คลินิกทำฝัน
Teeth Time คลินิกทำฟันที่อุดทุก pain point ของคนไข้และหมอฟันด้วยงานดีไซน์
ตั้งแต่ฟันน้ำนมยังขึ้นไม่ครบทุกซี่จนถึงวันนี้ที่ผ่านการรักษารากฟันมาแล้วเรายังไม่เคยเห็นคลินิกทำฟันที่ไหน–ทั้งในไทยและต่างประเทศ–ที่มีหน้าตาเหมือน Teeth Time สักแห่ง
เริ่มจาก facade สีขาวด้านหน้าที่ดูเหมือนว่าจะเป็นคาเฟ่ เปิดประตูเข้ามาเจอล็อบบี้โปร่ง โล่ง ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์นอร์ดิก มองออกไปด้านนอกมีสวนร่มรื่น เห็นช่องแสงลอดลงมาจากหลังคาด้านบนที่เจาะเป็นรูปวงกลม
ให้มองอีกกี่ที ที่นี่ก็ไม่ใช่คลินิกทำฟัน
ถึงอย่างนั้นเราขอยืนยันอีกครั้งว่าที่นี่คือสถานที่รักษาฟันจริงๆ ที่มีจุดเริ่มต้นคือการแก้ pain point ของคนไข้เวลาไปทำฟันและแก้ pain point ของ ‘หมอฟัน’ ไปในตัว
แต่ที่เกินคาดคือนอกจากงานดีไซน์จะอุด pain point ทั้งหลายจนหายดี มันยังทำให้ธุรกิจไปได้ดีตั้งแต่แรกเปิดกิจการ
เช้าวันหนึ่งก่อนคลินิกจะเปิดและคนไข้จะทยอยเข้ามารักษาแบบไม่ขาดสาย เราจึงนัดกับผู้ก่อตั้งและสถาปนิกขอมาสำรวจคลินิกแห่งนี้ทุกซอกทุกมุมเพื่อหาคำตอบว่าเพียงปรับงานดีไซน์ ทุกแง่มุมของธุรกิจนั้นดีขึ้นได้ยังไง
ทำฟันคือฝันร้าย
คลินิกทันตกรรม Teeth Time เกิดขึ้นโดยหุ้นส่วนสามคน นั่นคือ ปฐวี นวลพลับ, ทันตแพทย์หญิง อัญชลี สุจิวโรดม หรือ หมอเมี่ยง ภรรยาของปฐวี และรุ่นน้องของหมอเมี่ยงอย่าง ทันตแพทย์หญิง รพีญา รชากรพัฒน์ หรือ หมอหมิว
ปฐวีมีอาชีพหลักเป็นวิศวกรโยธาและมีภรรยาเป็นหมอฟัน แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็มีความลับที่ไม่อยากบอกใคร
เขากลัวการทำฟันขึ้นใจ
“ตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่แม่พาไปทำฟันผมรู้สึกว่ามันน่ากลัวมาก เหมือนต้องเข้าห้องเชือด แค่นั่งรอหน้าห้องทำฟัน ฟังเสียงอุปกรณ์ครืดๆๆ ก็กลัวจนตัวสั่น กระทั่งทุกวันนี้ผมก็ยังไม่ค่อยอยากทำฟัน มันฝังใจ มี perception ต่อการทำฟันที่ไม่โอเค”
“คนไข้ส่วนใหญ่จะกลัวเสียง” หมอหมิวเสริมในมุมของหมอ “บางคนจะบอกเลยว่าเขามีประสบการณ์การทำฟันในวัยเด็กที่ไม่ดี เขากลัวเสียงนี้มากเลย หรือขอพักบ่อยหน่อย”
ก่อนหน้านี้ปฐวีและหมอเมี่ยงเปิดคลินิกทำฟันอยู่ที่ทาวน์อินทาวน์ แต่หลังจากแต่งงานทั้งคู่ก็คุยกันว่าอยากเปิดคลินิกทำฟันใกล้ๆ บ้านที่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ พวกเขาจึงเริ่มตามหาที่ดินแปลงที่ใช่กระทั่งเจอทำเลถูกใจริมถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย 4 และได้หมอหมิวมาเป็นหุ้นส่วนอีกคน พร้อมกับได้ชื่อ Teeth Time ที่ล้อกับคำว่า Tea Time หรือเวลาน้ำชา ช่วยคุมคอนเซปต์การทำฟันแบบสบายๆ ไม่น่ากังวล
ไม่นานหลังจากนั้น ไอเดียคลินิกในฝันก็ถูกส่งต่อให้ กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ ผู้ก่อตั้งและดีไซน์ไดเรกเตอร์ของสตูดิโอ Physicalist ทำให้เป็นจริง
อุดทุก pain point ด้วยงานดีไซน์
“บรีฟที่ทางทีมให้มามันเคลียร์มาก นั่นคือการออกแบบบรรยากาศที่ช่วยให้การทำฟันเป็นกิจกรรมที่ไม่น่ากลัว ดังนั้นเราเลยมีโจทย์หลักว่าอะไรที่ทำให้การทำฟันน่ากลัว เราจะทำตรงข้ามกับสิ่งนั้นให้หมด”
กาจวิศว์เล่าว่าสิ่งที่เป็นหัวใจของ Teeth Time คือ “ความโปร่งและสว่าง เป็นภาพที่เห็นตรงกันมาตั้งแต่วันแรกเพราะมันตรงกันข้ามกับคลินิกที่เช่าตึกมาทำ”
เพื่อความโปร่ง ล็อบบี้จึงมีเพดานสูงเป็นพิเศษเพื่อให้การนั่งรอทำฟันไม่อึดอัด ผนังด้านในของตึกเป็นบานกระจกยาวตลอดแนวอาคารรับแสงธรรมชาติตลอดวัน ส่วนคอร์ตยาร์ดตรงกลางแทนที่จะทำเป็นห้องตรวจเพื่อรับคนไข้ให้เยอะขึ้นที่นี่กลับทิ้งสเปซเป็นพื้นที่สีเขียวช่วยสงบใจคนไข้ขี้กลัว
และนอกจากต้นเสม็ดแดงฟอร์มสวยตรงกลางสวน สิ่งที่สะกดทุกสายตาให้หยุดมองตั้งแต่เปิดประตูเข้ามาคือหลังคาเจาะรูปวงกลมมองเห็นท้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนสีไปในแต่ละช่วงเวลา
“คอนเซปต์ของเราคือคุณสามารถเห็นภูมิทัศน์ด้านนอกได้จากทุกจุดในโซนคนไข้เพราะมันให้บรรยากาศเหมือนเราอยู่ในสวนจริงๆ แม้ว่าเราจะอยู่ในที่ร่มก็ตาม” ปฐวีอธิบาย
“ผมชอบคอนเซปต์ของกาจมาก เขาบอกว่าอาคารของเราเป็นรูปทรงเรขาคณิตทั้งหมดก็เลยอยากให้สวนซึ่งเป็นไฮไลต์ไม่เป็นเรขาคณิต”
“เราอยากสร้างความรู้สึกฟรีฟอร์ม” กาจวิศว์เสริม “ในสวนจะมีความกวนๆ นิดนึง เราตัดแบ่งครึ่งหนึ่งเป็นหิน อีกครึ่งเป็นต้นไม้ให้มีความเป็นเรขาคณิตมากๆ แต่ต้นไม้ที่เป็นประธานของสวนกลับมีฟอร์มเลื้อย ให้ความรู้สึกอ่อนช้อยในตึกที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม วงกลม”
ถัดจากโซนล็อบบี้คือโซนห้องทำฟันที่ออกแบบให้ไม่อึดอัดด้วยหน้าต่างวงกลมเปิดรับแสงและวิว และเมื่อเปิดประตูหน้าห้องก็สามารถมองออกไปเห็นสวนได้เลย
ไม่ต้องใช้เวลานาน เราก็สังเกตได้ว่าที่นี่มีกระจกเยอะกว่าคลินิกทำฟันทั่วไปมาก กาจวิศว์เฉลยว่าไม่เพียงกระจกใสจะให้ฟังก์ชั่นความโปร่ง มันยังช่วยลดทอน ‘ความลึกลับ’ อันเป็นคาแร็กเตอร์ของคลินิกทำฟันที่หลายคนหวาดกลัว
“อาคารที่เปิดโล่งทำให้รู้สึกว่าการทำฟันไม่ลึกลับ ปกติเวลาลงทะเบียนเสร็จเราจะต้องไปนั่งในโถง รอให้พยาบาลพาเข้าไปที่ไหน เจออะไรก็ไม่รู้ แต่กับที่นี่ เรานั่งที่ล็อบบี้ก็เห็นประตูห้องทำฟัน รู้ว่า อ๋อ เดี๋ยวเราจะต้องไปตรงนั้น ความรู้สึกก็ผ่อนคลายขึ้น”
ทั้งหมดที่ปฐวีและกาจวิศว์เล่ามาคือสิ่งที่ตามองเห็น แต่ที่พวกเขาใส่ใจไม่แพ้กันคือสิ่งที่หูได้ยิน
เพราะเป็นผู้ประสบภัยจากเสียงของกิจกรรมทำฟันโดยตรง เมื่อได้สร้างคลินิกขึ้นจากศูนย์ ปฐวีจึงลงมือวางระบบปั๊มและท่อด้วยตัวเองโดยย้ายปั๊มลมและอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงออกไปไว้ด้านนอกอาคารติดกับห้องเอกซ์เรย์ที่มีผนังปูนหนา เพื่อให้เสียงเล็ดลอดไปถึงห้องทำฟันให้น้อยที่สุด
“เสียงน่ากลัวๆ ที่เราได้ยินตอนทำฟันส่วนหนึ่งมาจากพวกปั๊มน้ำ ปั๊มลม ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะเอาไว้ใกล้ๆ ห้องทำฟันเพราะไม่ต้องเดินท่อไกล ข้อเสียคือทำให้เสียงดัง ตอนออกแบบคลินิกผมเลยย้ายอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงไปไว้ข้างหลังคลินิกทั้งหมด คนไข้ที่ทำฟันอยู่จะไม่ได้ยิน ได้ยินแค่เสียงที่มาจากอุปกรณ์ที่อยู่ใต้เก้าอี้ทำฟันเท่านั้น”
ที่คิดละเอียดยิ่งกว่าคือการที่ปฐวีรีเควสต์ให้วางห้องทำฟันเป็นแนวยาวตลอดตัวอาคาร ไม่เพียงมันจะทำให้รับแสงและวิวได้เท่าเทียมกัน แต่ยังเอื้อต่อการเดินระบบท่อให้มีจุดโค้งงอน้อยที่สุด แรงดันของปั๊มจึงไม่ตกและทำให้เครื่องมือแพทย์ใช้งานได้อย่างเสถียรที่สุด
“เราพยายามทำให้การสร้างอาคารขึ้นมาใหม่เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบทุกโจทย์ ทั้งโจทย์ทางวิศวกรรม โจทย์ทางดีไซน์ คนทำงาน และคนที่มาทำฟัน” กาจวิศว์สรุป
คลินิกทำฟันที่ไม่เหมือนคลินิกทำฟัน
“ประโยคแรกที่ผมบอกกาจตอนจะสร้างที่นี่ คือผมอยากได้คลินิกที่ดูรู้ว่าเป็นคลินิกทำฟันแต่ไม่เหมือนคลินิกทำฟัน” ปฐวีเล่าพร้อมหัวเราะให้กับบรีฟของตัวเอง
จากโจทย์นี้ กาจวิศว์จึงตีความออกมาว่าแม้ในแวบแรกคนจะไม่รู้ว่าที่นี่เป็นคลินิกทำฟัน แต่อาคารต้องเด่นเป็นจุดสังเกตให้คนที่ขับรถผ่าน และคนต้องรู้ว่าเขาสามารถเข้ามาใช้งานที่แห่งนี้ได้
“เพราะด้านหน้าของคลินิกเป็นถนน คนจะเห็นอาคารจากในรถซึ่งกำลังแล่นเท่านั้น ตัวอาคารจึงต้องมีความสูงพอสมควรไม่อย่างนั้นคนจะขับรถผ่านไปเลย เราจึงทำส่วนหน้าของอาคารให้สูงเป็นส่วนของ facade และล็อบบี้ซึ่งต้องการความโปร่ง แต่ในส่วนอื่นๆ ของตึกนั้นไม่ได้ต้องการความสูงมาก อาคารจึงมีลักษณะสูงข้างหน้าแล้วเอนมาเตี้ยข้างหลังสอดคล้องกับระบบระบายน้ำ
“อีกอย่าง ด้วยบริบทของอาคารที่เข้าถึงได้จากทางรถเท่านั้น เราจึงทำ facade เป็นโค้งขนาดใหญ่ทั้งด้านหน้าและด้านข้างเพื่อให้มองเห็นอาคารจากทุกด้านของถนน และแทนที่จะซ่อนลานจอดรถไว้ด้านหลังเราก็เลือกทำลานด้านหน้าให้เป็นที่จอดรถเพื่อให้คนที่ขับรถรับรู้ว่าฉันเอารถเข้าไปจอดได้นะ”
และอย่างสุดท้ายที่ช่วยสื่อสารความเป็นคลินิก ปฐวีบอกว่าคือโลโก้ที่ทำหน้าที่บอกว่าอาคารสีขาวแห่งนี้มีฟังก์ชั่นอะไร
แน่นอนว่ายังคงคอนเซปต์การขจัดภาพจำฝังแน่นของคลินิกทำฟันให้หมดเกลี้ยง
“เรื่องโลโก้ต้องให้เครดิตคุณเฟย (ก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์ จากทีม InFO)” ปฐวีออกปาก “ผมอยากได้โลโก้ที่ไม่มีรูปฟัน ไม่มีคำว่า smile จากชื่อ Teeth Time คุณเฟยเลยครีเอตเป็นนาฬิกาที่มีเข็มเป็นรูปแปรงสีฟันให้อย่างที่เห็น”
เท่านี้ แม้ด้านนอกจะเหมือนคาเฟ่แค่ไหน แต่เพียงเห็นโลโก้ขนาดใหญ่บนอาคารก็พอเดาได้ไม่ยากใช่ไหมว่าที่นี่ให้บริการอะไร
กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย
นอกจากกินข้าว นั่งดูละคร และร้องคาราโอเกะ ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่ง กิจกรรมที่คน 3 เจเนอเรชั่นในครอบครัวทำร่วมกันได้จะเป็นการทำฟัน
ถึงงานดีไซน์จะโดดเด่นล้ำหน้า แต่ชื่อของหุ้นส่วนที่เป็นทันตแพทย์ถึง 2 คนก็การันตีได้ว่าพวกเขาจริงจังกับการรักษาไม่แพ้ใคร โดยใช้เครื่องมือและวัสดุได้มาตรฐาน และมีทันตแพทย์ทุกประเภทเพื่อครอบคลุมลูกค้าให้หลากหลายที่สุด
“คำว่าหลากหลายของเราคือครอบครัว ผมมองว่าการทำฟันเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัยในครอบครัว อย่างเมื่อวันก่อนก็มีครอบครัวหนึ่งที่มารักษาทั้งคุณตา คุณยาย พ่อ แม่ ลูกๆ เราเห็นคน 3 เจเนอเรชั่นมาพร้อมกัน พบคุณหมอคนละท่าน คุณหมอฟันปลอม หมอเด็ก หมอทั่วไป (หัวเราะ)” ปฐวีเล่าจนเราเห็นภาพ
“พื้นที่ของเราและ facility ที่เตรียมไว้ก็เหมาะสำหรับการที่ครอบครัวจะมานั่งรอได้ คุณแม่มารักษา คุณพ่อมาดื่มกาแฟ ลูกๆ วิ่งเล่น ไปปีนสไลเดอร์กัน”
เขาขยายความต่อว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เลือกทำเลนี้ก็เป็นเพราะทาร์เก็ตครอบครัวนี่เอง
“ผมกับภรรยาแต่งงานกันมา 5-6 ปีและอาศัยอยู่แถวนี้ เราสังเกตว่าคนที่อยู่แถวนี้ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวใหม่อายุประมาณ 30-50 ปีเหมือนๆ กับเรา ใช้ชีวิตชานเมือง มีความรีแลกซ์”
พูดถึงครอบครัวใหม่ก็ต้องนึกถึงเด็กเล็กซึ่งปฐวีไม่อยากให้จดจำว่าการทำฟันเป็นเรื่องน่ากลัว Teeth Time จึงมีห้องทำฟันสำหรับเด็กซึ่งมีสเตชั่นหน้าตาน่ารักจนผู้ใหญ่อย่างเราอยากลดอายุลงไปสัก 20 ปี จะได้เจอพี่ไดโนเสาร์เหมือนเด็กๆ สมัยนี้
“ผมเองตอนเด็กๆ ไปนั่งอยู่หน้าห้องทำฟันตัวสั่นดิกๆ แต่ที่นี่ ผมเห็นเด็กๆ อายุประมาณ 6-7 ขวบถามแม่ว่าเมื่อไหร่จะได้เข้าห้องทำฟันสักที จะไปเจอพี่ไดโนเสาร์ มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรารู้สึกตอนเด็กๆ เลย”
“เรารู้สึกว่าการปลูกฝังเด็กให้ไม่กลัวการทำฟันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ” หมอหมิวขอเสริม “ที่ผ่านมาเราเจอคนไข้เยอะมากที่กลัวการทำฟันเพราะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็กเขาเลยไม่เคยดูแลฟันเลย เจออีกทีอายุ 30 กว่าแต่ฟันพังหมดแล้วก็มี ถ้าเราสามารถทำให้เด็กๆ มีประสบการณ์ที่ดี ไม่กลัวหมอฟัน อยากดูแลฟันมันจะกลายเป็นจุดเล็กๆ ที่ส่งผลดีต่อเขาในระยะยาว”
ออฟฟิศที่หมอฟันอยากมาทำงานทุกวัน
อย่างที่บอกไว้ตอนต้นบทความว่า Teeth Time ตั้งใจอุด pain point ทุกจุดที่เกิดขึ้นได้ในคลินิกทำฟัน
สำหรับปฐวี pain point เหล่านั้นไม่ใช่แค่ปัญหาที่คนไข้ต้องเจอ แต่รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของหมอฟัน ผู้ที่หลายคนลืมไปว่าต้องใช้เวลาอยู่ในคลินิกมากที่สุด
“ภรรยาผมเขาฝันอยากเป็นหมอฟันมาตั้งแต่เด็กแต่ความฝันของเขามีข้อจำกัดบางอย่าง ในทีนี้หมายถึงขอบเขตในการทำงานของเขาที่คับแคบ อยู่แต่ในห้อง ผมจะเห็นเขาบ่นปวดหัว อึดอัดเสมอ สุดท้ายแล้วการออกแบบที่นี่เลยเป็นเรื่องส่วนตัวด้วย เราคิดว่าหมอฟันน่าจะมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีได้เหมือนคนอาชีพอื่นๆ”
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าห้องทันตกรรมสำหรับผู้ใหญ่ทั้ง 3 ห้องมีอุปกรณ์เหมือนกันก็จริงแต่ดีเทลการตกแต่งภายในไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเลย์เอาต์ของหน้าต่างหรือสีของสเตชั่นทำฟันและเฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้คุณหมอและสตาฟฟ์ได้สนุกกับการเปลี่ยนบรรยากาศทุกๆ ครั้งที่ได้ย้ายไปทำงานในห้องใหม่
“ธุรกิจทำฟันก็คืองานบริการประเภทหนึ่ง ถ้าเราทำให้พนักงานทุกคนของเรามีความสุขไม่ได้ พนักงานของเราก็จะไม่สามารถทำให้ลูกค้ามีความสุขและมีรอยยิ้มกลับไปได้เช่นกัน ฉะนั้นถ้าเราทำพื้นที่ให้เขาอยู่แล้วสบายลูกค้าของเราก็ได้ประโยชน์ด้วย” ปฐวีขยายความ
หากถามว่าคลินิกนี้น่าทำงานแค่ไหน หุ้นส่วนทั้งสามขอตอบด้วยจำนวนใบสมัครของหมอฟันที่ส่งเข้ามาแม้คลินิกจะเพิ่งเปิดให้บริการได้ราว 2 เดือน
“จริงๆ การออกแบบของกาจทำให้วิธีการทำธุรกิจเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน” ปฐวีบอก “สิ่งที่ไม่คาดฝันคือปกติหมอฟันจะหายากมากๆ เวลาเปิดคลินิกใหม่เราจะต้องไปเชิญคุณหมอมาทำงานกับเรา แต่ที่นี่คุณหมอที่โปรไฟล์ดีๆ หลายท่านก็สมัครเข้ามา น่าจะประมาณ 40 คนแล้ว เวลามาเห็นของจริงเขาก็ถ่ายรูปกัน”
“เพราะที่สุดที่นี่ก็เป็น workplace นะ มันเป็นที่ทำงานของเขา” กาจวิศว์เสริม
ธุรกิจดีได้เมื่องานดีไซน์ดี
ตอนที่นัดหมายกันทางโทรศัพท์ ปฐวีแอบบอกว่า “ตอนนี้ผลตอบรับเกินคาดไปมาก” และขอนัดคุยกันเช้าเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้การถ่ายภาพไปรบกวนคนไข้นัดแรกๆ ของวัน
และหลังจากคิวแรกของวันมาถึง เราก็เห็นว่ามีคนไข้ทยอยมาแบบไม่ขาดช่วงแม้จะเป็นวันธรรมดา หมอหมิวเองกระซิบว่าตอนนี้มีคิวจองทำฟันยาวเหยียด โดยเฉพาะคิวคุณหมอเด็กที่ยาวไปถึงเดือนเมษายน
แต่ที่เซอร์ไพรส์เราได้มากกว่าคิวนานข้ามเดือนคือคนไข้ที่ลงทุนเดินทางข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศเพื่อมาทำฟันที่นี่
“สำหรับธุรกิจทำฟันปกติเราจะมองทาร์เก็ตเป็นคนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ เพราะคนส่วนใหญ่ทำฟันใกล้บ้าน แต่พอเปิดให้บริการโจทย์ที่เราตั้งไว้มันผิดไปเลย เรามีคนไข้จากที่ไกลๆ มารักษาเพราะเห็นว่าคลินิกของเราสวย ขับรถมาจากปทุมฯ บ้าง อยุธยาบ้าง หรือคนที่อยู่เยอรมนีกลับมาบ้านที่เมืองไทยเขาก็แวะมาทำ” ปฐวีเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
ในที่นี้งานดีไซน์จึงเหมือนเป็นพาหนะพาคลินิกไปเจอคนที่อยู่ไกล สร้างโอกาสในการได้ลูกค้าใหม่ๆ ที่จะกลายเป็นลูกค้าประจำในอนาคต
“ผมมองว่าหมอฟันคือสุดยอดอาชีพช่างเลยนะ ซึ่งเมื่อคนเราเจอช่างที่ใช่แล้วเขาจะไม่ค่อยเปลี่ยนช่างกันหรอก เหมือนเวลาเจอช่างตัดผมที่ถูกใจ ช่างย้ายไปไหนเราก็ย้ายตาม กับการทำฟันเองก็เหมือนกัน ถ้าลูกค้าได้มาเจอหมอที่เขาชอบที่นี่แล้วเขาก็จะกลับมาอีกเรื่อยๆ” กาจวิศว์ให้ความเห็น ก่อนปฐวีจะเอ่ยปากเห็นด้วย
สำหรับคนริเริ่มโครงการอย่างเขา นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าในทุกมิติแม้ว่าจะต้องใช้เงินมากกว่าคลินิกทำฟันทั่วไปมากก็ตาม
“ผมรู้อยู่แล้วว่ามันต้องใช้เงินเยอะ จริงๆ หมอฟันไม่จำเป็นต้องทำคลินิกแบบนี้ก็ได้ ยังไงก็มีคนไข้อยู่แล้วเพราะว่าปวดอะไรก็ไม่เท่าปวดฟัน แต่เรามองว่านอกจากดีกับคนไข้แล้วหมอฟันเองก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน ดังนั้นเราอาจจะคืนทุนช้ากว่าคนอื่นแต่ถ้าเราทำให้คนไข้ประทับใจเราก็มีโอกาสได้ดูแลเขาไปตลอด กระทั่งได้ดูแลครอบครัว ลูกหลานของเขา ผมว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืน อยู่ได้ในระยะยาวมากกว่าจะคิดแค่ว่าเราจะคืนทุนภายใน 3 ปี 5 ปี
“ทุกวันนี้บางคนก็แวะเข้ามาถ่ายรูปแล้วถามว่าที่นี่คืออะไร แวะเข้ามาขอถ่ายรูปด้านในบ้าง เราก็เชิญเขาเข้ามา จะทานกาแฟก็ได้ เราคิดว่าทุกคนต้องทำฟันอยู่แล้ว ถ้าเราต้อนรับเขาเดี๋ยวเขาก็จะกลับมาเอง”
“เวลาเห็นฟีดแบ็กว่าคลินิกสวย แน่นอนผมดีใจอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวที่ผมประทับใจมากๆ คือธุรกิจมันไปได้ดี ผมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่พิสูจน์ว่าอาคารได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว” กาจวิศว์สรุปพร้อมรอยยิ้ม
และแน่นอนว่ามันเป็นรอยยิ้มที่คราฟต์โดยคลินิกทันตกรรมชื่อ Teeth Time