ผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดสัตว์เลี้ยงยังไง? กลยุทธ์และเทรนด์ที่น่าจับตามอง เมื่อไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก

ความถี่ในการใช้หมาแมวในโฆษณาสินค้าต่างๆ และจำนวนห้างร้านแบบ pet-friendly ที่เพิ่มขึ้น คงตอบได้แล้วว่า เทรนด์การเลี้ยงสัตว์เป็นลูกจะไม่ใช่กระแสแต่จะอยู่คู่กับประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกไปอีกนาน เช่นเดียวกับตอนนี้ที่มหกรรมสัตว์เลี้ยง Pet Expo กลับมาจัดเป็นรอบที่ 2 ของปี

เทรนด์ที่ว่านี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ แต่ผู้ประกอบการไทยก็ยิ่งต้องจับตามองเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดมาให้ได้ 

ตัวเลขที่น่าสนใจและเทรนด์ที่น่าจับตามอง

1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% เป็น 66.748 พันล้านบาทในปี 2569 นั่นทำให้อาจเกิดธุรกิจใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ และการเติบโตของไทยยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการจัดงาน Pet Fair เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

2. ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก แถมในปีนี้ยังคาดการณ์อีกว่า มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปี 2024 จะอยู่ที่ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 19.5% จากปีก่อนที่หดตัว 15.0% 

3. ก่อนหน้านี้ อดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้กล่าวว่ารัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจในตลาดสัตว์เลี้ยง เนื่องจากในช่วง 5 ปีมานี้คนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์มากขึ้น รวมถึงได้ทำให้ธุรกิจ 3 ประเภทต่อไปนี้เติบโตขึ้น ได้แก่ อาหารและของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง การดูแลและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยง และฟาร์มสัตว์เลี้ยง 

การสนับสนุนที่ว่าอ้างอิงจากการที่กระทรวงพาณิชย์นำผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจสัตว์เลี้ยง 18 ราย เข้าร่วมงาน Taipei Pets Show 2024 ที่ประเทศไต้หวัน เมื่อวันที่ 5-8 กรกฎาคม ในจำนวนผู้แสดงสินค้า 400 ราย 1,800 บูท จากนานาประเทศ มีผู้เข้าชมงาน 160,000 คน บูทนิทรรศการไทยได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าจากไต้หวันและประเทศต่างๆ จนสามารถเจรจาการค้าได้กว่า 200 ราย ซึ่งคาดว่ายอดสั่งซื้อต่อปีจะทะลุ 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ไทยเองได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง อันเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเกษตรและประมงที่ไทยเราเชี่ยวชาญ ทั้งแป้ง ธัญพืช และเศษอาหารทะเล เป็นสิ่งที่หลายประเทศไว้ใจให้เราเป็นฐานการผลิตก็จริง แต่จากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และมีคู่แข่งอย่างกัมพูชา หรือประเทศใกล้เคียง อาจทำให้ไทยเพลี่ยงพล้ำได้หากไม่ปรับกลยุทธ์

กลยุทธ์แบบไหนที่ผู้ประกอบการควรตั้งรับ

1. จากการที่ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้น อาจทำให้ไทยเพลี่ยงพล้ำต่ออันดับ 4 ของโลกได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้แนะว่าผู้ประกอบการไทยควรเจาะตลาดพรีเมียมรับเทรนด์ผู้บริโภคที่ยอมจ่ายสูงขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านการแข่งขัน 

เช่น อาหารสัตว์เลี้ยงแบบ human grade ที่มีคุณภาพเทียบเท่าอาหารคน อาหารสัตว์เลี้ยงออร์แกนิก อาหารสัตว์เลี้ยงจากโปรตีนทางเลือกอย่างพืชหรือแมลง อาหารเฉพาะทางอย่างอาหารสำหรับสัตว์น้ำหนักเกิน อาหารสัตว์สูงวัย และอาการประกอบการรักษาโรค

ที่จริง ไม่เพียงแต่ศูนย์วิจัยกสิกรเท่านั้น แต่ Pet Fair SE ASIA ยังกล่าวว่าแม้กลุ่มอาหารสุนัขและแมวราคากลางจะเป็นผู้นำในตลาด แต่กลุ่มอาหารพรีเมียมจะเป็นผู้นำในการเติบโตมากกว่า เนื่องจากคนให้ความสำคัญกับสุขภาพสัตยว์เลี้ยงมากขึ้น ผลสำรวจยังพบว่าตลาดของไทยมีการผสมผสานที่ดีระหว่างผู้เล่นทั้งในประเทศและระดับโลก โดยมี Mars Inc และเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้นำ

2. ที่ผ่านมาประเทศไทยมักรับจ้างผลิต (OEM) กว่า 80% แต่ในเวลานี้ ผู้ประกอบการไทยควรสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองมากขึ้น เพื่อให้สามารถลงแข่งกับผู้เล่นในตลาดนี้ อย่างเยอรมนี สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ที่ผลิตและส่งออกแบรนด์ของตัวเอง

3. ผู้ประกอบการควรยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัวไปตามพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น เทรนด์เลี้ยงสัตว์ Pet Premiumization ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ลงทุนกับอาหารสัตว์คุณภาพสูง ทำให้ยอดใช้จ่ายอาหารสัตว์มากกว่ายอดอื่นๆ  

4. ตลาดนิวซีแลนด์เป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากข้อตกลงทางการค้า FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ที่ทำให้ไทยได้เปรียบเรื่องการทำราคา นอกจากนั้น นิวซีแลนด์ยังเป็นประเทศที่เลี้ยงสัตว์ในอัตราเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก 

5. แม้ตลาดอังกฤษจะไม่ใช่ตลาดหลัก เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และอิตาลี แต่ตลาดอาหารสัตว์อังกฤษนั้นเติบโตต่อเนื่องตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้องหมาที่อังกฤษมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาทวีปยุโรป

6. มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป ฐานการผลิตอย่างไทยจึงต้องเร่งเพิ่มมาตรฐานโรงงานและวัตถุดิบในด้านนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะลดการปล่อยคาร์บอน การตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ 

เทรนด์สัตว์เลี้ยงที่มาแรงจึงไม่ใช่เพียงทางออกของผู้ประกอบการในด้านธุรกิจสัตว์เลี้ยง แต่ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ภาคเกษตรกรรม ภาคธุรกิจอาหารหาแนวทางและลู่ทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ที่กำลังกลายเป็นกระแสหลักของโลก

อ้างอิง

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like