TikTok x กรมการพัฒนาชุมชน x #ช้อปได้ทุกถิ่น

TikTok x กรมการพัฒนาชุมชน กับภารกิจเพิ่มเสริมทักษะดิจิทัล และมูลค่า OTOP ไทย

ด้วยปริมาณของผู้ประกอบการ OTOP ที่มากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ กลายเป็นกลุ่มคนสำคัญที่พร้อมจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างมหาศาล โจทย์ใหญ่ในวันนี้จึงไม่ใช่การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ OTOP เติบโตได้ด้วยตนเอง เข้าใจตลาด เข้าถึงเทคโนโลยี การขายของออนไลน์ และใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้เต็มที่

โดยหนึ่งในภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ OTOP กับการเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมทักษะดิจิทัลคือ TikTok ทั้งการสื่อสาร ให้ความรู้ และฝึกฝนผู้ประกอบการ OTOP จนกลายเป็นนักขายออนไลน์มืออาชีพ ภายใต้โครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น โดยทำงานร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่มีเป้าหมายและนโยบายการทำงานสอดคล้องกัน

ในโครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น เป็นความร่วมมือระหว่าง TikTok Shop แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ภายใต้การดูแลของ TikTok และกรมการพัฒนาชุมชน ที่ต้องการปลดล็อกศักยภาพทางธุรกิจและโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือกลุ่ม OTOP และผลักดันให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและช่องทางดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการ OTOP ไทย

โดยกระบวนการของโครงการนี้อธิบายให้เห็นภาพคือ เริ่มต้นจากการที่ TikTok จะเป็นผู้ให้ความรู้ และส่งเสริมการเพิ่มช่องทางการขายบนแพลตฟอร์ม TikTok Shop โดยจะสอนตั้งแต่การดาวน์โหลด TikTok การแนะนำฟีเจอร์ต่างๆ ไปจนถึงการลงทะเบียนสมัครเป็นผู้ขายบน TikTok Shop ส่วนกรมการพัฒนาชุมชนจะทำหน้าที่รวบรวมผู้ประกอบการจากทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 5 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง นครราชสีมา นครศรีธรรมราช เพชรบุรี และสระบุรี ซึ่งในเฟสแรกมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 530 ราย มีสินค้ารวมกันกว่า 1,600 ชิ้น

TikTok Meet กรมการพัฒนาชุมชน 

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง TikTok ถึงต้องจับมือกับหน่วยงานรัฐ

เพื่อไขข้อสงสัย ชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy – Thailand, TikTok เล่าให้ฟังว่า การร่วมมือในครั้งนี้เป็นการลงนาม MOU ร่วมกัน เพื่อต้องการยกระดับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ ที่ภาครัฐกำหนดไว้ 7 ด้าน โดยหนึ่งในนั้นคือ Smart  Economy ที่มีกลุ่ม OTOP ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าว TikTok ต้องการยกระดับ SMEs ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มรายได้ให้ประเทศ รวมถึงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเชิงท้องถิ่น 

และอีกหนึ่งเป้าหมายของโครงการคือ การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าใช้ TikTok Shop เพื่อเพิ่มช่องทางการขาย และสร้างการรับรู้ไปสู่คนรุ่นใหม่ให้สนใจสินค้า OTOP มากขึ้น

ซึ่งการทำงานของโครงการนี้เกี่ยวกับผู้ประกอบการ OTOP โดยตรง และแน่นอนว่า TikTok เองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ในการทำธุรกิจที่กระทบต่อผู้ประกอบการ และผู้ค้าใน TikTok Shop อยู่แล้ว ทั้งเรื่องของการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ OTOP มีทักษะดิจิทัล เข้าใจเทรนด์พฤติกรรมของนักช้อปออนไลน์ และใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างรายได้ให้เหล่าครีเอเตอร์ในแพลตฟอร์มด้วยการทำ affiliate ขายสินค้า OTOP

โดยวิธีการที่ TikTok ใช้ในการสร้างทักษะดิจิทัลให้ผู้ประการ OTOP คือการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการ เดินสายจัดโร้ดโชว์ใน 5 จังหวัด สอนทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกัน TikTok ก็นำครีเอเตอร์ลงพื้นที่ไปด้วย เพื่อสอนทำคอนเทนต์ สอนติดตะกร้า และทำไลฟ์สตรีม ซึ่งในโครงการดังกล่าว ยังมีการจัดแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน และได้ผู้ชนะทั้งสิ้น 50 ร้าน โดยทาง TikTok จะช่วยโปรโมตผ่านไลฟ์ โดยมี นลิน–ฉัตร์ณลิณ โชติจิรวราฉัตร รองอันดับ 1 Miss Universe Thailand ปี 2023 และ Miss Intercontinental ปี 2023 เป็นแขกพิเศษรสำหรับโครงการนี้

กว่าจะมาเป็นโครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น ที่เห็นวันนี้ TikTok ได้เข้าไปศึกษาและคลุกคลีอยู่กับผู้ประกอบการ OTOP จนได้รู้ว่า จุดอ่อนของสินค้า OTOP อยู่ที่ช่องทางการขาย หรือต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ลูกค้าต้องจ่ายแพงขึ้น แต่ถ้าผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตขายเองก็ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้า และสามารถซื้อ-ขายได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นข้อดีของการขายของผ่านออนไลน์ เพราะอย่างไรก็ตาม การค้าอีคอมเมิร์ซถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่สร้างมูลค่าเม็ดเงินมหาศาล

ชนิดาเล่าว่า “เป้าหมายของ TikTok สำหรับการทำโครงการนี้ไม่ใช่เพื่อสร้างรายได้ แต่เป็นการสร้างการรับรู้ให้คนทั่วไปรู้ว่าสินค้า OTOP มีจำหน่ายใน TikTok Shop แล้ว โครงการช้อปได้ทุกถิ่นจึงเป็นเหมือนการเปิดประตูให้ว่าจริงๆ แล้วไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ช้อปได้ทุกที่ และฝั่งคนขาย ก็ขายได้ทุกที่เหมือนกัน”

จนกระทั่งในช่วงต้นปี TikTok ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับกรมการพัฒนาชุมชน ที่นับว่าเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ OTOP ที่สุด ในฐานะที่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย มี TikTok Shop ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก และเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายได้จริง นอกจากจะช่วยเพิ่มช่องทางการขายแล้ว ชนิดายังบอกอีกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ TikTok ทำแคมเปญกับกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เนื่องจากแต่ละคนมีความรู้ความเข้าใจแตกต่างกัน มีทักษะการใช้ดิจิทัลไม่เหมือนกัน นี่จึงเป็นช่องว่างที่ต้องการเข้าไปเติมเต็ม ตามแนวคิด Smart People ที่ต้องการอัพสกิลให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโลกดิจิทัลได้มากขึ้น

ทั้งนี้ #ช้อปได้ทุกถิ่น ไม่ใช่โครงการที่จัดขึ้นครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นโครงการระยะยาวที่แบ่งออกเป็นหลายเฟส โดยในเฟสแรกนี้ สินค้า OTOP ที่ขายผ่าย TikTok Shop มีมากกว่า 1,600 รายการ และสร้างยอดขายให้กับชุมชนได้ 8.5 ล้านบาทใน 3 เดือน

ชนิดาเล่าว่า ในเฟสแรก TikTok อยากให้โอกาสกับผู้ประกอบการที่ยังไม่เก่งเรื่องเทคโนโลยีก่อน เพราะทราบดีว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่แมส มีผู้ใช้งานเยอะ เราอยากให้ผู้ผลิตทุกคนเข้าถึงแพลตฟอร์มและสร้างรายได้ด้วย ผลตอบรับสำหรับเฟสแรกถือว่าดีทีเดียว มีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่อยากเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ในเฟสต่อไปเราตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 คน

ด้าน ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เล่าถึงการร่วมงานในครั้งนี้ว่า “ที่ผ่านมากรมฯ ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ OTOP ที่มีจำนวนกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ เราทราบดีว่าสินค้า OTOP ของไทยไม่เป็นสองรองใคร ทุกชิ้นล้วนเป็นผลงานที่สะท้อนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของคนไทย จึงต้องการให้สินค้า OTOP มีช่องทางในการขายมากขึ้น สามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“นอกจากนี้เรายังเล็งเห็นศักยภาพของผู้ประกอบการไทยว่ายังไปได้อีก แต่ยังติดที่ตอนนี้ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ยังไม่เชี่ยวชาญเรื่องการทำตลาดออนไลน์ หรือยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี นี่จึงเป็นที่มาของการจับมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กับ TikTok ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องทำงานร่วมกันในระยะยาว และไม่ใช่แค่การพัฒนาผู้ประกอบการ แต่ยังรวมถึงการกระตุ้นให้ข้าราชการที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไปด้วย เมื่อได้องค์ความรู้จากคนที่มีประสบการณ์อย่าง TikTok มาเติมเต็ม ก็ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ถนัดเรื่องการผลิตได้พัฒนาทักษะการขายและเทคโนโลยี และฝั่ง TikTok ก็ได้สินค้าคุณภาพดีฝีมือคนไทยไปจำหน่ายในแพลตฟอร์ม”

ชัยวัฒน์แสดงมุมมองว่าแต่ละคนล้วนมีจุดแข็งแตกต่างกัน การดึงจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาใช้จึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการร่วมมือกันครั้งนี้

“คนเราเก่งไม่เหมือนกัน บางคนทำของเก่ง แต่อาจขายไม่เก่ง ในขณะเดียวกันบางคนขายเก่ง แต่ผลิตไม่เก่ง ถ้าช่วยกันทำก็จะเป็นเรื่องที่ดี และทุกภาคส่วนมีความสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนสินค้า OTOP สำหรับโครงการนี้ ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้ประโยชน์คนเดียว แต่เป็นการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการเรียนรู้และทำงานร่วมกัน 

“ที่ผ่านมากรมฯ ถือเป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อมาตลอด มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ OTOP ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เชิงการตลาด เทรนด์การตลาดในเวลานี้ รวมถึงแนวโน้มพฤติกรรมและความชอบของผู้บริโภค ซึ่งก็มีหลายคนที่ปรับตัวนำสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้เร็ว ขณะที่หลายคนยังต้องได้รับการส่งเสริมในเรื่องดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซอยู่บ้าง

“ช่วงหลังมานี้ เราพบว่าผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเรื่องการซื้อสินค้าเปลี่ยนไป ทุกอย่างแทบจะอยู่ในออนไลน์ทั้งหมด สามารถซื้อ-ขายกันได้ 24 ชั่วโมง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและระยะทาง นี่อาจเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้คนทำ OTOP ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง”

OTOP เป็นเรื่องของคนทุกเจนฯ

หลายคนอาจมองว่าสินค้า OTOP เป็นสินค้าที่ผู้สูงอายุทำ เพื่อขายให้ผู้สูงอายุเท่านั้น ทำให้คนรุ่นใหม่ยังเข้าไม่ถึงสินค้า OTOP เท่าที่ควร ซึ่งนั่นเป็นโจทย์สำคัญอีกโจทย์ที่ต้องแก้

“นี่คือประเด็นที่กรมฯ รับรู้มาตลอด จึงมีโครงการชื่อว่า Young OTOP เป็นกลุ่มหนุ่มสาวที่ต้องการพัฒนาสินค้า OTOP ซึ่งคนเหล่านี้มีความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค เข้าใจรสนิยมความชอบของคนรุ่นใหม่ ทำให้ในวันนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของสินค้า OTOP หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ ของตกแต่ง เสื้อผ้า และสมุนไพรต่างๆ ที่ปรับตัวให้สินค้าเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้าและในส่วนของบรรจุภัณฑ์ เช่น ดีไซเนอร์ไทยออกแบบลายผ้าไทยให้สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน เหมือนที่ศิลปินชื่อดัง ลิซ่า BLACKPINK ใส่ผ้าไทยไปเที่ยวอยุธยา จากนั้นก็มีคนใส่ตามมากขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าสินค้า OTOP สามารถปรับตัวให้สอดรับกับการใช้ชีวิตและใช้งานได้”

ยุคนี้เราปฏิเสธคนเจนฯ ใดเจนฯ หนึ่งไม่ได้ เพราะในการผลิตสินค้าต้องอาศัยความรู้ของทุกฝ่าย เช่น การย้อมผ้า คนรุ่นพ่อแม่ก็มีความถนัดเรื่องการย้อมสีรู้ว่าต้องใช้วัตถุดิบใด ต้มกี่ครั้งถึงจะได้สีตามต้องการ แต่ในส่วนของลายผ้าก็เป็นงานถนัดของคนรุ่นลูกที่รู้ว่าลายแบบไหนกำลังมาแรง ทำออกมาแล้วจะถูกใจตลาด หรือจะทำคอนเทนต์ออนไลน์ยังไงคนสนใจ ถือเป็นการทำงานร่วมกัน ดังนั้นทุกคนจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

“ปัจจุบันคนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาสินค้าในบ้านเกิดค่อนข้างเยอะ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญ และมีทักษะการใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว ต่างจากคนรุ่นก่อนที่ยังขายแบบดั้งเดิม หนึ่งในกรณีศึกษาที่เราพบคือ สุเมธแผนโบราณ OTOP จากจังหวัดขอนแก่น ที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาชุมชน และเลือกใช้แพลตฟอร์ม TikTok Shop ในการสร้างคอนเทนต์ และเปิดร้านค้าออนไลน์ โดยมีการทำวิดีโอที่สนุกและไลฟ์ขายของร่วมด้วย ทำให้ร้านมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 40%” ชนิดากล่าวเสริม

@sumetphanboran

✅ยุงเยอะ👉🏻กดเลือกสเปรย์ตะไคร้หอม ✅ผ่อนคลาย👉🏻กดเลือกกลิ่นหอมจากดอกลาเวนเดอร์ นะครับ 🥰 #โอทอป #สุเมธแผนโบราณ #สมุนไพร #ไล่ยุง #ผ่อนคลาย #ของดีบอกต่อ #tiktokshopครีเอเตอร์ #ปีใหม่ @สมุนไพร สุเมธแผนโบราณ @สมุนไพร สุเมธแผนโบราณ @สมุนไพร สุเมธแผนโบราณ

♬ เสียงต้นฉบับ – สมุนไพร สุเมธแผนโบราณ – สมุนไพร สุเมธแผนโบราณ

นอกจากความตั้งใจที่ดีต่อผู้ประกอบการ OTOP แล้ว ชัยวัฒน์เล่าว่า ไม่ใช่แค่คนทำ OTOP เท่านั้นที่ต้องเรียนรู้ ผู้ผลิตสินค้าทุกประเภทก็ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะเทรนด์เปลี่ยนอยู่เสมอ 

“ในส่วนของสินค้า OTOP ที่ยังต้องใช้ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมและวัสดุในท้องถิ่น อาจต้องมีการปรับรูปแบบการนำเสนอ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือหากเป็นผลผลิตทางการเกษตร ต้องปลอดสารเคมี เน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นหลัก

“การจับมือระหว่าง TikTok และกรมการพัฒนาชุมชนในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นภาพเส้นทางการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าเพื่อสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้สินค้า OTOP ไทย ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ผสานร่วมกับภูมิปัญญาของผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้คนเห็นถึงความสำคัญของสินค้า OTOP และในขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระตุ้น GDP ให้ประเทศด้วย”

ความน่าสนใจของการคอลแล็บในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เสริมทักษะดิจิทัล ในส่วนของการพัฒนาสินค้า OTOP เพื่อส่งออกต่างประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทั้งสององค์กรเห็นชอบตรงกันว่าควรส่งเสริม 

“สินค้า OTOP ไทยมีความสร้างสรรค์ ที่สามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละภูมิภาค สามารถนำเสนอความเป็นท้องถิ่นได้ ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ควรส่งเสริมอย่างยิ่ง และทางทีม TikTok ก็พร้อมช่วยโปรโมตสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านการไลฟ์บน TikTok Shop และการทำคอนเทนต์ที่ถ่ายทอดเอกลักษณ์ท้องถิ่นได้เต็มดี

“ในมุมของต่างชาติเอง ก็มองว่าสินค้า OTOP ไทยเป็นสินค้าที่มีความพิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ” ชนิดาเล่า

จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ OTOP และตลาดต่างประเทศ ทำให้ชัยวัฒน์เห็นว่าต่างชาติให้ความสนใจสินค้า OTOP ไทยใน 2 ประเด็นหลักๆ คือ เป็นสินค้าที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้ใช้ เพราะวัตถุดิบที่นำมาผลิตส่วนใหญ่ล้วนมาจากธรรมชาติ และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การย้อมผ้าโดยใช้สีจากธรรมชาติ เมื่อย้อมเสร็จแล้วก็นำน้ำที่เหลือไปรดน้ำต้นไม้หรือเทลงดินได้ 

ต่อมาคือสินค้าที่มีไม่กี่ชิ้นในโลก เช่น ในกระบวนการย้อมผ้า ถ้าแช่ผ้าทิ้งไว้ต่างกันเพียงวันเดียว หรือนำวัตถุดิบมาใช้ต่างช่วงเวลา เช่น การเก็บผลมะเดื่อช่วงต้นปีและกลางปี เมื่อนำมาใช้ในวิธีเดียวกัน สีที่ได้อาจไม่เหมือนกัน เพราะสภาพอากาศ อุณหภูมิการเก็บในเวลานั้นแตกต่างกัน จึงทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าสินค้าที่ได้จะไม่ซ้ำกับใคร

“ผมว่าสินค้า OTOP ของไทย ค่อนข้างตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ถ้าอยากได้ของที่มีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร มีเรื่องราว ฟังแล้วภาคภูมิใจ ผมว่านี่แหละคือเสน่ห์ของ OTOP ไทย” 

Goal to GO

อีกอย่างที่เหมือนกันของ TikTok และกรมการพัฒนาชุมชน คือทั้งสองต่างก็อยากเห็นความอยู่ดีกินดีของคนทำ OTOP แม้จะมีรูปแบบการทำงานที่ต่างกัน แต่เมื่อมีเป้าหมายเดียวกันจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะร่วมมือกันส่งเสริมผู้ประกอบการ OTOP ในทุกมิติ

“สำหรับกรมการพัฒนาชุมชน การได้ทำงานร่วมกับ TikTok จะทำให้ผู้ประกอบการ OTOP มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น เพราะผู้ผลิตมีเป้าหมายและทราบว่าเมื่อทำสินค้าออกมาแล้วจะขายให้ใคร ซึ่งหากมองภาพกว้างสินค้า OTOP ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจหมุนเวียน เมื่อส่งขายต่างประเทศผู้ผลิตก็มีรายได้ เกิดการจ้างงานในชุมชน และนำเงินที่ได้ไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่อไป เป็นการกระจายรายได้หลายต่อ 

“ดังนั้นผมจึงมองว่าการทำงานร่วมกันครั้งนี้จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ OTOP และประเทศชาติในระยะยาว” ชัยวัฒน์ฉายภาพของผลปลายทางที่วาดหวังไว้ ก่อนที่ชนิดาจะกล่าวถึงความตั้งใจทิ้งท้าย

“ในมุมของธุรกิจโครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น อาจไม่ได้สร้างรายได้ให้เราเป็นกอบเป็นกำ แต่สร้างความอิ่มเอมใจให้เราได้มากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่เราอยากทำเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ซึ่งเรามองว่าในภาคเศรษฐกิจการเติบโตแบบแนวตั้ง หรือโตแค่ธุรกิจเดียวอาจไม่พอ เราก็ไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง การทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ OTOP ที่หลายคนมองว่าเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่การพัฒนาทักษะดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซเป็นการฝังเมล็ดพันธุ์ที่จะผลิดอกออกผลในอนาคต และเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย”

ตามไปอุดหนุนสินค้า OTOP ไทยได้ที่ #ช้อปได้ทุกถิ่น บน TikTok หรือหากผู้ประกอบการท่านใดสนใจเข้าร่วมโครงการในปีต่อไป ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ TikTok และ กรมการพัฒนาชุมชน

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like