Haunted House Business

ส่องแง่คิดจากธุรกิจบ้านผีสิงที่เปลี่ยนความหลอนเป็นความปังจาก ‘อนงค์ My Boo’

คำเตือน : บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

ขึ้นแท่นสู่หนังไทยทำเงินระดับร้อยล้านประจำปี 2567 เป็นที่เรียบร้อย สำหรับ อนงค์ (My Boo) ภาพยนตร์แนวสยองขวัญ-โรแมนติกคอเมดี้ จากผู้กำกับมือทองอย่าง เอส–คมกฤษ ตรีวิมล ภายใต้การอำนวยการสร้างเป็นครั้งแรกของค่ายน้องใหม่ คาร์แมนไลน์สตูดิโอ (Karman Line Studio)

ไม่บ่อยนักที่ภาพยนตร์แนวสยองขวัญในบ้านเราจะหยิบยกเรื่องราวความรักระหว่างคนกับผีมาเล่า เท่าที่จำความได้เห็นจะมีเรื่อง กระสือวาเลนไทน์, แสงกระสือ และ แม่นาคพระโขนง ที่ขึ้นหิ้งเป็นตำนานตลอดกาล ทว่าที่กล่าวมาล้วนมีเนื้อหาซับซ้อน บรรยากาศหลอนชวนขนลุก จนเผลอสะดุ้งมือปิดตาเป็นระยะ 

กลับกันสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่อง อนงค์ ต้องการนำเสนอดูจะแตกต่างสิ้นเชิง เพราะเนื้อเรื่องถูกเล่าเป็นเส้นตรงเข้าใจง่าย พยายามแทรกด้วยมุกตลกชวนอมยิ้มไม่หยาบคายติดเรต พร้อมกับหาจังหวะให้ทุกตัวละครได้โชว์ความน่ารักน่าหยิกยามปรากฏตัว จุดนี้นับเป็นลายเซ็นการกำกับตามสไตล์ของเอส คมกฤษที่หาได้จากผลงานเก่าๆ เช่น แฟนฉัน, เพื่อนสนิท, สายลับจับบ้านเล็ก และ หนูหิ่น เดอะ มูฟวี่

อนงค์ เล่าเรื่องของ ‘โจ’ (แสดงโดย จี๋–สุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตร) นักแคสต์เกมชีวิตไม่ได้เรื่องได้ราว ที่บังเอิญส้มหล่นได้รับมรดกเป็นบ้านเก่าแก่อายุ 80 ปีจากคุณปู่ที่เพิ่งเสียชีวิต ทว่าเหมือนโชคชะตาจะกลั่นแกล้ง เมื่อบ้านในฝันที่ประเมินว่าจะขายได้หลักสิบล้าน กลับกลายเป็นบ้านร้างทรุดโทรม มิหนำซ้ำยังมีวิญญาณสามตนสิงสถิตอยู่ นั่นคือ ‘อนงค์’ (แสดงโดย โบว์–เมลดา สุศรี) อดีตลูกสาวของคหบดีผู้สร้างบ้านหลังนี้ ‘ทองก้อน’ (แสดงโดย แจ็ก–เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์) และ ‘ทองหยิบ’ (แสดงโดย ฝน–ทัตชญา ศุภธัญสถิต) คนใช้ทั้งสองรายที่ตายอย่างปริศนาพร้อมกับอนงค์

จากจะปักประกาศขายบ้านอย่างสบายใจ กลายเป็นว่าโจต้องหาวิธีปัดเป่าผีทั้งสามตน ขณะเดียวกันยังต้องคอยหลบเจ้าหนี้นอกระบบที่คอยตามราวีไม่หยุดหย่อน เพราะก่อนหน้านี้ดันไปกู้เงินซื้ออุปกรณ์แคสต์เกมชุดใหญ่ 

และเพราะมีหนี้ก้อนโตเป็นชนักปักหลังนี้เอง ทำให้การดำเนินเรื่องโดยตัวละครหลักอย่างโจ มีอีกหนึ่งเส้นเรื่องที่น่าสนใจกับการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการเปลี่ยนบ้านโบราณหลังนี้ให้กลายเป็น ‘บ้านผีสิง’ ที่ยกระดับเหนือกว่าบ้านผีสิงง่อยๆ ตามงานวัด หลังโจฉุกคิดไอเดียเจ้าเล่ห์ได้ว่า จะขอให้วิญญาณทั้งสามตนช่วยเป็นนักแสดงหลอกนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเล่นบ้านผีสิง เพื่อแลกกับการช่วยส่งทั้งสามไปสู่สุคติ 

แน่นอนว่าเพราะเป็นผีจริงๆ นี่แหละ ทำให้วิธีการหลอกสมจริงสมจัง จนวัยรุ่นที่เข้ามาลองเล่นติดใจแชร์กันปากต่อปาก กระทั่งติดอันดับเป็น 1 ใน 3 บ้านผีสิงที่น่ากลัว (ในหนังเขาว่ากันแบบนั้น) อีกทั้งยังสร้างกำไรมหาศาลจนสามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ แต่ด้วยความผูกพันระหว่างเปิดธุรกิจบ้านผีสิงนี้เอง ที่ทำให้โจและอนงค์เกิดปิ๊งปั๊งรักกันเสียได้

ในส่วนของเนื้อหาที่เหลือจะจบลงยังไง คนจะรักกับผีได้จริงหรือไม่นั้น ผู้เขียนอยากให้ลองติดตามต่อด้วยตัวเอง เชื่อว่าไม่มีผิดหวังแน่นอน เพราะแค่ได้ดูเคมีของคู่พระ-นางก็ถือว่าเกินคุ้มแล้ว

กลับมาที่เรื่องราวธุรกิจหลอนๆ อย่างบ้านผีสิง หลังจากอิ่มเอมกับภาพยนตร์เรื่องอนงค์จบ ทำให้ผู้เขียนเกิดตั้งคำถามว่า ธุรกิจประเภทนี้แท้จริงเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่กันแน่? 

Edge of Hell บ้านผีสิงเชิงพาณิชย์เจ้าแรกๆ 

จากการสืบค้น ถ้าเป็นในประเทศไทยแทบจะหาจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนไม่พบ แต่หากเป็นที่ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาน่าจะพอหาคำตอบได้ไม่ยาก 

ธุรกิจบ้านผีสิงเชิงพาณิชย์เจ้าแรกๆ เกิดขึ้นในปี 2513 ณ เมืองแคนซัสซิตี้ (Kansas City) รัฐมิสซูรี (Missouri) โดยตระกูลแอร์เน็ต (Arnett) ที่สมาชิกในครอบครัวล้วนหลงใหลในเรื่องราวลี้ลับพิศวงเหนือธรรมชาติ (ถ้านึกไม่ออกให้จินตนาการถึงภาพของครอบครัวอดัมส์) 

ตระกูลแอร์เน็ตตัดสินใจกว้านซื้อตึกร้าง ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นย่านพักอาศัยของผู้คนที่อพยพจากต่างถิ่นทั่วทุกสารทิศ ก่อนจะตั้งชื่อว่า Edge of Hell ตามความเชื่อในลัทธิบูชาซาตาน และด้วยความที่เคยเป็นแหล่งพักอาศัยมาก่อน ภายในจึงมีเฟอร์นิเจอร์และของใช้เหลือทิ้งไว้มากมาย เหมาะกับการเป็นของประกอบฉากเพิ่มความสยองขวัญโดยไม่ต้องลงทุนเสียเงินเพิ่ม

แม้บรรยากาศเดิมจะชวนหลอนอยู่แล้ว แต่ครอบครัวแอร์เน็ตยังไม่สาแก่ใจ สรรหาวิธีสร้างความหลอนยิ่งกว่าเดิมด้วยการเก็บดอกไม้จากสุสานที่เน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็นมาโปรยบริเวณรอบๆ บ้าน พร้อมกับพัฒนาวิธีแต่งหน้านักแสดงที่จะมาเล่นเป็นผีได้น่ากลัวสมจริงอย่างที่ไม่เคยมีที่ไหนเคยทำมาก่อน ไหนจะรับเสือภูเขาตัวใหญ่ยักษ์มาจัดแสดงเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวอีกมากโข

เพราะความใหม่ผนวกกับนิสัยของมนุษย์ที่ชอบความตื่นเต้นท้าทายเป็นทุนเดิม ส่งผลให้บ้านผีสิง Edge of Hell ได้รับความนิยมล้นหลาม ถึงขั้นที่ 10 ปีต่อมาสามารถเปิดบ้านผีสิงเพิ่มอีกสองแห่งในย่านเวสต์บอตทอมส์ ที่อยู่ในรัฐมิสซูรีเช่นกัน

ปัจจุบัน Edge of Hell ยังคงเปิดทำการอยู่ โดยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำลำดับต้นๆ ของรัฐมิสซูรีที่ทำกำไรได้เฉลี่ย 300-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกเสียจากบรรยากาศสุดหลอนแบบเดิมๆ ภายในบ้านผีสิงหลังนี้ยังปรับเปลี่ยนวิธีการหลอกให้สมจริงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะชุดของนักแสดงหรือเทคโนโลยีสามมิติตามที่ติดตั้งไว้หลอกคนตามจุดต่างๆ

ความหลอนระดับภูมิภาค

แม้หลายเรื่องราวลึกลับพิศวงจะถูกไขกระจ่างด้วยหลักวิทยาศาสตร์ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ธุรกิจบ้านผีสิงยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องเรื่อยมา โดยเฉพาะในหมู่ชาวอเมริกันที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษยามเทศกาลฮาโลวีน สะท้อนผ่านตัวเลขรายรับราว 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลของสมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งสหรัฐฯ (The National Retail Federation : NRF) ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเทศกาลดังกล่าวในปี 2023 

อีกทั้งไม่ใช่แค่ในเทศกาลฮาโลวีนที่ได้รับความนิยม เพราะแม้แต่หน้าเทศกาลสำคัญอื่นๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส และอีกสารพัด ล้วนได้รับความสนใจในฐานะ ‘กิจกรรมน่าทำ’ ลำดับต้นๆ ในหมู่วัยรุ่นที่อยากวัดความกล้า จึงไม่แปลกใจที่ธุรกิจบ้านผีสิงเชิงพาณิชย์ในประเทศสหรัฐฯ จะมีเงินสะพัดตลอดเวลา

ฟากฝั่งเอเชียธุรกิจบ้านผีสิงเชิงพาณิชย์อาจไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่นัก ยกเว้นแต่ประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมเสมอมา ปัจจัยหลักก็เพราะวัฒนธรรม ‘ประลองความกล้า’ ของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มักเล่นกันเป็นประจำในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ดังที่เราเห็นกันตามหน้าหนังสือการ์ตูน แอนิเมชั่น จนถึงทีวีซีรีส์ 

ยกตัวอย่าง Daiba Haunted School โรงเรียนผีสิงขนาดย่อมที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าคอมเพลกซ์ Decks Tokyo Beach ที่ได้รับความนิยมล้นหลามจากกิมมิกการเล่น โดยผู้เล่นจะต้องไขปริศนาเพื่อปลดปล่อย 4 ดวงวิญญาณ ที่สิงอยู่ในโรงเรียนร้างแห่งนี้ ซึ่งบรรดาผู้เล่นล้วนการันตีความหลอนระดับ 5 กะโหลก 

หรือจะเป็น Screambulance รถผีสิงเคลื่อนที่ของบริษัท Kowagarasetai (Scaring Corps) ซึ่งจะขับตระเวนไปตามที่ต่างๆ เพื่อให้บริการผู้ที่อยากนั่งสัมผัสความหลอนบนรถเป็นระยะเวลา 15 นาที โดยภายในรถจะถูกตกแต่งคล้ายกับรถพยาบาล ส่วนวิธีการหลอกจะมาในรูปแบบ 4 มิติ ทั้งภาพเคลื่อนไหวสุดสยอง เสียงโหยหวน เสริมด้วยควันและไอน้ำที่ปล่อยออกมาเป็นระยะ เหล่านี้คือธุรกิจบ้านผีสิงเชิงพาณิชย์ที่ถูกอัพเกรดให้มีความน่าสนใจ และพิถีพิถันการหลอกตามสไตล์เจแปนอันยากจะเลียนแบบ

แนวโน้มบ้านร้าง ไอเดียความหลอนแบบไทย

ด้านประเทศไทย ปัจจุบันมีบ้านร้างมากกว่า 1.3 ล้านหน่วยตามข้อมูลสำรวจจากศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย สาเหตุหลักเนื่องจากบ้านเราเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเมื่อผู้สูงอายุซึ่งเป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นเสียชีวิตลง ส่วนใหญ่มักเกิดกรณีขาดการซื้อหรือเช่าอาศัยต่อ เพราะผู้อยู่อาศัยรายใหม่เกิดกลัววิญญาณเจ้าบ้านยังสิงสถิตอยู่ ณ ที่เดิม หรืออาจคอยรังควานเพราะหวงที่ตามความเชื่อแบบไทยๆ 

ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสสำคัญ หากไม่อยากเข้ามาอยู่อาศัยก็อาจใช้ไอเดียสร้างสรรค์เปลี่ยนบ้านหลังนั้นให้กลายเป็นบ้านผีสิง พร้อมสร้างสตอรีให้ดูน่าสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้า หรืออีกแง่มุมหนึ่งอาจเปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ดังเช่น ‘บ้านขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวนิช)’ บ้านโบราณในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งใช้เป็นโลเคชั่นถ่ายทำบ้านผีสิงภายในเรื่อง อนงค์ ที่ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์

นัยหนึ่งการเกิดขึ้นมาของบ้านผีสิงไม่ว่าจะจากภาพยนตร์เรื่องอนงค์ หรือเรื่องจริงจากกรณีของ Edge of Hell และบ้านผีสิงพาณิชย์อื่นๆ ทั่วโลก ล้วนเป็นแนวความคิดที่น่าสนใจ กับการลงทุนเปลี่ยนสถานที่ร้างที่เคยเกิดคดีสยองขวัญหรือเคยมีเจ้าของมาก่อนแล้วขาดการดูแลรักษา เพื่อสร้างสถานที่เที่ยวสุดสะพรึงชวนเรียกนักท่องเที่ยว ดีกว่าปล่อยทิ้งรอรายการใดรายการหนึ่งมาชุบมือเปิบทำคอนเทนต์ล่าท้าผีเรียกเรตติ้ง 

ส่วนถ้าลงมือทำแล้วจะสยองขวัญไม่สยองขวัญนั้น ขอยกให้เป็นหน้าที่ของผู้เข้าชมตัดสินใจ เพราะสุดท้ายแล้วความกลัวของคนเราย่อมไม่เท่ากัน จะมากจะน้อยก็ล้วนขึ้นอยู่กับจินตนาการปรุงแต่ง

แต่ถ้าถามว่าผู้เขียนสนใจลองเล่นบ้านผีสิงสักครั้งไหม คงต้องขอโบกมือบ๊ายบายยอมแพ้ให้กับความขวัญอ่อนของตัวเองแบบไม่อายใคร …ก็คนมันกลัวนี่นา

อ้างอิง

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

You Might Also Like