ฮ้องฮำทำเพลง

‘สุนทราพาเพลิน’ กลุ่มนักร้อง LGBTQ+ ที่ปลุกวิญญาณเพลงเก่าในพื้นที่ร่วมสมัย 

ต่อให้คนรุ่นใหม่จะไม่คุ้นชื่อวงดนตรีที่ดังระเบิดระเบ้อในรุ่นพ่อแม่ (ไม่สิ ถ้าเทียบกับเด็กรุ่นนี้ต้องบอกว่าเป็นวงรุ่นย่ายาย) แต่เชื่อว่าน้อยคนเหลือเกินที่ไม่เคยได้ยินเสียงร้องหวานสูงเปี่ยมเป็นเอกลักษณ์ของสุปาณี พุกสมบุญ หรือเนื้อเพลงเรียบง่ายและติดหูที่เขียนโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวง ‘สุนทราภรณ์’ 

แต่นั่นล่ะ ถึงวงดนตรีที่เปิดตัวใน พ.ศ. 2482 จะมีเพลงฮิตที่ยังคงถูกเปิดตามงานต่างๆ (อาทิ ‘รำวงเริงสงกรานต์’ หรือ ‘สวัสดีปีใหม่’) มาจนถึงปัจจุบัน แต่การที่คนรุ่นใหม่สักกลุ่มจะอินจัด จนนำสุนทราภรณ์มาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อตั้งวงดนตรีของตัวเอง ก็ไม่ถือเป็นเรื่องทั่วไป 

วงสุนทราพาเพลินคือวงที่ว่า วงที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาสาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ก้อง–ก้องภพ ศิลปสนธยานนท์ และ เมียลอย–พรบัญชา ใหม่กันทะ ลุกขึ้นมาแต่งตัวแบบ drag queen เป็นสาวสังคมในอดีต และร้องเพลงของวงสุนทราภรณ์ 

จากเดิมที่พวกเธอเปิดการแสดงขำๆ กันที่คณะ แต่เพียงไม่นาน ความนิยมก็เข้าหูคนหมู่มาก และได้รับเชิญไปร้องเพลงตามอีเวนต์ต่างๆ ในเชียงใหม่และทั่วประเทศ ทั้งนี้เมียลอยยังเคยนำเพลงสุนทราภรณ์เข้าประกวดในรายการ The Voice Thailand Season 4 จนเข้ารอบลึกมาแล้ว รวมถึงยังได้รับเชิญไปร้องบนเวทีประกวดนางสาวไทยเวทีภาคเหนือเมื่อปี 2562 อีกด้วย

“ทุกวันนี้ก็ทำกันด้วยความสนุกอยู่ค่ะ ไม่ได้ทำเป็นอาชีพอะไร เราจะรวมตัวกันเฉพาะตอนที่มีคนจ้าง ถ้าไม่มีใครจ้างเราก็ทำงานหลักของเราไป” เมียลอยที่ปัจจุบันประกอบอาชีพทั้งเป็น Personal Stylist ให้กับเหล่าคุณหญิง คุณนาย และเซเลบริตี้ รวมถึงเป็นนักจัดอีเวนต์ทางวัฒนธรรม และอาจารย์พิเศษของคณะวิจิตรศิลป์ ม.ช. กล่าว

“เราคิดว่ามันเป็นดีเอ็นเอของเด็กสาขาศิลปะไทยที่ชอบของเก่า แล้วพอเจอคนชอบเพลงของสุนทราภรณ์เหมือนกันมันเลยคลิกกันง่าย พวกเราชอบการแสดงอยู่แล้วก็เลยรวมตัวกัน” ก้องที่เป็นทั้งศิลปินอิสระด้านนาฏศิลป์และอาจารย์ช่วยสอนที่คณะวิจิตรศิลป์เล่า

ในตอนครบวง สุนทราพาเพลินจะมีนักร้องมากถึง 6 คน สมาชิกเกือบทั้งหมดเป็น LGBTQ+ และมีนักร้องชายที่คัฟเวอร์เสียงของเอื้อ สุนทรสนาน เติมเต็มเสียงแหลมสูงของสมาชิกคนอื่นๆ ทางวงไม่มีงานแสดงประจำที่ไหน จะรับเฉพาะงานเลี้ยง หรืองานปาร์ตี้พิเศษที่มีธีมย้อนยุค และร้องแต่เพลงสุนทราภรณ์กับเพลงลูกกรุงเก่าๆ พร้อมประยุกต์ทำนองแบบพื้นเมืองภาคเหนือเข้ามาในบทเพลง รวมถึงการนำเพลงประจำจังหวัดต่างๆ ใส่เข้าไปด้วยเพื่อแสดงอัตลักษณ์ความเป็น LGBTQ+ ล้านนา

“ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะมีคนชอบเยอะนะ เพราะเพลงยุคนี้มันต้องคนรุ่นแม่เราขึ้นไปถึงจะชอบ แต่พอเราแต่งตัวกันแบบจัดเต็มและใส่อารมณ์ขันเข้าไปในการแสดงตามประสา ปรากฏว่านอกจากเพื่อนๆ เราก็กลับมีกลุ่มคนฟังเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตามไปดูโชว์เราตามอีเวนต์ต่างๆ ไม่น้อยเลย” เมียลอยบอก 

เมียลอยยืนยันว่าเธอไม่เคยมองว่าวงสุนทราพาเพลินจะเป็นธุรกิจอะไร เธอทำเพราะความสนุกที่ได้ร้องเพลง และได้แต่งตัวย้อนยุคสนองความประทับใจส่วนตัว ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์และประชาสัมพันธ์บทเพลงที่เคยอยู่คู่หน้าประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งในสังคมไทยให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก 

“ทุกวันนี้วงสุนทราภรณ์ก็ยังทำการแสดงด้วยสมาชิกรุ่นใหม่อยู่นะ แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าวงพวกเราเป็นวง parody เขา เราแค่คัฟเวอร์เพลงเก่าๆ ของพวกเขาเพราะตระหนักในคุณค่า และมันก็ได้ประโยชน์หมดน่ะ 

“เราสนุกที่ได้แต่งตัวและร้องเพลง และคนดูก็สนุกที่ได้ฟังเพลงที่พวกเราร้อง ขณะเดียวกัน พอเราเห็นคนรุ่นแม่ๆ มานั่งฟังกะเทยร้องเพลงและร้องตามไปด้วย เราคิดว่าแค่นี้แหละ ประสบความสำเร็จแล้ว” เมียลอยทิ้งท้าย 

Writer

นักเขียนและนักแปลอิสระ บางครั้งก็หันมาเขียนวรรณกรรม ทำงานศิลปะ และบทภาพยนตร์บ้าง ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่

Photographer

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย

You Might Also Like