Bird Place
‘The Bluebird Cafe’ คาเฟ่จุดกำเนิดของเทย์เลอร์ สวิฟต์ และดาวในวงการเพลงคันทรีอีกหลายดวง
วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา Taylor Swift เพิ่งรับปริญญาเอกใบแรกในชีวิตของเธอ
เป็นข่าวที่ทำให้หลายคนงงว่าเทย์เลอร์เจียดเวลาทำเพลงเอาไปเรียนจนจบด็อกเตอร์ตอนไหน คำตอบคือเธอไม่ได้เรียน เธอไม่เคยได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ แท้จริงแล้วนี่คือปริญญากิตติมศักดิ์ด้านศิลปะที่ New York University มอบให้ ในฐานะมาสเตอร์ด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านบทเพลง
“ฉันมั่นใจว่าเหตุผล 90 เปอร์เซ็นต์ ที่ฉันได้รับปริญญาวันนี้เพราะฉันมีเพลงชื่อ 22 และฉันยินดีอย่างยิ่งที่จะมาเฉลิมฉลองและจบการศึกษาไปพร้อมกับนักศึกษารุ่น 2022” เทย์เลอร์ยิงมุกในคำปราศรัยวันปัจฉิมนิเทศ ซึ่งเธอได้รับเกียรติให้พูดต่อนักศึกษาและผู้ปกครองนับพัน
เทย์เลอร์เข้าวงการดนตรีตั้งแต่อายุ 14 เธอเรียนโฮมสคูลไปพร้อมกับการทำงานเป็นศิลปินเต็มตัวแบบไม่เคยพัก เธอปล่อย Taylor Swift อัลบั้มเพลงแนวคันทรีอัลบั้มแรกในชีวิตเมื่อปี 2549 สร้างชื่อในวงการเพลงคันทรีจนกลายเป็นดาวรุ่ง ก่อนจะขยับขยายมาทำเพลงป๊อป อัลเทอร์เนทีฟ และโฟล์ก ในขวบปีที่ 32 เทย์เลอร์ออกสตูดิโออัลบั้มมา 8 ชุด ขายได้ในหลักร้อยล้านยูนิต แถมทำท่าจะกวาดรางวัลและทุบสถิติในทุกครั้งที่เธอปล่อยเพลงใหม่ ถือว่าเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของยุค
มีท่อนหนึ่งในปาฐกถาที่เธอพูดถึงจุดเริ่มต้นของตัวเองไว้ได้อย่างน่าสนใจ “ฉันรู้ว่าฉันควรจะเก่งเรื่องการใช้คำพูด แต่ฉันจะไม่มีวันหาคำใดๆ มาขอบคุณแม่ พ่อ ออสติน พี่ชายของฉัน กับการเสียสละในทุกวันของพวกเขาเพื่อที่จะให้ฉันได้ขึ้นไปร้องเพลงในร้านกาแฟหลายๆ แห่ง จนกระทั่งฉันได้มาพูดให้พวกคุณฟังวันนี้”
ในฐานะคนที่ฟังเพลงเทย์เลอร์มาตั้งแต่ยุคแรกๆ จนเรียกตัวเองว่าสวิฟตี้ (ชื่อกลุ่มแฟนคลับเทย์เลอร์) ได้เต็มปาก เราแอบเขินนิดหน่อยที่ไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นของเทย์เลอร์มาจากการร้องเพลงตามร้านกาแฟ ขณะเดียวกันก็หูผึ่งจนต้องไปหามาอ่านประดับความติ่ง
เทย์เลอร์อาจได้ไปเล่นที่ร้านกาแฟหรือคาเฟ่หลายร้าน แต่มีร้านหนึ่งที่น่าสนใจจนเราอยากหยิบมาเล่าให้ฟัง
ร้านนั้นคือ The Bluebird Cafe คาเฟ่ที่ไม่เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นในวงการดนตรีของเทย์เลอร์ แต่ยังเป็นจุดกำเนิดของนักแต่งเพลงและศิลปินคันทรี่ชื่อดังนับไม่ถ้วน
คาเฟ่ที่ลูกค้าเดินเข้ามาฟังมากกว่ากิน
The Bluebird Cafe เปิดร้านในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 ที่เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ในยุคแรกเริ่ม ผู้ก่อตั้งอย่าง Amy Kurland ไม่รู้เลยว่าคาเฟ่เล็กๆ จุคนได้ 90 ที่นั่งของตัวเองจะกลายมาเป็นสถานที่ที่นักแต่งเพลง นักดนตรี และศิลปินผู้ใฝ่ฝันอยากทำงานในวงการเพลงคันทรีจะต้องอยากมาเล่นให้ได้สักครั้ง
อันที่จริง เธอตั้งใจให้ The Bluebird Cafe เป็นแค่ร้านอาหารเล็กๆ ในศูนย์การค้าที่มีเวทีดนตรีสดให้ลูกค้าได้เอนจอย แรกเริ่มเดิมที เวทีเล็กๆ นี้เปิดให้คนรักของเอมี่ที่เป็นนักกีตาร์และเพื่อนของเขามาเล่น รู้ตัวอีกที ลูกค้าที่เดินทางมาที่นี่เพราะดนตรีมากกว่าอาหารซะงั้น
แต่ไม่ได้หมายความว่าอาหารที่นี่แย่แต่อย่างใด The Bluebird Cafe เสิร์ฟลูกค้าเฉกเช่นคาเฟ่ทั่วไป มีทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของหวาน กาแฟ และแอลกอฮอล์ ซึ่งความจริงแล้วน่าจะเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่ดึงลูกค้าให้เข้าร้านด้วยซ้ำ เพราะถ้าดนตรีดีแต่อาหารไม่อร่อย ใครจะอยากมาล่ะจริงไหม?
โชว์ของคนทำเพลง
อาจเพราะความใจกว้างของเอมี่ที่ทำให้ร้านอาหารเล็กๆ ของเธอป๊อปปูลาร์ขึ้นมา เพราะหลังจากที่เปิดร้านได้ไม่กี่เดือน The Bluebird Cafe จัดกิจกรรมพิเศษชื่อ Writers’ Night ที่จะเปิดให้นักแต่งเพลงและศิลปินมาโชว์เพลงที่ตัวเองแต่ง ในครั้งแรกได้ผลตอบรับที่ดีมากจนร้านต้องจัดกิจกรรมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ In the Round เซสชั่นที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีมาตั้งเครื่องดนตรีกลางห้อง แล้วให้คนฟังได้เอนจอยอยู่รอบๆ
ใครจะคิดว่ากิจกรรมที่ทำเอาสนุกๆ จะเป็นจุดเริ่มต้นบนเส้นทางดนตรีของคนทำเพลงหลายคน เพราะปีแล้วปีเล่า กิตติศัพท์ของเซสชั่นพิเศษ The Bluebird Cafe ก็ขยายไปในวงกว้าง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แนชวิลล์กลายเป็นฮับสำหรับคนทำเพลงที่กำลังวิ่งไล่ล่าความฝัน และหนึ่งในนั้นคือเทย์เลอร์ สวิฟต์ ในวัย 14 ปี
เวทีไล่ล่าความฝัน
เช่นเดียวกับศิลปินหลายคน เทย์เลอร์ไม่ได้เกิดและเติบโตที่เมืองแนชวิลล์ เธอเกิดในเขตเวสต์เรดดิ้ง รัฐเพนซิลเวเนีย ก่อนจะย้ายมาค้นฟ้าคว้าดาวที่นี่ เทย์เลอร์ตระเวนเล่นตามคาเฟ่ต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือ The Bluebird Cafe
2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 Scott Borchetta เจ้าของค่าย Big Machine Records (ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งค่ายด้วยซ้ำ) เจอเทย์เลอร์ที่บลูเบิร์ด เธอชักชวนให้สก็อตมาดูโชว์ Writer’s Night ที่เธอเล่นในคืนวันพฤหัสบดี เขาไปตามคำชวน คืนนั้นเทย์เลอร์เล่นเพลงที่ตัวเองแต่งขึ้นเองชื่อ Songs About You, Me and Britney และ Beautiful Eyes สก็อตชวนเธอมาเซ็นสัญญาเป็นศิลปินกับเขาโดยที่ไม่รู้เลยว่าเขากำลังจะเซ็นสัญญากับซูเปอร์สตาร์ระดับโลก
The Bluebird Cafe ดึงให้นักฟังและค่ายเพลงหลายๆ ค่ายเข้ามาตามหาเพชรของวงการที่ยังไม่ถูกเจียระไน ซึ่งไม่ได้มีแค่เทย์เลอร์เท่านั้น คาเฟ่แห่งนี้ยังเป็นจุดกำเนิดของนักแต่งเพลงและศิลปินคันทรีระดับโลกอย่าง Garth Brooks, Faith Hill, Keith Urban, Lady Antebellum และอีกมากมาย
ความสำเร็จที่สร้างจากเสียงดนตรี
40 ปีคืออายุของ The Bluebird Cafe ในปัจจุบัน และดูเหมือนความนิยมของคาเฟ่แห่งนี้จะไม่มีเสื่อมคลาย มันกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายหลักที่ผู้รักเสียงดนตรีจากทั่วโลกอยากมาเสพและเล่นสักครั้ง มีคิวจอง คิวเล่นเต็มเอี๊ยดไม่เว้นวัน แถมได้โผล่ในซีรีส์ฮิตอย่าง Nashville (ทำให้ฮิตและจองยากเข้าไปอีก) ยังไม่นับความจริงที่ว่าเอมี่เจ้าของร้านได้ตัดสินใจขายกิจการต่อให้ Nashville Songwriters Association International (NSAI) เรียบร้อย ทำให้ที่นี่กลายเป็นฮับทางดนตรีอย่างสมบูรณ์ คล้ายสะพานที่เชื่อมระหว่างผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการกับผู้สนใจ
อาจเพราะมองย้อนกลับไป เอมี่มองว่าเคล็ดลับความสำเร็จทางธุรกิจของ The Bluebird Cafe คือคนทำเพลงนี่แหละ
“มันเริ่มจากคนทำเพลง ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ถึงคุณจะเปิดโรงรถแล้วติดป้ายว่าคุณมี Songwriters’ Night คุณจะเจอคนทำเพลงมหาศาลต่อคิวเข้ามาหาอยู่ดี เพราะพวกเขาต้องการสถานที่ปล่อยของ” เธอบอกในบทสัมภาษณ์ของ The Legacy Lab
“มันไม่มีสถานที่สาธารณะที่เปิดให้คนทำเพลงด้วยกันได้สรรเสริญคนในแวดวงเดียวกับพวกเขา (…) และคนฟังสนใจมันพอๆ กับนักดนตรี พวกเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้ที่เจอคนคอเดียวกัน พวกเขาต้องการสถานที่ที่เชื่อมโยงถึงกัน รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน และ The Bluebird เป็นแบบนั้น” เธอเล่า
“อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือคนที่มา The Bluebird คือคนที่ตั้งใจมาฟังเพลงจริงๆ ถ้ามีใครสักคนพูดอะไรขึ้นมาสักอย่าง คนฟังส่วนใหญ่ก็จะบอกให้พวกเขาเงียบซะ (…) ที่นี่คือห้องฟังเพลง มันคงน่าสนใจน้อยลงมากเลยนะ ถ้าเราเอาแต่คิดว่าจะขายเครื่องดื่มยังไงให้ได้เยอะๆ แทนที่จะทำยังไงให้ศิลปินผู้ผลิตผลงานถูกรับฟังจริงๆ”