1573
August 6, 2024

Business War

รับมือยังไงเมื่อธุรกิจจีนบุกไทย 4 วิธี survival ที่พลิกเกมพาธุรกิจไปต่อ

ในโลกปัจจุบัน หนึ่งในสมรภูมิที่ดุเดือดที่สุดอาจไม่ใช่สนามรบทางทหาร แต่เป็นสนามแข่งขันทางเศรษฐกิจที่กองทัพนักลงทุนและนักธุรกิจจีนกำลังส่งสัญญาณเตรียมบุกตลาดไทยอย่างหนักหน่วง ด้วยมาพร้อมกับทุนมหาศาลและเทคโนโลยีล้ำยุค ราวกับกองทัพที่พรั่งพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย 

ทั้งการบุกตลาดด้วยกลยุทธ์ที่แยบยล นำเสนอสินค้าราคาถูกที่คู่แข่งยากจะสู้ต้นทุนได้ พร้อมบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างตรงจุด ที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นสัญญาณอันตรายจากแบรนด์จีนที่แค่เริ่มตีตลาดไทยก็สร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนธุรกิจทุกวงการ 

ตั้งแต่ Mixue แบรนด์ไอศครีมและชานมมาแรงที่เน้นขายถูกพร้อมขยายสาขาอย่างรวดเร็ว, Zhengxin ร้านไก่ทอดที่ราคาเริ่มต้นเพียงชิ้นละ 15 บาท, Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เตรียมถล่ม SME ไทยด้วยการขายของ ‘โคตรถูก’ รวมไปถึงการดิสรัปต์ฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรม อย่างการปลูกและขายผลไม้เศรษฐกิจอย่างทุเรียนที่จีนก็พร้อมเปิดศึกพร้อมสู้กับไทยเรียบร้อยแล้ว

ในวันที่ธุรกิจจีนกำลังเปลี่ยนโลกและหลายคนกำลังกังวลว่าจะเป็นเหยื่อหรือผู้รอดชีวิตในสงครามนี้ ข่าวดีคือหากเตรียมปรับตัวและศึกษาเทรนด์ธุรกิจจีนที่กำลังจะปฏิวัติโลกก็ยังพอมีหนทางเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสและสร้างคุณค่าใหม่ให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้  

ภาษิตจีนโบราณกล่าวไว้ว่า ‘รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง’ ดังนั้นก่อนจะเตรียมแผนรบ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการศึกษาความเก่งกาจของธุรกิจจีนกันก่อนว่าเป็นคู่แข่งที่เปิดศึกใดในสนามรบบ้าง

ศึกสินค้าราคาถูก

จุดแข็งของกองทัพธุรกิจจีนคือสามารถผลิตสินค้าราคาถูกมากด้วยต้นทุนแรงงานต่ำ มีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง มีโรงงานผลิตขนาดใหญ่และซัพพลายเออร์จำนวนมากพร้อมเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การเข้าไปแข่งในสงครามราคากับจีนจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะสู้ได้

ในอดีตสินค้าราคาถูกจากจีนส่วนใหญ่เหล่านี้มักมีภาพลักษณ์และเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าคุณภาพไม่ดี อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์ของ Made in China ในทุกวันนี้ไม่ได้แปลว่าจะมีคุณภาพต่ำเสมอไป ดังจะเห็นตัวอย่างในปัจจุบันที่แบรนด์จีนนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้นในราคาที่ถูกลงจนสามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ได้อย่างสบาย เช่น แบรนด์ Huawei และ Xiaomi

ศึกจ้าวแพลตฟอร์ม

ที่ผ่านมาแพลตฟอร์มจากจีนเข้ามาเป็นหนึ่งในช่องทางที่คนไทยนิยมช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งสามารถสร้างกฎใหม่และขึ้นค่าธรรมเนียมกับผู้ประกอบการไทยเมื่อไหร่ก็ได้ การเข้ามาของแพลตฟอร์มเหล่านี้จึงเปลี่ยนโฉมหน้าวงการอีคอมเมิร์ซและการตลาดดิจิทัลในไทยไปอย่างมากในทุกๆ ครั้ง ยิ่งมีหน้าใหม่อย่าง Temu ที่เตรียมพาโรงงานผลิตจากจีนในแทบทุกวงการมาขายทางอีคอมเมิร์ซก็ยิ่งเป็นการบีบให้ผู้ประกอบการไทยวนมาสู้ในสงครามราคาแถมต้องสู้กับธุรกิจจีนในระดับภูมิภาคซึ่งทำให้เสียเปรียบอย่างมาก

ศึกจอมยุทธ์เทคโนโลยี

จีนยังขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศจอมยุทธ live commerce มีท่าพิฆาตคือความเชี่ยวชาญในการไลฟ์สดโดยบริษัทใหญ่ในจีนจะมีห้องไลฟ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งล้ำหน้าไทยที่เพิ่งอยู่ในยุคเริ่มต้นในการไลฟ์  ธุรกิจจีนยังจริงจังกับการเก็บข้อมูลและสร้างระบบหลังบ้านที่เป๊ะ เช่น การขนส่งสินค้าให้ลูกค้าแบบรวดเร็วภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมงเท่านั้น หรือที่เรียกว่า instant retail เพื่อมุ่งสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น

โอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสู้กับศึกหนักเหล่านี้ได้คือการใช้กลยุทธ์ที่แตกต่าง หาสนามรบใหม่ สร้างกองทัพ เตรียมอาวุธใหม่เพื่อสู้กับกองทัพจีน และเหล่านี้คือ 4 วิธี survival ที่จะช่วยพลิกเกมพาธุรกิจไทยไปต่อ

1. สู้ราคาด้วยคุณภาพลักชูรี่

แทนที่จะแข่งขันในตลาดแมส (mass market) และสู้ในสงครามราคาที่ไม่มีทางชนะ ควรหันมาสร้างแบรนด์และผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมหรือลักชูรี่ที่เน้นคุณภาพ วัสดุ ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจ่ายในราคาสูงขึ้นเพื่อแลกกับประสบการณ์และคุณภาพที่เหนือกว่าสินค้าพรีเมียมอาจเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นสินค้าที่มีรสนิยมเฉพาะ อย่างเช่น อาหารหรือสินค้าแฟชั่นที่ใช้กระบวนการทำพิเศษซึ่งลอกเลียนแบบได้ยาก ใช้วัตถุดิบหรือวัสดุที่มีคุณภาพพิเศษ วิธีนี้จะช่วยสร้าง โอกาสทำกำไรที่สูงขึ้น

2. นำเสนอบริการและประสบการณ์สุดพิเศษ

การนำเสนอบริการและประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครจะช่วยสร้างความแตกต่างจากธุรกิจที่ขายสินค้าคล้ายกันได้ เช่น ร้านชาที่ให้บริการชาแบบโอมากาเสะแทนการขายผลิตภัณฑ์ชาเพียงอย่างเดียว, ธุรกิจสุขภาพที่ขายผลิตภัณฑ์พร้อมบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นหากเจ้าของธุรกิจมีความเชี่ยวชาญและความรู้เฉพาะทางก็จะได้เปรียบในการคิดโมเดลหารายได้ใหม่เพื่อนำเสนอบริการใหม่ที่เชื่อมโยงกับแก่นของธุรกิจเดิม

3. สร้างแบรนด์และช่องทางการขายของตัวเอง

การมีช่องทางการขายของตัวเองคือสิ่งที่การันตีว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจอย่างแข็งแกร่งต่อไปได้ไม่ว่าวันข้างหน้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนจะเปลี่ยนหน้าตาไปขนาดไหนก็ตาม โดยช่องทางการขายของตัวเองสามารถสร้างได้หลากหลายรูปแบบทั้งเว็บไซต์และร้านค้าปลีก สินทรัพย์สำคัญอีกอย่างคือฐานผู้ติดตามที่เชื่อใจและพร้อมอุดหนุนแบรนด์ การสร้างแบรนด์จะช่วยให้ควบคุมภาพลักษณ์และเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านแพลตฟอร์มคนกลาง

4. สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) ของตัวเอง

การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จะช่วยเสริมสร้างจุดแข็งและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจของผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องการการสนับสนุนทางทรัพยากรและเทคโนโลยี

ควรหาพันธมิตรทางธุรกิจที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การร่วมทุนวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ หาพันธมิตรที่ช่วยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและฐานลูกค้า ไปจนถึงนำระบบบริหารจัดการธุรกิจต่างๆ ของสตาร์ทอัพและผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีมาใช้

การแข่งขันกับธุรกิจจีนนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ด้วยกลยุทธ์ที่ถูกต้อง ผู้ประกอบการไทยก็อาจสร้างความแตกต่างและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในแบบของตัวเองได้เช่นกัน บนเส้นทางการรบอันยาวไกลนี้ สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างคือกำลังใจ หากธุรกิจเดินหน้าไปต่อไม่ได้ก็ขอให้เชื่อมั่นว่าหากสร้างทักษะใหม่และหมั่นมองหาโอกาสใหม่ก็จะสามารถสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ได้ 

ขอให้ผู้ประกอบการทุกคนมีหัวใจนักสู้ที่เชื่อมั่นเสมอว่าหากสงครามยังไม่จบ ก็อย่าเพิ่งนับศพทหาร

อ้างอิงข้อมูล

You Might Also Like