Sound Effect

ฝึกเสียง บริหารพรสวรรค์ กับ Vocal Academy สถาบันฝึกใช้เสียงที่ดูแลตั้งแต่ศิลปินจนนักธุรกิจ

เรารู้จักเสียงของตัวเองแค่ไหน?

คือคำถามที่เราเฝ้าถามตัวเองซ้ำๆ ระหว่างบทสนทนากับ ปิ่น–ศศินี อัศวเจษฎากุล ผู้ก่อตั้ง Vocal Academy by Pin Sasinee 

จากประวัติการศึกษาและการทำงานในแวดวงนักร้องโอเปร่า ใครเห็นชื่อของปิ่นก็เดาว่าที่นี่ต้องเป็นโรงเรียนสอนร้องเพลงแน่ๆ ซึ่งก็ไม่ผิดนักหรอก ลูกค้าของ Vocal Academy by Pin Sasinee ส่วนใหญ่ก็มาเรียนร้องเพลงกัน และย้อนกลับไปในความตั้งใจแรกของการเปิดโรงเรียน ปิ่นก็อยากสร้างสถาบันที่ซัพพอร์ตกลุ่มคนรักในเสียงร้องและดนตรี 

เธอเชื่อว่าอาชีพนักดนตรีสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้

แต่มากกว่าการร้องเพลงแล้ว แท้จริง Vocal Academy by Pin Sasinee คือโรงเรียนที่จะสอนเรา ‘ใช้เสียง’ ซึ่งประยุกต์ใช้กับคนทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่นักร้องนักดนตรีเท่านั้น 

เสียงของเราที่เราเคยเข้าใจมันว่าเป็นโทนสูง กลาง ต่ำ ปิ่นบอกว่าจริงๆ แล้วเราสามารถปรับมันไปตามสถานการณ์ที่ใช้ และเสียงของเราที่เรารู้จักมันดีอยู่แล้ว จริงๆ แล้ว มันมีพลังในการจูงใจ ต่อรอง สร้างโอกาสมากมาย เพียงเราต้องรู้จักมันอย่างถ่องแท้เสียก่อน

แต่เรารู้จักเสียงของตัวเองแค่ไหน?

หลังจากไปพบกับปิ่นบนเวทีทอล์กในงาน ‘Modern Business Day 2024 : The Uncommon Business Playbook สร้างธุรกิจด้วยวิธีคิดนอกตำรา’ เราขอชวนทุกคนมาตั้งคำถามและหาคำตอบได้พร้อมกันในบรรทัดถัดไป คุยกันตั้งแต่พลังของเสียง ความตั้งใจและหลักการบริหารสถาบันดนตรี ไปจนถึงบทเรียนสำคัญที่เธอได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจ

ทราบมาว่าคุณเป็นนักร้องโอเปร่ามาก่อน ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ อะไรทำให้คนที่เรียนจบโอเปร่าสนใจเปิดธุรกิจของตัวเอง

ปิ่นเรียนโอเปร่าที่มหิดลมาตั้งแต่ Pre-College (ก่อนมัธยม) ตามเทรนด์สมัยหนังเรื่อง Season Change พอจบปี 4 ก็ได้ทุนไปเรียนด้าน Perform ดนตรีคลาสสิกที่เวียนนา จบมาก็ออดิชั่นอยู่สักพัก แต่มันก็มีจุดที่คิดว่าวงการดนตรีจะมีเทรนด์ที่ค่อนข้างเร็ว ต้องการความแปลกใหม่ตลอดเวลา มากกว่านั้นคือ ช่วงเวลาของการเป็นนักร้องโอเปร่ามีจำกัด ถ้าอายุเกิน 40 จะเริ่มลำบากเพราะต้องไปแข่งกับเด็กๆ 

ปิ่นเลยอยากหาจุดยืนของตัวเอง จะทำยังไงให้กลับมาไทยแล้วจะไม่เป็นครูอีกคนที่จบมาจากเมืองนอก ตอนทำธีสิสจบป.โท ปิ่นมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นหมอเสียงอันดับต้นๆ ของยุโรปที่เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลเส้นเสียงของนักร้อง ปิ่นเลยทำธีสิสด้านภาษาศาสตร์  รีเสิร์ชว่าทำไมคนไทยบางคนจึงไม่สามารถพูดและภาษาอังกฤษให้มีสำเนียงเหมือนเจ้าของภาษาได้ ทำให้เรามีความรู้เรื่องภาษาและการออกเสียงที่แน่นมากๆ

พอเรากลับมาไทย ถ้าปิ่นเลือกเป็นนักดนตรีมันจะมีบางช่วงที่งานจ้างระห่ำ แต่ตอนว่างก็ว่างเลย ปิ่นคิดว่ามันเสี่ยงเกินไป จึงคิดอยากจะสอน คิดอยู่เป็นเดือนๆ ก่อนจะพบคำตอบว่า ถ้าเรามีความรู้เรื่องภาษาและการออกเสียง ทำไมไม่เป็นโค้ชที่ช่วยดูแลเสียงล่ะ 

สำหรับคนทำงานกับเสียง นิยามของการใช้เสียงที่ดีสำหรับคุณเป็นอย่างไร

สำหรับปิ่น เสียงที่ดีคือเสียงที่ดึงดูดคนฟัง และสนับสนุนให้เขารู้สึกถึงความมั่นใจของตัวเองได้

เสียงที่ดีจะดีต่อธุรกิจด้วย เพราะในธุรกิจต้องการความน่าเชื่อถือ เสียงที่เราพูดจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเรากับคนอื่น เราดูมั่นใจหรือไม่มั่นใจ สิ่งเหล่านี้มาจากเสียงทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น นักธุรกิจเองที่มั่นใจคือคนที่เข้าใจในเสียงของเรา เลือกใช้โทนเสียงที่ถูกต้อง และแตกต่างในสถานการณ์ต่างๆ เพราะมันมีความสำคัญต่อคนฟังอย่างมากโดยที่พวกเขาอาจไม่เคยรู้

คลาสการใช้เสียงต่างจากคลาสการพูดอย่างไร

ปกติเท่าที่เห็นคนไปเรียนคือคลาส Public Speaking เขาสอนเรื่องการมองตา วางมือ ทำยังไงให้ดูน่าเชื่อถือ แต่คลาสของปิ่นไม่ใช่แค่เรื่องนี้ มันคือเรื่องเสียงของคุณ และการใช้มันให้เป็น มันเป็นคนละศาสตร์กัน

ขุดเข้าไปลึกอีกหน่อย มันคือการที่เรารู้จักก่อนว่าเสียงที่ทุกคนบนโลกมีเหมือนกันคืออะไร เช่น เสียงต่ำ เสียงกลาง เสียงสูง ถ้าเกิดเราต้องการความน่าเชื่อถือในการพูดคุย เราอาจต้องพูดเสียงต่ำเพื่อให้ดูหนักแน่น แต่ถ้าเราพูดโทนกลางๆ มันจะดูสดใส มีความรู้ เหมาะกับการอธิบาย และเมื่อไหร่ก็ตามที่พูดเสียงสูง จะทำให้เราดูเด็กขึ้น

ที่ผ่านมา ปิ่นค่อนข้างสอนคนหลากหลายแบบ เด็ก ผู้ใหญ่ ไฮโซ นักธุรกิจ ศิลปินที่เพิ่งเริ่มใหม่ ศิลปินที่เก่งมาก คนที่จะกำลังเตรียมพรีเซนต์ หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ‘ก็ฉันเป็นคนแบบนี้นี่’ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะเราเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันและทำให้เราชินกับการใช้เสียงแบบนั้น จริงๆ เสียงของทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ตามต้องการหมดเลย

ไม่ใช่แค่เรื่องโทนเสียง แต่สิ่งที่ปิ่นสอนเพิ่มเข้าไปคือเรื่องจังหวะการหยุด เวลาเราพูดไปเรื่อยๆ แล้วหยุด คนจะฟังมากขึ้นทุกที แต่หลายคนอาจไม่ค่อยกล้าหยุดเท่าไหร่ มันเป็นทริกที่สำคัญมากที่เราจะเรียนรู้ว่าควรหยุดตรงไหนเพื่อทำให้เราได้เอนเกจจากคนฟังมากขึ้น 

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ เราไม่ได้ฝึกพูดอย่างเดียว แต่ฝึกฟังด้วย ถ้าต้องร้องเพลงก็ต้องฟังให้ละเอียดจนก๊อปได้ ให้รู้ว่าเขาเสียงยังไง  สำหรับปิ่นมันคือสกิล ถ้าคุณฟังละเอียด คุณก็จะเข้าใจตัวเองได้เร็ว

เพนพอยต์และโอกาสทางธุรกิจที่คุณมองเห็นคืออะไร

ตัวปิ่นเองมีปัญหาเรื่องเส้นเสียงด้วย ไปหาหมอมาทุกสถาบัน คิดไปคิดมาก็พบว่า จริงๆ นักร้องที่ใช้เสียงเยอะสุดๆ เขาต้องมาแก้ปัญหาจากต้นตอว่าคุณใช้เสียงอย่างไร เข้าใจร่างกายตัวเองหรือเปล่า

ปิ่นเริ่มจากการสอนคนที่รู้จักส่วนตัวก่อน  ทุกคนที่มาก็บอกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด พอนักเรียนรู้สึกว่าเขาได้ประโยชน์จากการเรียนกับปิ่นจริงๆ ทุกคนเลยเริ่มบอกต่อกัน ทำให้มีคนมาเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ปิ่นจึงตัดสินใจขยายทีม และ เปิดโรงเรียนที่ชื่อว่า Vocal Academy

ตอนที่เปิด ตลาดโรงเรียนสอนร้องเพลงและใช้เสียงมีการแข่งขันกันสูงไหม และคุณมีวิธีอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจของคุณโดดเด่นขึ้นมา

สูงมากค่ะ แต่คู่แข่งอื่นๆ เป็นโรงเรียนสอนดนตรีทั่วไป หรือไม่ก็เป็นคุณครูดนตรีสอนตัวต่อตัวโดยไม่ได้เปิดโรงเรียน สิ่งที่ทำให้ Vocal Academy แตกต่างคือการ position ตัวเอง

ปิ่นจบมาจากเมืองนอกที่สอนเรื่องดนตรีอย่างมีคุณภาพมาก ปิ่นพูดได้ 3 ภาษา มีคอนเนกชั่นและความรู้ สำหรับปิ่น คอร์สเรียนที่นี่จะสอนแบบประเทืองปัญญา คือไม่ใช่สอนแล้วอยู่ที่เดิม หรือสอนเพลงง่ายเหลือเกินซ้ำไปซ้ำมา ปิ่นไม่ทำ ปิ่นอยากสอนในสิ่งที่ปิ่นมีและใช้มันกับคนที่อยากเรียนจริงๆ เพราะฉะนั้น เงินที่จ่ายก็แมตช์กับสิ่งที่ปิ่นมี 

กลายเป็นว่าเราไปได้ และถ้าเราไปได้ ทีมปิ่นก็ต้องไปให้ได้เหมือนกัน เพราะปิ่นรู้สึกว่าอาชีพนักดนตรีไม่ควรเป็นอาชีพที่ทำเล่นๆ ขนาดนั้น เสียงของพวกเราก็มีมูลค่าเป็นล้าน

แล้วใครคือลูกค้าของ Vocal Academy บ้าง แค่เฉพาะนักร้องนักดนตรีหรือเปล่า

มีตั้งแต่เด็กที่อยากเรียนเพื่อไปแข่งหรือสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรืออะไรก็ตามที่แข่งหรือสอบเพื่อเก็บพอร์ทฯ ไปจนถึงสอนคนที่ไม่มีทักษะร้องเพลง มาเรียนเพื่อคลายเครียด หรือคนที่กำลังจะแต่งงานแล้วอยากร้องเพลงเซอร์ไพร์ส รวมถึงสอนศิลปินที่เป็นโปรเจกต์ลับกำลังจะเดบิวต์ บางโปรเจกต์เป็นระยะยาว บางโปรเจกต์เป็นระยะสั้น ศิลปินบางทีกำลังจะมีคอนเสิร์ต เราก็ไปช่วยเขาจนถึงหยดสุดท้ายก่อนจะขึ้นเวที 

สอนไปจนถึงคนทำงานทั่วไป และกลุ่มนักธุรกิจ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะใช้เสียงเพื่ออะไร สมมตินักธุรกิจอยากร้องเพลงในงานอีเวนต์ ปิ่นจะทำให้เขาร้องเพลงนี้ได้ใน 5 ชั่วโมง เพราะเข้าใจว่าเวลาของนักธุรกิจมีน้อย โดยจะซ้อมไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาเกิดความมั่นใจ 

หรือถ้าเขาอยากเรียนเพื่อคุยกับลูกค้า อยากรู้จักเสียงตัวเองมากขึ้น ปิ่นก็จะวิเคราะห์ก่อนว่าเขาทำงานอะไร คนที่เขาคุยด้วยเป็นคนประมาณไหน แล้วก็จะให้เขาทำแบบฝึกหัด ให้รู้จักเสียงของตัวเอง พอยต์ของการเรียนของทุกคนก็คือรู้จักเสียงของตัวเองมากขึ้น

เหมือนว่า Vocal Academy ไม่ใช่แค่สอนความรู้ แต่สอนให้เชื่อในตัวเองด้วย

ใช่ ปิ่นเรียกมันว่าการบริหารพรสวรรค์ 

จากที่ปิ่นเคยสอนมา นอกจากจะสอนความรู้ Know-How ให้ศิลปินรู้สึกว่าเขาเก่งขึ้น ปิ่นพบว่าตัวนักเรียนแต่ละคนมีโจทย์ที่ต่างกันหมดเลย หลังจากนั่งคิดวิเคราะห์จริงๆ ว่าธุรกิจของปิ่นทำอะไร งานของปิ่นมันคือการบริหารพรสวรรค์ของคน เป็นการดึงศักยภาพของเขาออกมาให้มากที่สุด ทำให้เขาเก่งขึ้นไปอีก

กรณีที่ปิ่นเจอมีหลายแบบ อย่างแรกคือคนที่เก่งแต่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง เขารู้สึกว่าเขาน่าจะไปได้อีก มีสาเหตุที่ทำให้เขารู้สึกแบบนั้นอยู่ 2 อย่าง คือโดนด่าจนช้ำจนเสียกำลังใจและสงสัยตัวเอง หรืออาจไม่เคยมีใครบอกตรงๆ ว่าเขาควรพัฒนาต่อตรงจุดไหน ซึ่งการไม่พูดตรงๆ กับคนที่เก่งจะทำให้เขาสูญเสียพรสวรรค์ของเขาไป สิ่งที่เราต้องทำคือสนับสนุนเขาให้ตรงจุด ให้โจทย์เขาแบบค่อยเป็นค่อยไป ง่ายบ้าง ยากบ้าง ทำให้เขามั่นใจมากขึ้น

กรณีที่ 2 คือคนที่ทำเก่งหมดทุกอย่าง แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเก่ง ทำให้คนรอบข้างคาดหวังและกดดันเขา คนแบบนี้จะมีความรู้สึกหลงทางอยู่ในใจว่าเขาทำทำไม เขาไม่มีเป้าหมาย และเบื่อง่าย เคสนี้หนทางแก้ไขคือจะไม่ยัดความรู้ให้เขา แต่จะเปิดคอร์สการเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น การฟังเพลงแบบใหม่ เรียนรายละเอียดการร้องแบบอื่นๆ ที่จะทำให้เขาออกจากกรอบความเก่งของตัวเอง เพื่อที่จะทำให้เขาเจอความท้าทายใหม่ และจะทำให้เขาเจอเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น เป็นจุดที่ทำให้เขาเปล่งประกาย 

กรณีที่ 3 คือคนที่มีพรสวรรค์แต่มีความมั่นใจมากเกินไป ปิ่นเข้าใจคนที่มีอีโก้ดี (หัวเราะ) เพราะเขาจะรู้ว่าตัวเองทำอะไรแล้วดี ซึ่งหากเราเจอคนประเภทนี้อาจจะทำให้ทำงานด้วยกันยาก วิธีแก้ไขคือ เราจะไม่มาคุยกันในเรื่องที่เราต่างคนต่างรู้อยู่แล้ว แต่เราจะซัพพอร์ตเขาทางความรู้สึก รับฟัง และให้กำลังใจกับเขา วิธีนี้จะทำให้คนที่เป็นเหมือนน้ำเต็มแก้วเขาลดระดับน้ำของตัวเองลงมา และทำให้เขาที่เก่งอยู่แล้วมีแรงบันดาลใจว่าเขาจะทำให้เก่งขึ้นได้

การจำแนกคนเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการใช้เสียงเท่านั้น แต่ช่วยเป็นหลักคิดในการใช้ชีวิตได้เลย และมันจะแสดงออกมาทางเสียงนั่นแหละว่าเขามีพัฒนาการหรือเปล่า

ทั้งนี้ทั้งนั้น หลักการบริหารพรสวรรค์ของปิ่นจะเน้นให้ทุกคน win-win กันทุกฝ่าย ทั้งค่ายเพลง นักเรียน และปิ่นเอง โดยปิ่นเน้นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ค่ายก็จะได้ตามที่หวัง ศิลปินแก้ปัญหาได้และรู้ว่าเขาพัฒนาต่อยังไง  ปิ่นเองก็จะได้รับความไว้วางใจจากค่ายและศิลปินด้วย

คุณดูเป็นนักธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจด้วยแพสชั่น มีจุดไหนที่รู้สึกว่าแพสชั่นหมด เหนื่อยจนไม่อยากสู้ต่อบ้างไหม

เยอะค่ะ จุดที่ท้อบ่อยมากๆ คือโดนดูถูก ด้อยค่าอาชีพ อาจจะไม่มีใครตั้งใจดูถูกด้วยซ้ำ แต่ปิ่นรู้ว่ามันมีไวบ์แบบนั้นอยู่ เช่น การถามว่าเป็นนักร้องโอเปร่าเหรอ ร้องที่ไหนล่ะ หรือถามว่าเป็นครูเหรอ ร้องเพี้ยนสอนได้ไหมอะ เพลงอิ๊ง วรันธร ร้องยากไหม ซึ่งจริงๆ ปิ่นทำมากกว่านั้นเยอะมากๆ 

ปิ่นมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวทดสอบจิตใจ ทำให้เราท้อได้ง่าย แต่ถ้าท้อปุ๊บคือร่วงเลย ถ้าเราไม่ท้อ ทำไปเรื่อยๆ แล้วรู้ว่า position และคุณค่าของเราอยู่ตรงไหน สุดท้ายลูกค้าจะรู้ว่าเราทำอะไร ผลงานของเราจะส่งเสริมเขาได้อย่างไร สุดท้ายมันก็จะกลับมาเป็นแง่บวกกับปิ่นอยู่ดี 

ทักษะสำคัญที่คุณใช้ในการบริหารธุรกิจคืออะไร

การพูดคุยและการต่อรอง หนึ่งวันพันเหตุการณ์ ปิ่นดูแลเด็กเป็นร้อย ผู้ปกครองและคนในค่ายอีก ปิ่นทำงานกับคนตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ยากที่สุดคือการรู้ position ของตัวเอง และกลับมาแก้ไขปัญหาในสถานกาณณ์ต่างๆ ให้ได้ ปิ่นเรียนรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก เพราะปิ่นเคยเห็นหัวหน้าห้องและเด็กกิจกรรม เลยอาจจะสั่งสมมากค่อนข้างเยอะ 

อีกคนที่มีอิทธิพลมากคือคุณพ่อ พ่อของปิ่นเป็นนักธุรกิจ เขาจะสอนเราตลอดไม่ให้เอาเปรียบใคร แต่ก็อย่าให้ใครมาเอาเปรียบเรา เราเลยมีความนักสู้ในตัวตลอด

มีบทเรียนสำคัญอะไรที่คุณได้เรียนรู้จากการเปลี่ยนหมวกศิลปินมาเป็นนักธุรกิจบ้างไหม

จริงๆ ได้มาจากคุณพ่อเหมือนกัน คุณพ่อบอกบ่อยๆ ให้กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ และไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือ ชีวิตของคนเราสั้นมาก บางครั้งถึงจะมีเงิน ก็ไม่สำคัญเท่าโอกาสที่อยู่ตรงหน้า อะไรที่คิดว่าทำไม่ได้ มันเป็นไปได้นะ แค่ลงมือทำ

คุณพ่อชอบบอกว่าถ้าไม่ทำแล้วจะรู้ไหม แค่นั้นเลยจริงๆ เราลองทำออกมาก่อน ลองก้าวออกจาก Comfort Zone ของตัวเองก่อน สุดท้ายผลก็จะตอบกลับมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

อย่างปิ่นเองเป็นนักดนตรีมาตลอด พอก้าวออกมาจากคอมฟอร์ตโซนแล้วมันจะมีจุดที่เราดันเพดานตัวเองไปเรื่อยๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้คือทำไปเถอะ เพราะถ้าไม่ทำ คนก็จะไม่เห็น ปิ่นว่านี่คือเรื่องสำคัญ

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like