3103
February 26, 2022

Think Now, Pay Later

ดาบสองคมของ BNPL ธุรกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามาในไทยมากขึ้น

เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้หลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป–หนึ่งในวงการที่เห็นได้อย่างเด่นชัดนั่นคือ ‘การเงิน’ กับการมาของสิ่งที่เรียกว่า financial technology หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า FinTech

FinTech ได้เข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนให้ธนาคารต้องปรับตัวกันยกใหญ่ นอกจากคริปโตเคอร์เรนซีที่แทบจะไม่ต้องอธิบายแล้วว่ามันคืออะไร อีกหนึ่งเทรนด์ในโลกการเงินยุคใหม่ที่น่าสนใจและกำลังคืบคลานเข้ามาในไทยเรื่อยๆ คือสิ่งที่เรียกว่า ‘BNPL’

ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวคือเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเพื่อนของเรากำลังช้อปปิ้งอยู่ในร้านเครื่องสำอางมัลติแบรนด์ระดับพรีเมียมแห่งหนึ่ง พนักงานในร้านก็เดินเข้ามาพูดคุยต้อนรับ เป็นการพูดคุยที่ไม่ได้พูดถึงเครื่องสำอางคอลเลกชั่นใหม่หรือสีลิปสติกที่เข้ากับใบหน้า แต่เข้ามาแนะนำให้สมัครและชำระค่าสินค้าที่หน้าเคาน์เตอร์ผ่าน QR Code บน  ‘Atome’ แอพฯ สีเหลืองจากประเทศสิงคโปร์ เพื่อที่จะได้รับโปรโมชั่น โค้ดส่วนลด และการผ่อนชำระรายเดือนแบบไร้ดอกเบี้ย

โดย Atome เป็นหนึ่งในแอพฯ ที่ให้บริการแบบ BNPL ที่ย่อมาจากคำว่า Buy Now, Pay Later แปลตรงตัวก็คือ ‘ซื้อก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง’ บางเจ้าก็ให้ผ่อนฟรี บางเจ้าก็คิดดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละราย

ขอบคุณภาพ : atometh.com

นอกจาก Atome แล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ยังมีแอพฯ จากสิงคโปร์อีกรายที่ใช้ชื่อว่า ‘Pace’ มาบุกตลาดในไทยด้วยเช่นกัน โมเดลของ Pace นั้นแทบไม่ต่างจาก Atome คือเน้นผ่อนสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ซึ่งแบรนด์ที่มีอยู่ในระบบของ Pace ก็ล้วนแต่เป็นที่รู้จักไม่ว่าจะเป็น Victoria’s Secret, Nike หรือ Bath & Body Works 

ส่วน Atome เองด้วยความที่ทำตลาดในไทยมาก่อนหน้า จึงมีแบรนด์ดังอยู่ในระบบมากกว่า ทั้ง Greyhound, Vickteerut, Charles & Keith, Freitag หรือแม้แต่แพลตฟอร์มจองที่พักอย่าง agoda ก็มีใน Atome ด้วยเช่นกัน 

ขอบคุณภาพ : pacenow.co

หรือที่เราคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดีอย่าง Shopee ก็หันมาเล่นในเกม BNPL นี้ ผ่านฟีเจอร์ที่เรียกว่า SPay ที่จะอนุมัติสินเชื่อในเวลาอันสั้นเพื่อให้ลูกค้าได้นำเงินสินเชื่อนั้นมาช้อปปิ้งบน Shopee ต่อได้ ส่วน Grab เองแม้จะยังจำกัดบริการให้แค่คนขับในระบบเท่านั้นที่จะสามารถเลือกซื้อสินค้าแล้วค่อยมาจ่ายเงินทีหลังได้ แต่ก็นับว่า Grab ได้ก้าวขาเข้ามาสู่ BNPL แล้วเช่นกัน

ทั้งผู้เล่นรายใหญ่และผู้เล่นหน้าใหม่กำลังเล่นในเกมเดียวกันแบบนี้ นับเป็นสัญญาณที่น่าจับตามองไม่น้อยว่า BNPL จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงของวงการเงินในบ้านเราได้มากน้อยเพียงใด 

เพราะความน่าสนใจของ BNPL ไม่ได้มีแค่เวทมนตร์การตลาดที่ดึงดูดใจเหล่านักช้อปได้ของไปใช้ก่อนแล้วค่อยเอาเงินมาจ่ายเงินทีหลัง แต่ยังรวมไปถึงการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่กว้างมากในไทย

ถามว่ากว้างขนาดไหนนะหรือ? 

คนไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน แต่มีจำนวนบัตรเครดิตในระบบอยู่ประมาณ 25 ล้านใบ ซึ่งอย่าลืมว่าแต่ละคนก็ไม่ได้ถือบัตรเครดิตเพียงแค่ใบเดียว นั่นหมายความว่ายังมีคนอีกจำนวนหลายสิบล้านที่ไม่มี ทีนี้ก็ลองคิดดูสิว่ามันเป็นโอกาสของธุรกิจ BNPL มากเพียงใดกับการ ‘เข้าไปถึง’ คนที่ ‘เข้าไม่ถึง’ นี้

จะว่าไปแล้วการซื้อก่อนแล้วจ่ายทีหลังนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในศตวรรษที่ 19 นั้นก็มีการจ่ายเงินที่ให้ผ่อนแบบทั้งรายสัปดาห์และรายเดือนแล้ว ตัวอย่างก็เช่นจักรเย็บผ้ายี่ห้อ Singer กับกลยุทธ์การขายที่เรียกว่า “dollar down, dollar a week.” แม้จักรของซิงเกอร์จะไม่ใช่ของที่ดีที่สุดหรือถูกที่สุดในเวลานั้น แต่ก็ขายดิบขายดีเพราะสามารถจูงใจผู้คนให้มาซื้อได้ด้วยการผ่อน

ขยายภาพของผลลัพธ์การจูงใจให้คนซื้อด้วยการผ่อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คงต้องขอยกบางช่วงบางตอนของ Money, Explained : Credit Cards สารคดีที่สร้างสรรค์โดย Vox มาขยายความให้ฟัง ตัวสารคดีได้พูดถึงงานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘ความเจ็บปวดเวลาจ่าย’ ได้อย่างน่าสนใจ ว่าการจ่ายเงินในรูปแบบต่างๆ นั้นมีความเจ็บปวดทางจิตวิทยาไม่เท่ากัน และมีการศึกษาหนึ่งที่พบว่าสมองส่วนที่เกี่ยวกันกับความเจ็บปวดและความกลัว มีแนวโน้มจะทำงานเวลาเห็นคนจ่ายด้วยเงินสด มากกว่าเวลาเห็นคนจ่ายด้วยบัตรเครดิต          

เมื่อตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ก็ย่อมทำให้ร้านค้าขายของได้ดีขึ้นตามไปด้วย และผลตอบแทนจากความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อนั้นก็จะกลับมาในรูปแบบของค่าธรรมเนียมบัตรรายปี แต่นั่นก็เป็นผลตอบแทนที่ไม่มากเท่าเมื่อเทียบค่าจ่ายเงินไม่ตรงเวลาของคนรูดบัตรที่เรียกว่าดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากร้านค้า จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมร้านค้าเล็กๆ มักจะขอบวกเพิ่ม 3 เปอร์เซ็นต์จากยอดบิล นั่นก็เพื่อให้สามารถหักลบกลบกับจำนวนที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทบัตรเครดิตได้ 

ด้วยรูปแบบธุรกิจที่คล้ายกันแต่ทำให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า แถมไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบัตรรายปี จึงไม่แปลกที่หลายคนจะคิดว่า BNPL นั้นจะเข้ามาดิสรัปต์บัตรเครดิต เพราะอย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าคนไม่มีบัตรเครดิตนั้นมีมากกว่าคนมีบัตรเครดิตเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองกันต่อไปในอนาคตว่า BNPL จะเข้ามาทำให้โลกการเงินแบบเดิมสั่นสะเทือนหรือเปลี่ยนไปในทิศทางใด 

ทั้งนี้ยังมีการคาดการณ์กันอีกว่าภายในปี 2025 หรืออีกแค่ 3 ปีข้างหน้าการทำธุรกรรมผ่าน BNPL จะมีมูลค่าสูงถึง 680 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าการเติบโตของ BNPL จะทำให้ 3 ตัวอักษรหลังอย่าง N P และ L ที่ย่อมาจากคำว่า non-performing loan หรือหนี้เสีย–การที่คนเป็นหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของ BNPL ด้วยหรือไม่ 

และสำหรับในมุมผู้บริโภค ในวันที่การ ‘ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง’ เริ่มกลายเป็นเทรนด์สำคัญในวงการการเงินที่เขยิบเข้ามาใกล้ตัวผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ 

การ ‘คิดก่อนจ่ายทีหลัง’ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

Reference

  • cnbc.com/2021/08/10/buy-now-pay-later-instalment-plans-may-cause-consumer-credit-card-debt-to-rise
  • forbes.com/sites/robertfarrington/2021/08/17/the-dangerous-rise-of-buy-now-pay-later
  • abc.net.au/news/2021-12-06/debt-christmas-buy-now-pay-later-afterpay-zip
  • library.hbs.edu/hc/credit/credit4b.html
  • washingtonpost.com/business/how-old-style-buy-now-pay-later-became-trendy-bnpl-quicktake/2021/11/30/089feec0-51ff-11ec-83d2-d9dab0e23b7e_story
  • cnbc.com/2021/09/21/how-buy-now-pay-later-became-a-100-billion-industry

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like