A Price to Pee

ยังจ่ายเงินเข้าห้องน้ำไหม ไอเดียเปลี่ยนฉี่เป็นทองยุคโรมันสู่อิสรภาพการปลดทุกข์ที่อเมริกา

ถ้าพูดถึงค่าเข้าห้องน้ำ ในบางพื้นที่เช่นประเทศแถบยุโรป การเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งมีราคาดั่งทอง ค่าเข้าห้องน้ำอาจสูงได้ถึง 1.5 ยูโร หรือราว 60 บาทต่อการเข้าห้องน้ำหนึ่งครั้ง 

กลับกัน อเมริการวมถึงบ้านเราไม่ค่อยเก็บค่าเข้าห้องน้ำเท่าไหร่ บ้านเราเองแม้ยังคงมีห้องน้ำที่เก็บค่าบริการ อาจจะ 3 บาทบ้าง 5 บาทบ้าง แต่ก็ไม่มากเมื่อเทียบกับกรณีของยุโรป

ถ้ามองลึกลงไป แม้การเข้าห้องน้ำจะเป็นการปลดทุกข์ แต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาห้องน้ำก็อาจเป็นทุกข์ก้อนใหญ่ของผู้ดูแล ห้องน้ำแบบเก็บเงินจึงแทบจะเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับนวัตกรรมห้องน้ำและห้องน้ำสาธารณะ 

คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ในครั้งนี้เราจะขอพาทุกท่านหวนกลับไปสู่ธรรมเนียมของการจ่ายเงินเข้าห้องน้ำ อีกหนึ่งพื้นที่ที่เราคุ้นเคยที่ตอนนี้เริ่มจะไม่เคยคุ้น ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการปลดทุกข์ในพื้นที่สาธารณะ จากความหรูหราสะดวกสบายในอังกฤษถึงการปลดล็อกการฉี่ฟรีในอเมริกา

ทำฉี่ให้เป็นทอง ไอเดียหาเงินจากจักรพรรดิโรมัน

ห้องน้ำถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่มากับระบบท่อที่มีคุณภาพและซับซ้อน ห้องน้ำสาธารณะจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของอนามัยของเมือง และเมื่อเมืองหนาแน่นขึ้นการปวดท้องเข้าห้องน้ำนอกสถานที่จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ห้องน้ำสาธารณะแบบจ่ายเงินจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น

โรมเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่มีระบบท่อและเริ่มมีห้องน้ำสาธารณะตั้งแต่ราว 200 ปีก่อนคริสตกาล เรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิแว็สปาซิอานุส (Vespasianvs) จักรพรรดิผู้ปกครองโรมเป็นเวลาสั้นๆ แค่ 10 ปี ในช่วง ค.ศ. 69 แต่จักรพรรดิพระองค์นี้ริเริ่มมรดกสำคัญคือการเริ่มสร้างโคลอสเซียม 

รัชสมัยของแว็สปาซิอานุสเป็นยุคที่โรมไม่มั่นคงและท้องพระคลังของโรมร่อยหรอ องค์จักรพรรดิใหม่ต้องหาเงินเพื่อจ่ายเหล่าทหารซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพาพระองค์ขึ้นสู่บัลลังก์ได้ การหาเงินของพระองค์เกี่ยวกับการออกภาษีปัสสาวะหรือ urine tax ซึ่งเป็นที่มาของการล้อเลียนองค์จักรพรรดิและเกิดวลี Pecunia non olet หรือเงินนั้นไม่เหม็น คือค่าของเงินไม่ได้เสื่อมเสียไปตามที่มาของมัน

จากวลีและการเก็บภาษี นักประวัติศาสตร์แบ่งความคิดเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกเชื่อว่าการเก็บภาษีมาจากการขายปัสสาวะ คือในยุคโรมัน ชนชั้นล่างของโรมจะปัสสาวะลงในถังและนำถังไปเทรวม เมืองจะนำปัสสาวะไปขายต่อซึ่งใช้ในกิจการ เช่นการฟอกหนังหรือฟอกขนแกะ ตรงนี้เองที่ผู้ซื้อจะต้องจ่ายภาษีด้วย

อีกด้านเชื่อว่ามาจากสาธารณูปโภคห้องน้ำสาธารณะของโรมัน ซึ่งเป็นห้องน้ำอย่างหรูหรา มีแท่นโถทำจากหินอ่อน เป็นส่วนหนึ่งของโรงอาบน้ำและสระสาธารณะ ตรงนี้เองที่เชื่อว่าจักรพรรดิเก็บเงินค่าเข้าใช้บริการห้องน้ำหรูหราและถือเป็นร่องรอยแรกๆ ของการจ่ายเงินเพื่อเข้าสุขา

นวัตกรรมชักโครกของอังกฤษ และความก้าวหน้าอันหรูหรา

จากสมัยโรมัน เราพากลับมายังประวัติศาสตร์สมัยไม่ไกลนักกับยุคที่คอลัมน์ของเรามักจะพูดถึง คือยุควิคตอเรียน ยุคสมัยที่โลกตะวันตกเริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางอย่างเป็นร่องรอยเค้าลางของโลกปัจจุบัน 

และเป็นอีกครั้งที่เราจะพาไปยังลอนดอน ไปยังนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติสมัยใหม่คืองาน The Great Exhibition ในปี 1851 งานนิทรรศการสำคัญของลอนดอนซึ่งจัดแสดงนวัตกรรมเช่นเรือนกระจกและเครื่องจักรอุตสาหกรรมต่างๆ 

หนึ่งในนวัตกรรมที่ร่วมจัดแสดงในครั้งนั้นคือห้องน้ำสาธารณะที่มาพร้อมกับระบบชักโครกเป็นครั้งแรก ห้องน้ำนี้ออกแบบโดยจอร์จ เจนนิงส์ (George Jennings) ช่างประปาชาวไบรตัน การเข้าใช้บริการต้องเสียเงิน 1 เพนนี แต่ตัวห้องน้ำที่ปิดมิดชิดนั้นจะมากับที่นั่งที่สะอาด ผ้าเช็ดมือ หวี มีกระทั่งบริการขัดรองเท้า คือเป็นห้องน้ำอย่างหรูหราไม่ธรรมดา 

เจ้าห้องน้ำในงานแสดงได้รับความนิยมและผู้คนตื่นเต้นมาก 

มากขนาดที่ต่อมา ‘Spend a penny’ กลายเป็นสำนวนอังกฤษแปลว่า ‘การไปเข้าสุขา’ 

มากขนาดที่ว่าระหว่างงานมีคนมาใช้บริการรวมแล้วถึง 800,000 คน ในช่วงราว 5 เดือนที่จัดนิทรรศการ ด้วยความยอดนิยมเจ้าของนวัตกรรมห้องน้ำจึงขอให้เจ้าห้องน้ำสาธารณะใหม่นี้ยังคงตั้งให้บริการอยู่ที่ไฮด์ปาร์กต่อไปหลังนิทรรศการจบ ซึ่งเจ้าส้วมใหม่ทำเงินได้ราวปีละ 1,000 ปอนด์

ตรงนี้เองที่สุขภัณฑ์รวมถึงห้องน้ำสาธารณะกลายเป็นกิจการสำคัญใหม่ของเมือง หลังจากนิทรรศการ The Great Exhibition ลอนดอนก็เริ่มมีห้องน้ำสาธารณะปรากฏขึ้นในช่วงทศวรรษ 1850s ซึ่งห้องน้ำในยุคนี้ยังไม่เป็นที่นิยมและถูกทุบทำลายไปภายในเวลาไม่นาน

จากห้องน้ำต้นแบบที่มีชื่อเสียงค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ระบบชักโครกที่มีประสิทธิภาพขึ้น มีการพัฒนาลูกลอยโดยโทมัส แครปเปอร์ (Thomas Crapper) 

ส่วนเจนนิงส์ผู้เป็นเจ้าของห้องน้ำต้นแบบเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในปี 1882 ทว่าลูกชายของแกดำเนินกิจการต่อ ในปี 1895 บริษัทรุ่นลูกของแกดำเนินการก่อสร้างห้องน้ำในหลายเมืองสำคัญทั้งเมืองของอังกฤษ 36 เมือง รวมถึงเมืองในปารีส ฟลอเรนซ์ เบอร์ลิน มาดริด ไกลไปถึงซิดนีย์ และบางส่วนของอเมริกาใต้

ห้องน้ำสาธารณะของอังกฤษและยุโรปในยุคแรกยังไม่ได้เป็นแค่ห้องน้ำ แต่เป็นบริการสาธารณะชั้นเยี่ยม ตัวห้องน้ำที่ผุดขึ้นในพื้นที่จะต้องออกแบบอย่างสวยงาม ใช้วัสดุพิเศษเช่นหินอ่อนและทองแดง กรุด้วยเซรามิกหรือกระเบื้องอย่างหรูหรา ห้องน้ำอาจสร้างไว้บนพื้นดินเป็นอาคารขนาดเล็กหรืออาจสร้างไว้ใต้ดินที่ต้องก้าวเดินลงไป เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่แสดงถึงความก้าวหน้าทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมของยุควิคตอเรียน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ห้องน้ำสาธารณะในยุคกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 รวมถึงพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ของผู้ชายเป็นหลัก ห้องน้ำส่วนใหญ่ออกแบบสำหรับสุภาพบุรุษ ไม่ใช่สุภาพสตรี ตรงนี้เองที่ห้องน้ำกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผูกมัดผู้หญิงไว้กับบ้าน 

พวกเธอจะเดินทางไปในระยะขอบเขตของบ้าน ทั้งบ้านตัวเองหรือบ้านของญาติพี่น้องซึ่งพวกเธอจะใช้ห้องน้ำได้ เรื่องห้องน้ำและการปลดปล่อยผู้หญิงเป็นอีกมหากาพย์การต่อสู้ที่ยาวนานซึ่งค่อนข้างเกี่ยวข้องกับการทำให้ห้องน้ำเข้าถึงได้ เป็นบริการพื้นฐานและฟรีมากขึ้น

ปัจจุบันที่อังกฤษส่วนใหญ่มีบริการห้องน้ำสาธารณะฟรี บางสุขาสาธารณะเก็บเงินแต่มีโถปัสสาวะฟรีให้กับผู้ชาย แน่นอนว่าทำให้ผู้คนขุ่นเคือง แต่ในแง่การดูแลระบุว่าห้องน้ำสตรีมีค่าใช้จ่ายในการดูแลมากกว่า และโถปัสสาวะที่ฟรีก็ทำเพื่อป้องกันการฉี่ในที่สาธารณะ

อเมริกา กับสัดส่วนห้องน้ำฟรี 1 เสียเงิน 2

จากงานนิทรรศการยิ่งใหญ่ที่อังกฤษ ห้องน้ำแบบจ่ายเงินของอเมริกาที่กลายเป็นประเด็นก็เกิดจากงานนิทรรศการในทำนองเดียวกัน 

ในปี 1893 ชิคาโกมีการจัดเวิลด์แฟร์ขึ้น ในงานนิทรรศการผู้จัดเตรียมต้อนรับผู้มาเยือนที่คาดจำนวนไว้หลักล้านคน จึงมีการสร้างห้องน้ำไว้ 2,000 ห้อง กระจายอยู่ 32 จุดทั่วงานเอกซ์โป ในตอนนั้นอเมริกามีกฎหมายว่าพื้นที่ต้องมีห้องน้ำฟรีให้บริการด้วย ซึ่งการมีห้องน้ำฟรีหนึ่งในสามห้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อสัญญาในการจัดงาน 

งานนี้จึงมีห้องน้ำบริการ 2 แบบ หนึ่งในสามเป็นห้องน้ำฟรี ส่วนห้องน้ำเสียเงินราคา 5 เซนต์ เป็นห้องน้ำอย่างหรูที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่แค่สบู่ แปรง ผ้าขนหนู แต่ยังมีพนักงานช่วยเหลือประจำจุดด้วย

ทว่าการมีห้องน้ำและห้องน้ำเสียเงินเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการถกเถียงเรื่องการเข้าถึงห้องน้ำ ในช่วงที่มีนิทรรศการ หนังสือพิมพ์บางรัฐ บางฉบับ ตีพิมพ์เสียงบ่นของสุภาพสตรีผู้ไปชมงานซึ่งบอกว่าห้องน้ำฟรีไม่ถูกสุขอนามัย หาก็ยาก  

แม้จะมีเสียงบ่นและข้อถกเถียงเรื่องการเข้าถึงห้องน้ำฟรี แต่เสียงตอบรับส่วนใหญ่ยังไม่คิดอะไรมาก งานนิทรรศการเป็นเหมือนพื้นที่ชั่วคราว ถ้าอยากเข้าห้องน้ำหรูก็ยอมเสียหน่อย เป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง

หนึ่งทศวรรษหลังจากนิทรรศการ กิจการรถไฟขยายตัวในอเมริกา สิ่งที่มาพร้อมกับสถานีรถไฟที่หรูหราและสะดวกขึ้นคือห้องน้ำ ช่วงนี้เองที่สถานีรถไฟใหม่ในทศวรรษ 1900 เริ่มโฆษณาว่าห้องน้ำของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง และช่วงเดียวกันนี้ที่ห้องน้ำของสถานีรถไฟติดตั้งระบบล็อกด้วยเหรียญที่จะจำกัดผู้ใช้งาน ให้เข้าห้องน้ำได้เฉพาะผู้ที่ซื้อตั๋วเดินทางเท่านั้น

หนึ่งในห้องน้ำที่น่าสนใจคือการเปิดบริการอาคารผู้โดยสารใหม่ของสาย Northwestern Line ในชิคาโกในปี 1911 สถานีนี้มีการโฆษณาว่าทุกจุดของการเดินทางคือความสะดวกสบาย มีห้องน้ำหรูหราให้บริการ ซึ่งตัวห้องน้ำที่สถานีใหม่นี้เก็บเงินเฉพาะห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิงใช้ฟรี ส่วนหนึ่งมาจากการเดินทางของสุภาพสตรีที่ผู้หญิงไม่เตร่อยู่นอกบ้าน การใช้งานห้องน้ำหญิงจึงเป็นผู้โดยสารของรถไฟขบวนหรู 

หลังจากนั้นการสร้างห้องน้ำในพื้นที่สาธารณะของอเมริกา เช่นในสวนหรือจัตุรัสต่างๆ ซึ่งมักสร้างไว้ใต้ดินจึงมักเป็นการสร้างห้องน้ำที่ฟรีและจ่ายเงินไว้คู่กัน สิ่งที่น่าแปลกใจคือหลังจากงานเอกซ์โปที่ชิคาโก ข้อโต้แย้งเรื่องการเก็บเงินเข้าห้องน้ำจะพูดถึงการจ่ายเงินเพื่อรักษาตัวห้องน้ำให้สะอาดเสมอ และหลักการหนึ่งในสามของห้องน้ำฟรีเป็นสัดส่วนสำคัญที่ทำให้อเมริกันชนยังยอมจ่ายเงินเพื่อเข้าห้องน้ำกันอยู่

1970 กับการปลดล็อกห้องน้ำของเด็กมัธยม

การต่อสู้เรื่องห้องน้ำของอเมริกามีการคัดง้างกันมา และตัวมันเองสัมพันธ์กับบริบทที่อเมริกามีความเคลื่อนไหวทางความคิดโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ด้วยบริบทของยุคหลังสงครามกลางเมือง กระแสสิทธิของคนผิวดำ, กระแสสิทธิสตรี, กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านสงคราม แต่ทว่าหนึ่งในหมุดหมายสำคัญคือการเกิดขึ้นของคณะกรรมการยุติห้องน้ำเสียเงิน (Committee to End Pay Toilets in America) 

คณะกรรมการที่ชื่อสุดเท่นี้จริงๆ เป็นการเคลื่อนไหวของเด็กมัธยมชาวโอไฮโอ 4 คน นำโดยนักเรียนหญิงวัยเพียง 19 ปี เป็นแรงผลักสำคัญในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ที่ทำให้ห้องน้ำเสียเงินถูกรื้อออกจากอเมริกา

จุดเริ่มของการเคลื่อนไหวเริ่มต้นอย่างเรียบง่าย ในตอนที่ครอบครัวเจสเซล (Gessel Family) ขับรถโร้ดทริปไปในแถบเพนซิลเวเนีย ในตอนนั้นไมเคิลและไอราเจสเซล สองหนุ่มน้อยวัยรุ่นต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าห้องน้ำในร้านอาหารแห่งหนึ่งและรู้สึกว่ามันช่างแย่ซะเหลือเกิน

ตรงนี้อาจเป็นสปิริตของยุค 70s สองพี่น้องรู้สึกว่าอยากจะยุติการต้องจ่ายเงินเข้าห้องน้ำ ไอราลงมือเขียนบทความถึงสภาคองเกรสเพื่อยุติห้องน้ำเสียเงิน จากจดหมายถึงรัฐ สองพี่น้องเริ่มรวมกลุ่มเป็นคณะกรรมการ ออกแบบโลโก้ มีการปรินต์บทความไปแปะในห้องน้ำ มีการแต่งเพลงมาร์ช จากกลุ่มเล็กๆ ที่มีสมาชิกไม่ถึง 30 คนในชมรมหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน 

ในช่วงปี 1970 สมาพันธ์ยุติห้องน้ำจ่ายเงินกลายเป็นสมาคมระดับประเทศ มีสมาชิกที่จ่ายเงิน 0.25 ดอลลาร์สหรัฐ ราว 1,800 คนเพื่อรับนิตยสารของสมาคมที่เรียกอย่างตลกขบขันว่า Free Toilet Paper มีการตั้งรางวัลโทมัส แครปเปอร์ตามผู้พัฒนาลูกลอยและระบบชักโครกที่พูดถึงไปด้านบน การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านห้องน้ำจ่ายเงินทำไปด้วยความสดใหม่ กวนประสาทนิดๆ แต่ทว่าประสบการณ์ต้องจ่ายเงินเข้าห้องน้ำเป็นสิ่งที่สาธารณชนสัมผัสได้

ความเคลื่อนไหวของเด็กๆ เป็นความเคลื่อนไหวที่เคลื่อนไปพร้อมกับความก้าวหน้าเช่นประเด็นเรื่องสิทธิสตรีที่เริ่มในยุค 70s เช่นเดียวกัน จากกลุ่มหลักพันคนเริ่มได้รับความสนใจจากสื่อของรัฐ หลังจากนั้นเมืองเช่นชิคาโกและโอไฮโอก็เริ่มออกกฎหมายถอดถอนห้องน้ำเสียเงิน จากสัดส่วนห้องน้ำฟรีและเสียเงินที่ต้องมี 1 ต่อ 1 สู่หมุดหมายสำคัญในปี 1973 

ในปี 1973 ชิคาโกเป็นเมืองแรกที่แบนห้องน้ำจ่ายเงินอย่างเป็นทางการ ก่อนเริ่มขยายตัวไปยังเมืองสำคัญตั้งแต่นิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ มินนิโซตา แคลิฟอร์เนีย ฟลอริด้า และโอไฮโอ ในปี 1976 มี 12 รัฐผลักดันกฎหมายแบนห้องน้ำเสียเงิน และในปีนั้นเองที่กลุ่มประกาศชัยชนะและประกาศสลายตัวสมาพันธ์ไปในที่สุด

กลุ่มเด็กมัธยมที่ต่อมากลายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยและกลุ่มขับเคลื่อน ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ห้องน้ำในอเมริกากลายเป็นสาธารณูปโภคฟรีในปัจจุบัน ซึ่งในยุคหลังนี้ก็มีการโต้แย้งอยู่บ้างเช่นการรื้อถอนห้องน้ำสาธารณะเสียเงินไม่ได้เพิ่มห้องน้ำสาธารณะขึ้นใหม่ ที่มีอยู่ก็เลอะๆ 

แต่ในภาพรวม การเข้าถึงห้องน้ำฟรีได้ก็สัมพันธ์กับหลักคิดเรื่องสิทธิและบริการที่ตอบสนองกับความต้องการพื้นฐาน การเข้าห้องน้ำได้หลายครั้งเป็นความจำเป็นและการปลดทุกข์ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานและเร่งด่วนอยู่เหมือนกัน

จากประเด็นเรื่องห้องน้ำเสียเงิน หนึ่งในบริการที่สิบปีก่อนเราคุ้นเคยและยินดีจ่าย สู่การแพร่กระจายไปในบริบทที่แตกต่างกัน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจเล็กๆ ที่ในตอนนั้นกลุ่มเด็กๆ ไม่ยินยอมจะปล่อยผ่านและทำให้กลายเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกันร่วมสมัย 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

ชื่อกล้วยค่ะ banana blah blah เป็นนักวาด บางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ สนใจ Art therapy และการวาดภาพเพื่อ Healing เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องทำให้เราอิ่มทั้งกายและใจ ได้มองเห็นตัวเองเติบโตภายใน

You Might Also Like