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้ของให้คุ้มค่า

WHAT HAPPENED : 

กรุณา บัวคำศรี เป็นที่รู้จักในฐานะนักข่าวอิสระที่บุกน้ำลุยไฟไปทำข่าวมารอบโลก และในปีที่ผ่านมาเธอกำลังสวมหมวกอีกใบในฐานะผู้ก่อตั้ง ‘TARA’ แบรนด์สินค้าที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรอบคอบและรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยเชื่อว่าทรัพยากรที่คุ้มค่าไม่ได้แปลว่าเราต้องรีไซเคิลอย่างเดียว แต่หมายถึงการใช้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นกับชีวิต สินค้าของแบรนด์จึงมีทั้งเสื้อผ้าจากผ้าเดดสต็อก ซึ่งเป็นผ้าที่เหลือจากอุตสาหกรรมแฟชั่น และของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแชมพูและสบู่ที่ไม่มีสารทำลายปะการังหรือน้ำ ไปพร้อมๆ กับการสื่อสารให้คนตระหนักรู้เรื่องการใช้ทรัพยากรโลกอย่างรอบคอบและคุ้มค่า ผ่านผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบอย่างใส่ใจ และกำไรบางส่วนจะถูกใช้ทำสารคดีตีแผ่เรื่องโลกร้อนต่อไป

WHAT’S NEXT :

ถึงแม้ TARA จะไม่ได้เปลี่ยนโลกในทันที แต่กรุณาคิดว่าสิ่งนี้สามารถสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างได้ เธอจึงอยากเพิ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะ Clean Beauty ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่อันตรายต่อผิวและไม่เป็นภัยต่อโลก เช่น ครีมกันแดดที่ไม่ทำลายประการังและจริงจังเรื่องสาร 10 ตัวที่สหภาพยุโรปห้ามใช้ และน่าจับตามองว่านอกจากสินค้าใหม่ๆ ที่จะออกมาแล้ว จะมีสารคดีเรื่องโลกร้อนและความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรจากกรุณาและ TARA ออกมาให้ได้ชม

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Believe เชื่อในสิ่งที่ทำและทำในสิ่งที่เชื่อ พอรู้สึกสบายใจจะไม่อิหลักอิเหลื่อที่จะทำมัน

– Business Philosophy ปรัชญาการทำธุรกิจเป็นเข็มทิศที่ทำให้ไม่หลงทางว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

– Slow Fashion สินค้าแฟชั่นที่คิดอย่างรอบคอบตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงใช้ในชีวิตประจำวันได้นาน

give me museum

give.me.museums : THE ARTFUL EVERYDAY
วาดลวดลายงานศิลป์ให้เบลนด์อินไลฟ์สไตล์ในแบบของ give.me.museums

WHAT HAPPENED : 

ภาพจำงานศิลปะสมัยก่อนคงเป็นผลงานที่มีไว้จัดแสดงในแกลเลอรีหรือผลงานสะสมไว้เชยชมของคนเฉพาะกลุ่ม แต่สำหรับ ออย–คนธรัตน์ เตชะไตรศร เธออยากให้ทุกคนเข้าถึงงานศิลปะได้ทุกวัน ผ่านของใช้ในชีวิตประจำวัน ออยจึงสร้างผลงานในชื่อ ‘give.me.museums’ และทรีตสิ่งนี้ว่าเป็นแบรนด์แบรนด์หนึ่ง โดยนำความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานกับการทำการตลาดที่ดี และนำผลงานทั้งหมดที่เป็นลายเส้นของเธอทั้งภาพดอกไม้ ภาพแลนด์สเคป ภาพตัวการ์ตูนโดยเฉพาะคาแร็กเตอร์เด่นอย่างเด็กผู้หญิงผมแดง ให้มาอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ พร้อมคอลแล็บกับหลากธุรกิจ อย่าง ปีที่ผ่านมาก็มีโปรเจกต์ใหญ่อย่าง TUBA Random Museum เนรมิตร้าน TUBA ให้กลายเป็นพื้นที่โชว์งานศิลปะขนาดย่อมแบบที่คนสามารถไปจับต้องผลงานได้ และครีเอตออกมาเป็นเมนูพิเศษเสมือนงานศิลปะที่กินได้ ไปจนถึงการคอลแล็บร่วมกับ Papaya Studio ทำเก้าอี้คอลเลกชั่นพิเศษ

WHAT’S NEXT :

ที่ผ่านมาเราจะเห็นผลงานของ give.me.museums กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของของใช้ส่วนตัวในชีวิตประจำวันของใครหลายคน เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องสำอาง ไปจนถึงของตกแต่งบ้าน ทั้งจากสินค้าที่ออยผลิตและขายในช่องทางของแบรนด์เอง ไปจนถึงการคอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ ในปี 2025 เป็นที่น่าจับตาต่อไปจะมีสินค้าประเภทไหนให้เธอได้ไปวาดลายลายฝากผลงานไว้อีกบ้าง รวมไปถึงการจัดแสดงผลงานที่คงคอนเซปต์เข้าถึงง่าย เป็นงานศิลปะที่จับต้องได้จริง และออยมองอนาคตของแบรนด์ไว้ว่าอยากให้เป็นพื้นที่สำหรับคนที่ชอบหรือสนใจศิลปะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากกว่าการเป็นแบรนด์ขายสินค้า เพื่อสร้างพื้นที่ศิลปะในไทยที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Commercial Art ทรีตให้เป็นแบรนด์แบรนด์หนึ่งที่มีกลยุทธ์การตลาด รู้ว่าจะทำสินค้าอะไร และทำเพื่อขายใคร

– Connection with Lifestyle ทำให้ศิลปะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผ่านสินค้าที่คนหยิบมาใช้ได้ทุกวัน

– Creative Marketing ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านการคอลแล็บร่วมกับแบรนด์หลากประเภท ไปจนถึงคาเฟ่และร้านอาหาร

อาหารปันรัก

อาหารปันรัก : THE SEA WARRIOR
พาทัวร์ล่องเลกับนักรบผ้าถุงที่รักษาทะเลจะนะด้วยหัวใจผู้กล้า

WHAT HAPPENED :

‘อาหารปันรัก’ คือธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่ม ‘นักรบผ้าถุง’ แห่งทะเลจะนะ จังหวัดสงขลาที่ทำธุรกิจมาหลักสิบปีด้วยการนำเสนอสินค้าอาหารทะเลพร้อมบริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมซึ่งทำให้เห็นว่าจะนะเป็นสวรรค์ของอาหารซีฟู้ด ที่ผ่านมาชุมชนจัดทัวร์ในหลายอำเภอของสงขลาโดยปีที่ผ่านมามีการรีแบรนด์และออกแบบประสบการณ์ทัวร์ใหม่ในชื่อ ‘ทัวร์ลาต๊ะ’ ซึ่งแปลว่ากินเล่นจากการจัดทัวร์กินในตำบลสะกอม โปรแกรมทัวร์มีทั้งทานอาหารทะเลสดแบบปิ้งย่างเองริมทะเล ทานอาหารทะเลแบบฟิวชั่น ทานอาหารฝีมือแม่รสชาติท้องถิ่นตามบ้านชุมชน และล่องทะเลกินสำรับเดียวกับชาวประมง นอกจากชูจุดเด่นและเรื่องราวของอาหารแล้ว ยังมีการเล่าเรื่องราวของภาษาสะกอมและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเข้าใจง่ายผ่านการออกแบบกราฟิก สื่อวิดิโอสร้างสรรค์ และเวิร์กช็อปทำของที่ระลึก พร้อมยังออกแบบประสบการณ์ที่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเข้าไปจองทัวร์ได้ง่ายขึ้นผ่านสื่อออนไลน์ในเพจของอาหารปันรัก

WHAT’S NEXT :

ทัวร์ท่องเที่ยวของ ‘อาหารปันรัก’ ไม่ใช่แค่แหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชนและกิจกรรมทัวร์แต่ยังเป็นการปกป้องทะเลจะนะทั้งในแง่แหล่งอุดมสมบูรณ์ทางอาหารทะเลและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเล อนุรักษ์กุ้งเนื้อนุ่มแน่น หวาน และปลา ปู หอยสดๆ ให้อิ่มหนำสำราญกันต่อไป ที่มาของชื่อ ‘นักรบผ้าถุง’ กลุ่มผู้ทำอาหารปันรักยังมาจากการที่แม่บ้านในชุมชนรวมตัวกันผนึกกำลังปกป้องทะเลจากโครงการนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้นการทำธุรกิจทัวร์วิถีชุมชนจึงเป็นความกล้าหาญในการปกป้องรักษาวิถีประมงพื้นบ้านเอาไว้ โดยเบื้องหลังการออกแบบทัวร์ลาต๊ะที่ผ่านมาเป็นไอเดียสร้างสรรค์ที่ทำร่วมกันระหว่างคนในชุมชนและครีเอเตอร์คนรุ่นใหม่ที่ประทับใจในเสน่ห์ทางวัฒนธรรมของสะกอมจนอยากเล่าเรื่องสิ่งเล็กๆ น้อยนิดมหาศาลที่ดีต่อใจให้ผู้คนภายนอกรับรู้ว่าจะนะมีเสน่ห์

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Brave Spirit จิตวิญญาณผู้กล้าที่อยากปกป้องรักษาทะเลจะนะไว้ทำให้ทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างอาหารปันรักต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี

– Local Life การรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมและรู้จักดึงมูลค่าท้องถิ่นออกมาทำให้เกิดจุดขาย

– Community Bonding ความร่วมมือร่วมใจและสามัคคีของชุมชนทำให้มีบรรยากาศอบอุ่นและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าต้อนรับ

สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง

สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง : THE HOPEFUL
สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางที่พลอย–สโรชา กิตติสิริพันธุ์ อยากจุดประกายความหวังให้โบยบิน

WHAT HAPPENED : 

งานเขียนเป็นหนึ่งในวิธีที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดได้ดี นี่คือความเชื่อของ พลอย–สโรชา กิตติสิริพันธุ์ หญิงสาวที่แม้จะสูญเสียโอกาสในการมองเห็นมาตั้งแต่เด็ก แต่เธอก็อยากสร้างโอกาสและความหวังให้ผู้คน ผ่านการก่อตั้ง ‘สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง’ ที่ตีพิมพ์ผลงานของผู้พิการและต้องเป็นเรื่องราวที่จรรโลงใจ เพราะเธอเชื่อว่าผู้พิการแต่ละคนมีเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิดที่อยากสื่อสาร และการสื่อสารนี้คือพลังในการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง อย่างน้อยๆ ถ้าคนพิการได้อ่านหนังสือเยอะ เขาก็จะมีพื้นฐานของภาษาไปใช้สื่อสารได้ดี เพิ่มโอกาสในการทำงาน และอีกมิติหนึ่งคือเป็นการเติมเต็มระยะห่างระห่างผู้พิการและไม่พิการให้เข้าใจกันและอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม

WHAT’S NEXT :

พลอยไม่ได้อยากให้ผีเสื้อปีกบางเป็นเพียงสำนักพิมพ์ แต่เธออยากให้เป็นคอมมิวนิตี้ที่ผู้พิการสามารถมาถ่ายทอดความรู้สึกได้อย่างเต็มที่ พร้อมผลักดันศักยภาพของผู้พิการทางสายตาไปไกลมากกว่าหนังสือ นั่นคือการออกแบบสินค้าไม่จำกัดรูปแบบโดยคำนึงถึงผู้พิการทางสายตาเป็นศูนย์กลาง และนำอักษรเบรลล์ที่เป็นรากฐานการฝึกอ่านมาใช้ในการสื่อสารเรื่องของคนพิการให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ เช่น ทำที่คั่นหนังสืออักษรเบรลล์ให้แก่คนที่สั่งซื้อหนังสือ จัดเวิร์กช็อปสอนอ่านอักษรเบรลล์ ไปจนถึงในอนาคตอาจมีสินค้าพรีเมียมและของที่ระลึกอื่นๆ ที่ใช้อักษรเบรลล์หลากหลายแบบ ไปจนถึงนำผลงานสร้างสรรค์ของผู้พิการทางสายตามาใช้ตลอดกระบวนการทำหนังสืออย่างภาพประกอบในเล่มก็เป็นได้ หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงคงเปิดมิติใหม่ในวงการสิ่งพิมพ์ที่น่าสนใจไม่น้อย

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Opportunity เปิดประตูสู่โอกาสให้ผู้พิการได้มีพื้นที่แสดงออกทางความคิดผ่านงานเขียน

– Equality สร้างสังคมที่เท่าเทียม ผ่านเรื่องราวที่ผู้พิการอยากเล่าเพื่อย่นระยะห่างระหว่างผู้พิการและไม่พิการ

– Diversity หนังสือที่เขียนโดยผู้พิการทางสายตาเข้ามาเสริมความหลากหลายในวงการสิ่งพิมพ์ ทั้งในมิติของความคิดและมุมมอง

Gluta Story

Gluta Story : THE PAWSITIVE CHANGE
ชุบชีวิตหมาจรผ่าน Gluta Story ที่ยอร์ช–สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ ใช้ขับเคลื่อนสังคมสัตว์เลี้ยง

WHAT HAPPENED : 

ต่อให้ไม่ว่าจะเป็นทาสหมาหรือไม่ก็ตามเชื่อว่า ‘Gluta Story’ คงเข้าไปยึดพื้นที่ในใจใครหลายคนไม่มากก็น้อย จากการที่ ยอร์ช–สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ ได้บอกเล่าเรื่องราวของกลูต้า หมาจรจัดที่หลงมาหลังน้ำท่วม และทำคอนเทนต์เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้คนหันมาเลี้ยงหมาจรจัดและมองว่าหมาพันทางและสัตว์ที่พิการก็สมควรได้รับความรักไม่แพ้พันธุ์ไหนๆ พร้อมสร้างคอมมิวนิตี้ในโลกออนไลน์อย่าง Gluta Story Club ให้แฟนๆ ได้มาอวดความน่ารักของน้องหมา และคอมมิวนิตี้ในโลกออฟไลน์อย่างงานเปิดโกดัง Gluta Story ที่จัดต่อเนื่องมา 3 ปีซ้อน เพื่อให้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ของคนรักสัตว์ และเป็นการส่งเสริมให้คนหันมาสนใจและดูแลสัตว์มากยิ่งขึ้น

WHAT’S NEXT :

สิ่งที่ยอร์ชทำได้สร้างแรงกระเพื่อมให้คนตระหนักรู้เรื่องการเลี้ยงหมาจรจัดแล้ว ก้าวต่อไปเขาตั้งใจเปลี่ยนในเชิงพฤติกรรมผ่านการให้ยูทูบเบอร์คนอื่นๆ มาช่วยหาบ้านให้น้องหมาจร ไปจนถึงต่อยอดรายการใหม่พาคนไปทำความรู้จักอาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์ สิ่งที่เขาทำยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเป็นมิติที่ใหญ่ขึ้นและหวังว่าคนอื่นๆ ก็จะสามารถเป็นกระบอกเสียงต่อๆ กันไป เพื่อให้คอมมิวนิตี้นี้ไม่ใช่แค่คนรักหมา ต่อเป็นคนรักสัตว์ทุกประเภท ตามความเชื่อของยอร์ชที่ว่าสัตว์ทุกตัวบนโลกควรค่าแก่การได้รับความรัก

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Inspiration ส่งต่อแรงบัลดาลใจให้คนรักสัตว์หันมาดูแลสัตว์จรจัดกันมากขึ้น

– Pet Club สร้างคลับคนรักสัตว์ทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อช่วยกันขับมุมมองที่มีต่อสัตว์ ว่าต่อให้ไม่น่ารักตามพิมพ์นิยมหรือพิการ ก็สมควรได้รับความรัก

– Social Media Impact ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ

You Might Also Like