Lockstar
กลยุทธ์ของ Super Lock ที่เข้าใจผู้บริโภค จนล็อกมงกล่องพลาสติกคู่บ้านคนไทยมาได้อย่างยาวนาน
ป๊อก! ป๊อก! ป๊อก! ป๊อก!
“ลูกค้าของ Super Lock จะชินกับเสียงนี้ คือพอล็อกฝากล่องลงไปแล้วมันจะเป็นเสียงดัง ป๊อกๆ ซึ่งให้ความรู้สึกว่า ‘ล็อกแล้วนะ’ มันเลยกลายเป็นเอกลักษณ์ของเราไปโดยปริยาย” เอม–สิวารี เจริญจิตมั่น Brand Director และทายาทรุ่นที่ 2 ของ Super Lock เล่ายิ้มๆ ถึงเทคโนโลยีการล็อกกล่องถนอมอาหารที่เป็นฮีโร่โปรดักต์ของแบรนด์
ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ เราเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องเคยใช้ผลิตภัณฑ์ของ Super Lock มาแล้วอย่างแน่นอน ถึงไม่ใช่กล่องถนอมอาหารก็อาจจะเป็นโปรดักต์ไลน์อื่นๆ ที่แตกไลน์ออกมานับไม่ถ้วน ยืนยันได้จากโชว์รูมที่อัดแน่นไปด้วยผลิตภัณฑ์พลาสติกหลากไซส์หลายประเภทตรงหน้าเราขณะนี้
เอมเชื้อเชิญให้เรานั่งลงบนเก้าอี้พลาสติก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งโปรดักต์ของแบรนด์เช่นกัน เราอดสงสัยไม่ได้ว่าตั้งแต่กล่องอาหารมาจนถึงเก้าอี้ที่พวกเรากำลังนั่งอยู่นี้ Super Lock มีความเป็นมายังไง และพวกเขาทำยังไงพื่อรักษาแก่นความเชื่อของแบรนด์ให้เข้มแข็ง ท่ามกลางอาณาจักรพลาสติกที่ขยายใหญ่จนแทบจะเรียกได้ว่าครอบจักรวาล
“ทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 ของ Super Lock เรามี core belief เดียวกัน คือเราเชื่อในการเฝ้าดูพฤติกรรมผู้บริโภค แล้วก็พยายามคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ เราพยายามจะเป็นมากกว่านี้ตลอดเวลา” คำตอบนั้นสั้น กระชับ อาจฟังดูเรียบง่าย แต่ภายใต้ประโยคดังกล่าวก็แฝงไว้ด้วยเรื่องราวมากมายของพวกเขา
กว่าที่แบรนด์จะเดินทางมาถึงวันนี้
ขายกล่องพลาสติกให้เหมือนกับขายรถยนต์
แรกเริ่มเดิมที เจ.ซี.พี พลาสติก จำกัด คือบริษัททำ OEM รับผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทเครื่องใช้ในบ้าน โดยเน้นผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ญี่ปุ่น ทำได้ถึงจุดหนึ่งก็เกิดไอเดียต่อยอด know-how การผลิตให้กลายเป็นแบรนด์ของตัวเอง Super Lock จึงถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2549 โดยแบรนด์ตั้งใจชูจุดแข็งคือคุณภาพและความใส่ใจต่อลูกค้าตามมาตรฐานญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน
แต่การที่บริษัท OEM หันมาปั้นแบรนด์ของตัวเองนั้นไม่ง่าย และไม่ได้การันตีความสำเร็จเสมอไป เพราะการจะทำแบรนด์ให้ติดตลาดได้ย่อมต้องพึ่งปัจจัยหลายอย่าง มากกว่าแค่ประสบการณ์และความชำนาญในการผลิต
กรณีของ Super Lock เรามองว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้กล่องล็อกใสๆ เหล่านี้กลายเป็นไอเทมประจำบ้านคนไทยได้สำเร็จมี 2 อย่างคือ หนึ่ง–แก้ pain point ในชีวิตของลูกค้า และสอง–การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
“ในยุคนั้นเราจะเคยชินกับการที่ตู้เย็นมีกลิ่นติดเสมอ เพราะคนเอาของใส่ในตู้เย็นหลายอย่าง กลิ่นก็จะคละคลุ้ง” เอมเริ่มเล่าถึง pain point หลักของตู้เย็นคนไทยในสมัยก่อน ก่อนจะเริ่มยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงในบ้านของตัวเอง
“อย่างครอบครัวเราเองเป็นครอบครัวคนจีน ช่วงตรุษจีนเราไปกินข้าวบ้านอาม่าอากง มีกับข้าวเหลือ เราก็มัดใส่ถุงพลาสติกเอากลับมาใส่ตู้เย็นที่บ้าน กลิ่นมันก็จะตีกันในตู้เย็น อีกอย่างคือเก็บได้ไม่นาน ไม่กี่วันมันก็จะเสีย ตอนนั้นผู้บริหารรุ่นหนึ่งก็เริ่มมองหาว่า จะมีผลิตภัณฑ์อะไรไหมที่จะมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้บ้าง
“คำตอบคือกล่องพลาสติกที่ล็อกได้ เป็นสุญญากาศ เพราะตอนนั้นที่ต่างประเทศเขาเริ่มผลิตกล่องลักษณะแบบนี้มาใช้กันแล้ว ประกอบกับว่าเราได้เจอนาโนเทคโนโลยี Microban ซึ่งช่วยยับยั้งการเกิดแบคทีเรียและเชื้อราภายในกล่อง ก็จะทำให้อาหารในกล่องเสียช้าลง สดกรอบนานขึ้น เราก็เลยตัดสินใจเริ่มพัฒนากล่องล็อกในแบบของแบรนด์เราเอง ลองผิดลองถูกอยู่นานจนได้ออกมาเป็น Super Lock”
แต่มันไม่ง่ายเลยที่จะอธิบายเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ แถมลูกค้ายังมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าด้วยซ้ำ
“ช่วงแรกที่เราเปิดตัว เราต้องให้ความรู้เขาค่อนข้างเยอะเพื่ออธิบายว่ากล่องนี้มันช่วยเก็บถนอมอาหารได้ยังไง เพราะในมุมมองของคนสมัยนั้นเขาก็จะคิดว่า ทำไมเราต้องเอาอาหารมาใส่กล่องล่ะ ในเมื่ออาหารอยู่ในถุงเราก็เอาเข้าตู้เย็นได้เลยเหมือนกัน
“วิธีการที่เราใช้ เราได้ไอเดียจากตอนที่ไปเดินงานมอเตอร์โชว์ จะเห็นว่าทุกบูทเขาจะมี mc มาอธิบายคุณสมบัติของรถ เราเลยคิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องมีคนมาบอกเล่าสรรพคุณให้ลูกค้าเข้าใจเหมือนกับที่ลูกค้าจะซื้อรถ Super Lock จึงถือเป็นแบรนด์แรกเลยที่เริ่มเอา mc เข้ามาอธิบายผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทพลาสติก”
แต่นอกจาก mc แล้ว Super Lock ยังลงทุนยกตู้เย็นไปตั้ง และเตรียมกล่องอาหารเพื่อเปรียบเทียบให้ลูกค้าเห็นประสิทธิภาพในการถนอมอาหารของกล่องล็อกสุญญากาศและเทคโนโลยีนาโนแบน รายละเอียดในการนำเสนอสินค้าเช่นนี้เองที่โน้มน้าวให้ลูกค้าเปิดใจลองซื้อไปใช้ และเมื่อประกอบกับคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐาน สร้างกระแสปากต่อปากในหมู่ผู้ใช้งาน จนกล่องของ Super Lock เริ่มกลายเป็นที่รู้จักในที่สุด
กล่องที่ลูกค้าไม่เคยรู้มาก่อนว่าอยากได้
“ด้วยความที่ตลาดของเราค่อนข้างก๊อบปี้กันง่าย สมมติมีสินค้าออกมาให้คนเห็นปุ๊บ การจะทำตามมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากแล้ว เรื่องนี้จึงเป็นชาลเลนจ์ที่บริษัทเรามีมาโดยตลอด” เอมเกริ่นถึงความท้าทายระลอกใหญ่ที่แบรนด์ต้องเผชิญอยู่เสมอๆ
“เราจึงต้องคอยคิดตลอดว่าลูกค้ายังอยากได้อะไรอีก พยายามคิดถึงสิ่งที่ลูกค้าน่าจะอยากได้แต่เขายังไม่รู้ตัว เพื่อที่เราจะได้มีสินค้าใหม่ๆ มาตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ก่อนคนอื่น”
แล้วอะไรกันคือเคล็ดลับที่ทำให้อ่านความลับในใจลูกค้าเช่นนั้น เอมเล่าว่าสิ่งสำคัญคือการเอาตัวไปใกล้ชิดกับลูกค้าให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการไปพูดคุยกับลูกค้าเวลาที่มีงานออกบูท หรือการศึกษาลูกค้าผ่านดาต้าบนช่องทางออนไลน์ก็ดี ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เห็น pain point ที่ซ่อนอยู่ได้ในที่สุด
“อย่างกล่องล็อกสุญญากาศเนี่ย พอใช้ไปนานๆ ฝาล็อกด้านข้างอาจจะหักได้ ล่าสุดเราเลยผลิตกล่องตัวใหม่ที่ถอดตัวล็อกออกมาจากฝาได้เลย ดังนั้นมันจะไม่หักแล้วเพราะสามารถแยกกันได้ตั้งแต่ต้น แล้วก็สะดวกในการดูแลทำความสะอาดมากยิ่งขึ้นด้วย อีกอย่างคือในเรื่องสีกล่องที่เราสามารถเล่นสีด้านข้างได้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้เรามองว่าลูกค้าเริ่มหันมาแต่งบ้านกันเยอะ เราจึงพยายามให้กล่องของเรากลายเป็นส่วนหนึ่งในการแต่งบ้านได้ด้วย”
เหมือนกับที่แม่บ้านยุคก่อนปี 2549 ไม่เคยรู้ว่าเราจำเป็นต้องมีกล่องล็อกสุญญากาศเพื่อให้ตู้เย็นไม่เหม็น และยืดอายุในการเก็บได้นานขึ้นกว่าอยู่ในถุงหรือกล่องทั่วไป Super Lock ตั้งใจนำเสนอกล่องล็อกสุญญากาศรุ่นใหม่ที่แก้ pain point จากกล่องรุ่นเดิมได้ครบถ้วน และยังแถมคุณสมบัติในการแต่งบ้านไปอีก
อีกหนึ่งโปรดักต์ที่น่าสนใจคือกล่องเก็บไข่ไซส์ใหญ่พิเศษ ซึ่งเปิดตัวในยุคกักตัวโควิด-19 ที่เหล่ามนุษย์ทำอาหารไม่สามารถออกไปจ่ายตลาดได้บ่อยๆ
“ช่วงที่คนต้องกักตัว เราเห็นว่าหลายคนตุนไข่ไว้ที่บ้านมากขึ้น จากเดิม Super Lock มีกล่องเก็บไข่อยู่แล้วแต่เป็นขนาดเล็กจุได้แค่ 10 ฟอง พอมาเจอสถานการณ์แบบนี้เราก็เลยตัดสินใจทำกล่องเก็บไข่ขนาดใหญ่ที่จุได้เพิ่มขึ้นเป็น 30 ฟอง พอลูกค้าซื้อไข่แผงใหญ่กลับมาก็วางเรียงได้พอดีเป๊ะเลย”
จากกล่องเก็บอาหาร สู่สารพัดกล่องของทุกคน
ไม่เพียงแต่ปรับตัวบน pain point ของลูกค้า แต่ Super Lock ยังเริ่มปรับระยะสายตาให้ไกลกว่าแค่กล่องพลาสติกในห้องครัว ขยับขยายไปสู่โปรดักต์พลาสติกอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ
“เรื่องการแตกไลน์สินค้าก็จะมาเริ่มแตกไลน์ที่รุ่นเรา เพราะเราอยากขยายฐานให้ไปไกลกว่าแค่กล่องเก็บอาหาร อย่างชิ้นแรกๆ ที่มีกระแสตอบรับดีจนเป็นที่จดจำก็น่าจะเป็นกล่องรองเท้า เพราะเราปล่อยออกได้ตรงจังหวะช่วงที่คนกำลังฮิตสะสมสนีกเกอร์ด้วย” แต่นอกจากจังหวะเวลาแล้ว การรีเสิร์ชและออกแบบอย่างละเอียดลออก็เป็นอีกข้อที่มีผลต่อความสำเร็จในครั้งนี้
“เราต้องไปรีเสิร์ชดูว่ากล่องที่เขาจะซื้อไปแล้วสามารถใช้ใส่ได้ทั้งรองเท้าผู้หญิงและผู้ชายมันคือไซส์ไหน และคิดด้วยว่าเวลาไปเรียงในบ้านมันจะวางเข้ามุมได้ไหม พวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิดเผื่อไว้ก่อนทั้งหมด” เอมสรุป ก่อนจะเล่าต่อถึงอีกหนึ่งโปรดักต์ที่มีอินไซต์น่าสนใจไม่แพ้กัน
“อีกอันหนึ่งที่กระแสตอบรับดีจนเคยเป็นไวรัลในพันทิปก็คือ กล่องใส่กล้อง มันเริ่มจากที่เรารู้ดีว่ากล้องหนึ่งตัวมันมีมูลค่าค่อนข้างแพง อย่างตัวเอมเองก็มีกล้อง ชอบซื้อกล้อง แต่พอซื้อมาถ้าเราเก็บไม่ดี กล้องชื้น มันก็เสีย ซึ่งเรามองเห็นช่องว่างที่ยังไม่มีใครหันมาทำกล่องเก็บกล้องในราคาจับต้องได้ ถ้าจะเก็บให้ดี คนเล่นกล้องส่วนใหญ่ก็ต้องขยับไปซื้อตู้เก็บกล้องที่มีราคาค่อนข้างแพงอีก
“เราเลยตัดสินใจ adapt กล่องเก็บอาหารของเราให้มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับใส่กล้อง และบุก้นกล่องกันกระแทก แค่นั้นเลย บางคนอาจจะไปหาซื้อแผ่นกันชื้นมาใส่เพิ่มก็ได้ เป็นโปรดักต์ที่ใช้ได้จริงและมีคนซื้อต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้”
แต่เมื่อกล่องใส่กล้องมีหน้าตาภายนอกไม่ต่างอะไรจากกล่องใส่อาหารขนาดใหญ่ เมื่อเปิดตัวโปรดักต์ออกมาช่วงแรก Super Lock จึงต้องใส่ใจกับวิธีการนำเสนอโปรดักต์ให้คนรับรู้ถึงสินค้าใหม่ที่เปิดตัวออกมา หรือที่เอมเรียกว่า ‘การแต่งตัวสินค้า’
“เรื่องนี้มันต้องเริ่มตั้งแต่แพ็กเกจจิ้งเลย เรามองว่าแพ็กเกจจิ้งมันคือการแต่งตัวสินค้า ทำให้คนมองปุ๊บรู้เลยว่าอันนี้เอาไว้ใส่อะไร ง่ายที่สุดเลยคือแทนที่จะเป็นรูปอาหารก็จะกลายเป็นรูปกล้อง ถ้าลูกค้าที่เพิ่งเคยเห็นแล้วไม่แน่ใจเดี๋ยวเขาก็จะมาถามเองว่า เอ๊ะ อันนี้ไว้ใส่กล้องเหรอ? เออจริง ไซส์มันได้นี่นา จากนั้นถ้าสนใจเขาก็จะซื้อไปลอง”
นี่คือ customer jouney ที่เรียบง่ายแต่ตรงจุดสำหรับสินค้าใหม่ๆ ที่แตกไลน์ออกมา เช่นกันกับการแต่งตัวกล่องใส่อาหารน้อยใหญ่ไซส์อื่นๆ ที่เธอและทีมงานบรรจงเลือกสรรภาพเพื่อเป็นตัวแทนอย่างดี ให้ลูกค้าเห็นว่ากล่องไซส์นี้เหมาะสำหรับใส่เชอร์รีหรือบลูเบอร์รีมากกว่ากัน แล้วกล่องไซส์นั้นต้องใส่หัวหอมใหญ่หรือหอมแดงกันแน่
ขายกล่องให้คนที่ปกติไม่ใช้กล่อง
แล้วกับคนที่ปกติไม่ใช้กล่องใส่อาหาร ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการยืดอายุหรือถนอมอาหารเป็นพิเศษ Super Lock มีเคล็ดลับอะไรในการโน้มน้าวพวกเขาให้เข้ามาเป็นลูกค้า หรือเปิดใจลองซื้อสินค้าดูสักครั้ง
กลยุทธ์หนึ่งที่ Super Lock ใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีประสิทธิภาพทั้งเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้าได้จริงก็คือ การคอลแล็บกับแบรนด์หรือคาแร็กเตอร์ชื่อดังอย่างมูมิน คิตตี้ และผองเพื่อนซานริโอ้ที่ปัจจุบัน Super Lock เป็นผู้ถือ official license อยู่นั่นเอง
“การคอลแล็บกับคาแร็กเตอร์ต่างๆ คือสิ่งที่เราทำมานานแล้ว ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นคือพอเรามีสินค้าที่ชัด จุดแข็งที่ชัด และมี core belief ในเรื่องคุณภาพสินค้าที่แข็งแกร่ง ทำให้เวลาที่เราอยากจะแตกไลน์สินค้า หรือไปคุยกับคู่ค้าคนไหนเขาก็ค่อนข้างให้ความเชื่อใจ” เอมเล่าพลางชี้ชวนให้เราดูแบบร่างลายมูมินคอลเลกชั่นใหม่ที่ถูกปรินต์แปะไว้บนฝากล่อง
“ทุกๆ การคอลแล็บช่วยขัดเกลาตัวตนของแบรนด์ให้แข็งแรงมากขึ้น” เธอย้ำ ก่อนจะยกตัวอย่างหนึ่งในโปรเจกต์พิเศษล่าสุดที่ถึงแม้จะไม่ใช่งานคอลแล็บโดยตรง แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่ไวรัลจนทำให้โปรดักต์ของ Super Lock กลับมาเป็นกระแสถูกพูดถึงไปทั่วโซเชียล
“สำหรับโปรเจกต์นี้คือเราเป็นผู้ผลิตถัง bucketware ให้แคมเปญวันแม่ของ KFC ทางนั้นเขาก็กำลังมองหาผู้ผลิตคนไทยที่จะผลิตกล่องบักเก็ตแวร์ให้กับเขา ซึ่งเรามองว่าตัวเราเองค่อนข้างพร้อมในแง่ที่เรามีประสบการณ์การผลิตอยู่แล้ว และสามารถขึ้นโมใหม่ ผลิตสินค้าไซส์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้ตามที่เขาต้องการได้”
แม้แคมเปญจะมีโจทย์ที่ชัดเจนคือการทำกล่องไซส์เดียวกับบักเก็ตไก่ของแบรนด์เป๊ะๆ ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่ค่อนข้างใหญ่กว่ากล่องใส่อาหารทั่วไปในท้องตลาด แต่สำหรับ Super Lock ผู้คร่ำหวอดในวงการนี้มายาวนานก็มั่นใจตั้งแต่แรกว่าพวกเขาสามารถเอาอยู่อย่างแน่นอน ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังใช้เวลาร่วมปีในการประชุม พูดคุย ขึ้นแบบ และเทสต์สินค้าจนมั่นใจว่าตรงตามมาตรฐานของแบรนด์
“การคอลแล็บกับคาแร็กเตอร์ หรือร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ ในลักษณะนี้คือโอกาสที่เราจะได้แฟนๆ ของเขาเข้ามาเป็นลูกค้า ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าของ Super Lock เองไปด้วยในตัว” เอมสรุป
กล่องที่ลูกค้าหยิบจับไม่ได้ แต่ต้องเห็นภาพ
เมื่อย้อนถามถึงการปรับตัวของแบรนด์กับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราพบว่า Super Lock เองก็ไม่เคยหยุดนิ่งเช่นกัน
จากการขายกล่องพลาสติกตามบูทและเชลฟ์ในห้าง สู่การขายออนไลน์บนเว็บไซต์ ทำแบรนด์ดิ้งออนไลน์บนโซเชียลมีเดีย จนเข้ายุคของอีคอมเมิร์ซ และล่าสุดเมื่อทุกแบรนด์ต่างจริงจังกับการไลฟ์ขายของ และทำ affiliate marketing
“อย่างออนไลน์มาร์เกตติ้งมันเริ่มจากรุ่น 1 ซึ่งเขามีวิชั่นว่าอยากเริ่มทำเว็บไซต์มาก่อน พอเราที่เป็นรุ่น 2 เข้ามา ด้วยความที่เราค่อนข้างคุ้นชินกับเครื่องมือเหล่านี้มากกว่า คือเราเห็นเว็บไซต์ของเมืองนอกแล้วได้รู้ว่าการซื้อของออนไลน์ในต่างประเทศเป็นยังไง คนสามารถซื้อของโดยที่ไม่ต้องเห็นของจริงก็ได้ แล้วของก็มาส่งถึงหน้าบ้าน พอเราเริ่มเข้ามาทำงานได้สักพัก ถึงจุดหนึ่งที่เข้าใจแล้วว่าสินค้าของเราคืออะไร ลูกค้าของเราเป็นใคร ก็เลยตัดสินใจเริ่มทำออนไลน์กันมา
“อีกอย่างคือการเริ่มทำเฟซบุ๊กของแบรนด์ ตอนนั้นเราก็แค่คิดว่า ถ้าเฟซบุ๊กของบุคคลยังมีได้ เฟซบุ๊กของแบรนด์ก็ต้องมีได้เหมือนกัน เลยพยายามลองผิดลองถูกกันขึ้นมา แน่นอนว่าไม่ได้เป็นระบบสวยงามเหมือนทุกวันนี้” เอมเล่าถึงความทรงจำในช่วงแรกที่กลับมาช่วยบริหารงานที่บ้าน
“สาเหตุที่เราให้ความสำคัญกับออนไลน์มาร์เกตติ้งคือรุ่นเราคิดว่ามันเป็นโอกาสสำคัญจริงๆ เพราะมันทำให้เราไม่ถูกจำกัดอยู่แค่การที่ลูกค้ามาหาเรา แต่เราเองก็จะไปหาลูกค้าได้ผ่านทางออนไลน์ แถมเราก็จะได้ดาต้ากลับมาทำการบ้านต่อด้วยว่าลูกค้าอยากได้อะไร”
จากแบรนด์ที่เก็บดาต้าของลูกค้าหน้าบูทในแต่ละห้างมาทำการบ้าน เพื่อคัดเลือกสินค้าไปนำเสนอให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายในการออกบูทครั้งถัดๆ ไป เมื่อเข้าสู่ยุคของออนไลน์ พวกเขาจึงยิ่งจริงจังกับการใช้ดาต้ามาวางแผนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
การขยับตัวแต่ละครั้งของ Super Lock นอกจากความทุ่มเทแล้ว แน่นอนว่าต้องมีต้นทุนที่แฝงอยู่ แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ได้ตัดสินใจยากเลยเมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงระลอกแล้วระลอกเล่าในตลาด
“เราไม่ได้ตัดสินใจยากเลย เราคิดแค่ว่า ‘มาก็ทำ’ แค่นั้นเอง ตรงนี้อาจจะเป็น core belief และเป็นธรรมชาติของบริษัทเราอยู่แล้วว่า ถ้ามีอะไรใหม่มาเราต้องลองเข้าไปเรียนรู้ ต้องเข้าไปลองดู” เอมตอบด้วยน้ำเสียงสบายๆ
What I’ve Learned
- “ต้องเอาตัวเองไปอยู่ในธุรกิจ ศึกษาให้ลึกว่าจริงๆ แล้วเราเป็นใคร หาแก่นของเราให้เจอ และพยายามศึกษาว่าเราทำอะไรได้บ้าง”
- “เอาตัวเองไปติดกับลูกค้า ไปหาว่าลูกค้ายังมี pain point อะไรไหม ศึกษาผู้บริโภคให้ลึก และพยายามเข้าใจลูกค้าให้มาก”
- “พาตัวเองออกไปข้างนอก ไปศึกษาเรื่องข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ ต่างประเทศ เพื่อที่จะตามหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายแบรนด์ให้สามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ”