Global Citizen Fashion
tISI แบรนด์สโลว์แฟชั่นสีพาสเทลที่วางขายในร้านมัลติแบรนด์สุดอินดี้ที่ต่างประเทศ
tISI (ธิซายด์) เป็นแบรนด์สโลว์แฟชั่นจากสีย้อมธรรมชาติน้องใหม่ที่มีอายุแบรนด์เพียง 2 ปี แต่ได้วางขายที่มัลติแบรนด์ซึ่งรวมแบรนด์แฟชั่นสุดอินดี้ในต่างประเทศอย่างร้าน Rhubarb Store ที่อังกฤษ และ No Borders Shop ที่อินเดีย
แบม–ธันยพร กิจจาเสถียรพันธุ์ เจ้าของแบรนด์ tISI ได้แรงบันดาลใจในการทำแบรนด์จากความชอบในประเทศอิตาลีทั้งภาษา วัฒนธรรมและแฟชั่นจนเกิดความฝันอยากสร้างแบรนด์แฟชั่นที่ทั้งเท่ เก๋และคำนึงถึงความยั่งยืนผ่านการอนุรักษ์งานคราฟต์

“ด้วยความชอบส่วนตัวคือเราชอบพวกสินค้าออร์แกนิกที่ผลิตจากธรรมชาติมานานแล้ว พอมีโอกาสได้เรียนด้านแฟชั่นแล้วได้ทำงานคราฟต์เยอะ ทั้งปัก ทอ ถัก ก็เลยทำให้กลับไปนึกถึงตอนเด็กๆ ก่อนที่เราจะต้องเรียนหนักๆ ก็เลยอยากทำงานทำมือในนามแบรนด์ของตัวเอง ยิ่งพอได้ทดลองทำงานย้อมธรรมชาติ ก็เลยรู้สึกว่าแบรนด์เสื้อผ้าทุกวันนี้ยังไม่ค่อยมีเสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติในดีไซน์ที่เราชอบเลย”
แบมบอกว่าต่อให้ไม่มีต้นทุนหรือเงินเลยก็อยากปั้นแบรนด์ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกสนุกกับงานออกแบบเสื้อผ้าตรงนี้ให้ได้และอยากอยู่กับมันให้นานที่สุด เธอจึงเริ่มต้นเส้นทางการทำแบรนด์ tISI เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ made by hands จะทำให้เกิดความยั่งยืนที่สุดทั้งในแง่ธุรกิจและความสุขของตัวเอง

Life Wisdom
Italian Art & Craft
แบ็กกราวนด์ของแบมไม่ใช่สายแฟชั่นดีไซน์ตั้งแต่แรก เธอเรียนคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอิตาเลียนซึ่งต้องเรียนทั้งภาษาและวัฒนธรรมอิตาลี แต่การซึมซับวัฒนธรรมอิตาลีผ่านมุมมองของการเรียนภาษานี้เองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นในความชื่นชอบด้านศิลปะจนต่อยอดกลายเป็นความรักด้านแฟชั่น
“ตอนที่เรียนอักษรศาสตร์ อาจารย์เคยยกตัวอย่าง art movement ของศิลปินต่างๆ และเล่าเรื่องการทำศิลปะในชีวิตประจำวันของคนยุคนั้น มีเคส Versace ศิลปินที่เอาแรงบันดาลใจจากงานศิลปะมาถ่ายทอดบนเสื้อผ้าลายปรินต์ เราที่ชอบการแต่งตัวอยู่แล้วก็เลยเริ่มรู้สึกว่าการเรียนศิลปะสามารถเชื่อมโยงไปสู่การทำแฟชั่นได้นะ ทำลายผ้าแล้วเอามาทำเป็นเครื่องแต่งกายได้”
แบมตัดสินใจบินลัดฟ้าไปอิตาลีเพื่อเรียนต่อปริญญาโทด้าน Business of Fashion ควบคู่กับการทำงานฝ่าย Fashion Buyer (นักวางแผนและจัดซื้อสินค้าแฟชั่น) ให้ร้านมัลติแบรนด์เล็กๆ ที่อิตาลีที่รวบรวมแบรนด์แฟชั่นลักชัวรีชื่อดัง เช่น Gucci, Prada, Valentino, Max Mara ฯลฯ มาขาย


“ตอนทำงานที่อิตาลี ด้วยความที่ธุรกิจเขาค่อนข้างเล็ก เราเลยได้เรียนรู้ว่าเขาจัดการธุรกิจยังไง คนอิตาลีเป็นคนชิลล์ๆ เหมือนคนไทยนี่แหละ แต่เรารู้สึกว่าธุรกิจส่วนใหญ่ของเขามักเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่สเกลขายทั่วโลกได้ เขามักจะทำงานคราฟต์เองแล้วก็ค่อยๆ โตไปเรื่อยๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้มาเลยน่าจะเป็นเรื่องของการใส่ใจในโปรดักต์ของตัวเองจริงๆ และเชื่อมั่นว่าโปรดักต์ดีโดยที่สามารถขายตัวมันเองได้
“ด้วยความที่บริษัทที่เราทำงานตั้งอยู่ข้างหลัง Duomo di Milano ที่เป็นแลนด์มาร์กของเมืองมิลาน และตรงนั้นมีช้อปปิ้งสตรีทอยู่ เราก็จะเดินผ่านทุกวันแล้วชอบไปแวะดูตามร้านต่างๆ ว่าเขาขายอะไร จัดวางสินค้ายังไง อย่างเช่น การจัดดิสเพลย์ของห้างสรรพสินค้า La Rinascente ที่เข้าถึงง่าย แล้วมักจะชวนดีไซเนอร์หน้าใหม่สลับกันมาจัดแสดงผลงานในห้างที่เป็นระดับท็อปในมิลาน มันมีความเข้าถึงง่ายในแง่ที่ว่าเราเดินเข้าไปเลือกซื้อของได้เลยโดยไม่ได้กั้นเป็นช็อปต่างๆ”
การเปิดโลกแฟชั่นที่อิตาลีและประสบการณ์ทำงานในบทบาท fashion buyer ทำให้แบมได้เห็นอุตสาหกรรมแฟชั่นในมุมที่กว้างมากขึ้น เมื่อกลับไทยมาก็ยังหลงใหลแฟชั่นจนลงเรียนด้านออกแบบแฟชั่นดีไซน์เพิ่มเพื่อศึกษาเรื่องเทคนิคเพิ่มเติมในการออกแบบแพตเทิร์นเสื้อผ้าจนรู้รอบและรู้ครบทั้งเชิงความรู้ในการทำธุรกิจและในเชิงปฏิบัติ

Local Wisdom
Heritage Palette from Nature
ถึงแม้จะเคยเรียนและเคยทำงานด้านแฟชั่นมามากแค่ไหน แต่สิ่งที่เรียนในห้องเรียนใดไม่ได้ ศึกษาจากหนังสือเล่มไหนไม่ได้คือภูมิปัญญาของงานคราฟต์ และชุมชนบ้านสันดินแดง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ที่ห่างไกลข้ามทวีปจากอิตาลีแห่งนี้เองที่เป็นห้องเรียนแห่งสำคัญที่ทำให้แบมเริ่มต้นสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา
หากเห็นเสื้อผ้าคอลเลกชั่นต่างๆ ของ tISI สิ่งที่เตะตาเป็นอย่างแรกเลยคือสีสันที่มีความละมุนจากธรรมชาติ เบื้องหลังเฉดสีเหล่านี้ล้วนเป็นเฉดที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับแบรนด์โดยเฉพาะจากชุมชนบ้านสันดินแดงแห่งนี้เอง
“สีย้อมธรรมชาติของที่นี่จะเป็นโทนพาสเทลจากพืชท้องถิ่นแถบนั้นหมดเลย ซึ่งเรามองว่ามันมีความสวยในตัวของมันเอง เป็นสีที่ได้มาจากการเก็บเปลือกไม้ในป่า กะเทาะออกมา เสร็จแล้วเอามาล้างแล้วแช่ในถังไว้ ซึ่งความเข้ม-อ่อนบางทีก็ขึ้นอยู่กับเปลือกไม้ด้วย แช่เสร็จแล้วก็เอามาต้มในหม้อ เอาเปลือกไม้ไปกรองออก นำผ้าฝ้ายมาย้อมและบีบน้ำออก มันจะติดสี แต่ถ้าอยากได้สีที่เข้มขึ้นก็ต้องมาทำใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราตากไว้แล้วย้อมกี่รอบ กี่สี เอาหลายสีมาผสมกันได้”


ชื่อสีเหล่านี้จึงมีเอกลักษณ์ บางสีเป็นคำศัพท์ภาษาปกาเกอะญอ อย่างสีฟ้านางแมวป่า สีเขียวจากเปลือกเพกา สีแดงจากฝาง สีชมพูตุ่นจากฝางและใบสัก
หลังจากย้อมสีธรรมชาติจากป่าเขาเสร็จ ชาวบ้านจะนำผ้ามาทอเป็นผืนด้วยกี่เอว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทอเฉพาะของชุมชนบ้านสันดินแดงที่ใช้กี่ขนาดเล็กพิเศษ โดยในชีวิตประจำวันชาวบ้านจะใช้การทอลักษณะนี้ในการทอเสื้อผ้าผืนเล็กให้ลูกใส่ไปโรงเรียนหรือทอเป็นผ้าผืนพิเศษสำหรับงานแต่งงาน
แบมบอกว่าเธอไม่ได้เปลี่ยนกระบวนการทำงานของชาวบ้านเท่าไหร่เลย แค่เป็นคนเริ่มต้นออกแบบคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชั่น ตั้งต้นไอเดียเฉดสีที่อยากทำแล้วร่วมพัฒนากับชาวบ้านในชุมชน โดยชาวบ้านเป็นคนต่อยอด แกะลวดลายและพัฒนาสีเฉพาะสำหรับแบรนด์ออกมา
“เรารู้สึกว่าความพิเศษของที่นี่คือชาวบ้านพร้อมที่จะทดลองไปกับเรา เขาเป็นเหมือนศิลปินหรืออาร์ทิสต์ที่ชอบทดลองเรื่องสี ไม่ว่าเราจะดีไซน์อะไรไปเขาก็จะไปทดลองให้ได้ ชุมชนที่นี่มีกันประมาณ 30-40 คนและอยู่กันแบบเรียบง่ายมากๆ ทุกคนรู้จักกัน ช่วยเหลือและพึ่งพากัน“
เช่น สมมติว่าเดี๋ยวเราจะต้องทอผ้าสีชมพู เขาก็จะมาช่วยกันทำทั้งหมู่บ้าน ใครทำอะไรได้ เช่น ปักเก่ง ก็จะอาสาเป็นคนปักให้ ผู้หญิงจะทอผ้า ตากผ้า ผู้ชายก็จะไปหาพืชสำหรับย้อมสีมาให้เพราะต้องเข้าไปในป่า ก็ช่วยเหลือกันตลอด”

นอกจากย้อมผ้า ชาวบ้านสันดินแดงยังปักผ้าลายพิเศษได้ เช่น ลายปักเกล็ดนิ่ม ซึ่งจะเห็นลวดลายเหล่านี้ในบางคอลเลกชั่นของแบรนด์ โดยแบมยังชวนชุมชนอื่นๆ มาทำงานร่วมกันในบางคอลเลกชั่นเพื่อผสานหลายเทคนิคของชุมชนให้เกิดแฟชั่นที่สนุก เช่น การใช้เทคนิค Indian Block Print ไปจนถึงการพัฒนาเฉดสีจากชุมชนแถบอีสานที่ทำให้โทนสีและเนื้อผ้าออกมาไม่เหมือนกัน เป็นต้น
“สุดท้ายแล้ว เราอยากจะโชว์ว่านี่คือ heritage ของเมืองไทยและโชว์ว่าเราทำอะไรได้บ้าง เพราะว่าคีย์ของเราคือเราต้องการ speak out ว่านี่คือแบรนด์ของเมืองไทยที่ไปขายต่างประเทศได้”


Business Wisdom
It’s Me & We
ชื่อแบรนด์ tISI (ธิซายด์) มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณที่มีความหมายว่า ‘It’s me’ ที่แปลว่า ‘ตัวตนของฉันเอง’ เพราะแบมต้องการสื่อสารให้ลูกค้าและคนที่ชื่นชอบแบรนด์เห็นว่าเมื่อใส่เสื้อผ้าของ tISI แล้วมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ใส่แล้วสามารถเป็นตัวของตัวเองได้
“เราใส่ความชอบของตัวเองลงไปในแบรนด์ อย่างความชอบในงานคราฟต์ เสื้อผ้าออร์แกนิกจากสีธรรมชาติที่ทำด้วยมือแบบ slow-made, slow-fashion เรายังเป็นคนที่ชอบยีนส์เดนิมและเสื้อผ้าวินเทจแบบที่ผู้ชายใส่ แต่ส่วนใหญ่แล้วเสื้อผ้าแนวนี้จะมีสไตล์ที่มีความเป็นผู้ชายสูงมากและใครๆ ก็ใช้ผ้าเดนิมเหมือนกันหมดเพราะมีตัวเลือกของผ้าให้ใช้ไม่ค่อยเยอะ พอใส่ออกมาแล้วบางทีจะมีปัญหาว่าใส่แล้วดูแน่น อัดอัด ใส่ออกมาแล้วไม่ค่อยสวย เลยคิดว่าถ้าเราทำเสื้อผ้าเดนิมออกมาอีก ตลาดก็มีขายอยู่แล้ว
“ตอนเริ่มต้นคิดแค่ว่ายังไม่มีแบรนด์เสื้อผ้าแบบที่ตัวเองชอบ เลยคิดว่าถ้าเราทำเสื้อผ้าที่คล้ายยีนส์แต่มีลูกเล่นมากขึ้น ไม่ได้มีแค่สีฟ้า สีน้ำเงินจะเป็นยังไง ดังนั้นถ้าเห็นเสื้อผ้าของ tISI มันเลยจะเป็นสไตล์ military wear หรือ workwear ต่างๆ ที่มีฟังก์ชั่นและออกแนวคล้ายยูนิฟอร์ม”


แม้ความหมายของแบรนด์จะสื่อถึงคอนเซปต์ It’s Me แต่กระบวนการทำงานหลังบ้านของชุมชนคือ It’s We ที่ไม่ยึดติดกับวิถีดั้งเดิมของตัวเอง แต่พร้อมเปิดกว้างและปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกัน เพราะเมื่อแปรเปลี่ยนงานคราฟต์มาเป็นแบรนด์แฟชั่นเต็มตัวก็ต้องเพิ่มกระบวนการบันทึกเฉดสีที่ย้อมในแต่ละครั้งเพื่อให้ผลิตซ้ำได้ในเฉดเดิมและสื่อสารกันง่ายขึ้นจากที่แต่เดิมย้อมสีแบบครูพักลักจำ
แบมบอกว่าความท้าทายในการทำงานคราฟต์กับชุมชนคือทุกอย่างต้องใช้เวลา โจทย์สำคัญคือจะทำยังไงให้กระบวนการทำงานคราฟต์ที่เนิบช้าสามารถผลิตตามดีมานด์ของลูกค้าได้ทัน ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของ tISI คือการวางแผนล่วงหน้าอย่างละเอียดตั้งแต่แผนสต็อกสินค้าจนถึงดีไซน์คอลเลกชั่นต่างๆ เช่น ออกแบบคอลเลกชั่นสำหรับซีซั่น fall/winter และ sping/summer ล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่ถึงซีซั่นนั้นๆ เพื่อให้ชุมชนยังคงวิถีชีวิตสโลว์ไว้ให้ได้มากที่สุด

การใช้เวลาอย่างพิถีพิถันของงานคราฟต์นี้เองที่ทำให้แบรนด์ tISI จัดอยู่ในหมวดลักชัวรีที่แบมมองว่าอยากเป็นความหรูหราที่คนยังเข้าถึงได้ในราคาไม่ถูกและไม่แพงเกินไป
“ตอนตั้งราคา เราก็จะมองว่า ถ้าลักชัวรีสุดๆ จะขายได้ที่ราคาเท่าไหร่ และถ้าขายแบบถูกและแมสสุดๆ จะอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ แล้วก็มาดูว่าถ้าเราอยากให้คนเข้าถึงแบรนด์เราได้และรู้สึกว่าของเราดี จะทำยังไงให้คนไม่รู้สึกว่าราคาสูงเกินไปจนไม่เมคเซนส์ ช่วงราคาก็เลยอยู่ที่ราว 2,000 ต้นๆ ไปจนถึง 6,000-7,000 บาท แล้วแต่ความยากในกระบวนการทำ”
กว่าจะออกมาเป็นคอลเลกชั่นที่ออกแบบเองและทำงานร่วมกับชุมชนแบบนี้จึงต้องผ่านความใจเย็นในทุกขั้นตอน ไม่ใช่แค่ไม่ทำตามกระแสฟาสต์แฟชั่น แต่ไม่ทำธุรกิจแบบใจร้อนที่โตเร็วและจากไปเร็วด้วย
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำแบรนด์งานคราฟต์น่าจะเป็นเรื่องของความอดทน เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์หนึ่งขึ้นมา ถ้าจะทำอะไรขึ้นมาจริงๆ มันต้องมีความอดทนในแง่ที่ต้องอยู่กับมันให้ได้จริงๆ แบบที่เราไม่เบื่อมันไปเสียก่อน”


Global Citizen Tribe
ความฝันของ tISI คือเติบโตทั้งในต่างประเทศและไทย อยากวางขายในห้างสรรพสินค้าและป๊อปอัพสโตร์ที่ต่างประเทศอย่างสง่างามเคียงคู่กับแบรนด์ระดับโกลบอล โดยแบมเล่าว่าที่ผ่านมาลูกค้าของแบรนด์คือชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศที่รักงานคราฟต์ ให้คุณค่ากับความยั่งยืน มีจิตวิญญาณแบบอาร์ทิสต์ รักแฟชั่น
“ตอนนี้ที่ต่างประเทศจะมีวางขายที่ Rhubarb Store เขาเป็นร้านมัลติแบรนด์ที่อังกฤษซึ่งจะขายของเสื้อผ้าสไตล์ workwear และเขาต้องการแบรนด์คราฟต์ที่มีความยั่งยืน ซึ่งแบรนด์เราเป็น craft from Thailand ที่เขายังไม่มี ส่วนใหญ่เขาจะมีแบรนด์อินเดียเป็นหลัก มันทำให้เขารู้สึกว่าแบรนด์เราที่สไตล์มีความยูนิเซ็กซ์ ดูน่าสนใจ ส่วนอีกที่หนึ่งที่เราไปวางขายคืออินเดีย หลักๆ จะขายในแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่า ซึ่งก็จะมีไม่กี่แบรนด์ที่คราฟต์จริงๆ แล้วเราก็ได้เข้าไปอยู่ในนั้นด้วย”

ด้วยความที่เน้นขายนักท่องเที่ยว ทำให้แบมเลือกช่องทางวางขายในไทยที่ทำให้ลูกค้าพบ tISI ได้ง่ายและมักเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมักแวะไปอย่างเกษรอัมรินทร์, ร้านสารพัดไทยที่ One Bangkok, ร้าน All Kinds ที่ theCOMMONS Thonglor และป๊อปอัพสโตร์ที่เซ็นทรัลชิดลม
ถึงแม้จะมีลูกค้าจากหลายชาติ แต่แบมบอกว่าการที่ tISI เลือกฝากขายที่มัลติแบรนด์ในอังกฤษและอินเดียเป็นสองประเทศแรกก็เพราะลูกค้าที่นั่นให้คุณค่ากับงานคราฟต์และความยั่งยืนมาก
“จากที่เราเคยไปงานเทรดโชว์ เรารู้สึกว่าคนอังกฤษกับอินเดียค่อนข้างอินกับของที่มีความคราฟต์ ลูกค้าค่อนข้างใส่ใจว่าแบรนด์คุณแคร์ถึงโลกยังไงและสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้บ้าง เวลาเราไปร่วมงานอีเวนต์ป๊อปอัพ ร้านพวกนี้เขาจะซีเรียสมากและมีเกณฑ์กำหนดไว้เลยว่าแบรนด์คุณต้อง sustainable นะ ถ้ายังไม่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนก็ไม่รับวางขายนะ มันเลยไม่ค่อยมีแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นมาขายเท่าไหร่ หรือต่อให้คุณใช้ผ้าแบบฟาสต์แฟชั่นคุณก็ต้องเอามามิกซ์กับแนวคิดยั่งยืนบางอย่าง”


design philosophy ของ tISI จึงเป็นการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้วยหลักคิด sustainable is practical เพราะแบมมองว่าการอนุรักษ์งานคราฟต์ให้คงอยู่ยืนยาวคือการรักษาไม่ให้ภูมิปัญญาหายไป
“มองว่า heritage คือการสอนที่ส่งต่อกันมาชั่วลูกชั่วหลาน แม่ส่งให้ลูกแล้วลูกก็ส่งต่อให้ลูกหลานอีกทีหนึ่ง มันอาจจะไม่ได้เป็นการสอนในเชิงของบทเรียนหรือเป็นหนังสือ แต่เป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ในชุมชน ซึ่งถ้าเราแค่อนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ด้วยการวางทิ้งไว้เฉยๆ สักที่ใดที่หนึ่งมันจะเท่ากับว่าไม่สามารถรักษาไว้ให้มันคงอยู่ต่อไปได้”
การทำแบรนด์แฟชั่นให้สำเร็จสำหรับแบมจึงเป็นการออกแบบเสื้อผ้าที่อินเทรนด์และทำให้อยากใส่ทุกวัน ชวนให้คนสนใจเบื้องหลังสีสันของธรรมชาติและเรื่องราวของชุมชนที่งดงามจากแฟชั่นแม้อาจไม่ได้สนใจงานคราฟต์เลยตั้งแต่ต้นก็ตาม

Editor’s Note : Wisdom from Conversation
แบรนด์ tISI ตั้งต้นจากการสร้างแบรนด์ด้วยมายด์เซตแบบ global citizen ที่แม้จะใช้ภูมิปัญญาการย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนในไทย แต่ได้แรงบันดาลใจในการทำธุรกิจคราฟต์แล้วขยายให้ใหญ่ไปทั่วโลกและความรู้เรื่องการทำแบรนด์แฟชั่นจากอิตาลี ไปจนถึงการตั้งมิชชั่นที่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งที่พลเมืองโลกกำลังให้ความสำคัญ
คำว่า It’s Me สำหรับ tISI จึงไม่ใช่แค่ชุมชนงานฝีมือในไทยหรือดีไซน์ของคนไทยเท่านั้น แต่หมายถึงการผสานองค์ความรู้หลากหลายศาสตร์ (multidisciplinary) จากหลายประเทศที่ได้สัมผัสจากหลากวัฒนธรรม เปลี่ยน heritage palette จากธรรมชาติเพื่อสร้าง signature legacy จนกลายเป็นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง