Health Beyond Medicine
ที.ซี. ฟาร์มา-เคม บริษัทที่อยากเป็น health agency ให้คนสุขภาพดี มากกว่ามารักษาทีหลัง
“คุณค่าของเราไม่ใช่เรื่องเงิน”
หลายคนที่อ่านประโยคนี้อาจรู้สึกว่าเป็นแนวคิดที่สวนทางกับการทำธุรกิจโดยทั่วไป ที่ในสมการนั้นต้องมีเรื่องเงิน กำไร และการขาดทุนเป็นหลัก แต่ตลอดการสนทนานี้ บี–เมธินี สหะปิยะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ฮาชชิ (Hashi) และกรรมการผู้จัดการบริษัท ที.ซี.ฟาร์มา-เคม จำกัด จะพูดย้ำเสมอว่า “เราไม่ได้แค่ขายของ แต่เรากำลังส่งมอบสุขภาพดีให้กับเขา”
สุขภาพดีที่ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องร่างกาย แต่ยังมองลึกไปถึงเรื่องของจิตใจ ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าสินค้าทุกชิ้นภายใต้ชื่อ ที.ซี.ฟาร์มา-เคม แตกต่างจากแบรนด์อื่นที่เราเคยเห็นในท้องตลาด และเกิดมาเพื่อแก้ pain point ทั้งด้านการใช้งานและด้านความรู้สึกให้กับผู้คน
Hashi ผงเกลือและอุปกรณ์ล้างจมูก ที่ออกแบบมาโดยคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ใช้ เพื่อให้การดูแลสุขภาพจมูกเป็นเรื่องง่ายและสะดวกในชีวิตประจำวัน
I-Kids Pops อมยิ้มวิตามินที่ออกแบบมาให้เด็กๆ รู้สึกสนุกกับการดูแลตัวเอง โดยไม่รู้สึกฝืนหรือถูกบังคับ
Mewbio โพสต์ไบโอติกส์เจ้าแรกๆ ของไทย ที่ช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกายได้และยังอร่อยด้วย


แม้บีจะทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและยา แต่เธอตั้งวิสัยทัศน์ตัวโตๆ ไว้เลยว่า “อยากให้คนกินยาเท่าที่จำเป็น” เพื่อให้คนหันมาดูแลตัวเองให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการเจ็บป่วย มากกว่าที่จะต้องรอป่วยแล้วค่อยไปรักษา
ความตั้งใจนี้ไม่เพียงส่งต่อให้กับลูกค้าเท่านั้น เธอยังสร้างสุขภาพกายและใจที่ดีให้กับพนักงาน ผ่านการทำสวนผักปลอดสารพิษในบริเวณออฟฟิศ และใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงในระบบไบโอไดนามิกหรือการเลี้ยงแบบเกื้อกูลธรรมชาติ มาทำอาหารให้กับพนักงานและจำหน่ายในราคาเพียง 30 บาทเท่านั้น พร้อมจัดเต็มทุกกิจกรรมที่ทำให้คุณภาพชีวิตของทีมงานดียิ่งขึ้น
‘การทำธุรกิจด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ และจริงใจ’
เป็นคีย์เวิร์ดที่สรุปได้จากการสนทนาในครั้งนี้ และทำให้ที.ซี. ฟาร์มา-เคมยืนหยัดมาได้กว่า 50 ปี หรือ กว่าครึ่งศตวรรษ เราจึงอยากพาผู้อ่านไปสัมผัสประสบการณ์เดียวกัน ผ่านคอลัมน์ Brand Belief ที่พูดคุยถึงความเชื่อของบีในการบริหารสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพธุรกิจให้แข็งแรง
แม้ในวันที่โควิด-19 ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน และฝุ่น PM2.5 ยังคงครองเมือง แต่หลังพูดคุยกับเธอก็ทำให้เรามีความหวังว่าเรายังสามารถมีสุขภาพที่ดีได้เช่นกัน

ความตั้งใจในวันแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้วกับวันนี้แตกต่างกันไหม
จุดเริ่มต้นผู้ก่อตั้งเคยเป็นผู้แทนขายยามาก่อน แล้วก็เริ่มเห็นโอกาสเลยก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา เพื่อทำเกี่ยวกับยา และค่อยๆ พัฒนากลุ่มยาไปเรื่อยๆ ถ้ายารุ่นแรกของเราที่คนรู้จักก็คือ TC-Mycin
ปัจจุบันบริษัทอยู่ภายใต้การดูแลของรุ่น 3 เขาก็ชวนเรามาบริหาร เราได้พูดคุยกันว่า อยากเป็นมากกว่าบริษัทยา ซึ่งมองตรงกันว่า ยาไม่ใช่ทางออกเดียวของสุขภาพ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ดังนั้นเราจึงตีโจทย์ใหม่ว่า จะทำอย่างไรให้คนสุขภาพดีขึ้น
แล้วตีความคำว่าสุขภาพ ไม่ได้มีแค่ร่างกาย แต่เรามองเรื่องจิตใจด้วย ในยุค 10 กว่าปีก่อนเราก็จะเจอคำพูดที่ว่า holistic health หรือการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แต่มันก็เป็นคำสวยๆ ที่เรามองไม่ออกหรือตีความยากว่ามันรวมถึงอะไร สำหรับบริษัทเราตีความว่าต้องทำสินค้าที่ตอบโจทย์ทั้ง functional benefits และ emotional benefits ทำให้ทุกวันนี้เราไม่ได้มองว่าจะต้องแตกไลน์สินค้าที่เป็นยาออกมา แต่เลือกผลิตสินค้าที่อยู่ภายใต้กรอบของการดูแลสุขภาพ
ทำไมคุณถึงตีความว่าสินค้าต้องตอบโจทย์ทั้ง functional และ emotional
เราเคยไปอ่านงานวิจัยต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ เขาไม่ได้ประเมินแค่ผลสัมฤทธิ์ทางการรักษา แต่เขาจะประเมินว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วยหรือเปล่า ทำให้เรานึกถึงภาษาสมัยก่อนที่ว่าใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่ามันเชยจังเลย (หัวเราะ)

แต่เราคิดว่าประโยคนี้มันเป็นความจริง เพราะพอเราได้เรียนรู้ว่ากลไกความเครียดและความสุขจะทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีต่างๆ ออกมาทำปฏิกิริยากับร่างกาย แล้วถึงค่อยมาเป็นโรค เราเลยคิดว่าสินค้าเราต้องนำเสนอประสบการณ์ที่ดีทั้งในแง่ของการใช้งานและความรู้สึก พอเขาใช้งานแล้วรู้สึกว่าทำให้ใจสบาย โอกาสการเจ็บป่วยก็จะน้อยลงไปด้วย
อะไรที่ทำให้คุณคิดว่าการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วย ดีกว่าการที่ป่วยแล้วค่อยไปรักษา
เราว่าร่างกายคนก็เหมือนกับรถ ถ้าเราเอารถใหม่ๆ สวยๆ ไปขับชนมา ก็รู้สึกเจ็บปวด แล้วพอเอาไปซ่อมหน้าตาภายนอกมันก็สวยเหมือนเดิมหรืออาจจะใกล้เคียงของเดิม แต่เรารู้แหละว่าโครงสร้างข้างในมันเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราแข็งแรงได้ตั้งแต่ต้น แล้วทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีตั้งแต่ต้นก็จะดีกว่า
คุณทำบริษัทเกี่ยวกับสุขภาพและยา แต่ทำไมถึงตั้งวิสัยทัศน์ว่าอยากให้คนกินยาเท่าที่จำเป็น
ถ้าเราให้คนกินยาไปเยอะๆ โดยไม่จำเป็น เขาต้องรับสารเคมีเข้าไปด้วย แต่กลไกร่างกายมหัศจรรย์มากเลย มันสามารถรักษาตัวเองได้ แต่บางทีเราก็ไปขัดขวางกลไกธรรมชาติของร่างกายด้วยการกินยามากเกินไป เราอาจจะคิดว่าร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้แหละ แล้วเรากินยาเข้าไปช่วยเสริม พอเสริมไปเยอะๆ กลไกร่างกายจะเริ่มขี้เกียจ รักษาตัวเองไม่เป็น
พอมีเชื้อใหม่เข้ามาหรือเป็นเชื้อเดิมที่มีมากขึ้น ถ้าร่างกายทำงานไม่เป็นก็ต้องรอแต่กินยา เหมือนเราตอนเด็กๆ ที่เป็นภูมิแพ้เยอะ แล้วก็เป็นหวัดตลอด เรียกว่าเป็นทุกเดือนเลย เราก็จะได้กินพวกยาฆ่าเชื้อตลอด พอยิ่งกินมันก็ยิ่งป่วยซ้ำๆ
เราก็เลยลองพักไม่กินยา ช่วงแรกในการปรับตัวก็จะป่วยหนักนิดนึง แต่พอหลังจากนั้นก็ป่วยน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญมาก เหมือนร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ แต่ช่วงที่เลิกกินยาก็ต้องดูว่าเรารับปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้นช่วงนั้นได้ไหม พ่อแม่เรายอมรับได้หรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่คนรอบข้างนี่แหละที่จะเป็นห่วง ทนเห็นเราป่วยไม่ได้แล้วก็อยากให้กินยา
ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่ต้องถึงขั้นหักดิบแบบเราก็ได้ สามารถกินยาควบคู่ไปกับการออกกำลังกายหรือสร้างภูมิต้านทานอย่างอื่นก็ได้ แต่เวลาจะกินยาอะไรต้องดูว่าเรากำลังดูแลสุขภาพหรือกำลังทำลายสุขภาพอยู่กันแน่ แต่อะไรที่มันเยอะไปก็ต้องเป็นการทำลายสุขภาพอยู่แล้ว
เราก็มาคิดว่าถ้าเราได้กำไรจากการให้คนกินยาเยอะๆ เราจะมีความสุขจริงๆ เหรอ คือเงินก็สำคัญนะ แต่คุณค่าของเราไม่ใช่เรื่องเงิน คุณค่าของเราคือการพัฒนาอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ เจตนารมณ์ของเราก็เลยเป็น Health Beyond Medicine อยากให้คนกินยาเท่าที่จำเป็น
ด้วยแนวคิดเหล่านั้น ทำให้คุณมีไอเดียในการคิดสินค้าแต่ละตัวออกมายังไงบ้าง
เรามองไปที่ pain point ของลูกค้าก่อนเลย แล้วก็หา consumer insight เพื่อดูว่าเราจะพัฒนาอะไรไปแก้ปัญหาให้เขาได้บ้าง เหมือนพอโจทย์มันกว้างกว่าแค่เรื่องยา เป็นการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ก็ทำให้เราสามารถมีแนวคิดใหม่ๆและสร้าง innovation ต่อไปได้เรื่อยๆ
อย่าง Hashi ที่เป็นผงเกลือล้างจมูกและอุปกรณ์ล้างจมูก ก็มาจากข้อมูลเชิงลึกของเราเองที่เป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก คุณหมอก็บอกว่าต้องกินยาแก้แพ้ไปตลอด เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ก็ไปค้นคว้าเจองานวิจัยของอเมริกาแล้วก็ของยุโรป บอกว่าระบบหายใจที่ดีขึ้นช่วยเรื่องภูมิแพ้และทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นได้
เราก็เลยอยากทำที่ล้างจมูกออกมา ก่อนทำก็มานั่งวิเคราะห์ว่าทำยังไงให้คนใช้งานง่าย แล้วจุดที่เป็นข้อควรระวังคืออะไร ก็เลยต้องศึกษา anatomy ของจมูกว่าเป็นยังไง ซึ่งการที่เราหายใจลำบาก มักมาจาก 2 สาเหตุ คือขี้มูกแห้งเกินไปหรือผนังจมูกบวม
ถ้าเกิดจากขี้มูกแห้ง เราโดนน้ำนิดเดียวแล้วก็สั่งออกสัก 2-3 ครั้ง มันก็สามารถหลุดออกมาได้ แต่ถ้าเราใช้แรงดันน้ำสูง แปลว่าจะต้องดันผ่านโพรงไซนัสทั้งหลายแล้วก็ไปออกอีกทาง ก็เกิดความเสี่ยงที่เราจะพาขี้มูกที่มีและเชื้อโรคต่างๆ ขึ้นไปด้วย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้เยอะ
ถ้าเกิดจากผนังจมูกบวม ยิ่งเราอัดแรงดันเข้าไปก็อาจจะยิ่งบวมขึ้น ทำให้น้ำไม่สามารถไหลย้อนออกมาได้ น้ำที่เข้าไปก็มีความเสี่ยงในการดูดเศษสิ่งสกปรกไว้แล้วอุดตันข้างใน ทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปอีก
เราเลยมีการออกแบบการใช้งาน ถ้าใช้ภาษาสวยๆ ที่เขาเรียกกันก็คือการทำ product design, design thinking และ process design เน้นให้ปริมาณน้ำเข้าไปเยอะ แต่ใช้แรงดันเบา เพื่อให้เกิดการล้างที่นุ่มนวล หรืออย่างที่ล้างจมูกเด็กเอง เราก็เห็นว่าถ้าเป็นเด็กเล็ก พอล้างจมูกไปแล้ว เขาจะสั่งขี้มูกออกไม่เป็น ก็เลยจะมีที่ดูดให้ด้วย
หรืออย่างอมยิ้มวิตามิน เราเริ่มพัฒนามาจากโจทย์ที่เรามองปัญหาของเด็ก ๆ ที่มีอาการไม่สบายในลำคอ หรือคอแห้ง เราก็คุยกับทีมว่าเด็กชอบอะไร เด็กดูจะชอบลูกอม แต่ถ้าเป็นลูกอมธรรมดาก็มีโอกาสติดคอได้ เราเลยทำอมยิ้ม ที่มีก้านสำหรับจับ และคัดเลือกส่วนผสมที่ตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นเพกตินที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำคอ และมีวิตามินที่เป็นส่วนผสม พอเขากินอมยิ้มอันนี้ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย

และตัวโพสต์ไบโอติกส์ ก็มาจากแกนหลักของเราคือใช้ยาเท่าที่จำเป็น เราก็กลับมาดูว่ามีอะไรที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด แล้วช่วยปรับสมดุลร่างกายของเราตั้งแต่ต้น ก็เจองานวิจัยว่าจุลินทรีย์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับลำไส้สามารถช่วยได้
แต่ pain point ก็คือจุลินทรีย์เหล่านั้นมักจะย่อยสลายก่อนที่จะไปถึงลำไส้ โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้เป็นพรีไบโอติกและโพรไบโอติก ซึ่งเชื้อที่มีชีวิต พอโดนความร้อนหรือกรดในกระเพาะอาหารปุ๊บก็ตายแล้ว ทำให้พอกินเข้าไป ผ่านกระเพาะอาหารแป๊บเดียวก็ตายและไปไม่ถึงลำไส้
เราก็เลยแก้ pain point โดยการใช้โพสต์ไบโอติกส์ เขาเป็นเหมือน second generation ของโพรไบโอติก ที่ทำงานกับลำไส้เสร็จสรรพแล้ว ทำให้สามารถกินเข้าไปได้เลย และเรียกว่าเราเป็นโพสต์ไบโอติกส์เจ้าแรกๆ ของเมืองไทยด้วย

เห็นว่ากว่าจะออกสินค้าแต่ละตัว คุณทดลองใช้กันเอง ต้องมีเอกสารถูกต้อง มีงานวิจัยรองรับ ทำไมถึงให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้
เรารู้สึกว่าเราไม่ได้แค่ขายของ แต่กำลังส่งมอบสุขภาพดีให้กับลูกค้า เราเลยต้องคิดให้ละเอียดเหมือนทำให้คนในบ้านกินเอง แล้วก็ลองก่อนว่ากินแล้วดีขึ้นไหม และมีงานวิจัยมารองรับความปลอดภัยของเรา เราส่งแล็บตรวจโน้นนี้เยอะเลย และเราระบุส่วนผสม สรรพคุณ ข้อควรระวังไว้ทั้งหมด
ยกตัวอย่าง อันนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับสินค้า แต่ว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เคยมีคนมาถามว่ามัทฉะดีจริงไหม เราก็พอมีความรู้นิดหน่อยเลยแนะนำเขาไปว่าสำหรับเค้าอย่ากินเลย เพราะหากคุณมีภาวะเลือดจางหรือขาดธาตุเหล็ก สารในมัทฉะอาจขวางการดูดซึมธาตุเหล็กได้ ไม่ใช่มันไม่ดีนะ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่กินอันนี้แล้วเห็นผลดี หรืออย่างพวกอาหารเสริมเราก็จะเขียนไปให้คนรู้ว่าต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง เพราะเราเป็นห่วงว่าถ้าให้ข้อมูลไม่ครบ มันเหมือนหลอกให้เขามาซื้อของเราหรือเปล่า
แล้วกระแสตอบรับเป็นยังไงบ้าง
กระแสตอบรับเรียกได้ว่าดีเกินคาด คำว่าดีเกินคาดของเราก็มีเรื่องยอดขายด้วยส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือเรารู้สึกดีเวลาที่เด็กได้กินแล้วกลายเป็นว่าเขาชอบไปเลย พ่อแม่ก็จะซื้ออมยิ้มวิตามินอันนี้เก็บไว้เป็นกล่องๆ เวลาลูกป่วยก็มีพร้อมให้กิน เหมือนพ่อแม่ก็มีความสุขมากขึ้นที่ไม่ต้องบังคับให้เด็กกินยา เด็กๆ ก็แฮปปี้ เหมือนเราทำให้เขาเจอรูปแบบการแก้ปัญหาในการดูแลลูกได้ แต่เมื่อก่อนมันไม่มีตัวเลือกให้เขาแบบนี้

หรืออย่างตัว Mewbio ที่เป็นโพสต์ไบโอติกส์ เรายังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ก็จะมีไปให้พนักงานและคนรู้จักลอง พอเขาชิมปุ๊บ ลูกเขาก็อยากกินตาม ถึงขนาดที่ลูกเขาขอเองเลยว่าจะกินต่อเนื่องด้วย เพราะเขารู้สึกว่าอร่อย ซึ่งก็มาจากทีมเราที่เขาค่อนข้างจะเก่งเรื่องการชิมอาหาร เรายกให้คุณประโยชน์มาก่อน แล้วต้องมีรสชาติที่ดีด้วย คนถึงจะรู้สึกมีความสุขกับมัน เพราะบางทีของที่ดีแต่ไม่อร่อย คนก็ไม่อยากกิน แล้วมันก็จะไม่ได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเขา
ในมุมของคุณ คิดว่าหัวใจสำคัญในการทำสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพคืออะไร
หัวใจสำคัญคือเรากำลังทำให้คนสุขภาพดีและมีความสุขหรือเปล่า ถ้าสุขภาพดีเฉยๆ แต่ไม่มีความสุข ก็อาจจะไม่ใช่แนวทางของเรา มันดูฝืน ดูเหมือนเราทำไปไม่สุด เพราะเราเป็นคนที่เอาความสุขเข้ามาใส่ในชีวิตประจำวัน เราเลยอยากฉีกกฎเดิมๆ บ้าง เราคิดว่าตัวเองเป็นเหมือนนักเรียนประถมคนหนึ่งที่ชอบอะไรเฟี้ยวๆ เพราะฉะนั้นพอโจทย์มาปุ๊บ เราก็สนุกที่จะคิดอะไรให้มันต่าง
เรามองว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่แค่ตัวสินค้า คือถ้าสินค้าดีแต่ว่าลูกค้าหรือคนที่ช่วยแนะนำสินค้าเราไม่รู้ว่าควรใช้ยังไง ก็อาจจะขายได้ในช่วงสั้นๆ แต่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมจริง เวลาทำสินค้าเราจะยึดแต่ functional อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องเข้าใจอินไซต์ของผู้บริโภคด้วย เข้าใจชีวิตเขาจริงๆ เช่น เด็กไม่ชอบกินยา แล้วก็ทะเลาะกับพ่อแม่เพราะว่าลูกไม่ยอมกินยา ก็เกิดบรรยากาศไม่ดีในครอบครัว แต่สินค้าของเราเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาให้เขาและทำให้พวกเขามีความสุข
กว่าจะมีสินค้าที่ดีออกมาได้ คุณมี vision การทำงานภายในองค์กรยังไง
มาจาก vision ของบริษัทเราคืออยากจะเป็น health agency ทีนี้เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้ไปถึงจุดนั้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเราอย่างหนึ่งคือ ซอฟต์แวร์ไม่ใช่ตัวระบบ แต่คือผู้คน เคยมีปรัชญาหนึ่งที่เราได้ฟังตอนเรียน เขาบอกว่าเมืองเมืองหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของโครงสร้างที่สวยงามที่บอกว่าเมืองนั้นเป็นยังไง แต่มาจากแก่นของคนข้างในที่สะท้อนว่าเมืองนั้นเป็นยังไงต่างหาก นึกถึงตอนเราพบเจอชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา แล้วเราสามารถบอกได้ว่าบุคลิกลักษณะแบบนี้คือคนที่น่าจะมาจากประเทศอะไร
เราเลยสร้างวัฒนธรรมองค์กร ว่าคนของที.ซี. ฟาร์มา-เคม จะมีบุคลิก ลักษณะ หรือตัวตน ประมาณนี้ ผ่าน 6 value ที่เราตั้งไว้คือ
Health Outside the Box คิดค้นวิธีใหม่ๆ ในการดูแลสุขภาพหรือรักษาอาการป่วยให้ดีขึ้น เหมือนอย่างอมยิ้มวิตามิน พอเราตีโจทย์ให้กว้างขึ้น ก็จะเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำอะไรใหม่ๆ ออกมา

Thoughtful Expert เราอยากให้พนักงานเป็นผู้ที่รู้จริงและต้องคิดให้ละเอียด อย่างตัวอมยิ้มวิตามิน เราต้องคิดว่าจะใส่รสชาติอะไรบ้าง ใส่ซองแบบไหน คิดไปถึงประสบการณ์ตอนซื้อว่าต้องวางชั้นล่าง เพื่อให้เด็กหยิบได้ อันนี้คือการคิดละเอียดเรื่อง value chain ทั้งหมดเลย
Quality Without Compromise คุณภาพสินค้าและบริการดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เช่น มีงานวิจัยรองรับ เราทดลองชิมกันเองจนมั่นใจก่อน ถึงจะปล่อยสินค้าออกไป
Honest Family เราจริงใจกับทุกคนเหมือนเป็นคนในครอบครัว ทำให้เราต้องใส่รายละเอียดสินค้าให้ครบ บอกข้อควรระวังทั้งหมด

Live a Sufficient Life ในออฟฟิศเราจะส่งเสริมเรื่องการเก็บเงินและใช้ชีวิตแบบพอดี ซึ่งแต่ละคนไม่จำเป็นต้องประหยัดอย่างเดียว แค่ให้มีพอดี ถ้าใครมีรายได้ทางอื่นแล้วอยากใช้จ่ายมากกว่านั้นก็เป็นวิถีของเขา เพราะการใช้ชีวิตอย่างพอดี มีความสุขพอเหมาะ จะช่วยลดความเครียดในการต้องมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเรามีความกังวลน้อยลง เราก็จะสามารถแบ่งปันหรือทำเรื่องดีๆได้มากขึ้น
Fail Reflect Grow การที่เราจะทำ innovation ได้ก็ต้องสนับสนุนให้น้องๆ ในทีมทดลองทำ มีพื้นที่ให้เขาได้ผิดพลาดและเรียนรู้กับมัน เช่น แผนกบัญชีอยากโปรโมตเรื่อง saving marathon สนับสนุนให้คนในออฟฟิศออมเงิน เขาก็ไปคิดมาว่าจะประชาสัมพันธ์ยังไง จะมีโปสเตอร์ยังไง จะสื่อสารยังไง บางทีสื่อสารไปไม่มีใครสนใจ เขาก็จะได้ปรับเปลี่ยนและเรียนรู้เนื้องานอื่นที่นอกเหนือจากงานปกติของเขา เพราะส่วนใหญ่เราพยายามให้ทำงานกันเป็นทีม เขาจะได้เห็นอะไรที่มากกว่าขอบเขตงานตัวเองด้วย
ดูเหมือนคุณให้ความสำคัญกับเรื่องคนมาก
ใช่ค่ะ เพราะเราเคยอยู่บริษัทต่างชาติมาก่อน แล้วก็คิดว่ามันเหมือนเราทำงานให้คนต่างชาติไปเรื่อยๆ เราอยากทำอะไรที่มีประโยชน์กับคนไทยบ้าง เรารู้สึกว่าคนไทยไม่ได้เก่งน้อยกว่าคนชาติอื่นเลย แต่แค่อาจจะขาดโอกาส

เราก็เลยอยากให้โอกาสคน เราคิดว่าคุณค่าของการทำงานไม่ใช่การทำธุรกิจแล้วได้กำไร แต่คือการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการบางอย่างที่เกิด value เราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ แต่ยังมีอะไรบางอย่างมาปิดกั้นความคิดหรือมุมมองของเขา ทำให้เขายังไม่ดึงมันออกมาใช้ได้เต็มที่
เราเลยพยายามส่งเสริมเรื่องจิตวิทยา มีการจัดอบรมให้กับพนักงาน พอไปอบรมมาปุ๊บ เขาก็กล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลและความรู้สึกมากขึ้น กล้าที่จะบอกตัวตนมากขึ้น แล้วบอกตัวตนในมุมที่ไม่ได้สวยงาม เช่น ที่เขาคิดหรือเขาตัดสินใจตอนนั้นเป็นเพราะแบบนี้นะ เราก็เข้าใจ ไม่มีการตัดสินกัน จะเกิดรูปแบบของภาษาบางอย่างที่เราคุยลึกในระดับจิตใจกันมากขึ้น เราเห็นประโยชน์ของการตัดสินใจด้วยข้อมูลที่กว้างขึ้น
เรื่องจิตวิทยาเรารู้สึกว่ามันเป็นจุดประสานที่เหมาะสม คือถ้าใจมันไม่มา งานจะไม่เดิน เรื่องนี้เรายอมรับเลย แล้วก็ก่อนหน้านี้เรามีการทำ KPI ทำ OKR ซึ่งเราก็รู้สึกว่าตัวเองยังไม่เข้าใจและเอามาใช้พัฒนาคนได้ไม่เต็มที่ แถมรู้สึกว่าสร้างความเครียดให้กับคนทางอ้อมด้วย ซึ่งมันก็จะขัดแย้งกับเป้าหมายที่ทำให้เราอยากมาทำงานที่นี่ แต่พอมีเรื่องจิตวิทยาเข้ามา เราได้เปิดใจคุยกับเขา แล้วพอเขาทำได้เราก็จะบอกว่า เห็นไหมล่ะ คุณทำได้ ตัวเขาเองก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นด้วย
นอกจากเรื่องจิตวิทยาแล้ว คุณมีกิจกรรมอื่นที่ส่งเสริมพนักงานทั้งสุขภาพกายและใจอีกไหม
เราปลูกผักกันในออฟฟิศด้วยนะ (หัวเราะ) มาจากว่า ถ้าเราอยากจะดูแลสุขภาพคนอื่น เราต้องดูแลสุขภาพพนักงานเราก่อน เราปลูกผักสวนครัวเป็นสวนเล็กๆ แบบปลอดสารพิษ คนทั่วไปก็มาหยิบได้ โรงครัวอาหารกลางวันก็มาเอาผักนี้ไปใช้ได้ด้วย แล้วเราก็สั่งเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่เลี้ยงแบบไบโอฯ มาทำอาหารขายพนักงานในราคา 30 บาท เพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้องๆ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ไม่ต้องไปจ่ายค่าอาหารข้างนอกแบบแพงๆ

ที่ทำแบบนี้ทุกวันเรามีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการจัดการอาหารพนักงานที่เป็นงบสวัสดิการสนับสนุนเพิ่มให้เดือนละประมาณ 1 แสนบาท แต่เรามองว่ามันคุ้มค่า โดยเงินส่วนหนึ่งที่เอามาทำตรงนี้ก็มาจากการที่ในออฟฟิศเก็บแยกขยะแล้วก็ขายขยะเก็บสะสมเงินไว้ ทำให้มีเงินสำรองเก็บจากตรงนี้ 4 แสนบาทเอาไปเป็นเงินทุนดูแลสวัสดิการพนักงาน
แล้วเรามีการแบ่งงบประมาณบริษัทมาดูแลพนักงานประมาณ 30% ซึ่งก็มีเอามาจัดอบรมต่างๆ ใครอยากรู้เรื่องอะไรขอให้บอกมาก็พร้อมจัดให้ เช่น money coach มาสอนการออมเงิน การลงทุน การวางแผนเกษียณ มีอบรมเรื่องการวาง strategy หรือมีอบรมอะไรดีๆ ข้างนอกเราก็ส่งพนักงานไปเทรนนิ่งด้วย
ภาพในอนาคตคุณอยากเห็นแบรนด์เติบโตไปในทิศทางไหน
เราไม่ได้คาดหวังว่าธุรกิจต้องใหญ่โตมาก เราคำนวณตัวเลขไว้แล้วว่าถ้าขนาดธุรกิจประมาณนี้ จะต้องมีรายได้ กำไร และความแข็งแกร่งของแบรนด์ระดับไหน ที่จะสามารถหล่อเลี้ยงพนักงานได้

คือเรามองบริษัทเป็นเหมือนคนคนหนึ่ง ถ้าทำงานหาเงินมาแล้วใช้เงินไปเรื่อยๆ ไม่ได้ประหยัดอะไร เราก็จะกลายเป็นคนที่ต้องทำงานหาเงินไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเรามีเงินเก็บก้อนนึง แล้วใช้มันสร้างรายได้กลับมาให้เรา เราก็จะสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
เราเลยคุยกันในบริษัทว่าจะมีเงินก้อนหนึ่งมาใช้ลงทุนบ้าง อาจจะเป็นการลงทุนในบริษัทใกล้เคียงหรืออาจจะเป็นการลงทุนให้น้องพนักงาน คนไหนที่มีแวว เราก็ซัพพอร์ตธุรกิจให้เขาต่อไป