กำแพงเมืองจีน

เมื่อจีนจัดระเบียบไม่ให้ธุรกิจแตกแถว แล้วต่างชาติจะก้าวข้ามกำแพงการค้านี้ไปอย่างไร

Lazada, Tencent, Xiaomi, Huawei, Oppo การส่งออกแบรนด์สินค้าเหล่านี้ไปยังทั่วโลก เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นอีกประเทศมหาอำนาจโลกของจีน 

ทว่าไม่เพียงแต่ส่งออกไป เพราะความเป็นมหาอำนาจนี้ยังรวมไปถึงการที่นานาประเทศส่งวัฒนธรรม สินค้า และอัตลักษณ์ของตัวเองเพื่อมาจับกลุ่มคนจีนด้วยเช่นกัน ถือเป็นการ ‘ง้อคนจีน’ หนักมาก ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้ที่ตั้งใจปั้นศิลปินมาเพื่อเจาะเสิร์ฟคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ, แบรนด์หรูระดับโลกอย่าง Louis Vuitton ที่หันมาทำการตลาดเพื่อเอาใจคนจีนมากขึ้น หรือไม่ต้องเอาไกลตัวที่ไหน อย่างในช่วงก่อนโควิด ไทยเองก็มีนักท่องเที่ยวจีนเป็นลูกค้าหลักอีกกลุ่มหนึ่งด้วยเช่นกัน

บรรยากาศเศรษฐกิจของจีนกำลังเป็นไปอย่างสดใสดึงดูดใจให้เหล่านักลงทุนเข้ามาได้อย่างคึกคัก ทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการจากนานาชาติเข้าไปหาโอกาสในการทำธุรกิจมากมาย แต่อยู่ๆ จีนก็ออกมาประกาศนโยบายที่สร้างความมึนงงให้กับคนทั้งโลกในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

เป็นนโยบายที่ต้องการจัดระเบียบไม่ให้ผู้คนและธุรกิจแตกแถวจากเส้นทางที่ทางการได้ขีดเขียนเอาไว้ 

เริ่มตั้งแต่การออกนโยบายปราบปราม Big Tech ทั้งหลาย ถ้าข่าวใหญ่ที่หลายคนอาจจำกันได้ก็อย่าง Ant Group ฟินเทคที่อยู่ในเครือ Alibaba ของ Jack Ma ซึ่งกำลังจะกลายเป็น IPO ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกโดนเบรกกะทันหันจนทำให้ต้องพักแผนเข้าระดมทุนออกไปก่อน 

DiDi Chuxing แอพเรียกรถที่คล้ายๆ Grab ในบ้านเรา ก็ถูกกดดันจากรัฐบาลจีนอย่างหนัก หลังจากนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นของอเมริกา จนท้ายที่สุดถึงกับโดนสั่งให้แพลตฟอร์มที่ใช้โหลดแอพทั้งหลายถอด DiDi ออกเพื่อไม่ให้ผู้ใช้หน้าใหม่ดาวน์โหลด ด้วยเหตุผลในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งาน

ส่วนกับวงการเกม ที่ทางการจีนออกกฎเหล็กคุมเข้มไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกฎเหล็กที่ว่าก็ส่งผลต่อราคาหุ้น Tencent (เจ้าของเกมอย่าง RoV) ร่วงลงอย่างหนักในช่วงเวลานั้น 

ไม่เว้นแม้แต่วงการบันเทิงที่ได้ออกมาแบนผู้ชายหน้าสวยไม่ให้ออกสื่อ หรือแบนแอ็กเคานต์ของแฟนคลับที่ชอบศิลปินเกาหลีเป็นอย่างมาก ก็เป็นสิ่งที่กระทบกับวงการ K-pop อย่างชัดเจน

การออกนโยบายที่เกินความคาดหมายของใครหลายคนส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและบรรยากาศการลงทุนที่เปลี่ยนไปจากเดิม ความคึกคักเริ่มแปรเปลี่ยนมาเป็นความกังวลใจ เพราะไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่ลงทุนลงแรงไป วันใดวันนึงจีนก็อาจจะออกมาประกาศนโยบายที่ทำให้ธุรกิจเจอกับอุปสรรคโดยไม่ทันได้ตั้งตัวก็เป็นได้ 

ทั้งยังนำมาสู่ความสงสัยของใครหลายคน ว่าการลุกขึ้นมาออกนโยบายจัดระเบียบนี้ดูจะเป็นสิ่งที่สวนทางกับการขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกหรือไม่ เพราะถึงอย่างไร ‘เงิน’ ก็ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ 

แล้วแบบนี้เรื่องราวจะดำเนินยังไงต่อไป ประเทศที่เคยพึ่งพาการค้าจีนเป็นหลักต้องทำยังไงต่อ capital พกหลายข้อสงสัยที่ว่าไปถาม ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนคนหนึ่ง

แม้บรรยากาศการลงทุนไม่สดใสเหมือนอย่างอดีต แต่โอกาสในตลาดจีนก็ยังมีอีกมาก

ดร.อาร์มเริ่มฉายภาพกว้างให้เห็นว่า จีนยังเป็นประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับที่ถึงแม้จะบอกว่าต่ำลงมามากแล้ว แต่ก็ยังสูงกว่าในตลาดของประเทศอื่นๆ รวมถึงจำนวนประชากรที่มีกว่า 1,400 ล้านคน จีนก็ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่และเต็มไปด้วยโอกาสอีกมากมาย

ความน่าสนใจอีกอย่างคือภายในจำนวน 1,400 ล้านคนนั้น กว่า 400 ล้านคนเป็นประชากรที่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งจีนก็ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนประชากรชนชั้นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ

“จีนมีนโยบายที่จะยกระดับคนชนชั้นกลางอย่างชัดเจน โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2035 จะมีคนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านคน คิดเป็นการเพิ่มแบบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปัจจุบัน การยกระดับที่ว่าเริ่มตั้งแต่การศึกษา อุตสาหกรรม มีการสร้างงานที่มีรายได้เพิ่มสูงมากขึ้น และเป็นงานที่อยู่ในเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น

“ถ้านโยบายเหล่านี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะทำให้คนจีนมีรายได้เพิ่มขึ้น และนั่นก็จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้นเช่นกัน จากที่เคยให้ความสนใจสินค้าปัจจัย 4 เป็นหลัก เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มมองหาสินค้าที่มีแบรนด์ดิ้งมากขึ้นตามไปด้วย

“เพราะฉะนั้นหลายบริษัทระดับโลกที่ต้องการจะเติบโต ถึงยังไงแล้วก็ยังมีความจำเป็นจะต้องเกาะตลาดจีนอยู่ดี”

ลองคิดตามอย่าง ดร.อาร์มว่า เอาแค่จำนวนประชากรชนชั้นกลาง 400 ล้านคนในปัจจุบัน ก็เป็นจำนวนที่มากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศกว่า 5-6 เท่าตัวเลยทีเดียว

ไม่ได้ปิดประเทศ แต่ใช้นโยบายสองหมุนเวียน

ด้วยนโยบายการจัดระเบียบต่างๆ ที่จีนออกมาประกาศ จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจ ว่าจีนกำลังเริ่มปิดประตูทางเข้าประเทศให้แคบลงหรือไม่

แต่ ดร.อาร์มก็บอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น จีนไม่ได้จะปิดประเทศ เพียงแต่กระแสชาตินิยมบวกกับปัจจัยความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้ากับฝั่งตะวันตก จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะรู้สึกว่าจีนให้ความสำคัญกับภายในประเทศมากกว่าภายนอก

“บรรยากาศการจะไปค้าขายหรือลงทุนในจีนมันอาจจะดูไม่สดใสเหมือนในอดีต แต่ว่าจริงๆ แล้วผมมองว่ามันอาจจะแล้วแต่เซ็กเตอร์ แล้วแต่สินค้าแต่ละประเภทด้วย อย่างปีที่ผ่านมายอดขายไอโฟนในจีนก็เป็นอะไรที่เติบโตมาก กลับมาเป็นสมาร์ตโฟนที่ขายดีที่สุดของจีน และหากมองดีๆ ก็จะเห็นว่าทางจีนเองเริ่มปรับกฎหมายที่เอื้อให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขี้นด้วย

ตอนนี้จีนไม่ได้ปิดประเทศ แต่ใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ‘สองหมุนเวียน’ (dual circulation) เข้ามาบริหาร ซึ่งหมายถึงการหมุนเวียนภายในและภายนอกประเทศควบคู่กัน

เพราะในอดีตเศรษฐกิจจีนพึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก แต่ด้วยสงครามการค้า ทำให้จีนต้องเริ่มกระจายความเสี่ยงและหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในมากขึ้น การใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศก็จะทำให้จีนยังสามารถพึ่งพาตัวเองอยู่ได้ภายใต้ความเสี่ยงและความผันผวนของตลาดภายนอก

ส่วนหมุนเวียนที่สองคือหมุนเวียนภายนอก เป็นเหมือนยุทธศาสตร์ที่ใช้เชื่อมต่อให้โลกไม่สามารถตัดขาดจีนออกไปได้ โดยมีตลาดประชากรหลักพันล้านคนเป็นเหมือนแต้มต่อที่ทำให้นานาชาติยังคงต้องพึ่งพาการค้าขายกับตลาดจีน         

ดังนั้นบริษัทใหญ่ๆ ที่ผลิตสินค้าในระดับชั้นนำของโลก หากอยากเติบโตก็ยังคงต้องมีจีนเป็นตลาดเป้าหมายหนึ่งอยู่ ซึ่งก็มีหลายบริษัทที่เมื่อตีตลาดจีนได้ก็สามารถพลิกผลกำไรให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด”

จีนยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่ต้องกระจายความเสี่ยงมากขึ้น

ทั้งนี้ ดร.อาร์มยังให้คำแนะนำที่น่าสนใจในการลงทุนหรือทำธุรกิจกับกลุ่มตลาดคนจีนเอาไว้ว่า

“ผมว่ามันมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง โอกาสคือถ้าคุณสามารถตีตลาดจีนได้สำเร็จ เท่ากับว่าบริษัทคุณจะมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเลย ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงไม่น้อย เพราะถ้าคุณพึ่งพาตลาดจีนมากเกินไป แล้วมันเกิดอะไรขึ้นมา มันก็จะกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจเป็นอย่างมาก คือถ้าตอนนี้ธุรกิจไหนมีสัดส่วนลูกค้าจีนเกินครึ่งก็เริ่มน่ากลัวแล้ว

“ส่วนตัวแล้วผมว่าธุรกิจที่มีคนจีนเป็นลูกค้าหลักอาจจะต้องมองหาวิธีกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้น ควรจะบาลานซ์พอร์ตธุรกิจให้ดี และอีกเรื่องนึงที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องดูว่าสินค้าที่เอาเข้าไปขายมันมีจุดเด่นในเรื่องของอัตลักษณ์ เรื่องของแบรนด์ดิ้งไหม เพราะมันเคยมีตัวอย่างของบริษัทที่ไปลงทุนในจีน ปีสองปีแรกยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พอมีสินค้าจากจีนมาวางขายเป็นคู่แข่ง ก็ทำให้บริษัทนั้นๆ เจอกับปัญหาอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน” ดร.อาร์มกล่าวทิ้งท้าย

จะว่าไปแล้วทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ก็เป็นสิ่งที่วนกลับมายังพื้นฐานของการทำธุรกิจให้อยู่รอดในระยะยาวได้ คือการกระจายความเสี่ยง ไม่หวังพึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เป็นเหมือนการหาแผนสองธุรกิจที่หากวันใดวันหนึ่งเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือวิกฤตอะไรขึ้นมา ก็ยังทำให้ธุรกิจมีทางออกอีกหนึ่งทางให้เดินต่อไปได้

Tagged:

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like