What’s Next in Media 

10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโฆษณาและโซเชียลมีเดีย เมื่อผู้ประกอบการต้องฝ่าพายุ พิชิตยอดขาย 

หลังบาดเจ็บจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ทันที่ธุรกิจจะฟื้นตัวได้เต็มที่ ก็ต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจ และสงครามที่ตามมาอีก ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก และอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาก็เป็นหนึ่งในนั้น

ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วราวกับเรือที่ถูกลมพัดอยู่ในทะเล ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องทยอยขึ้นฝั่งและหาจุดยึดให้เร็วที่สุด

เราจึงชวน ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด หรือ MI GROUP มาพูดคุยกันถึงภาพรวมของธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์และออฟไลน์ในปี 2024 ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด และผู้ประกอบการ นักการตลาดจะมีเทคนิคการทรงตัวยังไงให้อยู่รอดปลอดภัยในปีนี้

1. สื่อดิจิทัลค่อยๆ หายใจรดต้นคอสื่อโทรทัศน์

เมื่อสิ้นสุดปี 2023 ทาง MI GROUP ได้ประเมินตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาไว้ที่ 84,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 4.4% และในปี 2024 คาดการณ์ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาในไทยไว้ที่ 87,960 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 4% โดยมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเติบโตของสื่อออนไลน์ และสื่อนอกบ้าน (out of home)

ภวัตเล่าว่า จริงๆ แล้วในช่วงปลายปี 2022 เราคาดการณ์ว่ามูลค่าโฆษณาไทยจะโต 8-10% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่ดำดิ่งมาหลายปี แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2023 ผู้บริโภคยังมีข้อจำกัดในเรื่องการใช้จ่าย ผู้คนยังไม่มีกำลังซื้อมากนัก ทำให้ในปี 2024 เราคาดการณ์การเติบโตไว้เพียง 4% อยู่ที่ 87,960 ล้านบาท เพราะจากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย มีปัจจัยบวกมาจากเรื่องการท่องเที่ยว และดิจิทัลวอลเล็ตส่วนปัจจัยลบมีเต็มไปหมด ทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือนที่แตะระดับ 90% ของขนาด GDP ประเทศ ค่าครองชีพสูงขึ้น หรือแม้แต่ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำลง จนทำให้เกษตรกรไม่สามารถซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับการเกษตรได้  

ในส่วนของภาพรวมการใช้สื่อ แน่นอนว่าสื่อหลักยังคงเป็นสื่อโทรทัศน์ แต่เม็ดเงินโฆษณากลับมีแนวโน้มลดลงติดต่อกัน ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ถูกแบ่งไปยังสื่อที่โตขึ้นเรื่อยๆ อย่างสื่อดิจิทัล และสื่อนอกบ้าน ทำให้มูลค่าสื่อโฆษณาตลอดปี 2023 จบที่ 84,549 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • สื่อโทรทัศน์ 36,199 ล้านบาท (ปี 2022–36,726 ล้านบาท)
  • สื่อดิจิทัล 28,999 ล้านบาท (ปี 2022–25,729 ล้านบาท)
  • สื่อนอกบ้าน 12,101 ล้านบาท (ปี 2022–11,002 ล้านบาท)
  • สื่ออื่นๆ (สิ่งพิมพ์ โรงภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ) 7,250 ล้านบาท (ปี 2022–7,531 ล้านบาท)

จากข้อมูลข้างต้น แม้เวลานี้สื่อโทรทัศน์จะยังเป็นอันดับ 1 ทว่า สื่อดิจิทัลอยู่ในจุดที่หายใจรดต้นคอสื่อโทรทัศน์ ส่วนสื่อประเภทอื่นๆ อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโรงภาพยนตร์ มูลค่าสื่อโฆษณาค่อยๆ ลดลงไปทุกที หากคนสื่อเหล่านี้ไม่ปรับตัวก็อาจอยู่ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคล้วนอยู่ในโลกออนไลน์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ภวัตมองว่ามูลค่าสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ยังไงก็ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว

เมื่อเจาะลึกไปยังเม็ดเงินโฆษณาของสื่อออนไลน์ในไทย แน่นอนว่าแพลตฟอร์มภายใต้การดูแลของ Meta อย่าง Facebook และ Instagram ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่แบรนด์นิยมใช้มากที่สุด อาจมีเม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ประมาณ 8,183 ล้านบาท (อ้างอิงจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล) รองลงมาคือ YouTube ที่มีมูลค่าประมาณ 4,700 ล้านบาท คาดว่าปี 2024 เม็ดเงินที่เคยหลั่งไหลเข้าสู่ 2 แพลตฟอร์มนี้จะถูกแชร์ไปยัง TikTok และ affiliate marketing มากขึ้น

2. คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน

เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เวลานี้พฤติกรรมการใช้สื่อของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก คนทุกเพศทุกวัยถูกบังคับให้ต้องใช้งานดิจิทัลมากขึ้น คนรุ่นใหม่ในกลุ่มเจนฯ Z และเจนฯ Y อาจไม่ต้องปรับตัวเยอะเพราะเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ตัวแปรสำคัญคือเจนฯ X และ Baby Boomer ที่ต้องเรียนรู้การใช้งานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์มากที่สุด ทั้งการซื้อสินค้า การวิดีโอคอลล์เพื่อสื่อสารกับลูกหลาน หรือแชตคุยกับเพื่อน ส่งสติ๊กเกอร์สวัสดีวันจันทร์ หรือใช้เฟซบุ๊กเพื่อติดตามข่าวสารต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ได้กลายเป็นความเคยชินมาจนถึงตอนนี้

ปัจจุบันคนไทยอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมากกว่าปี 2022 ที่ใช้ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่า ผู้คนใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นและดูทีวีน้อยลง จากข้อมูลล่าสุดพบว่าทุกวันนี้เราดูทีวีไม่ถึง 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยเวลาที่เหลือจึงอยู่ที่หน้าจอมือถือ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ยิงยาวมาตั้งแต่ช่วงโควิด 

3. ทุกเจเนอเรชั่นมีแพลตฟอร์มของตัวเอง

แต่ก่อนเราอาจเคยได้ยินว่าคนรุ่นใหม่ใช้ X (Twitter) เพื่อหนีพ่อแม่ แต่ปัจจุบันคนทุกเจเนอเรชั่นกระจายอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม และแต่ละเจเนอเรชั่นมีคอมมิวนิตี้ของตัวเอง 

“ถ้าถามว่าตอนนี้แพลตฟอร์มไหนมาแรงที่สุด ก็ต้องเป็น TikTok ที่ร้อนแรงมาตลอดตั้งแต่เปิดตัว และสามารถแย่ง eyeball จากแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ แต่ถ้าพูดถึงแพลตฟอร์มที่ทรงพลังที่สุดไม่เคยจางหายคือเฟซบุ๊ก

“ที่น่าสนใจคือพฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของแต่ละเจเนอเรชั่นก็มีความแตกต่างกัน เช่น กลุ่มเจนฯ Z และเจนฯ Y ในไทยใช้ TikTok เพื่อทำคอนเทนต์ เสพความบันเทิง และไลฟ์ขายของ ใช้ X เพื่อติดตามศิลปินเกาหลี และเกาะกระแสข่าวการเมือง ส่วน Baby Boomer ใช้ไลน์และเฟซบุ๊กเพื่อติดตามข่าวสารและสื่อสารกับคนในครอบครัวและเพื่อน หรือในกรณีที่เป็นสายเกมเมอร์ แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมคือ Discord หรือ Twitch ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มทุกคนก็มีตัวตนและสังคมของตัวเอง”

ดังนั้นในมุมของการทำตลาดและธุรกิจ คุณต้องหาให้ได้ว่าจริงๆ แล้วกลุ่มเป้าหมายอยู่ในแพลตฟอร์มไหน เป็นคนยังไง มีความชอบในเรื่องใด หรือภาษาที่ใช้คุยกันเป็นยังไง แล้วค่อยวางกลยุทธ์การสื่อสารในแพลตฟอร์มนั้น 

4. โซเชียลมีเดียเป็นสื่อกระแสหลัก 

ปัจจุบันโซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ตกลายเป็นสื่อกระแสหลักที่มีอิทธิพลต่อคนไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ทุกคนต่างมีตัวตนอยู่บนโลกออนไลน์ เมื่อคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ย่อมได้รับอิทธิพลของโซเชียลมีเดียเต็มๆ 

“เดิมทีคนไทยจะเปิดรับข่าวสารจากโทรทัศน์ จะแสดงความคิดเห็นหรือความชอบโดยมีสารตั้งต้นจากรายการข่าวเป็นหลัก ทำให้ความคิดเห็นมักไปในทางเดียวกัน แต่เดี๋ยวนี้ต่างออกไป เพราะโซเชียลมีเดียได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกระแสหลัก ผู้คนเปิดรับข่าวสารจากออนไลน์ เพราะฉะนั้น กระแสในโลกออนไลน์เป็นไปในทิศทางไหน ผู้คนก็จะคล้อยไปตามทิศทางนั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ชัดเจนตั้งแต่ช่วงโควิดจนกระทั่งถึงปีนี้” ภวัตอธิบาย

กระแสโซเชียลยังลามไปถึงการช้อปออนไลน์ ที่ผู้บริโภคจะหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต อ่านรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์หรือผู้ใช้งานจริง แล้วค่อยตัดสินใจซื้อ จึงเกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า affiliate marketing 

5. การใช้อินฟลูเอนเซอร์เปลี่ยนไป จากใช้เพื่อสร้างแบรนด์มาเป็น affiliate marketing

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในกลยุทธ์ที่แบรนด์ต่างๆ ใช้คือ อินฟลูเอนเซอร์เป็นกระบอกเสียงในการสร้าง word of mouth แต่สำหรับในปี 2024 ทิศทางการใช้อินฟลูเอนเซอร์จะเปลี่ยนไป จากการใช้เพื่อสร้างแบรนด์ เป็นการสร้างยอดขาย

ภวัตเล่าว่า “พลังของโซเชียลมีเดียถูกส่งต่อไปถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ถ้าวันนี้นักการตลาดยังทำโฆษณาแบบเดิม ก็อาจอยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้ยาก อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนวิธีการซื้อ-ขายของคนรุ่นใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้เวลาเราอยากซื้อของก็ต้องหาข้อมูลหรืออ่านรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อน ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ก็จะเชียร์ขายแบบสุดใจขาดดิ้น เพราะทุกการขายของเขาได้ส่วนแบ่ง ทำให้เทรนด์การใช้อินฟลูเอนเซอร์ขยับไปเป็น affiliate marketing”

ปี 2024 คำว่า affiliate marketing จะยิ่งชัดเจนขึ้น งานที่อินฟลูเอนเซอร์ได้รับจะยิ่งละเอียดขึ้น แบรนด์หรือนักการตลาดจะลงดีเทลกับการรีวิวมากขึ้นไปด้วย ทั้งหมดนี้เกิดจากอิมแพกต์ของโซเชียลมีเดีย และสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

6. ก่อนขายสินค้าให้ตั้งหลักด้วยคำถามว่า “กำลังขายของให้ใคร”

เมื่อพฤติกรรมการเสพสื่อและการใช้โซเชียลมีเดียของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการหรือคนทำธุรกิจต้องตั้งหลักด้วยคำถามว่า กำลังขายสินค้าให้ใคร เพราะถ้าเล็งกลุ่มเป้าหมายผิด ก็มีโอกาสที่จะขายไม่ได้เลยสักชิ้น เช่น แบรนด์แชมพูที่ทำโฆษณาทางโทรทัศน์หว่านแหไปยังกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ คุณอาจสร้างการรับรู้ได้ แต่จะแน่ใจได้ยังไงว่าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าจริงๆ ในทางกลับกัน ถ้าขายแชมพูโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาที่ไว้ผมยาว คุณจะรู้ว่าควรออกแบบหรือทำโฆษณาบนแพลตฟอร์มไหนให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด และรู้ว่าควรเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์คนไหนที่จะช่วยปิดการขายได้

ดังนั้นผู้ประกอบการต้องทำการบ้านให้ดี ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง มีการวางแผนและตีโจทย์ให้ได้ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายหลัก ใครคือกลุ่มเป้าหมายรอง เพราะแต่ละแบรนด์มีงบการตลาดจำกัด การทำโฆษณาแบบ one for all หรือใช้โฆษณาชิ้นเดียวเพื่อเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี อย่าลืมว่าผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีภาษา ความชอบ ความสนใจ และปัญหาแตกต่างกัน คุณต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะปีหน้าผู้บริโภคจะมีความเฉพาะตัวและกระจายตัวไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น

7. ทำโฆษณาออฟไลน์-ออนไลน์ ถ้าจะให้ดี ต้องทำคู่กัน

แม้ทุกวันนี้เราจะก้าวเข้าสู่โลกการค้าออนไลน์กันมาหลายปี แต่ก็ยังมีคำถามคาใจของนักการตลาดว่า จะทำโฆษณาออฟไลน์หรือออนไลน์ดี ถ้าทำโฆษณาออฟไลน์อย่างเดียวได้ไหม หรือทำออนไลน์อย่างเดียวได้ไหม

ภวัตตอบคำถามนี้ว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะต้องดูว่าเป้าหมายที่ต้องการคืออะไร และทั้งออฟไลน์และออนไลน์ก็มีฟังก์ชั่นการใช้งานต่างกัน ถ้าต้องการสร้าง awareness เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากและรวดเร็วในครั้งเดียวก็ต้องใช้โทรทัศน์หรือสื่อนอกบ้าน แต่ถ้าต้องการกระตุ้นยอดขายก็ต้องใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และอินฟลูเอนเซอร์

หากมองในทฤษฎี marketing funnel ที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ upper funnel การรับรู้, middle funnel การดึงดูดความสนใจ และ lower funnel การซื้อ ปีนี้ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดยังต้องโฟกัสที่ upper funnel และ middle funnel ต้องสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ รู้จัก และสนใจสินค้าหรือบริการ ซึ่งการทำ TVC ทางโทรทัศน์ หรือยิงโฆษณาออนไลน์ pre-roll ในยูทูบจะทำให้เกิดการรับรู้ได้จริง แต่อาจไม่ทำให้เกิดรายได้ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของ lower funnel ที่เน้นการสร้างแคมเปญให้เกิดยอดขาย ทั้งคูปอง ส่วนลด โปรโมชั่น เพื่อคัดกรองกลุ่มเป้าหมายให้เหลือแค่คนที่เป็นลูกค้าจริงๆ 

อย่างไรก็ตาม ในการทำโฆษณาไม่ใช่ว่าทำแค่ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แต่อยากให้มองเป็นช่องทางเดียว ทำออนไลน์และออฟไลน์ไปคู่กัน และมองที่ consumer journey เป็นหลัก 

8. consumer journey ไม่เป็นเส้นตรงเสมอไป

ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยกับการทำโฆษณา ยิงแอดเรียกความสนใจ ต้อนคนเข้าเว็บไซต์ ดึงดูดด้วยโปรโมชั่น และเกิดการสั่งซื้อ หรือทำโฆษณาทางทีวี ขึ้นป้ายบิลบอร์ด โปรโมตในหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ผู้บริโภคไปห้างสรรพสินค้า และฟัง BA ประจำบูทอธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำให้เกิดความสนใจ ก่อนจะตบท้ายด้วยโปรโมชั่น

ภวัตเล่าว่า “นี่เป็น consumer journey แบบเดิม แต่ตามตำราของ MI ได้แบ่ง consumer journey ออกเป็น 7A ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการวางกลยุทธ์การสื่อสาร จากภาพจะเห็นว่า consumer journey ไม่ได้เป็นเส้นตรงอีกต่อไป แต่ทุก touch point ล้วนมีความจำเป็นและฟังก์ชั่นการใช้งานที่ต่างกัน โดยแบรนด์ไม่จำเป็นต้องใช้ครบทุก A แต่ควรพิจารณาตามโจทย์ของแบรนด์นั้นๆ” 

7A Consumer Journey ฉบับ MI ประกอบด้วย 

  • Ask: ผู้บริโภคค้นหาข้อมูล เมื่อมีปัญหา แบรนด์ควรมีคำตอบ หรือโซลูชั่นเพื่อตอบปัญหาลูกค้า
  • Aware: สร้างการรับรู้และรู้จักในแบรนด์
  • Associate: แบรนด์เริ่มเป็นตัวเลือกที่จะสามารถตอบความต้องการของผู้บริโภค
  • Appeal: แบรนด์เข้าไปอยู่ในการพิจารณาของลูกค้าแล้ว
  • Act: ผู้บริโภคซื้อหรือลงทะเบียน (take action)
  • Adore: ซื้อแล้วชอบ ใช้แล้วชอบ ใช้แล้วรัก
  • Advocate: ใช้แล้วชอบ ภูมิใจจนอยากบอกต่อ

ปัจจุบันเส้นทางของ consumer journey ไม่ใช่เส้นตรงแบบเดิมเสมอไป แต่ละขั้นตอนสามารถกระโดดไปมาได้ และไม่ใช่เส้นทางที่ผ่านครั้งเดียวแล้วจบ แต่ในบาง touch point อาจต้องย้ำซ้ำๆ เพื่อให้เคลื่อนจากขั้นตอนหนึ่งไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง เช่น แบรนด์น้ำยาปรับผ้านุ่มกลิ่นกุหลาบ แรกเริ่มผู้บริโภคอาจยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้ แต่เมื่อเห็นโฆษณาจากสื่อนอกบ้านบนบีทีเอส และเห็นอินฟลูเอนเซอร์รีวิวในยูทูบก็ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความอยากได้ หรือในขั้นตอนที่อยากได้สินค้าแต่ไม่รู้จะซื้อยี่ห้อไหน นักการตลาดต้องทำให้พวกเขารู้ว่าสินค้าของคุณโดดเด่นยังไง ด้วยการ aware สร้างการรับรู้ และการ adore โดยให้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวการใช้งาน ซึ่งในแต่ละ touch point นักการตลาดต้องออกแบบและสร้างประสบการณ์ระหว่างทางที่ดี 

9. การทำโฆษณาออนไลน์ต้องมีศาสตร์และศิลป์

สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจและต้องการยิงแอด คนที่ยังไม่เคยทำอาจรู้สึกไม่กล้าที่จะลงเงินซื้อโฆษณาออนไลน์ เกิดความไม่มั่นใจว่าแอดที่ทำอยู่มาถูกทางหรือไม่

“สมมติว่าคุณทำธุรกิจขายกำไลข้อมือสายมู ต้องรู้ก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร หากบอกว่ากลุ่มเป้าหมายคือผู้หญิงที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มี 2 เรื่องหลักๆ ที่ต้องรู้คือศาสตร์และศิลป์”

ศาสตร์ในที่นี้ ภวัตอธิบายว่า หมายถึงเทคนิคในการตั้งค่าโฆษณา ซึ่งคุณต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายจริงๆ คือใคร ซึ่งบางทีอาจไม่ใช่แค่กลุ่มนักศึกษา แต่คนทั่วไปก็สนใจเรื่องมูเตลูเช่นกัน แทนที่จะโฟกัสเรื่อง demographic ลองเปลี่ยนเป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายตามไลฟ์สไตล์หรือความชอบ คุณต้องหาให้ได้ว่าใครบ้างที่สนใจเรื่องโชคลาง เคยเช็กอินตามวัดดัง หรือแฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มสายมูต่างๆ เพื่อดูว่ากลุ่มเป้าหมายชอบหรือไม่ชอบอะไร ถ้าหาความเชื่อมโยงเหล่านี้เจอ คุณจะรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ได้มีแค่นักศึกษา แต่ยังมีอีกหลายคนที่สนใจเรื่องมูเตลู หลังจากนั้นจึงเป็นเรื่องของการยิงแอด

สำหรับศิลป์ เป็นเรื่องของการทำคอนเทนต์ ความสวยงาม ศิลปะ และภาษา ทำยังไงให้โฆษณาน่าสนใจ และโฆษณาแต่ละชิ้นต้องสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น โฆษณาสำหรับนักศึกษาอาจใช้ภาพและข้อความที่สื่อถึงเรื่องการเรียน ความรัก และโฆษณาสำหรับผู้สูงอายุต้องใช้เน้นเรื่องสุขภาพ อายุยืน ซึ่งบริบทการสื่อสารของคน 2 กลุ่มนี้แตกต่างกัน 

สำคัญที่สุดคือต้องหากลุ่มเป้าหมายให้เจอ อย่าโฆษณาแบบหว่านแห อย่าเพิ่งคิดว่าต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ให้เริ่มจากการเจาะแค่คนที่ใช่เท่านั้น แล้วพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มนี้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ไม่ต้องใช้เงินเยอะเกินไป 

10. ทำโฆษณาต้องถูกคน ถูกใจ ถูกที่ ถูกเวลา

โดยสรุป คัมภีร์การทำโฆษณาสำหรับปี 2024 ไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ ต้องถูกคน ถูกใจ ถูกที่ ถูกเวลา 

  • ถูกคน คือหากลุ่มเป้าหมายให้เจอ ทุกวันนี้นักการตลาดไม่ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายว่าต้องเป็นเพศหญิงหรือชาย รายได้เท่าไหร่ แต่จะดูจากความสนใจหรือไลฟ์สไตล์
  • ถูกใจ คือใช้ภาษาเดียวกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ถูกที่ คือรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่ในแพลตฟอร์ม แล้วยิงแอดไปให้ถึง
  • ถูกเวลา คือทำให้พวกเขาเห็นโฆษณาในช่วงที่สนใจ

“สำหรับการทำโฆษณาในปีนี้ บอกเลยว่าไม่ง่าย เพราะคุณไม่ได้เจอแค่คู่แข่งทางตรง แต่ยังเจอคู่แข่งทางอ้อมอย่างสภาพเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน และกำลังซื้อที่ลดลง ผู้ประกอบการต้องตั้งรับและปรับตัวให้ทัน เตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น ทุกชิ้นงานโฆษณาไม่ว่าจะหน้าบ้านหรือหลังบ้านต้องละเอียดขึ้น” ภวัตกล่าวทิ้งท้าย

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like