Diversity and Hotel Business
ข้อแนะนำผู้ประกอบการสายท่องเที่ยว ในวันที่ไทยตั้งเป้าเป็น world pride destination
ประเทศไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวของนักเดินทางทั่วโลกจำนวนไม่น้อย ยิ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงขึ้นชื่อในหมู่ชาวต่างชาติเรื่องความเปิดกว้างกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างก่อนหน้านี้ที่มีงาน Bangkok Pride หรือ Love Pride Parade 2024 ที่ถือเป็นขบวนพาเหรดที่ยาวที่สุดในเอเชีย ก็อาจช่วยให้ไทยกลายเป็น world pride destination ได้
แล้วภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวจะทำยังไงได้บ้าง ให้นักเดินทางรู้สึกปลอดภัยเมื่อมาประเทศไทย และกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้ไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในสายตาของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
คอลัมน์ Keynote ตอนนี้เลยขอหยิบ key takeaway จากวงสนทนาโดยผู้บริหารจาก Booking.com และกลุ่มธุรกิจโรงแรมแอคคอร์ (Accor) ที่พูดถึงการใส่ใจความเท่าเทียมอย่างยั่งยืนด้วยมาตรการที่เป็นรูปธรรม มาฝากผู้ประกอบการที่อยากปรับตัวไปพร้อมกับโลกที่เคลื่อนไปข้างหน้าในเวลานี้

• กฎหมายที่เปิดกว้าง สู่การเปิดโอกาสทางธุรกิจ
จากข้อมูลของ Booking.com ผู้ให้บริการจองที่พักออนไลน์ระดับนานาชาติ พบว่า 59% ของผู้เดินทางกลุ่ม LGBTQIA+ เคยเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติในระหว่างเดินทาง โดยกลุ่มผู้เดินทาง LGBTQIA+ ชาวไทย 81% ให้ความสำคัญกับการได้เป็นตัวของตัวเองในขณะเดินทางและปัจจัยเรื่องกฎหมายท้องถิ่นที่เกี่ยวกับสิทธิของคนเพศหลากหลาย ปัจจัยเรื่องกฎหมายทำให้ 92% ของผู้เดินทาง LGBTQIA+ ชาวไทยรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับผู้ให้บริการต่างๆ ในพื้นที่
ดังนั้น การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะยิ่งเป็นการเสริมความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ ว่าพวกเขาจะได้รับประสบการณ์ที่ดีเมื่อมาเมืองไทย และนอกจากการผลักดันกฎหมายของภาครัฐ โครงการที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของภาคเอกชนจะช่วยให้ภาพรวมของประเทศไทยมีจุดยืนเรื่องการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่แข็งแรงขึ้น จากโครงการที่ปฏิบัติได้จริงของทุกภาคส่วนประกอบกัน
• การผลักดันจากภาครัฐ เสริมด้วยการซัพพอร์ตจากภาคเอกชน สร้างโอกาสให้การท่องเที่ยวเติบโต
กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นงานของภาครัฐ ที่ผลักดันสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม แต่ความร่วมมือของธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเอกชนก็มีความสำคัญในการตอกย้ำว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม และทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวในไทยเติบโตมากขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมคือ โปรแกรม Travel Proud ที่ Booking.com ได้ร่วมมือกับ HospitableMe ทำโปรแกรมอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ที่พักคู่ค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านคอร์สออนไลน์ยาว 75 นาที โดยปัจจุบันมีที่พักในไทยกว่า 1,800 แห่งที่ได้รับเครื่องหมาย Proud Certified บนหน้าเว็บไซต์หลังผ่านคอร์สอบรม เพื่อสร้างตัวเลือกการคัดกรองที่พักให้กับเหล่านักเดินทาง สอดคล้องกับอินไซต์จาก Booking.com ที่สำรวจพบว่า 32% ของผู้เดินทาง LGBTQIA+ ชาวไทยระบุว่า ฟิลเตอร์จะช่วยให้พวกเขาหาที่พักที่เป็นมิตรได้ง่ายมากขึ้น

• ใส่ใจความหลากหลายในฐานะผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการที่พักซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการต้อนรับนักท่องเที่ยวจะทำยังไงได้บ้างเพื่อสร้างมาตรการความเท่าเทียมทางเพศที่ยั่งยืนและแสดงความจริงใจต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ให้สบายใจทั้งนักเดินทางและผู้ให้บริการ
จากคำถามดังกล่าว มิเชล เกา (Michelle Gao) ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงและจีนของ Booking.com และออลลี่ แอนเซลล์ (Ollie Ansell) รองประธานฝ่ายกลยุทธ์การตลาดเชิงพาณิชย์ ประจำภูมิภาคเอเชียของแอคคอร์ ได้แชร์วิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมายดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 3 หัวข้อคือ
1. สร้างความตระหนักรู้ภายในองค์กร : การรู้จักลูกค้าและความต้องการของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการทุกคน และในธุรกิจโรงแรม ที่พัก ซึ่งต้องให้บริการกับเหล่านักเดินทางโดยตรง การสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศและทัศนคติที่ดีในองค์กร มีความสำคัญมากต่อพนักงานผู้ให้บริการ
2. สื่อสารอย่างเข้าใจ : อย่าลืมว่าการสื่อสารไม่ได้จำกัดแค่คำพูด การตกแต่งธงสีรุ้งตามสถานที่เพียงอย่างเดียวอาจทำให้ถูกมองว่าพยายามสร้างภาพภายนอก ผู้ประกอบการจึงไม่ควรสนใจเพียงการตกแต่งสถานที่ แต่ต้องมีท่าทางการปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าพักที่จริงใจ มีสายตาที่เข้าใจ และให้พวกเขาได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่โดยไม่มองว่าผิดแปลกจากคนอื่น
3. การบริการที่มีมาตรฐานและเท่าเทียม : หลายครั้งความแตกต่างอาจทำให้กลุ่ม LGBTQIA+ ถูกเข้าใจว่าอยากได้รับสิทธิพิเศษ หรือสิทธิที่เหนือกว่าคนอื่น แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องการคือบริการที่มีมาตรฐานและไม่เลือกปฏิบัติ การปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้อย่างเท่าเทียมและให้ความสำคัญกับพวกเขาอย่างที่ให้ความสำคัญกับผู้เข้าพักทุกคน ก็จะแสดงให้เห็นทั้งความจริงใจและความเป็นมืออาชีพ

• rainbow washing ไม่ใช่คำตอบ เท่าการสนับสนุนความหลากหลายอย่างจริงใจ
เมื่อผู้คนตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มรับรู้ว่ากลุ่ม LGBTQIA+ เป็นกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจอย่างหนึ่ง แต่หากทำโดยไม่เข้าใจก็อาจกลายเป็นการฟอกสีรุ้ง หรือ rainbow washing ซึ่งเป็นแค่การสนับสนุนคอมมิวนิตี้ LGBTQIA+ แบบผิวเผินเพื่อกระตุ้นผลประโยชน์ธุรกิจเท่านั้น
pain point ข้างต้นถูกแชร์โดยคุณพอร์ช–อภิวัฒน์ อภิวัฒน์เสรี และคุณอาร์ม–สัพพัญญู ปนาทกูล อภิวัฒน์เสรี อินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยวและคู่แต่งงาน LGBTQIA+ ซึ่งเห็นความสำคัญของโปรแกรม Travel Proud ทั้งคู่ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ตรงว่า
“เราไม่ได้ต้องการการตกแต่งพิเศษ ไม่ได้ต้องการการบริการที่ดีกว่าคนอื่น แต่เราต้องการการบริการที่เหมือนกับทุกคน เราสามารถหิ้วกระเป๋าเดินเข้าไปกับคนที่เรารักแล้วเขามองเราอย่างเข้าใจ เขาให้บริการเราอย่างเข้าใจ” คุณพอร์ชเล่าความประทับใจ
ก่อนที่คุณอาร์มจะกล่าวเสริมว่า “ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เห็นว่าการที่ Booking.com มีโปรแกรม Travel Proud ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันในด้านการท่องเที่ยวจึงทำให้เกิดความร่วมมือและออกมาเป็น โปรเจค Amazing Thailand : LGBTQ+ Friendly Honeymoon Destination with PorschArm”

• โอกาสที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจการท่องเที่ยวในภาคส่วนอื่น
เพราะในแวดวงของธุรกิจการท่องเที่ยวไม่ได้มีเพียงแค่กิจการโรงแรม และที่พัก แต่ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดีอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สายการบิน หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และในเวลานี้ที่ประเทศไทยมีทั้งกฎหมายที่รับรองสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น รวมถึงภาคเอกชนที่เริ่มขับเคลื่อนแนวทางธุรกิจเพื่อให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ มีความมั่นใจที่จะเดินทางมาประเทศไทย
จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจการท่องเที่ยวในภาคส่วนอื่นที่จะริเริ่มมาตรการที่โอบรับความแตกต่างหลากหลาย ผ่านหลักการทั้ง 3 ข้อที่นำไปปรับใช้ได้กับหลายธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับผู้เดินทางกลุ่ม LGBTQIA+ อย่างเป็นมิตรและจริงใจ เพราะการทำความเข้าใจลูกค้าและความจริงใจ ล้วนเป็นสิ่งพื้นฐานของการบริการโดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องต้อนรับเหล่าผู้เดินทางจากทั่วโลกอยู่เสมอ