The Art of Passion

สนทนากับ 3 ผู้บริหาร Farmgroup กับการปั้นนิทรรศการ Hotel Art Fair เข้าสู่ปีที่ 8  

8 ปีที่ผ่านมา กับการริเริ่มทำในสิ่งที่ต่างออกไป แม้จะทำแบบผิดๆ ถูกๆ แต่ก็ทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ

8 ปีที่ผ่านมา กับการทำให้ผู้คนเห็นว่า ‘อาร์ตแกลเลอรี’ เป็นได้มากกว่าแค่ในสตูดิโอ หรือในหอศิลปะกลางกรุง และไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนก็ชื่นชมความงามนี้ได้ 

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา หากเปรียบเป็นงานศิลปะบนผืนผ้าใบ ‘Hotel Art Fair’ น่าจะเป็นผืนผ้าใบที่ถูกแต่งแต้มสีจนเต็มทุกกระเบียดนิ้ว สวยงามในแบบที่ ตั๊ก–วรินดา เธียรอัจฉริยะ, ต๊อบ–วรารินทร์ สินไชย และแต๊บ–วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ สามผู้บริหารแห่ง Farmgroup บริษัทกราฟิกเฮาส์เคยวาดฝัน กับการเปลี่ยนห้องพักบรรยากาศจำเจในโรงแรมหรู ให้กลายเป็นนิทรรศการศิลปะขนาดย่อม โดยรวบรวมผลงานเด็ดจากศิลปินไทยมาจัดแสดง ตั้งแต่ริมโถงทางเดิน บนเตียงนอน ข้างตู้เสื้อผ้า ใกล้เก้าอี้ตัวเดิม หรืออิงแอบข้างโคมไฟก็ตาม

และในปีที่ 8 นี้เอง นิทรรศการ Hotel Art Fair ได้เลือกสถานที่จัดงานเป็นโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ใจกลางย่านสุขุมวิท ภายใต้ธีม ‘Human’ ที่ชวนมาเฉลิมฉลองความเป็นมนุษย์ท่ามกลางการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยมีอาร์ตแกลเลอรีจากทั้งไทยและเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมถึง 30 ราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-8 กันยายน 2567

สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่างานศิลปะตรงหน้า คือวิธีคิดและการบริหาร Hotel Art Fair ของสามผู้บริหารแห่ง Farmgroup ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแพสชั่น และฝันที่อยากเห็นอุตสาหกรรมอาร์ตของไทยเติบโต ซึ่งนับเป็นความท้าทายไม่ต่างจากการสร้างแบรนดิ้งให้กับลูกค้า อย่างเช่นผลงานเมื่อช่วงต้นปี กับการรีแบรนด์อัตลักษณ์ใหม่ให้กรุงเทพฯ

  เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี ของ Hotel Art Fair เราชวนผู้บริหารทั้งสามของ Farmgroup มาเช็กอิน ย้อนความถึงการรังสรรค์นิทรรศการศิลป์ในโรงแรมตั้งแต่วันแรก วิธีการบาลานซ์ระหว่างสุนทรียะกับเรื่องของธุรกิจ และการสร้างโมเดลอาร์ตแฟร์นี้ให้ตอบโจทย์ต่อความเป็นอยู่อุตสาหกรรมอาร์ตไทย  

ขอเชิญเอนกายพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมฟังเรื่องราวจากพวกเขาทั้งสามได้ตั้งแต่บัดนี้

ย้อนกลับไปตอนที่เริ่มทำ Hotel Art Fair ภาพรวมของวงการศิลปะไทยเป็นยังไงบ้าง 

วรินดา : ตอนนั้นแต่ละแกลเลอรีนำงานศิลปะมาจัดแสดงอยู่ตลอด เพียงแต่ยังไม่มีใครรวบรวมแกลเลอรีเหล่านั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน ศิลปะเลยกลายเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ชอบหรือสะสมงานศิลปะ จนกลายเป็นความเชื่อที่ว่า แกลเลอรีเป็นพื้นที่เฉพาะของคนดูงานศิลปะเป็น 

เราเองก็ไม่ได้เป็นคนในแวดวงศิลปะมาตั้งแต่แรก ทุกครั้งที่ไปแกลเลอรีเลยเกิดความรู้สึกว่า ต้องทำตัวยังไง เราต้องคุยอะไรกับเขาบ้าง แล้วถ้าคุยจะคุยกับเขารู้เรื่องไหม มันเลยเกิดสถานการณ์ละเอียดอ่อน เกิดความรู้สึกเหมือนเราเผชิญพื้นที่ที่เข้าไม่ถึง ทั้งๆ ที่มันไม่ควรเป็นเรื่องยากเลย 

พวกคุณนำ pain point ตรงนี้มาปรับปรุงยังไง เพื่อให้ Hotel Art Fair เป็นพื้นที่ที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย 

วรินดา : จริงๆ เราไม่ได้ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลยนะ สิ่งที่เราทำคือ ‘สร้างบรรยากาศ’ ให้ง่ายขึ้น คือพอนำศิลปะมาไว้ในโรงแรมแต่ละห้อง มาวางบนเตียงนอน บนโซฟา ข้างผนังทางเดิน คนที่เสพงานศิลปะเขาจะจินตนาการได้ว่า ถ้าเขาซื้อผลงานชิ้นนี้กลับบ้านไปจะได้ฟีลประมาณไหน 

หรืออย่างการนำดีเจมาเปิดเพลงก็เป็นการสร้างบรรยากาศให้ชิลล์ขึ้นเหมือนกัน เป็นการสร้างบรรยากาศให้ต่างออกไปจากตอนที่ไปอาร์ตแกลเลอรีอื่น ที่มองไปรอบๆ เป็นผนังขาวโพลน และแขวนผลงานไว้แค่นั้น

แล้ว ‘โมเดลธุรกิจ’ ของ Hotel Art Fair เป็นยังไง 

วรินดา : เราอยากให้ Hotel Art Fair อยู่ได้อย่างยั่งยืน เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นเหมือนแกลเลอรีหรือเป็นเหมือนเอเจนซี เราเป็นเพียงคนจัดงานที่ทำหน้าที่เป็นออร์แกไนเซอร์ ในมุมเรา (Farmgroup) โมเดลธุรกิจของ Hotel Art Fair เลยเริ่มจากการเปิดพื้นที่ให้แกลเลอรี หรือศิลปินที่มาเช่าพื้นที่จัดแสดงผลงาน จากนั้นเราก็หาสปอนเซอร์มา cover cost ตัวนิทรรศการอีกที 

จริงๆ เรื่องของเงินไม่ใช่ปัญหาใหญ่สักเท่าไหร่ แต่แน่นอนล่ะ ว่างานต้องเลี้ยงตัวมันเองเพื่อให้ไปต่อได้ทุกฝ่าย แต่เราต้องไม่หวังผลประโยชน์หรือชุบมือเปิบหวังผลกำไรจากตรงนั้น เราได้เงินจากการให้แกลเลอรีเช่าที่ แกลเลอรีก็ได้เงินจากการที่เขาขายงานได้ แล้วนำไปหารเปอร์เซ็นต์กับศิลปินเจ้าของผลงานอีกที  

พอเป็นแบบนี้ทุกฝ่ายเลยแฮปปี้ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า fixed cost จากการจัดงานมีอะไรบ้าง ฝ่ายแกลเลอรีและศิลปินเขาก็รู้ว่า fixed cost กับการที่เขาเข้ามาอยู่ตรงนี้คืออะไร ขณะเดียวกันเราก็ทำหน้าที่ PR เพื่อเรียกกลุ่มเป้าหมายให้กับแกลเลอรีและศิลปิน แม้แต่บริษัท property หรือคนที่กำลังวางแผนสร้างบ้านเราก็ไป PR ทำให้ตัวเลขคนที่รู้จักศิลปินหรือแกลเลอรีเพิ่มขึ้นจากหลักสิบเป็นหลักพัน  

วรทิตย์ : เรามองว่าเป็นเรื่องของการสร้างแบรนดิ้งด้วย เรามี strategic move ในใจว่าจะปั้น Hotel Art Fair ยังไง เรามองว่าพอกาลเวลาผ่านไปมันสร้าง value ตามที่เราต้องการได้ไหม เราอยากเป็นเหมือนเส้นชัยของศิลปินรุ่นใหม่ ที่จะต้องมาจัดแสดงผลงานให้ได้สักครั้งในชีวิต จริงๆ Hotel Art Fair ก็เหมือนโปรเจกต์ธุรกิจโปรเจกต์หนึ่ง เพียงแค่ไส้ในมันเป็นเรื่องของคอนเทนต์ศิลปะ 

ในฐานะที่ Farm Group รับหน้าที่ event design ให้กับนิทรรศการ Hotel Art Fair เช่นนั้นการจัดงานแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงปัจจัยใดเป็นหลัก 

วรารินทร์ : อย่างแรกต้องหาโรงแรมที่เข้าใจรูปแบบการจัดงานของ Hotel Art Fair ต้องเข้าใจว่า การจัดงานจำเป็นต้องขอปิดห้องทั้งหมดสองชั้น และที่สำคัญคือ โรงแรมต้องเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมศิลปะ ถ้าเข้าใจสองสิ่งนี้ถึงจะไปกันต่อได้ 

วรินดา : ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เป็นโรงแรมที่เจ้าของเป็นคนไทย เพื่อที่เราจะสามารถสร้างอิมแพกต์ให้กับธุรกิจของเขา อีกส่ิงสำคัญคือโลเคชั่นเดินทางง่าย มีขนาดความกว้างพอให้ผู้ชมเดินดูงานสะดวก 

จากนั้นเราจึงติดต่อแต่ละแกลเลอรีให้เตรียมตัวล่วงหน้า ซึ่งแกลเลอรี่ส่วนมากเขาก็จะรู้ว่าเราจะจัดงานช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาทยอยนำผลงานใหม่ๆ เข้ามา และหลังจากนั้นจึงมีการทำ pr หาสปอนเซอร์ อย่าง TCBC ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนเราในทุกๆ ปี หรืออย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงวัฒนธรรมก็มียื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบ้าง

พวกคุณมีวิธีโน้มน้าวใจโรงแรมหรือแกลเลอรีนั้นๆ ให้เข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ยังไง โดยเฉพาะเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่วิธีการจัดงานแบบนี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่

วรินดา : เราโชคดีตรงที่โรงแรมที่เลือกจัดงาน Hotel Art Fair ครั้งแรก เขาต้องการให้คนเข้าไปใช้พื้นที่อยู่แล้ว โจทย์ของเขาคืออยากได้ traffic ที่ไม่ traffic จนเกินไป ซึ่งตรงกับความต้องการของเราที่อยากทำนิทรรศการขนาดกำลังพอดี ไม่ได้เป็นเหมือนงานคอนเสิร์ตที่คนมาหลายพันหลายหมื่นคน ก็อธิบายให้ทางโรงแรมเขาฟังว่า หน้าตาของ Hotel Art Fair จะเป็นแบบไหน และการจัดงานศิลปะในโรงแรมทางเมืองนอกเขามีมาสักพักแล้วนะ รวมๆ แล้วเลยเป็น combination ที่ลงตัว

ปีแรกที่จัด เรารวบรวมอาร์ตแกลเลอรีได้แค่ 12 รายเองนะ แต่ก็ตัดสินใจกับคนในทีมว่า เอาวะลองทำดู ทำแบบลองผิดลองถูก พอถึงวันงานจริงก็มีแขกมาประมาณหลักร้อย แต่ที่น่าประหลาดใจคือหนึ่งในนั้นมีชาวสิงคโปร์บินมางาน Hotel Art Fair โดยเฉพาะ เขาบอกว่าเขาดีใจมาก เพราะเขารองานแบบนี้มานานแล้ว และเขายินดีที่จะช่วยโปรโมตงานให้เป็นที่รู้จัก บวกกับเพื่อนๆ ของเราและแขกคนอื่นๆ ที่มางานก็ช่วยกระจายข่าวต่อ จนแกลเลอรีเขาสามารถขายผลงานได้ 

พอปีที่ 2 เลยจัดงานง่ายขึ้น เพราะเรามีโปรโตไทป์จากครั้งก่อน คนข้างนอกเห็นแล้วว่า Hotel Art Fair คืออะไร แกลเลอรีต่างๆ ก็เริ่มมารวมตัวกัน จาก 12 ราย กลายเป็น 18 ราย 24 ราย 30 ราย และมากขึ้นในปีต่อๆ ไป จนพัฒนาในส่วนของ live performance มีศิลปินมาแสดงวาดรูป มีสปอนเซอร์ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปสำหรับเด็กๆ ที่ชอบงานศิลปะ ถือเป็นสูตรสำเร็จอย่างที่ต้องการ

ตลอดระยะเวลาที่ทำนิทรรศการ Hotel Art Fair พวกคุณเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมศิลปะไปในทิศทางไหน

วรินดา : หลักๆ เราว่าเป็นเรื่องของศิลปิน หากเป็นเมื่อก่อนศิลปินจะไม่ค่อยได้เจอกับคนที่ซื้องานเขา ส่วนใหญ่แกลเลอรีเป็นตัวแทนขายไปก็คือจบ แต่ปัจจุบันศิลปินได้เจอ ได้พูดคุยกับคนที่ซื้องานจริงๆ นั่นทำให้เขารู้ว่าเขาควรผลิตผลงานออกมายังไง ต้องมี storytelling แบบไหนถึงจะน่าสนใจ ฝั่งคนดูก็เสพผลงานง่ายขึ้น เพราะเขาได้เข้าใจไอเดียจากสิ่งที่ศิลปินสื่อสารให้ฟังโดยตรง 

เพราะศิลปินต้องทำความเข้าใจว่า คนที่ซื้องานศิลปะมีหลายประเภท ประเภทแรกคือคนที่ซื้อไปเพื่อความสุขส่วนตัว กับอีกประเภทคือซื้อไปเพื่อเรื่องของ investment ภาพรวมมันเลยมีความเป็น ecosystem มากขึ้น 

วรทิตย์ : อีกส่วนหนึ่งคือคนที่มางาน Hotel Art Fair ส่วนใหญ่เป็นคนที่ซื้อผลงานศิลปะชิ้นแรกในชีวิต เพราะเราพยายามทำให้การซื้อ-ขายง่ายที่สุด ผลงานก็มีมูลค่าอยู่ในระดับที่จับต้องได้ เขาเลยค่อนข้างสบายใจในการซื้องานศิลปะ 

เราสังเกตเห็นว่า บางคนมาซื้องานศิลปะชิ้นแรกไป ผ่านไปสักห้าหกปีผลงานเขาเต็มบ้าน เขาก็เริ่มจะเทรดต่อให้คนที่สนใจเหมือนกัน แวดวงนักสะสมงานศิลปะเลยเกิดความคึกคัก มีนักสะสมหน้าใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ฟังก์ชั่นของงานศิลปะเลยกลายเป็น ‘สินทรัพย์’ น่าลงทุน เหมือนกับทอง เหมือนกับนาฬิกา ซึ่งมูลค่าของงานศิลปะราคาตกลงช้ากว่าสินทรัพย์อย่างอื่นด้วยซ้ำ 

รสนิยมของนักสะสมงานศิลปะในปัจจุบัน ดูจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วพอสมควร อย่างตอนนี้ก็นิยมในงานประเภทอาร์ตทอย

วรทิตย์ :  มันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลานะ อย่างรุ่นพ่อแม่หรือรุ่นปู่ย่า เขาก็จะชอบงานแนวพุทธศิลป์ เช่นพวกนาค รูปใบโพธิ์ หรือโบสถ์อะไรทำนองนี้ พอยุคสมัยเปลี่ยนแปลง คนรุ่นเราที่เคยเป็นเด็กที่มีกำลังทรัพย์ก็จะซื้ออะไรที่รีเลตกับชีวิตตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เราก็โตมากับการ์ตูน มันเลยส่งผลออกมาผ่านงานศิลปะในรูปแบบอาร์ตทอย

วรารินทร์ : เราว่างานศิลปะแทรกซึมอยู่ในทุกๆ ที่ แม้แต่ในห้างสรรพสินค้า ศิลปินก็ต้องพัฒนาตาม เมื่อก่อนอาจจะมีแค่งานเพนต์ งานปรินต์ แต่เดี๋ยวนี้พัฒนากลายเป็นงานอาร์ตทอย งาน soundscape งาน installation ต่างๆ จนบางทีเรากลับมาอีกทีทุกอย่างที่เคยจัดแสดงก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว

ระหว่างชาวไทยและชาวต่างชาติในนิทรรศการ Hotel Art Fair ฝั่งไหนดูจะมีเปอร์เซ็นต์มากกว่ากัน

วรินดา : 80% คือคนไทย อีก 20% คือชาวต่างชาติที่บินเข้ามา ซึ่งจำนวนชาวต่างชาติในแต่ละปีมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขามองประเทศไทยเป็นตลาดใหม่ และมีศิลปินฝีมือน่าจับตาเยอะมาก เขาเลยอยากมาสเกาต์ดูผลงานให้เห็นกับตา 

วรทิตย์ : สิ่งที่เราเห็นช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์คือ ชาวต่างชาติจูงลูกจูงหลานมาดูงานศิลปะ สำหรับคนไทยอาจจะเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่กับชาวต่างชาตินี่เป็นวัฒนธรรมที่ปลูกฝังกันมาอยู่แล้ว เพราะพ่อแม่เขาทำให้เห็นว่า การมาดูงานศิลปะคือกิจกรรมอย่างหนึ่งในครอบครัว 

การทำแบรนด์ให้กับลูกค้าซึ่งเป็นพาร์ตหลักของ Farmgroup กับพาร์ตรองที่เป็นการทำแบรนด์ให้กับ Hotel Art Fair ต่างกันเยอะไหม

วรินดา : เยอะมาก พอทำงานให้ลูกค้า ลูกค้าเขาให้โจทย์มาอยู่แล้วว่าเขาต้องการอะไร เราทำหน้าที่แค่เสนอตัวเลือกให้ลูกค้าตัดสินใจว่าต้องการงานแบบไหน

แต่ตอนทำ Hotel Art Fair เราสามคนตีกันบ่อย เราอยากให้งานมันออกมาดี เพราะเรารู้สึกว่านี่คือลูกของเรา (หัวเราะ) แล้วพอมันเป็นโจทย์ของเราเอง เราจะเกิดความรู้สึกว่าแบบนี้โอเคไหม กลายเป็นระวังทุกอย่างจนไม่กล้าตัดสินใจ  

ที่บอกว่าตีกัน สุดท้ายพวกคุณหาจุดร่วมแก้ไขยังไง

วรินดา : เดดไลน์

เดดไลน์ทำให้เราต้องยอม เออเอาวะเอาแบบนี้ก็ได้ สุดท้ายเราเชื่อในเซนส์ของแต่ละคน ถ้าเป็นเรื่องของ art direction เราจะเชื่อการตัดสินใจของแต๊บ (วรทิตย์) ถ้าเป็นเรื่องดีเทลละเอียดอ่อนจะเชื่อต๊อบ (วรารินทร์) ส่วนเราก็ตัดสินใจเรื่องของไดเรกชั่นภาพรวม 

ถึงตรงนี้อะไรที่ทำให้พวกคุณเชื่อว่า โมเดลธุรกิจแบบ Hotel Art Fair จะยืนระยะในประเทศไทยได้ 

วรารินทร์ : มันก็เหมือนที่เราทำงานในนาม Farmgroup เราเชื่อใน Hotel Art Fair ว่ามันมี potential แบบเดียวกับที่เราทำแบรนด์ให้ลูกค้า และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราเชื่อว่า มีองค์ประกอบหลายอย่างที่นำพาสิ่งนี้ไปต่อได้  

วรินดา : อีกอย่างคือฟีดแบ็กจากแกลเลอรีที่บอกกับเราว่าอย่าหยุดทำนะ เพราะว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ช่วยให้เราอยู่ได้ ช่วยให้เกิดนักสะสมหน้าใหม่ และเกิดการซื้อ-ขายผลงาน ผู้ชมเขาก็รอที่จะมาเจอกับศิลปินที่ชื่นชอบ สองส่วนนี้ทำให้เรารู้สึกอยากทำตรงนี้ต่อไป 

มีส่วนไหนอีกบ้างที่พวกคุณรู้สึกว่าอยากได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม

วรารินทร์ : เราจะพูดเหมือนทุกๆ ปี ว่าอยากได้รัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุน 

วรทิตย์ : มีอีกหลายๆ อย่างที่เราอยากทำและคิดว่ามันน่าจะเหมาะ แต่ตอนนี้ยังไม่มีทุน หรือมีการสนับสนุนที่มากพอ เช่น เราอยากให้ทุกปีมีไฮไลต์ที่ศิลปินต่างชาติมาแสดง live performance หรือกิจกรรมบางอย่างที่ช่วยเพิ่มเอนเกจเมนต์ ซึ่งโปรเจกต์ของเรายังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ถ้าไม่มี extra sponsor

แต่ในปี 2024 สิ่งที่เราทำได้แล้วและกำลังทำอยู่คือ การจับมือกับภาคมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หอการค้าไทย, พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ฯลฯ เพื่อให้นักศึกษาได้มีพื้นที่จัดแสดงผลงานโดยเฉพาะ โดยที่ไม่ไปปนกับศิลปินมืออาชีพ ให้น้องๆ เขาใจฟูมีแรงกลับไปสร้างผลงานต่อ

วรินดา : เพราะสุดท้าย เราอยากให้ศิลปินเป็นอาชีพที่มั่นคง เป็นอาชีพที่เลี้ยงชีพได้จริง ไม่ใช่อาชีพเสริม เราว่ามีคนจำนวนมากที่ยึดศิลปินเป็นอาชีพหลัก แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยึดอาชีพศิลปินเป็นเพียงอาชีพรอง ฉะนั้นเราเลยอยากเป็นเวทีแรกหรือก้าวแรก ในการสร้างศิลปินหน้าใหม่ และให้แต่ละแกลเลอรีได้มารวมตัวแสดงผลงาน เราอยากเห็นวิวัฒนาการเหล่านั้น

ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังเลยนะว่า Hotel Art Fair จะต้องมีคนมาเยอะเท่านั้น ลึกๆ เป้าหมายของเราคืออยากให้แกลเลอรีและศิลปินขายผลงานได้ นี่เป็นหัวใจหลักของเรา คนมาน้อยมาเยอะไม่รู้แหละ แต่อยากให้เขาขายได้เยอะขึ้นทุกปี

ปีนี้ (2567) คือวาระครบรอบ 8 ปี ที่พวกคุณตัดสินใจทำ Hotel Art Fair คิดว่านิทรรศการนี้ประสบความสำเร็จในแบบที่อยากให้เป็นแล้วหรือยัง

วรินดา : จริงๆ ตอนที่เริ่มทำ Hotel Art Fair พวกเราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะประสบความสำเร็จแบบไหน เราทำเพราะเราอยากทำ เราทำเพราะเรารู้สึกว่านี่เป็นแพสชั่นของเรา และเราอยากเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้กับอุตสาหกรรมที่เราทำงานอยู่ ซึ่งสิ่งนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน 

ภาพของ Hotel Art Fair ที่เราคาดหวัง คือเป็นพื้นที่ให้แกลเลอรีได้มาร่วมตัวกัน เพื่อให้คนสนใจ เข้าใจ และใกล้ชิดงานศิลปะมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถดึงดูด collector หน้าใหม่ โดยที่ไม่ต้องเป็น big collector เป็นคนที่มีเงินเยอะๆ 

แต่ว่ากันตามตรง ปีแรกที่เราเริ่มทำก็ยังสงสัยอยู่เลยว่างานนี้มันจะไปรอดไหม เพราะเราทำโดยที่แทบไม่รู้อะไรเลย จนภายหลังทาง TCEB (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ) มาเป็นพาร์ตเนอร์ เขาก็สนับสนุนให้เรารีเสิร์ชเรื่อง economic impact ว่างานของเรามีอิมแพกต์ต่อเศรษฐกิจต่อสังคมขนาดไหน ซึ่งพอเราเห็นตัวเลขแล้วมันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังมาถูกทาง  

เราเลยบอกไม่ได้เต็มปากว่า Hotel Art Fair ประสบความสำเร็จมากแค่ไหน แต่ที่รู้คือเราทำแล้วมีความสุข เราทำเพราะทีมอยากจะทำแค่นั้นเลย

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like