Fun Fact of Chinese new year
9 Fun Fact เปิดจักรวาลตรุษจีน 67
“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้”
เมื่อได้ยินประโยคนี้ เป็นที่รู้กันว่า เทศกาลตรุษจีนกลับมาอีกครั้ง นี่เป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ของชาวจีนและผู้มีเชื้อสายทั่วโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์
สิ่งที่น่าสนใจคือความเคลื่อนไหวของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล ซึ่งราคาสินค้าและทิศทางการใช้จ่ายของผู้คนในปีนี้แตกต่างจากปีก่อน ทั้งกลุ่มเครื่องเซ่นไหว้หลักอย่างเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ รวมถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค
วันนี้ Capital จะพาทุกคนไปสำรวจข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตรุษจีนปีนี้
1. ตรุษจีนปีนี้คาดเงินสะพัด 49,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10%
หอการค้าไทยได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนในปี 2567 พบว่าปีนี้ตรุษจีนมีเงินสะพัดกว่า 49,000 ล้านบาท สูงขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ถือว่าเป็นการเพิ่มสูงสุดในรอบ 11 ปีนับตั้งแต่ปี 2556
และหากถามว่าฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนโควิดหรือยัง คำตอบคือ ยังไม่เท่า และยังห่างไกลอยู่พอสมควร เนื่องจากก่อนมีโควิดเม็ดเงินการใช้จ่ายตรุษจีนอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหลายสำนักมองว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร รวมถึงราคาสินค้าต่างๆ ที่แพงขึ้น ก็มีผลต่อการจับจ่ายใช้สอย และผู้คนยังต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง ซึ่งอาจต้องรอดูในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ว่าจะสดใสเหมือนที่คาดไว้หรือไม่
จากข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองว่า บรรยากาศการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ก็เป็นการดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งอาจเติบโตได้ราว 1.5% นอกจากปีนี้จะเป็นปีมังกรไม้ที่เกิดขึ้นไม่บ่อย อีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่ทำให้ผู้คนยอมควักเงินในกระเป๋ามาจากมาตรการลดหย่อนภาษี (Easy E-Receipt) โดยเฉพาะการจับจ่ายสินค้าในกลุ่มของใช้ภายในบ้าน เครื่องเซ่นไหว้และอาหารสำเร็จรูป
2. คนส่วนใหญ่ 57.2% ยังคงไหว้บรรพบุรุษ
เดิมทีเทศกาลตรุษจีนถูกขับเคลื่อนโดยคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ได้รับความเชื่อมาจากบรรพบุรุษ ที่มักเคร่งเครียดกับการปฏิบัติตามธรรมเนียม ให้ความสำคัญกับการซื้อของไหว้ ทำทุกขั้นตอนอย่างเป็นแบบแผน
แต่ปัจจุบันธรรมเนียมเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งบางบ้านอาจจัดแบบเล็กๆ ตามความสะดวก หรือบางบ้านอาจไม่ไหว้เลยก็มี สำหรับปีนี้มีผลสำรวจบอกว่า คนรุ่นใหม่ทั่วประเทศกว่า 57.2% ยังคงไหว้บรรพบุรุษ และที่เหลือ 42.8% ไม่ไหว้แล้ว ซึ่งช่องว่างของฝั่งไหว้และไม่ไหว้ห่างกันนิดเดียว คงต้องรอดูว่าในปีต่อๆ ไปฝั่งไหนจะแซงหน้า
3. งบซื้อของเซ่นไหว้ประมาณ 5,000 บาท
สำหรับการวางแผนใช้จ่ายช่วงตรุษจีน 1 ครั้ง ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ราวๆ 5,000 บาท ที่ประกอบด้วยหมู ไก่ เป็ด ปลา ผลไม้ ขนม กระดาษไหว้เจ้า เครื่องแต่งกาย รวมถึงของแก้ชงต่างๆ ถือเป็นยอดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 40.4%
โดยจริงๆ แล้วปีนี้ผู้คนยังซื้อของเหมือนเดิม ได้ของเท่าเดิม เพียงแต่ราคาสินค้าแพงขึ้น ทำให้ต้องจ่ายมากขึ้นกว่าเดิม
4. สินค้าที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดคือ ขึ้นฉ่าย
ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เกิดภาวะที่กระทบค่าใช้จ่ายครัวเรือนในวงกว้างคือ ผักแพง ที่ราคาดีดตัวสูงขึ้นหลายรายการ หนึ่งในนั้นคือ ขึ้นฉ่าย ที่เกษตรกรผู้ปลูกต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ ทั้งอากาศที่ร้อนเกินไป หรือขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ใครที่สงสัยว่า ทำไมตรุษจีนถึงต้องมีขึ้นฉ่าย เพราะตามความหมายของผักมงคล ขึ้นฉ่ายเป็นตัวแทนของการอดทน มุมานะต่อความยากลำบาก ความพากเพียร ขยันขันแข็ง และความอุตสาหะ
สำหรับอันดับอื่นๆ มีดังนี้
- ผักขึ้นฉ่าย เพิ่มขึ้น 37% (ประมาณ 82 บาท / 1 กก.)
- ผักกวางตุ้ง เพิ่มขึ้น 19% (ประมาณ 23 บาท / 1 กก.)
- กล้วยหอมทอง (หวี 14 ผล) เพิ่มขึ้น 19% (ประมาณ 120 บาท / 1 กก.)
- ทองคำแท่ง เพิ่มขึ้น 16% (ประมาณ 34,500-35,000 บาท)
- เป็ดสด (ไซส์ M) เพิ่มขึ้น 13% (ตัวละ 265 บาท)
5. สินค้าที่ปรับราคาลงมากที่สุดคือ ผักกาดขาว
เมื่อมีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ก็ต้องมีสินค้าที่ราคาถูกลง เพราะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า 5 สินค้าที่ปรับราคาลงในตรุษจีนปีนี้ ประกอบด้วย
- ผักกาดขาว ราคาลดลง 20% (ประมาณ 27 บาท / 1 กก.)
- เนื้อหมู เนื้อแดงสะโพก ลดลง 19% (ประมาณ 153 บาท / 1 กก.)
- ส้มเขียวหวานเบอร์ 5 ลดลง 17% (ประมาณ 46 บาท / กก.)
- ผักคะน้า ลดลง 16% (ประมาณ 24 บาท / กก.)
- เนื้อไก่ ราคาเท่าเดิม
6. คนส่วนใหญ่ซื้อสินค้าจากตลาดสด
สำหรับพฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงตรุษจีน เฉพาะกลุ่มที่มีการไหว้เจ้าส่วนใหญ่จะมีการเลือกซื้อสินค้าในตลาดสด 37.6% เนื่องจากสินค้าจะมีราคาถูกกว่าการซื้อในห้าง
หากสำรวจภาพรวมการจับจ่ายสินค้าย่านตลาดเก่าเยาวราช พบว่าปีนี้ผู้คนออกมาใช้จ่ายกันมากขึ้น ที่น่าสนใจคือปีนี้อาหารสดหรือของเซ่นไหว้ต่างๆ ที่เป็นของสดมียอดขายน้อยลง แต่อาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยทำเองทุกอย่าง ก็หันมาซื้อของสำเร็จรูปไหว้เจ้าซึ่งอาจประหยัดกว่าการทำเองทั้งหมด
อย่างไรก็ตามการซื้อของในห้างหรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ก็ยังไม่หายไป ยังมีผู้บริโภคกว่า 29% เลือกซื้อของจากที่นี่ เพราะรู้สึกสะดวกสบายมากกว่า
7. สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ทำมากที่สุดในตรุษจีนคือ จัดเครื่องเซ่นไหว้ และ แจกอั่งเปา
จากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เก็บข้อมูลจาก 1,300 คนทั่วประเทศ พบว่า เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนสิ่งที่ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ทำ (ประมาณ 25%) คือ การไหว้เจ้าหรือไหว้บรรพบุรุษ ที่ต้องมีการจัดเครื่องเซ่นไหว้ โดยมักจะทำในช่วงเช้าไปจนถึงเที่ยง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
ต่อมาคือ การแจกอั่งเปาหรือซองแดง (ประมาณ 25%) เพื่อเป็นการอวยพรให้ผู้รับได้พบโชคลาภตลอดปี ขณะเดียวกันเด็กๆ หรือลูกหลานที่ยังไม่ได้ทำงานต่างก็ตั้งตารอวันนี้มาตลอด เพราะเป็นวันที่ได้รับซองแดงจากผู้ใหญ่ สำหรับใครที่เป็นผู้รับอั่งเปา ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ เพื่ออวยพรผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
เนื่องด้วยตรุษจีนปีนี้ช่วงเทศกาลตรุษจีนอยู่ในช่วงติดวันหยุด หลังจากไหว้เจ้าแล้วผู้คนก็วางแผนทำบุญ ท่องเที่ยว หรือทานข้าวนอกบ้านเพื่อใช้เวลากับครอบครัว (ประมาณ 21%)
8. คนกรุงเทพฯ อยากเห็นตรุษจีนที่ลดการเผากระดาษและจุดธูป
ตรุษจีนนับเป็นเทศกาลที่มีการไหว้เจ้ามากที่สุด ซึ่งต้องมีการจุดธูป เทียน เผากระดาษ และจุดประทัดทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กและฝุ่นควันที่มากกว่าปกติ ปีนี้คนกรุงเทพฯ จึงอยากเห็นตรุษจีนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่ตั้งเป้าว่าจะลดการเผากระดาษและจุดธูป (23%) ใช้ธูปที่มีควันน้อย (19%) รวมถึงการปรับลดขนาดเครื่องเซ่นไหว้ (15%)
หากในกรณีที่ต้องจุดธูปหรือไหว้เจ้า ควรใช้ธูปขนาดสั้นเพื่อให้เกิดควันน้อยกว่า ส่วนการเผากระดาษเงินกระดาษทองก็สามารถลดจำนวนที่ต้องเผาลง หรือลดการเผาด้วยการนำกระดาษเงินกระดาษทองมาใช้ตกแต่งแทนได้
ส่วนในฝั่งของผู้ผลิตและจำหน่ายก็ต้องพยายามปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดรับพฤติกรรมผู้คน เช่น เพิ่มสัดส่วนของสินค้าเซ่นไหว้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับรูปแบบสินค้าให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้เหมาะกับครอบครัวเดี่ยวที่มีจำนวนคนน้อยกว่าเดิม เป็นต้น
9. คำขอสุดฮิตคือ ขอให้ตนเองและครอบครัวร่ำรวยเงินทอง
มาถึงข้อสุดท้าย เกี่ยวกับคำอวยพร ไม่ว่าจะเป็นการอวยพรให้ตัวเอง ให้ผู้ใหญ่หรือลูกหลาน ทุกประโยคต้องมีความหมายมงคล ซึ่งคำอวยพรที่ถูกขอมากที่สุดในตรุษจีนปีนี้คือ ขอให้ตนเองและครอบครัวร่ำรวยเงินทอง ตามด้วยขอให้สุขภาพแข็งแรง ครอบครัวมีความสุขรักใคร่ปรองดอง ขอให้มีโชคลาภตลอดปี และขอให้กิจการรุ่งเรืองขายดี
สำหรับผู้อ่าน Capital ที่อ่านถึงตรงนี้ เราขออวยพรให้ร่ำรวยเงินทอง สุขภาพแข็งแรง และเหลือกินเหลือใช้ทุกปี
ข้อมูลจาก
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เดือนมกราคม 2567
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย