Kincentric Thailand

3C และ 5 สิ่งสำคัญ ที่เป็นกุญแจความสำเร็จขององค์กรในการบริหารคน โดย คินเซนทริค

ในโลกแห่งการทำงานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เข้างาน 9 โมงเลิก 6 โมง หรืองานที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ค่อยๆ ถูกลดบทบาทไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่เจนฯ Y และเจนฯ Z ที่ตั้งปณิธานการทำงานกับตัวเองว่าต้องการทำงานที่มีความยืดหยุ่น มี work-life balance มีเวลาให้ตัวเองได้ทำในสิ่งที่อยากทำและมีความหมายกับชีวิต

คินเซนทริค บริษัทให้คำปรึกษาด้านบุคลากรและการพัฒนาองค์กร ได้เผยผลวิจัยการบริหารจัดการบุคลากรขององค์กรชั้นนำทั่วโลกประจำปี 2566 พบว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะทำงานมากกว่า 1 อย่าง และมองหางานที่ 2 และ 3 อยู่เสมอ การที่คนรุ่นใหม่ต้องการ work-life balance อาจไม่ได้หมายถึงการต้องการเวลาเพื่อพักผ่อน แต่เป็นการต้องการเวลาเพื่อทำงานอื่น และหากองค์กรไหนมีนโยบาย work from home ก็จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานได้มากขึ้น

“มีพนักงานเพียง 51% เท่านั้นที่เชื่อว่าบริษัทจะปฏิบัติตามคำสัญญา”

ดร. อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ กรรมการผู้จัดการและพาร์ตเนอร์ คินเซนทริค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่มองหาองค์กรที่มีลักษณะการทำงานเป็นไฮบริด  สามารถทำงานที่ไหนก็ได้เป็นเทรนด์ของ work from anywhere และในหนึ่งองค์กรอาจมีทั้งพนักงานประจำและกลุ่มฟรีแลนซ์ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้นำองค์กรที่จะต้องหาวิธีใหม่ๆ เพื่อรักษาพนักงานที่มีคุณภาพไว้ เนื่องจากมีพนักงานเพียง 51% เท่านั้นที่เชื่อว่าบริษัทจะปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้ก่อนเริ่มงานจริง ตัวอย่างเช่น ก่อนเริ่มงานระบุว่าจะไม่มีการทำงานล่วงเวลา แต่เมื่อทำงานแล้วกลับต้องทำล่วงเวลาทุกวัน หากคนรุ่นใหม่อยู่ในสถานการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัดสินใจเปลี่ยนงาน

นี่จึงทำให้พนักงานกลุ่มเจนฯ Z และเจนฯ Y ในไทยมีส่วนร่วมในองค์กร (employee engagement) น้อยที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของพนักงานที่มีให้กับองค์กรนั้นๆ ว่ายิ่งองค์กรสร้างความผูกพันได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลดีเท่านั้น โดยการมีส่วนร่วมในที่นี้หมายถึง การสนับสนุนเป้าหมายองค์กร วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม ความผูกพัน รวมถึงความจงรักภักดี 

คินเซนทริคได้ทำการเก็บข้อมูลจากองค์กรทั่วโลกพบว่า ค่าเฉลี่ยของการมีส่วนร่วมในองค์กรของพนักงานทั่วโลกอยู่ที่ 67% และหากเจาะลึกลงมายังประเทศไทยจะพบว่าค่าเฉลี่ยการมีส่วนร่วมในองค์กรลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2021 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 71%, ปี 2022 อยู่ที่ 69% และปี 2023 อยู่ที่ 65% ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระดับโลกถือว่าของไทยยังต่ำกว่านิดหน่อย

จากการเก็บข้อมูลตลอดปี คินเซนทริคได้จำแนกปัจจัยหลัก 3C ที่ช่วยให้องค์กรสื่อสารกับพนักงานได้ดีขึ้น และเพิ่มการมีส่วนร่วมได้ในระยะยาว

Consistency ความสม่ำเสมอ 

ความสม่ำเสมอคือหัวใจสำคัญที่ทุกองค์กรควรมี โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลพนักงานให้ดีอย่างสม่ำเสมอ มอบประสบการณ์ที่ดี และสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดี ซึ่งรวมถึงการมีนโยบายสนับสนุนความสามารถ กระตุ้นด้วยคำชม หรือส่งเสริมให้พนักงานมี work-life balance

Connectivity ความเชื่อมโยงของการสื่อสาร

ในข้อนี้ 2 คีย์หลักสำคัญคือ ผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคล ที่ต้องใช้กลยุทธ์การสื่อสารแบบองค์รวม ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะในโลกหลังโควิดที่คนรุ่นใหม่เป็นผู้เลือกว่าอยากทำงานใคร แน่นอนว่าองค์กรต้องตอบโจทย์ความคาดหวังของพวกเขาด้วย เช่น การสื่อสาร พูดคุยเพื่อถามความต้องการ ประเมินสภาพจิตใจ หรือความคาดหวังของพนักงานเมื่อเข้ามาทำงานที่นี่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายในอนาคต 

หนึ่งในความผิดพลาดที่มักพบในองค์กรคือ ผู้นำไม่สื่อสารกับพนักงาน ในมุมของคินเซนทริคมองว่า ผู้นำที่ดีต้องรู้จักชื่นชม มีฟีดแบ็กกับพนักงาน และพร้อมผลักดันให้พวกเขาเติบโตในสายงานตนเอง เนื่องจากปัจจุบันพนักงานไม่ได้ต้องการแค่ปรับเงินเดือนหรือโบนัสก้อนโต แต่ต้องการเติบโตในหน้าที่การงาน โดยมีผู้นำที่ใส่ใจพวกเขาเช่นกัน

Courage ความกล้า

ความกล้าในที่นี้หมายถึง ความกล้าและความทุ่มเทของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างประสบการณ์ที่พนักงานควรได้รับ

สำหรับข้อนี้บทบาทของผู้บริหารมีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการตั้งเป้าหมาย กำหนดทิศทางองค์กรที่ชัดเจน รวมถึงการมอบอำนาจให้พนักงานในระดับผู้จัดการกำหนดหรือผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานและองค์กร 

5 สิ่งที่ HR จากบริษัทชั้นนำทำแล้วประสบความสำเร็จในการบริหารคน

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็ควรมีหน้าที่มากกว่าเรื่องพื้นฐาน ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและทัศนคติที่เปิดกว้าง และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่เป็นฝ่ายเลือกองค์กรที่อยากทำงานด้วย และต้องเป็นองค์กรที่ตอบโจทย์ชีวิตทั้งด้านกายภาพ สังคม และการค้นหาความหมายของชีวิต ดังนั้นนอกจากสวัสดิการพื้นฐานแล้วยังต้องมีแนวคิดยอมรับและเคารพในความต่าง 

จากการเก็บข้อมูลของคินเซนทริค ที่วิเคราะห์จากบริษัทชั้นนำในประเทศไทยกว่า 100 แห่ง พบว่า 5 สิ่งที่ HR ทำในองค์กรแล้วประสบความสำเร็จในการบริหารคน ประกอบด้วย

  1. Employee Expreience Strategy การวางแผนกลยุทธ์บริหารคนให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ผู้บริหารกำหนด
  2. Health and Wellbing การดูแลพนักงาน ดูแลทั้งทางกายและใจ
  3. Talent Development สร้างความเสถียรในการดูแลพนักงาน ส่งเสริมพนักงานในวิธีที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความคาดหวังของพนักงาน
  4. Organization Communication การสื่อสารที่ดี เข้าถึงพนักงานอย่างตรงจุด
  5. Diversity and Inclusion รับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ทุกคนอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายร่วมกันได้

“เงินอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่”

นอกเหนือจากประเด็นที่กล่าวไปข้างต้น คนรุ่นใหม่ยังมองหางานที่มีความท้าทาย การเติบโตในหน้าที่งานการ เงินอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะสิ่งที่คนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้จากการทำงานมีความสำคัญมากกว่า ดังนั้นผู้นำองค์กรหรือหัวหน้าจึงถือเป็นกุญแจในการสร้างความผูกพันให้พนักงานที่ต้องการเรียนรู้ หรือเติบโตไปพร้อมกับผู้นำที่เขายึดเป็นแบบอย่างในอนาคต

และการที่องค์กรจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ พนักงานต้องมีความผูกพันต่อองค์กร และองค์กรก็ต้องดูแลพนักงานให้ดีเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับองค์กรที่อยากสร้างความผูกพันให้พนักงาน ดึงดูดคนเก่งให้มาร่วมงาน มี 4 ปัจจัยหลักคือ ความคล่องตัวและความยืดหยุ่น (agility), ความเป็นผู้นำ (engaging leadership) ที่ต้องปรับเปลี่ยนเร็ว, การให้ความสำคัญกับบุคลากร (talent focus) ในทุกมิติ ผ่านการสร้างบรรยากาศการทำงานที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และการมีความผูกพันต่อองค์กร (engagement) ตามหลัก 3C เพื่อให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกและความตั้งใจที่จะทำงานต่อไปในระยะยาว

ณ วันนี้องค์กรที่อยากเติบโตก็คงต้องปรับโครงสร้างองค์กรทุกปี จากเดิมที่เคยปรับ 3-5 ปีต่อครั้ง ตอนนี้อาจต้องปรับทุกปีเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงขอโลก และผู้นำที่ดีต้องเข้าถึง สื่อสารเป็น และอย่าลืมให้ขวัญกำลังใจต่อพนักงานที่เหนื่อยมาทั้งปีด้วย

Writer

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like