เรื่องครุย

‘เทพคลีนนิ่ง’ ร้านเช่าและตัดชุดรับปริญญาเก่าแก่ที่ยังคงยืนระยะผ่านการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

‘ชุดครุย’ คือหนึ่งในสัญลักษณ์การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความหมายและถูกบันทึกไว้ในใจใครหลายๆ คน ถ้าถามว่าโอกาสไหนที่เราจะได้ถ่ายรูปกับเพื่อนเยอะที่สุดในชีวิตก่อนแยกย้ายกันไปเติบโตก็คงเป็นช่วงฤดูกาลรับปริญญา ปัจจุบันมีร้านให้บริการตัดและเช่าชุดครุยยอดนิยมหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ ‘เทพคลีนนิ่ง’ ร้านเก่าแก่ย่านท่าพระจันทร์ที่ให้บริการด้านชุดครุยมา 40 กว่าปี 

อิ๊งค์–เฉลิมชัย บวรธรรมรัตน์ และ แมว–วราวรรณ สาครตระกูล สามี-ภรรยาซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่สองของเทพคลีนนิ่งย้อนความหลังให้ฟังว่า ชื่อเทพคลีนนิ่งเป็นที่รู้จักของลูกค้าในย่านท่าพระจันทร์มาตั้งแต่ปี 2512 เดิมทีเป็นร้านบริการซักแห้งและมักมีร้านให้เช่าชุดครุยในละแวกใกล้เคียงนำชุดครุยมาส่งซักแห้งอยู่บ่อยๆ สุรเทพ และอุไรรัตน์ สาครตระกูล คุณพ่อและคุณแม่ของแมวผู้ก่อตั้งกิจการเทพคลีนนิ่ง จึงมองเห็นช่องทางในการขยับขยายกิจการ และเริ่มหันมาทำธุรกิจชุดครุยช่วงประมาณปี 2522-2523

สานต่อกิจการครอบครัว

“ตอนที่บ้านเริ่มทำชุดครุยเราอายุประมาณ 10 ขวบ ตอนนั้นเราก็ช่วยงานที่ร้านแล้ว คุณพ่อเขาจะดูแลลูกค้าอยู่หน้าร้าน แต่สินค้าบางอย่างอยู่ชั้นบน เราเป็นแผนกคอยวิ่งหยิบของ ป๊าจะเอาอะไรตะโกนมาเลยเดี๋ยวหนูหยิบให้” แมวเล่าถึงความหลังครั้งเยาว์วัยที่เธอเกิดและเติบโตในร้านเทพคลีนนิ่ง ธุรกิจครอบครัวเล็กๆ ที่ทำกันเองพ่อ แม่ ลูก 

แม้จะคลุกคลีกับกิจการที่บ้านมาตั้งแต่เด็ก แต่แมวไม่เคยมีความคิดจะเข้ามาสานต่อธุรกิจนี้เลย สมัยวัยรุ่นเธอเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองด้วยการเรียนคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้ได้พบกับอิ๊งค์หนุ่มวิศวะสถาบันเดียวกัน ซึ่งกลายมาเป็นคู่ครองและกำลังหลักสำคัญของร้านเทพคลีนนิ่งจนถึงทุกวันนี้

“เราเลือกเรียนคณะเกษตรเพราะสมัยนั้น ม.เกษตรฯ ยังไม่มีคณะสถาปัตย์ ภาควิชาแลนด์สเคปเลยอยู่ในคณะเกษตร เรียนเกี่ยวกับการจัดสวน การออกแบบ จบแล้วก็ไปทำงานบริษัทอยู่ประมาณ 4-5 ปี จนถึงจุดหนึ่งที่ธุรกิจบ้านจัดสรรได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เจ้านายปิดกิจการ พอดีกับจังหวะนั้นที่บ้านเริ่มยุ่ง ไม่มีลูกน้องคอยช่วย เราเห็นคุณพ่อแก่แล้วก็มีหลงลืมบ้าง ทำงานผิดพลาดไม่เสร็จตามวันนัดบ้าง โดนลูกค้าบ่นว่าทำไมนัดแล้วไม่ได้ของ เราไม่อยากให้พ่อโดนคนอื่นว่าเลยเข้ามาช่วยทำไปก่อน แต่ทำอยู่สักพักหนึ่งเจ้านายโทรมาตามให้กลับไปทำงาน เพราะเขาเปิดบริษัทใหม่อีกครั้ง เราก็บอกเขาว่าคงไม่สะดวกไปทำให้แล้ว เพราะพ่อเริ่มทำธุรกิจต่อไม่ไหวแล้ว เราเลยดูแลร้านเทพคลีนนิ่งต่อมายาวเลย”

อิ๊งค์เล่าเสริมจากภรรยาว่า “ตอนที่แฟนลาออกมาทำร้านผมยังทำงานบริษัทอยู่ ตอนหลังมีลูกคนแรกก็เริ่มมีประเด็นว่าพอมีลูกแล้วไม่มีคนช่วยทำงานที่ร้าน จังหวะนั้นผมรู้สึกอิ่มตัวกับงานบริษัทพอดี งานมันเริ่มวนไปวนมาน่าเบื่อแล้ว พอดีแม่ยายเขาชวนให้มาทำงานที่ร้าน จะได้ช่วยกันดูแลร้านดูแลลูก ผมเลยตัดสินใจว่าเอาก็เอา เพราะวันหยุดเราก็มาช่วยงานทุกเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย จนเหมือนเป็นกิจวัตรที่เคยชินแค่ยังไม่ได้มาทำเต็มตัว เรามองถึงอนาคตว่าถ้าลาออกมาใช้ชีวิตแบบนี้ มีรายได้ประมาณนี้น่าจะพออยู่ได้ และมีเวลาว่างดูแลครอบครัว พอคิดแล้วว่าโอเคก็เลยลาออกมา

“เราทำงานบริษัทมาก่อน พอต้องมารับลูกค้าหน้าร้าน ต้องพูดจาไพเราะ ความคิดเราไม่เหมือนพ่อค้าแม่ค้ามืออาชีพ ยอมรับว่าช่วงแรกบางครั้งมีปัญหากับลูกค้าบ้าง พ่อตาแม่ยายเขาก็สอนว่าต้องใจเย็นๆ ลูกค้าเขาเอาเงินมาให้เรา พออายุมากขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น เราก็เปลี่ยนไปเยอะ ใจเย็นขึ้น พูดจาสุภาพขึ้น”

งานที่ต้องทำตลอดทั้งปี 

คนส่วนใหญ่มักคิดว่างานรับปริญญามีแค่ปีละครั้ง การทำธุรกิจชุดครุยคงมีเวลาว่างเยอะ แต่อิ๊งค์เฉลยให้ฟังว่าก่อนโควิดระบาด เขามีงานตลอดทั้งปีแทบไม่ได้ว่างเว้นเลยทีเดียว 

“มหาวิทยาลัยหลักๆ ที่เรารับงานมี 6-7 แห่ง ช่วงก่อนโควิดงานรับปริญญามันมีเกือบทั้งปีนั่นแหละ ส่วนใหญ่จะมีช่วงต้นปีกับช่วงปลายปี สมัยนี้จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตร เขารับปริญญาช่วงเดือนตุลาคม พอต้นปีก็มีราชมงคล รามคำแหง สลับวนเวียนไปเรื่อยๆ แต่ปริมาณงานจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเราชำนาญด้านชุดครุยของมหาวิทยาลัยไหน เด็กเขาก็จะบอกต่อกันและมีมหาวิทยาลัยที่ดีลให้เราเข้าไปวัดตัวเป็นประจำทุกปี”

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างชุดเช่ากับชุดสั่งตัดว่าแบบไหนได้รับความนิยมมากกว่ากัน อิ๊งค์อธิบายว่าปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับประเภทของชุดด้วย

“เด็กจุฬาฯ ตัดชุดครุยใหม่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะชุดครุยเป็นผ้าโปร่งซักทำความสะอาดไม่ได้ เขาไม่ค่อยอยากเช่ากัน และราคาสั่งตัดไม่สูงมากอยู่ที่ 1,300-1,400 บาท ส่วนมหาวิทยาลัยที่ราคาชุดครุยค่อนข้างสูง เช่น ธรรมศาสตร์ มหิดล เป็นเสื้อคลุมแบบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ราคาสั่งตัดประมาณ 3,000 กว่าบาท เด็กจะนิยมเช่ากันมากกว่า ซึ่งชุดเช่าของเทพคลีนนิ่งสะอาดอยู่แล้ว เพราะเรามีโรงงานซักแห้งเป็นของตัวเอง”

ลักษณะการตัดเย็บและชนิดของวัสดุที่ใช้ คือเหตุผลหลักที่ทำให้ชุดครุยของแต่ละมหาวิทยาลัยมีราคาแตกต่างกัน เช่น ชุดครุยของธรรมศาสตร์เป็น ‘งานมือ’ ที่ต้องใช้มือทำ ราคาจึงค่อนข้างสูงเพราะค่าแรงแพง ส่วนของจุฬาฯ เป็นงานจักรค่าแรงและค่าวัสดุถูกกว่า โดยร้านเทพคลีนนิ่งจะมีช่างตัดเย็บหลักอยู่ 5-6 คน ส่วนใหญ่เป็นช่างที่ทำงานด้วยกันมานานจนสนิทสนมเหมือนเป็นเพื่อนกันไปแล้ว

แมวเล่าถึงมุมมองความคิดที่มีต่อธุรกิจว่า “สมัยเด็กเราคิดว่ามันน่าจะเป็นธุรกิจง่ายๆ พอมาทำเอง โอ้โห ทั้งปัญหาลูกน้อง ปัญหาเรื่องเกรดผ้า ต้องสั่งวัสดุนำเข้า บางอย่างได้มาไม่ทันใช้ สั่งของแล้วได้มาไม่ตรงสเป็ก ความนิ่มเนื้อผ้าไม่ถูกใจ ปัญหาจุกจิกเยอะมากค่ะ ช่างที่ทำงานให้เราทุกวันนี้หลายคนเป็นลูกน้องของช่างเก่าสมัยคุณพ่อคุณแม่ มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามอายุขัยของช่าง เพราะปัจจุบันช่างเดิมอายุ 80 กว่า ทำไม่ไหวแล้วค่ะ บางคนถ่ายทอดวิชาให้ลูกแต่ลูกไปทำอาชีพอื่นแล้ว คนที่ยังทำให้เราก็เป็นลูกน้องของลูกเขาอีกที” 

ความต้องการที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

จากรุ่นแรกเปลี่ยนผ่านสู่รุ่นสอง หัวใจหลักในการทำธุรกิจที่เทพคลีนนิ่งยึดถือเสมอมาคือการเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า โดยไม่ว่าจะไปวัดตัวที่มหาวิทยาลัยหรือลูกค้ามาที่ร้าน ทางร้านก็จะพยายามดูแลเต็มที่ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอยู่เสมอ 

“เราพยายามคิดว่าถ้าเราตัดชุดรับปริญญาให้ลูกตัวเองใส่แบบนี้ลูกเราจะชอบไหม ถ้าลูกไม่ชอบเราก็ไม่ทำ และเราจะไม่รับงานเยอะเกินจนดูแลลูกค้าได้ไม่ทั่วถึง ถึงจะเป็นชุดเช่าแต่ไซส์ของร้านเทพคลีนนิ่งจะค่อนข้างละเอียด ไม่ได้กำหนดเป็นไซส์ S M L เหมือนงานโรงงาน ที่นี่เราไม่ทำแบบนั้น เราพยายามเลือกขนาดให้ใกล้เคียงกับสรีระของลูกค้ามากที่สุด เพราะแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน” อิ๊งค์กล่าวเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ฟังคำตอบแล้วเรามีข้อสงสัยว่าความชอบที่ไม่เหมือนกันคืออะไร เพราะหากมองจากมุมคนที่ไม่ได้มีความรู้ด้านการตัดเย็บมากนัก ชุดรับปริญญาก็ดูจะมีหน้าตาเหมือนๆ กันหมด จึงขอให้เจ้าของร้านทั้งสองคนช่วยขยายความ

“ชุดครุยที่เป็นผ้าโปร่ง รายละเอียดจะค่อนข้างเยอะกว่าชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ พวกนี้ต้องวัดความยาวแขน รอบอก สะโพก ซึ่งบางทีเรากำหนดไซส์ให้เขาจากประสบการณ์ที่เคยทำมาลูกค้าอาจจะไม่ถูกใจก็ได้ ต้องมีการพูดคุยสอบถามกันก่อน เช่น ช่วงนี้ลูกค้ากำลังลดน้ำหนักออกกำลังกายฟิตหุ่นอยู่ไหม อยากให้เผื่อไซส์ไว้เล็กหน่อยไหม แต่ถ้าขนาดที่ต้องการผิดไปจากมาตรฐานเยอะ เราก็ต้องบอกลูกค้าว่าทำไม่ได้นะ เดี๋ยวจะเข้าพิธีรับปริญญาไม่ได้ เช่น ความยาวที่มหาวิทยาลัยกำหนดคือ 1 ฟุตจากพื้น บางคนอยากได้ชุดครุยสั้น เราก็ต้องต่อรองว่าสั้นกว่าปกติได้แค่นิ้วเดียวโอเคไหม เข้ารูปได้นิดหน่อยนะ ถ้าจะเอาสั้นเยอะๆ หรือตัวเล็กมากจนดูไม่สุภาพน้องจะใส่ไปรับปริญญาไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่อยากทำให้นะครับ เราพยายามตามใจลูกค้าให้มากที่สุดอยู่แล้ว แต่ถ้าทำไปแล้วเอาไปใช้งานไม่ได้เราก็ไม่ทำดีกว่า” 

ส่วนตัวแมวมองว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่น่าจะให้ความสำคัญกับการรับปริญญาน้อยลงกว่าเดิม เพราะเขาไม่ยึดติดกับพิธีการว่าต้องเข้าไปรับในหอประชุม แต่ยังมาเช่าหรือสั่งตัดชุดครุยไปถ่ายรูปกับเพื่อนอยู่บ้าง รายละเอียดในการเลือกจึงมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้นกว่าแค่ให้ตรงตามระเบียบพิธีการเพียงอย่างเดียว 

“สมัยก่อนคนจะมาหาชุดครุยมาตรฐานถูกระเบียบไซส์พอดีตัวแค่นั้นจบเลย แต่ปัจจุบันลูกค้ามองหาชุดครุยที่เนื้อผ้าอย่างดี ตัดเย็บด้วยคัตติ้งอย่างดี ไซส์ต้องถูกใจ เราต้องมีตัวเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้มีลูกค้าเข้ามาขอชุดครุยความยาวแค่เข่า เขาไม่อยากให้ดูรุ่มร่าม เขาบอกไม่เข้าพิธีรับปริญญาค่ะพี่แค่ใส่ถ่ายรูปเฉยๆ เราก็ให้เขาลองชุดสามแบบ แบบมาตรฐาน สั้นกว่ามาตรฐานนิดนึง และสั้นแค่เข่าที่เขาอยากได้ พอลองเปรียบเทียบกันแล้วเขาก็เลือกชุดตรงกลางที่ไม่สั้นเกินไป ใส่แล้วมันดูสวยกว่า ถ้าสั้นเกินไปมันทำให้ชุดครุยดูไม่เป็นชุดครุย บางทีเขาคิดในใจมาจากบ้านแต่ไม่เห็นภาพ ก็เป็นหน้าที่ของทางร้านที่ต้องให้คำแนะนำ”

“ร้านชุดครุยสมัยก่อนจะทำตามมาตรฐานทั่วไป ไม่มีการหาวัสดุพิเศษมานำเสนอให้ลูกค้า ปัจจุบันเราต้องใส่ใจลูกค้ามากขึ้น ต้องดูแลละเอียดขึ้น อย่างเช่นชุดของธรรมศาสตร์ เกษตรฯ ก็จะมีผ้าในประเทศกับผ้านำเข้าจากเมืองนอก บางเนื้อผ้าย้อมมาสีไม่ดำสนิท สีดำมีหลายโทนมีเข้มมีอ่อน เราต้องเลือกผ้าที่เนื้อบางเบา ใส่แล้วดูตัวไม่ใหญ่ ถ่ายรูปออกมาสวย เนื้อผ้าบางตัวถ้าหนาและหนักเกินไปมันก็ไม่เหมาะเพราะเมืองไทยอากาศร้อน ช่วงโควิดลูกน้องหายไป 2-3 คน คุณพ่อมาช่วยงานที่ร้าน เขาเห็นเราลงรายละเอียดหลายอย่างที่แตกต่างจากสมัยก่อน เรามีตัวเลือกให้ลูกค้า เราเลือกวัสดุอย่างดี เขาก็ถามว่าเยอะไปไหม สั่งงานช่างรายละเอียดเยอะแบบนี้เขาจะทำให้เหรอ แต่พอเห็นลูกค้าถูกใจ เขาก็เข้าใจว่าถูกต้องแล้วแหละที่เราทำแบบนี้”

เราชวนคุยว่าแล้วสมัยที่ทั้งคู่รับปริญญามีวิธีการเลือกชุดครุยอย่างไรให้ถูกใจ แมวตอบก่อนว่า “ตอนที่รับปริญญาพ่อเขาตัดชุดให้ใหม่นะ แต่ไม่ได้ละเอียดเรื่องคัตติ้งมากเหมือนสมัยนี้ เบอร์ไหนใส่ได้เอามาเลยค่ะ ตอนนี้ไม่รู้ว่าชุดนั้นไปอยู่ที่ไหนแล้ว” แมวหัวเราะ

ส่วนคำตอบของอิ๊งค์ก็ใกล้เคียงกัน “ผมหยิบชุดที่มีอยู่ในร้านไปใส่เลย สมัยก่อนเราไม่ได้คิดว่าจะต้องเนี้ยบอะไร ผมเป็นเด็กลูกทุ่งบ้านนอก เอาแค่พอใส่รับปริญญาได้ก็จบแล้วแค่นั้นเอง”

จากท่าพระจันทร์สู่รามคำแหง 

ปัจจุบันร้านเทพคลีนนิ่งมี 2 สาขา ได้แก่ สาขาดั้งเดิมที่ท่าพระจันทร์ และสาขารามคำแหง 51/1 ที่พี่สาวของคุณแมวดูแลอยู่ โดยทั้งสองแห่งให้บริการเช่าและตัดชุดข้าราชการ สูท และชุดครุย จากฝีมือของช่างตัดเย็บทีมเดียวกัน 

“สาขา 2 เริ่มเปิดปี 2546 พอดีมีคนแนะนำมาว่ามีอาคารพาณิชย์แถวรามคำแหงว่างอยู่ ก็เลยเข้าไปดูทำเลซึ่งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยรามคำแหง สมัยก่อนย่านนั้นคึกคักมีคนเดินเยอะ ช่วงเย็นมีตลาดนัดข้างหน้าถนน เราเลยตัดสินใจเปิดสาขา 2 ตรงนั้นแล้วให้พี่สาวไปคุมร้าน” แมวเล่าถึงที่มาของการขยายกิจการ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เธอลาออกจากงานมาบริหารงานร้านเทพคลีนนิ่งเต็มตัว

ช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาร้านเทพคลีนนิ่งได้รับผลกระทบพอสมควร เนื่องจากงานรับปริญญาไม่สามารถจัดได้ “ระยะเวลาที่เราจะมีเงินเข้ามามันเปลี่ยนไปหมดเลย ปริมาณงานน้อยลงพอสมควร เพราะงานรับปริญญาเลื่อนออกไปเรื่อยๆ บัณฑิตไม่รู้ว่าจะได้รับปริญญาเมื่อไร บางทีเลื่อนไป 2-3 ปีก็มี พอกำหนดการไม่มีความแน่นอน เด็กเขาก็ไม่อยากเสียเงินค่าใช้จ่ายตรงนี้ ตัดชุดไว้ล่วงหน้ากว่าจะได้ใส่รูปร่างอาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้” อิ๊งค์เล่าสถานการณ์ให้เราเห็นภาพมากขึ้น

ในช่วงที่ต้องรักษาระยะห่างตามมาตรการล็อกดาวน์ ทางร้านจึงมีระบบสั่งชุดครุยออนไลน์ ให้ลูกค้าวัดตัวแล้วแจ้งไซส์เข้ามา แต่การสั่งตัดชุดครุยออนไลน์มีข้อจำกัดคือ ทางร้านไม่เคยเห็นคนใส่มาก่อนและลูกค้าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้แม่นยำเรื่องการวัดตัวว่าควรวัดโดยกะระยะมากน้อยแค่ไหนถึงจะตัดออกมาสวย งานสั่งออนไลน์จึงเหมาะกับลูกค้าที่ต้องการชุดไม่ผิดระเบียบ แต่ไม่ซีเรียสเรื่องไซส์และคัตติ้งว่าต้องเนี้ยบเป๊ะมากนัก เมื่อลูกค้าส่งขนาดตัวเข้ามาแล้วทางร้านจะตรวจเช็กก่อนว่าได้มาตรฐานคนปกติทั่วไปหรือไม่ เพื่อให้เกิดการแก้ไขน้อยที่สุด เนื่องจากงานแก้ไขมักทำให้ตะเข็บบิดเบี้ยว ทรงเสื้อไม่สวยเหมือนงานที่ตัดพอดีตัวตั้งแต่ครั้งแรก 

ในฐานะธุรกิจที่ยืนระยะผ่านกาลเวลามาได้อย่างยาวนาน เราอยากรู้ว่าเจ้าของร้านรุ่นสองมองความสำเร็จและก้าวต่อไปของเทพคลีนนิ่งไว้อย่างไรบ้าง 

“ถามว่ากิจการของเราประสบความสำเร็จไหมก็พูดได้ไม่เต็มปากนะ แต่เราอยู่มาได้เรื่อยๆ เพราะสมัยก่อนคู่แข่งมีน้อย พอยุคหลังๆ ร้านรับตัดชุดรับปริญญาเริ่มเยอะขึ้น มีทั้งร้านดีไม่ดี แต่ของเราจะเน้นว่าพยายามทำออกมาให้ถูกใจลูกค้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราจะไม่ทำงานแบบขอไปที ไม่ได้ทำให้เสร็จๆ ไป” อิ๊งค์เน้นย้ำถึงจุดยืนที่เขาเรียนรู้มาจากผู้ก่อตั้งกิจการรุ่นแรก 

“สมัยเด็กๆ เรายังมาช่วยหยิบจับนู่นนี่ในร้านบ้าง แต่ลูกเราไม่มองเลยค่ะ มันเป็นธุรกิจที่ยากเกินไปน่าจะต่อยอดลำบาก” แมวเล่าด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ “ก็เหมือนคนรุ่นเราที่ไม่ค่อยมีใครอยากรับช่วงกิจการต่อจากพ่อแม่หรอก ใจเราอยากทำอย่างอื่นมากกว่า แต่พอเห็นพ่อแม่ทำมาเลี้ยงลูกได้ขนาดนี้ก็น่าจะอยู่ได้ เพื่อนที่รู้จักกันเป็นลูกหลานของหลายๆ ร้านในย่านนี้ บางบ้านก็ทำต่อบางบ้านก็ไม่ทำ คนที่ทำต่อมีน้อย เวลากลับไปเจอเพื่อนฝูง เขาคุยกันว่าตอนนี้ตำแหน่งอะไรแล้ว ทำงานบริษัทได้เลื่อนขั้น แต่อย่างเราทำร้านก็พออยู่ได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับเฟื่องฟูมาก”

Writer

นักเขียนบทความและบทซีรีส์ภาพยนตร์อิสระที่กำลังแสวงหาอิสรภาพทางการเงิน

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like