นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

เจป๊อป

WegoVegan ซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารเจออนไลน์ ที่ขายดิบขายดีแม้ในวันที่ไม่มีเทศกาลกินเจ

โปรตีนเกษตร หมี่กึง เต้าหู้ เห็ดหอม

แม้แต่แฟนพันธ์ุแท้พะโล้หมี่กึงและโปรตีนเกษตรผัดพริกขิงก็ต้องยอมรับว่าอาหารในช่วงเทศกาลกินเจนั้นจำเจจริงๆ ยังไม่นับหมูปลอม ไก่ปลอม เนื้อสัตว์ปลอมที่สุดท้ายแล้วก็ทำจากแป้งทั้งสิ้น

กระทั่งวันที่เราค้นพบร้าน WegoVegan โลกแห่งอาหารเจก็สว่างไสวทันที

WegoVegan เป็นร้านขายวัตถุดิบอาหารเจออนไลน์ที่เรียกว่า ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตเจ’ น่าจะเหมาะกว่า ด้วยปริมาณสินค้ามากกว่า 200 ชนิดจากแบรนด์ไทยและต่างประเทศ และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านปริมาณและประเภทสินค้าที่วางขาย

wegovegan

แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราจะแทบไม่เห็นร้านที่ขายวัตถุดิบอาหารเจอย่างครบครันแบบนี้ในเมืองไทย ร้านที่พอมีก็กระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ นักกินเจจึงไม่มีทางเลือกกินมากนัก

ในบรรดานักกินเจเหล่านั้นมี ยีนส์–นนทกา และ นิว–นพรัตน์ ทัศนวิรุฬห์ สองโปรแกรมเมอร์รวมอยู่ด้วย

เพียง 5 ปี จากนักกินเจมือสมัครเล่น พวกเขากลายมาเป็นเจ้าของกิจการร้านขายวัตถุดิบเจเจ้าใหญ่ที่แม้หนึ่งปีจะมีเทศกาลกินเจเพียงหนึ่งครั้ง และแม้ยอดขายช่วงเทศกาลกินเจจะสูงกว่าช่วงเวลาอื่นของปีถึง 4-5 เท่า พวกเขาก็เอาตัวรอดได้ 

และทำได้ดีกระทั่งลูกค้ายอมไม่ไปซื้อสินค้าที่ร้านอื่น แต่ขอให้พวกเขาเอาสินค้าที่อยากได้เข้ามาขายแทน

หากถามว่าทำได้ยังไง ยีนส์และนิวขอตอบด้วยกลยุทธ์ต่อไปนี้ที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการทดลองระหว่างทาง

เจแล้วไปไหน?

“เราแอนตี้เจมาตั้งแต่เด็ก อาม่าบังคับกินเจทุกปีก็กินได้ไม่เคยถึง 10 วัน เลิกเรียนก่อนจะกลับบ้านก็ไปกินอาหารข้างโรงเรียนจนมารู้เหตุผลของการกินเจซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต” นิวย้อนเล่าให้ฟัง

“ตอนนั้นเราไปปฏิบัติธรรมสองวันแต่มีธรรมะแค่หัวข้อเดียวที่จำได้คือเรื่องการกินเจ ตอนจบเขาให้ดูวิดีโอฆ่าสัตว์แล้วเราน้ำตาไหล รู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยน ต้องทำอะไรสักอย่าง”

เมื่อเริ่มกินเจ เริ่มศึกษา ทั้งคู่ก็พบข้อดีอื่นๆ ของการไม่กินเนื้อสัตว์อย่างการลดบริโภคยาปฏิชีวนะ และลดการทำปศุสัตว์ซึ่งมีแนวคิดว่าก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

และเมื่ออินมาก ก็อยากชวนให้คนจำนวนมากได้มากินเจไปด้วยกัน

wegovegan

“เราอยากส่งเสริมให้คนอื่นได้กิน ได้ลดละเนื้อสัตว์เหมือนเราก็เลยเปิดช่องยูทูบขึ้นมาสอนทำอาหารเจแบบง่ายๆ แล้วก็เปิดเพจเฟซบุ๊กเพราะเราไม่ได้แค่อยากส่งเสริมให้คนทำอาหารเจเป็นเท่านั้น แต่ยังรับปรึกษาเรื่องไลฟ์สไตล์การกินเจด้วย” ยีนส์ช่วยเล่า

“เรื่องที่เขามาปรึกษาก็เช่น จะเริ่มต้นกินเจยังไง ภรรยากินเจแต่สามีไม่กินจะทำยังไง หรือมีครั้งนึงคุณหมอทักมาถามว่า ‘ผมอยากจะออกกำลังกายให้มีกล้าม จะกินเจให้ได้โปรตีนยังไง’ เราก็เลยรู้สึกว่าฉันมีความรู้เรื่องวิธีทำอาหารอย่างเดียวไม่ได้แต่ต้องศึกษาเรื่องโภชนาการด้วยเพื่อตอบคำถามลูกเพจของเรา”

แต่ทั้งหมดที่ว่ามาก็ไม่ใช่คำถามที่เจอบ่อยเท่าคำถามง่ายๆ ว่า “วัตถุดิบเจซื้อที่ไหน”

“เมื่ออาหารเจหาทานยาก แล้วลูกเพจก็มาถาม เราเลยคิดว่าหรือเอามาขายเองดีไหม” ยีนส์เล่า

wegovegan

“ส่วนใหญ่วัตถุดิบเจจะขายในกรุงเทพฯ ไม่ก็ในหัวเมืองใหญ่ๆ ในอำเภอเมือง เช่น โคราช หรืออำเภอเมืองสระบุรี อย่างเราอยู่มวกเหล็ก เอาแค่ให้มีร้านอาหารเจยังยากเลย ฉะนั้นตอนเรากินเจแรกๆ เข้ากรุงเทพฯ ไปแล้วเจอร้านเจนี่ดีใจมาก”

“เท่าที่จำได้ร้านออนไลน์ตอนนั้นมีร้านเดียว เราเห็นโอกาสตรงนี้แหละว่าถ้าจะเปิดร้านเราก็ต้องขายออนไลน์” นิวสรุป

สำหรับพวกเขาการเปิดร้านออนไลน์มีข้อดีหลายอย่าง หนึ่ง คือสามารถทำควบคู่ไปกับงานประจำได้ สอง คือเป็นตลาดที่ยังมีคู่แข่งน้อย และสาม คือสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ ตอบโจทย์การสร้างคอมมิวนิตี้คนกินเจให้แข็งแรง

จากที่เริ่มด้วยโปรตีนเกษตรยี่ห้อเดียว ลูกเพจก็เรียกร้องให้นำสินค้าอื่นเข้ามาขายเรื่อยๆ จนพวกเขาสามารถลาออกจากงานประจำมาตั้งใจทำร้านเป็นอาชีพหลักได้ในที่สุด

ซูเปอร์เจ

ยีนส์และนิวเริ่มต้นขายวัตถุดิบจากคำเรียกร้องของลูกเพจ และขยายไลน์สินค้าในร้านด้วยการฟังความเห็นของลูกเพจเช่นกัน

มากคนก็มากความต้องการ เราจึงได้เห็นสินค้าละลานตาแม้แต่สินค้าในหมวดเดียวกัน เช่น เนื้อสัตว์เจ ลูกชิ้น หรือน้ำจิ้มสุกี้ ก็มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อไม่ต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

“เราไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก” นิวตอบทันทีที่เราถามว่าตั้งใจทำร้านให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตหรือเปล่า “ลูกค้าถามมาทีละอย่าง ตอนแรกเราขายโปรตีนเกษตรอยู่แบบเดียว เขาก็ถามว่ามีแบบนี้ไหม เราก็ไปเอามาให้ มีคนมาถามอีก เราก็ไปเอามาเพิ่มอีกจนมี 3-4 แบบ”

“อย่างน้ำจิ้มสุกี้เราก็ขายอยู่ 4-5 แบรนด์” ยีนส์ขยายความ “เมื่อก่อนเราคิดว่าจะขายยี่ห้อที่เราชอบ อันที่เราว่าอร่อย แต่ตอนนี้ไม่ เอามาขายเลย 5 แบรนด์ อย่างปลาร้าเจก็มี 5-6 แบบ ถ้าเป็นสายเฮลตี้ ไม่ใส่ผงชูรสคุณก็ต้องซื้อยี่ห้อนี้ ถ้าอยากได้แรงๆ ต้องยี่ห้อนี้นะ เพราะรสชาติมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ลูกค้าแต่ละคนก็มีความชอบไม่เหมือนกัน

“บางทีถามมารอบนึงเราก็ยังไม่เอามาขายนะ เขาก็ทักมาอีก คุณยีนส์ ขอร้องเถอะ วัตถุดิบเจมันหาซื้อยากจะได้ซื้อร้านคุณยีนส์ที่เดียวแล้วจบ จ่ายค่าส่งทีเดียว (หัวเราะ)”

กับบางธุรกิจ การฟังเสียงลูกค้ามากเกินไปอาจทำให้แบรนด์ไม่มีจุดยืน แต่ยีนส์บอกว่ากับ WegoVegan การฟังลูกค้าคือจุดแข็งเพราะพวกเขาได้เห็นความต้องการจริงของตลาด ไม่ต้องเล่นเกมทายใจว่าลูกค้าจะชอบสิ่งที่พวกเขาเอามาขายหรือเปล่า

“บางทีของที่เขาขอมาก็ขายดีมาก อย่างตอนแรกเราไม่ขายของสดพวกเนื้อสัตว์เจเลยเพราะเราไม่ชอบกิน ลูกค้าเป็นคนขอเข้ามา สุดท้ายเราก็เลยเอาอาหารสดแช่แข็งมาขายซึ่งตอนนี้เป็นของที่ขายดีที่สุด

“ตอนนี้อาหารแช่แข็งเราขายทั้งของเจ้าใหญ่ เช่น โยตา เทียนเซียน สตาร์ฟู้ดส์ ที่เป็นแบรนด์ไทย มีแบรนด์นำเข้ามาจากมาเลเซียและไต้หวันที่เขากินเจกันมานาน เป็นเจที่อร่อยด้วยนะ ยิ่งปัจจุบันที่กระแสวีแกนมาแรงมากก็จะมีผลิตภัณฑ์ plant-based เกิดขึ้นเยอะ เช่น แบรนด์ OmniMeat หรือ Meat Zero เราก็พยายามขายทุกแบรนด์ให้ลูกค้าเลือกเองได้ว่าจะกินอะไร”

ยีนส์เล่าต่อว่าจากที่จะไม่ขาย ตอนนี้อาหารสดได้กินพื้นที่ไปถึง 8 ตู้แช่แล้วจนพวกเขาเริ่มคิดว่าในอนาคตอาจจะต้องทำห้องเย็นเพื่อรองรับความต้องการนี้

wegovegan
wegovegan

นอกจากจำนวนสินค้าที่เยอะขึ้นจะตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลายขึ้น การวางตัวเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเจยังมีข้อดีคือช่วยลดเวลาช้อปปิ้งให้ลูกค้าได้ จากที่สมัยก่อนเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ตนักกินเจจะต้องกวาดสายตามองหาสัญลักษณ์ธงเหลือง ไม่ก็อ่านฉลากอย่างเอาเป็นเอาตาย เมื่อเข้ามาที่ WegoVegan พวกเขาก็เลือกลงตะกร้าแล้วเช็กเอาต์ได้เลย

“ทุกอย่างเราการันตีเลยว่าคัดสรรมาแล้วเพราะอาหารเจปลอมก็มี ฉะนั้นอะไรก็ตามที่หาแหล่งผลิตไม่ได้ ไม่มี อ.ย. เราจะไม่เอามาขาย” ยีนส์บอก

และเพื่อให้ร้านอยู่ได้อย่างมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไป ช่วงหลังพวกเขาจึงเพิ่มสินค้าที่คนกินเจก็กินได้ ไม่กินเจก็กินได้เข้ามาด้วย เช่น สาหร่ายทอดกรอบหรือนมจากธัญพืช เมื่อคนเสิร์ชหาสินค้าเหล่านั้นในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะได้มีโอกาสเจอร้านของยีนส์และนิวไปด้วย แถมยังขายได้ทั้งปี ไม่ต้องอิงเทศกาล

ยังไม่นับว่านอกจากอาหารการกิน ยังมีผลิตภัณฑ์วีแกนอื่นๆ อีกมากที่เป็นที่ต้องการ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทดลองกับสัตว์ที่พวกเขาวางแผนว่าจะนำเข้ามาขายเพิ่มในอนาคต

แต่แน่นอนว่าไม่ว่าจะเติบโตไปยังไง หัวใจของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ก็ยังเป็นสิ่งเดียวกับที่ทำให้พวกเขาตั้งช่องยูทูบ เพจ และร้านขึ้นมา นั่นคือการส่งเสริมให้คนใช้ชีวิตแบบไม่เบียดเบียนสัตว์ได้ง่ายขึ้นไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนของประเทศก็ตาม

wegovegan

เปิดรับความหลากหลายทางการ (ไม่) กิน

อาจเพราะหนึ่งปีมีเทศกาลกินเจแค่ครั้งเดียว สำหรับ WegoVegan ยอดขายอาหารเจในช่วงเทศกาลจึงพุ่งสูงกว่าช่วงปกติถึง 4-5 เท่า จากฝีมือของนักกินเจมืออาชีพและมือสมัครเล่นที่อยากละเว้นเนื้อสัตว์สัก 10 วัน

แต่พ้นจากช่วงเทศกาลไปแล้ว สองผู้ก่อตั้งร้านวัตถุดิบอาหารเจบอกว่าจำนวนคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ในไทยนั้นมีไม่น้อย เป็นกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งอายุและอาชีพ และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีลูกค้าประจำแวะเวียนมาซื้อสินค้าไม่ได้ขาด

wegovegan

“เราคิดว่าคนกินเจเยอะขึ้นนะ ยิ่งช่วงหลังๆ นี้มีการกินประเภทใหม่ๆ เยอะมาก เช่น flexitarian คือการกินแบบยืดหยุ่น กินหมูบ้าง ไก่บ้าง กินเจบ้างเป็นบางวัน บางคนบอกว่ากินเจแต่ก็ยังกินไข่บ้าง บางคนกินเจแต่ว่าก็ยังกินกระเทียม

“จำนวนร้านอาหารเจออนไลน์ก็เพิ่มขึ้น ยอดขายของเราเองก็ด้วย ช่วงแรกๆ ที่เปิดร้านเดือนนึงขายได้ออร์เดอร์นึงเราก็ดีใจแล้วนะ (หัวเราะ) หลังๆ สัปดาห์นึงเริ่มได้ 4-5 ออร์เดอร์ จนช่วงนี้คือเราต้องจ้างคนแพ็กแล้ว” นิวชี้ให้เราหันไปดูด้านหลังร้านที่บรรดาพนักงานกำลังแพ็กสินค้าลงกล่องอย่างขันแข็ง

ที่สำคัญ หากมองดูสเปกตรัมของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์เราจะพบว่าคนกินเจคือกลุ่มคนที่เคร่งครัดที่สุด คือไม่กินทั้งเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และผักฉุน รองลงมาคือวีแกนที่มีกฎเหมือนเจเพียงแต่กินผักฉุนได้ และที่เคร่งครัดน้อยที่สุดคือชาวมังสวิรัติที่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผักฉุนได้อยู่

เพราะฉะนั้นการเลือกเปิดร้านวัตถุดิบอาหารเจที่เคร่งครัดเรื่องการกินที่สุดจึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้สามารถต้อนรับลูกค้ากลุ่มที่เคร่งครัดทางการกินน้อยกว่าได้อย่างสบายๆ

เจที่มองไม่เห็น

น้ำจิ้มลูกชิ้น น้ำจิ้มสุกี้ น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาหวาน และกิมจิ

อาหารเหล่านี้ที่เจอในร้าน WegoVegan ทำให้เราประหลาดใจ ไม่ใช่เพราะเป็นเมนูพิสดาร แต่เป็นเพราะเราไม่เคยฉุกคิดมาก่อนว่ามัน ‘ไม่เจ’

และนี่คือช่องว่างใหญ่ในตลาดที่พวกเขาบอกว่า “ผลิตยังไงก็ไม่พอ”

“อาหารหลายอย่างที่เราขาย คนจะสงสัยว่ามันไม่เจตรงไหน คือถ้าเป็นวีแกนหรือมังสวิรัติเขาจะกินพวกหอม กระเทียม ผักฉุนได้ แต่เจกินไม่ได้ ดังนั้นก็จะกินน้ำพริกที่ใส่กระเทียม หรืออาหารที่ใส่น้ำปลา น้ำมันหอยไม่ได้เลย” นิวเฉลยถึงส่วนผสมที่มองไม่เห็น

นี่แหละคือส่วนผสมลับที่ทำให้ช่องยูทูบสอนทำอาหารเจของยีนส์และนิวไปได้ดีเพราะเมื่ออาหารเจหาซื้อยากนัก อยากกินอะไรก็ต้องหัดทำเอง

ความหากินยากยังเป็นช่องว่างที่ทำให้ยีนส์ได้ไอเดียแตก house brand ผลิตภัณฑ์เจของตัวเอง เริ่มจากน้ำจิ้มเจที่ลองผลิตแล้วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

wegovegan

“ช่วงโควิด พัสดุต่างๆ มันไปค้างอยู่ตามศูนย์กระจายสินค้าทำให้เราขายของสดที่ต้องแช่แข็งไม่ได้ เราเลยลองเสิร์ชหาสินค้าของกลุ่มการกินประเภทต่างๆ ว่าอะไรขายดี ก็ไปเจอร้านคีโต (การกินที่ลดบริโภคคาร์โบไฮเดรตและเน้นโปรตีนและไขมันดี) เขาขายน้ำจิ้มเป็น 20 แบบเลย เรารู้สึกว่า เฮ่ย แล้วทำไมกลุ่มคนกินเจถึงไม่มีน้ำจิ้มแบบนี้บ้าง เราต้องซัพพอร์ตคนกินเจ อยากกินเจต้องได้กิน เลยสร้างแบรนด์แม่ศรีเรือนขึ้น”

จุดเด่นของแบรนด์แม่ศรีเรือนคือเป็นน้ำจิ้มเจแท้ๆ ที่เหมือนน้ำจิ้มฉบับไม่เจมากที่สุด ยีนส์จึงต้องพัฒนาสูตรอยู่นาน และจริงจังถึงขั้นที่ว่าถ้าไม่เหมือนของจริงทั้งรสชาติ เทกซ์เจอร์ และวิธีการกินก็จะยังไม่วางขายเด็ดขาด

“ตอนทำน้ำจิ้มข้าวมันไก่ เราคิดว่าอร่อยแล้วแต่นิวชิมแล้วก็บอกว่านี่มันราดไก่ไม่ได้” ยีนส์เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ “คือมันเค็มเกินไปก็เลยราดไก่ไม่ได้ พอราดไม่ได้ก็ไม่ใช่น้ำจิ้มข้าวมันไก่ เราก็รื้อสูตรทิ้งทำใหม่เลย ไม่อยากให้กินแล้วรู้สึกว่านี่สูตรเจ”

รู้ตัวอีกทีปัจจุบันแบรนด์แม่ศรีเรือนพัฒนาสูตรน้ำจิ้มเจมาแล้ว 6 ชนิดคือน้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มข้าวมันไก่ น้ำจิ้มไก่ ซอสกะเพรา น้ำจิ้มลูกชิ้นยืนกิน และน้ำปลาหวาน และมีน้ำพริกอีก 2 ชนิดคือน้ำพริกปลาทูและน้ำพริกหนุ่ม

wegovegan
wegovegan

มากกว่านั้น ยีนส์ยังเปิดแบรนด์กิมจิเจที่ใช้ผักออร์แกนิก และขายตั้งแต่กิมจิเจผักกาดขาว กิมจิหัวไชเท้า ไปจนถึงกิมจิบีตรูต ตอบโจทย์คนกินเจที่ดูซีรีส์เกาหลีแล้วอินแต่หาอาหารเจกินไม่ได้

ทั้งหมดนี้ ยีนส์บอกว่าพวกเขากำลังเตรียมตัวยื่นขอ อ.ย.เพื่อให้ขายได้ในวงกว้างยิ่งขึ้น

กว้างระดับที่ตอบโจทย์ลูกค้าต่างชาติได้เลย “เราคิดว่าน้ำจิ้มเจยังไปได้อีกไกล เช่น ตอนเริ่มทำน้ำปลาหวานเจ เราลงขายปุ๊บวันถัดไปก็มีคนซื้อเลย เราเชื่อว่ายังไงคนขายก็มีน้อยกว่าคนกินอยู่แล้ว ยิ่งคนผลิตยิ่งมีน้อยเข้าไปใหญ่ ถ้าเราเป็นผู้ผลิตได้มันน่าจะเวิร์กในอนาคต” ยีนส์เล่าถึงแผนการที่มองเอาไว้

“เรารีเสิร์ชตลาดน้ำจิ้มมาก็เห็นว่าน้ำจิ้มไทยแบรนด์ต่างๆ มันไปได้ไกล ขายดีถึงต่างประเทศ เช่น ไปปากีสถาน ไปอินเดีย ไปยุโรป แสดงว่าไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่ชอบแต่คนทั่วโลกก็ชอบเหมือนกันหมด และทั่วโลกก็มีคนไม่กินเนื้อสัตว์เยอะ น้ำจิ้มของเรามันตอบโจทย์ทั้งคนกินเจ กินมังสวิรัติ วีแกน และฮาลาลจึงน่าจะไปได้ดี”

wegovegan

We Go Online

WegoVegan ไม่เพียงขายออนไลน์อย่างเดียวแต่ยังมีหน้าร้านริมถนนมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก สระบุรี

ทั้งคู่เล่าว่าที่นี่เปิดโอกาสทางการขายได้มากเพราะแทบไม่มีคู่แข่ง แถมยังตั้งอยู่ริมถนนสายหลักที่คนที่จะเข้าภาคอีสานหรือเดินทางจากอีสานไปกรุงเทพฯ ก็ต้องผ่านทั้งนั้น

ถึงอย่างนั้น ลูกค้าหลักของพวกเขาก็ยังมาจากออนไลน์อยู่ดี พวกเขาจึงต้องพัฒนาการขายออนไลน์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกๆ ด้าน เริ่มต้นด้วยเรื่องพื้นฐานอย่างการแพ็กสินค้าให้ดีและส่งไว ซึ่งลูกค้าชมกันทุกคน

เรื่องที่สอง คือการสื่อสารออนไลน์ให้ครบถ้วนเหมือนลูกค้าได้ไปยืนเลือกในซูเปอร์มาร์เก็ตจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพสินค้าที่ชัดเจน ชี้แจงวัตถุดิบและรายละเอียดสินค้าอย่างละเอียด

เรื่องที่สามที่ตามมาคือการปรับภาพลักษณ์เจให้ร่วมสมัยและเป็นสากลมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลายในอินเทอร์เน็ต รวมถึงคนรุ่นใหม่บางกลุ่มที่เดี๋ยวนี้หันมางดเนื้อสัตว์เป็นบางวัน

“เราไม่อยากให้ร้านของเรามีภาพลักษณ์เดิมของการกินเจแต่อยากให้คนมองมันเป็นสากลมากขึ้นเลยใช้สีเขียวเป็นสีหลักแทนที่จะเป็นสีเหลือง-แดง มองแล้วไม่รู้สึกว่ามันเป็นอาหารเจตามเทศกาลเพราะหลายคนมีภาพจำที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับเทศกาลกินเจ

“คนมักจะมีภาพจำผิดๆ เกี่ยวกับอาหารเจ เพราะอาหารที่เราเห็นตามเทศกาลกินเจมันมีแต่แป้ง แล้วก็แป้งชุบแป้งทอด (หัวเราะ) แม่ค้าบางคนขายอาหารเจปีละครั้งก็ทำไม่เป็นเลยไม่อร่อย นั่นคืออาหารเจที่ไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพ แต่ถ้ามาดูในคอมมิวนิตี้คนกินเจที่รักสุขภาพ จริงๆ อาหารมันสุขภาพดีทั้งนั้น” นิวผู้รับผิดชอบเรื่องภาพในเพจเป็นหลักเล่าให้ฟัง

อีกสิ่งสำคัญสำหรับการขายออนไลน์ที่ยีนส์และนิวย้ำอยู่ตลอดบทสนทนาคือเรื่อง ‘การบริการ’ ซึ่งพวกเขาทำด้วยใจ และยังส่งต่อแนวคิดนี้ให้ทุกคนในร้าน

“เราคุยกับพนักงานตลอดว่าเวลาลูกค้าเข้ามาซื้อเราจะต้องบริการเหมือนเขามาซื้อบ้านซื้อรถเลยนะ ซัพพอร์ตเขา ดูแลเขาเพราะว่าคนที่เขากินเจเขากินตลอดชีวิต ถ้าเขาประทับใจแล้วเขาก็จะกลับมาซื้อซ้ำ

“อีกอย่างคือในโลกออนไลน์คนซื้อเขาไม่เห็นสินค้าของจริง การที่เขาจะซื้อของสักอย่างต้องอาศัยความเชื่อใจและรีวิว ฉะนั้นถ้าเราบริการลูกค้าไม่ดี รีวิวที่เราได้รับก็ไม่ดี แต่ถ้าเราบริการด้วยใจ ลูกค้าบางคนเขาได้ของที่แตกแล้วเราเคลมให้เขายังมารีวิวให้เราดี ให้ห้าดาว พอคนอื่นมาอ่านเขาก็กล้าซื้อของเราเหมือนกัน”

ย้อนกลับไปที่คอมมิวนิตี้คนกินเจที่พวกเขาสร้าง ในวันที่ธุรกิจร้านขายวัตถุดิบดำเนินมาหลายปีพวกเขาพบว่าคอมมิวนิตี้นี้แหละที่ช่วยให้ร้านไปได้ดี เพราะมันสร้างความน่าเชื่อถือว่าพวกเขาเป็นผู้รู้จริงเรื่องอาหารเจ แถมลูกเพจหลายคนก็ยังเปลี่ยนสถานะเป็นลูกค้าประจำที่จะไม่เปลี่ยนใจจากแบรนด์ของยีนส์และนิวที่พวกเขาผูกพัน

เป็นการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ให้คุ้มค่าที่สุด ตอบโจทย์ที่สุดจนลูกค้าไม่อยากหนีไปไหนอีกเลย

“ช่องที่มีมันสร้างความน่าเชื่อถือให้เรา เขาเห็นเราบ่อยเขาก็คุ้นเคย คุ้นหน้าเรา” นิวว่า ก่อนยีนส์จะเสริมเรื่องลูกค้าที่สัมพันธ์กันมานาน

“มีลูกค้าคนนึงเขารักเรามาก เขาก็เอาสูตรเด็ดที่เขาทำขายมาให้เราทำลงในช่องเลย หรือลูกค้าอีกคนนึงเขาเปิดร้านกาแฟเจ ขายขนมเจที่ชลบุรี ก็บอกว่าได้ไอเดียมาจากช่องของเรา ปัจจุบันเขาก็ยังซื้อนมเจ ซื้อวัตถุดิบจากเราอยู่ กลายเป็นเพื่อนกัน อุดหนุนกัน ส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน กลายเป็นว่าร้านของเขาเป็นฐานลูกค้าของเราโดยไม่รู้ตัว

“เราพยายามแก้โจทย์เรื่องอาหารเจหากินยาก ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนถ้าอยากกินเจเราส่งให้หมด ถ้าคุณทำไม่เป็นเราจะสอน คุณมีปัญหาเรื่องการกินเจเราก็รับให้คำปรึกษา” ยีนส์ทิ้งท้าย ก่อนจะเตรียมตัวลงมือทำผัดกะเพราเจ ลูกชิ้นปิ้งเจ ตบท้ายด้วยมะม่วงน้ำปลาหวานให้เราที่นั่งฟังเรื่องอาหารเจจนหิวได้ชิม

ฟัง (และกิน) มาขนาดนี้แล้ว คราวหน้าที่อยากกินเจขึ้นมา ไม่ว่าจะในหรือนอกเทศกาลเราก็พอได้คำตอบแล้วว่าต้องเริ่มต้นที่ไหนดี

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like