TIME!

ทำสิ่งที่ชอบ แค่ในสนามที่เเข่งขันกับตัวเอง?

EP.3

Why do you need to compete

ในการเเข่งขัน brewers cup หรือการเเข่งขันชงกาแฟแบบ filter coffee ผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกวิธีที่ตัวเองต้องการนำเสนอมาใช้ในการแข่งขัน เช่น การดริปด้วยดริปเปอร์แบบต่างๆ, การใช้เครื่องชงแบบ syphon, aeropress ฯลฯ มีกติกาว่าผู้เข้าแข่งขันจะต้องพูดคำว่า time ก่อนเริ่มการเเข่ง เเละพูดอีกครั้งเพื่อบอกให้กรรมการรู้เมื่อการนำเสนอจบลง

time!

เรามักเคยได้ยินว่า เวลาที่เราลงมือทำตามแพสชั่น การเเข่งขันจะเกิดขึ้นแค่กับตัวเราเอง เท่านั้น

ที่น่าสนใจคือ เเล้วการเเข่งขันกับตัวเอง ควรจะหยุดอยู่แค่การเเข่งกับตัวเองจริงๆ หรือไม่

แน่นอนว่าการทำร้านกาแฟก็คือการทำธุรกิจ และในตลาดของธุรกิจก็มีผู้เล่นอื่นๆ มากมายที่เรานิยามเขาว่าคู่เเข่งขันทางธุรกิจ ดังนั้นการทำธุรกิจแม้จะมาจากสิ่งที่ชอบและหลงใหล หรือใครอาจจะตั้งเป้าหมายเป็นการแข่งขันกับตัวเอง ไม่มีทางที่เราจะหยุดอยู่ที่การเเข่งขันกับตัวเองได้จริงๆ

นอกจากการแข่งขันในเชิงธุรกิจหรือตลาดแล้ว ในวงการกาแฟก็มีการแข่งขันในการทำกาแฟเช่นกันทั้งการแข่ง barista (แข่งชงกาแฟโดยใช้เครื่องเอสเพรสโซ), brewers cup (แข่งชงกาแฟแบบ filter coffee), cup taster (แข่งชิมกาแฟ), roasting (แข่งคั่วกาแฟ) หรือแข่งลาเต้อาร์ต ฯลฯ

การเเข่งขันรายการต่างๆ เหล่านี้ในระดับโลกจะมีจัดอยู่ประจำทุกๆ ปี ผู้เข้าแข่งขันในระดับโลกจะมาจากผู้ที่ชนะในการแข่งขันระดับประเทศ

TIME
TIME

ดับลิน 2016

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 ผมได้เข้าไปชมการแข่งขันทั้ง barista และ brewers cup ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ในสายตาของการเป็นผู้ชม แน่นอนว่าในบรรยากาศแบบนั้น มันชวนจินตนาการว่าหากเราได้มาเป็นผู้เล่นในสนามแข่งแบบนี้ 

คงเป็นเรื่องที่น่าสนุก ตื่นเต้น และสามารถบอกได้ว่า

นี่คือประสบการณ์แบบ once in a lifetime หรือจะหลายๆ ครั้งก็ได้เพราะมีผู้เข้าแข่งขันมากมายที่เป็นแชมป์ในระดับประเทศ แล้วมาแข่งระดับโลก แล้วก็กลับมาแข่งอีกเรื่อยๆ 

บรรยากาศในปีนั้นค่อนข้างคึกคัก การได้ไปอยู่ในบรรยากาศการเเข่งขันระดับโลกทำให้เราได้เจอโรงคั่วต่างๆ ที่เราคอยติดตาม และที่สำคัญมันก็มักจะสร้างเเรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คน เพื่อที่สักวันหนึ่งจะได้มีโอกาสไปยืนอยู่ตรงเวทีเเบบนั้น

ผมจำได้ว่าในปีนั้นผมไปยืนอยู่หน้าเวทีของการเเข่งขัน brewers cup เพื่อดูผู้เข้าเเข่งขันที่มาจากหลายๆ ประเทศ 

ตอนนั้นก็เพียงเเค่คิดในใจว่า

ถ้าสักวันหนึ่งได้มาสัมผัสบรรยากาศบนเวทีเเบบนั้นก็คงดี

ผมทดความฝันนั้นไว้ที่ดับลิน

TIME
TIME

ในปีนั้นผมได้ลงเเข่งเป็นปีแรกเช่นกัน มันเกิดขึ้นก่อนที่งานเเข่งระดับโลกจะมีขึ้น 

ผมไม่ได้เป็นผู้ชนะไปแข่งระดับโลกในปีนั้น

ผมจึงตัดสินใจลงแข่งอีกสามครั้งต่อมา

เเละเวลาก็ผ่านไปอย่างช้าๆ…

2016

2017

2018

2019

และในปีที่สี่ ผมก็ได้ไปอยู่ในจุดที่ผมเคยวาดหวังไว้ 

การไม่ล้มเลิกไปก่อน มันทำให้ผมได้เข้าไปถึงจุดหมายที่เราหวัง สิ่งนี้เองที่ช่วยให้ผมได้ทบทวนว่า จริงๆ แล้วการทำตามแพสชั่นไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาเสมอคือการแข่งขัน

การเเข่งขันที่มากกว่าการแข่งขันกับตัวเอง

ในแต่ละปีที่ไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการตั้งข้อสงสัยในตัวเองว่าเราเหมาะกับสิ่งนี้จริงๆ ไหม หรือการลงเเข่งมันมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด

มันคือการตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เราทำ หลายคนคงเคยตั้งคำถามกับความสามารถของตัวเองในวันที่เราผ่านการทำสิ่งที่เรารักมาช่วงเวลาหนึ่ง แม้เราจะทำมันแทบจะทุกวันแต่เราก็ยังตั้งแง่กับตัวเองว่า

เราทำมันได้ดีพอแล้วหรือยัง? 

หรือ ผู้เล่นคนอื่นๆ ก็ทำได้ดีกว่าเรา

ผมสังเกตว่าเรื่องนี้มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนรอบตัวไม่ว่าคนเหล่านั้นจะทำงานเขียน ทำภาพยนตร์ เป็นนักเเสดง หรือทำงานบริหาร

การหาสนามให้ตัวเองลงแข่งจึงเป็นคำตอบที่ช่วยคลายความคลางเเคลงใจนี้ไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะไม่ว่าเราจะแพ้หรือชนะในสนามนั้นๆ ผลลัพธ์ที่ได้ตามมาคือ มันจะไม่ทำให้เราหยุดนิ่ง

เราจะพยายามค้นหาตัวตนที่ดีกว่าเดิมไปเรื่อยๆ

บอสตัน 2019

10 นาทีที่เคยฝันไว้ในชีวิต บนเวทีตรงนั้น นั่นคงเป็นคำที่ผมอยากพูดมากที่สุดเพื่อเป็นการกล่าวอำลาความสงสัยตัวเอง ด้วยการติ๊กถูกในหัวข้อการเเข่งขันที่ต้องการทำให้ได้ เพื่อข้ามไปยังข้อถัดๆ ไป

TIME!

(credit: instagram @picolofolkvento)

Writer

คนวัยเลขสาม บางวันชอบเขียน บางวันชอบทำกาแฟ เลยหาเรื่องเขียน และหากาแฟใส่ตัวอยู่เสมอ

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like