The Billion Dollar Game
‘ศึกคนชนธุรกิจ’ ทำไม Super Bowl จึงไปไกลกว่าแค่เรื่องของกีฬา
Match : ซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 58 Kansas City Chiefs VS San Francisco 49ers
Date : 12 กุมภาพันธ์ 2024
นี่คือการกลับมาเจอกันอีกครั้งของสองคู่ปรับที่พบกันมาในศึกอเมริกันฟุตบอล Super Bowl ครั้งที่ 55 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของแคนซัส ซิตี้ ชีฟส์
แพทริก มาโฮมส์ ควอเตอร์แบ็กดาวดังหวังจะคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ 2 สมัยติดต่อกันให้ชีฟส์ เหมือนที่ทอม เบรดี เคยทำไว้ในการป้องกันแชมป์ให้นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ ในช่วงปี 2003-2004 เพียงแต่คู่แข่งครั้งนี้อย่างซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ส ที่นำมาโดยบร็อก เพอร์ดี ควอเตอร์แบ็กผู้เหมือนยืนอยู่บนคนละด้านของโชคชะตาในฐานะ ‘Mr.Irrelevant’ ที่ถูกดราฟต์เป็นคนสุดท้ายในปี 2022 แต่พิสูจน์คุณค่าของตัวเองพาทีมมาถึงจุดนี้ได้
ที่ข้างสนามทุกคนยังรอจับตาดูว่าจะได้เห็น เทย์เลอร์ สวิฟต์ เข้ามาเชียร์แฟนหนุ่มคนเก่งอย่าง ทราวิส เคลซี สตาร์อีกคนของชีฟส์หรือไม่
แต่ซูเปอร์โบวล์มีอะไรให้ติดตามอีกเยอะ ถ้าในสนามคือศึก ‘คนชนคน’ ที่ดุเดือดเร้าใจ นอกสนามมันคือศึกคนชนธุรกิจที่สนุกไม่น้อยไปกว่ากันเลย
1.
ภาพของตึกโดมทรงกลมดิ๊ก ‘Sphrere’ สัญลักษณ์แห่งใหม่ของลาสเวกัส เมืองเจ้าภาพการแข่งขันประจำปีนี้ ที่ถูกทำให้เป็นหมวกของทีมชีฟส์ และไนเนอร์ส เป็นการส่งสัญญาณถึงทุกคนไม่ใช่เฉพาะชาวเวกัสเท่านั้น แต่รวมถึงชาวอเมริกัน และแฟนๆ NFL ทั่วโลกด้วยว่าเรากำลังนับถอยหลังสู่ศึก ‘ซูเปอร์โบวล์’ อีกครั้ง
ซูเปอร์โบวล์ครั้งนี้เป็นการแข่งขันปีที่ 58 ซึ่งสำหรับชาวอเมริกันแล้วนี่คือ ‘วาระแห่งชาติ’ อย่างแท้จริง
ในสหรัฐอเมริกา อเมริกันฟุตบอลถือเป็นกีฬายอดฮิตอันดับหนึ่งซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวอเมริกันจะได้ใช้จ่ายวันเวลาไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการไปชมเกมสดๆ ที่ขอบสนาม การไปนั่งดูตามผับตามบาร์เพื่อสนทนากับเพื่อนที่รู้ใจ ไปจนถึงการเปิดจอโทรทัศน์นั่งชมเกมสดๆ อยู่ที่บ้านไปกับสมาชิกครอบครัว
เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกันเลยทีเดียว
แต่เกมที่เด็ดที่สุดที่แฟนๆ NFL ทุกคนไม่ว่าจะเชียร์ทีมอะไรก็จะเฝ้ารอดูคือซูเปอร์โบวล์ ที่เป็นการตัดสินแชมป์ของฤดูกาลระหว่างทีมคอนเฟอเรนซ์ AFC กับคอนเฟอเรนซ์ NFC ที่จะได้มาชิงชัยความเป็นหนึ่งกัน
ความเร้าใจนั้นอยู่ที่เกมจะตัดสินกันจบแค่นัดเดียว ไม่มีโอกาสให้แก้ตัว ดังนั้นมีเท่าไหร่ต้องใส่ลงไปให้หมดในเกมนี้
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ซูเปอร์โบวล์มักจะมีแมตช์ที่ตราตรึงในความทรงจำมากมาย เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นในสนาม โค้ชที่อยู่ข้างสนาม ต่างต้องงัดทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพละกำลัง ไปจนถึงสติปัญญาในการช่วงชิงเอาชนะคู่แข่งให้ได้ และไม่มีใครยอมแพ้ใครจริงๆ ต่อให้เวลาจะเหลือเพียงแค่ไม่กี่วินาทีก็เถอะ
รางวัลของทีมผู้ชนะคือถ้วย ‘วินซ์ ลอมบาร์ดี’ โทรฟีที่ตั้งชื่อตามผู้จัดการทีมระดับตำนานของทีมกรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ซึ่งออกแบบโดย ออสการ์ รีเดเนอร์ รองประธานบริษัท Tiffany & Co. บริษัทผลิตเครื่องประดับชื่อดังระดับโลก
นอกจากนี้นักกีฬาแต่ละคนจะได้รับแหวนแชมป์ซูเปอร์โบวล์ ซึ่งเป็นของรางวัลที่ NFL มอบให้เป็นที่ระลึก ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่นักอเมริกันฟุตบอลทุกคนใฝ่ฝัน
ซูเปอร์โบวล์มันจึงเป็นเกมกีฬาที่มี ‘คุณค่า’ อย่างมากและมีมูลค่ามากมายมหาศาล จนอาจจะกล่าวได้ว่ามากที่สุดในโลกก็ว่าได้ครับในกลุ่มกีฬาที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี
2.
สิ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นดัชนีชี้วัดเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือโฆษณาของการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ หนึ่งในเวทีโชว์ของระดับโลกของเหล่าครีเอทีฟ และโอกาสทางการตลาดของเหล่าแบรนด์ที่อยากจะกลับมาเพิ่มยอดขายอีกสักครั้ง ซึ่งถือเป็นเวลาโฆษณาที่มีมูลค่าแพงที่สุดในโลก
ที่ว่าแพงนั้นแพงขนาดไหน?
ราคาของโฆษณาในช่วงพักการแข่งขันมีแต่ขึ้นไม่มีลง ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วราคาอยู่ที่ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อ 30 วินาที และหากเราย้อนกลับไป 20 ปีก่อนจะอยู่ที่ 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อ 30 วินาที
สปอตโฆษณาของซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 58 ในปี 2024 ความยาว 30 วินาที มีมูลค่าถึง 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 250 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแล้วตกวินาทีละ 8.3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่สปอตโฆษณาในการแข่งขันมีราคาสูงถึงขนาดนี้
โดยที่แบรนด์ต่าง ๆ ไม่สามารถใช้คำว่าซูเปอร์โบวล์ในโฆษณาได้ เพราะ NFL ได้จดทะเบียนการค้าคำว่าซูเปอร์โบวล์เอาไว้ ใครก็ตามที่อยากจะใช้คำนี้มีแค่ต้องจ่าย จะเรียกว่าเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าและอิทธิพลก็ว่าได้
แต่ถึงจะแพงและยุ่งยากขนาดไหนโฆษณาของซูเปอร์โบวล์ก็ถูกแย่งกันซื้อจนหมดภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยในปีนี้ CBS สถานีที่ได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันสามารถขายสปอตโฆษณาทั้งหมดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเลยทีเดียว โดยผู้ซื้อสปอตโฆษณาเหล่านี้จะได้เป็นพาร์ตเนอร์ของการแข่งขัน (เท่ไปอีก)
สิ่งที่ทำให้สปอตโฆษณาของซูเปอร์โบวล์เป็นที่ต้องการตลอดกาล แม้ในวันที่โลกแตกต่างจากในอดีตอย่างมาก มีสื่อใหม่เกิดขึ้นมาแย่ง eyeball มากมายเต็มไปหมด แต่แบรนด์ต่างๆ ยังตัดใจจากซูเปอร์โบวล์ไม่ได้ เกิดจากเหตุผลง่ายๆเพียงเรื่องเดียว
นี่คือ ‘โอกาส’ ที่จะได้ขายของต่อหน้าผู้ชมมากกว่า ‘ร้อยล้าน’ ซึ่งตัวเลขผู้ชมซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 57 เมื่อปี 2023 เฉพาะในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 115 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งคิดเป็น 60% ของจำนวนผู้ชมทั่วโลกที่มีการถ่ายทอดสดไปกว่า 190 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในบ้านเราด้วย
ความสนุกสำหรับแบรนด์ต่างๆจึงอยู่ที่พวกเขาจะใช้เวลาสั้นๆ แค่ 30 วินาทียังไงให้คุ้มค่าที่สุด โดยที่โฆษณาของซูเปอร์โบวล์ (Super Bowl commercial) ถือเป็นจุดสูงสุดของวงการโฆษณาของโลก ที่เป็นการท้าดวลกันของเหล่าสุดยอดคนในแวดวงโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นครีเอทีฟ ก๊อบปี้ไรเตอร์ ผู้กำกับ ที่จะต้องหาทางเสกให้ 30 วินาทีนี้มีความหมายมากที่สุด
เรียกได้ว่าเป็นเหมือนศึกชิงจ้าวยุทธจักรของนักเล่าเรื่องว่าใครกันที่จะสามารถสร้าง ‘The Greatest Storytelling’ ได้โดนใจกว่ากัน
3.
ในอดีตมีงานโฆษณาระดับตำนานมากมายที่เกิดขึ้นในการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ หนึ่งในนั้นคือผลงานขึ้นหิ้งที่ชื่อว่า ‘1984’ ซึ่งเป็นโฆษณาเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ที่เป็นต้นกำเนิดของสินค้าตระกูลแมคในปัจจุบัน
ที่มาที่ไปนั้นในปีดังกล่าว แอปเปิลได้ขอซื้อสปอตโฆษณาของซูเปอร์โบวล์ด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 2 สล็อต หรือ 1 นาทีเต็ม โดยสตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอของแอปเปิลที่ยังอยู่ในยุคบุกเบิกช่วงแรกนั้นและเริ่มตกที่นั่งลำบากเพราะการแข่งขันในตลาดคอมพิวเตอร์เริ่มเสียท่าให้แก่ IBM ยักษ์สีฟ้าที่ถือเป็นเจ้าวงการในเวลานั้น
จ็อบส์เชื่อลึกๆ ว่าโฆษณาในซูเปอร์โบวล์คือโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเลือกที่จะเดิมพันในการซื้อทั้งสปอตโฆษณา และทุ่มงบประมาณในการถ่ายทำสูงถึง 900,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 32 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เยอะมากๆในเวลานั้น (เวลานี้ก็เยอะอยู่ดี!)
เขาบรีฟให้กับลี คลาว ครีเอทีฟไดเรกเตอร์จาก Chiat\Day บริษัทที่ได้รับงานชิ้นนี้แบบสั้นๆ ง่ายๆ กระชับๆ ว่า “ผมต้องการหนังโฆษณาที่ทุกคนต้องหยุดดูมัน แล้วมันจะต้องดังถล่มทลาย”
แต่เรื่องมันไม่ได้โรแมนติกเหมือนเดินบนกลีบกุหลาบขนาดนั้น
ในทีแรกบอร์ดบริหารของแอปเปิลคนอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับการที่จ็อบส์จะใช้เงินมากมายขนาดนี้ไปกับการซื้อโฆษณาที่สามารถเอาไปใช้เป็นงบการตลาดทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย จ็อบส์ที่กำลังลำบากใจเลยนำตัวอย่างโฆษณาชิ้นนี้ไปเปิดให้กับสตีฟ วอซเนียก เพื่อนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งด้วยกันดู
เมื่อดูจบวอซเนียกบอกกับจ็อบส์ทันทีว่า “ถ้าบอร์ดไม่ให้เงิน มาเอาเงินผมไปผมช่วยออกครึ่งนึง!”
สุดท้ายมีการอนุมัติให้สร้างโฆษณาชุดนี้จนได้ และยังได้ผู้กำกับระดับตำนานอย่างริดลีย์ สกอตต์ (Alien, Blade Runner) มากำกับให้ด้วย
โฆษณา ‘1984’ ปรากฏในช่วงควอเตอร์ที่ 3 ของการแข่งขัน (อเมริกันฟุตบอลจะแข่งกัน 4 ควอเตอร์ ควอเตอร์ละ 20 นาที) ซึ่งผู้ชมทางบ้านจำนวนกว่า 96 ล้านคนต้องตกใจเพราะจู่ๆ จอภาพก็ดับมืดไปเป็นเวลา 2 วินาที ก่อนที่ทุกคนจะได้เห็นโฆษณาสุดอลังการที่ไม่เพียงแค่ล้ำสมัยในเวลานั้น แต่ยังสามารถตีความได้ร่วมสมัยจนถึงเวลานี้
60 วินาทีนั้นคือจุดเปลี่ยนของแอปเปิล มีการพูดถึงโฆษณาชุด ‘1984’ ไปไม่น้อยกว่าเกมการแข่งขันระหว่างแอลเอ เรดเดอร์ส กับวอชิงตัน เรดสกินส์ โดยสถานีโทรทัศน์นำโฆษณาชุดนี้มารีรันให้คนทั้งอเมริกาชมอีกครั้ง เป็นการโฆษณาให้แอปเปิลโดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกเลยแม้แต่เซนต์เดียว
และเพราะผลงานชิ้นนี้ แอปเปิลและสตีฟ จ็อบส์ จึงมีโอกาสได้เปลี่ยนแปลงโลกของเราอีกหลายครั้ง
เรียกได้ว่า ‘1984’ คือโฆษณาเปลี่ยนโลกเลยก็ว่าได้
4.
อย่างไรก็ดีในยุคปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ ไม่ได้คิดถึงแค่เพียงเรื่องของการใช้เวลา 30 วินาทีให้ดีที่สุด แต่ต้องใช้อย่างเกิดประโยชน์และฉลาดที่สุดด้วย
พวกเขาพยายามที่จะ ‘ยืดเวลา’ ของมันออกไปที่นอกสนาม ผ่านกลยุทธ์การตลาดในรูปแบบต่างๆ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของ ‘ประสบการณ์’ (experience) ที่จะทำให้ทุกคนไม่เพียงแต่เฉพาะแฟนอเมริกันฟุตบอลได้สัมผัสถึงตัวตนและสิ่งที่แบรนด์เป็น
เรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น ไม่เหมือนในอดีตที่จะใส่ทุกอย่างลงไปใน 30 วินาทีแล้วจบ เพราะปัจจุบันแบรนด์จะมีระยะเวลา 4-6 สัปดาห์ที่จะเอาชนะใจทุกคนให้ได้ ซึ่งแฟนๆ เองก็รอดูเหมือนกันว่าจะมีโฆษณาซูเปอร์โบวล์อะไรออกมาให้ดูบ้าง (ซึ่งรวมถึงโฆษณาสินค้าของสาวๆ ที่เข้ามาซื้อโฆษณาซูเปอร์โบวล์ด้วย เรียกว่าเป็น ‘Taylor Swift Effect’ จากการที่นักร้องสาวซูเปอร์สตาร์เป็นแฟนของทราวิส เคลซี ปีกตัวเก่งของชีฟส์นั่นเอง)
ดังนั้นในช่วง 1 เดือนก่อนถึงเกมซูเปอร์โบวล์ โดยที่ยังไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าใครจะชิงกับใคร แบรนด์ต่างๆ ได้เริ่มสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าด้วยวิธีต่างๆ เช่น การปล่อยทีเซอร์ การหากิจกรรม ไปจนถึงการมอบประสบการณ์ในรูปแบบต่างๆ
เช่นในปีนี้มีตัวอย่างสนุกๆ Doritos ขนมกรุบกรอบยอดฮิตลงทุนขอเปลี่ยน ‘พีระมิด’ (จำลอง) ที่มีความสูงถึง 30 ชั้น (และมีสฟิงซ์จำลองอยู่ด้านหน้าด้วย!) ของโรงแรม Luxor Hotel ที่เป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งของลาสเวกัส ให้กลายเป็นรูปขนม Doritos ทรงสามเหลี่ยม
หรือที่ Sphere โดมทรงกลมกลายเป็นจุดโฆษณายอดนิยมที่แบรนด์ต่างๆ ขอซื้อกันไม่ขาดสาย เพราะรู้ว่านี่คือจุดที่ทุกคนสนใจแน่นอน
การจัดกิจกรรมจึงเป็นสิ่งที่แบรนด์ต่างๆ พร้อมจ่ายเพิ่ม โดยในช่วงก่อนการแข่งขันมีการจัดอีเวนต์มากมายทั่วลาสเวกัส ที่ต่อให้เป็นแบรนด์ที่ไม่ได้โด่งดังในวงกว้างอย่าง Extreme Networks นี่ก็เป็นโอกาสที่จะได้เซย์เฮลโหล ทำความรู้จักกับลูกค้าซึ่งไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มลูกค้าทั่วไปด้วย เพราะเป้าหมายใหญ่คือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจมากกว่า
ว่าขนาด NFL ยังใช้เทคโนโลยีของ Extreme Networks นั่นแปลว่าใครก็สามารถใช้โซลูชั่นของพวกเขาได้ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีอีกหลายเจ้า อาทิ Cisco หรือ Verizon ที่เป็นผู้ให้บริการด้านการสื่อสารที่มองโอกาสทางธุรกิจในลักษณะ B2B เหมือนกัน
ยังมีอีกหลายบริษัทที่ใช้ซูเปอร์โบวล์เป็นโอกาสในการตอบแทนลูกค้าคนสำคัญ บางบริษัทจัดประชุมใหญ่ที่ลาสเวกัส เพื่อพาตัวแทนทั้งมาดูงานและมาสัมผัสกับบรรยากาศที่สุดยอดของซูเปอร์โบวล์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ด้านในสนาม และบางบริษัทใจป้ำจ่ายเงินซื้อที่นั่งชมในสนามให้เลย
นอกจากนี้ยังมีการซื้อชื่ออีเวนต์ (title sponsor) เช่น Super Bowl Opening Night Fueled by Gatorade, the Super Bowl Experience Presented by Toyota
5.
ความสุดยอดของซูเปอร์โบวล์ไม่ได้อยู่แค่นี้ แม้กระทั่งเรื่องของการแสดงในช่วงพักครึ่งหรือ ‘halftime show’ ก็ต้องเป็นโชว์ที่ดีที่สุดของปี
เดิมโชว์ช่วงพักครึ่งนั้นเป็นแค่การโชว์ของวงโยธวาทิตจากมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่เริ่มมีการเชิญศิลปินในช่วงยุค 90s มาเริ่มแสดงโชว์ โดยศิลปินที่สร้างปรากฏการณ์และเปลี่ยนให้การแสดงพักครึ่งกลายเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมาคือไมเคิล แจ็กสัน ที่ได้ขึ้นโชว์ในปี 1993 ในช่วงที่เขาเป็น ‘King of Pop’ ที่คนทั้งโลกคลั่งไคล้
หลังจากนั้นการแสดงช่วงพักครึ่งคือเรื่องใหญ่ที่จะต้องคัดแล้วคัดอีก โดยจะมีเฉพาะศิลปินในระดับท็อปคลาสเท่านั้นที่จะได้รับเกียรติให้ขึ้นแสดง อาทิ U2, Prince, Red Hot Chili Peppers, Beyoncé, Lady Gaga โดยที่การแสดงนั้นยิ่งใหญ่และจริงจังขึ้นเรื่อยๆ
จนสุดท้ายการแสดงที่เคยจืดชืดกลับกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหารายได้ที่สำคัญเพราะมีสปอนเซอร์สนใจที่จะซื้อโชว์ ซึ่งก่อนหน้านี้คือ Pepsi ก่อนที่แอปเปิลจะเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์ halftime show เป็นเวลาถึง 10 ปีเต็มๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว
ศิลปินที่ขึ้นเวที (ปีนี้คือ Usher) จะไม่ได้รับค่าตัวสักแดงเดียว แถมบางปีต้องจ่ายเพิ่มเองด้วยเพื่อเติมงบในงานโปรดักชั่นให้ตระการตาที่สุด
แต่เรื่องนี้ถือว่าคุ้มเกินคุ้มเพราะศิลปินเหล่านี้จะได้โชว์เต็มๆ ถึงประมาณ 13 นาที ต่อหน้าผู้ชมมากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก
ซูเปอร์โบวล์จึงไปไกลกว่าแค่เรื่องของกีฬามากมายนัก เพราะเป็นส่วนผสมของทั้งกีฬา, ความบันเทิง, ความสร้างสรรค์ และการรวมตัวของเหล่าเซเล็บคนดัง ที่ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้ชมต้องการจะดูทั้งสิ้น
ซูเปอร์โบวล์ยังสำคัญไปถึงเรื่องของเศรษฐกิจ ที่ช่วยชีวิตทั้งคนและเมือง เพราะสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับผู้คนและเมืองได้อย่างมากมายมหาศาล
เหมือนในการแข่งขันเมื่อปี 2023 ที่สร้างรายได้ในเมืองแอริโซนาถึงกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น GDP ของเมืองถึง 726.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท และสร้างงานอีกกว่า 10,459 ตำแหน่ง
พลังของศึกคนชนคนนี้ยังส่งไปจนถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งในการแข่งปี 2023 มีการรณรงค์ช่วยกันเก็บขยะจากแม่น้ำ Salt River ได้ถึง 7,849 ปอนด์
แต่ถึงจะประสบความสำเร็จและยิ่งใหญ่มากเพียงไหน ความท้าทายของ NFL ในฐานะผู้ให้กำเนิดซูเปอร์โบวล์คือ จะทำยังไงให้ศึกสุดยอดคนชนคนนี้ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ยังคงเป็นแบรนด์ที่แฟนกีฬาทั่วโลกเฝ้ารอคอยเหมือนเดิม
เรื่องนี้สนุกพอๆ กับการได้เลือกแผนจาก Playbook ในเพลย์สุดท้ายของเกม
จะขว้างหรือจะวิ่ง
เลือกเล่นแบบไหนให้ทัชดาวน์ในหัวใจแฟนๆ ทุกคน
อ้างอิง
- forbes.com/sites/brettknight/2024/02/06/inside-the-super-bowl-of-marketing/?sh=6f6fe8f27231&utm_source=pocket_reader
- mackelevationforum.com/what-did-the-super-bowl-teach-us-about-storytelling-3
Match Facts
- ชื่อ ‘ซูเปอร์โบวล์’ มาจากแนวคิดของตระกูลฮันต์ที่เป็นเจ้าของทีมแคนซัส ซิตี้ ชีฟส์
- ซูเปอร์โบวล์เริ่มมีครั้งแรกในปี 1967 แต่ใช้ชื่อว่า ‘AFL-NFL World Championship Game’ ก่อนจะมาใช้ชื่อว่าซูเปอร์โบวล์ครั้งแรกจริงๆในปี 1969 ก่อนจะเริ่มมีการใช้เลขโรมันต่อท้ายชื่อซูเปอร์โบวล์ในปีต่อมา (1970) โดยเรียกว่า ‘Super Bowl V’ และเป็นธรรมเนียมที่จะใช้ชื่อโรมันต่อท้ายรายการ