ทำ D ได้ดี

D&DEPARTMENT PROJECT บริษัทที่คิดดีทำดีเพื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่น

ถ้าไม่รู้จักมาก่อน พอได้ยินคำว่า D&DEPARTMENT คุณจะคิดถึงอะไร?

Development? Double? Design? 

D&DEPARTMENT PROJECT บริษัทญี่ปุ่นสุดเท่ที่เราอยากแนะนำให้รู้จักวันนี้เชี่ยวชาญด้านการใช้ดีไซน์ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและนำเอกลักษณ์ของแต่ละท้องที่มาพัฒนาเสน่ห์ให้เข้ากับวิถีชีวิตคนปัจจุบัน

ใน 1 จังหวัดเขาแนะนำหลายผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้จำกัดแค่วัตถุที่จับต้องได้ แต่รวมไปถึงอาหาร ผู้คน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การเรียนรู้ โดยใช้ดีไซน์ที่ถูกใจคนยุคใหม่เป็นเครื่องมือสื่อสารผ่านสื่อหลายประเภท คนที่ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นน่าจะคุ้นตางานของพวกเขากันบ้าง เช่น D&DEPARTMENT ร้านรวมสินค้าในท้องถิ่นญี่ปุ่นที่ดีไซน์ดีมีคุณภาพและเรื่องราวสนุกๆ, d design travel นิตยสารแนะนำที่ท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องไม่เน้นรูป, d47 SHOKUDO ร้านอาหารที่คัดวัตถุดิบคุณภาพดีจากทั่วญี่ปุ่น และ d47 MUSEUM พิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องราวของ 47 จังหวัดผ่านแง่มุมต่างๆ ที่แวะไปทีไรก็อดใจไม่ไหวอุดหนุนสินค้าเขาไปเสียทุกที

D&DEPARTMENT PROJECT ทำงานหลากหลาย แต่ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร สิ่งพิมพ์ นิทรรศการ อีเวนต์ สัมมนา งานอบรมและงานอื่นๆ ทุกอย่างล้วนอยู่ภายใต้คอนเซปต์เดียวกันคือ Long-life Design และเราก็แสนโชคดีที่ได้ Mitsuko Matsuzoe (มิตสึโกะ มัตสึโซเอะ) ประธานบริษัทคนปัจจุบันมาเล่าเรื่องราวภารกิจเหล่านี้ให้ฟัง

เริ่ม D

D&DEPARTMENT PROJECT ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 โดย Kenmei Nagaoka (เคนเม นากาโอกะ ) กราฟิกดีไซเนอร์ผู้มีงานอดิเรกคือการเดินเล่นตามร้านขายของมือสองซึ่งมีทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ เขาได้พบกับของดีที่ไม่มีใครรักมากมายเลยค่อยๆ สะสมจนคิดว่าสักวันอยากจะเปิดร้านขายของมือสองที่รวมสินค้าดีไซน์ดี มีความอมตะ อยู่ได้ทุกยุคทุกสมัย

และแล้ววันนั้นก็มาถึง D&DEPARTMENT สาขาแรกในโตเกียวเปิดตัวเมื่อปี 2000

“จริงๆ แล้ว ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะเปิดร้าน ตอนตั้งบริษัทนี้ เราเป็นบริษัทดีไซน์ ทำงานออกแบบ วิดีโอต่างๆ แต่ระหว่างที่ทำงานมาเรื่อยๆ จังหวะและโอกาสลงตัวพอดี ร้านค้าสาขาแรกเลยถือกำเนิดขึ้น” มิตสึโกะผู้ร่วมหัวจมท้ายมากับเคนเมตั้งแต่แรกเริ่มเล่าที่มา

ระยะแรกร้าน D&DEPARTMENT เน้นเรื่องของมือสองและการรีไซเคิลสินค้ามากกว่า 95% รับมาจากร้านมือสอง ซึ่งหลายชิ้นเห็นแล้วชวนสงสัยว่าทำไมคนไม่ใช้ทั้งที่ดีไซน์ดี ทีมงานเลยเอาของเก่ามาปรับปรุงใหม่แล้วลองขาย

“ด้วยความที่เขาทำงานออกแบบมาเยอะมาก เขารู้ดีว่าต่อให้ตั้งใจออกแบบแค่ไหน ถ้าผู้ใช้คิดว่าไม่ดี ต่อให้เป็นของดี คนก็ไม่สนใจ เคนเมเลยให้ความสำคัญกับการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจด้วยว่าอันนี้ดีไซน์ดีนะ”

พอรับของมาเรื่อยๆ เริ่มเจอของแบบเดิมบ่อยครั้ง บางทีของยังดี แต่น็อตหายไป 1 ตัว ทีมงานเลยติดต่อผู้ผลิตขอซื้อพาร์ตมาซ่อมแซม ถึงได้รู้ว่าจริงๆ แล้วสินค้านั้นก็ยังวางจำหน่ายอยู่ เลยได้ไอเดียอยากเอามาลองขายด้วย หรือสินค้าที่เลิกผลิตแล้ว แต่มีแม่พิมพ์อยู่ สามารถผลิตใหม่ได้ พอมีเคสแบบนี้มากขึ้น D&DEPARTMENT เลยเริ่มมีของมือหนึ่งวางขายด้วย

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ 60 VISION ที่ช่วยพลิกชีวิตให้กับร้านท้องถิ่นมากมายและสร้างชื่อให้ D&DEPARTMENT ในวงกว้างในฐานะผู้ใช้ดีไซน์คืนเสน่ห์ให้ของดีที่ถูกมองข้าม

D มาก 

โปรเจกต์ 60 VISION คือการสร้างแบรนด์ให้กับเหล่าของดีในยุค 1960 ที่เคยถูกทิ้งขว้าง โดย D&DEPARTMENT จะร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ เหล่านั้นเพื่อเจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่นอายุ 20-39 ปี นำของเก่าหรือดีไซน์เก่ากลับมาปรับโฉมใหม่ให้เข้ากับความชอบและการใช้งานในยุคปัจจุบันมากขึ้นและต้องเป็นของที่อยู่ได้นาน ไม่ล้มหายตายจากไปพร้อมกระแสที่เปลี่ยนไปทุกปี ตัวอย่างบริษัทดังที่เข้าร่วมโปรเจกต์นี้ได้แก่ Karimoku แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้, MoonStar รองเท้าผ้าใบ และ Noritake ผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาชื่อดัง

เคนเมสนใจงานดีไซน์ในยุค 60s เป็นพิเศษเพราะเขามองว่าเป็นยุคที่คนตั้งใจออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวญี่ปุ่น หลังจากผ่านช่วงสงครามซึ่งทุกอย่างขาดแคลน ยุคนี้เป็นช่วงที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ดีไซเนอร์ทุ่มเทสร้างผลงานเพื่อคนญี่ปุ่นโดยรวมมากกว่าสร้างชื่อให้ตนเองเหมือนในปัจจุบัน อีกทั้งงานในยุคนี้ยังสร้างมาตรฐานและกลายเป็นพื้นฐานให้งานดีไซน์ญี่ปุ่นในยุคถัดมา

“ยุคนั้นถือเป็นช่วงที่มีของดีๆ ผลิตออกมามากมายเพื่อทำให้การใช้ชีวิตดีขึ้น โดยเรียนรู้จากผลงานต่างประเทศด้วย แต่พอเข้ายุค 80s เริ่มมีของเลียนแบบมากขึ้นเลยทำให้งานคราฟต์เหล่านั้นเริ่มหายไป แต่ของบางอย่างยังเหมาะกับการใช้งานในปัจจุบัน เราเลยนำกลับมาขายใหม่”

K Chair เก้าอี้ยอดฮิตของแบรนด์ Karimoku60 (สินค้าที่ได้รับการพัฒนาภายใต้โปรเจกต์นี้จะใช้ชื่อบริษัท+60) คือตัวอย่างความสำเร็จของโปรเจกต์นี้ที่น่าสนใจ Karimoku เป็นบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าแก่ในจังหวัดไอจิที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ยุคเอโดะ (1603-1868) แบรนด์เล็กๆ ในท้องถิ่นที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงมากนัก แต่เคนเมไปเจอ K Chair ในร้านมือสองและถูกใจจนติดต่อขอเอาไปขายที่ร้าน เขามีไอเดียมากมายที่ทำให้ K Chair เป็นที่รักของคนยุคนี้ เช่น เปลี่ยนผ้าหุ้มเบาะ เปลี่ยนสีไม้ และเพิ่มช่องทางขายใหม่ๆ อย่างเว็บไซต์ 

แน่นอนว่าบริษัทเก่าแก่ที่คุ้นชินกับวิธีดั้งเดิมค้านสุดใจ แต่สุดท้ายก็ใจอ่อนเพราะความมุ่งมั่นของเคนเมที่เทียวไล้เทียวขื่ออย่างไม่ลดละ จนได้สินค้าล็อตแรกไปลองวางขายที่ D&DEPARTMENT ในปี 2001 ซึ่งปรากฏว่าขายได้ถึงหลายสิบล้านเยน โปรเจกต์ Karimoku60 จึงได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการและยังคงทำต่อเนื่องถึงปัจจุบันโดยมี K Chair และลูกหลานเป็นพระเอก

“ตอนแรกพาร์ตเนอร์ส่วนมากเป็นบริษัทใหญ่ แต่ทั้งบริษัทเล็กๆ และช่างในท้องถิ่นเริ่มติดต่อเข้ามาเอง หลังจากเห็นผลงานของเรา พอทำไปเรื่อยๆ เราพบว่าสินค้างานคราฟต์ระดับท้องถิ่นก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน คือมีของดีที่ขายไม่ได้ ตัวช่างฝีมือก็ลำบาก พวกเขาบอกว่าชอบสิ่งที่พวกเราทำ อยากฝากผลิตภัณฑ์ของเขาให้ดูแลด้วย”

ไม่แปลกใจเลยที่จะมีคนติดต่อเข้าไปหามากมาย เพราะใครเห็นความสำเร็จของโปรเจกต์นำร่องในการรีแบรนดิ้ง Karimoku ก็ต้องปรบมือให้ทั้งนั้น เพราะยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าเลยทีเดียว 

กิน D อยู่ D เที่ยว D 

อีกหนึ่งผลงานโดดเด่นของ D&DEPARTMENT คือไกด์บุ๊ก d design travel 

design travel คือการต่อยอดจากร้านค้า D&DEPARTMENT หลังจากที่พวกเขาไปเปิดร้านที่ฮอกไกโดก็อยากให้คนแวะไป แต่จะให้คนตั้งใจเดินทางไปฮอกไกโดเพื่อร้านนี้อย่างเดียวอาจจะยาก เลยเกิดไอเดียทำหนังสือนำเที่ยวแถวนั้นด้วยเป็นการจูงใจ ซึ่งเนื้อหาเน้นสิ่งที่คนที่ชอบ D&DEPARTMENT น่าจะอยากไป 

ญี่ปุ่นมี 47 จังหวัด ตอนนี้ทำไปแล้ว 33 เล่ม 

“ตอนนี้ยิ่งมีหลายที่ติดต่อเข้ามาอยากให้ไปช่วยทำคอนเทนต์เล่าเรื่องราวท้องถิ่นของพวกเขาแบบดีไซน์สวยและเนื้อหาเหมาะสม ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทำงานสิ่งพิมพ์เยอะมากเลย

“ถ้าเน้นข้อมูลอย่างเดียว เราสามารถหาในอินเทอร์เน็ตได้เยอะมาก แต่มักจะไม่ค่อยมีข้อมูลเล่าไปถึงความเป็นมา ความเป็นอยู่เชิงวัฒนธรมอย่างครบถ้วน ฉันคิดว่าจะใช้สื่อเว็บไซต์หรือหนังสือก็ได้ เพราะทำหน้าที่ต่างกัน คนดูข้อมูลในเว็บต้องการข้อมูลอีกอย่าง คนซื้อหนังสือสนใจอีกอย่าง เราทำหนังสือโดยคำนึงถึงสิ่งนี้”

หนังสือของ d design travel ดีไซน์สวย รูปถ่ายก็สวย แต่ถ้าเทียบกับไกด์บุ๊กที่เราคุ้นชิน สัดส่วนรูปกับเนื้อหาต่างกันเยอะ คอนเทนต์แน่นและลึกสุดใจสมกับที่ส่ง บ.ก.ไปอยู่ที่นั่น 2 เดือนเพื่อเก็บข้อมูล พูดตามตรงว่า niche จนกลัวเขาขาดทุน แต่พอจะเข้าไปสั่งซื้อก็พบว่า sold out เกือบหมด 

“หนังสือใช้รูปสวยๆ เยอะๆ เล่าเรื่องอย่างละนิดละหน่อยก็ดีนะคะ คนชอบ แต่หลายคนพอได้ลองอ่านหนังสือที่เราทำแล้วชอบก็เยอะ ผู้อ่านของเราคือคนที่ชอบเนื้อหา ดีไซน์ คอนเซปต์แบบนี้ บางคนก็เลือกที่เที่ยวจากหนังสือที่เราทำ เช่นเล่มหน้าที่นี่ งั้นไปที่นี่ละกัน”

แต่ถึงจะทำหนังสือครบเกือบทั่วประเทศแล้ว ร้าน D&DEPARTMENT ยังมีแค่ 8 จังหวัดเท่านั้น

“เดิมทีคิดว่าอยากสร้างร้านให้ครบ 47 จังหวัด ตอนแรกทำที่โอซาก้ากับฟุกุโอกะ แต่การที่เราไปเปิดเอง มันเหมือนแค่ไปเปิดร้านเฉยๆ ไม่มีความหมาย ถ้าคนในท้องถิ่นที่อาศัยในย่านนั้นๆ ไม่ได้เป็นคนลงมือทำเองหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง เราเลยตัดสินใจว่าไม่ไปเปิดเองแล้ว แต่ถ้ามีคนในท้องถิ่นติดต่อมาว่าอยากเปิด เราค่อยเป็นพาร์ตเนอร์ทำด้วยกัน”

มิตสึโกะบอกว่าขั้นตอนการเลือกพาร์ตเนอร์แทบไม่ต่างกับการดูตัวหาคู่ ต้องคุยกันหลายครั้งเพื่อดูว่าวิสัยทัศน์ตรงกันมั้ย คนที่ติดต่อเข้ามาอยากทำอะไร มีเป้าหมายอะไร คุยในระดับนึงแล้วก็ต้องไปดูที่หน้างาน ที่ต้องคุยและเช็กหลายรอบเพราะสิ่งสำคัญคือความคิดของพาร์ตเนอร์ ทำไมเขาอยากทำ ถ้าคุยแล้วดูไม่ตรงกันก็แยกย้าย

ในบรรดา 8 จังหวัดที่มีร้าน D&DEPARTMENT มีทั้งสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างโตเกียว, เกียวโต, ฮอกไกโด, โอกินาว่า และเมืองรองอย่างโทยามะ, มิเอะ, ไซตามะ, คาโกชิม่า และใน 8 ร้านนี้มีทั้งที่บริหารเองและเป็นแฟรนไชส์ แต่ละร้านแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ในการเปิดและลักษณะเด่นของท้องถิ่น

ตัวอย่างเช่น ร้านที่โทยามะ พื้นที่ประมาณ 6.6 ตารางเมตรเองเพราะไม่ได้เน้นขายของ แต่ทำเป็นโรงเรียน ให้คนที่มาได้ออกไปเรียนรู้ในทุ่งนามากกว่า แต่เกียวโตซึ่งเป็นที่ท่องเที่ยวชื่อดัง และมีช่างฝีมือ คนทำของต่างๆ มากมาย จึงทำร้านให้เหมาะกับนักท่องเที่ยวด้วย ส่วนคาโกชิม่า ร้านอยู่ในห้างสรรพสินค้า ทางห้างเป็นคนติดต่อมาว่าอยากทำ เขาบอกว่าคนที่มาเดินห้างของเขากว่า 40% เป็นนักท่องเที่ยว เลยอยากเน้นของที่เหมาะกับชีวิตประจำวันและของแต่งบ้าน ซึ่งเจ้าของไม่ได้เปิดเน้นขายเอากำไร แต่อยากส่งเสริมของดีในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักจะได้อยู่ได้นานๆ

“แม้แต่ละร้านจะมีเป้าหมายต่างกัน แต่หลักๆ คือพวกเรากำลังทำเรื่อง long-life design แล้วแต่ว่าเขาอยากทำอะไร ยังไง เช่น ทำผ่านอาหารเครื่องดื่ม ทำแบบเน้นกิจกรรม ทำเน้นสินค้า”

แต่ไม่ว่าจะทำหนังสือ ร้านค้าหรืองานนิทรรศการ สิ่งสำคัญที่ D&DEPARTMENT ใส่ใจคือ สิ่งที่จะสื่อสารกับผู้ผลิตและผู้บริโภค

การบริหารธุรกิจที่ D

“มีมั้ยนะ (หัวเราะ)” ท่านประธานหญิงแกร่งแห่ง D&DEPARTMENT หัวเราะเมื่อถูกถามถึงแผนธุรกิจ

“ฉันคิดว่าไม่มีนะ พวกเราไม่เคยคิดว่าปีนี้จะขยายสาขาไปต่างประเทศ หรือปีนี้จะทำธุรกิจใหม่อะไรบ้าง มันไม่ใช่แนวทางของเรา ส่วนมากมันเกิดขึ้นเอง เช่น พอทำอันนี้แล้ว มันต้องทำอันนี้ต่อ หรือจะทำอะไรแล้วพบปัญหา ก็เลยต้องทำอีกอย่างเพื่อแก้ไข

“จริงๆ แล้วส่วนมากมาจากคนนอกติดต่อเข้ามาด้วย เช่น มีคนอยากเปิดร้าน เราก็จะดูว่าน่าจะทำงานร่วมกันได้ไหม แค่ทำงานที่คนติดต่อเข้ามาก็เยอะมากแล้ว (หัวเราะ) พอมีคนติดต่อเข้ามาเพราะคิดว่าเราจำเป็นต่อเขา เราก็อยากจะร่วมโปรเจกต์ด้วย”

เธอยังเล่าต่ออีกว่าบทบาทในฐานะประธานแทบไม่ต่างจากก่อนรับตำแหน่งสักเท่าไหร่ ด้วยความที่มิตสึโกะเข้าทำงานมาตั้งแต่ก่อนเปิดร้านแรกในโตเกียวเสียอีก ถึงจะทำตำแหน่งพีอาร์ แต่ก็ทำแทบทุกอย่างมาตั้งแต่สมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานที่ร้าน งานขายของ ขายอาหาร และการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เจอ 

ไม่ต่างจากพนักงานในยุคปัจจุบัน พนักงานแต่ละคนมีทักษะหลากหลายและรับหน้าที่หลายอย่าง ในบริษัทมีพนักงานทั้งหมด 80 คน แบ่งเป็นหลายแผนก เช่น แผนกสินค้า แผนกดีไซน์ แผนกมาร์เก็ตติ้ง แผนกพิพิธภัณฑ์ แต่จริงๆ แล้วทุกคนต้องทำได้หลายอย่าง เช่น ทีมนิตยสาร d design travel จริงๆ แล้วมีคนทำคนเดียวคือบรรณาธิการ ลงพื้นที่ เก็บข้อมูลเอง ถ่ายรูปเอง ปั้นจนหนังสือเสร็จ แล้วบางครั้งยังรับบทหัวหน้าทีมจัดนิทรรศการและอีเวนต์ต่างๆ ด้วยเพราะรู้ลึกที่สุดและมีความสัมพันธ์อันดีกับคนในท้องถิ่น เวลามีโปรเจกต์หรืออีเวนต์ก็จะดึงคนจากแต่ละแผนกมาช่วยกัน 

“อย่างร้านอาหาร d47 Shokudo จะทำเมนูใหม่ ทีมก็ต้องไปหาผู้ผลิตถึงแหล่งวัตถุดิบ ต้องไปดูว่าเขาทำยังไง มีความทรงจำแบบไหน เอาไปทำอะไรอร่อยที่สุด ไปเรียนมาก่อนถึงค่อยเพิ่มเมนู ต่อให้คิดเมนูเสร็จแล้วก็ยังต้องไปเรียนรู้อีกเป็นระยะ จะเล่าให้ลูกค้าฟังได้ถูกต้องพนักงานที่นี่ต้องมีหลายทักษะ (หัวเราะ)”

แม้จะได้รับการยอมรับว่าเชี่ยวชาญในการใช้ดีไซน์ดึงเสน่ห์ของท้องถิ่นปรับให้เข้ากับปัจจุบันผ่านธุรกิจหลายประเภททั้งสินค้า สิ่งพิมพ์ อีเวนต์และอื่นๆ แต่ใช่ว่าทุกธุรกิจจะสร้างกำไรเสมอไป

“จริงๆ แล้วเหนื่อยมากทุกงาน คิดตลอดว่าทำไมพวกเราถึงทำกันขนาดนี้นะ (หัวเราะ) กำไรบ้าง ขาดทุนบ้างแต่ก็ผ่านมาได้ถึงตอนนี้ การทำต่อไปเรื่อยๆ เลยน่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด ถ้าสิ่งที่เราทำไม่ได้การตอบรับจากสังคมก็ทำต่อไม่ได้ หมายความว่าเราไม่จำเป็นแล้ว เราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2000 จนถึงตอนนี้ก็รู้สึกได้ว่ามีคนรับรู้ถึงความสำคัญของสิ่งที่เราทำอยู่ ตอนนี้เลยคิดว่ายังพอทำต่อไปได้เรื่อยๆ (หัวเราะ)”

ตอนนี้ D&DEPARTMENT เปิดที่ต่างประเทศแล้ว 2 ประเทศ คือเกาหลีกับจีน ทีมงานถึงได้รู้ว่าต่างประเทศก็อาจจะมีปัญหาคล้ายๆ ญี่ปุ่น ถึงจะเหนื่อยแต่ท่านประธานคนเก่งก็ยังบอกว่า ถ้าประเทศไหนเจอปัญหาคล้ายๆ กัน ก็พร้อมไปลุย ขอแค่ได้เจอพาร์ตเนอร์ที่แนวคิดตรงกัน

D ต่อชุมชน

คำว่า Long-life Design อันเป็นแก่นสำคัญของ D&DEPARTMENT ไม่ได้หมายถึงแค่ชิ้นงานและการออกแบบเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานดีไซน์นั้นๆ ด้วย เช่น กระบวนการผลิตและวิธีขาย เพราะพวกเขาเชื่อว่าทุกองค์ประกอบมีอิทธิพลต่อการสร้างสินค้าที่จะอยู่ในหัวใจคนได้นาน ซึ่งจะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนนั้นๆ ด้วย

“เราพยายามเลือกคนทำงานฝีมือที่อยากช่วยให้เขาสามารถสืบทอดวิชาต่อไป อยากทำให้คนอื่นคิดเหมือนกันด้วยว่านี่เป็นสิ่งที่ควรรักษาเอาไว้ เจ้าตัวเองก็คงคิดเหมือนกัน ถึงได้ติดต่อเรามาให้ทำสินค้าให้ ซึ่งเราไม่ได้แค่ทำขายเฉยๆ แต่พยายามหาว่าควรให้คนนี้ทำอะไรถึงจะเหมาะ รวมไปถึงต้องเป็นของที่ขายได้เรื่อยๆ ด้วย พอเริ่มต้นด้วยไอเดียว่า ของที่ขายได้นานคือของที่ดี เราก็ไปเลือกต่อว่างั้นท้องถิ่นนี้จะทำอะไรดี”

ในการพัฒนาสินค้า long-life design product พอคุยกันจบว่าจะทำร่วมกัน ทาง D&DEPARTMENT ก็จะขอไปหน้างานว่าทำอะไร แบบไหน คนแบบไหนเป็นคนทำ สภาพแวดล้อมเป็นยังไง รวมไปถึงศึกษาว่าเคยทำอะไรมาบ้าง เคยเลิกขายอะไรเพราะขายไม่ดีหรือไม่ เพราะมักเจอของดีที่เขาเลิกผลิตแล้ว รวมเวลาทำสินค้าต้นแบบ ลองใช้ ฟังฟีดแบ็ก เช็กข้อเสียต่างๆ จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าจะเริ่มวางขาย

“ทั้งคนว่าจ้างและทีมงานช่วยกันออกไอเดียว่าต้องทำของใช้ในชีวิตประจำวันแบบไหนถึงจะเหมาะสมและทำให้ชีวิตดีขึ้น เราอยากให้มีคนทำของดีๆ ในท้องถิ่นและมีคนที่รับรู้ถึงความดีงามของสิ่งนั้นๆ เพิ่มขึ้นในพื้นที่ นี่เป็นเรื่องที่เราอยากทำมาโดยตลอด

“การหาข้อมูลส่วนนี้ใช้เวลานานเพราะเราอยากรู้จริงและอยากทำให้คนท้องถิ่นเห็นความตั้งใจจริงๆ ว่าเราไม่ได้จะทำฉาบฉวย ซึ่งกว่าจะได้การยอมรับก็นาน”

ในเชิงเศรษฐกิจต่อท้องถิ่น งานของ D&DEPARTMENT อาจจะไม่ได้สร้างอิมแพกต์เป็นตัวเลขที่ชัดเจน ส่วนมากจะส่งผลต่อแบรนด์ที่ทำงานร่วมกันโดยตรงมากกว่า เช่น สร้างการรับรู้ให้แบรนด์เล็กๆ ในท้องถิ่นและปรับภาพลักษณ์ให้แบรนด์เก่าแก่ที่ปรับตัวไม่ทันยุคสมัย 

“บายเออร์ของห้างใหญ่ๆ มักจะแวะมาดูสินค้าที่เราเลือกมาวางที่ร้านและพิพิธภัณฑ์ ซึ่งช่วยสร้างโอกาสให้ช่างหรือเจ้าของแบรนด์ได้งานเพิ่มขึ้น เคสแบบนี้มีเยอะเลย นอกจากนี้บางครั้งเหมือนเราเป็นสื่อกลางให้ 2 ฝ่ายได้คอลแล็บหรือทำโปรเจกต์ต่างๆ ร่วมกัน และช่วยให้หลายเจ้าที่กำลังคิดจะเลิกทำสามารถเดินไปต่อได้”

นอกจากเรื่อง long-life design ที่ทำมาตลอด ตอนนี้ D&DEPARTMENT กำลังเน้นเรื่อง LIFESTOCK เพื่อช่วยอุตสาหกรรมสิ่งทอญี่ปุ่นที่กำลังหดตัวลงอย่างมาก

LIFESTOCK คือโปรเจกต์นำผ้าและสิ่งทอค้างสต็อกในแต่ละท้องถิ่นซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าในญี่ปุ่นมาใช้ โรงทอผ้าเก่าแก่หลายเจ้าต้องเลิกกิจการไปเพราะหลายเหตุผล เช่น ไม่มีคนสืบทอดเทคนิค ไม่มีกำลังโปรโมตและคนไม่พร้อมซื้อผ้าคุณภาพดีมีราคาเพราะต้นทุนสูงแข่งกับฟาสต์แฟชั่นไม่ไหว D&DEPARTMENT เลยนำผ้าเหล่านั้นมาทำเป็นสินค้าแฟชั่นสวยๆ เพื่อช่วยบอกเล่าคุณค่าของ ‘เทคนิค’ และ ‘เอกลักษณ์’ ของผ้าเหล่านั้น

“พวกเราพยายามนำผ้าค้างสต็อกตามท้องถิ่นต่างๆ มาใช้ตลอด 10 ปี จนปริมาณเริ่มน้อยลงแล้ว แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาผลิตน้อยลงด้วย เลยไม่มีของเหลือ ปัจจุบันนี้แบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นไม่ค่อยมีใครมีกำลังสั่งผ้าเยอะๆ เพราะคนซื้อของฟาสต์แฟชั่นกันหมด แบรนด์เลยไม่ค่อยซื้อผ้าที่ราคาต่อเมตรแพง หันไปใช้ผ้านำเข้าราคาถูกเพื่อแข่งขันเลยทำให้อุตสาหกรรมทำผ้าญี่ปุ่นถดถอยลงเรื่อยๆ พวกเราเลยคิดว่าเราต้องหาทางทำให้เรามีกำลังสั่งผ้าของพวกเขา แต่จะทำอะไร ยังไง ก็ต้องคิดต่อ ตอนนี้เพิ่งเริ่ม

“สุดท้ายแล้วภารกิจของพวกเราก็คือ อยากให้คนได้ใช้ชีวิตที่ดี ผ่านของที่ดีไซน์และตั้งใจทำมาอย่างดี”

Writer

Tokyoite รักงานคราฟต์ ทั้งของแข็งและของเหลว

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like