Future Skill

ทักษะแห่งอนาคตที่คนไทยควรมีคืออะไร?คำตอบจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในงาน CTC2024

“เศรษฐกิจไทยตกขบวนมาพอสมควร ตอนนี้สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องหาให้เจอคือไทยจะขึ้นรถไฟตอนไหน โบกี้ไหน เพราะเรากินบุญเก่าต่อไปไม่ได้อีกแล้ว” 

‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และอดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย กล่าวในเซสชั่น ‘Essential Skill for the Future’ ที่หลายคนจับตามองในงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2024 

คำถามสำคัญของเซสชั่นนี้คือ ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่กระเตื้องเท่าที่คิด ธุรกิจหลายเจ้าล้มหายตายจาก อันดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยก็รั้งท้ายลงทุกปีๆ อาชีพและทักษะแห่งอนาคตที่สำคัญจำเป็นมีอะไรบ้าง เพื่อให้คนเจเนอเรชั่นใหม่เอาตัวรอดได้ในสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือด 

พิธาให้ความเห็นว่าการจะตามหาทักษะแห่งอนาคตได้นั้น อาจต้องกลับมาตั้งต้นที่วิสัยทัศน์และเป้าหมายของไทยให้รู้ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และความเสี่ยงที่เจเนอเรชั่นใหม่ๆ กำลังเผชิญเพื่อไขคำตอบให้ได้ว่าทักษะใดที่จำเป็นต้องปลูกฝังให้แก่คนไทยรุ่นใหม่ 

จากการทำ SWOT Ananlysis ด้วยข้อมูล GDP ของไทย และมูลค่าการส่งออก ฯลฯ พิธาประมวลออกเป็นเศรษฐกิจ 3 สี ซึ่งทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และในระดับครอบครัวสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งสิ้น 

1. green economy หรือเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม

เนื่องด้วยปัญหาภาวะโลกรวนไม่ใช่ปัญหาไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ เศรษฐกิจสีเขียวนี้จำเป็นอย่างมากต่อการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น หากประชากรมีทักษะหรือประกอบอาชีพใต้ร่มเศรษฐกิจสีเขียวนี้ได้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งจุดพลิกของไทย ไม่ว่าจะอาชีพสถาปนิกอาคารสีเขียว (สถาปัตยกรรมที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม) นักการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ช่างยานยนต์ไฟฟ้า นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ นักจิตวิทยาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ

2. silver economy หรือเศรษฐกิจสูงวัย

ด้วยโลกและประเทศไทยเองกำลังเผชิญกับประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น และอัตราการเกิดที่ต่ำลง การมีนิเวศเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการรองรับปัญหานี้ที่น่าจะรุนแรงในอนาคตอาจเป็นผลดีทั้งต่อคนไทยเอง และอีกหลายประเทศที่มองไทยเป็นปลายทางของการเกษียณ ตัวอย่างอาชีพที่พิธายกให้ฟังว่าน่าสนใจและสำคัญ เช่น นักออกแบบไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุ พยาบาลวิชาชีพผู้สูงอายุ ที่ปรึกษาการวางแผนการเกษียณอายุ และนักสังคมสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุ ฯลฯ

3. blue economy หรือเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่หมายรวมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำและทะเล

แม้ดูไกลตัวแต่ที่จริงแล้วปัญหาทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งที่หลายประเทศเผชิญและต้องรีบแก้ไข ทักษะหรืออาชีพสำคัญที่พิธากล่าวถึง เช่น นักชีววิทยาทางทะเล ผู้เชี่ยวชาญพลังงานทดแทนทางทะเล วิศวกรชายฝั่ง นักวิเคราะห์นโยบายทางทะเล ช่างเทคนิคหุ่นยนต์ใต้น้ำ

พิธาอธิบายเพิ่มเติมว่าแม้อาชีพที่ยกตัวอย่างไปนั้นดูไม่เกี่ยวข้องกับ AI มากนัก แต่แท้จริงแล้วเครื่องมือที่ช่วยทำให้อาชีพเหล่านั้นทำงานได้โดยง่ายและแม่นยำคือ AI พิธายังยกตัวอย่างการใช้ AI ในเศรษฐกิจสีน้ำเงินให้เห็นภาพผ่านพื้นที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งถือเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยวที่โดยพื้นฐานแล้วควรมีสาธารณูปโภคครบครันเพื่อรองรับการท่องเที่ยว แต่กลับเจอปัญหาขาดแคลนน้ำด้วยมีน้ำรั่วไหลในระบบจำนวนมาก 

พร้อมกับยกกรณีศึกษา K-water (The Korea Water Resources Corporation) หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบพัฒนาทรัพยากรน้ำและจัดหาน้ำสาธารณะและน้ำอุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ ที่ใช้ AI วิเคราะห์จุดรั่วของน้ำ ทำให้ปัจจุบันเกาหลีใต้ไม่เพียงลดปริมาณการรั่วซึมของน้ำในระบบได้ แต่ยังเป็นกรณีศึกษาที่หลายประเทศนำไปเป็นต้นแบบ

นั่นหมายความในท้ายที่สุดแล้ว AI ยังเป็นทักษะสำคัญจำเป็นต่อทุกองค์กรในไทย เพราะถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจทำงานและวิเคราะห์ปัญหาอย่างตรงจุดได้ง่ายขึ้น ส่วนเศรษฐกิจ 3 สีที่ว่าก็อยู่บนพื้นฐานของเทรนด์โลกที่หนีไม่พ้น อย่างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านประชากร 

นอกจากเศรษฐกิจสามสีและ 30 กว่าอาชีพที่ยกตัวอย่างบนเวที งานนี้พิธายังชี้จุดต่างว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ประกอบกับปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่สามารถทำให้ต่างชาติมั่นใจมาลงทุนในไทยได้มากพอ การแก้เกมให้ไทยอาจไม่ใช่การกดราคาค่าแรงเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น แต่คือการค้นหาให้เจอว่าบุคลากรของไทยในทุกหน่วยธุรกิจพร้อมมากน้อยแค่ไหน

กลยุทธ์เช่นนี้ไม่ใช่การหาจุดแข็ง แต่คือการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หยิบเอาความท้าทายที่ไทยเผชิญหรือมี pain point มาเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย เมื่อถึงวันนั้น ไทยอาจเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมนั้นๆ จนสามารถแก้ไขปัญหาให้ประเทศอื่นได้เช่นเดียวกับที่ K-water ทำ เพราะหากกลับมามองที่ไทยเอง หากกล่าวว่าการท่องเที่ยวคือรายได้หลัก ก็คงเป็นรายได้หลักเฉพาะบางจังหวัดเท่านั้น ไม่ใช่รายได้หลักของคนทั้งประเทศอย่างที่เข้าใจ

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like