สำรวจมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมหนังไทย หลังกระแส ‘สัปเหร่อ’ กวาดรายได้ทะลุ 500 ล้าน กับสัดส่วนรายได้ที่หดลงระหว่างหนังต่างชาติและหนังไทยในบ้านเรา

หนึ่งในประเด็นที่กำลังเป็นกระแสคือการที่ภาพยนตร์ไทยอย่าง ‘สัปเหร่อ’ กวาดรายได้ทะลุ 500 ล้านไปหมาดๆ แน่นอนว่าปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นแสนเฉพาะตัว และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะทำตามได้แม้จะมีผู้คนพยายามถอดรหัสความสำเร็จก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือสัดส่วนตัวเลขรายได้ของภาพยนตร์ไทยในช่วงปีหลังๆ เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ต่างประเทศ 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี แม้ภาพยนตร์ต่างประเทศจะยังทำรายได้มากกว่ามาตลอด แต่เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนจะเห็นว่าช่องว่างลดลง

  • ปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 4,600 ล้านบาท แบ่งเป็นหนังต่างประเทศ 3,900 ล้านบาท และหนังไทย 700 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 16% ของสัดส่วนมูลค่าตลาดภาพยนตร์ไทย โดยมีหนังไทยเข้าฉาย 45 เรื่อง
  • ปี 2563 มีมูลค่าอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนังต่างประเทศ 700 ล้านบาท และหนังไทย 300 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของสัดส่วนมูลค่าตลาดภาพยนตร์ไทย โดยมีหนังไทยเข้าฉาย 28 เรื่อง
  • ปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 1,100 ล้านบาท แบ่งเป็นหนังต่างประเทศ 900 ล้านบาท และหนังไทย 200 ล้านบาท คิดเป็น 19% ของสัดส่วนมูลค่าตลาดภาพยนตร์ไทย โดยมีหนังไทยเข้าฉาย 18 เรื่อง
  • ปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 2,128 ล้านบาท แบ่งเป็นหนังต่างประเทศ 1,700 ล้านบาท และหนังไทย 428 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของสัดส่วนมูลค่าตลาดภาพยนตร์ไทย โดยมีหนังไทยเข้าฉายกว่า 40 เรื่อง

หากลงลึกไปในตัวเลขรายได้ เราจะพบว่าในช่วง 1-2 ปีมานี้ มีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องจากหลากค่ายมากขึ้นที่สามารถสร้างเซอร์ไพรส์กวาดรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท เช่น ร่างทรง รายได้รวม 112 ล้านบาท, บุพเพสันนิวาส รายได้รวม 392 ล้านบาท, บ้านเช่า บูชายัญ รายได้รวม 100 ล้านบาท, 4 Kings รายได้รวม 170 ล้านบาท, ขุนพันธ์ 3 รายได้รวม 100 ล้านบาท และล่าสุด สัปเหร่อ รายได้ ณ ปัจจุบันทะลุ 500 ล้านบาทไปแล้ว

จากรายชื่อภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในมุมธุรกิจจะเห็นความหลากหลายของเรื่องราว และอาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์บางเรื่องนับว่าแหวกขนบหนังไทยร้อยล้านที่ผ่านมา อย่างเรื่องราวของ ‘สัปเหร่อ’ ที่มีพล็อตในบริบทความเป็นอีสาน สะท้อนความเป็นอยู่ในชุมชน สังคม อาชีพ และความสัมพันธ์ในครอบครัว ถือเป็นการสานต่อความสำเร็จของ ‘จักรวาลไทบ้าน’ ที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ ที่พาคนไทยกลับเข้าสู่โรงภาพยนตร์อย่างเนืองแน่นอีกครั้ง

สำหรับในบ้านเรา ปีนี้มีหนังไทยทยอยเข้าฉายมาตั้งแต่ต้นปี รวมแล้วเกิน 40 เรื่อง และเดินสายฉายในต่างประเทศ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเติบโตขึ้น นอกจากนี้ ฝั่งโรงภาพยนตร์ก็เริ่มฟื้นตัวกลับมาหลังจากช่วงวิกฤตโควิด เครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 80% เทียบกับช่วงก่อนมีโควิด บวกกับมีภาพยนตร์ต่อคิวเข้าฉายมากขึ้น ผู้คนเริ่มเข้าสู่โรงภาพยนตร์ เรียกได้ว่าแทบจะกลับสู่วิถีชีวิตปกติแล้ว จึงส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างมาก

นอกจากเรื่องการสร้างหนัง และการฟื้นตัวของจำนวนคนดูหนัง การเจรจาซื้อหนังก็ตื่นตัวไม่แพ้กัน ซึ่งในช่วงต้นปีมีงาน Film Art 2023 ที่ประเทศฮ่องกง ที่ผู้ผลิตสื่อบันเทิงและนักลงทุนได้เจอกันเป็นครั้งแรกหลังโควิด คอนเทนต์จากไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก ซึ่งสร้างมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท ซึ่งทำรายได้มากกว่าหนังจากประเทศอื่นๆ ที่ไปร่วมงานครั้งนี้ โดยเฉพาะคอนเทนต์แนวสยองขวัญ หรือเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยอย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในต่างประเทศ ของไทยยังคงห่างชั้นในด้านงบลงทุน หรือการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ที่ผู้ผลิตไทยต้องการส่งออกไปไม่ถึงตลาดโลกอย่างที่คาดหวังไว้

‘ภาพยนตร์ไทยจะไปต่อยังไงในยุคแพลตฟอร์มสตรีมมิงเฟื่องฟู’

ต้องยอมรับว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยุคนี้ไม่ได้มีแค่คู่แข่งจากต่างประเทศ แต่เนื้อหาที่เผยแพร่ในประเทศ และฉายในแพลตฟอร์มสตรีมมิงก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจว่านี่คือภัยคุกคามหรือโอกาสของวงการภาพยนตร์

หากมองในแง่ดี แน่นอนว่าการเข้ามาของสตรีมมิงช่วยเปิดโอกาสแก่ผู้ผลิตหน้าใหม่ได้สร้างคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ผูกขาดแค่กับเนื้อหาบางประเภท นอกจากนั้นเมื่อลงไปอยู่ในแพลตฟอร์มสตรีมมิงจะช่วยขยายฐานคนดูไปสู่ต่างประเทศได้ง่าย ทำให้ผู้ผลิตหนังไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงมาก เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเลือกได้เองว่าอยากชมอะไร ดังนั้น คนทำหนังยุคนี้ต้องรีเสิร์ช หาอินไซต์และกลุ่มเป้าหมายของตัวเองให้เจอ เพื่อลดโอกาสที่จะขาดทุน 

และในอีกมุม โรงหนังและสตรีมมิงอาจไม่ใช่คู่แข่งกันเสียทีเดียว เพราะถ้าเปรียบหนังสักเรื่องเป็นสินค้า สตรีมมิงก็เปรียบได้กับชั้นวางสินค้า จากเดิมที่เมื่อหนังออกจากโรง ผู้ชมก็หาชมได้ยาก แต่ตอนนี้เราสามารถต่ออายุสินค้าได้ด้วยการนำลงในแพลตฟอร์มสตรีมมิง

โดยสรุปหากภาพยนตร์ไทยมีกระบวนวางแผนและการผลิตที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อสร้างปลายน้ำที่มีคุณภาพ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไม่ว่าจะอยู่ในโรงภาพยนตร์หรือในสตรีมมิง ก็มีโอกาสที่จะอยู่รอดได้ในมุมธุรกิจ อย่างที่เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในช่วงปีหลังๆ ซึ่งนี่อาจเป็นความหวังของคนในวงการภาพยนตร์ไทยยามนี้

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

You Might Also Like