1968
December 25, 2023

Merry X’Market

ย้อนประวัติศาสตร์ตลาดคริสต์มาส ตั้งแต่ตลาดยุคกลางถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมของนาซี 

สำหรับคริสต์มาสในปี 2023 เราส่งท้ายกันด้วยลมหนาว แต่นอกจากลมหนาวแล้ว บรรยากาศส่งท้ายปียุคหลังโควิดในปีนี้ กรุงเทพฯ ดูจะมีความนิยมใหม่ คือเราเริ่มมีตลาดคริสต์มาสเกิดขึ้นหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่งานที่เกอเธ่ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาที่แว่วว่าคนเยอะจนเดินกันแทบไม่ไป หรือที่กลางห้างใหม่อย่างเอ็มสเฟียร์ ที่มีบรรยากาศตลาดคริสต์มาสกลางห้าง มีการออกร้าน มีหิมะตกและต้นคริสต์มาส เดาว่าหลังจากนี้ตลาดคริสต์มาส ซึ่งจริงๆ คือเทศกาลฤดูหนาวรูปแบบหนึ่ง น่าจะกลายเป็นเทรนด์สำคัญของงานรื่นเริงปลายปีต่อไป

เวลาเราพูดถึงเทศกาลคริสต์มาส ทั้งการฉลองวันประสูติของพระเยซู การตั้งต้นคริสต์มาส และรวมถึงธรรมเนียมการจัดตลาดคริสต์มาส ธรรมเนียมที่เกี่ยวกับคริสต์มาสค่อนข้างเป็นธรรมเนียมที่เพิ่งเกิดขึ้น ในกรณีของตลาดคริสต์มาสเอง ที่มาเก่าแก่มีร่องรอยอยู่แถวๆ แถบประเทศที่พูดภาษาเยอรมันมาตั้งแต่ยุคกลาง แต่ความเกี่ยวข้องในฐานะคริสต์มาสยังไม่แน่ชัดนัก ตัวตลาดจริงๆ มาเฟื่องฟูในยุคหลังการปฏิรูปศาสนาโดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ที่เกี่ยวข้องทั้งการยกให้วันคริสต์มาสเป็นวันสำคัญ และการทำให้ปลายปีเป็นช่วงเวลาของการให้ของขวัญ เรื่อยมาจนถึงความยากลำบากของตลาดคริสต์มาสที่กลายเป็นศัตรูของห้าง ก่อนที่ตัวตลาดจะกลับมาแมสอีกครั้ง ที่ครั้งนี้ต้องยกเครดิตให้กับนาซีเยอรมัน

ในวันคริสต์มาสที่กรุงเทพฯ มีความเป็นยุโรป และใครหลายคนอาจกำลังเดินซื้อขนมเค้กในห้าง กลางบรรยากาศตลาดคริสต์มาส คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ชวนย้อนกลับไปหาที่มาของตลาดคริสต์มาสจากสมัยที่ชาวยุโรปยังใช้ชีวิตอยู่ในระยะระฆัง การย้ายธรรมเนียมและให้ภาพพระคริสต์ในฐานะผู้ให้และฉลองวันประสูติด้วยความอบอุ่นและการให้ ไปจนถึงความสัมพันธ์ของตลาดคริสต์มาสกับการเปลี่ยนแปลงของศรัทธา กระทั่งการนำกลับมาที่มีนัยทางการเมือง

ความคริสต์ในคริสต์มาสมาร์เก็ต

ถึงเราจะบอกว่าตลาดคริสต์มาสเป็นเรื่องใหม่ คำว่าใหม่ในที่นี้คือตัวตลาดไม่ได้เก่าแก่หรืออยู่คู่กับประวัติศาสตร์การนับถือคริสต์ศาสนาในยุโรปมาตั้งแต่แรก ตัวตลาดคริสต์มาสค่อนข้างเกิดขึ้นและกลายเป็นธรรมเนียมแพร่หลายในราวศตวรรษที่ 16 และกลับมาเป็นกระแสในยุคหลังสงครามโลกนี้เอง

ทีนี้ก็ใช่ว่าตลาดคริสต์มาสจะไม่มีร่องรอยหรือความเกี่ยวข้องกับความคริสต์เสียทีเดียว ถ้าเราดูร่องรอยของความเป็นตลาดคริสต์มาสคือการเป็นตลาดเปิดในช่วงฤดูหนาว เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลของชาวคริสต์ ในช่วงยุคกลาง ในสมัยกลางเมืองค่อนข้างก่อตัวขึ้นโดยมักมีโบสถ์เป็นศูนย์กลางของเมือง ส่วนใหญ่เป็นเมืองล้อมกำแพง โดยผู้คนจะใช้ชีวิตในระยะได้ยินเสียงระฆัง

ชีวิตในยุคกลาง ในทุกๆ วันสำคัญคือวันนักบุญต่างๆ กลางเมืองมักจะมีการจัดตลาดซื้อ-ขายสินค้า และในบรรดาวันสำคัญทางศาสนาที่จัดตลาดขึ้น ตลาดในฤดูหนาวมักเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด สำคัญที่สุด ในตลาดฤดูหนาวมักเป็นช่วงที่ช่างฝีมือต่างๆ นำสินค้าของตัวเองมาขาย มีการขายเนื้อสัตว์ ขนมปัง และอาจมีขนมหวานจำหน่ายด้วย ทีนี้ในอาณาจักรที่เคยอยู่ในอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในแถบเยอรมนี ออสเตรีย ตลาดในเดือนธันวาคมจะเป็นตลาดในการฉลองวันนักบุญ St Nicholas Market ตลาดนักบุญนิโคลัสที่เรารู้จักกันดีนี้ แต่ก่อนจะจัดในช่วงต้นเดือนธันวาคม

ด้วยความที่เดือนธันวาคมเป็นเดือนสำคัญของตลาดนัดฤดูหนาว หลายเมืองและหลายอาณาจักรในแถบบาวาเรีย รวมถึงเวียนนาและบางส่วนของเยอรมนีจึงมีเค้าลางของตลาดคริสต์มาส หมุดหมายสำคัญมักชี้ไปที่กรุงเวียนนาในปี 1296 ที่ดยุคอนุญาตให้จัดเทศกาลออกร้านเป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ขึ้น ซึ่งเทศกาลออกร้านจากศตวรรษที่ 13 นั้นแค่จัดใกล้ช่วงคริสต์มาสเฉยๆ แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับวันคริสต์มาส

ตลาดช่วงคริสต์มาส ที่ยังไม่ใช่อยู่ดี

ความตลาดที่ใกล้คริสต์มาสขึ้นมาอีกนิดคือธรรมเนียมที่เราเรียกว่า Advent Month คือเป็นธรรมเนียมการเตรียมตัว หรือการรอคอยการมาถึง ซึ่งก็คือการกำเนิดของพระคริสต์ในวันที่ 25 ธันวาคม การเตรียมตัวจะเป็นธรรมเนียมที่ยึดเอาวันอาทิตย์ที่ใกล้กับวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ใกล้กับวันที่ 25 ธันวาคม จะมีการจุดเทียน ตกแต่งบ้านเรือน มีการสวดมนต์และอ่านพระคัมภีร์ ในยุคกลางอาจมีการถือศีลอด ซึ่งมักจะเป็นการงดรับประทานเนื้อสัตว์

ดังนั้น ตลาดที่คล้ายกับตลาดคริสต์มาส ในยุคกลางจึงเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมการรอคอยที่ค่อนข้างแพร่หลายในแถบเยอรมนีด้วย ตัวอย่างท่ีสำคัญคือการจัดตลาดในปี 1384 ที่เมืองเบาท์เซิน (Bautzen) มีหลักฐานการอนุญาตให้จัดตลาดนัดและในตลาดนั้นก็อนุญาตให้พ่อค้าเนื้อจำหน่ายเนื้อได้โดยตลาดไปสิ้นสุดในวันคริสต์มาสพอดี ตลาดคริสต์มาสมักเป็นเหมือนวันสิ้นสุดของการรอคอยพระคริสต์ และจากการถือศีลและภาวนา 

ตลาดช่วงคริสต์มาสจึงเป็นเหมือนรอยต่อการก้าวเข้าสู่เทศกาลรื่นเริงหลังจากนั้นที่มักจัดขึ้นประมาณ 12 วัน เป็นการกินดื่ม เต้นรำ และเลี้ยงฉลอง ดังนั้นจึงมีหลักฐานการจัดตลาดในวันคริสต์มาสขึ้นหลายแห่ง เช่น การจัดตลาดในวันคริสต์มาสอีฟที่เมืองเดรสเดน (Dresden) ในปี 1434 หรือนูเรมเบิร์กที่บอกว่าตัวเองเป็นตลาดคริสต์มาสที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งเชื่อว่ามีร่องรอยตั้งแต่ปี 1530

ปฏิรูปศาสนา กับบทบาทการแข่งขันศรัทธาของตลาดคริสต์มาส

นอกจากตลาดที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสุดการภาวนาแล้ว ช่วงเดือนธันวาคมยังมีบริบทที่สัมพันธ์กับธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดคริสต์มาสคือการให้ของขวัญ ในยุคกลาง ดังกล่าวว่าเทศกาลสัมพันธ์กับนักบุญต่างๆ นักบุญปลายปีที่เป็นที่มาของตลาดเดือนธันวาคมคือนักบุญนิโคลัส วันนักบุญนิโคลัสคือวันที่ 6 ธันวาคม ด้วยความที่นักบุญนิโคลัสเป็นนักบุญอุปถัมภ์เด็กๆ และเชื่อว่าจะมอบของขวัญให้กับเด็กดีเป็นรางวัล การให้ของขวัญจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคมมากกว่า

จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในการให้ความสำคัญกับช่วงคริสต์มาสคือยุคสมัยที่เรียกว่า Reformation era การปฏิรูปศาสนาและการเกิดขึ้นของนิกายโปรเตสแตนท์ นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ ในช่วงศตวรรษที่ 16 ประเด็นหนึ่งของการปฏิรูปคือการเชื่อมโยงผู้ศรัทธาเข้าสู่พระผู้เป็นเจ้าโดยตรง ดังนั้นมาร์ติน ลูเธอร์ จึงปฏิเสธศิลปะทางศาสนาแบบเดิม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับนักบุญ คือแทนที่จะให้ความสำคัญกับนักบุญ และเชื่อมต่อกับพระเจ้าผ่านตัวแทนต่างๆ การเข้าถึงพระองค์โดยตรงและเป็นปัจเจกมากขึ้นเป็นหัวใจหนึ่งของการปฏิรูปศาสนา

ดังนั้นเมื่อนักบุญถูกลดความสำคัญลง ในช่วงคริสต์มาส มาร์ติน ลูเธอร์ จึงผลักดันให้ย้ายธรรมเนียมการให้ของขวัญจากวันนักบุญนิโคลัส มาเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวันประสูติของพระเยซูแทน ดังนั้นตลาดที่จัดขึ้นใกล้ๆ โบสถ์ในช่วงวันคริสต์มาสจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของทั้งแหล่งจับจ่ายของผู้ที่มาโบสถ์ เป็นสินค้าที่ซื้อเพื่อเป็นของขวัญ และที่สำคัญคือการย้ายกิจกรรมการให้ของขวัญมาเป็นวันคริสต์มาสยังสอดคล้องกับภาพพระผู้เป็นเจ้าในยุคหลังปฏิรูป คือเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่ ‘ดีและเป็นบุพการีที่เป็นผู้ให้’

มาร์ติน ลูเธอร์ ในฐานะผู้ปฏิรูปศาสนาจึงค่อนข้างมีกลยุทธ์ในทางปฏิบัติและมีมุมมองต่อโลกที่น่าสนใจ บรรยากาศความคริสต์มาสและตลาดคริสต์มาสค่อนข้างสัมพันธ์กับยุคปฏิรูปซึ่งเกิดขึ้นในแถบเยอรมันนี่แหละ นอกจากตัวตลาดแล้ว ธรรมเนียมสำคัญเช่นการตั้งต้นคริสต์มาสก็มีตำนานว่ามาจากมาร์ติน ลูเธอร์ ที่เป็นผู้เริ่มเอาเทียนมาประดับต้นสนล้อกับดวงดาว ลูเธอร์เป็นคนที่รักและให้ภาพคริสต์มาสเนื่องจากวันคริสต์มาสเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ ความสวยงามและสัจจะในเรื่องราวของพระเยซูเจ้า

ในช่วงยุคหลังศตวรรษที่ 16 นี้เอง องค์ประกอบสำคัญทั้งตลาดในวันคริสต์มาส ต้นคริสต์มาส การแสดงภาพการกำเนิด รวมถึงตลาดฤดูหนาวต่างๆ เริ่มย้ายมาจัดในวันคริสต์มาส ในประเทศแถบเยอรมันก็เริ่มมีการให้ชื่อตลาดว่า Christkindlmarkt (Christ Child Market) ซึ่งการจัดตลาดเป็นกลยุทธ์ในการสู้กับตลาดประจำวันนักบุญของธรรมเนียมเดิมของกลุ่มโปรเตสแตนด์ด้วย ในช่วงนี้เองจึงเกิดตลาดคริสต์มาสอย่างที่เรารู้จักกันอย่างเป็นทางการเช่น Strasbourg Christmas Market ในปี 1570 และ ที่นูเรมเบิร์ก ในปี 1628

ปฏิวัติอุตสาหกรรม ขาลง และการกลับมาของนาซี

ประวัติศาสตร์ตลาดคริสต์มาสเป็นอีกประวัติศาสตร์ที่มีความซับซ้อน มีที่มายาวนานและสัมพันธ์กับหลายบริบทและอิทธิพลความเปลี่ยนแปลง จากยุคปฏิรูป ตลาดคริสต์มาสค่อยๆ แพร่กระจายไปในยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ตัวตลาดเองก็มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเริ่มกลายเป็นเรื่องของรัฐ มีการควบคุมดูแล

จุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดคริสต์มาสคือการมาถึงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เมืองขยาย เกิดชนชั้นแรงงาน ประชากรก็เพิ่มขึ้น ตัวอย่างสำคัญคือเบอร์ลิน มีรายงานจำนวนร้านที่พุ่งสูงขึ้นคือจาก 300 ร้านค้าในปี 1805 และเพิ่มเป็นเท่าตัวคือ 600 ร้านค้าในปี 1840 ตลาดคริสต์มาสจึงเริ่มเปลี่ยนแปลง มีความแน่นขนัดขึ้น และที่สำคัญคือ ตัวตลาดมีคู่แข่งสำคัญคือห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายของราคาถูกกว่าพวกของทำมือและงานช่างในตลาด

ดังนั้นในช่วงศตวรรษที่ 19 หลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ตลาดคริสต์มาสจึงเริ่มถูกโจมตีโดยเฉพาะจากผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ตลาดคริสต์มาสกลายเป็นพื้นที่ขายของถูกๆ กลายเป็นตลาดที่ถูกกล่าวหาว่าเสื่อมโทรม กระทั่งเป็นงานที่เป็นภัยคุกคามและเป็นอันตราย ในช่วงปลายศตวรรษ นายทุนทั้งหลายทำเรื่องและสร้างกระแสจนตลาดคริสต์มาสของเมืองใหญ่ๆ ทั้งนูเรมเบิร์กและเบอร์ลินถูกจำกัดพื้นที่และย้ายออกจากจัตุรัสกลางเมืองไปไว้ที่ไกลๆ

ตลาดคริสต์มาสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 20 จึงลดความสำคัญลง จนกระทั่งการเฟื่องฟูขึ้นของนาซีในทศวรรษ 1930 เรารู้ว่านาซีทำเรื่องเลวร้ายมากมาย แต่หนึ่งในกลยุทธ์ของนาซีคือการสถาปนาวันคริสต์มาสและรื้อ รวมถึงเชื่อมโยงความเชื่อต่างๆ และให้วันคริสต์มาสเป็นตัวแทนหนึ่งในการส่งต่อความคิดเรื่องความเป็นอารยะของชาวอารยัน

ตลาดคริสต์มาสเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาของนาซี แน่นอนว่าตัวตลาดถูกขับไล่ออกไปด้วยระบบทุนนิยม ดังนั้นตลาดคริสต์มาสจึงสัมพันธ์กับการต่อต้านทุนนิยม คริสต์มาสกลายเป็นเทศกาลสำคัญที่เน้นความสงบสุข ในปี 1933 นาซีได้ทำการย้ายตลาดคริสต์มาสเช่นที่นูเรมเบิร์กกลับมาไว้ใจกลางเมือง มีการเพิ่มเติมการตกแต่งตลาดที่กลายเป็นบรรยากาศที่เรารู้จักคือการตั้งต้นคริสต์มาส มีการจำหน่ายของเล่น มีบ้านขนมปังขิง และให้ตกแต่งด้วยช่อใบไม้ (wreath) แถมด้วยผู้จัดงานก็ได้เอาลูกบอลแก้วสีต่างๆ และไฟรูปนางฟ้ามาติดตั้งเพื่อสร้างบรรยากาศรื่นเริงท้ายปี

นอกจากการตกแต่งแล้ว ตัวตลาดยังเป็นตัวแทนของสินค้าและมรดกของความเป็นเยอรมนี ดังนั้นในงานจะจำหน่ายสินค้าทำมือ งานศิลปะหัตถกรรม ไปจนถึงอาหารสำคัญเช่นไส้กรอก ไปจนถึงอาหารประจำวัฒนธรรมเยอรมันต่างๆ ด้วยการเผยแพร่ความคิดของความเป็นอารยัน ภาพสำคัญในการประดับตลาดคือภาพของสายเลือดพระคริสต์ เป็นภาพนางฟ้าตัวน้อยที่มักจะถูกวาดให้เป็นเด็กผู้หญิงผมบลอนด์ ตาสีฟ้า ในที่สุดภาพการตกแต่งที่มีนัยการโฆษณาความคิดแบบนาซีจึงแพร่กระจายไปในเมืองต่างๆ และกลายเป็นภาพมาตรฐานของตลาดคริสต์มาสที่ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในบางช่วงนาซีใช้ตลาดคริสต์มาสในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และเชื่อว่าช่วยรักษาจิตวิญญาณของผู้คนในช่วงเวลายากลำบากได้

สุดท้ายตลาดคริสต์มาสนับเป็นอีกหน่ึงประเพณีที่สืบทอดและแพร่กระจายกลายเป็นกิจกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระทั่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจนถึงประเทศไทย ความน่าสนใจของตลาด ที่ไม่ได้เป็นแค่ตลาด แต่สัมพันธ์กับรากฐานความเชื่ออันซับซ้อน การแข่งขันกันในการชิงศรัทธาความเชื่อในศาสนา เรื่อยมาจนถึงการเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ทางการเมืองและการโฆษณาความคิดทางการเมืองที่สัมพันธ์กับความคิดที่น่ากลัวของนาซี

สำหรับบ้านเราเอง การจัดตลาดฤดูหนาวก็เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวนัก เรามีงานกาชาด มีลานเบียร์ งานวัด และงานเทศกาลของเราในการออกร้านจัดตลาด ก็นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความเคลื่อนไหวให้กับเมือง เป็นพื้นที่พบปะและเปลี่ยนบรรยากาศของเมืองให้มีสีสัน การมาถึงและกระแสของตลาดคริสต์มาสจึงเป็นอีกหนึ่งความนิยมและธรรมเนียมปลายปีที่น่าจับตา ว่าในปีหน้าๆ เราจะมีตลาดคริสต์มาส มีธรรมเนียมดื่มไวน์ร้อน กินเพรสเซล หรือจะมีขนม อาหารและร้านค้าใหม่ๆ ที่ผสมผสานวัฒนธรรมต่างๆ เข้าด้วยกันบ้าง

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like