Passionate Textile
863textile ร้านขายผ้าของทายาทธุรกิจสิ่งทอที่อยากเป็นพื้นที่ของคนทำงานผ้าอย่างแท้จริง
คนทำงานผ้าทั้งหลายที่คุ้นเคยกับการเดินพาหุรัดหรือสำเพ็ง โปรดลืมภาพการเดินซื้อผ้าในอากาศร้อนๆ เหงื่อหยดติ๋งๆ และอาการเหนื่อยกายใจไปสักพัก เพราะวันนี้ เราอยากชวนทุกคนเดินเข้าร้านผ้าในร่มที่อากาศเย็นสบาย มีผ้าให้เลือกหลากหลาย แถมยังทำงานหรือคุยธุรกิจในนี้ทั้งวันยังได้
เรากำลังพูดถึง 863textile ร้านขายผ้าของ เอก–นิรันดร์ อุดมเลิศลักษณ์ และ แพรว–แพรวนภา อุดมเลิศลักษณ์ สองพี่น้องที่เติบโตมากับร้านขายผ้าเก่าแก่ของคุณพ่อ แพสชั่นเรื่องสิ่งทอถูกส่งต่อในครอบครัว แต่ด้วยความเป็นวัยรุ่นไฟแรงที่มีความคิดเป็นของตัวเอง อยากสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่เคยเห็น 12 ปีก่อน พวกเขาจึงลุกขึ้นมาก่อตั้งร้านนี้ขึ้นมา ด้วยความหวังว่าจะเป็นร้านขายผ้าที่ตอบโจทย์คนในแวดวงสิ่งทอได้
นอกจากความหลากหลายและคุณภาพสินค้าที่ 863textile ยึดมั่นเสมอมา สองพี่น้องเชื่อเรื่องความจริงใจต่อลูกค้า การเดินเกมธุรกิจให้ไว กล้าทำสิ่งที่หลายคนไม่ทำ มากกว่านั้นคือการสร้างแพสชั่นและแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานผ้า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้สามารถก้าวเท้าเข้ามาในวงการและอยู่ต่อได้อย่างยั่งยืน
ในบรรทัดต่อจากนี้ เราขอชวนทุกคนไปทัวร์ร้าน นั่งฟังเอกกับแพรวเล่าไอเดียเบื้องหลังการทำร้านขายผ้าแบบฉบับสองพี่น้อง ท่ามกลางไวบ์ผ่อนคลายและคนทำงานผ้าที่เดินผ่านไปมา
ร้านขายผ้าของพ่อ
ครอบครัวของเอกและแพรวเข้าสู่วงการสิ่งทอตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม
ราว 40 ปีก่อนที่อุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศไทยกำลังบูม เอกเล่าให้ฟังว่ามีโรงงานฟอก ย้อม ปั่น เกิดขึ้นมากมาย จะหยิบจับอะไรก็ถือเป็นโอกาสทองหมด
Italian Textile ธุรกิจของคุณพ่อสมบูรณ์ อุดมเลิศลักษณ์ ก็เหมือนกัน ท่านนำเข้าผ้าเดดสต็อกจากญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังมีขาที่ผลิตสิ่งทอเองตลอดทั้งปี ลูกค้าหลักในยุคนั้นคือช่างตัดผ้าที่รับตัดเสื้อผ้าเป็นตัวและกลุ่มดีไซเนอร์คนไทย ประสบความสำเร็จมากจนทำมาได้ยาวนานกว่า 40 ปี
จนกระทั่งเข้าสู่ยุคที่การซื้อ-ขายสินค้าเข้าสู่ออนไลน์ คนในแวดวงสิ่งทอจึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี มีคู่แข่งจากต่างประเทศมากขึ้น และพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ทำให้โรงงานและร้านผ้าหลายร้านต้องปิดตัวลง
Italian Textile ก็เช่นกัน
โชคดีที่ก่อนจะปิด ทายาททั้งสองได้เปิดแบรนด์จำหน่ายสิ่งทอของตัวเองชื่อ 863textile ขึ้นมาก่อน
แข่งกันด้วยระบบ สินค้า และราคา
“เราสองคนรู้เรื่องผ้าอยู่แล้ว เพราะโตมากับผ้า แต่ตอนที่เราเริ่มทำร้านนี้ เรายังวัยรุ่นอยู่ เราไม่อยากทำร้านแบบที่พ่อทำ” แพรวเล่าถึงความตั้งใจแรกในการเปิดร้าน
เรื่องแรกที่พวกเขาอยากปรับเปลี่ยนให้ไม่เหมือนกับร้านของพ่อคือ ระบบ
ในรุ่นคุณพ่อยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ การเช็กสต็อกสินค้าว่าขายมาหรือรับไปเท่าไหร่ก็จะใช้การจดมือ ทำให้มีบางครั้งที่เกิดความผิดพลาดในการนับบ้าง เมื่อธุรกิจดำเนินมาถึงรุ่นลูก 863textile จึงตั้งใจแก้ไขปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยี
เรื่องที่สองคือ สินค้า
Italian Textile นั้นขายผ้าวูเว่นเป็นหลัก แต่ 863textile มีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นตามยุคสมัย
ย้อนกลับไปยังตอนที่เปิดร้านใหม่ๆ บ้านเลขที่ 86/3 แห่งนี้ตั้งอยู่กลางวงล้อมของร้านขายผ้ายืดมากมาย คล้ายเป็นตลาดผ้ายืดที่คนทำเสื้อยืดจะต้องมาช็อปเป็นประจำ สองพี่น้องจึงเริ่มต้นด้วยการขายผ้ายืดไปโดยปริยาย ก่อนจะขยับขยายไปขายผ้าวูเว่น ผ้าเชิ้ต และผ้าอีกสารพัดประเภทในเวลาต่อมา
เรื่องที่สามคือ การตั้งราคา
“ราคาผ้าเราสูงกว่าผ้าทั่วไป ทำให้สินค้าเราขายได้ช้า” เอกเล่าปัญหาแรกๆ ที่ต้องเจอในช่วงเปิดร้านให้เราฟัง ซึ่งสำหรับพวกเขา มันเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเจอ
“เพราะเราพยายามทำสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่แข่งกับคนอื่นเรื่องราคา แต่ช่วงแรกๆ คนไม่เข้าใจ เขาเห็นว่าราคาของเราแพงกว่าเท่าตัวจากร้านอื่นๆ แต่จริงๆ แล้วในรายละเอียดด้านคุณภาพของวัสดุและกระบวนการผลิต รวมไปถึงความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมนั้นต่างกัน เราผ่านช่วงนั้นมาได้ด้วยความอดทน ทำไปเรื่อยๆ จนคนเห็น”
ผ้าที่หลากหลายและยั่งยืน
ปัจจุบัน ร้านของพวกเขาแบ่งประเภทผ้าเป็นผ้าผลิตเองที่ขายได้ตลอดปี กับอีกประเภทคือผ้าเดดสต็อกที่ขายหมดแล้วหมดเลย ซึ่งส่วนมากคัดสรรมาจากผ้าเดดสต็อกในประเทศญี่ปุ่น เกณฑ์ในการคัดเลือกสินค้านั้นก็เรียบง่าย พวกเขาเลือกจากความชอบ ความรู้สึกว่าผ้าผืนนั้นสวยและใช่ ที่สำคัญคือเนื้อผ้าต้องเป็นเนื้อที่ดี
นอกจากนี้ ในยุคที่หลายแบรนด์หันมาให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน 863textile ก็มีการผลิตผ้าที่ไม่ผ่านการฟอกย้อมออกมาเป็นทางเลือกให้แบรนด์ต่างๆ ได้หยิบไปใช้ พวกเขายังจับมือกับ SC Grand โรงงานผลิตสิ่งทอสีเขียวเพื่อผลิตผ้ายืดรีไซเคิลร่วมกัน และนำสินค้าของพวกเขามาตั้งขายที่ร้านด้วย
“เราคิดว่าหลังจากนี้ สินค้าในร้านจะเป็นสินค้าที่รีไซเคิลและ sustainable มากขึ้น เพราะเราอยากทำให้มันเป็นเหมือนเรื่องปกติ” แพรวบอก
“จริงๆ ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยชอบผ้ารีไซเคิลนะ เพราะมันทอแล้วไม่ได้สวยเหมือนผ้าปกติที่ขายอยู่ มีตำหนิเยอะ แต่หลังๆ มีการพัฒนามากขึ้น ไปผสมกับวัสดุอื่นที่ทำให้เนื้อผ้าแข็งแรงขึ้น อยู่ได้นานขึ้น เราก็อยากให้สินค้าเหล่านี้กลายเป็นสินค้าปกติ เป็นตัวเลือกให้ลูกค้าซึ่งเขาจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่เราก็จะพยายามทำ”
พื้นที่ของคนทำงานผ้า
แม้ในยุคที่ธุรกิจหลายแบรนด์พยายามโกออนไลน์ แต่ 863textile ก็ยังเห็นความสำคัญของการมีหน้าร้าน
เพราะไม่เพียงแค่ลูกค้าจะได้เห็นและสัมผัสผ้าด้วยตัวเองเท่านั้น เอกบอกว่า การเข้ามาในร้านจะทำให้ลูกค้ามี store experience ที่เป็นมากกว่าการซื้อ-ขาย
“ลูกค้าไม่ได้เข้ามาแค่ซื้อแล้วจบ แต่การที่คุณมาแล้วได้สัมผัส คุณเดินเลือก คุณเห็นผ้าอื่นๆ คุณก็ได้ไอเดียใหม่อีก แทนที่จะจบอยู่แค่ชุดของคุณ คุณจะได้แรงบันดาลใจต่อไปอีก” ชายหนุ่มย้ำ ก่อนที่ผู้เป็นน้องสาวจะเสริมต่อ
“ความตั้งใจแรกของเราคืออยากทำร้านที่ไม่เหมือนร้านผ้าทั่วไป เราอยากเป็นร้านผ้าที่สามารถให้แรงบันดาลใจผู้คนได้ ในร้านจึงมีพื้นที่ไว้ให้นั่ง มีตัวอย่างผ้าให้ดู เป็นที่ที่คุณสามารถมานั่งทำงานกับเพื่อนได้ เพราะปกติเวลาเขาทำธุรกิจกัน เขาต้องมานั่งคุยกันก่อน บางทีเราก็เห็นลูกค้านัดโรงงานมานั่งคุยที่นี่แล้วจบ ไม่ต้องหยิบผ้าตัวอย่างแล้วค่อยไปที่โรงงาน หรือกลุ่มเพื่อนมานั่งคุยกันว่าเอาแบบนั้นแบบนี้สิ เราอยากทำสเปซแบบนี้ให้ลูกค้า”
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมร้าน 863textile ถึงกว้างขวางกว่าร้านขายผ้าทั่วไปที่เราเคยเยี่ยมเยือน แถมยังแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ทั้งจุดดูตัวอย่างผ้า มีหุ่นโชว์เคสชุดที่ตัดเสร็จแล้ว และโต๊ะกว้างขวางที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์ เรียกได้ว่าเป็น one-stop service ของคนทำงานผ้าได้อย่างไม่ขัดเขิน
เดินเกมไว อยู่ต่อได้ด้วยการไม่หยุดทำ
ในมุมมองของทายาทที่คลุกคลีกับผ้ามาตลอด เอกและแพรวมองว่าตลาดผ้าไม่ได้โตขึ้น
“แต่ในโลกของแฟชั่น ตราบใดที่มีคนแต่งตัวอยู่ ธุรกิจสิ่งทอก็ยังไปได้ เพียงแต่เราจะนำพาให้มันไปรอดโดยวิธีไหน” เอกวิเคราะห์ เท่าที่พวกเขาสังเกตมาหลายปี วงการสิ่งทอมีคนสายแฟฯ หน้าใหม่เข้ามาหมุนเวียนเปลี่ยนตลอด แต่การจะอยู่รอดในวงการนี้อย่างยั่งยืน
“มันยากนะ ไม่ง่ายเลย” แพรวบอก “แบรนด์ที่อยู่รอดได้ เราคิดว่าต้องมีเงินทุน และทำไปเรื่อยๆ ไม่หยุดทำ เพื่อให้อยู่ในกระแสตลอด”
แล้วในมุมของ 863textile เองล่ะ จุดแข็งที่ทำให้พวกเขายังอยู่รอดได้ในทุกวันนี้คืออะไร–เราวกกลับมาถามทั้งคู่
‘สินค้า’ และ ‘ออนไลน์’ คือคำตอบจากปากสองพี่น้อง
“เราคิดว่าคุณภาพสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยความชอบในตัวผ้า เราก็จะทำมันด้วยความตั้งใจ” แพรวอธิบาย
“ส่วนออนไลน์ เราเป็นร้านแรกๆ ที่ขายทางออนไลน์ เมื่อ 10 กว่าปีแล้ว ก่อนจะมีโควิดอีก เราทำทั้งเว็บไซต์ พอมาถึงยุคที่มี LINE Official Shop เราก็ทำไลน์ ทุกวันนี้ลูกค้าจะมาหน้าร้านรอบหนึ่ง ตัดตัวอย่างผ้าไป แล้วหลังจากนั้นเราก็แอดไลน์คุยกัน ทำให้เราสามารถปิดการขายทางออนไลน์ได้ แม้แต่ช่วงโควิดเราก็ผ่านมาได้ ขายดีมาก เพราะคนเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์หมด
“อย่างไรก็ดี ในอนาคตเรายังต้องทำอะไรอีกเยอะ ทำเรื่อยๆ โดยเฉพาะการจัดการข้อมูลภายในร้าน อย่างการทำสต็อกหลังบ้าน เราจะทำยังไงให้มันตรง ไม่มีข้อผิดพลาด เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิด”
เด็กวันนี้คือลูกค้าในวันหน้า
หากจะสรุปว่า 863textile ดำเนินธุรกิจได้ด้วยความเชื่อแบบไหน คำตอบอาจเป็นคำหนึ่งคำที่เราได้ยินในบทสนทนานี้บ่อยครั้ง
คำคำนั้นคือ ‘แพสชั่น’
863textile มีแพสชั่นในการผลิตและเลือกผ้าที่ดีที่สุดมานำเสนอให้ลูกค้า ขณะเดียวกัน พวกเขาก็มองว่าลูกค้าคือพาร์ตเนอร์คนสำคัญที่มีแพสชั่นในการทำเสื้อผ้าไม่ต่างกัน
ไม่เพียงแค่ดีไซเนอร์อิสระหรือคนทำงานให้แบรนด์ต่างๆ เท่านั้น แต่ 863textile ยังทำแคมเปญ Partner in Passion ทำงานร่วมกับนักเรียนนักศึกษาในสถาบันต่างๆ โดยเปิดร้านให้น้องๆ มัธยมและวัยมหา’ลัยเข้ามาศึกษาดูงานเรื่องสิ่งทอที่ร้านเป็นประจำ นอกจากนี้ 863textile ยังบริจาคสิ่งทอในร้านไปประกอบการเรียนการสอนวิชาตัดเย็บอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะรู้สึกดีที่ได้แบ่งปันแล้ว ยังเป็นการระบายผ้าดีแต่มีตำหนิที่ไม่ได้ถูกวางขายหน้าร้าน ซึ่งเข้าทางกับโครงการ Zero Project ที่พวกเขาตั้งใจจะลดจำนวนผ้าที่จะกลายเป็นขยะในระบบของร้านอีกด้วย
“เราทำแคมเปญ Partner is Passion เพราะเรามองว่าเด็กๆ ก็คือลูกค้าในอนาคตของเรา การที่พวกเขาเข้ามาในร้านมันเหมือนปูทางให้คนที่เรียนแฟชั่น สุดท้ายพอเขาจบออกมาอยู่ในวงการนี้ เขาก็น่าจะนึกถึงเราว่าเป็นที่ที่สบายใจจะมาต่อยอด หาแรงบันดาลใจอีกในอนาคต” แพรวทิ้งท้ายด้วยแววตาเป็นประกาย
Do & Don’t ของคนทำธุรกิจสิ่งทอ
จากเจ้าของร้าน 863textile
Do: “ต้องมีความจริงใจในการขายของ เมื่อลูกค้ารู้ว่าเราจริงใจกับเขา เขาก็จะเชื่อมั่นและเชื่อถือเรา”
Don’t: “ตอบคำถามไม่ได้ว่าเราจะขายอะไร ขายใคร ชอบมันไหม อยากทำจริงหรือเปล่า แต่เราว่าบางทีไม่ชอบก็เข้ามาทำได้นะ แต่เราต้องศึกษามันอย่างลงลึก”